๔. เรื่องแหวนนพเก้า
จดหมายกำหนดว่าด้วย เครื่องประดับสำหรับยศในสยาม ธรรมเนียมเดิมฝ่ายสยาม มีเครื่องประดับยศอย่างใหญ่ในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่อยู่อย่างหนึ่งเห็นชอบกลอยู่ที่ว่าพอละเมียดสมควร แม้นจะส่งไปแสดงความยินดีและราชไมตรีเป็นเกียรติยศแด่พระเจ้าแผ่นดินและราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และเสนาบดีผู้ใหญ่ในบ้านอื่นเมืองอื่น ให้ยินดีรับเป็นเครื่องราชอิสสริยยศและเครื่องสำคัญยศเป็นที่อ้าง ว่าได้ไปจากพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายสยาม ก็พอจะใช้ไปได้ ไม่ขัดตาแปลกตานัก อันนี้มีธรรมเนียมในสยามมาแต่เดิม ว่าให้มีวงแหวนทองคำเป็นทองเนื้อสูงอย่างเอก คือทองแร่บางตะพานก็ดี หรือทองที่หุงชำระจนสิ้นมือก็ดี เป็นอย่างเอกอย่างดี หนักกึ่งตำลึงบ้าง สิบสลึงบ้าง สามบาทบ้าง ทำทั้งแท่งไม่โพรงใน ตีให้แน่นดีแล้วขุดหลุมพลอย ๙ แห่ง แล้วจึงฝังพลอย ๙ อย่าง ที่ ๑ เพ็ชร ที่ ๒ ทับทิมที่ ๓ มรกต ที่ ๔เพทาย ที่ ๕ บุษย์ ที่ ๖ นิล ที่ ๗ มุกดา ที่ ๘ โกเมน ที่ ๙ ไพฑูรย์ แล้วประดับเพ็ชรเล็กๆ เป็นเนื่องสองข้างบ้าง เป็นลายต่างๆ สองข้างบ้าง ทำให้งามดีแล้วสอดไว้ในประคตที่คาดกับเอว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงและพระราชทานให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ๆ ตั้งแต่ผู้เป็นที่สองพระเจ้าแผ่นดินลงไปจนเสนาบดี เมื่อเวลาการพิธีซึ่งสมมตว่าเป็นมงคลผู้ใหญ่จะได้ทำ คือตัดจุกเด็กแลเจิมจุณเครื่องหอมและรดน้ำอวยชัยให้พร ในที่แต่งตั้งฐานันดรและการบ่าวสาว และวางศิลาแรกในที่ก่อตึกก่อกำแพงและป้อมใดๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ใหญ่แทนพระเจ้าแผ่นดิน จะได้ลงมือเป็นฤกษ์ ผู้ลงมือทำการมงคลนั้น ย่อมเอาวงแหวนนั้นสอดในนิ้วชี้มือขวา แล้วทำการมงคลนั้นๆ ก็การที่คาดแหวนสอดในประคตนั้น เป็นที่สำแดงยศของผู้ใหญ่ในสยามแต่โบราณมา
ในทุกวันนี้ มีผู้ยังได้ใช้เครื่องยศแหวนอย่างนั้นอยู่แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ ๑ พระองค์ที่สอง ๑[๑] กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๑ ทั้งสามนี้เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ๑ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ๑ ทั้งสองนี้เป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนนรานุชิต ๑ กรมหมื่นอมรมนตรี ๑ ทั้งสองนี้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาพระคลังว่าการต่างประเทศ ๑ เจ้าพระยาภูธราภัยสมุหนายก ๑ ทั้งสามนี้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ มีอยู่ ๑๑ เท่านี้
และแหวนพลอย ๙ อย่างๆ นี้ ฝ่ายสยามนับถือว่าเป็นมงคลใหญ่หลวง อนึ่งของสำหรับพนักงานผู้ปฏิบัติพระเจ้าแผ่นดินถวายเครื่องใหญ่[๒] คือถูกต้องที่สูงในเวลาต้องการ มีอยู่ในส่วนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่สองวง ในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ สองวง แหวนนั้นประดับพลอย ๙ อย่างเหมือนกัน แต่ไม่มีเครื่องเพ็ชรข้างๆ และลงยาราชาวดีให้ผิดเครื่องยศ และเล็กย่อมกว่าเครื่องยศ แหวนสองวงนั้น สำหรับเจ้าพนักงานสอดสวมในนิ้วเมื่อเวลาถวายเครื่องใหญ่ ไม่ว่าใครประจำก็ตาม การอันนี้ผู้มีบรรดาศักดิ์ต่างๆ ตลอดไปจนราษฎรที่มั่งมี ก็ทำขึ้นไว้ใช้สอยบ้างในการมงคล แต่เพราะเป็นทองลงยาผิดกันกับเครื่องยศ หรือเป็นแต่ทองเปล่าไม่มีเพ็ชรประดับข้าง และเล็กย่อมกว่าแหวนเครื่องยศ ก็หาได้มีกฎหมายห้ามปรามไม่แต่โบราณมา ผู้ที่เขามีเขาก็ใช้แต่ในเวลาทำการมงคลของเขา คือตัดจุกและเจิมจุณเครื่องหอมและการอื่นๆ ไม่ได้มีใครสอดประคตคาดอย่างเครื่องยศ ครั้นมาบัดนี้พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อส้องเสพกับชาวต่างประเทศ ได้สืบทราบว่าในประเทศต่างๆ มีเครื่องยศสำหรับสำแดงลำดับยศอย่างสูง และลำดับนั้นๆ ลงมา ด้วยทำเป็นดาวและดอกจันทน์และรูปต่างๆ ตามบัญญัติในเมืองนั้น จึงได้คิดตั้งราชบัญญัติ ให้ทำดอกจันทน์ประดับด้วยพลอย ๙ อย่างนั้นขึ้น[๓] เพื่อจะให้ประดับในหน้าเสื้อ เป็นสำคัญยศอย่างสูง ครั้นทำขึ้นแล้วก็ได้ไว้ทรงด้วยพระองค์ดอกหนึ่ง พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ดอกหนึ่ง พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ดอกหนึ่ง พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่สองดอกหนึ่ง ครั้นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่สองสิ้นพระชนม์แล้ว จึงพระราชทานพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่สามให้ทรงต่อมา ยังทรงพระราชดำริจะพระราชทานต่อไปในท่านผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศแหวนประดับพลอย ๙ อย่างนั้นให้ทั่ว การทำไปยังหาตลอดไม่ ครั้นเมื่อปีกุน เบญจศก ศักราช ๑๒๒๕ ตรงกับคริสตศักราช ๑๘๖๓ ได้ทรงรับเครื่องราชอิสริยยศแครนกรอสแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงยินดีมา จึงได้ทรงพระราชดำริให้ช่างทำจอกจันทน์ประดับพลอย ๙ อย่าง และประดับเพ็ชรเป็นบริวาร อาการคล้ายกับเครื่องที่ทรงด้วยพระองค์แต่ทำให้เขื่องกว่าที่ทรง แล้วได้ทรงพระราชดำริให้ทำค้างคาวลงยา โดยเลียนอย่างค้างคาวห้อย ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงยินดีมานั้น เปลี่ยนแต่รูปตราและพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดินและรูปมงกุฎให้เป็นอย่างสยาม ได้ทรงยินดีออกไปยังสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เมื่อปีชวด ฉศก ศักราชสยาม ๑๒๒๖ ตรงกับคริสตศักราช ๑๘๖๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ได้มีพระราชสาสนตอบรับเข้ามาแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงสดับทรงพระโสมนัสมาก บัดนี้ทรงพระราชดำริจะตั้งกฎหมายอย่างธรรมเนียมเครื่องประดับและเครื่องสำคัญยศของผู้มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งควรจะพระราชทานแก่ผู้มียศต่างๆ ในพระราชอาณาจักรและชาวต่างประเทศที่มีความชอบ ก็ทรงพระราชดำริขึ้นได้แต่รูปช้างเผือก[๔]ที่เป็นสำคัญของแผ่นดินสยาม และรูปพระมหามงกุฎ[๕]ที่เป็นสำคัญพระนามพระองค์แต่เดิมมา จึงได้ทำขึ้นเป็นตัวอย่างบ้างแล้ว แต่ยังทรงพระราชดำริจะทำต่อไป ให้เป็นที่สำแดงลำดับยศบรรดาศักดิ์ฝ่ายสยามให้ครบต้องตามธรรมเนียมเดิมด้วย แต่ยังคิดไม่ตลอด ด้วยจะต้องทำให้แข็งย้ายยักต่างๆ กัน เพราะธรรมเนียมลำดับยศฝ่ายสยาม มีที่สังเกตอยู่ ๓ อย่าง ด้วยหมวกเสื้อและเครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่ง ด้วยคำนำหน้าชื่ออย่างหนึ่ง ด้วยศักดินาคืออำนาจที่จะหวงที่ดินเป็นที่ไร่นาของตัวอย่างหนึ่ง ก็และเครื่องนุ่งห่มหมวกเสื้อนั้นเป็นของแปลกตาชาวต่างประเทศจะใช้ไม่ได้ เมื่อจะทำเครื่องประดับห้อยหน้าอกเป็นสำคัญ จะต้องคิดย่นอักษรคำนำหน้าชื่อ และประมาณศักดิ์ที่จะหวงนานั้นเข้า อนึ่งประมาณศักดิ์ที่จะหวงนานั้น จะใช้ได้แต่ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินสยาม ที่จะใช้ทั่วไปเมืองอื่นได้ก็แต่คำนำหน้าชื่อ ถึงธรรมเนียมเดิมเมืองประเทศราชที่อยู่ใกล้เคียงพึ่งพิงตั้งแต่งไปจากสยาม ประมาณศักดิ์ที่จะหวงที่ดินก็ไม่มี มีแต่คำนำหน้าชื่อเครื่องนุ่งห่ม ถึงกระนั้นก็แปลกๆ กันกับการในสยาม ย่อมเป็นไปตามการที่เขาสังเกตกันในเมืองนั้นๆ
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้ทรงจัดเครื่องแหวนประดับพลอย ๙ อย่าง ซึ่งเป็นเครื่องยศอย่างสูงอย่างโบราณกับประคตสำหรับคาดกับแหวน กับเครื่องราชอิสสริยยศซึ่งทำให้มีรูปช้างเผือกและรูปมงกุฎตามพระราชดำริขึ้นใหม่ เสร็จแล้วเข้าหีบส่งทรงยินดีออกมาเพื่อจะให้สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงรับไว้ทอดพระเนตร เมื่อจะทรงเห็นควรประการใดก็สุดแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่จะโปรด อนึ่งทรงพระราชดำริว่า ประคตที่มีพู่ใหญ่ติดอยู่ปลายอย่างฝรั่งเศสนั้น ลางสายก็เห็นมีห่วงทำด้วยไหมสวมเข้าไว้ ก็ถ้าจะยกห่วงทำด้วยไหมเสีย สวมวงแหวนประดับพลอย ๙ อย่าง ซึ่งเป็นเครื่องยศเก่าอย่างสยาม ใช้แทนวงแหวนที่ทำด้วยไหมได้แล้วจะเป็นดีทีเดียว
[๑] พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
[๒] คำสามัญ คือตัดผม
[๓] คือดารานพรัตน รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นดวงดาราติดกับเสื้อปักเรียกว่า ตรา
[๔] คือดาราช้างเผือก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๐๔
[๕] คือดารามหามงกุฎ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๐๔