คำนำ

บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองจำนวนมาก ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความเชื่อ ความคิด ความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคม ในยุคสมัยที่แต่งวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเป็นจดหมายเหตุอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งกวีเป็นผู้บันทึก ดังนั้นการศึกษาวรรณกรรมนอกจากจะพิจารณาในเชิงความงามหรือสุนทรียภาพทางวรรณศิลป์แล้ว วรรณกรรมไทยยังมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมไทยในอดีต

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้ตรวจชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่งานวรรณกรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวรรณกรรมไทยโบราณอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมิได้พิมพ์เผยแพร่ วรรณกรรมเหล่านี้บันทึกไว้ในเอกสารสมุดไทยซึ่งนับวันจะชำรุดสลายไปตามกาลเวลา บางเรื่องเคยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในอดีตแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในสังคมปัจจุบัน

เรื่องพระสี่เสาร์กลอนสวดนี้ ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เนื้อหาของเรื่องดังกล่าวมีลักษณะเป็นนิทานพื้นบ้าน กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เรื่องพระสี่เสาร์กลอนสวดสำนวนนี้ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ จึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. และนางสาวศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ นักอักษรศาสตร์ ข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นผู้ตรวจชำระต้นฉบับและจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อรักษาวรรณกรรมไทยโบราณเรื่องนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไป

อนึ่ง การตรวจสอบชำระครั้งนี้ได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วน เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านและได้นำสำเนาเอกสารโบราณที่ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตรวจสอบมาพิมพ์ไว้ในภาคผนวกท้ายหนังสือนี้ด้วย

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือพระสี่เสาร์กลอนสวดนี้จะอำนวยประโยชน์ทั้งด้านสาระและความบันเทิงแก่ผู้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ