ประวัติสังเขปของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
เพียงปราบฮ่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ เก็บความตามประวัติปริยาย ซึ่งท่านผู้ถึงอสัญกรรมเรียบเรียงไว้
ลำดับวงศ์ตั้งแต่กำเนิด ตลอดเวลาเล่าเรียน ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๔
จอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นบุตรชายที่ ๔ ของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) จางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ กับคุณหญิงเดิม บุนนาค พระยาสุรศักดิ์ (แสง) เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต) กับคุณหญิงเปี่ยม บุนนาค พระยาสุรเสนา เป็นบุตรชายที่ ๔ ของพระยาสมบัติยาธิบาล (เสือ) กับคุณม่วง ชูโต คุณม่วง ชูโต เป็นบุตรีเจ้าคุณพระอัยยกา ชูโต ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ ๓ ของพระอัยยกีสมเด็จพระศิริโสภาค มหานาคนารี คุณเปี่ยมมารดาพระยาสุรศักดิ์เป็นบุตรีคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับหม่อมปาน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นบุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล ฝ่ายคุณเดิมมารดาเจ้าพระยาสุรศักดิ์เป็นบุตรีคนใหญ่ของพระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค) กับท่านเอี่ยมมารดา, พระสุริยภักดี เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) กับท่านผู้หญิงน้อย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นบุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล ท่านผู้หญิงน้อย เป็นบุตรีคนใหญ่ของพระยาสมบัติยาธิบาล (เสือ) กับคุณม่วง ชูโต
สรุปความว่า สายโลหิตเจ้าพระยาสุรศักดิ์สืบเนื่องมาแต่ตระกูลบุนนาค และ ชูโต ร่วมกัน อันนับเนื่องอยู่ในราชินิกูลแห่งสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒ โดยเจ้าคุณนวลเป็นกนิษฐา สมเด็จพระอมรินทร์ และเจ้าคุณชูโตนั้น
เจ้าพระยาสุรศักดิ์ เกิดที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด) จังหวัดธนบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ เวลา ๑ ยามกับ ๘ บาท เวลานั้นบิดายังเป็นนายพิจารณ์สรรพกิจ หุ้มแพร มหาดเล็กเวรเดช มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๑ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่เล็ก ๗ คน เหลือแต่นายจัน แสง-ชูโต ผู้เป็นพี่คนที่ ๓ ได้เป็นพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี กับน้องหญิงอีก ๒ คน คือคุณสังวาลย์ และคุณหญิง (แสง ชูโต)
เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์เกิดนั้น มีปานดำที่หน้าอกดุจรอยเจิมด้วยเขม่าไฟ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติจึงให้นามว่า เจิม ด้วยเหตุว่าบิดามารดาของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มีบุตรชายคนแรก อายุยังไม่ทันถึงขวบก็ถึงแก่กรรม ภายหลังเกิดบุตรีอีกคน ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติให้นามว่า เหลน เพราะเป็นเหลนคนใหญ่ของท่าน มีอายุได้ ๓ ขวบก็ถึงแก่กรรมอีก ท่านเอี่ยมผู้เป็นยายมีความเศร้าโศกเสียใจยิ่งนัก ในเวลาที่จะยกศพลงบรรจุหีบ ท่านเอี่ยมเอาเขม่าหม้อป้ายลงที่อกศพ ร้องไห้คร่ำครวญสั่งว่า หลานจงกลับมาเกิดใหม่อีก ถ้ากลับมาเกิดให้มีรอยเขม่าหม้อหมายที่หน้าอกเป็นสำคัญ อยู่มาบิดามารดาเจ้าพระยาสุรศักดิ์มีบุตรชายอีกคน ๑ คือพระยาสุนทรสงคราม แต่หาได้มีปานดำเป็นสำคัญไม่ ต่อมามีบุตรชายอีกคน ๑ คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ มีตำหนิปานดำที่หน้าอก จึงได้ให้นามตามนิมิตนั้น
เมื่อนายเจิมอายุประมาณ ๕-๖ ขวบ ได้เล่าเรียนวิชาชั้นต้นที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยผู้เป็นทวด เมื่ออายุ ๘-๙ ขวบ มีอุปนิสัยอารีอารอบชอบคบเพื่อนมาก ชอบเล่นอย่างวิธีนักรบ และชอบตกแต่งประดับประดาที่อยู่ให้สะอาดเรียบร้อย ชอบทำการช่างต่าง ๆ ส่อให้เห็นอุปนิสัยมาแต่เล็ก พออายุได้ ๑๑ ขวบ มารดาถึงแก่กรรม ต่อมาบิดาได้ย้ายมาอยู่บ้านเดิมที่บ้านพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต) ผู้เป็นปู่ ไปฝากให้ศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นให้สำนักพระวิเชียรมุนี วัดพิชัยญาติ เมื่ออายุ ๑๓ ปี โกนจุกแล้วอุปสมบทเป็นสามเณร ๑ พรรษา ลาสิกขาแล้วบิดานำไปมอบให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) แต่เมื่อยังเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม ให้ใช้สอยและฝึกหัดราชการ นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังให้ฝึกหัดวิชาขี่ม้ารำทวน และยิงปืนกับวิชาอื่นๆ ซึ่งนิยมกันในสมัยนั้น แล้วนำถวายตัวเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นมหาดเล็กวิเศษ สังกัดเวรฤทธิ์ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้วก็อยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อไป
แต่งงาน ถวายตัวเป็นมหาดเล็กฯ ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นหลวงศัลยุทธสรกรร นายกัมปนีที่ ๖
เมื่อนายเจิมอายุได้ ๑๘ ปี เป็นหลวงศัลยุทธสรกรร แล้วแต่งงานกับขีด บุตรีนายเขียน สวัสดิ์ ชูโต อยู่ด้วยกันได้ประมาณ ๒ ปีก็แตกกัน แต่ก็ไม่มีภรรยาใหม่ มาจนกว่า ๑๐ ปีเมื่อขีดถึงแก่กรรมแล้ว เวลานั้นเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กผู้บังคับการทหารหน้า ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ขอไร บุตรีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไวยวัฒน์ (วอน บนนาค) พระราชทานให้เป็นภรรยา อยู่มาถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ ไรถึงแก่กรรม เมื่อเป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรีแล้วจึงขอเลี่ยมซึ่งเป็นน้องสาวของไรมาเป็นภรรยา อยู่ด้วยกันมาจนได้เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และเลี่ยมก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องยศท่านผู้หญิงตามประเพณี
ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มหน้าที่พระยาสุรศักดิ์ผู้บิดา เป็นกงสีซื้อจ่ายของใช้ในราชการทั่วไป และเป็นผู้เร่งรัดเงินภาษีอากรที่ค้างแก่เจ้าภาษี ได้ให้นายเจิมผู้บุตรเป็นผู้ช่วยราชการในแผนกนี้ด้วย เพราะผู้ทำภาษีไม่นำเงินมาส่งหลวงได้ตามเวลา เงินหลวงสูญเสียมาก พระยาสุรศักดิ์ฯ ใช้ความผ่อนผันให้เจ้าภาษีทำการส่งของต่อกงสี เมื่อถึงคราวจ่ายเงินก็หักผ่อนใช้หนี้หลวง เมื่อทำเช่นนี้ไม่ช้าก็หักเงินที่ค้างภาษีได้ครบ
ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ มีพระราชประสงค์ให้คัดเลือกลูกหมู่มหาดเล็กมาเป็นพวกบอดิการ์ด (รักษาพระองค์) มีจำนวนคน ๔ โหล แทนทหารรักษาพระองค์ แต่ไม่พอใช้ราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์ฯ คิดจัดตั้งกองทหารมหาดเล็ก ร.อ. ขึ้น เอาพวกมหาดเล็กที่เป็นบุตรหลานข้าราชการเข้ามาเป็นทหาร เมื่อรับพระราชโองการฯ แล้วก็หวาดหวั่นว่าจะมีผู้เข้าใจผิดคิดเห็นว่าเป็นการเดือดร้อน เพราะผู้ที่เป็นบิดามารดาแห่งกุลบุตรในสมัยนั้นยังไม่มีความนิยมจะให้บุตรหลานเข้าเป็นทหาร เกรงจะไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์ จึงไปหารือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่าจะขอนายเจิมที่มอบให้ใช้อยู่นั้นไปเป็นตัวอย่างทหารสมัครคนแรก เพื่อให้ข้าราชการเกิดความนิยม นำบุตรหลานเข้าสมัครเป็นทหาร สมเด็จเจ้าพระยาฯ เห็นชอบด้วย จึงได้นำนายเจิมเข้าไปถวายตัวเป็นทหารมหาดเล็กก่อนผู้อื่น ก็เกิดความนิยมในการเป็นทหารกับทั่วไป
เมื่อภารจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็ก ร.อ. เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นายเจิมเป็นหลวงศัลยุทธสรกรร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ นายกัมปนี ที่ ๖ (ผู้บังคับกองร้อยที่ ๖)
โดยเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์กับชวา (ครั้งแรก) เป็นอุปทูตไปเมืองสิงคโปร์ เมืองปัตตาเวีย และอินเดีย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และชวา (ครั้งแรก) ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดฯ ให้หลวงศัลยุทธสรกรรโดยเสด็จด้วย เมื่อเสด็จกลับแล้วจึงโปรดฯ ให้พระยาสมุทรบุรานุรักษ์ (เนตร) เป็นราชทูต หลวงศัลยุทธสรกรร เป็นอุปทูต คุมช้างหล่อด้วยทองเหลือง ๒ ช้าง กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทานผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๒ นั้น
ครั้นถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อเสด็จอินเดีย หลวงศัลยุทธสรกรรก็ได้โดยเสด็จในเรือพระที่นั่งไปประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศอินเดียด้วย
พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) บิดา ถึงแก่กรรม
เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) บิดาป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์หลวงมาพยาบาล เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมอาการป่วย และส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาพระราชทานในวันเดียวกันนั้นด้วย ได้ประกอบการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ อาการไข้มีแต่ทรงกับทรุด ถึงแก่กรรมวันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๑๖ เสด็จพระราชทานเพลิงที่วัดประยุรวงศ์
รับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก
เมื่อพระยาสุรศักดิ์ถึงแก่กรรมแล้ว โปรดฯ ให้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็กฯ หลวงศัลยุทธฯ คงรับราชการเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๖ อยู่ และได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามชั้นที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นความชอบในการที่เป็นอุปทูตไปเมืองสิงคโปร์และปัตตาเวีย เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นสราภัยสฤษดิการ ในปีนี้ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๖๐ บาท ต่อมาเป็นราชองครักษ์ ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๘๐ บาท
อุปสมบทเป็นนาคหลวง
เมื่ออายุ ๒๑ ติดราชการไม่ได้อุปสมบท ต่อมาจนอายุได้ ๒๕ โปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธวิริยากรณ์ (นิ่ม) วัดเครือวัลย์ เป็นกรรมวาจา พระวิเชียรมุนี วัดพิชัยญาติ เป็นอนุสาวนาจารย์ ทำขวัญนาคในพระที่นั่งอัมรินทร์ อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่วัดพิชัยญาติพรรษา ๑
รับราชการเมื่อลาอุปสมบทแล้ว
จมื่นสราภัยฯ ลาอุปสมบทแล้ว กลับเข้ารับราชการในหน้าที่ราชองครักษ์ต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการพิเศษเป็นนายช่างทำเครื่องประดับพระที่นั่งบางปะอิน และให้ช่วยนายอาลบาร์สเตอร์ จัดการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่พระราชวัง (คีอที่ศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้)
ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ โปรดฯ ให้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับและจัดการทหารมหาดเล็กฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการด้วยพระองค์เอง และตั้งตำแหน่งผู้รับพระราชโองการขึ้นใหม่ โปรดฯ ให้พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนทรงรับตำแหน่งนั้น ระวางเมื่อพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนไปราชการประเทศอินเดีย ได้โปรดฯ ให้จมื่นสราภัยฯ เป็นผู้รับพระราชโองการแทน เมื่อพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนเสด็จกลับมาแล้วได้ทรงรับตำแหน่งเดิม จึงโปรดฯ ให้จมื่นสราภัยฯ เป็นที่ปรึกษาราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ช่วยพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตนต่อไป
เป็นอุปทูตไปราชการพิเศษ ณ ทวีปยุโรป
คราวหนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นสราภัยฯ ไปทำแผนที่เมืองลพบุรี และเมื่อยังทำการอยู่นั้นมีราชการเกี่ยวกับต่างประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นราชทูต จมื่นสราภัยฯ เป็นอุปทูตออกไปประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ และให้ดูการทหารบกทหารเรือ กับทั้งวิธีทำเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาด้วย
ลำดับนี้รัฐบาลโปรตุเกสส่งตราโปรตุเกสมาให้จมื่นสราภัยฯ ในการไปประจำอยู่กับข้าราชการของโปรตุเกสเมื่อเข้ามาเฝ้า และโปรดฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ เป็นบำเหน็จด้วย
รับราชการทหารหน้า
ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ โปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นกงสีศิลา แต่ไม่รับค่าสิบลด ขอพระราชทานแต่เงินเดือนในหน้าที่ทหารตามเดิม แล้วโปรดฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิต (โต) เป็นผู้บังคับการที่ ๑ เจ้าหมื่นไวยฯ เป็นผู้บังคับการที่ ๒ ไปช่วยกันจัดการกรมทหารหน้า การที่จัดนั้นได้สั่งให้สำรวจเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์และเครื่องครุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้รู้ว่ามีอยู่มากน้อยเท่าใดและทำบัญชีไว้ให้เรียบร้อย แล้วชำระสะสางคัดเลือกพวกนายทหารในกรมทหารนี้ให้อยู่รับราชการแต่ผู้ที่สมควร ทั้งจัดทำกฎข้อบังคับของกรมทหารขึ้นใหม่ กับขอพระบรมราชานุญาตซ่อมแซมโรงทหารทุก ๆ โรง จัดการโรงครัวไว้เลี้ยงทหารด้วย
เกลี้ยกล่อมทหารสมัคร
เจ้าหมื่นไวยวรนารถผู้บังคับการที่ ๒ สำรวจจำนวนพลทหารหน้า ทราบว่ามีอยู่ประมาณ ๓๐๐ เศษไม่พอใช้ราชการ ทั้งความเป็นอยู่ของทหารก็ไม่เรียบร้อย เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ก็ขาดตกบกพร่อง จึงกราบบังคมทูลรายงาน โปรดฯ ให้กรมสัสดีเร่งเรียกลูกหมู่แขนขาวเข้ามารับราชการก็ได้ผลน้อยนัก จึงจัดคนออกเที่ยวสืบสวนเกลี้ยกล่อมพลเมืองที่เป็นคนแขนขาวก็ยินดีจะยอมสมัครเป็นทหารหน้า และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้นำประกาศไปแจกทั่วทุกจังหวัด และชี้แจงแก่ประชาชนให้เข้าใจตามประกาศนั้นด้วย มิช้าก็มีคนแขนขาวเข้ามาสมัครเป็นทหารกว่า ๕,๐๐๐ คน โรงทหารเก่าไม่พอจะอาศัย จึงโปรดฯ ให้ผู้บังคับการที่ ๒ สร้างที่พักทหารขึ้นใหม่ที่สระประทุมวัน เมื่อจัดการสร้างโรงทหารนั้นแล้ว ได้ให้ปลูกต้นประดู่ไว้สองฟากถนนสระประทุมด้วย ยังมีอยู่จนทุกวันนี้
จัดเครื่องแบบทหารหน้า
เครื่องแต่งตัวทหารหน้านั้น แต่เดิมเป็นสักหลาดสีดำ สำรับ ๑ ราคาอยู่ในราว ๓๒ บาท ผู้บังคับการที่ ๒ คิดให้เป็นผ้าลายสองราคาสำรับหนึ่ง ๕ บาท เครื่องแต่งกายพลทหารตามแบบใหม่นั้นใช้กางเกงผ้าลายสองเขียวคราม เสื้อตัดด้วยผ้าลายสองสีขาว มีเครื่องหมายทหารเป็นยันต์ที่ข้อมือ กางเกงตัดอย่างแบบทหารเรือ คือปลายขากว้าง ส่วนพวกนายทหารนั้น ใช้กางเกงขาว เสื้อขาว เมื่อแต่งเต็มยศกางเกงสักหลาดสีดำแถบทอง ใช้ปลอกหมายยศสวมที่ข้อมือและคอกับบ่าตามชั้นยศ
และโปรดให้วางระเบียบอัตราเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงนายทหารและพลทหารหน้า จัดตั้งทำเนียบยศและตำแหน่งหน้าที่ด้วย
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กราบบังคมทูลขอจัดลูกหมู่หัวเมืองปักษ์ใต้เป็นทหารเรือ
ระวางเมื่อกรมทหารหน้ารับทหารสมัครนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปตรวจราชการอยู่หัวเมืองฝ่ายตะวันตกไม่ทราบว่าทางกรุงเทพฯ เรียกทหารสมัคร และคนแขนขาวจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี เข้ามาสมัครเป็นทหารบกมาก สั่งให้สำรวจชายฉกรรจ์ลูกหมู่แขนขาวในหัวเมืองนั้น ๆ จะส่งเข้ามาเป็นทหารเรือ จึงกราบทูลฯ ขอเข้ามา ทรงปรึกษาความข้อนี้กับเจ้าหมื่นไวยฯ กราบบังคมทูลว่าควรพระราชทานให้ท่านจัดตามประสงค์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ กลับเข้ามาได้กราบบังคมทูลว่า เลขเมืองราชบุรี เพชรบุรี เข้ามาสมัครเป็นทหารบกมาก ไม่มีคนที่จะรักษาพระราชวังเขามไหศวรรย์ ขอรับพระราชทานให้มีเลขคงเมืองอยู่ตามเดิม จึงโปรดฯ ให้ผู้บังคับการที่ ๒ ผ่อนผันส่งพ่อหมู่เด็กชายคืนให้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงขอให้พระอมรวิไสย (โต บุนนาค) เป็นแม่กองสักเลขลูกหมู่ที่สมสักแล้วขึ้นทะเบียนรับราชการต่อไป
แต่งพระที่นั่งและจัดการแสดงพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรุงเทพมหานครตั้งมาครบรอบ ๑๐๐ ปี ณ ท้องสนามหลวง
เมื่อกำหนดการสมโภชกรุงเทพมหานครครบรอบ ๑๐๐ ปีนั้น พระที่นั่งจักรีฯ ยังทำไม่แล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถทำต่อไปให้ทันงานสมโภช เจ้าหมื่นไวยฯ จึงให้ทำแผนที่พระที่นั่งทุก ๆ ห้อง และกำหนดเครื่องที่จะใช้ตบแต่งพระที่นั่งนั้นแล้ว ส่งออกไปให้พระยาสยามธุระพาหนะ กงสุลสยามที่ลอนดอน เรียกช่างต่าง ๆ มารับเหมาทำเครื่องตบแต่งพระที่นั่งซึ่งกะมาทุก ๆ อย่าง เมื่อช่างทำเสร็จแล้ว กงสุลสยามจึงส่งของนั้นเข้ามา เจ้าหมื่นไวยฯ ก็ตบแต่งพระที่นั่งจักรีฯ สำเร็จทันพระราชประสงค์ ระวางที่จัดพระที่นั่งจักรีฯ อยู่นั้น โปรดฯ ให้เป็นผู้ตบแต่งพระตำหนัก และเก็บรักษาเครื่องแต่งพระองค์ และพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระนางเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ และตบแต่งพระตำหนักทูลกระหม่อมแก้ว (กรมพระยาสุดารัตนฯ) ด้วย ได้พระราชทานสิ่งของเป็นที่ระลึกในการตบแต่งพระที่นั่งนั้นหลายสิ่ง แล้วโปรดฯ ให้เป็นผู้บังคับการทหารหน้าแต่ผู้เดียว และเป็นผู้เบิกจ่ายเงินในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ ด้วย
ให้กองทหารนคราภิบาล มีตุลาการชำระคดีชั้นต้น และถวายพระพิพัฒน์สัตยาเป็นส่วนพิเศษ
อนึ่ง โปรดให้เจ้าหมื่นไวยฯ จัดการซ่อมแซมป้อมรอบพระนคร ให้กองทหารนคราภิบาลพักอาศัย เพื่อสะดวกแก่การออกเที่ยวลาดตระเวน รักษาท้องที่ จึงจัดตั้งศาลโปลิศภาสำหรับไต่สวนมูลคดีชั้นต้นขึ้นที่โรงพิมพ์ของหม่อมเจ้าโสภณ อยู่ในระวางที่ซึ่งตั้งเป็นศาลาว่าการนครบาล (กระทรวงมหาดไทย) บัดนี้ ขอพระยามหานิเวศน์ (กระจ่าง บุรณศิริ) เมื่อยังเป็นหลวงฤทธินายเวรมาเป็นอธิบดี ขอขุนศรีอาญาคดีมาเป็นผู้ช่วย
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระชนม์ได้ประมาณ ๒-๓ พรรษา เวลานั้นยังมีข้ออุปสรรคขัดขวางอีกหลายอย่าง ทรงว้าเหว่ด้วยราชการในอนาคต เจ้านายและข้าราชการซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยทำหนังสือปฏิญาณ ถวายพระพิพัฒน์สัตยาเป็นส่วนพิเศษ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ เจ้าหมื่นไวยฯ ก็ได้มีส่วนลงชื่อในหนังสือฉบับที่ทูลเกล้าฯ ถวายนั้นด้วย
ความเห็นเรื่องให้ทหารขึ้นไปรักษาการบนบรมบรรพต
เนื่องในการรักษาพระนครให้มั่นคง เจ้าหมื่นไวยฯ กราบบังคมทูลความเห็นเป็น ๒ ข้อ คือ
๑. จะสร้างป้อมเหล็ก เอาปืนใหญ่อย่างหนักขึ้นไว้บนบรมบรรพต
๒. ถ้าจะไม่โปรดฯ ให้สร้างป้อม ก็ขอทำแต่เพิงพลรอบองค์พระเจดีย์ มีเสาธงและเครื่องโทรศัพท์เป็นอาณัติสัญญาณด้วย
ทรงเห็นชอบตามความข้อ ๒ จึงสร้างเพิงพลขึ้นรอบองค์พระเจดีย์บรมบรรพต จัดทหารรักษาการ ๔ โหล ถ้ามีเหตุเกิดขึ้นให้บอกไปที่กรมทหารหน้า
จัดตั้งโรงเรียนนายร้อย และแต่งพระราชอุทยานสราญรมย์ เป็นผู้มีหน้าที่ในการแสดงพิพิธภัณฑ์ในงานฉลอง ๑๐๐ ปี
เจ้าหมื่นไวยฯ กราบทูลขอมหาดเล็กวิเศษมาเป็นนักเรียนนายร้อย มีนักเรียนประมาณ ๔๐ เศษ และทูลขอวังสราญรมย์เป็นโรงเรียนด้วย ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อจัดตั้งโรงเรียนนั้น เปิดรับบุตรหลานนายทหารและข้าราชการพลเรือนให้เรียน มีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ เศษ
ระวางเมื่อจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้นที่วังสราญรมย์ โปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยฯ จัดการตบแต่งวังนั้น กราบบังคมทูลขอให้นายอาลบาร์สเตอร์เป็นเจ้าพนักงานดูแลปลูกต้นไม้ และตบแต่งวังสราญรมย์ด้วย
ส่วนการแสดงพิพิธภัณฑ์สำหรับชาติคราวนี้ จัดตั้งที่ท้องสนามหลวง มีกรรมการจัดการ ๕ นาย โปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยฯ เป็นกรรมการด้วยผู้ ๑ และมีหน้าที่ตบแต่งประดับประดาสถานที่ทั้งรักษาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในงานนั้น นอกจากตำแหน่งราชการที่มีประจำอยู่หลายหน้าที่แล้ว ยังโปรดฯ ให้เป็นผู้บังคับการทหารดับเพลิง แทนพระยานรรัตน์ฯ รักษาการในงานนี้อีกด้วย
ตั้งกรมเด็กชา
เจ้าหมื่นไวยฯ มีหน้าที่ทำราชการหลายอย่างนัก จึงขอพระราชทานตั้งกรมเด็กชาขึ้น ก็โปรดฯ ให้เก็บพวกลูกหมู่ลาวสีไม้ที่เป็นพวกเด็กชา ประจำพระราชวังเพชรบุรี ลูกหมู่พวกชาวที่ ๑ กับลูกหมู่พวกมหาดเล็ก และทหารหน้าทุก ๆ กรม ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๔ ถึง ๑๖ ปี เข้ามารับราชการเป็นพวกเด็กชา มีเครื่องแบบสำหรับแต่งกาย คือเสื้อตัดอย่างเสื้อของพวกลาวโซ่ง มีผ้าโพกศีรษะเป็นเกลียว ใช้รัดปะคดคาดเอว มีหน้าที่ยืนยามรักษาพระทวารพระที่นั่งจักรีเวลามีงาน และรักษาความสะอาดบนพระที่นั่งทุกองค์ กับสำหรับใช้งานโยธาในพระราชวังทุกอย่างด้วย
ซ่อมถนนหลวงและใช้รถจักรบดถนนเป็นครั้งแรก
การทำถนนหลวงแต่ก่อน ทำด้วยอิฐหักกากปูน เจ้าหมื่นไวยฯ เห็นว่า ต่อไปถ้ามียวดยานไปมามากขึ้นจะไม่ทนทาน จึงสั่งรถบดถนนเข้ามา พร้อมทั้งเครื่องย่อยหินสำหรับโรย และมีตะแกรงร่อนหินที่ย่อยแล้วแบ่งออกได้เป็นก้อนเล็กก้อนใหญ่ เจ้าหมื่นไวยฯ ได้ทดลองซ่อมถนนด้วยรถจักรดังกล่าวนั้น ถวายทอดพระเนตรในขณะเมื่อกำลังเปิดแสดงพิพิธภัณฑ์สำหรับชาติอยู่นั้น ก็ได้ผลดีเป็นที่พอพระราชหฤทัย
ซื้อม้าสำหรับทหารและต้องอุบัติเหตุตกม้า
เจ้าหมื่นไวยฯ เห็นว่าม้าที่จะใช้ราชการในกรมทหารหน้ามีไม่พอ จึงขออนุญาตให้นายหลุย เลียวโนแวนซ์ ซึ่งโปรดฯ ให้มารับราชการอยู่ในกรมทหารหน้านั้น ไปซื้อม้ายังเกาะออสเตรเลีย ได้ม้าเข้ามาทั้งที่ได้เคยฝึกหัดแล้วและยังไม่เคยก็มี ได้สั่งครูฝึกหัดม้าเข้ามาจากต่างประเทศพร้อมกับม้าด้วย ภายหลังนายหลุย เลียวโนแวนซ์ได้รับยศเป็นกัปตัน
ครั้น ณ วัน ๔ ๙ฯ ๒ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ เวลาเช้า กัปตันหลุย เลียวโนแวนซ์ นำลูกม้าเทศ ซึ่งได้ฝึกหัดพอจะขี่ได้แล้วมาให้เจ้าหมื่นไวยฯ ลองขี่ ก็ได้ขี่ไปตรวจการฝึกซ้อมทหาร ม้าก็พาห้อวิ่งไปไม่หยุด ถึงหน้าโรงเอ๊กสฮิบิชั่นจึงรั้งบังเหียนไว้โดยแรง ทันใดนั้นม้าก็สะบัดหน้ายื่นคอ เจ้าหมื่นไวยฯ ยังตั้งตัวไม่ทันก็คะมำไปข้างหน้า แต่กอดคอไว้ทัน ส่วนเท้านั้นไปปัดเท้าม้าเข้า จึงเลยล้มทั้งม้าและคน ขาหลังม้าฉีกทั้งสองข้าง ส่วนคนสลบไม่ได้สติมีบาดแผลที่สำคัญหลายแห่ง หมอเทียนฮี้เป็นผู้พยาบาล เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอาการป่วยถึงบ้าน และมีเจ้านายข้าราชการไปเยี่ยมเป็นอันมาก เมื่อหายป่วยแล้วประสาทจมูกเสียดมอะไรไม่รู้จักกลิ่น
จัดตั้งโรงเรียนหลวงที่พระราชวังสวนอนันต์
เมื่อโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งโปรดฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการเล่าเรียนภาษาอังกฤษนั้น จัดการยังไม่มั่นคงและเป็นระเบียบเรียบร้อยดังที่ควร ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจัดตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นให้เป็นหลักฐาน จึงโปรดฯ พระราชทานพระราชวังสวนอนันต์ให้เป็นโรงเรียน จ้างหมอแมคฟาแลนด์เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ มีกรรมการจัดการเพื่อจะให้การเรียบร้อยตลอดไป แต่ต่อมาการงานก็ทรุดโทรมลงที่สุดจนเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของครูและนักเรียนก็ไม่ใคร่จะได้เบิกมาจ่ายให้ จึงโปรดฯ ให้กรรมการรีบจัดการให้สำเร็จ ปรึกษาการยังไม่ตกลงกัน เจ้าหมื่นไวยฯ เห็นจะเสียราชการ จึงขอรับจัดการแต่ผู้เดียว กรรมการก็เห็นชอบตามความคิดเจ้าหมื่นไวยฯ การที่จัดนั้นคีอให้เบิกเงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนและครู เปลี่ยนแปลงระเบียบการให้หมอแมคฟาแลนด์จัดหาสารวัตรตรวจการและรับผิดชอบในการที่จะรักษาเด็กด้วย ให้เรียกบัญชีจีนทำงานที่พระอินทรเทพ ตั้งบัญชีเบิกขอทำโรงหัดกายกรรม เมื่อจัดการและทำสถานที่สำหรับโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว ต่อมากรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) ทรงเป็นผู้จัดการกรมศึกษาธิการ จึงมอบหน้าที่การรับผิดชอบเรื่องโรงเรียนนั้นถวายให้ทรงจัดการต่อไป
ไปปราบผู้ร้ายเมืองสุพรรณบุรี
เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ เมืองสุพรรณบุรีมีบอกเข้ามาว่าเกิดโจรผู้ร้ายกำเริบปล้นสะดม และเกิดเหตุอุกฉกรรจ์ฆ่ากันตายหลายราย ในเวลานี้ผู้ว่าราชการเมืองไม่มี พระศรีราชรักษา ปลัดรักษาราชการแทน ราษฎรได้ความเดือดร้อนเป็นอันมาก ระวางนั้นทรงตั้งหลวงอังคนิศรพลารักษ์ (จัน) พี่ชายเจ้าหมื่นไวยฯ เป็นที่พระสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณขึ้นใหม่ แต่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อเจ้าหมื่นเสมอใจราช (จู โชติกเสถียร) ซึ่งเป็นข้าหลวงออกไปผูกปี้จีนที่เมืองสุพรรณกลับมาเฝ้าฯ ทรงทราบว่าในการที่ทรงเลือกให้พี่ชายเจ้าหมื่นไวยฯ เป็นผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณนั้น กรมการราษฎรเกรงกลัว จึงโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นไวยฯ เป็นข้าหลวงออกไปปราบปรามโจรผู้ร้ายให้สงบ และจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยด้วย เจ้าหมื่นไวยฯ ออกจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือเมื่อวันพุธ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ หาตรงไปวางท้องตราทีเดียวไม่ ลัดเข้าคลองสองพี่น้อง ขึ้นไปจนถึงเขตปลายน้ำเมืองสุพรรณ ลอบไปสืบข่าวโจรผู้ร้ายตามวัดวาอารามและพวกราษฎรทั้งทางบกทางเรือได้ความตลอดแล้วว่าหัวหน้าผู้ร้ายชื่อนั้น ๆ ตั้งเคหสถานชุมนุมอยู่ตำบลนั้น ๆ และระวางทางที่ไปนั้นจับหัวหน้าผู้ร้ายที่เป็นตัวสำคัญ ๆ กับพรรคพวกได้ประมาณ ๕๐ คนเศษ แล้วจึงล่องเรือลงมาจอดพักที่หน้าวัดประตูศาล วางตราแล้วสั่งให้ปลัดเมืองจัดทำที่คุมขังผู้ร้ายบนศาลาวัด และลงมือชำระความที่ค้างเก่าและใหม่พร้อมด้วยพวกขุนศาลตุลาการโดยเร่งรัด ก่อนที่จะลงมือชำระความนั้น ได้ประกาศให้คู่ความทราบว่าในคดีพิพาทกันนั้น ได้ค้นคว้าสืบสวนหลักฐานมีพยานไว้แน่นอนแล้ว ต้องให้เป็นความสัตย์ความจริงทั้งโจทก์และจำเลย ถ้าจับได้ว่าเป็นความเท็จจะต้องได้รับโทษโบย ๓๐ ที แล้วเบิกตัวคู่พิพาทในคดีเรื่อง ๑ มาชำระเป็นตัวอย่าง ก็จับได้ว่าเป็นความเท็จสั่งให้โบย ๓๐ ที แล้วงดการพิจารณาไว้ ๒ วัน หวังว่าจะให้กิตติศัพท์เล่าลือไปถึงคู่ความทั้งหลาย เมื่อได้จัดการชำระผู้ร้ายตามวิธีนี้สำเร็จได้ง่ายขึ้น วันหนึ่งชำระเสร็จไปราว ๓๐ เรื่องทุก ๆ วัน จำนวนผู้ร้ายที่จับมาได้คราวนี้ประมาณ ๓๐๐ เศษ ผู้ที่มีความผิดเล็กน้อยสั่งให้ภาคทัณฑ์ปล่อยไปประมาณ ๒๐๐ เศษ ที่เป็นหัวหน้าผู้ร้ายตัวสำคัญและนักเลงโตซึ่งก่อให้เกิดเหตุอุกฉกรรจ์เหลืออยู่ ๑๓๐ เศษ จะได้คุมตัวลงมากรุงเทพฯ ด้วย ครั้นเสร็จราชการแล้วก็รีบกลับเข้ามาเฝ้าถวายรายงานตามที่ได้จัดทำไปให้ทรงทราบทุกประการ
อยู่มาได้รับใบบอกหัวเมืองต่าง ๆ รวม ๙ เมือง ว่าโจรผู้ร้ายสงบเงียบแล้ว และได้ทรงทราบจากผู้ที่ไม่ชอบอัธยาศัยกับเจ้าหมื่นไวยฯ มาชมเชยว่าดีอยู่ จึงโปรดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ เป็นบำเหน็จความชอบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕
เมื่อผู้ร้ายสงบแล้ว โปรดฯ ให้พระยาสุนทรสงครามออกไปว่าราชการเมืองสุพรรณ และทรงมอบเมืองสุพรรณให้อยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหมื่นไวยฯ ต่อมากรมการและนายอากรค่าน้ำเมืองสุพรรณเที่ยวขู่กรรโชกเอาเงินแก่ราษฎรได้ความเดือดร้อน ร้องทุกข์ต่อเจ้าหมื่นไวยฯ ในเวลาที่ออกไปเยี่ยมพี่ชายที่เมืองสุพรรณ ไต่สวนได้ความจริง สั่งให้โบยกรมการและนายอากรค่าน้ำ ๓๐ ที สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระบำราบฯ ทูลฟ้องเจ้าหมื่นไวยฯ ว่าทำการอุกอาจ แต่เมื่อได้ทรงทราบความจริงตามรายงานของเจ้าหมื่นไวยฯ แล้วก็หายกริ้ว
เกิดอหิวาตกโรคทหารสมัครแตกหนี และสักตราจักรที่แขนทหารหน้า
เมื่อเสร็จการฉลองพระนคร และการพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ฯ แล้ว เรียกทหารระดมเข้ามาจากเมืองราชบุรี เพชรบุรีอีก ๕,๐๐๐ คน ไม่มีที่พอจะให้อาศัย จึงโปรดฯ ให้ทำที่พักทหารขึ้นใหม่ชั่วคราว และแบ่งไปไว้ในวังสวนกุหลาบ ๑,๐๐๐ คน เจ้าหมื่นไวยฯ ไปเยี่ยมทหารนอนอยู่ด้วยคืน ๑ ทหารเป็นอหิวาตกโรคแต่ได้รักษาหาย อยู่มาไม่ถึง ๑๐ วัน ทหารที่พักในวังสวนกุหลาบก็เกิดเป็นอหิวาตกโรคลุกลามไปตามกองทหารหน้าและพวกพลเรือนตายลงหลายร้อยคน ที่เหลือก็ตื่นตกใจพากันหลบหนีไปหลายพันคน จึงโปรดฯ ให้คุมทหารพวกที่เหลือนั้นย้ายไปพักอยู่ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร จังหวัดสมุทรปราการ ทรงหารือเจ้าหมื่นไวยฯ ว่าทำไฉนจึงจะได้ทหารที่หลบหนีไปกลับคืนมา เจ้าหมื่นไวยฯ ทูลรับจะออกไปจัดการให้ทหารกลับคืนเข้ามารับราชการให้จงได้ แต่ไม่โปรดให้ออกไป โปรดฯ ให้จมื่นศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว.เล็ก ศิริงศ์) กับนายจ่ายวดเป็นข้าหลวงออกไปติดตามทหารที่เมืองราชบุรี เพชรบุรี แทน ข้าหลวง ๒ นายก็รีบออกไปกวาดต้อนทหารสมัครเข้ามารับราชการ แต่ได้รับความลำบาก ด้วยทหารสมัครที่หนีไม่มีเครื่องหมายในตัวแต่อย่างใด นอกจากทราบตำหนิรูปพรรณในทะเบียนเก่าเท่านั้น ต้องใช้วิธีเรียกตัวหัวหน้าผู้นำทหารเข้ามาสมัครให้ส่งตัวทหารให้แก่ข้าหลวงอีกชั้นหนึ่ง จึงเกิดหนักใจขึ้นแก่ผู้บังคับการทหารหน้า ด้วยประกาศพระบรมราชโองการรับทหารสมัครเดิมมีอยู่แล้วว่า จะไม่สักท้องแขนและหน้าแขนตามหมวดหมู่เดิม ผู้บังคับการทหารหน้าเห็นว่า ถ้ามีเครื่องหมายตามตัวดังเลขที่มีมาแต่ก่อนแล้ว หนีไปอยู่ที่ใดก็จะติดตามได้ง่าย จึงหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้นายทหารผู้ใหญ่ทำเครื่องหมายเพื่อให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันเป็นตัวอย่างขึ้นก่อน เจ้าหมื่นไวยฯ จึงให้ทำตราจักรกว้าง ๑ นิ้ว กลางมีที่ว่างไว้สำหรับจะได้ลงเมืองของทหาร หมายอักษรตั้งแต่ ก. (ก. หมายว่ากรุงเทพฯ) เป็นต้นไป เมื่อทำตราจักรเสร็จแล้วให้ช่างสักลงบนแขนขวาเจ้าหมื่นไวยฯ เป็นคนแรก และให้ประกาศแก่นายและพลทหารว่า การที่สักเครื่องหมายลงบนแขนเช่นนี้ หมายความว่าเป็นพวกเดียวกัน ถ้าผู้ใดอยากสักให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันก็จะสักให้ ในไม่ช้าก็มีนายและพลทหารทุกกรมกองมาขอสัก แต่นั้นมาการหนีหายก็น้อยลง ต่อมาเมื่อตั้งกรมยุทธนาขึ้นแล้ว จึงได้ให้สักตราจักรใหญ่ที่แขนมีตัวเลขตามลำดับหมวด และมีอักษรเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นทหารบกด้วย
อนึ่ง เจ้าหมื่นไวยฯ ได้คิดตั้งโรงพยาบาลขึ้นรักษาทหารในคราวที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคหลายแห่ง ได้รับพระราชทานเหรียญเงินเป็นที่ระลึกในการนั้นด้วย
สร้างโรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหม)
เมื่อทหารสมัครกลับเข้ามามีจำนวนมาก ไม่มีที่จะให้อาศัยรวมกันเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ เจ้าหมื่นไวยฯ จึงเที่ยวสำรวจหาที่จะสร้างโรงทหาร เห็นที่ฉางหลวงเก่าและที่วังเจ้านายซึ่งทรุดโทรม มีบริเวณกว้างใหญ่ เหมาะสำหรับที่จะตั้งเป็นโรงทหารหน้าได้ จึงกะสเก็ตช์และถ่ายรูปที่นั้นแล้วให้นายกราซีทำแปลนตึกเป็น ๒ ชนิด แปลน ๑ เป็นตึก ๒ ชั้น อีกแปลน ๑ เป็นตึก ๓ ชั้น และให้กะงบประมาณการก่อสร้างด้วย เจ้าหมื่นไวยฯ นำแปลนตึก ๒ ชั้น กับรูปถ่ายพร้อมทั้งรายการก่อสร้างประมาณสี่แสนบาท ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย กราบบังคมทูลความจำเป็นทุก ๆ อย่าง ทรงรับว่าจะปรึกษาความคิดนั้นต่อกรมสมเด็จฯ ดูก่อน ต่อมาเจ้าหมื่นไวยฯ นำแปลนตึก ๓ ชั้นเข้าไปถวายอีก กราบทูลว่าจะหาที่ในพระนครกว้างใหญ่เท่าที่กะมานี้ยาก ต่อไปที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น จึงให้ช่างเขียนแปลนเป็นแบบตึก ๓ ชั้น หวังจะบรรจุทหารให้มากตั้งเป็นกองพลน้อย ๆ อยู่ในที่แห่งเดียวกันได้ เงินที่จะเพิ่มขึ้นก็ไม่มากเท่าใด เห็นว่าทำเป็นตึกสามชั้นเสียทีเดียวดีกว่า ก็ทรงเห็นชอบด้วย ตกลงทำตามความคิดนั้น
ที่ซึ่งสร้างเป็นโรงทหารนี้ กว้าง ๓ เส้น ๑๐ วา ยาว ๕ เส้น (มีรายการส่วนต่าง ๆ ของตัวตึกโดยพิสดารแจ้งอยู่ในหนังสือเล่มใหญ่ที่ได้ย่อมานี้พร้อมด้วยแบบแปลนแล้ว) เมื่อโรงทหารหน้านี้ยังสร้างไม่แล้ว ที่ว่าการกรมทหารหน้าเดิมตั้งอยู่ที่หอบิลเลียด ณ วังสราญรมย์ โรงครัวเลี้ยงทหารอยู่ที่ริมถนนเฟื่องนคร เมื่อกรมทหารหน้ายกมาอยู่ที่ซึ่งสร้างขึ้นใหม่นั้นแล้ว ก็ยังใช้โรงครัวเก่าเลี้ยงทหารอยู่ เห็นว่าทหารเดินไปรับประทานอาหารไกลนักจะตัดทางให้สั้นลง จึงให้ทำสะพานหกข้ามมาจากกรมยุทธนาธิการจนถึงโรงครัว สะพานนี้ใช้ในเวลาเจ้าหมื่นไวยฯ เป็นผู้บังคับการทหารหน้าเท่านั้น
เข้าสมัครเป็นอั้งยี่
พวกจีนทั้งในกรุงและหัวเมืองเกิดเป็นอั้งยี่กำเริบขึ้น ทรงปรึกษาการที่จะปราบอั้งยี่กับเจ้าหมื่นไวยฯ จึงกราบทูลว่า เมื่อไฟป่าลุกก็ต้องจุดไฟป่ารับ คือจะขอเข้าเป็นอั้งยี่ เพราะอั้งยี่ที่เกิดขึ้นเวลานั้นมีเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งอยู่ตลาดพลู เป็นจีนไหหลำมีประมาณเจ็ดพันเศษ อีกพวกหนึ่งตั้งอยู่ที่แม่น้ำราชบุรีและนครชัยศรี เป็นจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนโดยมาก ถ้ารับเอาพวกอั้งยี่ตลาดพลูเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหมื่นไวยฯ แล้ว พวกอื่น ๆ ก็หาอาจจะกำเริบขึ้นได้ไม่ ก็โปรดฯ อนุญาตให้จัดการตามความคิดนั้น
เจ้าหมื่นไวยฯ จึงนัดกับหัวหน้าอั้งยี่ว่าจะขอเข้าไปตรวจดูการที่จัดทำกันที่กงสีนั้นเป็นอย่างไร เมื่อตกลงกันแล้ว เวลายามหนึ่ง เจ้าหมื่นไวยฯ กับหลวงทวยหาญ (กิ่ม) จ่ายวด (สุข ชูโต) ลงเรือไปถึงคลองภาษีเจริญ ขึ้นเดินบกต่อไปถึงศาลเจ้าที่เรียกว่ากงสี พบคนที่มาทำพิธีเข้าเป็นอั้งยี่ด้วยประมาณ ๒๐๐ เศษ จึงให้หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้ทราบว่า ได้เชิญเจ้าหมื่นไวยฯ กับหลวงทวยหาญ และจ่ายวดมาเพื่อจะยกขึ้นให้เป็นนายปกครองต่อไป ให้เจ้าหมื่นไวยฯ เป็นหัวหน้าที่ ๑ หลวงทวยหาญที่ ๒ จ่ายวดที่ ๓ แล้ว พวกอั้งยี่ก็พร้อมกันเลี้ยงโต๊ะกระทำสัตย์สาบานว่าจะนับถือคนทั้ง ๓ นั้นเป็นนายปกครองต่อไป จีนหัวหน้าได้มอบตราอาญาสิทธิ์กับธงหัวหน้าพร้อมด้วยบัญชีนามอั้งยี่ทั้งหมดให้ และบอกอาณัติสัญญาให้ทราบไว้ด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้วเจ้าหมื่นไวยฯ ก็นำตราและธงทั้งบัญชีอั้งยี่มาทูลเกล้าฯ ถวาย แต่นั้นมาอั้งยี่ทุกพวกทุกเหล่าก็สงบลง ต่อมาเจ้าหมื่นไวยฯ ก็เปลื้องภาระอันหนักเรื่องอั้งยี่ถวายกรมหมื่นภูธเรศฯ เสนาบดีนครบาลจัดการต่อไป
ถูกหาว่าเป็นกบฏ
เมื่อคิดจัดการรับทหารสมัคร และจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทย และยุทธวิธีขึ้นที่วังสราญรมย์นั้น มีนายทหารอิตาเลียนเข้ามาสมัครทำงาน ๒ คน คือ นาย ยี.อี.เยรินี (พระสารสาสน์พลขันธ์) คน ๑ กับนายโยเซฟ ฟารันโด คน ๑ เจ้าหมื่นไวยฯ รับไว้ นายเยรินีนั้นให้เป็นครูสอนยุทธวิธีการทหารที่โรงเรียนนายร้อย ตั้งใจสอนให้ตามความรู้ของตนทุกอย่าง และที่โรงเรียนนั้นได้จัดหาตัวอย่างของต่าง ๆ ในวิชาทหารไว้ให้ดูเพื่อประกอบการเรียนด้วย นายเยรินี ขออนุญาตจะทำดินไดนาไมต์ขึ้นให้นักเรียนทราบวิธีใช้ เจ้าหมื่นไวยฯ จึงขอพระบรมราชานุญาต ก็โปรดฯ ให้จัดทำได้ นายเยรินีได้จัดทำดินไดนาไมต์อยู่หลายปีไม่สำเร็จ
ต่อมานายฟารันโดป่วยขออนุญาตให้ไปรักษาตัวที่สิงคโปร์ นายเยรินีขอลาไปเป็นเพื่อนด้วย เมื่อเดินทางกลับเข้ามาได้นำดินไดนาไมต์เข้ามาด้วยหนัก ๕๐ ปอนต์ พนักงานศุลกากรยึดไว้ ผู้บังคับการทหารหน้าก็เล่าความจริงให้ฟัง และกราบบังคมทูลให้ทรงทราบด้วย นายเยรินีรู้ว่าตัวผิดก็ลาออกจากหน้าที่ครูไปทำเหมืองแร่ และช่วยหมอสมิตแต่งหนังสือพิมพ์ ได้ลงพิมพ์พูดเหน็บแนมก้าวร้าวในทางอักษรศาสตร์ ต่อมาได้กลับเข้ารับราชการเป็นล่ามอยู่ในกระทรวงมหาดไทยอีก
การที่นายเยรินีหาดินไดนาไมต์กลับมาจากสิงคโปร์นั้น เป็นเหตุให้มีผู้ทำให้เกิดเลื่องลือไปว่า เจ้าหมื่นไวยฯ จะคิดกบฏ ครั้นเมื่อเดือน ๓ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยฯ อยู่รักษาการในกรุงเทพฯ ให้จัดกองทหารหน้า ให้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์กับจ่ายวดเป็นผู้คุมไปในกระบวนพระราชดำเนิน ระวางที่ประทับอยู่ที่พระพุทธบาทนั้น มีผู้ร้ายขึ้นไปบนยอดเขา เอาก้อนหินขว้างลงมาในค่ายหลวง ทหารขึ้นไปจับก็เกิดต่อสู้กันขึ้น เจ้าหมื่นศรีฯ สั่งให้ยิงผู้ร้ายตาย ลูกปืนถูกหน้าผากระเด็นลงมาตกในค่ายหลวง ก็เกิดโกลาหลกันว่าทหารหน้าจะกบฏตามข่าวลือ จึงทรงตั้งสมเด็จกรมพระบำราบฯ เป็นตุลาการพิจารณาคดีนั้นแล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่บางปะอิน ตุลาการได้ชำระตัดสินลงโทษนายทหารที่สั่งให้ยิงและพลทหารผู้ยิงด้วย
ในเรื่องที่ถูกหาว่าคิดกบฏนี้ ในที่สุดเจ้าหมื่นไวยฯ ได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาว่า “ที่พระนายไวยพูดมานั้นเพราะกลัวตาย คงแน่ใจว่าเราเชื่อว่าตัวเป็นกบฏ แต่เรามิได้นึกเลย คนทั้งหลายไม่รู้ความจริงว่าผูกพันกันอยู่ ตามข่าวลือกันนั้นเป็นด้วยความอิจฉาพยาบาทอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งพระนายไวยจะพูดการอันใดหาพูดให้คนอื่นเห็นว่าเป็นคำกลางไม่ โดยถือว่าเพราะจำเป็นต้องช่วยกัน จึงเป็นพยานให้เขายกมาพูดได้ แต่จะหาเหตุไปเปล่า ๆ ก็จืด ถ้าจะว่าในเหตุที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องดินไดนาไมต์และเรื่องนี้ ต้องเห็นว่าความผิดมีอยู่ในการนั้น แต่มิได้เป็นความผิดของพระนายไวย จะเสียก็เสียเพราะเป็นผู้บังคับการสั่งการไม่รอบคอบ”
“การเรื่องดินไดนาไมต์ อ้ายเยรินีไม่บอกให้รู้ว่าจะเอาเข้ามา อ้ายเยรินีเป็นผู้ผิด ที่เขาแกล้งให้เป็นถ้อยความมากขึ้นไปนั้นต้องยกว่าเป็นการแกล้งกันส่วนหนึ่ง ความผิดจริงส่วนหนึ่ง ถ้าพูดอย่าให้ยกแต่ความแกล้งจนลืมคิดว่ารับผิดแล้วเป็นการถูก”
“เรื่องความครั้งนี้เหมือนกัน คือการสิ่งใดที่ผิด การสิ่งนั้นมีอะไรเสียอยู่จึงว่าผิด ที่ทำถูกหมดจะกลับว่าให้เป็นผิดไป เพราะคนอิจฉาหรือเพราะความสงสัยนั้นจะทำไปอย่างไรได้ จึงนับว่าการเสียตลอดจนราชการ การที่ทำโทษทหารคราวนี้จะกันไม่ให้คนว่าทหารหลวงแกล้งฆ่าคนตายไม่มีโทษ และยิงปืนกระสุนตกในค่ายหลวงเพราะการรักษาได้ไม่มีโทษ ซึ่งจะเป็นช่องเสียดังว่ามา”
“ที่คิดจะขอให้ใครเป็นผู้บังคับการทหารกันความวุ่นวายนั้นดูเป็นการแตกร้าวกัน ถ้าแก้หรือเพิ่มอันใดเล็กน้อยก็จะเรียบร้อยไปได้ จะรอไว้คิดจัดที่กรุงเทพฯ” ดังนี้
ทหารหน้ายกไปอยู่โรงที่สร้างขึ้นใหม่
เมื่อสร้างโรงทหารหน้าเสร็จแล้ว เจ้าหมื่นไวยฯ ทูลขอพระราชทานนามโรงทหารหน้า ก็โปรดให้เรียกนามว่าโรงทหารหน้าและให้มีศักราชที่สร้างขึ้นไว้ด้วย ครั้นต่อมาให้เรียกว่ากระทรวงกลาโหมจนทุกวันนี้ ขณะเมื่อทหารหน้าจะยกมาอยู่โรงสร้างใหม่นี้โปรดฯ ให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) ผูกคาถาว่า “วิเชตฺวา พลาตา ภูปํรชฺชสา เทจวุตโย” สำหรับให้ใช้เป็นตราทหารหน้ายังมีอยู่ในยอดธงจุฑาธุชนั้น เมื่อจัดการตบแต่งโรงทหารเรียบร้อยแล้ว อัญเชิญเสด็จให้ทรงเปิดโรงทหารที่สร้างใหม่ กลิ่นไอที่เขาหาเหตุว่าจะเป็นกบฏยังไม่หมดซาก เจ้าหมื่นไวยฯ จึงให้ทหารแต่งตัวเครื่องแบบแต่ไม่มีอาวุธตั้งแถวรับเสด็จที่หน้าโรงทหารนั้น เมื่อเสด็จทรงเปิดเสร็จแล้ว จัดการประลองยุทธ์ตามแบบใหม่ถวายทอดพระเนตรก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ต่อมาได้เปลี่ยนคำบอกแถวทหารจากภาษาอังกฤษ ซึ่งครูหัดทหารเป็นชาวอิตาเลียน ให้กลับเป็นภาษาไทยก็โปรดในการที่จัดนั้น
เจ้าหมื่นไวยฯ เกิดความเบื่อหน่ายในราชการ ด้วยเรื่องคนริษยาพยาบาท จึงทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือว่า ซึ่งทรงตั้งให้เป็นผู้บังคับการทหารหน้าจัดการโดยเด็ดขาดนั้น เกรงจะทำการไปไม่สำเร็จ ขอพระราชทานหลวงสิทธินายเวร (บุตร) บุตรเจ้าพระยามหินทรฯ มาเป็นผู้ช่วย และทรงตั้งเจ้าพระยามหินทรฯ มาเป็นผู้กำกับตรวจตราราชการกรมทหารหน้าด้วย ก็พระราชทานตามประสงค์ และโปรดฯ ให้ถอนทหารล้อมวังจากกรมทหารไปขึ้นกระทรวงวัง ให้ทหารรักษาพระองค์แยกออกไปตั้งเป็นกรมหนึ่งต่างหาก ระวางนั้นเจ้าพระยามหินทรฯ ก็จัดข้าราชการในกรมพระสุรัสวดีมากำกับการทหารหน้าสืบไป ส่วนตัวเจ้าหมื่นไวยฯ นั้น เมื่อจะไปตรวจราชการหรือจัดการสิ่งไรในหน้าที่ ก็ให้หลวงสิทธินายเวรตามไปดูการนั้น ๆ ทุกครั้ง เพื่อจะให้ชำนาญเอาไว้แทนตัวต่อไป
ขุดคลองประเวศบุรีรมย์
ต่อมาเจ้าหมื่นไวยฯ กราบถวายบังคมลาป่วย ออกไปพักเปลี่ยนอากาศอยู่ที่นาคลองประเวศบุรีรมย์ ตำบลศีรษะจรเข้ จังหวัดพระประแดง ตรวจเห็นลำคลองประเวศบุรีรมย์จดคลองพระโขนงจนออกปากน้ำบางปะกงตื้นมาก ไม่สะดวกแก่เรือแพจะขึ้นล่อง จึงป่าวร้องชักชวนราษฎรในเขตนั้นให้มาช่วยกันซ่อมคลองตามระยะทางที่ตื้นเขิน โดยใช้วิธีเอาควายลุยย่ำโคลนให้ออกแม่น้ำและจัดการเลี้ยงดูราษฎรที่ระดมกันมาทำการนั้นด้วย ทำอยู่ ๓ วันการก็สำเร็จ ถวายพระราชกุศลที่ทำการสาธารณะนั้นเข้ามาด้วย
ทำการไฟฟ้า
เจ้าหมื่นไวยฯ เห็นว่าระย้าแก้วบนพระที่นั่งจักรีใช้จุดด้วยเทียนไข และน้ำมันก๊าดมีความลำบาก ถ้าเปลี่ยนเป็นจุดด้วยไฟฟ้าจะสะดวกและสว่างดี ได้กราบทูลความเห็นเรื่องนี้เมื่อกลับมาจากยุโรปแล้ว แต่ไม่ทรงเห็นด้วย เจ้าหมื่นไวยฯ มีความกระหายที่จะทำการไฟฟ้าในเมืองไทยให้สำเร็จเป็นตัวอย่าง จึงเอาที่ดินตำบลวัดละมุดบางวัว ซึ่งได้รับมรดกจากบิดาไปทูลขอให้กรมหมื่นเทวะวงศ์ฯ ช่วยให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า) ทรงซื้อไว้เป็นราคา ๑๘๐ ชั่ง จัดให้นายมาโยลาชาวอิตาเลียนซึ่งรับราชการอยู่ในกรมทหารหน้า ออกไปจัดการซื้อเครื่องไฟฟ้าที่เมืองอังกฤษ และให้เรียนวิชานั้นเข้ามาด้วย เมื่อนายมาโยลากลับเข้ามา เจ้าหมื่นไวยฯ จึงให้นายเลียวนาดีเป็นช่างทำเครื่องไฟฟ้าจุดขึ้นที่โรงทหารก่อน เมื่อเกิดความนิยมทั่วไปแล้ว ก็กราบทูลให้ใช้ไฟฟ้าที่ระย้าแก้วในพระที่นั่งจักรีต่อไป ส่วนเงินที่ได้ทดรองไปในการทำไฟฟ้านั้น ภายหลังก็เบิกกลับคืนได้ ขณะเมื่อจะขยายการจุดไฟฟ้าให้แพร่หลายนั้น มีราชการไปปราบฮ่อเสีย ครั้นเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น ได้มอบเครื่องไฟฟ้าให้ทหารเรือใช้ต่อไป ระวางที่เจ้าหมื่นไวยฯ ไปทัพฮ่อนั้นลูกจ้างคนหนึ่งยักเอาแปลนและตำราการไฟฟ้านี้ ไปแนะนำให้ผู้อี่นจัดตั้งขึ้นที่วัดราชบูรณะ แต่ทำอยู่ไม่นานก็เลิก นายเวสเซนโฮล์มชาติเดนมาร์กคิดจัดทำต่อมา เรียกว่าบริษัทไฟฟ้าสยามทุกวันนี้
ไปปราบฮ่อ
การปราบฮ่อครั้งนี้ เป็นเรื่องเนื่องมาแต่การปราบฮ่อครั้งที่ ๒ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธุ์) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ นั้น
ครั้นถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ข่าวมาถึงกรุงเทพฯ ว่าพระยาราชวรานุกูลแม่ทัพไปถูกอาวุธข้าศึก กองทัพไทยได้แต่ตั้งล้อมค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำแขวงเมืองพวน และในขณะนั้นได้รับใบบอกเมืองหลวงพระบางว่า มีทัพฮ่อยกมาย่ำยีเมืองหัวพันห้าทั้งหก ทางกรุงเทพฯ ไม่ทราบว่าจะเป็นฮ่อพวกเดียวกับที่ทุ่งเชียงคำหรือไม่ ทรงพระราชดำริว่ากองทัพพระยาราชวรานุกูลคงทำการไม่สำเร็จ ด้วยเป็นแต่เกณฑ์พลเรือนไปรบตามแบบโบราณ ในเวลานั้นกรมทหารที่ได้ฝึกหัดจัดขึ้นตามแบบใหม่ก็มีหลายกรมควรจะใช้ให้ทหารไปปราบปรามฮ่อให้ชำนาญการศึกเสียบ้าง จึงจัดทหารบกในกรุงเทพฯ เข้าเป็นกองทัพ ๒ ทัพ ให้นายพันเอกกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรมทหารรักษาวัง เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองพวนทัพ ๑ ให้นายพันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ผู้บังคับการทหารหน้า เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหกทัพ ๑
ส่วนกองทัพฝ่ายเหนือ ซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพนั้นยกออกจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือเมื่อวันอังคารเดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ขึ้นไปถึงเมืองพิชัยเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิชัยนั้น ได้โปรดฯ ให้พระยาศรีสหเทพ (อ่วม) ขึ้นไปเป็นพนักงานจัดเสบียงพาหนะส่งกองทัพ ได้จัดการเดินทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบางเป็น ๓ ทาง คีอ
ทางที่ ๑ กองทัพใหญ่จะยกจากเมืองพิชัยทาง ๓ วันถึงเมืองฝาง ต่อนั้นไป ๔ วันถึงท่าแฝกเข้าเขตเมืองน่าน ต่อไปอีก ๖ วันถึงบ้านนาแล แต่บ้านนาแล ๖ วัน รวม ๑๓ วันถึงเมืองหลวงพระบาง
ทางที่ ๒ นั้น จะได้จัดแบ่งเครื่องยุทธภัณฑ์สำหรับกองทัพแต่งให้พระศรีพิชัยสงครามปลัดซ้ายกรมการเมืองพิชัย กับนายทหารกรุงเทพฯ ให้คุมไปทางเมืองน้ำปาด ตรงไปตำบลปากลายลงบรรทุกเรือขึ้นไปทางลำน้ำโขง ขึ้นบกที่เมืองหลวงพระบาง
ทางที่ ๓ เมื่อกองทัพใหญ่ยกไปถึงเมืองน่านแล้ว จะแต่งให้พระพลสงครามเมืองสวรรคโลก กับนายทหารปืนใหญ่คุมปืนใหญ่และกระสุนดินดำแยกทางไปลงท่านุ่นริมแม่น้ำโขง จัดลงบรรทุกเรือส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง
อนึ่ง เสบียงอาหารที่จะจ่ายให้ไพร่พลในกองทัพตั้งแต่เมืองพิชัย เป็นระยะตลอดไปกว่าจะถึงเมืองหลวงพระบางนั้น พระยาศรีสหเทพรับจัดส่งขึ้นไปรวบรวมไว้เป็นระยะทุก ๆ ตำบล ที่พักให้พอจ่ายกับจำนวนพลในกองทัพมิให้เป็นที่ขัดขวางได้
กองทัพตั้งพักรอพาหนะอยู่ ณ เมืองพิชัย ประมาณ ๒๐ วัน ก็ยังหามาพรักพร้อมกับจำนวนที่เกณฑ์ไม่ ได้ช้าง ๑๐๘ เชือก โคต่าง ๓๑๐ ตัว ม้า ๑๑ ตัวเท่านั้น แต่จะให้รอชักช้าไปก็จะเสียราชการ จึงได้จัดเสบียงแบ่งไปแต่พอควรส่วนหนึ่งก่อน อีกส่วนหนึ่งได้มอบให้กรมการเมืองพิชัยรักษาไว้ให้ส่งไปกับกองลำเลียง
ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๑๑ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพออกจากเมืองพิชัยให้นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) คุมทหารกรุงเทพฯ ๑๐๐ คนเป็นทัพหน้า ให้นายจ่ายวด (สุข ชูโต) เป็นผู้ตรวจตรา ให้พระอินทรแสนแสง ปลัดเมืองกำแพงเพชรคุมไพร่พลหัวเมือง ๑๐๐ คน เป็นผู้ช่วยกองหน้า สำหรับแผ้วถางหนทางที่รกเรี้ยวกีดขวางให้กองทัพเดินได้สะดวกด้วย ให้นายร้อยเอกหลวงอาจหาญณรงค์ กับนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ เป็นปีกซ้ายและขวา นายร้อยเอกหลวงวิชิต เป็นกองหลัง พระพลเมืองสวรรคโลกเป็นกองลำเลียงเสบียงอาหาร และกองอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ก็ให้ยกเป็นลำดับไปทุก ๆ กอง
ครั้น ณ วันพุธ เดือนยี่ แรมค่ำ ๑ ปีระกา ฯ กองทัพได้ยกไปถึงสบสมุนใกล้กับเมืองน่าน ระยะทางราว ๒๐๐ เส้นเศษ พักจัดกองทัพอยู่ใกล้เมือง เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านแต่งให้พระยาวังซ้าย และเจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพระยา คุมช้างพลายสูง ๕ ศอก ผูกเครื่องจำลองเขียนทอง ๓ เชือก กับดอกไม้ ธูปเทียนออกมารับ แม่ทัพจึงให้รอกองทัพพักอยู่นอกเมืองคืน ๑
ครั้นรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ เจ้านครน่านจึงแต่งให้ท้าวพระยาคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทอง ออกมารับ ๓ เชือก และจัดให้เจ้าวังซ้ายผู้หลานคุมกระบวนออกมารับกองทัพด้วย เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เดินช้างนำทัพเข้าในเมืองพร้อมด้วยกระบวนแห่ที่มารับ ตั้งแต่กองทัพฝ่ายเหนือออกจากเมืองพิชัยไปจนถึงเมืองน่าน รวมวันเดินกองทัพ ๑๗ วัน หยุดพักอยู่เมืองฝางและท่าแฝก ๔ วัน รวมเป็น ๒๑ วัน
เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เจ้านครน่านพร้อมด้วยอุปราชราชวงศ์เจ้านายบุตรหลานแต่งตัวเต็มยศตามแบบบ้านเมืองมายังทำเนียบที่พักกองทัพนั้น ฝ่ายกองทัพก็ได้จัดทหารกองเกียรติยศ ๑๒ คน มีแตรเดี่ยว ๒ คันคอยรับอยู่ที่ทำเนียบ เมื่อเจ้านครน่านมาถึงแล้วสนทนาปราศรัยไต่ถามด้วยข้อราชการ และอวยชัยให้พรในการที่จะปราบศัตรูให้สำเร็จ โดยพระบรมราชประสงค์ทุกประการและจัดพระพุทธรูปศิลาศรีพลีองค์ ๑ พระบรมธาตุองค์ ๑ ให้แม่ทัพ เพื่อเป็นพิชัยมงคลป้องกันอันตรายในการที่จะไปราชการทัพนั้น กับให้ของทักถามแก่กองทัพสำหรับบริโภคด้วยหลายสิ่ง ครั้นรุ่งขึ้นแม่ทัพนายทัพนายกองได้ไปเยี่ยมตอบเจ้านครน่าน กับเจ้าอุปราชราชวงศ์และเจ้านายเมืองน่าน
ต่อมาพระยาศรีสหเทพข้าหลวงเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ ซึ่งโปรดฯ พระราชทานแก่เจ้านครน่านขึ้นไปถึงแม่ทัพได้จัดพิธีรับพระราชทานตามธรรมเนียม
ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ เจ้านครน่านได้ส่งช้างมาเข้ากองทัพ ๑๐๐ เชือก แม่ทัพจึงให้เปลี่ยนช้างหัวเมืองชั้นในที่ได้บรรทุกกระสุนดินดำ เสบียงอาหารมาในกองทัพ ๕๘ เชือก มอบให้พระพิชัยชุมพลมหาดไทยเมืองพิชัย คุมกลับคืนไปยังเมืองพิชัย เพื่อจะได้บรรทุกเสบียงลำเลียงเข้าจากเมืองพิชัยขึ้นมาส่งยังฉางเมืองท่าแฝก ซึ่งพระยาสวรรคโลกได้มาตั้งฉางพักเสบียงไว้สำหรับเมืองน่านจะมารับลำเลียงส่งไปถึงท่าปากเงยและเมืองหลวงพระบางจะได้จัดเรือมารับแต่ปากเงย ส่งต่อไปถึงเมืองงอย
ถึงวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีระกา เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยฯ ก็ยกกองทัพออกจากเมืองน่าน เดินทางบกข้ามห้วยธารและเทือกเขาไป ๑๐ วัน ถึงเมืองชัยบุรีศรีน้ำฮุงเป็นเขตของเมืองหลวงพระบาง เจ้าราชภาคิไนย (บุญคง) เมืองหลวงพระบางมาคอยรับกองทัพ และจ่ายเสบียงสำหรับที่จะเดินทางต่อไป ตำบลนี้มีบ้านเรือนประมาณ ๓๐๐ หลังเศษ เป็นที่บริบูรณ์ด้วยการทำนา หาเสบียงอาหารได้ง่าย พักกองทัพอยู่ที่นี้คืน ๑ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งยกจากเมืองชัยบุรีศรีน้ำฮุงไปถึงบ้านท่าเดื่อริมแม่น้ำโขง เวลาบ่าย ๓ โมงตั้งพักนอนคืน ๑
รุ่งขึ้นวันจันทร์เดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ยกจากบ้านท่าเดื่อเลียบไปตามลำน้ำโขง เวลาบ่าย ๓ โมงถึงที่พักเมืองน่าน (น้อย) หยุดพักกองทัพ ๒ คืน ด้วยตามประเพณีของเมืองหลวงพระบางมีมาแต่โบราณ ถ้าเจ้านายเมืองหลวงพระบางจะลงไปกรุงเทพฯ หรือข้าหลวงขึ้นมาจะเข้าไปในเมืองหลวงพระบางแล้ว ต้องพักที่เมืองน่าน (น้อย) บวงสรวงเทพารักษ์ก่อนจึงยกเลยไป เมื่อกองทัพถึงเมืองน่าน (น้อย) คราวนี้ เจ้ามหินทรเทพนิภาธรเจ้านครหลวงพระบาง แต่งให้ท้าวพระยาลาวนำเครื่องสังเวยเทพารักษ์มาเชิญให้กองทัพบวงสรวง เพื่อจะได้คุ้มครองป้องกันภยันตรายตามประเพณีบ้านเมือง
แล้วกองทัพเดินเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วเดินตัดไปทางป่าห่างฝั่งแม่น้ำโขงบ้าง ๒ วัน ถึงท่าเลื่อนเมื่อวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ แต่ที่นี้แม่ทัพสั่งให้ผ่อนสิ่งของที่มีน้ำหนักมากลงบรรทุกเรือขึ้นไปยังเมืองหลวงพระบาง เพราะช้างที่บรรทุกของบอบช้ำอิดโรยมาก จึงผ่อนให้เดินไปแต่ลำลอง และทางเรือแต่ท่าเลื่อนจนถึงเมืองหลวงพระบางนั้น ไปได้สะดวกและถึงเร็วกว่าทางบกด้วย เมื่อจัดการเสร็จแล้ว รุ่งขึ้นวันอาทิตย์เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งยกจากท่าเลื่อน เดินเป็นทางเรียบและทุ่งนาตลอดไป จนเวลาเช้า ๒ โมงเศษ พบเจ้าราชวงศ์และเจ้าราชสัมพันธวงศ์ นำดอกไม้ธูปเทียนและปี่พาทย์ฆ้องกลองมาคอยรับ แจ้งความว่าเจ้านครหลวงพระบางแต่งให้มารับกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง กองทัพได้ยกไปพร้อมกับกระบวนที่มารับนั้นถึงทำเนียบที่พักบ้านเชียงแมน ตั้งอยู่ ณ ฟากแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกตรงหน้าเมืองหลวงพระบางข้าม ครั้นเวลาเที่ยงวันแล้วเจ้าอุปราชและเจ้านายบุตรหลานกับพระยาสุโขทัย (ครุฑ) ผู้แทนข้าหลวงกำกับเมืองหลวงพระบาง พร้อมกันจัดเรือมาคอยรับ แต่แม่ทัพขอให้รอคืน ๑ ต่อรุ่งขึ้นจึงจะยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง
รุ่งขึ้นวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้านครหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าอุปราชกับเจ้าราชวงศ์ พร้อมด้วยพระยาสุโขทัยข้าหลวง จัดเรือเก๋งลำ ๑ กับเรือที่จะบรรทุกไพร่พลทหารข้ามไปเมืองหลวงพระบางนั้น ๔๐ ลำ มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเป็นกระบวนแห่มารับ กองทัพข้ามแม่น้ำโขงไปถึงฟากตะวันออกแล้ว แม่ทัพให้ทหารกรุงเทพฯ และทหารหัวเมืองเดินเป็นกระบวนทัพเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ในระวางสองข้างทางที่เดินกองทัพไปนั้น มีราษฎรชายหญิงมาดูเนืองแน่นตลอดไป จนถึงหน้าทำเนียบที่พัก ซึ่งอยู่ใกล้กับลำน้ำคายฝ่ายทิศตะวันออกของเมืองหลวงพระบางนั้น เมื่อแม่ทัพนายกองไปถึงทำเนียบพร้อมกันแล้ว เจ้านครหลวงพระบางพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานมาเยี่ยมเยียนตามประเพณี แม่ทัพให้จัดทหารเป็นกองเกียรติยศรับ ๒๔ คน ทหารแตรเดี่ยว ๒ คน ครั้นรุ่งขึ้นแม่ทัพแลนายกองพร้อมกันไปเยี่ยมตอบเจ้านครหลวงพระบางและพวกเจ้านายในเมืองหลวงพระบางนั้นด้วย
เมื่อกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบางแล้ว แม่ทัพสอบสวนเรื่องราวข่าวทัพฮ่อ ได้ทราบข้อความตามที่เมืองหลวงพระบางบอกลงมายังกรุงเทพฯ โดยเพียงแต่รู้จากคำพวกราษฎรบอกเล่า เพราะหนทางจากเมืองหลวงพระบางไปยังเมืองหัวพันห้าทั้งหก ต้องเดินข้ามห้วยเขาป่าดงเป็นทางกันดาร การที่แต่งคนไปสืบข้อราชการ ถ้าแต่งคนไปมากก็ติดขัดด้วยเรื่องเสบียงอาหาร ถ้าแต่งไปน้อยพอหาเสบียงอาหารได้ ก็ไม่กล้าไปไกลด้วยเกรงอันตราย จึงได้แต่ไต่ถามพวกราษฎรในท้องที่ใกล้ ๆ มารายงาน จะเชื่อฟังเอาเป็นจริงทีเดียวไม่ได้ คงฟังได้เป็นหลักฐานแต่ว่ามีพวกฮ่อเข้าตั้งค่ายอยู่ในแดนเมืองหัวพันห้าทั้งหกหลายตำบล และหัวเมืองเหล่านั้น ท้าวขุนต่างเมืองต่างรักษาประโยชน์ของตนหาได้รวมกันไม่ แม่ทัพเห็นว่าซึ่งจะตั้งอำนวยการปราบฮ่ออยู่ที่เมืองหลวงพระบางนั้นห่างนัก ตรวจดูตามแผนที่อันพอจะรู้ได้ในเวลานั้นประกอบกับคำชี้แจงที่เมืองหลวงพระบาง เห็นว่ากองทัพจะต้องขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนในเขตเมืองหัวพันห้าทั้งหก จึงจะปราบปรามพวกฮ่อตลอดไปได้ทุกเมือง เมื่อตกลงเช่นนี้แล้วจึงจัดวางการที่จะส่งเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ และกำหนดที่จะยกกองทัพขึ้นไปให้ถึงเมืองซ่อนในเดือน ๔ ปีระกานั้น ให้ได้ทำการปราบฮ่อก่อนถึงฤดูฝน
ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีระกา เจ้าหมื่นไวยฯ ยกกองทัพจำนวนพล ๒,๕๐๐ คน ออกจากเมืองหลวงพระบางเดินทางบกไป ๑๐ วัน ข้ามลำน้ำอูไปถึงที่พัก ณ เมืองงอยเห็นทางเดินทัพกันดาร จึงปรึกษากับพระยาสุโขทัยและเจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบางเห็นพร้อมกันว่า จะรีบยกกองทัพขึ้นไปเมืองซ่อนทั้งหมด เสบียงอาหารคงส่งไม่ทัน จะตั้งอยู่เมืองงอยคอยให้เสบียงอาหารพรักพร้อมเสียก่อนก็จะชักช้าการไป แม่ทัพจึงแบ่งทหารหัวเมืองให้พระยาสุโขทัย กับนายพันตรี พระพหล (กิ่ม) คุมอยู่ที่เมืองงอยกอง ๑ เพื่อจะได้ลำเลียงเสบียงอาหารส่งไปโดยเร็ว เมื่อได้เสบียงพอแล้ว แม่ทัพจะมีหนังสือลงมายังเมืองงอยให้พระยาสุโขทัยและพระพหลตามขึ้นไป แต่งให้เจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบางคุมไพร่พลยกขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ตำบลสบซาง คอยรับเสบียงอาหารส่งไปถึงเมืองซ่อนอีกกอง ๑ ส่วนแม่ทัพกับนายจ่ายวดจะคุมกองทัพกรุงเทพฯ รีบยกขึ้นไปยังเมืองซ่อนทีเดียว
ถึงวันอังคารแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ กองทัพใหญ่ก็ได้ยกออกจากเมืองงอย เดินในทางทุรัศกันดารข้ามห้วยธารและเทือกเขาไปประมาณ ๑๕ วัน ถึงเมืองซ่อนเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ ให้ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองซ่อนนั้น
ทำเลเมืองซ่อนนั้นมีทางที่จะแยกไปยังเมืองอื่น ๔ ทาง ทางที่ ๑ จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปเมืองสบแอดระยะทาง ๘ วัน ทางที่ ๒ จากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปเมืองแวน และเมืองลำพูนระยะทาง ๑๐ วัน ทางที่ ๓ ไปทุ่งเชียงคำระยะทาง ๑๐ วัน ทางที่ ๔ คือทางมาเมืองงอยที่กองทัพยกขึ้นไป แม่ทัพจึงให้ตั้งค่ายรักษาด่านให้มั่นคง เมื่อกองทัพไปถึงเมืองซ่อนสืบได้ความว่ามีฮ่อตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบ้านได แขวงเมืองสบแอดหลายค่าย และยังมีครอบครัวของพวกฮ่อนั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ในค่ายบ้านได ทั้งในค่ายบ้านนาปา แขวงเมืองสบแอด ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่น ระยะทางแต่สบแอดถึงค่ายฮ่อที่เมืองพูนอีกแห่งหนึ่งประมาณ ๔๐ เส้น มีฮ่อและผู้ไทยทู้อยู่ในค่ายทั้ง ๓ นั้นประมาณ ๘๐๐ เศษ เมื่อได้ความมั่นคงดังกล่าวแล้ว แม่ทัพจึงแต่งให้นายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศ (อยู่) กับเจ้าราชภาคิไนย คุมทหารกรุงเทพฯ กับทหารหัวเมืองนายไพร่ ๓๐๐ คน ยกไปทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมายไปตีค่ายบ้านไดและบ้านนาปา แขวงเมืองสบแอดกอง ๑ ให้นายร้อยเอก หลวงจำนง (อิ่ม) กับเจ้าราชวงศ์คุมทหารกรุงเทพฯ กับทหารหัวเมืองรวม ๔๐๐ คน ยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ หมายไปตีค่ายฮ่อที่ตั้งอยู่ ณ เมืองพูนอีกกอง ๑ ให้ฮ่อพะว้าพะวังต้องต่อสู้เป็น ๒ ทาง อย่าให้รวมกำลังกันได้
ในระวางทัพตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนนั้น ได้มีพวกพลเมืองทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในเมืองพูน ๑ เมืองโสย ๑ เมืองสบแอด ๑ พากันอพยพหลบหนีพวกฮ่อเข้ามาหากองทัพ รวม ๓ เมืองเป็นครอบครัว ๙๕ ครัว จำนวนคน ๑,๑๐๑ คน แม่ทัพต้องรับไว้ที่เมืองซ่อนทั้งหมด เสบียงอาหารที่จะแจกจ่ายเจือจานก็อัตคัด และเวลาก็จวนฤดูฝน พวกครัวซึ่งมารวบรวมกันอยู่ยังหามีถิ่นที่ไร่นาจะทำกินพอเลี้ยงชีวิตต่อไปไม่ แม่ทัพจึงให้เจ้าราชวงศ์ขอยืมที่นาของราษฎรในเมืองซ่อนที่ยังรกร้างมีอยู่บ้าง กับพื้นที่ว่างเปล่าอันมีอยู่ แบ่งปันให้แก่พวกครัวพอจะได้ทำมาหากิน โคซึ่งมีไปสำหรับเป็นเสบียงอาหารในกองทัพอันมิใช่โคพาหนะ แม่ทัพก็ให้ยืมพอที่พวกครัวจะได้ใช้ในการทำนานั้น และได้แจ้งความลงไปยังเจ้านครหลวงพระบาง ขอให้จัดหากระบือพร้อมทั้งเครื่องมือสำหรับการเพาะปลูกส่งขึ้นไปให้ จะได้เป็นกำลังตามสมควร แต่พวกครัวทั้ง ๓ เมืองที่เป็นชายฉกรรจ์นั้น แม่ทัพเกณฑ์ให้ขนลำเลียงเสบียงอาหารแต่เมืองซ่อนขึ้นไปส่งกองทัพที่ได้ยกขึ้นไปตีค่ายพวกฮ่อนั้น
ฝ่ายกองหลวงดัษกรปลาศและเจ้าราชภาคิไนย ซึ่งยกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงไปตีค่ายฮ่อบ้านได บ้านนาปา แขวงเมืองสบแอดนั้น ยกเข้าตีค่ายฮ่อเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจอ ฮ่อยกออกต่อสู้นอกค่ายเอาปืนใหญ่กระสุนเท่าผลส้มเกลี้ยงลากออกมาตั้งยิงที่หน้าค่าย พอยิงปืนปืนนั้นแตก ฮ่อหนีกลับเข้าค่าย กองทหารไทยได้ทีก็รุกไล่เข้าไปในค่าย นายร้อยโทดวงคุมทหารหมวดหนึ่งเข้าพังประตูค่ายด้านใต้ นายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนย นายร้อยโทเจ๊ก นายร้อยโทเอื้อน คุมทหารหมวดหนึ่งเข้าพังประตูทางทิศตะวันตก พระพิพิธณรงค์ กรมการเมืองลับแล กับพระเจริญจตุรงค์ กรมการเมืองพิชัย คุมทหารหัวเมืองเป็นกองหนุน ทหารหมวดนายร้อยโทดวงพังประตูด้านใต้ตีหักเช้าไปได้ก่อนด้านอื่น ฮ่อแตกกระจัดกระจายพ่ายหนีออกหลังค่ายทิศตะวันออก ทหารก็หักเข้าไปได้ทั้ง ๒ ทาง ฮ่อก็มิได้ต่อสู้รีบทิ้งค่ายหนีไป กระสุนปืนถูกฮ่อตายในที่รบ ๒๓ คน และลูกอาวุธป่วยเจ็บเป็นอันมาก
ในเวลาที่สู้รบกันอยู่นั้น กระสุนปืนถูกฮ่อกอยี่ซึ่งเป็นนายรักษาด่านบ้านไดที่ขาซ้ายป่วยลำบากอยู่ จ่านายสิบธูปคุมทหาร ๔ คนตรงไปจับคุมตัว กอยี่ชักปืนสั้นออกยิงตัวเองขาดใจตาย ทหารจับได้ครอบครัวฮ่อ คือ ภรรยากวานหลวงฮ่อกับบุตรคน ๑ ภรรยากวานยี่ฮ่อคน ๑ กับครอบครัวพวกฮ่อ รวม ๓๒ คน เก็บได้เครื่องศัสตราวุธและเสบียงอาหารเป็นอันมาก กองทหารก็เข้าตั้งมั่นอยู่ในค่ายบ้านไดแต่ในขณะนั้น
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พวกชาวเมืองสบแอด ที่เข้ายอมทู้ฮ่อประมาณ ๔๐๐ เศษ นำครอบครัวมาหากองทัพทั้งสิ้น แจ้งความว่าเกรงกลัวฮ่อจึงได้ยอมเข้าทู้ หาได้คิดจะเป็นกำลังช่วยฮ่อต่อสู้กองทัพไม่ กับแจ้งให้ทราบว่าที่ค่ายบ้านนาปานั้นมีฮ่อแท้ ๕๐ คน นอกนั้นเป็นแต่พวกผู้ไทยทู้ เมื่อกลางคืนเวลา ๒ ยาม ได้ข่าวว่ากองทหารตีค่ายบ้านไดแตกแล้ว คนที่เข้าทู้ก็เอาใจออกหากพากันหลบหนีไปสิ้น ฮ่อเห็นว่าจะต่อสู้มิได้ ทิ้งค่ายบ้านนาปาหนีเข้าป่าดงไปแล้ว แต่เสบียงอาหารยังมีอยู่เต็มฉาง หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยจึงคุมทหารไปยังค่ายบ้านนาปา เกณฑ์คนพลเมืองให้ขนข้าวในฉางนั้นมารวมไว้ในฉางค่ายบ้านไดทั้งสิ้น รวมเข้าที่ได้ทั้งสองค่ายทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร ๕,๘๒๐ ถัง
เมื่อทหารตีค่ายฮ่อที่เมืองสบแอดได้หมดแล้ว แม่ทัพจึงมีคำสั่งให้ประกาศแก่บรรดาพลเมืองทุก ๆ ตำบลให้ทราบว่า “ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ยกกองทัพใหญ่ขึ้นมาปราบปรามฮ่อที่เที่ยวย่ำยีตีปล้นเขตแขวงหัวพันห้าทั้งหกในพระราชอาณาจักรให้ประชาราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั่วไป ครั้นกองทัพยกขึ้นมาปราบปราม ฮ่อต่อต้านทานกำลังมิได้ก็แตกฉานเข้าป่าดงไป เวลานี้ฮ่อก็ยังคุมขึ้นเป็นหมู่เป็นกองหาได้ไม่ ขอให้พลเมืองมีความเจ็บร้อนช่วยกันสืบเสาะจับตัวพวกฮ่อมาส่งให้สิ้นเชิง จะได้มีความสุขทั่วกันต่อไปภายหน้า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจับตัวฮ่อมาส่งได้คน ๑ จะให้รางวัล ๒๐ รูเปีย ส่วนคนที่เข้าทู้ฮ่อโดยความยินดีที่จะกระทำการโจรกรรมกับพวกฮ่อ แล้วยอมเข้ารับทำการงานเป็นกำลังนั้นยังเป็นผู้มีความผิดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ตัวให้พ้นผิดก็จงจับฮ่อมาส่ง ถ้าได้แต่คน ๑ ขึ้นไปก็จะยกโทษให้ทั้งครอบครัว ถ้าผู้ใดสืบได้ความว่าฮ่อไปแอบแฝงอยู่แห่งใด เมื่อยังเกรงกลัวอยู่ก็ให้มาแจ้งยังกองทัพ จะได้ให้ทหารไปจับตัวมาจงได้ ถ้าผู้ใดจงใจให้ฮ่อสำนักอาศัย หรือให้กำลังเสบียงอาหารอุดหนุนฮ่อแต่อย่างหนึ่งอย่างใด จะเอาโทษผู้นั้นเสมอกับโทษฮ่อ ให้พลเมืองทั่วไปมีความเจ็บร้อน ช่วยกันสืบเสาะเอาตัวฮ่อมาส่งให้สิ้นเชิงจงได้”
ฝ่ายกองทัพนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ กับเจ้าราชวงศ์ ซึ่งแต่งให้ยกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้น ได้ยกออกจากเมืองแวนแต่เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอฯ เดินทางต่อไปอีก ๒ วันถึงเมืองจาดซึ่งขึ้นเมืองโสย พบฮ่อกับพวกม้อยที่เข้าต่อสู้ตั้งอยู่ที่นั้น มีคนประมาณ ๔๐ เศษ นายร้อยตรีเพ็ชร์กับท้าวอ่อนกรมการเมืองไซซึ่งเป็นกองหน้า เข้าระดมตีฮ่อและพวกม้อยแตกหนีทิ้งค่ายไป ทหารเข้าในค่ายได้ข้าวเปลือกในฉางประมาณ ๔๐๐ ถังเศษ กองหน้าตั้งพักอยู่ที่เมืองจาดนั้นคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นกองนายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจกับเจ้าราชวงศ์ไปถึงพร้อมกันแล้วก็ยกตามพวกฮ่อต่อไป ฝ่ายฮ่อที่แตกไปนั้นไปตั้งอยู่บ้านหอ แขวงเมืองโสย เมื่อกองทหารไปถึงที่นั้น ฮ่อได้กำลังมากขึ้นก็ออกต่อรบยิงปืนโต้ตอบกันอีกพัก ๑ ฮ่อถูกกระสุนปืนตายในที่รบ ๔ คน ที่เหลืออยู่ก็แตกหนีไปเมืองโสย กองทัพจะยกไล่ติดตามไปก็เห็นว่าเป็นเวลาพลบค่ำ จึงถอยกลับมาตั้งอยู่ที่ค่ายเมืองจาด แล้วมีรายงานแจ้งข้อราชการมายังกองทัพใหญ่ ณ เมืองซ่อน แม่ทัพดำริเห็นว่า ทางที่จะเดินต่อไปยังเมืองโสยนั้นเป็นทางกันดาร ในเวลานั้นก็เข้าฤดูฝนตกชุกอยู่แล้วจะให้กองทหารยกเร่งติดตามฮ่อต่อไป ฮ่อก็จะถอยร่นต่อไปอีกจนถึงเมืองพูนซึ่งเป็นที่มั่นของมัน ฝ่ายเราจะลำเลียงเสบียงอาหารส่งจะเป็นการยากขึ้นทุกที ด้วยเป็นฤดูฝนผู้คนก็จะเจ็บป่วย เป็นการขัดขวางอยู่ดังนี้ แม่ทัพจึงประชุมนายทัพนายกองพร้อมด้วยพระยาสุโขทัยเห็นพร้อมกันว่า เวลานี้ก็ถึงฤดูฝนตกชุกแล้ว ควรจะต้องงดรอการรบพุ่ง ตั้งมั่นพักบำรุงกำลังไพร่พลไว้ก่อน ต่อถึงเดือน ๑๑ ปีจอ สิ้นฤดูฝนแล้วจึงจะปราบปรามฮ่อต่อไป ปรึกษาตกลงกันดังนี้แล้ว แม่ทัพจึงมีคำสั่งให้กองเจ้าราชวงศ์ถอยมาตั้งมั่นบำรุงไพร่พลอยู่ที่เมืองแวน
ฝ่ายกองนายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศ กับเจ้าราชภาคิไนยซึ่งยกขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายบ้านไดนั้น แจ้งข้อราชการมายังแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองซ่อนว่า เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอฯ ท้าวฉิม นายบ้านห้วยสารนายม ลงมาแจ้งความแก่นายร้อยโทดวง ซึ่งคุมกองทหารขึ้นไปรักษาหมู่บ้านราษฎรเมืองสบแอด ฮ่อประมาณ ๗๐ คนไปตั้งรวบรวมกัน อยู่ที่บ้านห้วยสารนายม แขวงเมืองสบแอด กับสืบได้ความว่ารุ่งขึ้นฮ่อจะไปตั้งอยู่ยังเมืองฮุง แขวงสิบสองจุไทย ระยะทาง ๑๐ ชั่วโมงเศษ ทางที่มันจะเดินนั้นตัดลงทางห้วยแหลก ครั้นนายร้อยโทดวงได้ทราบความแล้วจึงพร้อมด้วยนายร้อยตรีพลอย ๑ พระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย ๑ ทหาร ๒๔ คน รีบยกขึ้นไปคอยสกัดทางที่ห้วยแหลกระยะทางแต่เมืองสบแอดถึงห้วยแหลก ๓ ชั่วโมง ครั้นถึงกลางห้วยแหลกก็พอประจวบกับฮ่อเดินสวนทางมาในลำห้วย กองทหารยิงพวกฮ่อ ๆ ก็แตกถอยกลับไป ทหารก็ไล่ยิงติดตามต่อไป พวกฮ่อขึ้นจากห้วยได้ก็หันกลับมา ต่อสู้ยิงปืนโต้ตอบกันไปมา ฮ่อถูกกระสุนปืนตาย ๘ คน ที่ป่วยเจ็บไปหลายคน ฮ่อก็แตกกระจัดกระจายทิ้งเสบียงอาหารหนีเข้าป่าดงไป ในเวลาเมื่อทหารไล่ฮ่อไปนั้น พลทหารอ่อนลูกกระสุนปืนฮ่อที่ไหล่ซ้าย แต่หาเป็นอันตรายไม่ ครั้นจะไล่ติดตามต่อไปก็เป็นเวลาพลบค่ำ จึงถอยกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองสบแอด
ฝ่ายกองทัพเจ้าราชวงศ์ กับนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ เมื่อได้รับคำสั่งแม่ทัพให้ถอยจากเมืองจาดมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองแวนนั้น คาดว่ากองทหารถอยมาจากเมืองจาดแล้วพวกฮ่อคงจะกลับมาตั้งอยู่อีก จึงคิดอุบายแกล้งทิ้งค่ายฮ่อไว้ไม่รื้อเสีย เอากระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุดินดำเป็นลูกแตกมีแก๊ปชนวนอยู่ในกระสุนฝังไว้ริมทางเข้าออก ผูกสายใยเหนี่ยวรั้งดักให้กระทบสายชนวนนั้น ทั้งห้อยและแขวนไว้บ้างก็มี แล้วแต่งคนด้อมมองคอยสืบราชการอยู่เสมอ เมื่อกองทหารถอยมาได้สัก ๗ วัน ผู้ซึ่งคอยสืบราชการกลับมายังเมืองแวนรายงานว่า เมื่อกองทัพถอยมาแล้วมีฮ่อกับพวกผู้ไทยทู้ประมาณ ๕๐ คนพากันกลับเข้ามายังค่ายที่เมืองจาดนั้น ฮ่อและผู้ไทยถูกจั่นห้าวที่ดักไว้ก็ลั่นแตกออกถูกฮ่อตาย ๓ คน ผู้ไทย ๒ คน ที่ป่วยไปหลายคน ฮ่อมิอาจอยู่ในค่ายนั้นก็พากันกลับไปยังเมืองพูนทั้งสิ้น แล้วเก็บเอากระสุนแตกซึ่งแขวนไว้ที่ตอไม้ไปด้วยกระสุน ๑ ครั้นรุ่งขึ้นท้าวทิพย์กรมการเมืองแวนซึ่งขึ้นไปสืบราชการยังเมืองโสย เมืองพูน รวมนายไพร่ ๓ คน กลับมาแจ้งข้อราชการยังค่ายเมืองแวนว่า ฮ่อได้กระสุนปืนไปจากค่ายเมืองจาดกระสุน ๑ เอาเข้าไปในค่ายของมันที่เมืองพูน มันเรียกกันว่า “ลูกหมากไม้” ฮ่อเอาขวานทุบต่อยกระสุนปืนนั้นก็ยังหาแตกไม่ มันจึงเอาเชือกร้อยห่วงแก๊ปแล้วดึงดู ก็ระเบิดขึ้นถูกพวกฮ่อตาย ๒ คน ป่วยเจ็บหลายคน บัดนี้มีความครั่นคร้ามกองทัพและกระสุนแตกนั้นเป็นอันมาก เพราะไม่ทราบว่าจะฝังไว้ที่ใดบ้าง แต่แยกย้ายพากันอพยพไปเป็นพวกเป็นหมู่ ๆ ๓๐-๔๐ คน หาได้รวบรวมกันไม่ สืบได้ความว่าจะพากันไปอยู่ตำบลท่าขวาแขวงสิบสองจุไทยริมฝั่งน้ำแท้ ยังมีฮ่อคงอยู่ที่ค่ายเมืองพูนอีกประมาณ ๓๐ คน ที่เมืองโสยมีพวกผู้ไทยทู้รักษาอยู่ประมาณ ๓๐ คน รวมฮ่อและผู้ไทยทู้ ๒ ค่ายมีประมาณ ๖๐ คน แต่ยังเที่ยวย่ำยีตีปล้นราษฎรพลเมืองอยู่เนือง ๆ
เจ้าราชวงศ์กับนายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ บอกข้อราชการให้แม่ทัพใหญ่ทราบความ ณ เมืองซ่อน แม่ทัพเห็นว่าพวกฮ่อย่อย่นระส่ำระสายอยู่แล้ว จำจะต้องรีบปราบปรามเสียทีเดียว จึงมีคำสั่งให้นายร้อยเอกหลวงจำนงฯ แต่งนายทหารที่สามารถคุมพลทหารพอสมควร เร่งยกขึ้นไปปราบปรามฮ่อที่เมืองโสยเมืองพูนเสียอย่าให้ตั้งมั่นอยู่ได้ เจ้าราชวงศ์ได้แต่งให้นายร้อยโทแขก ๑ ท้าวอ่อนกรมการเมืองไซ ๑ คุมพลทหารกรุงเทพฯ และหัวเมืองรวม ๑๓๐ คน ยกขึ้นไปเมืองโสยเมืองพูนตามคำสั่งของแม่ทัพ นายร้อยโทแขกกับท้าวอ่อนกรมการเมืองไซ คุมทหารขึ้นไปถึงเมืองโสยเข้าตีค่ายฮ่อ ณ เมืองโสย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ คำ ปีจอฯ พวกฮ่อและผู้ไทยทู้ซึ่งรักษาค่ายอยู่ประมาณ ๑๕๐ คน ออกต่อสู้เป็นสามารถ ทหารยิงถูกฮ่อตาย ๑๕ คน เจ็บป่วยไปหลายคน ฮ่อก็ทิ้งค่ายหนีไปรวบรวมอยู่ที่ค่ายเมืองพูน ระยะทางห่างจากค่ายเมืองโสย ๒ วัน ทหารเข้าในค่ายจับฮ่อชายฉกรรจ์ได้ ๒ คน หญิงภรรยาฮ่อคน ๑ บุตรฮ่อคน ๑ รวม ๔ คน และได้ข้าวเปลือกฉาง ๑ มีประมาณ ๓๐๐ ถัง แต่ครอบครัวฮ่อและสิ่งของในค่ายหามีไม่ นายร้อยโทแขกกับท้าวอ่อนได้ รวบรวมไพร่พลเข้าตั้งอยู่ในค่ายเมืองโสยนั้น ๒ วัน
ครั้นวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ จึงยกติดตามฮ่อต่อไปยังค่ายเมืองพูน แต่เมื่อกองทหารยกไปยังไม่ทันจะเข้าตีค่าย พวกฮ่อก็เอาเพลิงจุดเผาฉางข้าวในค่าย แล้วพากันอพยพออกทางหลังค่ายหนีไปสิ้น กองทหารพร้อมกันเข้าดับเพลิง ได้ข้าวที่เหลือไฟไหม้ประมาณ ๒๐๐ ถัง กองทหารก็ยกเข้าตั้งมั่นรักษาค่ายเมืองพูน คอยฟังราชการต่อไป
ณ เดือน ๗ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ ถึงฤดูฝน กองทัพฝ่ายเหนือตั้งพักอยู่ในแดนหัวเมืองหัวพันห้าทั้งหก ๔ แห่ง คือเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนกอง ๑ นายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยตั้งอยู่ที่ค่ายบ้านได ซึ่งตีได้จากฮ่อในแขวงเมืองสบแอดกอง ๑ นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจกับเจ้าราชวงศ์ตั้งอยู่ที่ค่ายเมืองแวนกอง ๑ กองพยาบาลสำหรับทหารที่เจ็บป่วยทุพพลภาพ ซึ่งส่งมาจากกองทัพตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบางแห่ง ๑ มีพวกท้าวขุนและราษฎรพลเมืองหัวพันห้าทั้งหกที่ได้ยอมทู้ฮ่ออยู่แต่ก่อนแล้ว พากันกลับเข้ามาสารภาพรับผิดหลายราย ที่เป็นรายสำคัญนั้นคือองพ้องจะลอ เจ้าเมืองปุง และท้าวเพี้ยเมืองโสย เดิมได้พาสมัครพรรคพวกไปเข้ากับฮ่อ เมื่อฮ่อแตกหนีไป พวกไพร่พากันกลับมาหากองทัพโดยมาก ส่วนองพ้องจะลอเจ้าเมืองปุงและท้าวเพี้ยเมืองโสยยังหลบหลีกอยู่ด้วยเกรงความผิด ถึงตอนนี้ก็เข้ามาลุแก่โทษต่อเจ้าราชวงศ์โดยดีราย ๑ อีกราย ๑ ท้าวบา ท้าวเมือง ท้าวโดย เพี้ยบัวเงินกับพรรคพวกและครอบครัวรวม ๔๐๐ คนเศษ พากันเข้ามาอ่อนน้อมยอมรับผิดต่อนายร้อยโทแขก การที่เป็นจลาจลในหัวพันห้าทั้งหกก็ราบคาบลงโดยลำดับ
แม่ทัพปรึกษากับนายทัพนายกองเห็นพร้อมกันว่า เมืองหัวพันห้าทั้งหกติดต่อกับแดนสิบสองจุไทย พวกฮ่อที่แตกหนีไปจากเมืองหัวพันห้าทั้งหก คงไปตั้งประชุมกันอยู่ในแดนสิบสองจุไทย เมื่อกองทัพกลับลงมาแล้ว พวกฮ่อก็คงจะกลับเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองหัวพันห้าทั้งหกอย่างเดิมอีก เพราะฉะนั้นถ้าไม่คิดอ่านปราบปรามฮ่อที่ยังอยู่ในแดนสิบสองจุไทยให้ราบคาบ การที่กองทัพยกขึ้นไปก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงตกลงกันว่าพอถึงฤดูแล้งจะยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองแถงในแดนสิบสองจุไทย ด้วยกายตงเจ้าเมืองแถงเข้ามาสามิภักดิ์รับราชการอยู่ในกองทัพได้เป็นที่พระสวามิภักดิ์สยามเขตรับจะนำกองทัพไป
พระสวามิภักดิ์สยามเขตผู้นี้เดิมก็เป็นจีนกวางตุ้ง ชาวเมืองกวางไซเหมือนกัน มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองแถงช้านานจนพูดภาษาไทยได้ ได้ช่วยเจ้าเมืองไลรบฮ่อธงเหลือง และได้ช่วยญวนปราบฮ่อธงเหลืองมีความชอบ ญวนจึงตั้งให้เป็นที่กายตงเจ้าเมืองแถง ภายหลังมากายตงเกิดเป็นอริขึ้นกับเจ้าเมืองไลอันอยู่ใกล้และมีกำลังมากกว่าเมืองแถง เกรงเจ้าเมืองไลจะฆ่าเสีย จึงพาพรรคพวกอพยพเข้ามาอยู่ในแดนหัวพันห้าทั้งหก มาพบพระวิภาคภูวดลขึ้นไปทำแผนที่ กายตงเข้าอ่อนน้อมขอทำราชการขึ้นต่อกรุงสยาม และได้นำพระวิภาคภูวดลเที่ยวทำแผนที่มีความชอบ จึงได้รับประทวนตั้งให้เป็นที่พระสวามิภักดิ์สยามเขต ครั้นกองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถยกขึ้นไป พระสวามิภักดิ์จึงเข้ารับราชการอยู่ในกองทัพ ด้วยเป็นผู้ชำนาญรู้การในท้องที่ตลอดไปจนแดนสิบสองจุไทย แม่ทัพได้ทราบความจากพระสวามิภักดิ์ ว่ามีฮ่อพวก ๑ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ท่าขวา ริมลำน้ำแท้แขวงเมืองสิบสองจุไทย หัวหน้าฮ่อยกตัวขึ้นเป็นที่องบาพวกฮ่อธงดำ มีพรรคพวก ๑,๐๐๐ คนเศษ แต่ตั้งทำมาหากินอยู่เป็นปกติ ยังหาได้เข้ากับพวกฮ่อที่มาย่ำยีเมืองหัวพันห้าทั้งหกไม่ แม่ทัพจึงทำหนังสือให้พระสวามิภักดิ์ถือไปเกลี้ยกล่อมองบา ว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้กองทัพยกขึ้นไปปราบปรามพวกโจรฮ่อซึ่งเข้ามาย่ำยีไพร่บ้านพลเมืองในพระราชอาณาจักรให้ได้ความเดือดร้อน พวกฮ่อซึ่งซื่อตรงมิได้มาประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายในพระราชอาณาจักรนั้น กองทัพไม่มีประสงค์จะเบียดเบียนอย่างใด หัวเมืองในแดนสิบสองจุไทยก็อยู่ในพระราชอาณาจักร ถ้าองบาประสงค์จะตั้งอยู่ต่อไปเป็นปกติอย่างข้าขอบขัณฑสีมา ก็ให้แต่งคนต่างตัวมาพูดจากับกองทัพให้เข้าใจกันเสีย จะได้บอกเข้าไปกราบบังคมทูลฯ ก็คงจะทรงพระกรุณาโปรดฯ ชุบเลี้ยงให้มีความสุขสืบไป พระสวามิภักดิ์ได้ออกจากค่ายเมืองซ่อนไปเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ ปีจอฯ
ฝ่ายกองทัพตั้งแต่เดือน ๖ ปีจอ พอฝนตกชุกก็เกิดความไข้ในกองทหารที่ไปตั้งอยู่ทั้ง ๔ แห่ง อาการป่วยเป็นไข้ป่าทั้งนั้นจะรักษาให้หายเร็วได้แต่ด้วยยาควินินเท่านั้น เมื่อกองทัพยกไปจากเมืองพิชัยพาหนะไม่พอ ต้องแบ่งสิ่งของสำหรับกองทัพไว้ที่เมืองพิชัยให้ส่งตามขึ้นไป ยาสำหรับรักษาโรคที่เตรียมไปก็ต้องแบ่งเช่นเดียวกับของอื่น กองทัพได้ยาควินินติดขึ้นไปประมาณ ๓๕๐ ขวด ครั้นเกิดความไข้ขึ้นในกองทัพใช้ยาควินินเปลืองไปเกือบจะหมด เร่งเรียกยาที่แบ่งไว้ ณ เมืองพิชัยก็หาได้รับตอบและส่งยาควินินขึ้นมาถึงกองทัพไม่ ต้องบอกขอลงมาถึงกรุงเทพฯ ทางกองทัพพอยาควินินหมดความไข้ก็ยิ่งกำเริบ มีจำนวนคนป่วยในกองทัพที่ไปตั้งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ เกือบจะเท่าที่เป็นปกติ
ฝ่ายพวกฮ่อที่แตกหนีไปจากค่ายบ้านได และค่ายบ้านนาปาไปรวบรวมกันแล้วจ้างพวกฮ่อธงดำขององบา ได้กำลังเพิ่มเติมยกกลับลงมาตั้งค่ายที่เมืองฮุง ต่อกับแขวงเมืองสบแอดเมื่อเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ เมื่อได้ข่าวว่าทหารในกองทัพป่วยไข้ลงมากต่อมาอีก ๓ วัน ฮ่อก็ยกมาเมืองสบแอด ตีปล้นบ้านเรือนราษฎรในระยะทางเข้ามา พวกชาวเมืองสบแอดพากันหนีฮ่อเข้ามาอาศัยเจ้าราชภาคิไนยกับนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ ที่ตั้งค่ายอยู่บ้านไดประมาณ ๔๐๐ คน ฝ่ายพระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย ซึ่งคุมทหารหัวเมืองรักษาด่านอยู่ที่เมืองสบแอด ห่างกับค่ายบ้านไดระยะทางเดินประมาณ ๖ ชั่วโมง ทราบว่าพวกฮ่อยกมามีกำลังมากนักก็ถอยลงมา พวกฮ่อตามมาทันที่ห้วยก๊วง พระเจริญฯ ต่อสู้ยิงกันกับพวกฮ่ออยู่ ขณะนั้นนายร้อยโทเอื้อน ชูโต กับทหาร ๖ คน ซึ่งหลวงดัษกรปลาศให้ขึ้นไปตรวจการที่เมืองสบแอด เดินทางไปได้ยินเสียงปืนก็รีบขึ้นไปถึงที่ห้วยก๊วง เห็นพระเจริญฯ กำลังต่อสู้พวกฮ่อติดพันอยู่ นายร้อยโทเอื้อนกับทหารก็เข้าสมทบช่วยรบฮ่อ ต่อสู้กันอยู่ประมาณ ๔ ชั่วโมง พวกไทยยิงถูกตาเล่าแย้นายฮ่อตายคน ๑ พวกพลฮ่อตายประมาณ ๒๐ คน พวกฮ่อกองหนุนตามมาถึงก็ล้อมพวกไทยไว้ ฮ่อยิงพระเจริญกับพวกไทยตาย ๔ คน นายร้อยโทเอื้อนเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ต่อไป จึงนำพวกไทยที่เหลืออยู่ตีหักแนวล้อมของพวกฮ่อออกมาได้ นายร้อยโทเอื้อนได้ยิงหัวหน้าฮ่อตาย ๓ คน แล้วก็ถูกฮ่อเอาดาบฟันตายในที่รบ นอกนั้นรอดกลับมายังค่ายบ้านไดได้ พวกฮ่อก็เลยตามมาถึงค่ายบ้านได แต่ไม่กล้าเข้าตีค่ายคงเป็นเพราะเกรงจะถูกลูกระเบิด จึงเป็นแต่เที่ยวแอบซุ่มบนที่สูงเอาปืนยิงกราดเข้ามาในค่ายไทย ฝ่ายข้างไทยเป็นเวลากำลังทหารป่วยเจ็บอยู่โดยมาก ไม่มีกำลังพอจะยกออกจากค่ายไปรบรุกฮ่อได้ดังแต่ก่อน ก็ได้แต่ยิงปืนตอบฮ่ออยู่แต่ในค่าย รบกันอยู่จนเวลาเย็นพวกฮ่อก็ถอยกลับไปตั้งค่ายอยู่ในวัด ห่างจากค่ายไทยที่บ้านไดระยะทางประมาณ ๒ ชั่วโมง หลวงดัษกรปลาศจึงรีบบอกข่าวลงมายังแม่ทัพใหญ่ที่เมืองซ่อน ขณะนั้นพระสวามิภักดิ์ ซึ่งถือหนังสือของแม่ทัพไปเกลี้ยกล่อมองบา ไปถึงที่บ้านไดรู้ว่าฮ่อกลับมารบกับไทย พระสวามิภักดิ์จึงแต่งให้พรรคพวกถือหนังสือไปยังองบา ส่วนตัวเองอยู่กับหลวงดัษกรปลาศที่ค่ายบ้านได ครั้นถึงเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ พวกฮ่อได้กำลังเพิ่มเติมมาอีก จึงยกลงมาตั้งค่ายประชิดค่ายไทยห่างกันประมาณ ๓๐ วา แต่พวกฮ่อก็ยังหาอาจเข้าตีค่ายไม่ เป็นแต่จัดกำลังไปเที่ยวตั้งดักทางมิให้ไทยที่ในค่ายไปมาหาพวกข้างนอกได้ ประสงค์จะล้อมไว้ให้สิ้นเสบียงอาหารต้องแพ้ฮ่อด้วยอดอยาก ส่วนหลวงดัษกรปลาศเห็นว่ากำลังไม่พอจะตีฮ่อให้แตกไปได้ ก็ตั้งมั่นรอกำลังกองทัพใหญ่ที่จะยกขึ้นไปช่วยจากเมืองซ่อน ทั้งสองฝ่ายจึงเป็นแต่ยิงปืนโต้ตอบกันไปมา
เมื่อแม่ทัพได้ทราบว่า พวกฮ่อมีกำลังยกกลับมาล้อมค่ายหลวงดัษกรปลาศไว้ จึงรีบจัดให้นายร้อยเอกหลวงหัตถสารศุภกิจ (ภู่) กับนายร้อยโทแจ คุมทหาร ๒๐๐ คน มีทั้งทหารปืนใหญ่ยกขึ้นไปช่วยหลวงดัษกรปลาศที่บ้านได แต่เมื่อก่อนทหารกองนี้ยกขึ้นไปถึง มีพวกฮ่อธงขาวเข้ามาที่หน้าค่ายไทยเมื่อเดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ บอกว่าเป็นตำแหน่งกวานเล่าแย้นายฮ่อที่ท่าขวาองบาให้ถือหนังสือตอบมาถึงพระสวามิภักดิ์ จึงรับหนังสือนั้นมาแปลได้ความว่า องบามีความยินดีที่ได้ทราบความประสงค์ของแม่ทัพไทย ด้วยทุกวันนี้องบาก็ไม่มีที่แผ่นดินแห่งอื่นจะอาศัยอยู่ จะขอสามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ต่อไป แต่เมื่อก่อนจะได้หนังสือพระสวามิภักดิ์นั้นพวกฮ่อกวานกอยี่ (ที่ล้อมค่ายบ้านได) ได้ไปขอกำลังมาช่วย บัดนี้องบาได้สั่งพรรคพวกที่มาช่วยฮ่อกวานกอยี่นั้นมิให้รบพุ่งกับไทย จะเรียกกลับคืนไป ขอให้พระสวามิภักดิ์ช่วยนำความขึ้นเรียนต่อท่านแม่ทัพไทยด้วย
อนึ่ง ฮ่อกวานกอยี่ที่ยกทัพกลับลงมาครั้งนี้นั้น บอกว่าด้วยเป็นห่วงบุตรภรรยาที่ไทยจับไว้ ถ้าคืนบุตรภรรยาให้ได้อยู่กินด้วยกันต่อไป องบาจะยอมรับว่ากล่าวให้สามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วยอีกพวก ๑ แล้วแต่ท่านแม่ทัพจะให้ไปตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพ ณ ตำบลใด และจะใช้สอยอย่างไรก็คงจะกระทำตามเห็นจะไม่ประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายต่อไป ครั้นทราบความตามจดหมายนั้น หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยจึงให้พระสวามิภักดิ์จัดการพิธีอย่างจีน ให้กวานเล่าแย้กับพวกกระทำสัตย์สัญญาว่าจะเป็นข้าขอบขัณฑสีมา มิได้คิดเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอีกต่อไป แล้วให้รับตัวเข้าไปในค่ายไต่ถามเรื่องราวได้ความตลอดแล้ว จึงทำหนังสือสำคัญให้กวานเล่าแย้ถือไปยังองบาว่า จะบอกส่งหนังสือสามิภักดิ์ขององบาไปยังแม่ทัพใหญ่ คงจะรับความสามิภักดิ์ให้มีความสุขสืบไป เมื่อกวานเล่าแย้กลับไปจากค่ายแล้ว ต่อมาถึงเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ กวานก่อยี่นายทัพฮ่อที่มาตั้งประชิดค่ายไทยอยู่ที่บ้านได ร้องบอกออกมาจากที่ซุ่มอยู่ในป่าว่า “อย่าให้ไทยยิงปืนออกไป จะขอให้คนเข้าไปหานายทัพ เพื่อจะยอมเข้าทู้ด้วยกันทั้งสิ้น” นายทหารที่ในค่ายจึงให้ร้องตอบออกไปว่า “ให้มาเถิดจะไม่ทำอันตราย” กวานกอยี่จึงให้ฮ่อสองคนถือหนังสือเข้ามาส่ง แปลหนังสือนั้นได้ความว่า กวานกอยี่กับพรรคพวกจะยอมสามิภักดิ์ ขออย่าให้กองทัพทำอันตราย จะขอแต่เพียงให้ได้บุตรภรรยาคืนและจะยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขต จะโปรดให้ไปอยู่ที่ใดและจะให้รับราชการอย่างใด จะยอมประพฤติตามคำสั่งแม่ทัพต่อไป หลวงดัษกรปลาศ เจ้าราชภาคิไนยปรึกษากับพระสวามิภักดิ์แล้วส่งให้ไปบอกกวานกอยี่ว่า ซึ่งจะยอมสามิภักดิ์นั้นก็ดีแล้ว ถ้าสามิภักดิ์จริงก็จะยอมคืนบุตรภรรยาให้ แต่การที่พูดด้วยปากยังจะไว้ใจไม่ได้ ให้กวานกอยี่วางอาวุธเข้ามาอ่อนน้อมยอมกระทำสัตย์สัญญาให้ถูกต้องตามอย่างธรรมเนียมก่อน จึงจะเชื่อว่าสามิภักดิ์จริง
ในเวลานั้นเวลาบ่ายโมงเศษ กวานกอยี่กับนายฮ่อ ๔ คน ก็วางอาวุธออกมายังค่ายไทยแต่ตัว หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคิไนยให้กวานกอยี่กับพวกกระทำสัตย์สาบานแล้วปล่อยตัวและคืนบุตรภรรยาให้กลับไปยังค่าย แต่นั้นฮ่อกับไทยก็เลิกรบกัน กวานกอยี่ขออนุญาตไปอยู่ที่เมืองฮุง รอแม่ทัพใหญ่ที่จะยกขึ้นไปในฤดูแล้ง แม่ทัพได้ถามคำให้การกวานกอยี่หัวหน้าฮ่อใหญ่ที่ยอมสามิภักดิ์ได้ความว่า
กำเนิดฮ่อ
“พวกฮ่อที่มารบกับไทยนั้น ที่จริงเป็นจีนแท้ทีเดียว เดิมจีนพวกนั้นเป็นกบฏ เรียกพวกของตนว่า “ไต้เผง” หมายจะชิงเมืองจีนจากอำนาจพวกเม่งจู เกิดรบพุ่งกันในเมืองจีนเป็นการใหญ่ ในที่สุดพวกไต้เผงสู้ไม่ได้ ต้องหลบหนีแยกย้ายกันไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าและภูเขาในมณฑลต่าง ๆ ทั้งในมณฑลฮกเกี้ยน กวางไซ กวางตุ้ง และเสฉวน มีจีนไต้เผงพวก ๑ หัวหน้าชื่อง่ออาจง พากันอพยพหนีเข้ามาในแดนญวนทางเมืองตังเกี๋ย จีนพวกนี้ที่เป็นพวกฮ่อ ชั้นเดิมมาตั้งอยู่ที่เมืองฮานอย ญวนเกรงพวกฮ่อจะมาก่อการกำเริบขึ้น จึงบอกไปขอกำลังจีนที่เมืองฮุนหนำ จีนให้กองทัพมาสมทบกับกองทัพญวนยกไปตีพวกฮ่อ พวกฮ่อสู้ไม่ไหว ง่ออาจงตายในรบ พรรคพวกที่เหลือก็พากันแตกหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองซันเทียน อันเป็นเมืองของพวกแม้ว ตั้งเป็นอิสระอยู่บนภูเขาที่ชายแดนจีนต่อกับแดนสิบสองจุไทย พวกไพร่พลพร้อมกันยกน้องชายของง่ออาจง ชื่อปวงนันซีขึ้นเป็นหัวหน้า ตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ที่เมืองซันเทียนนั้น เป็นปวงนันซีได้กำลังมากขึ้น ก็ยกกองทัพฮ่อไปตีเมืองเลากายในแดนญวนเขตตังเกี๋ย พวกจีนกับญวนยกทัพมารบสู้พวกฮ่อไม่ได้ ปวงนันซีตีได้เมืองเลากายแล้วก็เกิดอริกับนายทัพคนสำคัญในพวกฮ่อคน ๑ ชื่อลิวตายัน พวกฮ่อเกิดรบกันขึ้นเอง ปวงนันซีสู้ไม่ได้ก็พาพรรคพวกรี้พลของตน แยกมาตั้งซ่องที่เมืองฮายางในแดนสิบสองจุไทย พวกฮ่อลิวตายันใช้ธงดำ พวกฮ่อของปวงนันซีใช้ธงเหลือง จึงได้นามว่าฮ่อธงดำพวก ๑ ฮ่อธงเหลืองพวก ๑ แต่นั้นมา อยู่มาญวนเกลี้ยกล่อมยอมให้พวกฮ่อธงดำปกครองเมืองเลากายขึ้นต่อญวน ฝ่ายพวกฮ่อธงเหลืองไม่มีบ้านเมืองอยู่เป็นหลักแหล่ง จึงประพฤติเป็นโจรคุมกำลังเที่ยวตีปล้นบ้านเมืองในแดนสิบสองจุไทยและเมืองพวน แห่งใดต่อสู้แพ้ฮ่อ ฮ่อก็จับตัวนายที่เป็นหัวหน้าฆ่าเสีย แล้วเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติและจับลูกหลานบ่าวไพร่เป็นเชลย ใครมีทรัพย์ยอมเสียค่าไถ่ตัวฮ่อก็ปล่อยตัวไป ที่ไม่สามารถจะไถ่ตัวได้ก็เอาไปแปลงเป็นฮ่อไว้ใช้สอยเป็นกำลัง ถ้าแห่งใดยอมทู้ไม่ต่อสู้ ก็เป็นแต่กะเกณฑ์ใช้เป็นกำลังพาหนะ พวกฮ่อธงเหลืองเที่ยวตีบ้านเมืองโดยอาการดังกล่าวมานี้ได้หัวเมืองในแดนสิบสองจุไทย และแดนเมืองญวนหลายเมือง ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ฮ่อยกลงมาตีเมืองพวน ท้าวขันตีเจ้าเมืองเชียงขวางอันเป็นเมืองหลวงในแดนพวน ให้ไปขอกำลังญวนมาช่วย ญวนให้คนเข้ามาก็พ่ายแพ้ฮ่อ ฮ่อได้เมืองเชียงขวางแล้ว ปราบปรามแดนพวนไว้ได้ในอำนาจทั้งหมด แล้วจึงมาตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ อันเป็นต้นทางที่จะลงมาทางหัวเมืองริมลำน้ำโขง และจะไปตีเมืองหลวงพระบางต่อไป” ดังนี้
อนึ่ง ตั้งแต่เกิดศึกฮ่อคราวนี้ พวกข่าแจะซึ่งพวกเมืองหลวงพระบางเคยใช้สอยในกิจการต่าง ๆ เป็นประเพณีบ้านเมืองมาช้านานนั้น พากันเป็น “เจือง” ขึ้นหลายตำบล ข่าแจะพวก ๑ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยตะบวน แขวงเมืองหัวเมือง หัวหน้าชื่อพระยาพระคน ๑ พระยาว่านคน ๑ ครั้นถึงเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ ปีจอฯ พระยาว่านคุมพรรคพวกประมาณ ๑๕ คนมาตั้งค่ายอยู่ที่ห้วยห้อมแขวงเมืองซ่อน ซึ่งกองทัพเจ้าหมื่นไวยฯ ตั้งอยู่ เที่ยวแย่งชิงเสบียงอาหารและทรัพย์สมบัติของราษฎร แม่ทัพทราบความแล้วจึงจัดให้เจ้าก่ำบุตรเจ้าอุปราชกับนายร้อยโทแจ คุมทหารกับกำลังหัวเมืองรวมกันเป็นจำนวนคนประมาณ ๑๐๐ เศษ มีปืนใหญ่ด้วยกระบอก ๑ ยกไปปราบพวกข่าแจะ เมื่อกองทหารยกขึ้นไปถึงห้วยห้อม พวกข่าแจะต่อสู้ ครั้นเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ กองทหารยิงปืนใหญ่ กระสุนแตกเข้าไปในค่ายพวกข่าแจะ ๓ กระสุน ระเบิดถูกพวกข่าตายหลายคน ที่เหลืออยู่พากันเที่ยวหนีซุกซ่อน กองทหารเข้าค่ายได้ไล่ฆ่าฟันพวกข่าแจะตายหลายคน จับได้ตัวพระยาว่านหัวหน้ากับนายรองชื่อคำเพ็ชร์คน ๑ เพี้ยชัยคน ๑ เพี้ยเมืองคน ๑ กับพรรคพวกอีก ๓๖ คน และเครื่องศัสตราวุธทั้งหมด กองทหารเผาค่ายเสียแล้วยกกลับไปยังเมืองซ่อน แต่นั้นพวกข่าที่ตั้งเป็นเจืองอยู่ ณ ที่อื่นก็พากันครั่นคร้าม ที่เข้ามาขอลุแก่โทษ คือ ท้าวยี่น้อย ท้าวยี่ใหญ่ เพี้ยเถ้า เพี้ยไซ พระยาน้อยคำฟั่น แสนเมืองเคียวกา แสนขันอาสา พระยาแก้ว พระยาลิ้นทอง พระยาราช แสนสุวรรณ ล้วนเป็นพวกข่าแจะที่ตั้งเป็นเจืองอยู่ ณ ตำบลแกวหมากเฟือง ผาลอย เพียงโค้ง ห้วยคี้ แขวงเมืองซำเหนือซำใต้ แล้วพาพรรคพวกเข้ามาลุแก่โทษด้วยทั้งสิ้น พระยาพระซึ่งเป็นหัวหน้าพวกข่าแจะ ณ ตำบลห้วยตะบวนก็เข้ามาลุแก่โทษอย่างเดียวกัน
ประวัติข่าแจะ
“ที่เรียกว่าข่าแจะนี้มีหลายพวก เช่นข่าขัด ๑ ข่าฮอก ๑ ข่าละเมด ๑ พูดภาษาต่างกัน มีภูมิลำเนาอยู่บนภูเขาในเขตเมืองหลวงพระบาง ชาวเมืองหลวงพระบางเรียกว่าข่าแจะ เป็นส่วยขึ้นแก่เจ้านายเมืองหลวงพระบางและท้าวเพี้ย ชาวเมืองหลวงพระบางได้อาศัยเสบียงอาหารของพวกข่าที่มาส่งส่วยทั้งนั้น อยู่มาเมื่อพระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธุ์) เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปปราบฮ่อทุ่งเชียงคำ ข่าพวกนั้นก็ก่อการกำเริบขึ้นต่อเจ้านายเมืองหลวงพระบาง คือมีข่าแจะฉลาดคน ๑ ทำพิธีที่โอ่งศิลาใหญ่อันมีมาแต่โบราณ โอ่งนั้นเจาะหินซึ่งติดอยู่บนภูเขาให้เป็นรูปโอ่งเรียงรายกันไปตามเชิงเขาเมืองพวง เรียกโอ่งนั้นว่า “เจือง” กล่าวกันว่าถ้าเอาน้ำใส่ลงไปในเจืองนี้แล้วกลายเป็นสุราได้ ทั้งลาวและข่าจึงนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ข่าแจะผู้นี้ไปได้พริกขี้หนูจืดไม่มีรสเผ็ดร้อนนำมาตำที่โอ่งเจืองแล้ว ประกาศแก่พวกข่าทั้งหลายว่า “บัดนี้ผีฟ้าได้บันดาลยกให้เขาขึ้นเป็นหัวหน้านำไปต่อสู้กับพวกลาวหลวงพระบาง ซึ่งเป็นนายใช้สอยพวกเรามาช้านานนั้นให้กลับเป็นไทยต่อไป” เมื่อประกาศตนแล้วก็เอาน้ำเทลงในพริกขี้หนูซึ่งตำไว้ที่โอ่งเจืองนั้น แล้วตักมาล้างหน้าตาชโลมทั่วตัว พวกข่าทั้งหลายเชื่อถือว่าผีฟ้ามาเข้าทรงจริงจึงพาก้นเข้าเป็นสมัครพรรคพวก ตั้งให้ผู้ฉลาดเป็นหัวหน้าเรียกชื่อว่าพระยาพระ พระยาว่าน พระยาโคตะมะ และพระยาราช กับชื่ออื่น ๆ อีก แยกย้ายก้นอยู่เป็นพวก ๆ ใช้นามว่า “เจือง” (เอามาจากโอ่งหินนั้นเอง) ต่างพวกต่างก็ยกเข้าตีปล้นบ้านเรือนพวกลาว ใช้ธนูหน้าไม้ ยางน่องอาบยาพิษเป็นอาวุธ ลาวไม่รู้จักวิธีแก้ไขล้มตายเสียเป็นอันมาก ระวางนั้นมีข่าคน ๑ เกิดความสงสารจึงเล็ดลอดมาบอกแม่ทัพลาวให้ทราบว่า การที่จะแก้พิษของยางน่องนี้ได้มีอย่างเดียวคือปูนาเท่านั้น ครั้นพวกข่ายิงยางน่องมาถูกอีก พวกลาวก็เอาปูนาตำพอกให้ดูดพิษก็รอดจากความตาย แต่นั้นมากองทัพพวกข่าแจะก็พ่ายแพ้พวกลาวหนีเข้าป่าดง ไปรับจ้างทำป่าไม้อยู่ตามมณฑลพายัพก็มี เรียกว่า “ขมุ”
ถึงเดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ องทั่งนายฮ่อธงเหลืองซึ่งหนีกองทัพไปตั้งอยู่ตำบลพ้องจะลงและเมืองลาดนั้น ก็เข้ามายอมสามิภักดิ์ถือน้ำกระทำสัตย์อีกพวก ๑ จึงเป็นอันเสร็จราชการปราบฮ่อและพวกข่าเจืองในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหกในฤดูฝนปีนี้ เมื่อถึงฤดูแล้งจึงจะยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปตรวจจัดราชการในแดนสิบสองจุไทยต่อไป
เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ ได้ยาควินินขึ้นไปจากกรุงเทพฯ แล้ว ทหารที่เจ็บป่วยก็ค่อยคลายหายขึ้นโดยลำดับ เจ้าหมื่นไวยฯ แม่ทัพจัดการทำนุบำรุงกำลังกองทัพจนเดือน ๑๐ ถึงงานเฉลิมพระชนมพรรษาฯ จึงเรียกแม่ทัพนายกองกับทั้งเจ้านายท้าวพระยาเมืองหลวงพระบาง ที่ขึ้นไปกับกองทัพมาประชุมกันที่เมืองซ่อน และเรียกบรรดาท้าวขุนอันเป็นหัวหน้าในเมืองหัวพันห้าทั้งหก ทั้งพวกหัวหน้าฮ่อที่ได้ยอมสามิภักดิ์มาประชุมด้วยพร้อมกันทำการพิธีสมโภช และถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันอังคารเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ ปีจอฯ แล้วถือน้ำกระทำสัตย์ถวายต่อไป เมื่อเสร็จงานแล้วก็ตระเตรียมการที่จะยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองแถงในแดนสิบสองจุไทย และมีใบบอกข้อราชการที่กองทัพได้จัดทำสำเร็จไปแล้ว ลงมายังกรุงเทพฯ ด้วย
ครั้นถึงวันพฤหัสบดีเดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ ปีจอฯ เจ้าหมื่นไวยฯ ยกกองทัพออกจากเมืองซ่อนเดินทางบกขึ้นไปยังเมืองแถง เมื่อกองทัพยกขึ้นไปถึงตำบลห้วยน้ำแปน ระวางทางได้รับรายงานของกองล่วงหน้าบอกมาแต่เมืองแถงว่า เจ้าเมืองไลให้บุตร ๓ คน ชื่อคำล่าคน ๑ คำสามคน ๑ บางเบียนคน ๑ คุมพวกฮ่อและผู้ไทยประมาณ ๑๕๐ คน มีเครื่องศัสตราวุธครบมือ เข้ามาตั้งค่ายที่ตำบลเชียงจันในแขวงเมืองแถง ห่างจากบ้านห้องขัวลายที่ตั้งทำเนียบรับกองทัพ ระยะทางเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง ได้ให้ไปถามพวกเมืองไลบอกว่าจะมารับท่านแม่ทัพ แต่ลักษณะที่พวกเมืองตั้งค่ายนั้น เห็นปลูกหอรบขุดคูทำเป็นค่ายมั่น และวางผู้คนประจำหน้าที่ เป็นกระบวนรบผิดสังเกตอยู่ เจ้าหมื่นไวยฯ จึงให้กองทัพหน้ารีบยกขึ้นไปก่อน ให้ไปบอกพวกเมืองไลว่าถ้ามารับแม่ทัพโดยดีก็ให้รื้อค่ายและเลิกกระบวนรบเสีย ถ้าว่าไม่ฟังให้กองทัพหน้าหน่วงเหนี่ยวตัวหัวหน้าพวกเมืองไลไว้ให้จงได้ กองทัพหน้ายกขึ้นไปถึงเมืองแถงไปว่ากล่าวพวกเมืองไลหายอมรื้อค่ายไม่ เจ้าหมื่นไวยฯ ยกขึ้นไปถึงเมืองแถงเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๖ ค่ำ สั่งให้จับตัวคำล่าคำสามและบางเบียนบุตรเจ้าเมืองไลไว้ทั้ง ๓ คน แล้วให้เก็บรวบรวมเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และอย่างอื่นได้อีกเป็นอันมาก ส่วนพวกรี้พลเมื่อเห็นตัวนายถูกจับแล้วก็พากันแตกหนีไปมิได้ต่อสู้ แต่พวกท้าวขุนและราษฎรชาวเมืองแถงนั้นสงบเงียบอยู่ ต่างพากันมาร้องทุกข์ต่อแม่ทัพว่า เดิมเมืองแถงก็มิได้ขึ้นต่อเมืองไล เจ้าเมืองไลถือว่ามีกำลังมากกว่า เอิบเอื้อมเข้ามาบังคับบัญชากดขี่เอาพวกชาวเมืองแถงไปใช้สอย และเที่ยวกะเกณฑ์ลงเอาเงินทองของต่าง ๆ ได้ความเดือดร้อนกันทั่วไป จนราษฎรพลเมืองไม่เป็นอันทำมาหากิน ที่ต้องหลบหนีไปอยู่ในป่าดงและไปอยู่เสียต่างเมืองก็มาก ขอให้กองทัพช่วยคุ้มครองป้องกันอย่าให้ได้รับความเดือดร้อนต่อไป แม่ทัพปรึกษานายทัพนายกองและเจ้านายเมืองหลวงพระบางเห็นว่า เมืองแถงเป็นเมืองหนึ่งต่างหากมาแต่เดิม พระสวามิภักดิ์ที่เป็นตัวเจ้าเมืองก็ยังอยู่ เจ้าเมืองไลมาบุกรุกเอาไปเป็นแดนของตน ครั้นกองทัพยกขึ้นไปก็ไม่มาอ่อนน้อมโดยดี กลับให้เข้ามาทั้งค่ายเป็นเชิงจะต่อสู้ และที่สุดพวกพลเมืองก็มิได้สมัครจะอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าเมืองไล จะยอมให้เจ้าเมืองไลมีอำนาจเหนือเมืองแถงนั้นไม่ได้ ครั้นจะยกกองทัพขึ้นไปว่ากล่าวถึงเมืองไล เมืองไลก็ตั้งอยู่เหนือลำน้ำแท้หรือลำน้ำดำนอกพระราชอาณาจักร ถ้ากองทัพกลับมาแล้วบางทีเจ้าเมืองไลจะเอิบเอื้อมเข้ามาอีก จะต้องเอาบุตรเจ้าเมืองไลทั้ง ๓ คนไว้เป็นตัวจำนำก่อน เมื่อเจ้าเมืองไลมาว่ากล่าวยอมตกลงโดยดีจึงค่อยปล่อยตัวบุตรไป แม่ทัพจึงจัดวางการปกครองเมืองแถง ตั้งให้พระสวามิภักดิ์เป็นเจ้าเมืองตามเดิม แล้วให้แต่งค่ายเก่าที่ตำบลเชียงแลใกล้กับลำน้ำยม อันเป็นเมืองเดิมเป็นที่มั่น และสั่งให้เมืองหลวงพระบางเกณฑ์คนสับเปลี่ยนกันไปเป็นกำลังรักษาค่ายนั้นกว่าบ้านเมืองจะเป็นปกติเรียบร้อย
เมื่อกองทัพตั้งอยู่ที่เมืองแถงนั้น มีฮ่ออีกพวก ๑ หัวหน้าเป็นจีนชาวเมืองกังไซ ชื่อ เล่าเต๊กเซง เดิมมีพรรคพวกประมาณ ๖๐๐ คน เที่ยวรับจ้างรบพุ่งอยู่ในแขวงสิบสองจุไทย ภายหลังมากำลังน้อยลง ฮ่อพวกนี้จึงไปตั้งอยู่ที่เมืองม่วยบ้าง เมืองลาบ้าง ระยะทางห่างจากเมืองแถง ๑๒ วัน ฮ่อพวกนั้นเกรงกองทัพจะยกไปปราบปราม ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ เล่าเต๊กเซงตัวนายจึงพาพรรคพวกมาหาแม่ทัพที่เมืองแถง ขอสามิภักดิ์ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาต่อกรุงเทพฯ แม่ทัพก็ให้กระทำสัตย์สาบานแล้วยอมรับสามิภักดิ์เหมือนกับฮ่อพวกอื่น เมื่อกองทัพตั้งจัดการด่านทางและวางการปกครองหัวเมืองอยู่ที่เมืองแถง ได้รับท้องตราพระราชสีห์ให้หากองทัพกลับกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๓ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ เจ้าหมื่นไวยฯ แม่ทัพจึงสั่งให้ทำลายค่ายฮ่อที่บ้านไดและที่อื่น ๆ ซึ่งตีไว้ได้ แล้วให้นายพันตรีจ่ายวดกับเจ้าราชวงศ์ล่วงหน้าลงมายังเมืองหลวงพระบาง บอกให้เจ้านครหลวงพระบางจัดท้าวพระยาที่มีสติปัญญา ออกไปประจำรักษาการตามเมืองหัวพันห้าทั้งหก เจ้าหมื่นไวยฯ ยกกองทัพออกจากเมืองแถง เมื่อวันอังคารเดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ พาหัวหน้าพวกท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหก และหัวหน้าพวกฮ่อที่สามิภักดิ์ กลับลงมาเมืองหลวงพระบาง มาพักฉลองพระเจดีย์ที่กองทัพได้สร้างไว้ที่เมืองงอย ๒ วัน แล้วเดินทางต่อมาถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรมค่ำ ๑ จัดผ่อนสิ่งของในกองทัพส่งลงมา และรอเจ้านายเมืองหลวงพระบาง มีเจ้าราชวงศ์กับเจ้าราชภาคิไนย เป็นต้น ซึ่งจะคุมต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย อนึ่ง แม่ทัพดำริว่า ถ้าให้พวกท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองจุไทย ทั้งหัวหน้าพวกฮ่อได้มาเห็นราชธานีเสียสักครั้ง ๑ การปกครองต่อไปภายหน้าจะสะดวกขึ้น จึงได้คัดเลือกพวกท้าวขุนได้ ๑๕๐ คน กับพวกฮ่อทั้งนายไพร่ ๙๐ คน ลงมากรุงเทพฯ ด้วย
ถึงเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เจ้าหมื่นไวยฯ ยกกองทัพออกจากเมืองหลวงพระบางโดยทางเรือ ล่องแม่น้ำโขงลงมาถึงบ้านปากลายเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ แล้วเดินทางบกต่อมาถึงเมืองพิชัยเมื่อเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ลงเรือล่องจากเมืองพิชัยมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ขึ้นเป็นนายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการกรมยุทธภัณฑ์ในกรมยุทธนาธิการ และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์กับตราสำหรับตระกูลทุติยจุลจอมเกล้าด้วย ส่วนนายทัพนายกองซี่งมีความชอบในราชการปราบฮ่อครั้งนั้น ก็ได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลตามคุณานุรูปทั่วกัน สิ้นเนื้อความเรื่องปราบฮ่อ ครั้งที่ ๓ เพียงเท่านี้