ประวัตินายหนู อมาตยกุล มหาดเล็ก

เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๐๒ ในรัชกาลที่ ๔ นายโหมดในสกุล อมาตยกุล เปนบิดา นิ่มในสกุลไกรฤกษ์เปนมารดา

ระหว่างอายุยังเยาว์ ได้ศึกษาวิชชาหนังสือไทยที่บ้านบิดาและศึกษาวิชชาหนังสืออังกฤษกับหมอชานเดอเล และได้ไปศึกษาวิชชาหนังสือต่อมาที่โรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ในชั้นแรกๆ ที่เริ่มสอนบุตรข้าราชการด้วย กับเป็นผู้ใฝ่ใจแสวงหาความรู้ทางวิชชาช่างเป็นลำดับมา

เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๑๗ ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการอยู่ในกรมกระสาปน์สิทธิการคราวหนึ่ง ก็ได้รับพระราชทานผลประโยชน์ และในพระพุทธศักราช ๒๔๔๖ ได้รับราชการในกองมหันตโทษเปนเจ้ากรมด้วยราว ๔ ปี ฝึกหัดนักโทษให้ทำการช่างต่างๆ เช่น เครื่องไม้เริ่มทาน้ำมันวานิชได้ทำนองของนอกเปนตัวอย่าง

ถึงคราวมิได้รับราชการประจำ ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพในทางวิชชาช่างเปนหลัก เช่น มีการชุบทองนาคเงิน ด้วยใช้เครื่องไฟฟ้า กับเริ่มชุบนิเกอลในกรุงเทพฯ เปนคนแรก และด้วยเปนช่างชุบ ได้ทำการนั้นสนองพระเดชพระคุณบ้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา ทรงใช้สรอยให้ทำการช่างเบ็ดเตล็ดอีกบ้างโดยพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโอกาสให้ได้เฝ้าแหนในที่ต่างๆ หลายแห่ง ตลอดจนได้ร่วมเล่นเครื่องโต๊ะของเก่าประกวดในงานหลวงทั้งได้รับพระราชทานเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยในบางคราว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้น ๕ เหรียญรัชฎาภิเศก เหรียญประพาศยุโรป เหรียญรัชมังคลาภิเศก ได้รับพระกรุณาอีกหลายประการ เดชะพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่งคงได้ดำรงชีวิตสืบมาทั้งในรัชกาลที่ ๖ และในรัชกาลปัตยุบัน

ตลอดเวลาที่มีอายุเจริญมา ได้มีโอกาสเข้าสู่ที่ชุมนุมในที่ต่างๆ เนืองๆ มา ด้วยพระราชวงศ์ทรงคุ้นเคยมีพระเมตตาคุณเปนอาทิ ทั้งท่านที่มีบุญคุณเปนที่นิยมรวมทั้งชั้นในถานมิตรภาพ กับข้าราชการบุคคลอีกหลายชั้น ได้คุ้นเคย มีเมตตาอารีเปนทางให้ได้ดำเนินกว้างยิ่งเพิ่มความรู้จักคบหาได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุเจริญกว่า จนรุ่นราวคราวเดียวกัน กระทั่งมีอายุอ่อนกว่า ได้เปนสมาชิกด้วยหลายสโมสร เช่นสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ สมาชิกราชกรีฑาสโมสรครั้งก่อน สมาชิกทวีปัญญา สมาชิกสามัคยาจารย์สมาคม ทั้งได้เปนนายกสโมสรช่างในสมคมนั้นตั้งแต่แรกตั้งมาก่อน ได้เปนหัวหน้านำราษฎรเฝ้าในงานฉลองพระที่นั่งอนันตสมาคมในรัชกาลที่ ๖ ด้วย กับเปนผู้ชอบเล่นของเก่า เช่น ถ้วย ป้าน หรือของใหม่ที่แปลกๆ เครื่องจักร์ เครื่องยนต์ ชอบเล่นดนตรี อยู่ในถานเปนนักเลงชอบเล่นหลายอย่าง ทางนักกิฬาก็ชอบเล่นบ้าง ชอบเชื้อเชิญร่วมเลี้ยงรื่นเริงเสมอมาจนชรา และมีการบำเพ็ญกุศลทานตามสมควรแก่กาละนิยม เพื่อต้องตามคติในพระพุทธศาสนา ซึ่งนับถือเปนทางปฏิบัติส่วนหนึ่งด้วย

ทางปกครองครอบครัวได้แต่งงานกับนางหนู บุตรีพระยาธรรมสารนิติ (ตาด อมาตยกุล) ในพระพุทธศักราช ๒๔๒๖ มีบุตรชายหญิง คือ อำมาตย์เอก พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล ฯ (ประสงค์) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลปัดตานี ซึ่งจะเลื่อนไปเปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลพายัพ ๑ นางสาวดรุณี ๑ เด็กหญิงขนิษฐ์ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์ ๑ นางอาภรณ์ ภรรยานายร้อยเอกประยงค์ บุนนาค ๑ เด็กชายแดงถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์ ๑ รองอำมาตย์โทศิริ ๑ และยังมีบุตรชายหญิงด้วยภรรยาอื่น คือ นายพยนต์ ๑ นายเปลี่ยน ๑ นายประพันธ์ ๑ ว่าที่รองเสวกตรีอุดม ๑ นางหลี ๑ นางสาวเหรียญ ๑ นางสาวสมใจ ๑ นางสาววงศ์ ๑ รวมมีบุตรชาย ๗ คน หญิง ๗ คน รวม ๑๔ คน ถึงแก่กรรมเสียแล้ว ชาย ๑ คน หญิง ๑ คน รวม ๒ คน ยังคงอยู่ชาย ๖ คน หญิง ๖ คน รวม ๑๒ คน ได้ให้มีการศึกษาเล่าเรียนบำรุงเลี้ยงตามกำลังอัตตภาพ ประกอบด้วยฝึกนิสสัยให้มีอัธยาศัยลมุนลม่อม คงมีบุตรได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่บ้าง หวังพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่งแก่วงศ์สกุลสืบไป

ในอวสาน นายหนู อมาตยกุล ป่วยเปนโรคมะเรงในกะเพาะอาหาร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๑ อายุ ๖๙ ปี ครอบครัวและวงศ์ญาติทั้งในสกุลสัมพันธ์ได้รวมกันช่วยทำการ กำหนดปลงศพที่วัดจักรวรรดิราชาวาส ในวันที่ ๔ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๑ ตามประเพณีนิยมเพื่อความสำเร็จได้ตลอดไป ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง ซึ่งได้ทรงชุบเลี้ยงในวงศ์สกุลทั้งนี้เปนลำดับมา พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ทั้งระฤกถึงพระเดชพระคุณพระราชวงศ์ ขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้มีคุณเนื่องมา ซึ่งจะเปนที่พึ่งแก่ครอบครัวที่กำพร้านี้ต่อไปด้วย ผู้กำพร้าทั้งนี้ยังหวังที่จะสนองพระเดชพระคุณและสนองคุณในภายหน้าจนตราบเท่าชีวิตหาไม่

ประวัตินี้ข้าพเจ้าเขียนตามที่ได้รู้เห็นเองบ้าง ไต่ถามจากผู้อื่นบอกเล่าบ้าง ถ้าจะบกพร่องเกินเลยไปประการใด ขออภัยโทษแก่ท่านผู้รู้เห็นดีกว่า เพราะข้าพเจ้าก็เปนผู้มีอายุน้อยกว่าท่านผู้ถึงแก่กรรมมาก คงตั้งใจแต่จะช่วยสนองคุณบ้าง ด้วยความรักใคร่นับถือกันมา ประกอบด้วยพอใจมากในพระยาอมาตยพงศ์หัวหน้าผู้สืบสกุลนี้ มีไมตรีจิตต์เปนถานมิตรภาพต่อกันสืบมา ไม่เปลี่ยนแปลงกิริยาอาการในขณะใดๆ เลย ทั้งได้ร่วมราชการกันในมณฑลปัตตานีเปนที่พอใจมากอีกชั้นหนึ่ง

กรุงเทพฯ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๑

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ