อธิบาย
ด้วยเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ ฝรั่งเศสจะปราบปรามพวกฮ่อทางเมืองตังเกี๋ย การคาบเกี่ยวแก่พระราชอาณาเขตร ในเวลานั้นรัฐบาลฝรั่งเศสขอให้มีข้าหลวงไทยไปด้วยกับกองทัพฝรั่งเศส เพื่อให้เปนการสดวกทั้ง ๒ ฝ่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าหลวงกอง ๑ พระไพรัชพากย์ภักดี ทวน บุนนาค กระทรวงต่างประเทศเปนหัวหน้า หลวงคำณวนคัคนานต์ ศรี ปายะนันท์ กรมแผนที่ ซึ่งบัดนี้เปนพระยาคำณวนคัคนานต์ กับนายบรรหารภูมิสถิตย์ เผื่อน กรมแผนที่ เปนข้าหลวงรอง รวมเปนข้าหลวง ๓ นาย ขุนปราบชลไชย ชุน ล่าม ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเปนหลวงขจรธรณีนาย ๑ นายแววกระทรวงต่างประเทศ เปนเลขานุการสำหรับจดหมายเหตุนาย ๑ รวมเปน ๕ นาย ไปราชการครั้งนั้น
นายแววเปนบุตรขุนสารประเสริฐ นุช อาลักษณ ซึ่งเปนจินตกวีมีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๔ ได้แต่งหนังสือหลายเรื่อง เช่นฉันท์สรรเสริญพระมหามณีรัตน์ ฉันท์กล่อมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เปนต้น นายแววได้ศึกษากระบวรแต่งกาพย์กลอนในสำนักบิดา ไปราชการคราวนี้จึงแต่งนิราสเรื่องนี้เรียกว่านิราสตังเกี๋ย แต่เห็นจะเปนเพราะนายแววเปนผู้รับราชการกระทรวง นิยมในทางราชการเปนสำคัญ เช่นหม่อมราโชทัย ม ร ว. กระต่าย อิศรางกูร ณกรุงเทพฯ ที่แต่งนิราสลอนดอน ความในนิราสที่แต่งเปนเล่าจดหมายเหตุการที่เดินทางเปนสำคัญกว่าจะว่าในทางสังวาส เพราะฉนั้น นิราสตังเกี๋ยนี้จะนับว่าเปนจดหมายเหตุระยะทางที่ข้าหลวงไปครั้งนั้น แต่งเปนกลอนก็ว่าได้ โวหารที่แต่งก็ไม่เลว จึงเห็นว่าควรพิมพ์ให้แพร่หลาย แลรักษาสำนวนไว้อย่าให้สูญเสีย
นายแววนี้ไม่ใช่แต่แต่งกลอนได้อย่างเดียว เปนผู้รักในการศึกษากฎหมายด้วย ต่อมาได้เปนที่หมื่นพิพิธอักษร แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปช่วยราชการกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เมื่อโปรดให้เปนข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมเริ่มแรกให้มณฑลกรุงเก่า ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตร์เปนหลวงนรเนติบัญชากิจ ในกองข้าหลวงพิเศษ แล้วจึงได้ถึงแก่กรรม.