๒. เรื่องช้างเผือกกับนางงาม

มีคำเขียนไว้ในพระราชพงศาวดาร กล่าวเรื่องแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชสมบัติกรุงมหานครศรีอยุธยา ได้ช้างเผือกมา ๗ ช้าง ความทราบไปถึงกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีแต่งทูตให้มาขอทำไมตรีเป็นเมืองพี่เมืองน้อง จะไม่ทำศึกสงครามต่อไป แต่จะขอช้างเผือกช้างหนึ่ง ถ้าไม่ได้ช้างเผือกจะยกทัพมาทำสงครามใหญ่ ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปรึกษาด้วยข้าราชการเป็นอันมากเห็นพร้อมกันว่า เมืองหงสาวดีมีอำนาจโตใหญ่ เป็นแดนมาของทัพศึกสำคัญ จะสู้รบเป็นโดยอันยาก ก็ครั้งนี้มีช่องมีคราวที่จะไกล่เกลี่ยเป็นไมตรี ก็ช้างเผือกของเรามีถึง ๗ ช้าง ควรจะยกให้พระเจ้าหงสาวดีไปเสียช้างหนึ่ง ระงับทัพศึกสงครามให้สงบหาย ให้บ้านเมืองเป็นสุขสนุกสบายได้แล้ว ถ้าบุญของเรายังมี ช้างโขลงในป่ามีถมไป อุส่าห์ค้นคว้าไป ก็คงจะได้มาอีกสักช้างหนึ่ง มาเพิ่มเติมให้เต็ม ๗ ช้างดังเก่า เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริ พร้อมด้วยความคิดข้าราชการเป็นอันมากดังนี้ จึงสมเด็จพระจ้าลูกเธอพระราเมศวร ๑เจ้าพระยาจักรี ๑ พระสุนทรสงครามผู้สำเร็จราชการเมืองสุพรรณบุรี ๑ ทั้งสามนี้ไม่ยอมตามกระแสพระราชดำริและความคิดท่านทั้งหลายทั้งปวง กราบทูลว่าช้างเผือก ๗ ช้างที่ได้มานั้นเป็นนิมิตตเป็นเหตุให้เห็นว่าพระบารมีครั้งนี้โตใหญ่ พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาครั้งก่อน จนศึกเข้าติดประชิดพระนครแล้วเอาชัยชะนะก็มิได้ ต้องล่าทัพกลับคืนไปก็เพราะพระบารมี ภายหลังได้ช้างเผือกมา ๗ ช้างดังนี้ จนพระเจ้าหงสาวดีต้องกลับมาของ้อ ก็เป็นเหตุให้เห็นว่าพระบารมีจะใหญ่โต พระเจ้าหงสาวดีเห็นจะสู้ไม่ได้ ถ้าพระราชทานช้างไปด้วยเกรงใจพระเจ้าหงสาวดี ก็จะเป็นที่เห็นว่าตัดรอนพระบารมีของพระองค์เองให้เสื่อมทรามลง ถ้าแม้นพระเจ้าหงสาวดีด้วยเหตุที่ไม่ได้ช้างจะยกกองทัพมาแล้ว ข้าพเจ้าทั้งสามจะขอรับอาสาฉลองพระเดชพระคุณ เอาชีวิตเป็นแดนต่อสู้กำชัยชะนะให้จงได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงฟัง หวาดพระราชหฤทัยในคำที่ว่าจะเป็นอันตัดรอนพระบารมีของพระองค์เองนั้น จึงทรงผ่อนผันแต่งพระราชสาสน[๑]ไปเล้าโลมพระเจ้าหงสาวดี ใจความในพระราชสาสนนั้นว่า อันนี้เป็นธรรมดาพระมหากษัตริย์ในนานาประเทศทั่วทุกทิศ ช้างเผือกและนางรูปงามเป็นของที่ต้องพระราชประสงค์ พระมหากษัตริย์องค์ใดมีช้างเผือกกี่ช้าง มีนางรูปงามกี่นาง ก็ต้องหวงไว้สำหรับพระบารมีหมดไม่เป็นที่ผู้อื่นจะขอได้ เหมือนอย่างพระเจ้าหงสาวดี มีอนงคนาฏนารีรัตน์ที่ปรนนิบัติสำหรับพระบารมีอยู่เท่าใด ก็ถ้ากรุงไทยทราบจะไปขอสักนางหนึ่งจะได้หรือ พระเจ้าหงสาวดีทรงพระราชดำริธรรมดาพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ดังนี้ ก็จะย่อมทราบการที่ควรไม่ควร ขออย่าได้ทรงพระโทมนัสเลย เพราะที่ไม่ได้ช้างเผือกไปตามที่ขอมา แต่การที่ทรงพระราชดำริจะเลิกการศึกสงครามเสียแล้ว และทำนุบำรุงรักษาทางพระราชไมตรีไม่ให้มีความเดือดร้อนแก่อาณาประชาราษฎรทั้งสองฝ่ายให้สบายทั่วหน้ากันนั้น การเป็นดีที่สุดอยู่แล้ว จะยอมรับพระราชไมตรีโดยสุจริต ในพงศาวดารเรื่องนี้แสดงว่าผู้หญิงรูปงามกับช้างเผือกเป็นของคู่กัน ก็สังเกตดูในแผ่นดินนั้น เมื่อได้ช้างเผือก ๗ ช้างก็ได้ไล่ๆ กันไปไม่ไกลกันนัก เมื่อยามจะไม่ได้แล้วก็ไม่มีเลย ช้างเผือก ๒ ช้างในแผ่นดินพระนารายณ์ก็ได้ไล่ๆ กัน ว่านี่เป็นการไกลอย่างไรไม่รู้แน่ จะว่าแต่ในกรุงเทพฯ นี้ เหมือนอย่างช้างเผือกก่อนทั้ง ๔ พระเทพกุญชร[๒] ได้มาเมื่อปีระกา ตรีศก ศักราช ๑๑๖๓ ต่อนั้นมา ๑๑ ปี ในระหว่างนั้นเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ในปีมะเสง เอกศก ศักราช ๑๑๗๑ ครั้นมาเมื่อปีวอก จัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ได้พระยาเศวตกุญชร[๓] มาถึงเพียงกรุงเก่า ลงมากรุงเทพฯ ต่อเดือน ๖ ปีระกา ครั้นถึงปีกุน สัปตศก ศักราช ๑๑๗๗ ได้พระยาเศวตไอยรา[๔] มาถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๑๑ ข้างขึ้น ในปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ ได้พระยาเศวตคชลักษณ์[๕] มาแต่เมืองน่าน มาถึงกรุงเทพฯ ปีฉลู เดือน ๕ ตั้งแต่นั้นมาช้างเผือกไม่มีมาเลย จนถึงปีฉลู เบญจศก ศักราช ๑๒๑๕ ได้พระวิมลรัตนกิริณี[๖] มาถึงกรุงเทพฯ ควรว่าเป็นแต่ช้างสีประหลาดแล แต่จะทบทวนถอยหลังไปใน ๓๖ ปีข้างหลัง ตั้งแต่ปีฉลูนพศกมานั้น ช้างสีประหลาดตื่นกันว่ามีดีเท่าไร ที่ดีกว่าพระวิมลรัตนกิริณีมีหรือ ครั้นปีขาล ฉศก ก็ได้พระวิสุทธรัตนกิริณี[๗]มา ก่อนปีขาลนั้นมาจนปีมะแม ๕ ปีหามีข่าวช้างไม่ ปีมะแมก็ได้พระศรีเศวต[๘] ลงมาอยู่เพียงกรุงเก่า ได้รับมากรุงเทพฯ ต่อเดือน ๗ ปีวอกโทศก ครั้นปลายปีวอกก็ได้ช้างพังเผือกอีกช้างหนึ่ง[๙] ครั้นมาปีจอ จัตวาศก ก็ได้พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ[๑๐] ถึงกรุงเทพฯ เดือน ๕ ปีกุน เบญจศก เห็นการว่าไล่ๆ กัน จึงขยี้ขยันนึกเหมือนหนึ่งว่าจะตามพบตามได้ แต่ครั้นรำพึงไปๆ ก็หวาดใจกลัวจะไม่พบเสียเหมือนอย่างครั้งเมื่อปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ เมื่อได้ข่าวพระยาเศวตคชลักษณ์มาแต่เมืองน่านแล้ว พระยานครสวรรค์ทองดีบอกลงมาว่า ในฤดูน้ำปีนั้นลงเรือไปเที่ยวข้างเขาพนมเสพย์ พบช้างเผือกลงมาอยู่ในน้ำ ได้คล้องด้วยเชือกหนัง ช้างเผือกแทงเรือล่ม แทงคนตายและมีบาดเจ็บมากเป็นสำคัญ มีผู้ยืนยันว่าได้พบได้เห็นเป็นหลายคน ครั้งนั้นมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กรมหมื่นเทพพลภักดี เสด็จไปตามในฤดูแล้งนั้นนานก็หาพบไม่ ภายหลังกรมหมื่นเทพพลภักดีเอาแต่หางช้างลงมาทั้งหาง กราบทูลว่าไปพบซากศพช้างเน่าโทรมอยู่ได้แต่หาง เห็นว่าเป็นช้างเผือกแต่เป็นพังมิใช่พลาย แต่หางนั้นจะเป็นช้างหางดอกหรืออย่างไรไม่ทราบถนัด ของก็ไม่ใคร่เก็บไว้ กรมหมื่นเทพพลภักดีเมื่อท่านตรัสถึงของประหลาดๆ ท่านมักจะตรัสไปง่ายๆ ฟังยากอยู่ ข่าวช้างครั้งนี้มาถึงๆ ใกล้กันจริง จะเป็นข่าวช้างนครสวรรค์เสียดอกกระมัง

ว่าถึงนางรูปงามก็เป็นที่เถียงกัน ว่าคนนั้นดีกว่าคนนี้ คนนี้ดีกว่า คนนั้นดีกว่าคนโน้น จะเป็นปากหนึ่งปากเดียวกันลงเป็นแน่เหมือนช้างเผือกไม่ได้ เพราะไม่มีลักษณะอันใดเป็นที่สังเกต เมียใครๆ ก็ว่าดี ถึงกระนั้นจะว่าแต่ด้วยของในหลวงก็เป็นที่เห็นพร้อมกันที่ดูพร้อมกัน ก็แต่ละครผู้หญิงเป็นของมีสำหรับแผ่นดินทุกแผ่นดินมา เว้นไว้แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ตัวพระเอกนางเอกในโรงละครหลวงนั้นก็คนทั้งปวงเป็นอันมากมายอมพร้อมกัน เห็นว่านางใดดีกว่านางอื่นแล้วจึงเลือกสรรให้เป็นพระเอกนางเอก ก็ได้ออกโรงเป็นที่เห็นของคนเป็นอันมาก ถึงกระนั้นก็เถียงๆ กันอยู่ ในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี มีที่เล่าลือว่างามมากอยู่สามนาง เรียกว่าบุนนาคสีดา ภู่สีดา ศรีสีดา ครั้นเมื่อเกินแผ่นดินกรุงธนบุรีแล้ว บุนนาคสีดาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบรมมหาราชวัง โปรดปรานพระราชทานเบี้ยหวัดถึงปีละ ๑๐ ชั่ง ทั้งเป็นเจ้าจอมตัวเปล่าไม่มีพระองค์เจ้าและชาติตระกูลก็หาไม่ ทราบว่าบิดาเป็นจีน มารดาเป็นญวน หาได้เป็นข้าราชการตำแหน่งใดไม่ แต่จะดีอย่างไรจึงเล่าจึงลือจึงโปรดปรานหนักหนาก็ไม่ทราบเลย ได้เห็นเมื่อชราแล้วเอาเป็นแน่ไม่ได้ ภู่สีดานั้นทราบว่าเป็นบุตรวิเศษ พระราชทานไปพระบวรราชวัง มารดาตกไปเป็นวิเศษปากบาตรในพระบวรราชวัง สมคบอ้ายสองคนปลอมแปลงเป็นหญิงวิเศษเข้าไปพระบวรราชวัง เกิดความขึ้น ชำระไปได้ความว่า จะยอมยกภู่สีดาให้เป็นพระมเหสีของอ้ายคนร้าย ภู่สีดากับมารดาต้องรับพระราชทานโทษถึงตาย หาได้เห็นตัวว่าอย่างไรไม่ แต่ศรีสีดา[๑๑] นั้นพระราชทานไปตามคู่ตุนาหงัน เดิมก็ได้ยินว่าโปรดปรานมาก แต่เมื่อได้เห็นตัวนั้นเป็นผู้ใหญ่มีพระองค์เจ้าแล้วถึงสองพระองค์ รูปพรรณแปรปรวนอ้วนพี จึงได้เรียกชื่อนี้อยู่จนวันตาย ก็ที่สามนี้เมื่อเวลาปลายแผ่นดินธนบุรีอายุเพียง ๑๒ ปี เป็นสำรับเล็กทีเดียว กล่าวด้วยนางรูปงามที่เล่าลือในกรุงธนบุรีเท่านี้

ก็ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เล่าลือนางเอกในทอดกลางแต่ป้อมสีดา[๑๒] ที่เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าเรไรว่างามมาก แต่เมื่อได้เห็นเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่พระเอกสำรับกับป้อมสีดานั้นคือ เพ็งพระราม[๑๓] ซึ่งตัวยังอยู่จนทุกวันนี้ มรกตพระลักษณ์บุตรนายบุญมี ทั้งสองนี้ดีแต่บทบาทและรูปพรรณหน้านั้นก็ไม่สู้งาม ถึงเมื่อออกโรงก็เป็นแต่สวมหน้าโขน แต่ครั้นมาเมื่อถึงทอดหลังเมื่อทรงอิเหนา พระเอกนางเอกก็ออกชื่อระบือลือเล่าแต่ พัน บุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธเป็นพระเอก เอม บุตรพระยาจักราราชมนตรีเป็นนางเอก ครั้นมาอีกสำรับเล็กก็เล่าลือ ปริก บุตรเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งตัวยังอยู่จนบัดนี้ เป็นพระเอกเป็นย่าหรันบ้าง เป็นอุณากรรณบ้าง และศรีบุตรพระยาจันทบุรีเป็นจินตหรา อำพา[๑๔] บุตรพระยาอินทรากรเป็นกาญจหนา ตัวยังอยู่จนทุกวันนี้ กับ ช่วย บุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีไม่ได้เป็นละคร เป็นแต่ทรงเห็นว่ารูปงาม ให้แต่งเป็นนางเชิญมยุรฉัตรแห่โสกันต์และแต่งเป็นนางเอกออกไปนั่งที่โรงละครบ้าง ไม่ได้รำ กล่าวที่เป็นนางเป็นละครรูปงาม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเพียงนี้

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอิเหนาในทอดแรก โปรดให้แย้ม[๑๕] บุตรพระยานครสวรรค์ ทองดี เป็นพระเอกเป็นตัวอิเหนา เพราะได้ให้หัดมาแต่เดิม ทำบททำบาทรำเต้นดี แต่คนทั้งปวงไม่เล่าลือนับถือว่ารูปพรรณดี นางเอกนั้นคือเอี่ยม บุษบา เป็นนางเล็กค้างมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นบุตรสาวบิดาไม่มีบรรดาศักดิ์ แต่นางเอกนี้เล่าลือมากเห็นพร้อมกันว่าดีไม่มีตัวสู้ ตัวยืนเครื่องนั้นคนทั้งปวงเล่าลือนับถือ อิ่ม[๑๖] ๑ มาลัย[๑๗] ๑ เป็นข้าในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์[๑๘] เมื่อเล่นละครครั้งนั้น ผลัดกันเป็นย่าหรัน ภายหลังโปรดให้เป็นอิเหนาบ้าง ทั้งสองนี้คนเล่าลือมากว่าดี ทั้ง ๔ ที่ออกชื่อมานี้ เดี๋ยวนี้ยังมีตัวอยู่หมด ถ้าจะเรียกตัวออกมาให้คนดูในเวลาเมื่ออายุย่างเข้า ๗๐ อยู่แล้วบัดนี้ คนเป็นอันมากก็จะคิดเห็นว่าคำให้การที่ว่ามาข้างต้นนี้จริง ยัง น้อย บุตรเจ้าพระยาพลเทพ ฉิม อีกนางหนึ่ง ครั้งนั้นเป็นสุหรานากง ปากคนดูก็ว่าไม่สู้กระไรนัก แต่ภายหลังผู้ที่รักตาชมว่าเป็นอัปสรมาแต่สวรรค์ การนั้นจะเห็นอย่างไรก็สุดแต่จะเห็น ยังลูกอิน ๑ ทองดี ๑ ลาวชาวเมืองหลวงพระบาง น้องเจ้าจอมมารดาลูกจัน[๑๙] คนก็ลือว่าดีมาก แต่ทองดีนั้นเห็นมากด้วยกันว่าดีจริง แต่สามคนที่ออกชื่อข้างหลังนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มีตัวแล้ว ที่ออกชื่อมาทั้งปวงนี้ เป็นละครสำรับใหญ่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สำรับกลางนั้นที่ใช้เป็นพระเอกนางเอกออกโรงอยู่ คือ จันสังข์ ขำเงาะ องุ่นสีดาหรือรจนา จั่นเสียง น้อยงอก มีสุรเสนา สัมฤทธิ์เจ้าจอมมารดา[๒๐] ปรางจิ๋ว และที่ได้มาแต่วังหน้าอีก ปราง สายใจ อ่อน พระลักษณ์ และอื่นๆ สำรับเล็กคือทับทิมมงกุฎ เพื่อนและจันลพ และอื่นๆ ก็ในสามสำรับนี้ไหนจะดีกว่ากันอย่างไร ผู้ที่เห็นก็เห็นไปต่างๆ กัน แต่สังเกตดูก็เหมือนจะสู้สำรับใหญ่ คือเจ้าจอมมารดาอิ่ม และท้าววรจันทร์ เอี่ยมบุษบา และทองดีไม่ได้หมด เดี๋ยวนี้ที่ยังมีตัวอยู่ก็แต่ล้วนชราแล้ว แต่ถ้าจะเรียกตัวมาดู ท้าววรจันทร์ กับ เอี่ยม ก็ตกสำรับใหญ่ไกลทีเดียว และอื่นๆ ยัง อ่อนพระลักษณ์และเพื่อนเดี๋ยวนี้ก็ยังดูดีอยู่บ้าง การว่ามาทั้งนี้ก็ให้เห็นเป็นใจความว่าในพระราชสาสนของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ว่าด้วยผู้หญิงรูปงามกับช้างเผือกเป็นของคู่กันดังนี้



[๑] คำนี้มีเขียนว่า สาสน สาส์น และสาสน์ พจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสภา ใช้คำว่า สาสน์

[๒] ช้างพังเผือกเอก ได้ในรัชกาลที่ ๑ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่เมืองภูเขียว พระยานครราชสีมานำมาถวาย

[๓] ช้างพลายเผือกเอก ได้ในรัชกาลที่ ๒ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่ทุ่งยั้ง เขากระพ้อปลายน้ำเมืองโพธิสัตว์พระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบองนำถวาย

[๔] ช้างพลายเผือกเอก ได้ในรัชกาลที่ ๒ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่ป่าแขวงเมืองเชียงใหม่ พระยาเชียงใหม่(น้อย ธรรม) นำถวาย

[๕] ช้างพลายเผือกเอก ได้ในรัชกาลที่ ๒ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่แขวงเมืองน่าน พระยาน่านนำถวาย

[๖] ช้างพังเผือกโท ได้ในรัชกาลที่ ๔ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่เขากะยอดงชมาดชบา แขวงระแด พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรนำถวาย

[๗] ช้างพังเผือกโท ได้ในรัชกาลที่ ๔ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่เขาถ้ำพระ แขวงระแด พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรนำถวาย

[๘] ช้างพลายเผือกเอก ได้ในรัชกาลที่ ๔ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่เขาจองแมว ดงชมาดชบา แขวงระแดพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำถวาย

[๙] ล้มเสียก่อน ยังมิทันขึ้นระวางพระราชทานนาม

[๑๐] ช้างพังเผือกเอก ได้ในรัชกาลที่ ๔ เป็นลูกเถื่อนคล้องได้ที่ตำบลกระแจะ ดงชมาดชบา แขวงระแด พระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำถวาย

[๑๑] ศรี สีดา คือเจ้าจอมมารดาศรี (ซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณพี) เจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าจักรจั่น และ พระองค์เจ้าบุบผา ในรัชกาลที่ ๒ เป็นธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุล บุณยรัตพันธุ์)

[๑๒] ป้อมสีดา ธิดาพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๑

[๑๓] เพ็งพระราม เป็นธิดาพระยารัตนจักร (หงส์ทอง) ต่างมารดากับป้อมสีดา

[๑๔] คือเจ้าจอมมารดาอำพา ในรัชกาลที่ ๒ เจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และกรมขุนวรจักรธรานุภาพ

[๑๕] คือเจ้าจอมมารดาแย้ม ในรัชกาลที่ ๒ เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงมารยาตร

[๑๖] อิ่ม เป็นธิดาพระยาโชพึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) กับคุณหญิงนก

[๑๗] มาลัย คือท้าววรจันทร์ ในรัชกาลที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นท้าววรคณานันท์อัพภันตรปตานี

[๑๘] ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

[๑๙] เจ้าจอมมารดาลูกจัน ในรัชกาลที่ ๒ เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน

[๒๐] เจ้าจอมมารดาของกรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ ในรัชกาลที่ ๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ