คำนำ
เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นางห่วง วิสาลัชชนันท์ กำหนดงานวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๗ ณ เมรุวัดอัปษรสวรรค์ นายแผ้ว ศิวะบวร ได้มาแจ้งแก่เจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ขอให้เลือกหนังสือให้พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้พิมพ์เรื่อง ประทุมวดีคำฉันท์ เจ้าภาพก็ยินดีรับจัดพิมพ์
เรื่องประทุมวดีคำฉันท์นี้ ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ ๗๗ และยังไม่เคยตีพิมพ์ออกเป็นเล่มเพื่อเผยแพร่อีกเลย เจ้าหน้าที่ยังค้นไม่พบว่าใครเป็นผู้แต่งคำฉันท์เรื่องนี้ แต่ได้อ่านพิจารณาแล้วเห็นเป็นคำฉันท์ที่ไพเราะน่าอ่าน สมควรจะนำออกพิมพ์เพื่อให้มีฉบับอ่านแพร่หลายกันสักครั้งหนึ่งก่อน อีกประการหนึ่ง หนังสือวชิรญาณซึ่งได้ตีพิมพ์เรื่องราวต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี และความรู้ทั่วไปไว้นั้น ก็เก่าชำรุดยิ่งขึ้นทุกวัน กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เห็นว่าถ้ามีทางนำเรื่องดี ๆ จากหนังสือวชิรญาณซึ่งยังไม่เคยพิมพ์เป็นเล่มออกมาตีพิมพ์รักษาฉบับให้แพร่หลาย ก็จะเป็นคุณประโยชน์ทั้งในทางการศึกษาและเพิ่มพูนสมบัติมีค่าทางวรรณคดีและประวัติศาสตร์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป จึงได้พยายามหาทางนำเรื่องต่าง ๆ ในหนังสือวชิรญาณออกตีพิมพ์ตามโอกาสอันควร
เรื่องประทุมวดีคำฉันท์นี้ มีบอกไว้ตอนท้ายเรื่องว่า แต่งเมื่อปีมะเส็ง วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ พ.ศ. ๒๔๒๔ ผู้แต่งได้แต่งเรื่องนี้ขึ้นตามเค้าความในเรื่องชาดก เจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูชาดกและนิทานคติธรรมแล้ว ปรากฏว่า มีนิทานเรื่องนางประทุมวดี ในหนังสือมงคลทีปนีแปลบั้นต้น ซึ่งเป็นหนังสือคติธรรมทางพุทธศาสนา กล่าวถึงในอดีตกาล มีสตรีผู้หนึ่งอยู่ ณ เมืองพาราณสี ได้ถวายดอกบัวและข้าวตอก ๕๐๐ เมล็ดแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นแล้วได้เอาดอกบัวคืนมาประดับร่างกาย แล้วต่อมากลับนำดอกบัวไปถวายคืนอีก อธิษฐานว่าเกิดชาติใด ๆ ขอให้มีดอกบัวรองรับเท้าเมื่อก้าวเดิน และขอให้มีบุตรมากถึง ๕๐๐ เท่าจำนวนเมล็ดข้าวตอกที่ถวาย ครั้นนานมา นางจึงจุติไปเกิดในดอกบัวริมสระโบกขรณี พระฤๅษีเก็บนางไปเลี้ยงไว้ในอาศรม ด้วยอานิสงส์แห่งกุศลที่นางสร้าง จึงมีน้ำนมไหลจากนิ้วพระฤๅษีเลี้ยงนางจนเจริญวัย เมื่อนางย่างเดินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีดอกบัวรองรับเท้าทุกย่างก้าว พระฤๅษีจึงตั้งชื่อว่า นางประทุมวดี ต่อมาพรานป่าผู้หนึ่งมาเห็นนางเข้า จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสี ๆ ให้ยกกองทัพมาขอนางประทุมวดีต่อพระฤๅษี นำไปอภิเษกเป็นอัครมเหสี แล้วไม่ช้า นางก็ให้กำเนิดพระโอรสจากครรภ์องค์หนึ่ง และอีก ๔๙๙ องค์ เกิดแต่เหงื่อไคล บรรดาบาทบริจาริกาพระเจ้าพาราณสีริษยานาง จึงทำอุบายจนนางถูกขับไล่ออกจากเมือง แล้วนำพระโอรสทั้ง ๕๐๐ ใส่หีบ ๕๐๐ หีบไปทิ้งน้ำ ด้วยอานิสงส์แต่ครั้งหลัง พระกุมารจึงดำรงพระชนมชีพอยู่ได้ และหีบไปติดข่ายที่ขึงไว้ เจ้าพนักงานนำหีบพระกุมารทั้ง ๕๐๐ มาถวายพระเจ้าพาราณสี ทรงทราบว่าเป็นพระราชโอรส จึงให้ไปตามหานางประทุมวดีกลับคืนมายังพระนคร ได้ถวายพระนามราชกุมารซึ่งบังเกิดแต่ครรภว่า มหาประทุมราชกุมาร ซึ่งต่อมาได้ตรัสเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
นอกจากนี้ ยังมีบทเพลงที่ท่านผู้ใหญ่ชอบนำมาร้องกล่อมเด็ก เท่าที่พอจำได้ว่า ดังนี้
“จะกล่าวถึงนางประทุม รูปสวยรวยละลุ่ม เกิดในพุ่มบุษบง ฤๅษีลงสรง เก็บเอาองค์มาเลี้ยงไว้ จนเติบใหญ่ขึ้นมา ฤๅษีก็ไปป่า ฯลฯ”
จึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ควรจะเผยแพร่ให้มีฉบับอ่านทั่วกัน
กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลราศีทักษิณานุปทานที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญอุทิศแด่ นางห่วง วิสาลัชชนนท์ ผู้ล่วงลับแล้ว และได้ให้พิมพ์หนังสือนี้แจกเป็นวิทยาทาน ขออำนาจกุศลทั้งปวงนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ นางห่วง วิสาลัชชนนท์ ได้ถึงซึ่งสุคติภพ ประสบแต่อิฐคุณมนุญผลในสัมปรายภพ ตามควรแก่ฐานะทุกประการ เทอญ.
กรมศิลปากร
๓ ธันวาคม ๒๕๐๗