๑. เรื่องช้าง

ว่าด้วยช้างเผือก ซึ่งเป็นที่นับถือแลเป็นที่ต้องประสงค์ของบ้านเมืองสืบๆ มาในกรุงสยาม และประเทศรามัญ พะม่า ลาว เขมร ซึ่งต่างคนต่างหาประกวดประชันกันอยู่แต่โบราณมานั้น จะต้องกล่าวถึงต้นตำรา ซึ่งได้ทราบมาในแผ่นดินสยาม ตามหนังสือซึ่งมาจากพราหมณ์ที่ได้นับถือไสยศาสตร์ คือมีผู้สร้างโลก พระเป็นเจ้าทั้งสาม พระอิศวร หรือ ศิวะ ๑ พระนารายณ์ หรือ วิศณุ ๑ พระพรหม ๑ เหมือนอย่างซึ่งถือกันอยู่ในอินเดีย แล้วและพราหมณ์ที่ถือตำรานี้ได้เข้ามาถึงแผ่นดินสยาม พะม่า รามัญ ลาว เขมร ก่อนพระพุทธศาสนาได้เป็นครูสั่งสอนธรรมเนียมการบ้านเมืองและตำหรับตำราต่างๆ จนถึงกฎหมายมนูสารศาสตร์ ซึ่งในประเทศอินเดียใช้อยู่ทั่วกันนั้น ได้มาใช้ในบ้านเมืองเป็นแบบแผนแผ่นดินมาช้านาน เพราะฉะนั้น เจ้านายขุนนางและราษฎรก็เชื่อถือประพฤติตามพราหมณ์เหล่านั้น ในการที่พอจะทำได้ทุกอย่างเป็นประเพณีแผ่นดินสืบมา แต่จะกำหนดว่ามาแต่เมื่อไร ก็ไม่มีหลักฐานที่จะอ้างอิงให้แน่ได้ ครั้นภายหลังมาพระพุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในประเทศสยามและประเทศอื่นๆ เช่นกล่าวมาแล้วนั้นก็เป็นที่นับถือมาก ธรรมเนียมบางสิ่งวิชาบางสิ่ง ซึ่งเป็นของศาสนาพราหมณ์เดิมนั้นเจือในการแผ่นดินมาก เป็นครูสั่งสอนราชการไปทุกอย่าง พระพุทธศาสนานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องในคดีโลก ไม่พูดถึงการบ้านเมืองและธรรมเนียมต่างๆ เพราะฉะนั้น วิชาในศาสนาพราหมณ์เดิมนั้น จึงยังคงติดอยู่ในกรุงสยาม หรือจะว่าศาสนาซึ่งนับถือพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ผู้สร้างโลกนั้น ก็ยังตั้งอยู่ในกรุงสยามก็ว่าได้ ด้วยยังถือปนอยู่กับพระพุทธศาสนา แต่ความที่นับถือจริงนั้นเห็นจะคลายลงกว่าแต่ก่อน เมื่อยังไม่ได้รับพระพุทธศาสนามาถือ ก็และซึ่งชาวสยามถือศาสนาเป็นสองอยู่อย่างนี้ เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามปรามหึงหวงศาสนาอื่น เมื่อถือมาอย่างไรแต่เดิมแล้ว ก็ยังคงถืออยู่หรือลดถอยลงไปบ้าง ในเวลาเมื่อได้รับพระพุทธศาสนามาถือ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ถือพระพุทธศาสนา และไม่ได้ฟังโอวาทพระพุทธเจ้าที่จริงที่แท้ ก็มักจะเข้าใจไปว่า พระพุทธศาสนาเจือคล้ายๆ กับศาสนาพราหมณ์ เมื่อจะพูดหรือจะแต่งหนังสือเรื่องไรที่ผิดๆ ถูกๆ ไม่น่าเชื่อตามหนังสือของพราหมณ์ ก็มักจะอ้างเอาว่าเป็นศาสนาพระพุทธ เพราะผู้ที่ถือพระพุทธศาสนานั้น ทำความนับถือและประพฤติปะปนกันอยู่กับศาสนาพราหมณ์ แต่ที่จริงนั้นไม่ปะปนคล้ายคลึงกันเลย เหมือนหนึ่งวิชาคชศาสตร์นี้ นับเข้าอยู่ในวิชาไตรเพทของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งถือกันว่า ถ้าผู้ใดรู้จบไตรเพท ผู้นั้นเป็นผู้วิเศษ เป็นที่สรรเสริญของโลก

ตำราคชศาสตร์นั้นแบ่งเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งว่าด้วยแบบคชลักษณ์ คือรูปพรรณสัณฐานของช้างต่างๆ ซึ่งดีและชั่ว ถ้าได้ไว้จะให้คุณและให้โทษนั้นเป็นตำราหนึ่ง และมีตำราซึ่งเป็นที่รวบรวมเวทมนตร์ เรียกว่าคชกรรม คือกระบวนที่จะจับช้าง รักษาช้าง และบำบัดเสนียดจัญไรต่างๆ จึ่งรวมทั้ง ๒ อย่างนี้ เรียกว่าคชศาสตร์ อยู่ในวิชาไตรเพท แต่วิชานี้ไม่เกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าๆ ไม่ได้สรรเสริญว่า วิชานี้เป็นวิชาดีสำหรับพระสงฆ์ที่เป็นบริษัทจะร่ำเรียน แต่ฝ่ายคฤหัสถ์ที่เป็นบริษัทนั้น พระองค์มิได้ห้ามปรามว่ามิให้ร่ำเรียน และพระองค์ไม่ได้ตรัสถึงวิชาเหล่านี้เลย จึงเห็นว่าวิชาและตำราเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องเจือปนในพระพุทธศาสนา เป็นของมาแต่ไสยศาสตร์ลัทธิพราหมณ์แท้

บัดนี้จะได้กล่าวถึงตำราช้างตามเรื่องราวตามการที่กล่าวถึงเรื่องสร้างโลก ก็แต่เรื่องที่กล่าวนั้น เป็นตำราว่ายั่งยืนเป็นจริงจังยืดยาวไปตามนิสสัยคนโบราณและลัทธิพราหมณ์ เมื่อจะเขียนจะพูดถึงการสิ่งไรมักจะพูดเกินๆ ไปจนไม่น่าเชื่อ การจริงกับเท็จปะปนกันไป

แต่บัดนี้จะกล่าวถึงช้าง ซึ่งเรียกว่าช้างเผือก ๆ ก็จะต้องกล่าวถึงตำราที่ไม่น่าเชื่อ เจือปนกันกับจริงอยู่บ้าง พอผู้ฟังจะได้เข้าใจเรื่องตั้งแต่ต้นจนตลอดถึงที่จะกล่าวด้วยช้างเผือกและช้างที่มีตระกูลยิ่งกว่าช้างเผือก หรือเสมอช้างเผือกบ้าง พอจะได้เทียบเคียงเป็นเค้าเรื่องให้ทราบการตลอด ที่นี้จะว่าด้วยคชลักษณ์ก่อน ในตำราสร้างโลกนั้นได้กล่าวไว้ว่า พระนารายณ์เสด็จบรรทมอยู่ในเกษียรสมุทร แล้วกระทำอธิษฐานด้วยเทวฤทธิ์ ให้ดอกบัวผุดขึ้นในพระอุทร มีกลีบ ๘ กลีบ มีเกสร ๑๗๓ เกสร แล้วจึงนำดอกบัวนั้นไปถวายพระอิศวร ๆ จึงได้แบ่งดอกบัวนั้นออกเป็น ๔ ส่วน ๆ หนึ่ง ๘ เกสรเป็นของพระอิศวร ส่วนหนึ่ง ๘ กลีบ ๒๔ เกสรให้แก่พระพรหม ส่วนหนึ่ง ๘ เกสรให้พระนารายณ์ ส่วนหนึ่ง ๑๓๕ เกสรให้แก่พระเพลิง พระเป็นเจ้าทั้งสี่จึงได้สร้างเป็นช้างสี่ตระกูล และพระพรหมนั้นได้สร้างช้าง ๑๐ หมู่ และช้างอัฐทิศ และช้างตระกูลต่างๆ พระนารายณ์ก็สร้าง ๘ ช้าง พระเพลิงได้สร้างช้างซึ่งมีลักษณะดี ๔๙ ช้าง ช้างโทษ ๘๐ จำพวก และช้างซึ่งพระเป็นเจ้าทั้งสี่องค์สร้างนั้น ว่าโดยช้างปรกติ เขาแบ่งเป็นชาติเหมือนอย่างเช่นชาติคนในเมืองอินเดีย ซึ่งแบ่งกันว่าเป็นชาติกษัตริย์ ชาติพราหมณ์และชาติอื่นๆ เป็นอันมากนั้น ก็และช้างทั้ง ๔ ตระกูลนี้ก็แบ่งเป็นชาติเหมือนกัน จึงได้เห็นว่าตำรานี้มาจากชาติอินเดีย คือช้างที่พระอิศวรสร้างนั้น เป็นชาติกษัตริย์หรือขัตติยะ เรียกว่าอิศวรพงศ์ ช้างซึ่งพระพรหมสร้างนั้น เป็นชาติพราหมณ์ เรียกว่าพรหมพงศ์ ช้างซึ่งพระนารายณ์สร้าง เป็นชาติแพศย์หรือเวศ เรียกว่าวิศณุพงศ์ ช้างซึ่งพระเพลิงสร้าง เป็นชาติศูทร หรือ สุททะ เรียกว่าอัคนีพงศ์ ชื่อดังนี้มีทั่วไปทั้งช้างตระกูลและช้างธรรมดา ก็แต่ลักษณะของช้างธรรมดา คือช้างดำปรกตินั้น มีสังเกตที่จะให้รู้ว่าเป็นชาติไหนพงศ์ไหนตามตำราเขาว่า ถ้าอิศวรพงศ์มีลักษณะเนื้อดำสนิทเนื้อละเอียดเกลี้ยง งาทั้งสองใหญ่ขึ้นเสมอกัน เท้าใหญ่ น้ำเต้ากลม โขมดสูง งวงเรียวเป็นต้นเป็นปลาย คอกลม เมื่อเดินนั้นย่นคอ หลังเป็นคันธนู ท้ายเป็นสุกร ขนดท้องตามวงหลัง อกใหญ่ หน้าสูงกว่าท้าย เท้าหน้าทั้งสองอ่อน เท้าหน้าเท้าหลังเรียวรัด ฝักบัวกลม หางเป็นข้อห่างๆ สนับงาเป็นสองชั้น ขมับเสมอไม่พร่อง หูใหญ่ ช่อม่วงยาวข้างขวา ระบายหูอ่อนนุ่ม มีขนมากกว่าข้างซ้าย หน้าใหญ่

ชาติพรหมพงศ์นั้น มีลักษณะเนื้ออ่อนขนอ่อนละเอียด ขึ้นขุมละสองเส้น น้ำเต้าแฝด คิ้วสูง โขมดสูง มีกระขาวที่ตัวมาก ท้ายต่ำกว่าหน้า ขนหลังขนหูขนปากขนตายาว อกใหญ่ งาสีเหลือง งวงเรียวรัดเป็นต้นเป็นปลาย แลสั้น

ชาติวิศณุพงศ์นั้น ผิวเนื้อหนา ขนหน้าเกรียม อกคางคอเท้าทั้ง ๔ ใหญ่ หางยาว งวงยาว หน้าใหญ่ มีกระแดงเสมอกัน ลูกจักษุใหญ่ขุ่นมัว หลังราบ

อัคนีพงศ์นั้น ผิวกระด้างขนหยาบ ตะเกียบหูห่าง หางเขิน หน้ากระแดง ปากแดง งวงแดง ผิวเนื้อหม่นไหม้ดำ ช้างทั้ง ๔ ตระกูลนี้ จะว่าต่อไปข้างหลัง

บัดนี้จะกล่าวถึงที่มาของช้างเผือก เผือก เอก โท ตรี และช้างเอราวัณ คิริเมขละ ก่อน ในตำราสร้างโลกมีว่า ในไตรดายุค หรือ เตตายุค พระเป็นเจ้ามาประชุมพร้อมกัน พระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงทำเทวฤทธิ์ เกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องกรรณทั้งสอง และกลางเปลวเพลิงนั้นมีเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นหน้าช้าง มีกร ๒ กร ๆ ขวาทรงตรีศูล กรซ้ายทรงดอกบัว ทรงสังวาลนาค นั่งชานุมณฑล พระเป็นเจ้าจึงให้นามว่า พิฆเนศวร กรรณเบื้องซ้ายเกิดเทวกุมารองค์หนึ่ง พระพักตร์เป็นช้าง ๓ พักตร์ มีพระกร ๖ พระกร กรหนึ่งเป็นช้างเผือกผู้ มีเศียร ๓๓ เศียร ๔ บาท ชื่อว่าเอราวัณ กรหนึ่งเกิดเป็นช้างเผือกผู้มีเศียร ๓ เศียร ๔ บาท ชื่อคิริเมขละไตรดายุค ๒ ช้างนี้เป็นพาหนะของพระอินทร์ (แต่มิใช่พระอิศวร) อีก ๒ กรนั้นเกิดช้างข้างละ ๓ ช้าง เป็นช้างเผือก เอก โท ตรี แต่พังนั้นอยู่ข้างพระหัตถ์ซ้าย พลายนั้นอยู่ข้างพระหัตถ์ขวา พระเป็นเจ้าประสาทไว้สำหรับให้เป็นพาหนะของกษัตริย์ อันมีอภินิหารบารมีในแผ่นดิน อีก ๒ กรนั้นเกิดเป็นสังข์ทักษิณาวรรตอยู่เบื้องขวา สังข์อุตราวรรตอยู่เบื้องซ้าย และเทวบุตรองค์นี้ยืนอยู่เหนือกระพองช้างเจ็ดเศียร พระเป็นเจ้าจึงให้นามว่า โกญจนาเนศวรศิวบุตร ตระกูลช้างเผือก ๑, ๒, ๓ จึงได้เกิดแต่นั้นสืบมา เพราะพระเพลิงเป็นผู้ทำเทวฤทธิ์ ให้เกิดโกญจนาเนศวรเทวบุตร ซึ่งเป็นต้นของช้างเผือกขึ้น ช้างเผือกที่เกิดต่อๆ มาจึงได้นับเข้าเป็นชาติอัคนีพงศ์ รวมเก่าใหม่ อัคนีพงศ์เป็น ๕๑ ตระกูล หมอช้างทั้งหลายจึงได้ไหว้บูชาพระศิวบุตรพิฆเนศวรและโกญจนาเนศวรศิวบุตรสืบมา อนึ่งในเรื่องสร้างโลกว่า พระอิศวรเป็นเจ้าให้บังเกิดพระกุมารองค์ ๑ จากอุทรประเทศ คือท้อง มีพระพักตร์ ๖ พระพักตร์ มีพระกร ๑๒ พระกร ให้นามว่าพระขันธกุมารเทวโอรส มีนกยูงเป็นพาหนะ ในขณะนั้นนางฟ้าคนหนึ่งจุติมาเป็นช้างน้ำชื่ออสุรพังคี เป็นใหญ่กว่าหมู่มนุษย์ทั้งหลาย แล้วเที่ยวเบียดเบียฬให้สัตว์ทั้งปวงได้ความเดือดร้อน พระอิศวรจะให้พระขันธกุมารไปปราบเสีย แต่จะโสกันต์เสียก่อน จึงให้ประชุมพระเป็นเจ้าทั้งสาม และเทพยดามาพร้อม แต่พระนารายณ์ยังหาบรรทมตื่นไม่ พระอิศวรจึงใช้ให้พระอินทร์นำวิชัยยุทธมหาสังข์ไปเป่าปลุกบรรทมพระนารายณ์ ๆ ยังมัวบรรทมอยู่พลั้งพระโอษฐ์ออกมาว่า อ้ายลูกหัวหายจะนอนให้สบายก็ไม่ได้ ครั้นพระเป็นเจ้ามาพร้อมกัน เศียรพระขันธกุมารหายไป พระอิศวรจึงใช้ให้วิศุกรรมลงมาตัดเอาศีรษะช้างขึ้นไปต่อเศียรพระขันธกุมาร แล้วจึงให้เปลี่ยนนามว่า มหาวิฆเนศวร แล้วให้ไปปราบอสุรพังคี ๆ ต่อสู้ไม่ได้ หนีดำลงไปในแม่น้ำยมนา พระมหาวิฆเนศทำฤทธิ์อมน้ำยมนาแห้ง เห็นตัวอสุรพังคี จึงถอดเอางาเบื้องซ้ายขว้างไปถูกอสุรพังคีตาย พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงอวยพรมหาวิฆเนศว่า เศียรนี้มีชัยชะนะเป็นมงคลอยู่แล้ว อย่าให้เปลี่ยนเสียเลย แม้นว่าช้างตัวใดมีงาข้างขวางาเดียว เหมือนมหาวิฆเนศนี้แล้ว ก็สมมติว่า เหมือนมหาวิฆเนศ หมอใดคล้องได้ นับหัวช้างได้ร้อยหนึ่ง จงให้เป็นหมอเฒ่า ๆ นั้นทำพิธีในคชกรรมทุกอย่าง หมอช้างนับถือมากเถิด นี้เป็นต้นเรื่องของช้างมหาวิฆเนศ กล่าวไว้จะได้พบชื่อช้างนี้ต่อไปข้างหน้าหนังสือนี้

บัดนี้จะได้กล่าวถึงช้างซึ่งเกิดแต่กรคู่แรกของโกญจนาเนศวร ซึ่งเป็นพาหนะของพระอินทร์ ช้างหนึ่งนั้นเรียกว่า เอราวัณ สีขาว มีเศียร ๓๓ เศียร ที่ในตำราสร้างโลกว่าแต่เพียงเท่านี้ แต่ยังมีหนังสืออื่นๆ มีรามเกียรติ์เป็นต้น ยังพูดปดต่อไปถึงเรื่องนี้ยืดยาวจนน่าหัวร่อก็ไม่ต้องการที่จะกล่าวที่นี้ แต่จะว่าไว้พอฟังเล่นเป็นประหลาดๆ ว่า ช้าง ๓๓ เศียรนั้น มีบุษบกสำหรับพระอินทร์นั่งทุกๆ เศียร ๆ หนึ่งมีเจ็ดงา ๆ หนึ่งมีสระอยู่ในงาเจ็ดสระ ๆ หนึ่งมีกอบัวเจ็ดกอ ๆ หนึ่งมีดอกบัว ๗ ดอก ๆ หนึ่งมี ๗ กลีบ ๆ หนึ่งมีนางฟ้ารำอยู่ ๗ คนดังนี้ ก็และที่นับๆ กันอย่างนี้ เขามาทำเป็นโจทย์เลขสอนให้เด็กๆ คูณดูว่า จะเป็นนางฟ้าเท่าไร เป็นบัวกี่ดอก เป็นกอบัวกี่กอ เป็นสระกี่สระหรือผู้ที่พูดนั้นจะฝันเห็นเลยไปตามโจทย์เลขก็ไม่รู้ อีกช้าง ๑ นั้นที่เรียกว่าคิริเมขละไตรดายุคนั้น สีตัวเหมือนสีดอกคล้ามีเศียร ๓ เศียร ก็ซึ่งตราไอยราพตสำหรับแผ่นดินสยาม ซึ่งได้ใช้สืบมาช้านาน เป็นรูปช้าง ๓ เศียรนั้น จะหมายเอาช้างคิริเมขล์นี้หรือๆ จะหมายเอาว่าเป็นสังเขปช้างเอราวัณลดเสีย ๓๐ เศียรคงแต่ ๓ เศียร ก็ไม่ทราบชัดถ้าจะคิดไปอีกอย่าง ๑ แผ่นดินสยามเป็น ๓ ส่วน สำเนียงที่พูดไม่เหมือนกัน บางทีก็มีจำแยกกันไปบ้าง เมื่อสยามกลาง เหนือใต้ รวมกันเข้าก็เป็นช้าง ๓ เศียร ถ้าจะคิดอย่างนี้ก็เห็นจะได้

แต่นี้ต่อไป จะว่าด้วยช้าง ๔ ตระกูล คือพรหมพงศ์ อิศวรพงศ์ วิศณุพงศ์ อัคนีพงศ์ต่อไป แต่ช้าง ๑๐ หมู่ซึ่งพรหมสร้างนั้น มีในเรื่องสร้างโลกว่า พระอิศวรสาปนางมหาอุปกาสี ให้ลงมาอยู่ในถ้ำชื่อว่าเทวีสินทรบรรพต นางจึงไปกินเถาคชลัดดาวัลย์ พระพรหมจึงให้นางอุปกาสีมีบุตรเป็นช้าง ๑๐ หมู่ คือ

หมู่ที่ ๑ ชื่อว่าฉัททันต์ สีขาวเหมือนสีเงิน งาขาวเหมือนสีเงินยวง หางแดง สีเท้าแดง สันหลังแดงว่าเป็นช้างสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าเวลาจะทรงไปรอบจักรวาลออกจากพระราชวังแต่เวลาพอรุ่ง พอพระอาทิตย์ขึ้นก็กลับมาถึงวัง

หมู่ที่ ๒ เรียกว่าอุโบสถ สีเหมือนสีทอง บรมจักรทรงออกจากวังแต่เช้าไปรอบจักรวาล เวลาเที่ยงกลับมาถึงที่

หมู่ที่ ๓ นั้น สีเหลือง ชื่อว่า เหมหัตถี

หมู่ที่ ๔ สีเหมือนดอกอัญชันม่วง งางอนขึ้นขวา ชื่อว่ามงคลหัตถี

หมู่ที่ ๕ สีเหมือนไม้กฤษณา มูตรมูลและตัวช้างมีกลิ่นหอมดังกฤษณา ชื่อว่าคันธหัตถี

หมู่ที่ ๖ สีเหมือนตาวิฬาร์ คือตาแมว ชื่อว่าปิงคัล

หมู่ที่ ๗ สีเหมือนทองแดงหล่อน้ำใหม่ รูปพรรณสูงใหญ่ ชื่อว่าดามพหัตถี

หมู่ที่ ๘ สีขาวเผือกว่าเหมือนหนึ่งไกรลาศ ชื่อว่าบัณฑระนาเคนทร

หมู่ที่ ๙ สีเหมือนน้ำไหล ชื่อว่าคงไคย

หมู่ที่ ๑๐ สีดำเหมือนปีกกา ชื่อกาฬวกะหัตถี ช้างทั้ง ๘ หมู่ข้างหลังนี้ ตาและเล็บเหมือนสีตัว

ช้าง ๑๐ หมู่นี้ว่ามีกำลังเรี่ยวแรงนัก ถ้าจะเทียบกำลังช้างทั้ง ๑๐ หมู่นี้ ๘ หมู่ข้างหลัง ตั้งแต่เหมหัตถีจนถึงกาฬวกะหัตถี ถ้าจะเทียบกำลังเท่าๆ กัน และจะเอากำลังช้างทั้งนี้ประสมกันเข้า ๑๐ ช้าง จึงจะเท่ากับช้างอุโบสถช้าง ๑ ก็และช้างอุโบสถนั้นจะเอากำลัง ๑๐ ช้างประสมกันเข้าอีก จึงจะได้กับกำลังช้างฉัททันต์ช้าง ๑ และช้างทั้ง ๑๐ หมู่นี้เป็นพรหมพงศ์ทั้งสิ้น

และยังมีช้างอีก ๘ จำพวก เรียกว่าอัฐทิศ สำหรับบ้านเมืองทั้งปวง

หมู่ที่ ๑ มีลักษณะ ๑๕ ประการ ๑. สีตัวเหมือนสีเมฆเมื่อคลุ้มฝน ๒. เท้าทั้งสี่กลมดังกงฉัตร ๓. เล็บเสมอ ๔. หน้าสูง ๕. ท้ายต่ำอย่างสิงห์ ๖. ตัวใหญ่กว่าช้างทั้งปวง ๗. ตาใหญ่ดังดาวประกายพฤกษ์ ๘. งายาวขึ้นขวา ๙. งวงดังตัวนาค ๑๐. หลังราบดังคันธนู ๑๑. ปลายหูปรบจนถึงกันหน้า ๑๒. ปรบหลังถึงกัน ๑๓. โขมดทั้งสองสูง ๑๔. เสียงดุจเสียงสังข์ ๑๕. หางบังคลอง ชื่อไอยราพต

หมู่ที่ ๒ มีลักษณะ ๖ ประการ ๑. สีกายดังดอกบัวขาว ๒. งาใหญ่ ๓. งาขาวเหมือนสีสังข์ ๔. เล็บสีเหลืองเหมือนทอง ๕. หอมเหมือนกลิ่นสัตตบงกช ๖. ท้องมัวดังคราบฝนคร่ำ ชื่อบุณฑริก

หมู่ที่ ๓ มีลักษณะ ๕ ประการ ๑. สีตัวแดงโลหิต ๒. งาใหญ่ ๓. คอกลม ๔. เสียงเหมือนเสียงแตรแตรน ชื่อพราหมณโลหิต

หมู่ที่ ๔ มีลักษณะ ๖ ประการ ๑. สีดังดอกกระมุท หรือ บัวสายแดง ๒. ตัวสูงยาวกลม ๓. หูอ่อน ๔. เสียงเหมือนเสียงแตรงอน ๕. งางอนข้างขวา เหมือนพระจันทร์วันขึ้น ๓ ค่ำ ชื่อกระมุท

หมู่ที่ ๕ มีลักษณะ ๔ ประการ ๑. คอใหญ่ ๒. งาใหญ่ตรง ๓. เสียงดังลมพัดในปล้องไม้ไผ่ ๔. สีตัวเหมือนดอกอัญชันม่วง ชื่ออัญชัน

หมู่ที่ ๖ มีลักษณะ ๗ ประการ ๑. สีดังหมากสุก ๒. ผิวเนื้อละเอียด ๓. มีกระหน้า ๔. ตัวใหญ่ ๕. งางอน ๖. งาข้างขวาสูงกว่าข้างซ้าย ๗. เสียงดังเมฆ ชื่อบุษปทันต์

หมู่ที่ ๗ มีลักษณะ ๗ ประการ ๑. สีดังตองแก่ ๒. ทรงสัณฐานดังใส่เสื้อ ๓. เท้าทั้งสี่สีดังตองอ่อน ๔. ตัวกลม ๕. หน้าใหญ่ ๖. งาเล็ก ๗. เสียงดังเสียงนกกะเรียน ชื่อเสาวโภม

หมู่ที่ ๘ มีลักษณะ ๙ ประการ ๑. สีเนื้อดังสีเมฆเมื่อค่ำ ๒. ขนดดังขนดท้องงู ๓. งาซื่อ ๔. งาสีขาวบริสุทธิ์ดังผ้าขาว ๕. เนื้อที่อ่อนสีเหมือนบัวสายแดง ๖. ขนปกยาว ๗. อัณฑโกศอ่อน ๘. เต้ามันอ่อน ๙. เสียงร้องเหมือนเสียงฟ้า ชื่อสุประดิษฐ์

ช้างทั้ง ๘ หมู่นี้เป็นอัฐทิศของพระพรหมสร้าง เป็นพรหมพงศ์ทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่าอัฐทิศนั้น คือช้าง ๘ ทิศ แต่แปดทิศนั้นจะเป็นแปดทิศของเขาพระสุเมรุ คือ ไอยราพตทิศบูรพา บุณฑริกทิศอาคเนย์ พราหมณโลหิตทิศทักษิณ กระมุททิศหรดี อัญชันทิศประจิม บุษปทันต์ทิศพายัพ เสาวโภมทิศอุดร สุประดิษฐ์ทิศอีสาน เป็นแปดทิศดังนี้

ต่อไปนี้ จะว่าด้วยอัฐคช ซึ่งพระนารายณ์เป็นเจ้าสร้างนั้น

หมู่ที่ ๑ มีลักษณะ ๔ ประการ ๑. สีดังสีทอง ๒. งาเล็กเท่ากัน ๓. เวลาเช้าเสียงดังเสียงเสือ ๔. เวลาเย็นเสียงดังเสียงไก่ ชื่อสังขทันต์

หมู่ที่ ๒ สีทองแดงเก่า ชื่อดามพหัศดินทร์

หมู่ที่ ๓ มีลักษณะหูปรบโอบข้างหน้าประจบกัน ชื่อชมลบ

หมู่ที่ ๔ เหมือนกับหมู่ที่ ๓ แต่หูกลับมาปรบถึงกันข้างหลัง ชื่อลบชม

หมู่ที่ ๕ มีลักษณะเล็บครบ ๒๐ สีเล็บเหมือนหนึ่งแก้ว รูปงาม ชื่อครบกระจอก

หมู่ที่ ๖ มีลักษณะงาขวางอนรูปงาม เรียกว่าพลุกสะดำ ก็เรียก ทวีรด ก็เรียก

หมู่ที่ ๗ มีลักษณะงาขาวเหมือนสีสังข์ ตัวดำบริสุทธิ์ ชื่อสังขทันต์

หมู่ที่ ๘ หางเหมือนหางโค งางอน เสียงเหมือนเสียงโคป่า สีเหลือง ชื่อโคบุศ ถ้าได้ไว้กันโทษภัยทั้งปวงเจริญศรี

ช้างทั้ง ๘ ซึ่งว่ามานี้ เป็นวิศณุพงศ์ทั้งสิ้น ในตำราว่าอยู่ในระหว่างทิศของเขาพระสุเมรุ

ต่อไปนี้ ว่าด้วยอัฐคชาธาร ซึ่งพระอิศวรเป็นเจ้าสร้าง

หมู่ที่ ๑ มีลักษณะงาขวาโอบงวงรอบ งาซ้ายสั้นเห็นอยู่หน่อยหนึ่ง ชื่อว่าอ้อมจักรพาฬ

หมู่ที่ ๒ งาฝ่ายซ้ายโอบมารอบวงมาชิดปลายตรงปากขวา งาฝ่ายขวาอ้อมเลี้ยวทับงาฝ่ายซ้าย ไปชิดปลายตรงปากซ้าย มีกำลังมาก ชื่อกัณฑหัตถ์ ชนช้างดี มีอานุภาพมาก

หมู่ที่ ๓ มีลักษณะงาเดียว งอกแต่เพดาน ยกงวงพาดไปข้างขวา งาอยู่ข้างซ้าย ยกงวงพาดมาอยู่ข้างซ้าย งาอยู่ข้างขวา กำลังมาก ช้างอื่นๆ พันหนึ่งจึงจะแรงเท่าช้างนี้ ชื่อว่าเอกทันต์ พระนารายณ์ให้เป็นพาหนะของพระอินทร์ แล้วมอบให้เทพยดาชื่อเทพยคชนาคให้เอาไปรักษาไว้เสียในป่าไกลมนุษย์ เอาไปแต่ครั้งไตรดายุค จะมีกล่าวต่อไปข้างหน้า

หมู่ที่ ๔ มีลักษณะสีตัวดำ งาดำ เล็บดำ ตาดำ ทั่วสรรพางค์ ชื่อว่ากาฬวกะหัตถีเรียกว่ากาฬทันตหัศดีก็มีบ้าง

หมู่ที่ ๕ มีลักษณะงาข้างละคู่เป็นสี่งา โขมดสูงทั้ง ๒ ข้าง ชื่อจัตุรศก มีอำนาจในการศึก

หมู่ที่ ๖ งาไขว้กันแต่ต้นงา ปลายกลับขวามาอยู่ซ้าย ซ้ายมาอยู่ขวา แรงมากนัก ชื่อทันตรำพาน หรือโรมทันต์ก็เรียก ในตำราว่าถ้าเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงปราบศัตรู ข้าศึกจะพ่ายแพ้เป็นแท้ และกันสรรพจัญไรได้ทุกประการ

หมู่ที่ ๗ มีลักษณะเท้าหน้าสูง ท้ายต่ำ เท้าเรียว รูปข้างท้ายเหมือนหนึ่งราชสีห์เดินเร็ว ชื่อสีหชงฆ์

หมู่ที่ ๘ มีลักษณะปลายงาแดงเหมือนย้อมครั่ง ชื่อว่าจุมปราสาท

ช้างทั้ง ๘ หมู่นี้เป็นอิศวรพงศ์ ต่อไปนี้พระเพลิงสร้างเป็น ๔๒ ตระกูล

หมู่ที่ ๑ ลักษณะงามเดิมเชิดงวง ชื่อประภัทรจักรพาฬ

หมู่ที่ ๒ อกใหญ่แรงมาก ชื่ออุทรกุมภ์

หมู่ที่ ๓ ปลายงาขวากับงาซ้ายพอจดกัน ชื่อรัตนกุมพล ถ้าคล้องช้างโทษพันตัวคล้องต้องรัตนกุมพลตัวหนึ่ง ก็บำบัดจัญไรหาย ถ้าเลี้ยงช้างโทษพันหนึ่ง เลี้ยงรัตนกุมพลตัวเดียวคุ้มโทษได้ ถ้าผู้ใดขี่ก็เป็นมงคล หรือถ้าหากว่าช้างอย่างนี้มาประสมโขลงก็เป็นดี

หมู่ที่ ๔ ช้างเผือกเอก สีขาว ขนขาว ตาขาว เล็บขาว หางขาว อัณฑโกศขาว สีตัวขาว ดังนี้ เรียกว่าเศวตัมพร สำหรับเป็นราชพาหนะพระเจ้าแผ่นดิน

หมู่ที่ ๕ เผือกโท สีบัวโรย ผิวตัว อัณฑโกศ ขน เล็บ ขาวเจือแดง ตาขาวบริสุทธิ์ ชื่อประทุมหัตถี ปราบศึกแข็งแรง

หมู่ที่ ๖ เผือกตรี สีตัวเป็นสีตองตากแห้ง ขนเล็บหางอัณฑโกศลดลงมาตามสีตาขาว ชื่อเศวตคชราช

หมู่ที่ ๗ เนียมเอก มีลักษณะกายสั้นพร้อม งายื่นออกมาเสมอ พรายปากเหมือนจาวมะพร้าว ประมาณ ๒ นิ้วเศษ มีกำลังมากนัก

หมู่ที่ ๘ ช้างเนียมโท รูปสั้นพร้อมทั้งตัว งางอกพ้นพรายปากประมาณ ๕ นิ้วเหมือนรูปไข่ ชื่อประทุมทันต์ ในตำราเขาสรรเสริญไว้ว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงกู้เมืองไว้ได้

หมู่ที่ ๙ ช้างเนียมตรี รูปสั้นทั้งตัว งายาวพ้นพรายปาก ๕ นิ้ว รูปเหมือนปลีกล้วย ชื่อประทุมทันตมณีจักร

หมู่ที่ ๑๐ มีลักษณะ ๙ อย่างถึงพื้น คือเท้า ๔ งวง ๑ หาง ๑ งา ๒ อัณฑโกศ ๑ ยาวจดถึงพื้น ชื่อนพสุบรรณ

หมู่ที่ ๑๑ มีลักษณะตัวสีเหลือง งาเหมือนสีสังข์ ชื่อปัตหัศดินทร์

หมู่ที่ ๑๒ มีงาแต่ข้างซ้ายข้างเดียว เบื้องขวาบอด ตาขาว เล็บขาว ชื่อพิฆเนศวรมหาพินาย มีอานุภาพมาก ควรจะอยู่ใกล้พระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน เวลาเช้าทอดพระเนตรเจริญพระชนมายุ ควรเป็นพระคชาธาร ต่อสู้ข้าศึกมีชัยชะนะ

หมู่ที่ ๑๓ มีงาข้างขวาข้างเดียว งาข้างซ้ายบอด ตาขาว เล็บขาว ลักษณะและคุณวิเศษเหมือนอย่างมหาพินาย ชื่อเทพามหาพิฆเนศ มหาไพฑูรย์

หมู่ที่ ๑๔ สีตัวเป็นช้างปรกติ แต่งาดำทั้งสองข้าง ชื่อนิลทันต์

หมู่ที่ ๑๕ มีลักษณะนัยน์ตาดำ ชื่อนิลจักษุ

หมู่ที่ ๑๖ เล็บดำทั้งสี่เท้า ชื่อนิลนัข

หมู่ที่ ๑๗ มีลักษณะงาเหลืองทั้ง ๒ ข้าง ชื่อเหมทันต์

หมู่ที่ ๑๘ มีลักษณะตาเหลืองทั้ง ๒ ข้าง ชื่อเหมจักษุ

หมู่ที่ ๑๙ มีลักษณะเล็บเหลืองทั้ง ๔ เท้า ชื่อเหมนัข

หมู่ที่ ๒๐ มีลักษณะตาแดง ชื่อรัตจักษุ

หมู่ที่ ๒๑ มีลักษณะเล็บขาวทั้ง ๔ เท้า เหมือนสีมุกดาหาร ชื่อมณีรัตนนัข

หมู่ที่ ๒๒ เล็บสีเท้าแดง ชื่อรัตนัข

หมู่ที่ ๒๓ สีตัวขาวเหมือนสีสังข์ ชื่อเศวตพัสตร์

หมู่ที่ ๒๔ ตาขาวบริสุทธิ์ ชื่อเศวตจักษุ

หมู่ที่ ๒๕ เล็บขาวทั้ง ๔ เท้าเหมือนสีสังข์ ชื่อเศวตนัข

หมู่ที่ ๒๖ มีสีเขียวเหมือนหนึ่งเขาคิรีเมฆ หรือผลหว้าดิบ ชื่อเทพคิรี

หมู่ที่ ๒๗ สีเหมือนหนึ่งสีภูเขาขาวเรื่อ หรือขาวเหมือนเถ้าไฟ ชื่อจันทคิรี

หมู่ที่ ๒๘ สีเหมือนดอกสามหาว ชื่อนิลาโนช

หมู่ที่ ๒๙ สีตัวเหมือนปากนกแขกเต้า ปากล่างงอนขึ้นเหมือนนกแขกเต้า ชื่อสุวโรษฐ์

หมู่ที่ ๓๐ ตัวพื้นขาวเหมือนช้างเผือกผ่านดำเหมือนใส่เสื้อเกราะ ชื่อดำพงศ์ถนิม ควรเป็นช้างสำหรับพระนคร

หมู่ที่ ๓๑ พื้นตัวขาว ตาขาว เล็บขาว ขนขาว กระดำดาษไปทั้งตัว ชื่อสมพงศ์ถนิม

หมู่ที่ ๓๒ รูปงาม โขมดสูง ชื่อกุมปราสาท

หมู่ที่ ๓๓ มีลักษณะแขนกลมทั้ง ๔ สีเหมือนฝักบัวใหญ่ ชื่อจัตรุกุมภ์

หมู่ที่ ๓๔ รูปร่างสีเหมือนช้างตามธรรมเนียม ที่หูมีขนขาวยาวห้อยเหมือนดอกหญ้าห้อยไว้ ชื่อขลุมประเจียด

หมู่ที่ ๓๕ งาทั้งสองงอนขึ้นพอปลายจดกัน ชื่อกาฬจักรี

หมู่ที่ ๓๖ ช้างเหมือนปรกติแต่ผมดก ขุมหนึ่งมี ๒ เส้น ชื่อพิทาเนสูรย์

หมู่ที่ ๓๗ ชื่อมุขสโรสาร ถ้าเสียงดังฟ้าร้อง ชื่อเมฆครรชิต ถ้าเสียงดังนกกะเรียนร้องชื่อโกญจศัพท์ ถ้าเสียงเหมือนเสียงสังข์ ชื่อสรสังข์ ถ้าเสียงร้องเหมือนกลอง ชื่อศัพทเภรี

หมู่ที่ ๓๘ มีขนาดสูง ๗ ศอก โอบรอบ ๑๐ ศอก ผิวละเอียด โดยยาว ๙ ศอก สีงาเหมือนน้ำผึ้งสด หลังเป็นเกาทัณฑ์ เท้าหลังดังตีนช้างเถื่อน มันตกสีเขียว ชื่อภัทร

หมู่ที่ ๓๙ มีลักษณะตัวและงาแดง สูง ๖ ศอก ใหญ่ ตัวยาว ๘ ศอก ใหญ่ ๙ ศอก ราวคอราบ ผมหนา ท้องใหญ่ ขนยาว ตาเหมือนตาราชสีห์ มันตกสีเขียว ชื่อมิค หรือ มฤค

หมู่ที่ ๔๐ มีลักษณะตาใหญ่ หูใหญ่ คางสั้น หางเขิน งาสีเหลืองเหมือนทอง ศีรษะใหญ่ สีตัวเหมือนเขม่า สูง ๕ ศอก ยาว ๗ ศอก ใหญ่ ๘ ศอก ชื่อสังคิน

หมู่ที่ ๔๑ มีลักษณะท้ายใหญ่ เป็นตระกูลวานร

หมู่ที่ ๔๒ มีเล็บรอบเท้า เมื่อเวลายืนปรกติ เห็นเป็นตามธรรมเนียม ชื่อพฤกสารก็เรียก ครอบจักรวาลก็เรียก

รวมทั้ง ๔๒ ช้างนี้เป็นอัคนีพงศ์ทั้งสิ้น

ยังมีอำนวยพงศ์ คือช้างตระกูลต่อช้างตระกูลประสมกันมีลูกแปลกออกไป นับเป็นตระกูลขึ้นอีก ๑๔ ตระกูล

หมู่ที่ ๑ ไอยราพตประสมกับช้างพัง ชื่ออัฐบัณณา นัยหนึ่งว่าอัมพมุ สีเหมือนหมอกมัว มีอำนวยรูปคล้ายไอยราพต ตัวสีเหมือนสีเมฆ สีงาเล็บขาว หางยาว ชื่อเมฆ

หมู่ที่ ๒ ช้างบุณฑริกประสมกับกะปิลา นัยหนึ่งว่าพันลึงคณะสีเขียวเหลืองเจือกัน มีลูกสีเหลืองเหมือนโค งาใหญ่ โขมดงามตัวแดง ผิวหลังละเอียด เล็บสีสวายปูน ชื่ออำนวยสุประดิษฐ์

หมู่ที่ ๓ ช้างพราหมณโลหิต ประสมด้วยปิงคลา สีเหลือง มีลูกอำนวยสองตระกูล ช้าง ๑ ตัวกลม สีดอกสามหาว ชื่อนิลพะ

หมู่ที่ ๔ อีกตัว ๑ ตัวต่ำรูปกลม สีแดงเหมือนโลหิต ชื่อบิสลักษ

หมู่ที่ ๕ กระมุทประสมกับพังชื่อปิงคลา นัยหนึ่งว่า อนุประระกะมา ผิวกายแดงอ่อนละเอียด มีอำนวย ๕

ตัวหนึ่งสีเหมือนสัตตบุษย์ หลังราบ ชื่อมหาปัทมะ

หมู่ที่ ๖ ตัวหนึ่ง สีตัวเหมือนก้านสัตตบุษย์ ตัวยาว ชื่ออุบลมาลี

หมู่ที่ ๗ อีกช้าง ๓ สีสำลานตัวยาว ชื่อจบสระ

หมู่ที่ ๘ อีกตัว ๑ พื้นตัวดำกระขาวทั้งตัว

หมู่ที่ ๙ อีกตัว ๑ สีเป็นสีนิล ตาขาว เล็บขาว ชื่อนิลชา

หมู่ที่ ๑๐ อัญชันประสมกับพัง ชื่ออัญชนวดี สีทองแดง นัยหนึ่งว่าดามพวรรณ มีบุตรอำนวย มีลักษณะศีรษะใหญ่ หูใหญ่ ตัวเหมือนสีเมฆ ชื่อปะระมาถี

หมู่ที่ ๑๑ บุษปทันต์ ประสมกับช้างพัง ชื่อดามพุทธีณี สีทองแดง นัยหนึ่งว่าสุภทันตีขนาย เล็บขนขาว มีอำนวย ๒ ช้าง

ช้าง ๑ มีลักษณะตัวสีขาว งาสีเหลืองเหมือนทอง หน้าและปากยาว ตาเล็ก ชื่อพสานิส

หมู่ที่ ๑๒ อีกช้าง ๑ งาเหลือง หน้าเต็ม ปากยาว ตาเล็ก ตัวขาว ชื่อว่าสาหะ

หมู่ที่ ๑๓ เสาวโภมประสมกับช้างพัง ชื่อสังขพัง สีตัวขาว นัยหนึ่งว่าสิงคนาค สีเขียวแก่ มีอำนวยรูปตัวกลม สีตัวแดงเหมือนบัวหลวง หน้าใหญ่กว้าง ชื่อบุษปทันต์

หมู่ที่ ๑๔ สุประดิษฐ์ประสมกับพังอนุปะระมา สีดังเมล็ดข้าว นัยหนึ่งว่าอัญชนวดี สีดอกอัญชัน มีอำนวยช้าง ๑ ลักษณะคอกลมใหญ่ หางยาว ปากยาว ลักษณะงาม สีเขียวทั้งตัว ชื่อสุประดึกฯ

ช้างทั้ง ๑๔ ตระกูลนี้ เป็นลูกของช้างอัฐทิศประสมกัน จึงได้ชื่อว่า อำนวยพงศ์ รวมเป็นช้าง ๑๐ หมู่ พรหมพงศ์ ๑๐ ช้าง อัฐทิศพรหมพงศ์ ๘ ช้าง วิศณุพงศ์ ๘ ช้าง อิศวรพงศ์ ๘ ช้าง อัคนีพงศ์ ๔๒ ช้าง อำนวยพงศ์ ๑๔ ช้าง รวมเป็น ๙๐ ช้าง และในตำราว่า พระเป็นเจ้าให้เกิดช้าง ๆ สีเหลือง ขาว แดง เขียว ดำ ต่างๆ ให้พึงพิจารณาลักษณะ ๑๐ ประการคือ ขน ๑ หาง ๑ จักษุ ๑ เล็บ ๑ อัณฑโกศ ๑ ช่องแมงภู่ ๑ ขุมขน ๑ เพดาน ๑ สนับ ๑ งา ๑ ข้างในไรเล็บ ๑ ถ้าต้องกับสีกายเป็นศุภลักษณ์ใช้ได้ฯ ก็และช้างซึ่งว่ามาทั้ง ๙๐ ตระกูลนี้เป็นศุภลักษณ์ตระกูล คือมีลักษณะงามต่างๆ กัน ย่อมจะมีกำลังเรี่ยวแรงสามารถ ผิดกับช้างสำคัญทั้งปวง และบางช้างก็นับถือกันว่าให้เกิดสวัสดิมงคลคุ้มโทษภัยจัญไรต่างๆ และให้เกิดสวัสดิมงคลเจริญสุขได้ ตามตำราเขาว่าช้างทั้ง ๔ ตระกูลนี้ ถ้าเป็นศุภลักษณ์ไม่เป็นช้างโทษ ในตำราสรรเสริญว่าให้คุณต่างๆ คือ อิศวรพงศ์นั้นให้เจริญทรัพย์และมีอำนาจ พรหมพงศ์นั้นให้เจริญอายุและวิทยา วิศณุพงศ์นั้นให้ศัตรูพ่ายแพ้ และน้ำฝนผลาหารธัญญาหารบริบูรณ์ อัคนีพงศ์นั้นให้เจริญมัจฉมังสาหาร และระงับศึกอุบาทว์ทั้งปวงฯ เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งรู้ตำราจึงเสาะแสวงหาช้างอย่างเช่นที่ว่ามาแล้วตระกูลใดตระกูลหนึ่ง โดยประสงค์ที่จะอยากได้เห็นช้างที่มีลักษณะงามและให้เกิดสวัสดิมงคล และบางทีถือกันว่า เมืองใดมีช้างซึ่งมีตระกูล บางช้างก็ให้ผล คือให้บ้านเมืองนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง ด้วยฝนตกต้องตามฤดูไม่แล้ง ทำนาได้บริบูรณ์ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ความข้อนี้ราษฎรยังถือกันอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อแต่ก่อนโบราณมา พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้มีอำนาจ ที่จะต้องทำศึกสงครามในเวลาที่ยังใช้อาวุธสั้น (โดยมาก) คือหอกดาบต่างๆ ปืนมีใช้บ้างเล็กน้อย เมื่อเวลาต่อรบกัน แม่ทัพต่อแม่ทัพ หรือพระเจ้าแผ่นดินต่อพระเจ้าแผ่นดิน มือถือของ้าวขึ้นช้างคนละตัวเข้าต่อสู้กัน ด้วยช้างต่อช้างชนกัน ถ้าช้างของผู้ใดมีกำลังมากก็ชนช้างข้างฝ่ายหนึ่งงัดขึ้นด้วยงาจนแหงนหงาย หรือเบนบ่ายไปจนได้ทีที่จะจ้วงฟันด้วยของ้าวถึงได้โดยกำลังแรง ผู้ซึ่งมีช้างกำลังมากและมีฝีมือเข้มแข็งก็ได้ชัยชะนะ เหมือนหนึ่งครั้งสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ คือสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งอยู่ ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ ได้ทำยุทธหัตถีด้วยพระมหาอุปราชารามัญ ในจุลศักราช ๙๔๑ ปี ตรงกับคริสตศักราช ๑๕๗๙ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ที เจ้าพระยาไชยานุภาพช้างพระที่นั่งงัดช้างพลายพัทธกอ ซึ่งเป็นราชพาหนะพระที่นั่งของพระมหาอุปราชารามัญแหงนหงายเสียที สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังสาเบื้องขวาพระมหาอุปราชาขาดตลอดลงมาจนปัจฉิมอุรประเทศ ซบลงทิวงคตกับคอช้าง สมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชาเข้าชนช้างด้วยมังจาปะโร ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชารามัญ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นพระคชาธารสมเด็จพระเอกาทศรถได้ที เอางาค้ำแบกถนัด พลายพัดเชนียงซึ่งเป็นพาหนะของมังจาปะโรเสียทีเบนให้ข้าง สมเด็จพระเอกาทศรถจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกคอมังจาปะโรตายบนคอช้าง การเป็นตัวอย่างมีมาดังนี้ ยกขึ้นว่าไว้พอเป็นสังเขป ที่จะให้เห็นว่าช้างซึ่งมีตระกูลนั้น ต้องประสงค์ที่จะใช้ในการศึกสงคราม ตามอย่างเช่นว่ามานี้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดได้ศุภลักษณ์ตระกูลช้างสำคัญดังในตำรานี้ช้างใดช้างหนึ่งแล้ว ก็เป็นที่ชื่นชมนิยมยินดีว่า พระเจ้าแผ่นดินมีบุญบารมีมาก จึงได้ช้างซึ่งมีตระกูลมาไว้เป็นพาหนะดังนี้เป็นต้นเดิมมา ครั้นภายหลังมาการยุทธหัตถีคือรบกันบนหลังช้างนั้นไม่มีแล้ว ก็ยังถือกันอยู่เลยไปว่า เป็นที่เกรงขามของศัตรูและให้เห็นว่าบารมีพระเจ้าแผ่นดินมาก เป็นที่อุ่นใจของราษฎร และอีกอย่าง ๑ ช้างนั้นก็มีลักษณะงามเป็นที่น่าจะชมเชยด้วย แต่ราษฎรถือกันว่ามีช้างตระกูล บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ