คำนำ

บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมด้านวรรณกรรมไว้เป็นจำนวนมาก วรรณกรรมแต่ละเรื่องย่อมสะท้อนถึงวิถีชีวิตและสังคมในยุคสมัยนั้น แม้ว่าจุดประสงค์สำคัญของวรรณกรรมอยู่ที่คุณค่าเชิงวรรณศิลป์ แต่ก็มีบางเรื่องที่มีลักษณะเป็นจดหมายเหตุ บั้นทึกความเป็นไปและเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ ดังนั้นวรรณกรรมที่มีลักษณะเช่นนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวในอดีต

นิราศเมืองหลวงพระบางนี้ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) แต่งขึ้นในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกทัพไทยไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๐๔ พุทธศักราช ๒๔๒๘ และนายร้อยเอกเพิ่ม ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทวยหาญรักษา ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการทัพ ได้ไปราชการศึกในคราวนั้นด้วย

นิราศเมืองหลวงพระบาง แต่งเป็นคำกลอน เนื้อหากล่าวถึงการเดินทัพและพรรณนาเหตุการณ์เกี่ยวกับปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง จนกระทั่งกลับกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นับเป็นกวีนิพนธ์เชิงจดหมายเหตุที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

หนังสือเรื่องนี้ พิมพ์ครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) มีข้อความบอกไว้หน้าแรกว่า “นิราศเมืองหลวงพระบาง นายร้อยเอก นายเพิ่ม กรมทหารบก เป็นผู้แต่ง ได้จ้างลงพิมพ์ที่บางกอกประสิทธิการ กอมปนิ ลิมิเตด ออฟพิซ แพปากคลองวัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพฯ ๑๑๐”

ต่อมาจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พิมพ์แจกในงานฉลองอายุครบ ๗๕ ปี เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ ครั้งที่สาม สำนักพิมพ์คลังวิทยา พิมพ์จำหน่ายเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ การพิมพ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ และได้แก้ไขตัวสะกดการันต์ให้ใกล้เคียงกับที่นิยมใช้ในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้นำคำนำในการพิมพ์ครั้งที่สองและ “ประวัติสังเขปของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เพียงปราบฮ่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ เก็บความตามประวัติปริยาย ซึ่งท่านผู้ถึงอสัญกรรมเรียบเรียงไว้” มาพิมพ์รวมไว้ด้วย

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือนิราศเมืองหลวงพระบาง นี้ จะอำนวยประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้สนใจวรรณกรรมไทยและประวัติศาสตร์โดยทั่วกัน

นายอารักษ์ สังหิตกุล

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

มีนาคม ๒๕๔๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ