อธิบายเรื่อง พระรถคำฉันท์

[๑]เรื่องพระรถเมรี หรือ เรื่องนางสิบสอง เป็นนิทานพี้นบ้านที่ชาวไทยรู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อพระเถระชาวเชียงใหม่รจนาคัมภีร์ปัญญาสชาดกได้นำเรื่องนี้ไปปรับเป็นชาดกด้วยเรื่องหนึ่ง วรรณคดีสำคัญๆ หลายเรื่องที่แต่งในสมัยอยุธยาอ้างถึงเรื่องพระรถเมรีไว้เช่น

โคลงนิราศหริภุญไชย

กังรีนิราศร้าง รถเสน
หวานหว่านในดินเดน ด่านนํ้า
นางยักษ์ผูกพันเวร มรโมฐ วันนา
อันพี่พลัดน้องซํ้า เร่งร้ายระเหระหน ฯ

กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ

เกลือกเหมือนเงื่อนบพิตร รถสิทธิสนิทนนทา
รุกริบสิบสองพะงา ควักตาให้ใส่ขุมขัง
เกลือกเหมือนเงื่อนท้าวผ่าน สากล
กักมารดาลมัวมนท ข่าวไข้
สิบสองจองทัณฑ์อน ธการเนตร
แล้วส่งลงขุมให้ ร่ำร้อนฤๅเสบย ฯ

กวีไทยสมัยอยุธยานิยมนำเรื่องพระรถเสน มาแต่งเป็นคำประพันธ์หลายรูปแบบ เช่น กาพย์ขับไม้ คำฉันท์และบทละคร เป็นต้น กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสนนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น คำศัพท์ที่ปรากฏมีลักษณะใกล้เคียงกับลิลิตพระลอ เนื้อหาเท่าที่พบเป็นตอนอภิเษกพระรถเสนกับนางเมรี กาพย์ขับไม้สำนวนนี้ใช้เป็นบทสำหรับ “ขับไม้” ในพระราชพิธีสมโภชมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีซึ่งเชื่อกันว่าแต่งขึ้นใน รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนที่ว่าด้วยการแต่งคำประพันธ์ “สุรางคณาปทุมฉันท์” นำข้อความจากเรื่องนางสิบสองมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

  ๏ โอ้อกกูเอ๋ย
เมื่อก่อนกูเคย สมบัติครามครัน
ทำบุญบ่เบื่อ เชื่อชอบทุกอัน
จึงได้จอมขวัญ ลูกน้อยนงพาล
  ๏ ถึงบุญเราถอย
สิ่งสินยับย่อย ยากพ้นประมาณ
บาปใดมาให้ พ่อเจ้าบันดาล
กำจัดสงสาร สิบสองเสียไกล ฯ

ตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือจินดามณี ไม่พบฉบับที่เป็นเรื่องยาวหรือเอกสารอื่นๆ คำประพันธ์ดังกล่าวน่าจะตัดมาจากตอนต้นของเรื่องพระรถเมรีซึ่งสันนิษฐานว่าต้นฉบับน่าจะสูญไปแล้ว

บทละครนอกสมัยอยุธยาเรื่องพระรถเสนนั้น พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ได้ต้นฉบับมาแต่เมืองเพชรบุรี แล้วคัดลอกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื้อหาในบทละครสำนวนนี้เป็นตอนพระรถเสนกับนางเมรี “ลงสวน” ดำเนินเรื่องไปจนถึงพระรถเสนเตรียมที่จะหนี

ส่วน เรื่อง พระรถคำฉันท์ เท่าที่พบในการตรวจสอบชำระครั้งนี้มีหลายสำนวน สำนวนที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ เริ่มเนื้อความตั้งแต่นางเมรีบรรทมตื่นไม่พบพระรถเสนก็ออกติดตาม ดำเนินไปจนจบเรื่อง สันนิษฐานว่า คำฉันท์สำนวนนี้น่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังจะอธิบายรายละเอียดต่อไปข้างหน้า

เรื่องย่อ

เนื่องจากกวีนิพนธ์คำฉันท์เรื่องพระรถเสนทุกสำนวนมิได้ดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นไปจนจบบริบูรณ์ ในที่นี้จึงขอนำเรื่องย่อจากรถเสนชาดกในปัญญาสชาดกมาประกอบดังนี้

ครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเศรษฐีผู้หนึ่งนามว่านนท์ได้นำกล้วยน้ำว้า ๑๒ ผล ไปถวายพระพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานขอให้มีบุตรธิดาไว้สืบสกุล อยู่มาภรรยาก็ตั้งครรภ์ไห้กำเนิดธิดา ๑๒ คน โดยลำดับ ตั้งแต่นางสิบสองเกิดมาเศรษฐีก็เริ่มยากจนลง กระทั่งไม่มีอาหารพอเพียงที่จะเลี้ยง จึงพาธิดาทั้งหมดขึ้นเกวียนนำไปปล่อยเสียในป่า นางพากันเดินหลงทางไปจนถึงสวนเมืองคชปุรนครของนางยักขิณีสันธมาร นางยักษ์พบเข้าก็เมตตานำไปเลี้ยงไว้ อยู่มานางสิบสองรู้ว่านางสันธมารเป็นยักขิณี จึงหนีไปจนถึงเมืองกุตารนครของพระราชารถสิทธิ์ พากันขึ้นไปอยู่บนต้นไทรริมสระ นางทาสีไปตักนํ้าสรงพบเข้าจึงมาทูลท้าวรถสิทธ์ ๆ จึงรับนางทั้งสิบสองไว้เป็นมเหสี ฝ่ายนางสันธมารมีความโกรธแค้นยิ่ง ครั้นทราบข่าวว่านางสิบสองไปเป็นมเหสีของท้าวรถสิทธ์จึงออกติดตามไปจนถึงกุตารนคร แปลงร่างเป็นนางงามนั่งอยู่บนต้นไทรริมสระน้ำเช่นเดียวกับนางสิบสอง เมื่อท้าวรถสิทธิ์ทราบจึงให้รับนางมาตั้งเป็นอัครมเหสี คราวหนึ่งนางสันธมารแปลงแกล้งทำเป็นป่วยแล้วทูลท้าวรถสิทธ์ว่า หากควักดวงตานางสิบสองเสียจึงจะหายจากโรค ท้าวรถสิทธ์ต้องเสน่ห์จึงยอม ให้นางยักษ์ควักดวงตานางสิบสองเสียทั้งสองข้าง เว้นแต่นางน้องสุดท้องนั้นควักตาออกเพียงข้างเดียว แล้วฝากกองลมให้นำดวงตาทั้งหมดไปส่งให้นางกังรีผู้เป็นธิดาเก็บรักษาไว้ที่เมืองคชปุรนคร ขณะนั้นพี่สาวทั้งสิบเอ็ดคนกำลังตั้งครรภ์ ท้าวสักกเทวราชจึงอาราธนาพระโพธิสัตว์ให้มาปฏิสนธิในครรภ์ของน้องคนสุดท้อง ท้าวรถสิทธิ์ให้ขังนางสิบสอง ไว้ในอุโมงค์

เมื่อครบกำหนดนางผู้พี่ทั้งสิบเอ็ดคนก็คลอดบุตร ด้วยความอดอยากจึงฉีกเนื้อบุตรแบ่งกันกิน ภายหลังพระโพธิสัตว์จึงคลอดจากครรภ์มารดา นางน้องสุดท้องเฝ้าถนอมเลี้ยงดูจนเจริญวัยให้นามว่า “รถเสน” อยู่มารถเสนกุมารก็ออกมาจากอุโมงค์ได้ด้วยอำนาจบารมี เที่ยวเล่นชนไก่พนันแลกอาหารมาเลี้ยงมารดากับฟ้า ไก่ของพระรถเสนชนะพนัน ทุกคราวจนความเลื่องลือไปถึงท้าวรถสิทธิ์ จึงให้นำตัวไปเฝ้า เมื่อทราบว่าเป็นโอรสก็มีความรักใคร่ นางสันธมารทราบเข้าก็คิดหาอุบายที่จะกำจัดพระรถเสน นางแสร้งทำเป็นป่วยหนัก ทูลท้าวรถสิทธิ์ว่า ยาที่จะรักษาได้มีอยู่ที่เมีองคชปุรนคร ขอให้พระรถเสนไปนำมาให้ พระรถเสนทูลอาสาแล้วเลือกม้าพระที่นั่งตัวหนึ่งเป็นพาหนะสำหรับเดินทาง นางสันธมารแปลงเขียนจดหมายฉบับหนึ่งผูกคอม้าไปเป็นความว่า ถ้าพระรถเสนไปถึงเมืองยักษ์เมื่อไรให้ฆ่าเสีย ม้าพาพระรถเสนเหาะไปถึงกลางทางก็พากันแวะพักที่อาศรมของพระฤๅษี พระฤๅษีมีความเมตตาจึง “แปลงสาร” เปลี่ยนข้อความในจดหมายเสียใหม่

ครั้นถึงเมืองคชปุรนครพบไพร่พลยักษ์ขวางอยู่เป็นจำนวนมาก จึงแก้จดหมายที่คอม้าทิ้งลงไป เสนายักษ์อ่านข้อความแล้วก็จัดการต้อนรับอย่างเอิกเกริกและขัดการอภิเษกกับนางกังรีให้ครอบครอง บ้านเมืองตามความในจดหมาย เวลาล่วงไป ๗ เดือน ม้าทูลเตือนให้ พระรถเสนกลับไปหามารดา พระรถเสนจึงออกอุบายขอให้นางกังรีพาไปประพาสอุทยานเพื่อนำต้นบุนนากและคิรีบุนนาก[๒]ไปให้นางสันธมาร เมื่อได้สมปรารถนาแล้วก็กลับมายังตำหนัก ลวงให้นางกังรีดื่มสุราจนลืมสติแล้วพระรถเสนก็ถามถึงที่เก็บดวงตานางสิบสองและสรรพคุณยาวิเศษทั้ง ๗ ห่อ นางกังรีหลงกลก็บอกให้ทั้งหมด

ครั้นนางกังรีหลับพระรถเสนก็ฉวยห่อดวงตาและห่อยาทั้งหมดขึ้นหลังม้าหนีไปกลางดึก ตอนเช้านางตื่นขึ้นไม่เห็นสามีก็รีบยกไพร่พลออกติดตามไป พระรถเสนก็โปรยยาห่อหนึ่งเป็นมหาสมุทรขวางหน้าไว้ นางกังรีรำพันขอร้องให้พระรถเสนกลับมาก็ไม่เป็นผล ในที่สุดนางเสียใจจนดวงหทัยแตกออกเป็น ๗ ภาค สิ้นชีวิตอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรนั้น ฝ่ายพระรถเสนกลับมาถึงกุตารนครโดยสวัสดิภาพ นางสันธมารทราบว่า ถูกพระรถเสนซ้อนกลก็เสียใจจนถึงแก่ความตาย พระรถเสนรีบนำยาไปรักษาดวงตาให้แม่และป้าจนหายเป็นปกติ ท้าวรถสิทธิ์จึงตั้งนางสิบสองเป็นมเหสีดังเดิมและอภิเษกให้พระรถเสนครอบครองบ้านเมืองต่อไป

การชำระต้นฉบับ

การตรวจสอบชำระเรื่องพระรถคำฉันท์เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ ใช้สำเนาเอกสารซึ่งถ่ายจากต้นฉบับสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๗ ฉบับ ได้แก่

เอกสารเลขที่ ๑๑ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐ มีข้อความในหน้าต้นว่า “หน้าต้นพระรถคำหวนณท่านเอย เล่ม ๑ ฯะ”

เอกสารเลขที่ ๑๒ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสด) วัดโมลีโลกยาราม ให้หอพระสมุดฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐ มี ข้อความในหน้าต้นว่า “สมุดพระรฐนิราชคำฉันท์ เล่ม ๑”

เอกสารเลขที่ ๑๓ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ให้หอพระสมุดฯ พุทธศักราช ๒๔๕๐ มีข้อความในหน้าต้นว่า “ต้นเมรีย ฯะ

เอกสารเลขที่ ๑๔ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐

เอกสารเลขที่ ๑๕ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ พระองค์เจ้าหญิงพิมพับศรสร้อย ประทานเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๐ (ตอนต้นและตอนปลายสมุดชำรุด)

เอกสารเลขที่ ๑๖ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ ได้มาจากวัดอนงคาราม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ มีข้อความในหน้าต้นว่า “หน้าต้น หนังสือพระรทคำฉันท์ เล่ม ๑”

เอกสารเลขที่ ๑๗ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐ (มีตำรายาไทยอยู่ตอนต้น)

เอกสารทั้ง ๗ ฉบับดังกล่าวจำแนกออกได้เป็น ๓ สำรับคือ

เอกสารสำรับที่ ๑ ได้แก่ เอกสารเลขที่ ๑๒ เอกสารเลขที่ ๑๓ และเอกสารเลขที่ ๑๔ เอกสารสำรับนี้เป็นเรื่องพระรถคำฉันท์สำนวนที่เมื่อตราจสอบชำระแล้วนำมาประมวลเข้าด้วยกันได้เนื้อความสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ (พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ ตั้งแต่หน้า ๒๑ ถึงหน้า ๗๒) ในจำนวนเอกสาร ทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว เอกสารเลขที่ ๑๔ มีเนื้อความบริบูรณ์ที่สุดเพียงฉบับเดียว (ดำเนินเนื้อความตั้งแต่บทนมัสการไปจนจบเรื่อง) ขาดหายไปเพียงบทนมัสการตอนต้นซึ่งแต่งเป็นอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ จำนวน ๑๐ บท เอกสารฉบับดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑๑ คือ

๏ ขอจงนฤทุกขแลโศก นฤโรคแลพยา
ธินินทาครหา จงอย่าได้มาแผ้วพาน
๏ จะกล่าวนิพันธ์ฉันท์ แสดงโดยอนุมาน
อันมีในนิทาน วรปัญญาสพาหิรา
๏ พระรถเรื่องเมรีรัตน์ วรราชชายา
ชาเยนทรมรณา มรณังริมฝั่งชล ฯะ

ในการตรวจสอบชำระได้นำเนื้อหาจากเอกสารเลขที่ ๑๒ และเอกสารเลขที่ ๑๓ มาเติมไว้จนได้ความครบบริบูรณ์ เอกสารเลขที่ ๑๒ เริ่มเนื้อความตั้งแต่บทนมัสการต้นเรื่อง แต่งเป็นอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ ดังนี้

๏ นโมข้าประนมหัตถ์ โสมนัสสุเบญจางค์
เหนือเศียรสุบาทาง คชิเนนทรทรงญาณ
๏ อันพระองค์เสด็จขจัด ปรปักขเบญจมาร
นำสัตว์ออกจากสงสาร เข้าสู่ห้องพระศีวา
๏ แล้วข้าชุลีกร นวโลกุตรธรรมา
อันโปรดสัตวโลกา ให้พ้นภัยอันเดือดร้อน
๏ หนึ่งข้าประนมน้อม กฤษดาญชุลีกร
แก่สงฆสังวร วรพุทธเวไนย
๏ ผู้ทรงสำรวมศีล สละบาปให้ขาดไกล
จำเริญศรัทธาไท ให้สัมฤทธิ์สำราญผล
๏ แล้วข้าก็อภิวันท์ วรเทพยเบื้องบน
แต่พื้นเมทนีดล ตลอดล่วงฉกามา
๏ อนึ่งข้าก็บังคม บรมกรุงกระษัตรา
ผู้ผ่านไอศวรรยา นครเทพยธาตรี
๏ แล้วข้าก็อภิวาท วรบาทชนนี
พระคุณอยู่เกศี สุดจะร่ำจะรำพัน
๏ ทั้งคุณพระบิดา จะพรรณนาก็มหันต์
สิ่งใดจะเทียมทัน แลจะเท่าก็ไป่มี
๏ ด้วยเดชข้าประณาม กรนบประนมศรี
สรรเพชญโมลี แลพระสงฆธรรมา

เอกสารเลขที่ ๑๒ หมดหน้าสมุดลงตรงคำประพันธ์บทที่ ๓๑๕ ตอนนางขุชชาค่อมโต้ตอบกับนางเมรี แต่งเป็นสุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘ ว่า “มิรู้เป็นโทษ กลับทรงพระโกรธ ด่าเล่นเปล่าเปล่า” ในหน้าต้นของสมุดไทยเล่มนี้มีข้อความว่า “สมุดพระรฐนิราชคำฉันท์ เล่ม ๑” แสดงว่ายังมีเล่ม ๒ ต่อไปอีกแต่ไม่พบต้นฉบับ

เอกสารเลขที่ ๑๓ เริ่มต้นตั้งแต่บทนมัสการ เนื้อความตรงกับเอกสารเลขที่ ๑๒ หมดหน้าสมุดลงตรงคำประพันธ์บทที่ ๓๔๔ คือ

๏ แล่นโลดไล่โดนโจนคะนอง สัตว์สิงลำพอง
ละพวกก็เทาถิ่นตน  

วรรคสุดท้ายของคำประพันธ์บทดังกล่าวต่างจากเอกสารฉบับที่ ๑๔ ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ และมีข้อความบอกว่า “สิ้นฉบับ”

เนื่องจากเอกสารต้นฉบับสมุดไทยคัดลอกด้วยลายมือ แต่ละฉบับจึงมีความลักลั่นทั้งด้านอักขรวิธีและการคัดลอกตกหล่น ในการตรวจสอบชำระได้นำข้อความจากฉบับที่สมบูรณ์มาเติมลงในฉบับที่บกพร่อง อนึ่ง ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๓๔๕ เป็นต้นไปปรากฏในเอกสารเลขที่ ๑๔ เพียงฉบับเดียว จึงไม่สามารถสอบทานกับฉบับอื่นได้

เรื่องพระรถคำฉันท์ตามเอกสารสำรับที่ ๑ นี้ไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงยุคสมัยที่แต่ง แต่จากข้อมูลที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่างรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ทั้งนี้พิจารณาจากสมมุติฐาน ๔ ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ ๑ เนื้อความในคำฉันท์ตอนนางเมรียกไพร่พลออกจากเมืองเพื่อติดตามพระรถเสนตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑๑๔-๑๒๒ กล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้

๏ เสียดายปรางค์มาศรจนา สัตตรัตน์รมยา
มณีวิจิตรดำเกิง  
๏ ที่นั่งร้อนที่นั่งเย็นสำเริง สำราญบันเทิง
บรรเทาภิรมย์เปรมปรีดิ์  
๏ เปรมปราสองสุขเกษมศรี ศรีสวัสดิควรนี
นีราศร้างแรมไกล  
๏ ไกลทั้งสระแก้วน้ำใส ใสสุทธิอำไพ
ไพบูลย์ดั่งแก้วแพรวพราย  
๏ พรายเพริศสัตตบงกชหลาย หลายเล่ห์กำจาย
กำจรตรลบเสาวคนธ์  
๏ เสาวภาคย์เคยสรงสนานชล ชลเอ๋ยจะร้างหน
หนใดจะกลับคืนสถาน  
๏ สถานที่พิจิตรหน้าพระลาน ลานเลี่ยนสุริย์กานต์
สุริยาจำรัสรังสรรค์  
๏ สรรค์แสร้งแกล้งไว้เฉลิมขวัญ ขวัญเมืองจรัล
จะรานิราศร้างศรี  
๏ สีทองก็หมองเป็นราคี ราคินเศร้าศรี
สีแก้วบแววเห็นโฉม  

“ที่นั่งเย็น” ที่กล่าวในคำประพันธ์ข้างต้นน่าจะมีความหมายโดยนัยถึง “พระที่นั่งเย็น” หรือ “พระที่นั่งไกรสรสีหราช” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับประทับสำราญพระราชอิริยาบถ บนเกาะกลางทะเลชุบศร เมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้อยู่ห่างจากพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ในบันทึกของคณะราชทูตฝรั่งเศสระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จประพาสจับช้างป่าและเคยเป็นที่ประทับทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะราชทูตฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๒๒๘

“ไกลทั้งสระแก้วนํ้าใส” น่าจะมีความหมายโดยนัยถึง “สระแก้ว” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นนอกเมือง เป็นที่พักนํ้าจากทะเลชุบศรและห้วยซับเหล็กแล้วต่อท่อเข้ามาใช้ในพระราชวังเมืองลพบุรีตามที่กล่าวในพระราชพงศาวดาร ซึ่งสอดคล้องกับโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของพระศรีมโหสถที่ว่า

มีสินธุ์สายสีตซึ้ง ชลใส
เติมแต่เศขรใน ซอกซั้น
พุพวยหลั่งลงไหล เซ็งซ่าน
วางท่อทางด้นดั้น สู่ท้องวังเวียง ฯ
ขึ้นเขาในเงื้อมแง่ เศขร
พุ่งผุดโชนเซาะซอน คล่าวแคล้ว
ออกมุขแห่งไกรสร สีหราช
ลงสระอัญจลแก้ว ซ่านซ้องชลถวาย ฯ
สรงเสร็จเล็ดลอดดั้น โดยทาง
ท่อหลั่งไหลเวียนวาง วิ่งนํ้า
ฉวัดเฉวียนชำเนียนฉวาง วารีศ
ขึ้นออกเกสรกลํ้า กลีบแก้วโกมล ฯ

โคลงทั้ง ๓ บทดังกล่าว สอดคล้องกับคำฉันท์ตอนนางเมรี เดินทางผ่านสระน้ำนอกเมืองว่า “ไกลทั้งสระแก้วนํ้าใส” และในคำฉันท์อีกตอนหนึ่งที่ว่า

๏ ครวญพลางนางเร่งจรลี ถึงสร้อยสระศรี
สโรชพิศาลโสภณ  
๏ โกมุทบุษบันอุบล เบิกสร้อยเสาวคนธ์
ขจรเลวงเวหา  

ฯลฯ

ประเด็นที่ ๒ การแต่งฉบัง กาพย์ ๑๖ เป็นกลบทนาคบริพันธ์ในพระรถคำฉันท์ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑๑๕ - ๑๒๖ เป็นลักษณะที่นิยมในสมัยอยุธยา ดังมีตัวอย่างอยู่ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์และหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีนำมาเป็นตัวอย่างการประพันธ์ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่อกวีผู้แต่งคำฉันท์เรื่องนี้ด้วย

ประเด็นที่ ๓ บทพรรณนาในคำฉันท์ตอนนางเมรีถึงแก่มรณกรรม มีนัยประหวัดถึงเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่

  ๏ พระศอแหบแห้ง
สุดสิ้นกระแสง สิ้นแรงอรไท
หิวโหยโรยรา พักตราสลดไสล
พักตร์ผิดเผือดไป สิ้นไห้รำพัน
  ๏ ดังลำกล้วยทอง
อันเกิดในห้อง ฟากฟ้าสวนสวรรค์
มีชายผู้หนึ่ง เข้มขึงแข็งขัน
จิตใจมักกะสัน ฤทธิ์แรงราวี
  ๏ ได้ดาบคมกล้า
แปลบปลาบเวหา จับแสงสุรีย์ศรี
กวัดแกว่งรำฉวาง เยื้องย่างคระวี
ฟาดฟันกัทลี ขาดเด็จเป็นสิน

ตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกิด “กบฏแขกมักกะสัน” ขึ้นที่เมืองบางกอก ตามบันทึกของเชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาพร้อมกับคณะราชทูตเมื่อพุทธศักราช ๒๒๒๘ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอตัวไว้ใช้ในราชการตั้งเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ที่ออกพระศักดิ์สงคราม ฟอร์บังได้รับคำสั่งจากราชสำนักให้เป็นผู้ปราบปรามกบฏแขกมักกะสัน พวกกบฏครั้งนั้นมีพฤติการณ์เหี้ยมโหดต่อสู้แบบพลีชีพทำให้กองทหารชาวยุโรปล้มตายลงเป็นอันมาก การที่เรื่องพระรถคำฉันท์กล่าวเปรียบเทียบว่า “จิตใจมักกะสัน ฤทธิ์แรงราวี” นั้นน่าจะแสดงว่า ความร้ายกาจของกบฏแขกมักกะสันยังอยู่ในความทรงจำของกวีผู้แต่ง ดังนั้นคำฉันท์สำนวนนี้จึงน่าจะแต่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นานนัก

ประเด็นที่ ๔ คำศัพท์ที่ใช้มีลักษณะร่วมสมัยกับวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในสมัยอยุธยาเช่น ลาลด เสี่ยมสาร ภัยภิต จรล่ำ เป็นต้น คำศัพท์ดังกล่าวไม่นิยมใช้ในวรรณกรรมที่แต่งสมัยรัตนโกสินทร์

จากสมมุติฐานทั้ง ๔ ประเด็นดังกล่าว ในที่นี้จึงสันนิษฐานว่าเรื่องพระรถคำฉันท์สำนวนนี้น่าจะเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยา

เอกสารสำรับที่ ๒ ได้แก่เอกสารเลขที่ ๑๕ เอกสารเลขที่ ๑๖ และเอกสารเลขที่ ๑๗ เอกสารทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวมีเนื้อความเดียวกัน ไม่มีบทนมัสการตอนต้น

เอกสารเลขที่ ๑๕ เริ่มความตั้งแต่นางเมรีบรรทมตื่นไม่พบพระรถเสน หมดความลงในหน้าสมุดสุดท้าย ตอนพระรถเสนไปถึงอาศรมของพระฤๅษีแล้วลงสรงน้ำในสระว่า

๏ ตริแล้วก็ลงสรง ในสระแก้ววิเชียรฉาย
ชมเบญจบัวราย ประทุมมาศสลับสลอน ฯะ

เอกสารเลขที่ ๑๖ เริ่มความเหมือนกับเอกสารเลขที่ ๑๕ ดำเนินเรื่องไปจนหมดเล่มสมุดตอนพระรถเสนกลับไปหามารดาและป้ายังอุโมงค์ที่ถูกคุมขังแล้วเล่าความให้นางสิบสองฟังว่าได้รอดชีวิตกลับมาเพราะความช่วยเหลือของนางเมรี

๏ พระสดับพจนารถแสดงคุณ นางหนึ่งสรรพสุน
ทเรศลํ้าสตรี ฯะ  

เอกสารเลขที่ ๑๗ ตอนต้นสมุดเป็นตำรายาไทย เริ่มความในคำฉันท์เหมือนกับเอกสารเลขที่ ๑๕ ดำเนินความไปจนสิ้นสมุดเมื่อม้าพาพระรถเสนจากนางเมรีที่ริมฝั่งน้ำไปพักอยู่ที่เชิงเขาใกล้อาศรมของพระฤๅษี

๏ เปลวปล่องช่องภูผา ศิลาแลมลังเมลือง
แสงแก้วประเทืองเรือง จำรัสรุ่งเจริญตา ฯะ

เรื่องพระรถคำฉันท์ที่ปรากฏในเอกสารสำรับที่ ๒ นี้ เข้าใจว่าเป็นฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขสำนวนโวหารจากสำนวนเอกสารสำรับที่ ๑ ทั้งนี้อาจเพื่อต้องการให้ตรงตามบังคับฉันทลักษณ์ตามความเห็นของกวีผู้ปรับแก้และอาจต้องการตัดส่วนที่เยิ่นเย้อในสำนวนแรกออกไปเพื่อให้การดำเนินเรื่องกระชับยิ่งขึ้น คำฉันท์ในเอกสารสำรับที่ ๒ เริ่มต้นด้วยวสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ ดังนี้

๏ ป่างนั้นพระนุชวรนาฏ เยาวราชนฤมล
พลิกฟื้น ธ ตื่นกระบัดก็ยล บ่มิพบพระภัสดา
๏ ทรงกริ่งกระมลจิตรก็โศก วิโยคแสนสหัสสา
หัสปลุกสุรางค์สุรคณา คณะนางบำเรอเรียง
๏ ค้นหาทุกห้องทิศดำกล ทุกไพชยนต์ประเวศเวียง
วังหลวงระลวงกลก็เทียง ทุกถิ่นฐานละลานแด
๏ จุดเทียนประทีปชวาลาส่อง ทุกแห่งห้องบเห็นแห
ไปหาทุกทิศชลแล ชลาเปล่าก็เศร้าใจ
๏ โรงรถแลโรงอัศวคเชนทร์ ที่นเรนทรเคยไคล
บพบประสบพระภูวไนย ทั้งกัณฐัศว์ก็สูญหาย
๏ กลับผังยังองค์พนิดทูล ประมูลแจ้งคดีฉลาย
ค้นหาทุกถิ่นทิศทุกภาย บมิพบพระภูธร
๏ เห็นแจ้งประจักษ์เป็นกลแกล้ง ธ หากแสร้งมาโลมสมร
สมานแล้วแลละพระนุชจร แลมาพรากไปจากองค์
๏ มิ่งม้าวลาหกอันชาญ ที่นฤบาล ธ เคยทรง
บมิพบประสบพระวรองค์ ธเรศท้าว ธ หนีสูญ
๏ นางท้าว ธ ฟังพจนถ้อย ยุบลสรรพ์สนมทูล
กลุ้มกลัดฤทัยทุมนพูน ทุกขเพียงพิราลัย
๏ บ่ายพักตรทอดทัศนะบน ก็บยลกำพดไชย
โอสถประสิทธิ์ทิพประไพ ทั้งดวงเนตรบเห็นหาย
๏ โอ้โอ้พระยอดเยาวเสน่ห์ มาลวงเล่ห์ด้วยอุบาย
เบื่อแล้วแลละสมรสาย สวาดิไว้ให้โหยหา
๏ เวรใดมาจองจิตประจำ โอ้กรรมใดสนองมา
หมายใจว่าท้าวจะกรุณา ดรุณน้องเป็นทางธรรม์

เนื้อหาคำฉันท์ตอนนางเมรีจะจากเมืองซึ่งในเอกสารสำรับที่ ๑ แต่งเป็นกลบทนาคบริพันธ์ ในคำประพันธ์บทที่ ๑๑๕ - ๑๒๖ นั้น คำฉันท์ในเอกสารสำรับที่ ๒ ได้แก้ไขใหม่โดยไม่คงกลบทไว้ดังนี้

๏ ที่ประพาสร้อนเย็นสำเริง สำราญบันเทิง
บรรเทาภิรมย์เปรมปรีดิ์  
๏ เสียดายสระสวนมาลี เคยประพาสเกษมศรี
ภิรมย์สำราญหฤทัย  
๏ เสียดายสระนํ้าเย็นใส ชลหอมเอาใจ
ดังคนธรสรำเพย  
๏ มีบุษบงกชกอเกย แย้มกลีบระเหย
กำจัดซึ่งสร้อยเสาวคนธ์  
๏ พระองค์เคยสรงสนานชล ชลธีจะร้างหน
กี่เมื่อจะกลับคืนสถาน  
๏ เสียดายสนามหน้าพระพลาน ลาดแก้วสูริย์กาญจน์
ดังเทพบรรจงแสร้งสรรค์  
๏ เป็นที่ประลองคชกรรม์ สินธพชาติอัน
ทั้งหมู่พลาอสุรี  
๏ พระองค์เคยทอดทฤษฎี ด้วยนุชเปรมปรีดิ์
บแหบห่างร้างโฉม  
๏ เยียใดพระไม่อยู่โลม ละไว้ให้โทม
นัสเปลี่ยวเปล่าใจ  

การปรับแก้ไขสำนวนเรื่องพระรถคำฉันท์ในเอกสารสำรับที่ ๒ นี้ น่าจะทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ต้นฉบับเอกสารสมุดไทยที่พบไม่มีฉบับใดมีเนื้อหาบริบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ (โปรดดูสำเนาต้นฉบับเอกสารเลขที่ ๑๖ ซึ่งพิมพ์เป็นภาคผนวกของหนังสือนี้)

เอกสารสำรับที่ ๓ เป็นเรื่องพระรถคำฉันท์อีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อความต่างจากที่กล่าวมาแล้ว พบต้นฉบับเพียงเล่มสมุดไทยเดียว คือเอกสารเลขที่ ๑๑ มีข้อความในหน้าต้นว่า “หน้าต้นพระรถคำหวนณท่านเอย เล่ม ๑” ตอนต้นเป็นบทนมัสการ เริ่มเนื้อเรื่องตั้งแต่พระรถเสนอยู่กับนางเมรี ม้าพระที่นั่งส่งเสียงเตือนให้รีบออกเดินทาง พระรถเสนจำต้องจากนางไปทั้งยังอาลัยรัก หมดหน้าสมุดลงตรงนางเมรีคร่ำครวญอยู่ที่ริมฝั่งนํ้าตามลำพังว่า

๏ ระทวยทอดฤทัยครวญ กันแสงสวรไม่เสื่อมสร่าง
เหน็บหนาวทั้งสารพางค์ เพียงพินาศบนรถทรง
๏ โอ้แม่มนทามาร ดังจะลาญชีพปลดปลง
เห็นของวิเศษจง นเรศท้าวเธอเอาไป ฯะ

ความต่อจากนี้น่าจะมีอยู่สมุดไทย เล่ม ๒ แต่ไม่พบต้นฉบับ สำนวนโวหารในเรื่องพระรถคำฉันท์หรือพระรถคำหวนสำนวนนี้จัดว่าไพเราะมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ แต่ไม่สามารถกำหนดยุคสมัยที่แต่งได้แน่นอน

เรื่องพระรถคำฉันท์ที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ประกอบด้วย พระรถคำฉันท์สำนวนที่ตรวจสอบชำระจากเอกสารสำรับที่ ๑ พระรถคำหวนซึ่งตรวจสอบชำระจากเอกสารเลขที่ ๑๑ และสำเนาเอกสารเลขที่ ๑๖ ซึ่งเป็นฉบับหนึ่งในเอกสารสำรับที่ ๒ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้เห็นความแตกต่างของเรื่องพระรถคำฉันท์ทั้ง ๓ สำนวน



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง

[๒] ในบทละครครั้งกรุงเก่าว่า “มะงั่วหาวมะนาวโห่” แต่ในคำกลอนที่แต่งครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “มะม่วงหาวมะนาวโห่”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ