๓. เรื่อง แผ่นดินเขมรเป็น ๔ ภาค

แผ่นดินเขมรเป็น ๔ ภาค คือส่วนที่โบราณเรียกว่าขอมแปรพักตร์ และจะว่าให้รู้ง่ายอีกอย่างหนึ่ง เขมรไทย คือเขตต์แขวงตั้งแต่ฝั่งน้ำปะดงข้างตะวันออกไปจนฝั่งข้างตะวันตกของทะเลสาบ ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้างชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร เมืองแปดริ้วเป็นชื่อไทย เมืองประจิมเป็นชื่อเขมร เพราะอยู่ทิศตะวันตกของพระนครหลวง เมืองบางคางเป็นชื่อไทย เมืองนครนายกเป็นชื่อสันสกฤตเขมรตั้ง บ้านนาเป็นชื่อไทย ด้วยนัยนี้ ที่ต่างๆ เป็นตลอดไป เป็นชื่อไทยบ้างชื่อเขมรบ้าง คนที่อยู่ในเมืองเหล่านั้น ก็เป็นไทยบ้างเขมรบ้างปนกันมาแต่โบราณจนทุกวันนี้ เหมือนอย่างเมืองนครเสียมราฐ ทุกวันเขมรเรียกว่านักกร แต่คำโบราณเขมรเรียกว่าเสียมเงียบบ้าง เสียมเรียบบ้าง ไทยเรียกว่าเสียมราฐ ตามคำเขมรโบราณ ก็คำนั้นแปลว่าเมืองไทยทำปลาแห้ง คือแต่ก่อนเป็นบ้านเมืองไทยทำปลาแห้งขาย อย่างเมืองฉะเชิงเทราที่ไทยเรียกว่าเมืองแปดริ้วนั้น เขมรก็มามีอยู่มากจนทุกวันนี้ ก็เมืองส่วนนี้ แต่ก่อนพงศาวดารลึกขึ้นไป กรุงมหานครของเขมรอยู่ที่นครหลวง ใกล้กับเมืองเสียมราฐ ซากเศษเมืองเก่าปราสาทราชฐานเหลืออยู่มากจนทุกวันนี้ ก็เมื่อพวกไทยมีกำลังเจริญขึ้น ยกทัพไปรบกวนเนืองๆ ทำให้บ้านแตกเมืองเสียเป็นหลายครั้ง จนเจ้านายฝ่ายเขมรเห็นว่าเมืองนั้นอยู่ใกล้ไทยนัก อีกอย่างหนึ่งรังเกียจว่าเป็นเมืองเก่า อาลัยของเจ้านายฝ่ายเขมรที่ตายแล้วซ้ำซากมา เป็นผีสิงอิจฉาหึงหวงเจ้านายที่เป็นขึ้นใหม่ๆ ให้ตายเร็วๆ ง่ายๆ บ่อยๆ นัก จึงล่าเลิกถอยไปเสียข้างใต้ ก็ในจังหวัดวงเขมรเจือไทยนี้ เมื่อใดไทยมีกำลังมาก ก็ครอบงำออกไปจนหมดบ้างไม่หมดบ้าง เมื่อไรเขมรมีอำนาจขึ้นก็ครอบงำเข้ามาจนถึงเมืองนครนายก เมืองประจิม[๑] เมืองฉะเชิงเทรา ที่ไทยเรียกว่าบ้านนา บางคาง แลแปดริ้วนั้นบ้าง ไพร่บ้านพลเมืองสองอย่างปะปนกันอยู่ดังนี้มานาน แต่จังหวัดขอมแปรพักตร์นี้ ได้ตกเป็นของไทยทั้งสิ้นขาดทีเดียว จนเจ้านายฝ่ายเขมรหรือญวนก้ำเกินเข้ามาไม่ได้เลยทั้งสิ้น ตั้งแต่เมืองปัตบอง เมืองนครเสียมราฐเข้ามาดังนี้นั้น ตั้งแต่ต้นพระบรมราชวงศ์นี้ เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับคริสตศักราช ๑๗๘๒ นั้นมาจนบัดนี้ ในเขตต์แขวงแผ่นดินขอมแปรพักตร์ที่ว่ามานี้ ไทยได้ไปตั้งบ้านตั้งเมืองลงใหม่หลายเมือง คือมงคลบุรี ศรีโสภณ วัฒนานคร อรัญญประเทศ ถึงเมืองปัตบอง เมืองเสียมราฐ แต่ก่อนก็ไม่มีป้อมและกำแพง ฝ่ายไทยได้ไปสร้างขึ้นเกือบสามสิบปีมาแล้ว ส่วนนี้เป็นส่วนที่ ๑

ส่วนที่ ๒ เรียกว่าเขมรป่าดง แผ่นดินแดนต่อนครหลวงนครธมขึ้นไปข้างเหนือ แลเป็นเมืองอยู่บัดนี้ มีชื่อ ๓ คือ พุไทยสง ๑[๒] สุรินทร์ ๑ สังข์ ๑ พุไทยสมันอีกเมือง ๑ แต่เป็นเมืองไม่มีคน ในเมืองเหล่านี้เขมรกับลาวปนกัน ยังเมืองพิมายอีกเมืองหนึ่งชื่อเป็นเขมร ปราสาทร้างของเขมรก็ยังมี แต่บัดนี้เป็นแต่เมืองลาวกับไทยอยู่ ไม่มีเขมรเลย ก็เมืองเขมรป่าดงหรือเขมรลาวนี้เป็นของไทยขาดทีเดียวมานานแล้ว ไม่รู้ต้น ส่วนนี้เป็นส่วนที่ ๒

ส่วนตั้งแต่ฝั่งตะวันออกทะเลสาบไปและฝั่งเหนือฝั่งใต้ของทะเลสาบเล็กน้อยจนสิ้นแขวงเมืองปัตบองเมืองนครเสียมราฐนั้นด้วย คิดตั้งแต่แขวงเมืองโบสัด (โพธิสัตว์) และเมืองกมปงสวายลงไป จนกระทั่งแยกทะเลข้ามที่พนมเปญ และขึ้นไปตามลำน้ำจาม จนสิ้นแขวงเมืองสมบุกสมบูรณ์ ซึ่งต่อกับเมืองเชียงแตง เป็นเมืองลาว และฝั่งทะเลใหญ่ตั้งแต่เมืองกะพงโสมลงไป จนกระทั่งเมืองพุไทยมาศ ส่วนเท่านี้เรียกว่าเขมรใหญ่บ้าง เรียกว่าเขมรละแวกบ้าง เจ้านายฝ่ายเขมรที่ทิ้งนครหลวงลงไปได้อยู่มา และตั้งเมืองในที่ต่างๆ หลายแห่งหลายตำบล เมืองเหล่านี้มีชื่อเป็นเขมรล้วน ไม่มีชื่อไทยสืบมาแต่ก่อน เจ้านายฝ่ายเขมรบางทีก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ไม่ได้ขึ้นไทยขึ้นญวน บางทีก็อ่อนน้อมข้างไทยปฏิญญาว่าขึ้นแก่ไทยบ้าง บางทีก็อ่อนน้อมแก่ญวนปฏิญญาว่าขึ้นแก่ญวนบ้าง บางทีก็อ่อนน้อมอยู่ทั้งสองข้างบ้าง ไทยก็ดีญวนก็ดี เมื่อเวลาไรเจ้านายฝ่ายเขมรมาปฏิญญาว่าขึ้นก็รับว่าเป็นเมืองขึ้นของตัว แต่ที่แท้ก็จับเข้าไม่ถนัดนักทั้งสองข้าง ถ้าข้างไหนจับหนักเข้า คือจะเอาให้ได้ดังใจ ก็คงเกิดวุ่นวายไปต่างๆ เป็นแต่ประคับประคองกล้อมๆ แกล้มๆ อยู่ จะกดเอาเป็นของตัวจริงอย่างส่วนที่ ๑ ที่ ๒ เป็นของไทยแท้ทีเดียวนั้นไม่ได้ ในส่วนนี้คนเป็นเขมรเป็นพื้นไปทั้งนั้น ชาติอื่นภาษาอื่นเข้าไปปะปนบ้างเล็กน้อย ส่วนนี้เป็นส่วนที่ ๓

ก็ยังอีกส่วนหนึ่งนั้น เรียกว่าเขมรญวนบ้าง เขมรใต้บ้าง เขมรจามบ้าง คือแผ่นดินเขมรตั้งแต่เมืองพนมเปญลงไป หรือข้างฝั่งทะเลตั้งแต่พุไทยมาศลงไปจนสุดแหลม บ้านเมืองเหล่านี้ คนเป็นเขมรบ้าง ญวนบ้าง แขกจามบ้าง ชื่อเมืองทั้งปวงก็มักเป็นสองชื่อ ชื่อเขมรชื่อ ๑ ชื่อญวนชื่อ ๑ เหมือนอย่างพนมเปญเป็นชื่อเขมร นามวันเป็นชื่อญวน โรงตำรีเป็นชื่อเขมร ไต้หงินเป็นชื่อญวน มัจรุกเป็นชื่อเขมร โจดกเป็นชื่อญวน บรรทายมาศเป็นชื่อเขมร ฮ่าตินเป็นชื่อญวน ในเมืองเหล่านั้น ครั้งเจ้าองค์จันไปพึ่งญวนขึ้นแก่ญวน ตั้งเมืองพนมเปญ ที่ญวนเรียกว่านามวานเป็นเมืองหลวง ในส่วนนั้นทัพญวนตีเข้ามาเอาเป็นของญวนโดยมาก ถึงยามเมื่อเจ้านายฝ่ายเขมรเข้าข้างไทย ไทยได้ช่วยไปรบกับญวน ก็ได้ไปเพียงพนมเปญ ไม่ได้ไปต่อลงไปอีก ทางทะเลเมื่อไทยได้ไปรบ ก็ได้ไปเพียงบรรทายมาศและโจดก ไม่ได้ไปต่อไปอีก เมืองบรรทายมาศที่เรียกว่าฮ่าตินนั้น แผ่นดินเจ้าตากสินก่อนพระบรมราชวงศ์นี้ไป ยกทัพเรือไปตีมาเป็นของไทยได้ แล้วตั้งเจ้าเมืองไว้ เอาเป็นเมืองขึ้นของไทยสืบมา จนพระบรมราชวงศ์นี้เกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว ครั้นภายหลังเจ้าเมืองที่ไทยตั้งไว้ตายลง เจ้าเวียดนามญ่าล่วง[๓] ครั้งนั้นยังเป็นเจ้าอานัมก๊กอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน เอาญวนมาตั้งเป็นเจ้าเมืองเสีย แล้วมีหนังสือทูลขอเข้ามาว่า เมืองนั้นอยู่ไกลกรุงเทพฯ ถ้าเจ้าเมืองล้มตายลง ไม่มีใครว่ากล่าว ราษฎรก็เป็นโจรผู้ร้ายรบกวนกันวุ่นวาย จะขอพระราชทานไปขึ้นแก่เมืองไซ่ง่อน ก็ครั้งนั้นเจ้าอานัมก๊ก เพราะเป็นผู้ได้มาพึ่งพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ นี้หลายปี เมื่อกลับออกไปอยู่เมืองไซ่ง่อน รบกับญวนฝ่ายเหนืออยู่นั้น ก็ปฏิญญาว่าเป็นเมืองขึ้นกรุงเทพฯ จัดดอกไม้ทองเงินถวายอยู่ เพราะดังนั้นจึงโปรดพระราชทานยกให้ การบ้านเมืองในส่วนนั้น เป็นของเขมรเท่าใด เป็นของญวนเท่าใด ข้างไทยก็ไม่ได้ความถนัดเลย ส่วนนี้เป็นส่วนที่ ๔

ก็บัดนี้ฝรั่งเศสมาได้เมืองไซ่ง่อนแล้ว ก็ที่ในส่วนนั้นเท่าไรจะเป็นของฝรั่งเศสเท่าไรจะเป็นของญวน ข้างฝ่ายไทยก็ยังไม่ทราบถนัดเลย ฝรั่งเศสเข้ามาทำสัญญากับเจ้านายฝ่ายเขมร ๆ ยอมจะอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส ฝ่ายไทยแต่แรกยังไม่สู้เข้าใจ ฝ่ายเขมรก็มาปฏิญญาว่าเป็นเมืองขึ้นไทยอยู่ เพราะไทยได้ทำนุบำรุงมานาน เจ้าแผ่นดินเขมรองค์ก่อนก็ดีองค์นี้ก็ดี ได้อยู่ในเมืองไทยมาแต่ก่อนนาน ไทยได้อุปถัมภ์ค้ำชูออกไปให้ได้เป็นเจ้า และบ้านเมืองเกิดวุ่นวาย ไทยได้ช่วยระงับในเร็วๆ เพราะการยังไม่สู้เข้าใจกันถนัด จึงคิดผิดๆ ไปบ้าง พูดผิดๆ ไปบ้าง บัดนี้ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายไทย ปรึกษาเห็นพร้อมกันกับกงสุลฝรั่งเศสว่าเมืองเขมรที่เป็นส่วนที่สาม เรียกว่าเขมรใหญ่ เป็นที่ครอบครองของเจ้านายฝ่ายเขมรอยู่นั้น ถึงเจ้านายฝ่ายเขมรปฏิญญาว่าขึ้นไทย ไทยก็จับไม่ถนัดว่าไม่ถนัด เหมือนอย่างส่วนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ชนชิดเมืองไทยจนตกเป็นของไทยแท้ขาดมานานแล้วนั้นได้ ถ้าแม้นจะว่าเขตต์แดนที่เจ้านายฝ่ายเขมรครองอยู่นั้น เป็นเมืองขึ้นของไทย เมื่อต่อเขตต์แดนกับฝรั่งเศสที่มีเหตุเกี่ยวข้อง จะต้องมาต่อว่าแก่ไทย ไทยอยู่ไกลจะไปบังคับบัญชาว่ากล่าวความที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส เขมรก็จะทำตามบ้างไม่ทำตามบ้าง ก็จะเป็นความยากลำบากแก่ไทยและฝรั่งเศสทั้งสองข้างเนืองๆ ไปไม่รู้วาย อนึ่ง ข้างญวนเขาก็เถียงว่าเมืองเขมรส่วนที่ ๓ ที่เจ้านายฝ่ายเขมรครองอยู่นั้นเป็นเมืองขึ้นของเขา เพราะเจ้านายฝ่ายเขมรเคยไปพึ่งเขาอยู่หลายครั้งมาแต่ก่อน ถึงเมื่อมาพึ่งไทยก็ยังไปถวายบรรณาการอ่อนน้อมแก่เขาอยู่ ก็บัดนี้ญวนยอมยกเมืองฝ่ายใต้ให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว ก็ยอมอำนาจในเมืองเขมรให้แก่ฝรั่งเศสด้วย เมื่อแต่ก่อนฝรั่งเศสยังไม่มาได้เมืองไซ่ง่อนนั้น เจ้านายฝ่ายเขมรถึงปฏิญญาว่าขึ้นแก่ไทยแล้ว ก็ยังมาปรับทุกข์กับไทย ว่าเมืองเขมรอยู่ใกล้ญวนนัก อยู่ไกลไปแต่เมืองไทย ต้องอาศัยค้าขายกับเมืองญวน ถ้าไม่ไปอ่อนน้อมต่อเมืองญวนจะไปค้าขายในแผ่นดินญวนที่อยู่ใกล้ก็ยาก ก็จะต้องรบกวนกันไปไม่รู้วาย จะขอให้ไทยยอมให้เขมรแต่งบรรณาการไปถวายอ่อนน้อมต่อเมืองญวนเสีย เพื่อจะได้ค้าขายกับเมืองญวนสะดวก ฝ่ายไทยก็เห็นจริงด้วยเขมร จึงยอมให้เขมรไปบรรณาการเมืองญวน สามปีครั้งหนึ่ง เขมรก็ได้รับชื่อตั้งและดวงตราสำหรับตำแหน่งมาแต่เมืองญวนด้วย การเรื่องนี้เป็นจริง การนั้นฉันใด ถึงครั้งนี้เมืองเขมรส่วนใหญ่ที่เจ้านายฝ่ายเขมรครอบครองอยู่นั้น ก็มีเขตต์แดนต่อติดตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเป็นของฝรั่งเศส มากกว่าใกล้ข้างไทย โดยถ้าฝรั่งเศสจะยอมให้เป็นเมืองขึ้นข้างไทย ๆ ก็ต้องเป็นเหมือนนายประกันเจ้านายฝ่ายเขมรนั้นอยู่ ถ้าไปผิดอะไรกับฝรั่งเศส ไทยก็จะพลอยผิดด้วย จะช่วยเถียงแทนก็ยาก เพราะเป็นการไกลตา จะบังคับบัญชาก็ไม่สู้ถนัดนัก เหมือนเมืองขึ้นชั้นในที่ใกล้ชิด เพราะฉะนั้นเมื่อฝรั่งเศสจะรับทำนุบำรุงเจ้านายฝ่ายเขมรไทยก็ยอม ด้วยคิดเห็นตามเหตุผลที่ควรจริงๆ เพราะฝรั่งเศสมีอำนาจมาก จะบังคับบัญชาเมืองเขมรที่อยู่ใกล้ได้มากกว่าไทยที่อยู่ไกลและมีอำนาจน้อย เมืองฝรั่งเศสกับไทยก็เป็นไมตรีกันอันสนิทไม่มีความผิดต่อกันเหมือนอย่างเมืองญวน บัดนี้ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายไทยกับกงสุลฝรั่งเศส ปรึกษากันตกลงทำใบยอมกันแล้ว ว่าให้เมืองเขมรซึ่งเป็นส่วนที่ ๓ ที่ ๔ ออกชื่อมานั้นอยู่ในทำนุบำรุงฝรั่งเศส ไทยจะไม่ล่วงว่าล่วงกล่าวอะไรแก่เจ้านายและผู้ครองเมืองเขมรเลย จะคงรักษาแต่ส่วนที่ ๑ที่ ๒ ซึ่งชิดและเป็นของไทยมานานแล้ว และได้ไปสร้างบ้านสร้างเมืองลงไว้ เป็นแต่ให้เจ้านายฝ่ายเขมรมาคำนับแก่ไทยฝ่ายหนึ่ง ฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่ง ให้สมควรแก่เกียรติยศเมืองใหญ่ การทำนุบำรุงเจ้านายฝ่ายเขมรนั้น เป็นธุระของฝรั่งเศส การปรึกษาตกลงกันด้วยเหตุผลดังนี้



[๑] เมืองปราจิณบุรีก็เรียก

[๒] พุทไธสงก็เรียก

[๓] เจ้าเวียดนามญาลองก็เรียก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ