นายสุวรรณถูกขโมย
ท่านทั้งหลายคงยังจะจำได้ว่าไม่ช้านัก หนังสือพิมพ์กรุงสยามเต็มไปด้วยเรื่องนายสุวรรณช่างทองถูกขโมยมีทุนทรัพย์เกี่ยวข้องนับได้หมื่นบาท เผื่อจะมีท่านผู้อ่านบางท่านจำเรื่องนี้ไม่ได้ตลอด ข้าพเจ้าจะขอเล่าให้ท่านฟังโดยย่อดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๒ เวลาเช้านายสุวรรณได้ไปแจ้งต่อสารวัตรใหญ่โรงพักประตูสำราญราษฎร์ว่า ในเวลาเช้าวันนั้นเมื่อนายสุวรรณได้ไปเปิดร้านขายของเห็นตู้เหล็กแง้มอยู่ นายสุวรรณก็ประหลาดใจเพราะจำได้แม่นว่า ได้เห็นนายกรเสมียนบัญชีปิดตู้ลั่นกุญแจแน่นหนา เมื่อเวลาบ่าย ๔ โมง เมื่อวันที่ ๗ วันนั้นเป็นวันเสาร์ นายสุวรรณเปิดร้านครึ่งวันในวันอาทิตย์ก็หาได้มีผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปในร้านไม่ เพราะฉะนั้นจึงทำให้นายสุวรรณประหลาดใจ ที่เห็นตู้เหล็กแง้มอยู่เช่นนั้น นายสุวรรณกับนายกรจึงเปิดตู้ตรวจดูของ ได้ความว่ามีของมีราคาหายอยู่หลายสิ่ง นายสุวรรณยังหาได้ตีราคาเป็นแน่นอนไม่แต่ประมาณว่าของหายรวมเป็นราคา ๘,๕๐๐ บาท สารวัตรแขวงซักถามนายสุวรรณได้ความต่อไปว่า ร้านนี้อยู่ในตึกแถวถนนบ้านตะนาว ชั้นล่างใช้เป็นร้านขายของและโรงงาน ชั้นบนตัวนายสุวรรณเองกับบุตรภรรยาอยู่ ทางเดินเข้าออกมี ๒ ทาง เพราะฉะนั้นในการที่จะขึ้นไปชั้นบนซึ่งเป็นที่อยู่ของนายสุวรรณ ไม่จำเป็นต้องผ่านห้องที่ใช้เป็นร้านขายของ นอกจากนายสุวรรณและบุตรภรรยากับจีนคนใช้ ไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้านเวลากลางคืนมีแขกยามเดินตรวจคนหนึ่ง แต่แขกเฝ้ายามคนนี้เมื่อวันอาทิตย์บอกป่วยหาได้มาตรวจตามหน้าที่ไม่ เมื่อวันเสาร์นายสุวรรณได้ลั่นกุญแจประตูเรียบร้อยแล้วนายกรก็กลับไปบ้าน กุญแจประตูร้านนั้น นายสุวรรณเป็นผู้ถือเองผู้เดียว แต่กุญแจตู้เหล็กมีอยู่ ๒ ดอก นายสุวรรณถือไว้ดอกหนึ่ง นายกรถืออีกดอกหนึ่ง สิ้นคำให้การนายสุวรรณในชั้นต้นเพียงเท่านี้
เวลาเช้าวันจันทร์นั้น ข้าพเจ้ากำลังเตรียมตัวจะไปออฟฟิศ (ข้าพเจ้าหากินทางหมอความ) มีคนวิ่งกระหืดกระหอบขึ้นเรือนข้าพเจ้ามา และพูดกับข้าพเจ้าว่า เชิญคุณไปหน่อยเถอะขอรับ พี่กระผมเกิดความใหญ่ ถูกโปลิศจับขอรับ
ข้าพเจ้านึกประหลาดใจและสงสัยอยู่ ว่าทำไมจะมาเชิญข้าพเจ้าไปข้าพเจ้าจึงย้อนถามไปว่า
เอ๊ นี่แกขึ้นบ้านผิดดอกกระมัง
คนที่มาตอบว่า ไม่ผิดดอกขอรับ พี่กระผมสั่งให้กระผมมาที่คุณเป็นแน่ เขาว่าคุณเป็นหมอความดีผู้หนึ่ง จึงอยากจะเชิญไปเสียแต่วันนี้เพื่อจะได้ทราบความตั้งแต่ต้น
ข้าพเจ้าถาม พี่แกน่ะใคร
ชายผู้นั้นตอบว่า นายกรเสมียนนายสุวรรณช่างทองขอรับ ผมเองชื่อมุ่ย
ข้าพเจ้าพูดว่า อ้อ นายกร ฉันรู้จักอยู่ได้เคยว่าความให้เขาครั้งหนึ่งจริง นี่เกิดความอะไรกันอีกเล่า
นายมุ่ยเล่าความให้ข้าพเจ้าฟังดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วข้างต้นแต่มีต่อไปว่า สารวัตรโปลิศกับนายสุวรรณพากันเข้าไปตรวจในร้านได้ความว่า ตู้เหล็กสำหรับเก็บเครื่องเพชรนั้นไม่ได้ถูกงัดมีผู้เอากุญแจไขออก นายสุวรรณจึงถามนายกรว่าลูกกุญแจอยู่หรือเปล่า นายกรตอบว่าลูกกุญแจหายสารวัตรโปลิศถามนายกรว่าหายแต่เมื่อไร นายกรตอบว่าไม่ทราบแน่ เมื่อรู้ขึ้นว่าหายนั้นเวลาเย็นวันอาทิตย์ พอทราบความว่าหายนายกรก็ไปที่ร้าน แต่เข้าไม่ได้เพราะประตูปิด ได้ร้องเรียกนายสุวรรณให้เปิดรับก็หาได้มีผู้ใดมาเปิดรับไม่ จึงจำต้องกลับไปบ้านและตั้งใจว่ารุ่งเช้าวันจันทร์จะไปบอกนายสุวรรณก็บังเอิญเกิดความยุ่งขึ้นจึงเลยลืมไม่ได้บอก จนสารวัตรถามขึ้นจึงได้นึกออก สารวัตรสงสัยนายกรจึงได้คุมตัวนายกรไว้ เพื่อจะสืบสวนให้ได้ความจริงต่อไป
พอข้าพเจ้าได้ทราบความดังนี้ ก็นึกถึงนายทองอินทันที ข้าพเจ้าจึงชวนนายมุ่ยขึ้นรถของข้าพเจ้าขับไปบ้านนายทองอิน เล่าความให้นายทองอินฟังทุกประการ และชวนให้นายทองอินไปสืบในเรื่องนี้ดวยกัน นายทองอินนั่งนิ่งอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็พูดขึ้นว่า “ที่จริงเวลานี้ฉันก็มีงานมากอยู่ แต่ว่าเอาเถอะพักไว้ก่อนก็เห็นจะได้ เรื่องนายกรออกจะสำคัญกว่า อ้ายเรื่องโน้นปล่อยให้ลูกสมุนของฉันคอยระวังตรวจตราไว้ก่อนก็เห็นจะได้” แล้วก็พากันขึ้นรถไปที่ร้านนายสุวรรณ
เมื่อถึงร้านนั้น เห็นมีพลตระเวนรักษาอยู่หลายคน และมีคนอื่น ๆ ยืนอยู่หน้าร้านก็หลายคนเหมือนกัน ที่จริงก็ประหลาดพอมีเหตุอะไรขึ้นนิดหน่อยแล้วคงมีคนทะเยอทะยานอยากรู้คอยฟังอยู่ได้เสมอ ถ้ายิ่งเป็นความขโมยกันเช่นนี้ก็ยิ่งมีคนอยากรู้มากขึ้น ในร้านนายสุวรรณก็เต็มไปด้วยเจ้าพนักงานกองตระเวน ท่านฝรั่งนายโปลิศก็อยู่ด้วย พอนายทองอินโผล่เข้าไป ข้าพเจ้าสังเกตหน้าท่านฝรั่งเห็นไม่พอใจ แต่ขืนทำยิ้มยื่นมือมาจับ กู๊ดมอร์นิงกับนายทองอินและพูดว่า ดีทีเดียวท่านมา บางทีท่านจะช่วยได้บ้าง แล้วก็ยื่นลูกกุญแจให้นายทองอิน และอธิบายว่าตกอยู่ที่หน้าตู้เหล็ก นายกรจำได้และรับแล้วว่าเป็นลูกกุญแจที่ตนถือ นายทองอินพยักหน้า แล้วก็เที่ยวตรวจตามร้านไม่พูดจากับใคร นาน ๆ ก็ได้ยินเสียงหึหะ ฝ่ายท่านฝรั่งก็ยืนนิ่งดูอยู่ไม่พูดจากับใครเหมือนกัน สักประเดี๋ยวนายทองอินถามฝรั่งนายโปลิศว่า
ท่านมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ฝรั่งยิ้มแล้วตอบว่า ดูก็ไม่ยากอะไร กุญแจมี ๒ ดอก นายสุวรรณถือดอกหนึ่ง เสมียนอีกดอกหนึ่ง กุญแจของนายสุวรรณอยู่ กุญแจของเสมียนหาย ตู้เหล็กนี้นายสุวรรณมาเห็นเปิดอยู่เวลาเช้าวันนี้ นายสุวรรณเชื่อแน่ว่าเขาไม่ได้เปิด เสมียนก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้เปิด กุญแจนายสุวรรณยังติดอยู่กับตัว กุญแจของเสมียนตกอยู่ที่หน้าตู้ ก็เชิญท่านนึกดูเถิดว่าจะเป็นอย่างไร
ทองอิน “รูโหว่ที่หน้าต่างนั่น ท่านว่าใครเจาะ”
ฝรั่ง “ฉันว่าเสมียนเจาะ”
“เจาะทำไม”
“สำหรับเข้ามาในร้านน่าซิ ท่านจะยังไม่ทราบดอกกระมัง ว่านายกรไม่มีกุญแจไขประตูร้าน”
“ฉันทราบแล้ว แต่นายกรก็ทราบดีอยู่ว่าหน้าต่างนั้นปิดอยู่อย่างไร คือมีไม้ขวาง ถ้านายกรจะเอาเลื่อยสอดเข้าตรงรอยต่อค่อยๆ เลื่อยจนไม้ขวางนั้นขาดเป็น ๒ ท่อน แล้วแหวกหน้าต่างจนเป็นช่อง และเอื้อมมือเข้ามาถอดกลอนเช่นนี้จะมิดีกว่าหรือ
ฝรั่ง “ดีกว่าจริง; แต่นายสุวรรณคงจะทราบได้ทันทีว่าขโมยนั้นเป็นคนเคยเห็น ลักษณะปิดหน้าต่างร้าน นายกรจึงแกล้งทำเป็นทีว่าคนนอกขึ้นขโมย จึงเจาะหน้าต่างอย่างที่ท่านเห็นอยู่นั้น”
ทองอิน “ถ้าอย่างนั้นท่านเห็นว่านายกรเป็นฉลาดความคิดพอใช้ นะ”
ฝรั่ง “ฉันเห็นเช่นนั้น”
ทองอิน “ถ้าอย่างนั้นก็น่าเสียใจที่ไม่ฉลาดให้ตลอด อุตส่าห์เจาะหน้าต่างทำให้นึกว่าเป็นคนนอก แล้วยังไงมาโง่ไขตู้ด้วยกุญแจ ซึ่งใคร ๆ ย่อมรู้กันโดยมากว่าตนเป็นผู้ถือ แล้วยังอ้ายเรื่องรอยตีนอีก ประหลาดจริง ๆ ทำไมจึงต้องเอาตีนเหยียบบนหน้าต่างทิ้งรอยไว้ให้เขาจับ ดูไม่จำเป็นต้องให้ตีนถูกหน้าต่างเลย เวลาปีนเข้ามาจะเอาเข่าวางบนหน้าต่างแล้วข้ามเข้ามาดูจะง่ายกว่าที่จักขึ้นยืนบนหน้าต่าง เออในวันอาทิตย์นั้น ฝนตกหรือเปล่า”
ฝรั่ง “ไม่ได้ตก”
ทองอิน ถ้าอย่างนั้นก็ยิ่งประหลาดใจขึ้นอีก รอยตีนนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าตีนเปื้อนโคลน อะไรจะมาขโมยเขาทั้งที ควรจะต้องระวังอย่างที่สุดไม่ให้เขาจับได้ นายกรกลับเอาโคลนทาตีนแล้วมาเหยียบตีตราไว้ที่หน้าต่างไว้ให้จับอีก หน้าหัวเราะจริงๆ”
ฝรั่งนิ่งทำหน้าตึงแล้วถามนายทองอินว่า “ก็ถ้าอย่างนั้น ท่านคิดว่าใครขโมย”
นายทองอินตอบว่า “เป็นธรรมเนียมของฉัน ไม่คิดว่าคนนั้นคนนี้ขโมย จนกว่าฉันจะหาสิ่งของหรือข้อความอันใดที่จะชี้ให้เห็นได้แน่วได้ว่าผู้ใดขโมย ฉันจึงจะตกลงคิดว่าผู้นั้น นี่ฉันยังไม่เห็นเหตุผลที่จะเป็นพยานให้ฉันคิดว่านายกรขโมย นายกรก็ได้รับเงินเดือนอยู่มากไม่ใช่หรือ”
ฝรั่ง “เขาได้ถึงเดือนละ ๑๐๐ บาท แต่ ๑๐๐ บาทนี้ก็ไม่นับว่ามากถึงมากกว่านั้นก็ไม่พอ ถ้าคนคนนั้นพอใจในการเล่นเบี้ยเช่นนายกรนี้” นายทองอินหันไปถามนายกรว่า “แกเล่นเบี้ยจริงหรือ”
นายกรรับว่าจริง นายทองอินถามต่อไปว่า
“แกมีหนี้อยู่บ้างหรือเปล่า”
นายกรว่า “มี มีอยู่มาก”
ฝรั่งนายพลตระเวนพยักหน้ายิ้มแล้วพูดว่า
“นี่ มันเป็นอย่างนี้”
นายทองอินว่า “ก็ชอบกล ฉันก็เข้าใจได้ดอกว่า ท่านมีข้อควรสงสัยอยู่บ้าง แต่ฉันขอท่านสักอย่างหนึ่ง ตัวฉันก็ได้เคยช่วยท่านมาหลายครั้ง ขอให้ฉันช่วยท่านครั้งนี้อีกเถิด ฉันจะสืบดูในเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน ท่านอย่าเพ่อส่งนายกรขึ้นศาลเลย เมื่อฉันได้ความอย่างไร ฉันจะบอกให้ท่านทราบ”
ฝรั่งนายโปลิศก็พยักหน้า รับว่าจะทำตามนายทองอินขอ นายทองอินก็ลาออกจากร้านนายสุวรรณไป พอออกนอกประตูร้านมีชายผู้หนึ่งแต่งกายอย่างนักเลง คือนุ่งโสร่งมีผ้าพาดบ่า เดินโซเซเข้ามาโดนนายทองอินกัก นายทองอินจับแขนไว้ จ้องดูหน้าเป็นทีเหมือนจะจำได้ แต่ข้าพเจ้าเห็นปากหมุบหมิบ เหมือนกับพูดกระซิบกับคนเมานั้น คนเมานั้นพยักหน้าแล้วก็เดินต่อไป นายทองอินก็พาข้าพเจ้ากลับไปรับประทานข้าวที่บ้าน รับประทานข้าวแล้วไม่ช้านัก คนใช้นายทองอินเข้ามาบอกนายทองอินว่ากระไรข้าพเจ้าไม่ได้ยินถนัด เห็นนายทองอินหยักหน้าแล้วพูดว่า “ให้ขึ้นมาบนนี้” คนใช้หายลงไปสักครู่หนึ่ง แล้วก็พาชายผู้หนึ่งขึ้นมา ชายผู้นี้ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คือนักเลงที่กระทบไหล่นายทองอินหน้าร้านนายสุวรรณ (แต่เวลานี้เห็นได้ว่าเป็นปรกติไม่เมาจนนิดเดียว) นายทองอินยิ้มแล้วพูดกับข้าพเจ้าว่า “ลูกสมุนของฉันคนนี้ แกดูเหมือนจะยังไม่รู้จัก ฉันเอาลองใช้ดูยังไม่ได้ให้เงินเดือน ถ้าครั้งนี้ใช้ได้ดีก็นับว่าเป็นใช้ได้ต่อไป” แล้วนายทองอินก็หันไปพูดกับลูกสมุนว่า “ยังไงแจ่มได้ความยังไงบ้าง”
นายแจ่มตอบว่า “เมื่อวันอาทิตย์เวลาประมาณยามหนึ่ง ได้มีผู้เห็นนายกรเดินอยู่หน้าร้านนายสุวรรณ ยืนมองอยู่ที่หน้าต่างสักครู่หนึ่ง และร้องเรียกนายสุวรรณแต่หามีผู้ใดเปิดประตูรับไม่ นายกรเรียกอยู่นานแล้วจึงไป เมื่อนายกรมาเรียกนั้น พลตระเวน ฎ ๒๔๔๒ ยืนอยู่ไม่ไกลจากร้านกี่ก้าว เมื่อนายกรเดินไปพลตระเวนผู้นั้นเดินตามไปจนสุดถนนบ้านตะนาว”
นายทองอิน “แล้วถามเจ้าสีได้ความว่ากระไร”
นายแจ่ม “นายสีคืนวันนั้นไม่สบายนอนไม่หลับตลอดรุ่ง แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงแกรกกราก หรือเห็นผู้ใดแปลกปลอมเดินไปใกล้ร้านนายสุวรรณเลย นายสีรับสาบานได้ในข้อนี้”
ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ จึงถามนายทองอินว่า “นายสีน่ะ พวกพ้องแกหรือ”
นายทองอินตอบว่า “เป็นพวกพ้อง แต่ไม่ใช่ลูกสมุน แกต้องเข้าใจว่าที่ไหนเป็นที่สำคัญแล้ว ฉันคงมีพวกพ้องอยู่ใกล้คนหนึ่งอย่างน้อยเสมอ บ้านนายสีคนนี้ อยู่หลังร้านนายสุวรรณห่างกันไม่กี่ก้าว ถนนนั้นตกกลางคืนไม่ใคร่มีผู้ใดเดินเพราะเป็นถนนเล็ก ที่จริงเป็นตรอกนิดเดียว เพราะฉะนั้นถ้าใครเดินไปแปลกหน้า นายสีเป็นต้องรู้เป็นแน่ ฉันมีสัญญากับนายสี ว่าต้องให้มีคนนั่งยามตรวจอยู่เสมอ ทั้งกลางวันกลางคืน นี่บังเอิญเมื่อคืนวันอาทิตย์นั้น นายสีไม่สบายจึงนั่งอยู่เอง
ข้าพเจ้าว่า “เก่ง เก่ง ต้องยอมว่าเก่งจริง”
นายทองอินยิ้มแล้วหันไปพูดกับนายแจ่มต่อไปว่า
“แล้วมีอะไรอีกบ้างไหม” นายแจ่มตอบ “ผมเที่ยวถามตามโรงจำนำแล้ว ไม่ได้ความว่ามีใครเอาเครื่องเพชรไปจำนำเลยวันนี้”
นายทองอิน “ก็แน่ละขโมยของมาก ๆ ยังงั้น ใครเขาจะเอาไปโรงจำนำ เจ้ามันยังใหม่นักถึงไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เจ้าไปบอกนายศุขให้สืบตามบ้านทวายบางทีจะได้ความ รีบไปเร็วๆ เถอะ แล้วให้นายศุขกลับมาบอกที่นี่ ตัวเจ้าเองกลับไปช่วยน้องเจ้าดูนายสุวรรณกับพวกพ้อง”
นายแจ่มก็ลาลงเรือนไป
นายทองอินหันมาพูดกับข้าพเจ้าว่า “เราไม่ควรเสียเวลา มาเถอะไปเถอะ” แล้วก็พากันไปโรงพักประตูสำราญราษฎร์
นายทองอินขอพบกับนายกร แล้วถามนายกรดังต่อไปนี้
ทองอิน “แกรู้สึกว่าลูกกุญแจหายไปตั้งแต่เวลาไร”
นายกร “เวลาเย็นวันอาทิตย์”
“ลูกกุญแจนั้นแกได้เอาไปบ้านหรือ”
“ได้เอาไป”
“แน่นะ”
“แน่ผมจำได้แน่ พอปิดตู้แล้วผมเอากุญแจใส่กระเป๋า”
“กุญแจติดอยู่กับโซ่หรือเปล่า”
“ติดอยู่กับพวง”
“เมื่อแกกลับบ้านแล้ว เอาพวงกุญแจไว้ที่ไหน
“ตามธรรมดาผมเอาไว้กับตัวเสมอ”
“เมื่อวันนั้นเอาไว้ที่ไหน นึกดูที พวงกุญแจได้ไปไกลตัวแกครั้งหนึ่งครั้งใดในวันอาทิตย์บ้างหรือ”
“ไม่ได้ห่าง ผมใส่กระเป๋าไว้เสมอ”
“เมื่อแกไปบ่อนแกเอาไปด้วยหรือ”
“เอาไปด้วย”
“แกใส่กระเป๋าไหนไว้”
“ใส่เป๋าขวา”
“เป๋าล่างหรือเป๋าบน”
“เป๋าล่าง”
“จำได้ไหมว่าใครนั่งข้างแกที่บ่อน”
“จำไม่ได้ เปลี่ยนกันหลายคน อ้อนายสุวรรณเขานั่งข้างผมอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง”
“อะไร นายสุวรรณก็เล่นเบี้ยหรือ”
“ผมทราบแต่ว่าเขาเล่นหวย แต่นานๆ เขาก็ไปเที่ยวบ่อนบ้าง”
“วันที่แกพบเขาน่ะเขาเล่นหรือเปล่า”
“เขาเล่น แต่น้อย ไม่มาก”
“นายสุวรรณนั่งอยู่ข้างแกนานหรือ”
“ไม่สู้นาน คอยกับผมอยู่สักครู่หนึ่งแล้วก็ลุกไป”
“เมื่อแกรู้สึกว่าพวงกุญแจหายน่ะ รู้สึกขึ้นในบ่อนหรือ”
“ผมรู้สึกขึ้นเมื่อควักเงินจะใช้เจ้ามือ”
“นั่นเวลาไร”
“เกือบยาม”
“พอรู้สึก แล้วแกทำอย่างไร”
“ผมก็บอกกับนายยามพลตระเวนแล้วก็รีบไปที่ร้าน เพื่อจะไปบอกให้นายสุวรรณทราบ”
“ที่แกพูดมานี่น่ะ เป็นจริงทั้งนั้นน่ะ”
“สาบานเจ็ดวัด เจ็ดวาได้ขอรับ”
“อ้อ ลืมไป นายสุวรรณได้เคยว่ากล่าวแกในเรื่องเล่นเบี้ยนี้บ้างหรือเปล่า”
“เขาได้เคยพูดกับผมครั้งหนึ่งว่า ให้ระวังในการเล่นเบี้ยอย่าให้เสียการ ถ้าเล่นแต่พอสมควรเขาไม่ว่า ตัวเขาเองเขายังเล่นหวยบ้างเป็นครั้งเป็นคราว”
“แกกับนายสุวรรณน่ะ ชอบกันมากหรือ”
“ก็ไม่ชอบกันนัก แต่ก็ไม่มีข้อบาดหมางอะไร”
นายทองอินพยักหน้า แล้วก็ชวนข้าพเจ้าเดินต่อไป พอถึงที่เสมียนหวยในถนนบ้านตะนาว นายทองอินแวะเข้าไปพูดจาทักทายอยู่นานแล้วจึงถามว่า
“ลื้อบอกอั้วทีเถอะว่า เจ๊กหยงมาแทงหวยที่ลื้อบ่อยๆ หรือ”
เสมียนหวยตอบว่า “เขามาบ่อยๆ แต่เขาไม่แทงที่อั๊ว เขามาวางอั๋วเชียงโพยหิ้ง”
“เขียนทีละมากๆ หรือ”
“เขียงทีละมาก สามสิบสี่สิบก็มี ไม่เหงค่อยถูก อั๊วบอกเจ๊กหยง ถ้าลื้อทงหวยบ่อยๆ ลื้อจะฉิกหายติดตะลาง”
นายทองอินก็สนทนากับเสมียนหวยอีกสักครู่หนึ่งแล้วก็เดินต่อไป ข้าพเจ้าต้องอธิบายในที่นี้ว่า เจ๊กหยงนั้นคือคนใช้นายสุวรรณ และโพยหิ้งที่เจ๊กหยงไปวานให้เขียนนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่านายสุวรรณใช้ไป เจ๊กหยงคงจะไม่มีเงินพอเล่นหวยได้ทีละมาก ๆ เช่นนั้นเป็นแน่”
เมื่อนายทองอินกับข้าพเจ้าไปถึงร้านนายสุวรรณ เจ้ากรมกองตระเวนกับฝรั่งนายโปลิศซึ่งได้กล่าวแล้วนั้นกำลังทำหนังสือรูปพรรณของหายอยู่ เจ้ากรมก็ทักทายนายทองอินตามสมควร แล้วพูดว่า
“ฉันมีความยินดีที่ได้ทราบข่าวจากชีฟอินซเป๊กเตอร์ (คือนายโปลิศฝรั่ง) ว่าท่านจะช่วยกองตระเวนในการจับขโมยครั้งนี้”
นายทองอินคำนับแล้วถามว่า
“ท่านได้ความอะไรอีกที่แปลกประหลาดบ้างไหม”
เจ้ากรมนายตระเวนตอบว่า “ไม่ได้ความอะไรนอกจากที่ท่านได้ทราบ แล้วท่านได้ความอะไรหรือ”
นายทองอินตอบว่า “ได้นิดหน่อย ข้าพเจ้าขออนุญาตซักนายสุวรรณ”
เจ้ากรมกองตระเวนก็อนุญาต
นายทองอินจึงหันไปหานายสุวรรณและถามว่า “แกได้ทราบเรื่องนายกรเล่นเบี้ยมานานแล้วหรือ”
นายสุวรรณ “ก็นาน”
“แกได้เคยห้ามปรามนายกรบ้างหรือเปล่า”
“ได้เคยตักเตือน ๒ – ๓ ครั้ง”
นายทองอิน “ได้เคยห้ามบ้างหรือเปล่า”
นายสุวรรณ “ไม่เคยห้ามเป็นกิจจะลักษณะ”
“ทำไมถึงไม่ห้าม”
“เพราะเห็นว่านายกรมีอายุมากพอที่จะรู้ผิดรู้ชอบแล้ว”
“ในการที่เล่นนั้น นายกรเสียมากหรือ”
“ไม่ทราบ”
“ไม่ถามเขาเลยหรือ”
“จะไปถามเขาทำไม”
“ฉันเห็นว่านายกรเป็นเสมียนของแกและคนถือกุญแจตู้เครื่องเพชร ฉันจึงได้นึกว่าบางทีแกจะเอาใจใส่ในความประพฤติของนายกรบ้าง แต่บางทีก็จะไม่เห็นการเล่นเบี้ยเป็นการผิดร้ายอะไรดอกกระมัง”
“ก็เห็น”
“แต่ไม่เห็นมากพอที่จะว่ากล่าวห้ามปรามหรือ”
“แน่ทีเดียว”
“ตัวแกเองเล่นเบี้ยบ้างไหม”
“ฉันไม่เล่น”
“ไม่เล่นเลยหรือ ไม่เคยไปบ่อนเลยหรือ”
“อ้ายบ่อนน่ะ ใครไม่เคยไปบ้าง”
“ถูกถูก แต่บางคนก็ไปถี่ แต่บางคนก็ไม่ถี่ บางคนก็ไม่ไปเลย บางคนก็ไปดู ก็แกอยู่ในจำพวกไหนล่ะ”
“ฉันบอกแล้วว่าบางทีฉันก็ไป จะถามอะไรกันร่ำไร”
“เมื่อวันอาทิตย์ไปหรือเปล่า”
นายสุวรรณนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตหน้าเห็นท่าทางออกไม่ค่อยสบาย นายทองอินก็คงจะเห็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะข้าพเจ้าเห็นยิ้มอยู่ในหน้า สักครู่หนึ่งนายสุวรรณก็ตอบว่า
“เมื่อวันอาทิตย์ฉันไปเที่ยวที่บ่อนหัวเม็ดประเดี๋ยวหนึ่ง”
“แกพบนายกรหรือเปล่า”
“จำไม่ได้”
“ลองนึกดูหน่อยเถอะน่ะ”
นายสุวรรณนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ตอบซ้ำอีกว่า “จำไม่ได้”
นายทองอินก็หันไปทางสารวัตรใหญ่ ซึ่งได้มาจากโรงพักประตูสำราญราษฎร์ แล้วพูดว่า
“คุณสารวัตรได้ยินไหมล่ะ จำได้ไม่ใช่หรือ ว่านายกรให้การอย่างไร เมื่อผมถามเมื่อตะกี้”
สารวัตรใหญ่พยักหน้าตอบว่า “จำได้”
นายทองอินก็ถามนายสุวรรณต่อไปว่า
“การเล่นหวยนี่แกเห็นเป็นผิดไหม”
“ก็ผิด”
“อาจจะเสียเงินได้มากๆ ไม่ใช่หรือ
“ก็เห็นจะได้ดอกกระมัง”
“แทงหิ้งกะแทงธรรมดาไหนจะเสียได้มากกว่ากัน”
“ฉันจะไปรู้ยังไง”
“อ้าวฉันหมายว่าบางทีแกจะรู้ได้บ้าง เห็นเจ๊กหยงเขาเป็นนักเลงใหญ่ แกรู้ไหมว่าเจ๊กหยงเป็นนักเลงใหญ่”
“ไม่รู้”
“อะไรแกเป็นนายเจ๊กหยง แกไม่รู้ว่าเจ๊กหยงเป็นนักเลงใหญ่ด้วยหรือ น่าจะรู้เบาหรือ”
“ทำไมฉันจะต้องไปเป็นธุระปะปังในการส่วนตัวของเจ๊กบ๋อย”
“ถ้าเป็นตัวฉัน ฉันก็คงจะต้องอยากรู้การส่วนตัวบ่าวของฉันบ้าง อะไรบ่าวเล่นหวยทีละมาก ๆ มันจะไปเอาเงินมาจากไหน นอกจากที่มันจะขโมยนาย มันเคยขโมยแกมั่งไหม”
“ไม่เคย”
“ก็ประหลาดเจ๊กหยงไปเอาเงินมาจากไหนหนา ได้เป็นกองสองกอง ประหลาดน๊ะท่านเจ้ากรม” ท่านเจ้ากรมพยักหน้าแล้วพูดว่า
“ถ้านายสุวรรณคิดอ่านจำอะไรได้บ้างเสียจะดี”
นายทองอินถามนายสุวรรณต่อไปว่า
“แกเป็นคนนอนไวไม่ใช่หรือ”
“นอนไว”
“ห้องนอนของแกอยู่ตรงหน้าต่างที่เจาะไม่ใช่หรือ”
“อยู่ตรง”
“ตามธรรมดาแกนอนกี่ทุ่ม”
“บางทีก็ห้าทุ่ม บางทีก็สองยาม”
“เมื่อคืนวันอาทิตย์แกไม่ได้ยินเสียงแกรกกรากหรือ”
“ไม่ได้ยิน”
“ชอบกลไม่มีใครได้ยินเลยหรือ”
“ไม่มีใครได้ยิน”
“ยิ่งชอบกลหนักขึ้นไปอีก”
ในเวลานั้นได้ยินเสียงเอะอะขึ้นข้างนอก เสียงเหมือนพลตระเวนกับคนเมาทะเลาะกัน นายทองอินจึงบอกให้ข้าพเจ้าลุกออกไปดู ข้าพเจ้าลุกออกไปเห็นพลตระเวนที่รักษาประตูกำลังเถียงกับคนเมาแลผลักไสอยู่ ข้าพเจ้าก็ถามความว่าเป็นอะไรกัน พลตระเวนบอกข้าพเจ้าว่า นักเลงคนนั้นเดินมาโดนพลตระเวน พลตระเวนผลักแต่เบา ๆ นักเลงกลับด่าว่าให้ในเวลาที่พูดกันอยู่นั้น เจ้านักเลง (ซึ่งข้าพเจ้าจำหน้าได้ว่านายแจ่ม) ก็เดินโซเซเข้ามาโดนข้าพเจ้าเปรี้ยงใหญ่เลย กอดคอข้าพเจ้า แล้วกระซิบในหูว่า “หนังสือฝากให้คุณทองอิน” แล้วก็ส่งกระดาษพับแผ่นเล็กให้ข้าพเจ้าแผ่นหนึ่ง ในทันใดนั้นพลตระเวนก็เข้ามาดึงตัวนักเลงทำทีเหมือนจะพาตัวไปโรงพัก ข้าพเจ้าจึงว่า “ช่างเถอะ ช่างเถอะ ไล่ให้มันไปเสียให้พ้นก็แล้วกัน” แล้วข้าพเจ้าก็กลับเข้าไปในร้านส่งหนังสือให้นายทองอิน นายทองอินอ่านแล้วก็พยักหน้าและยิ้ม แล้วพูดว่า “พ่อวัด เจ้าศุขของฉันเก่งไหมล่ะได้เรื่องแล้ว ดูหนังสือนี่ซี” หนังสือนั้นว่า
“ผมเที่ยวสืบตามบ้านพม่า ว่าใครมีเครื่องเพชรเครื่องทองขายบ้าง ผมจะรับซื้อ ได้ความว่า มองอ่องมีของขาย ผมไปหามองอ่องขอดูของที่จะขาย มองอ่องยังสงสัยอยู่แต่กระผมชี้แจงไปต่าง ๆ จนตกลงหยิบกำไลมาให้กระผมดู ๒ คู่ แหวนอีกหลายวง ผมถามว่าไม่มีอะไรอีกหรือ มองอ่องว่ามีแต่ของเล็กๆ น้อย กับมีสร้อยคอสายหนึ่งซึ่งมองอ่องว่าจะส่งไปขายนอก จะฝากมองหล่าออกไปแต่มองหล่านั้นจะออกไปกับเรือลูซกวันพุธนี้ กำไลและแหวนมองอ่องจะยัดเยียดขายให้กระผม ๆ บอกว่ากระผมไม่มีเงิน แต่ถ้าอยากจะขายจริงผมจะพาไปหาคนที่จะรับซื้อ มองอ่องอึดอัดอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจึงตกลงว่าจะไปที่บ้านกระผมเวลาพรุ่งนี้เช้า แลขอให้กระผมนัดผู้ที่จะซื้อมาพบกันที่บ้าน เรื่องนี้จะโปรดให้จัดการอย่างไรต่อไป?”
ในเวลาที่ข้าพเจ้าอ่านหนังสือนั้น นายทองอินได้เล่าความให้เจ้ากรมกองตระเวนทราบทุกประการ และตกลงกันว่านายทองอินจะไปบ้านนายศุขวันรุ่งขึ้น เพื่อจะซื้อเครื่องเพชรและนัดให้พลตระเวนมาคอยจับมองอ่องกับมองหล่า ส่วนนายสุวรรณนั้นเจ้ากรมกองตระเวนบอกว่าอย่าให้ไปไหนจนกว่าจะได้รับอนุญาต จากเจ้ากรมกองตระเวนให้ไป และวางยามพลตระเวนรักษาบ้านเพื่อไม่ให้หนีด้วย
รุ่งขึ้นนายทองอินกับข้าพเจ้าก็พากันไปบ้านนายศุข คอยอยู่ครู่หนึ่งมองอ่องจึงมา เมื่อนายทองอินเรียกให้มองอ่องแก้ของออกให้ดู ข้าพเจ้าก็จำได้ (โดยได้เห็นรูปในเวลาพลตระเวนทำหนังสือรูปพรรณนั้น) ว่าเป็นของซึ่งได้หายไปจากร้านนายสุวรรณ นายทองอินหยิบของขึ้นมองทีละสิ่งทำเป็นไม่เชื่อว่าเป็นของจริง และต่อราคาซึ่งมองอ่องจะเรียกเอาแล้วจึงถามขึ้นว่า ของเหล่านี้ได้มาจากไหนบอกได้ไหม มองอ่องนิ่งอึดอัดอยู่สักครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “ซื้อมาจากเจ๊ก” นายทองอินถามว่า “เจ๊กนั้นชื่ออะไร ชื่อหยงใช่ไหม”
ในทันใดนั้น เจ้ากรมกองตระเวนพร้อมด้วยนายโปลิศฝรั่งกับนายหมวดพลตระเวนคนหนึ่งก็ตรงเข้ามา มองอ่องลุกขึ้นคิดจะหนีแต่นายโปลิศฝรั่งก็จับสวมขื่อมือเสียทันที แล้วก็พากันกลับไปที่โรงพักประตูสำราญราษฎร์ เมื่อถึงโรงพักแล้วเจ้ากรมกองตระเวนก็ให้ไปรับตัวเจ๊กหยงมา มองอ่องเมื่อเห็นเจ๊กหยงก็แจ้งกับเจ้ากรมกองตระเวนว่า เจ๊กผู้นี้เป็นผู้ได้นำเครื่องเพชรไปขายให้ เจ้ากรมกองตระเวนซักเจ๊กหยง เจ๊กหยงก็ให้การสารภาพ ว่าได้นำเครื่องเพชรไปขายให้มองอ๋องจริง และกล่าวต่อไปว่านายสุวรรณใช้ให้นำไป เจ้ากรมกองตระเวนก็สั่งให้คุมตัวเจ๊กหยงไว้ที่โรงพักนั้นด้วย แล้วก็ชวนนายทองอินกับข้าพเจ้าไปร้านนายสุวรรณ พร้อมด้วยนายพลตระเวนหลายนาย ครั้นถึงร้านแล้วเจ้ากรมกองตระเวนก็วานให้นายทองอินเล่าความตามที่จับมองอ่องได้ทุกประการ นายทองอินจึงพูดต่อไปว่า
“นี่แน่ฉันจะบอกความที่ฉันคิดว่าเป็นจริงให้แกฟัง ถ้าฉันผิดตรงไหนแกทักขึ้นนะ ตัวแกน่ะเล่นหวยติดมากและไม่ใคร่จะถูกยิ่งเล่นยิ่งเสียแต่ก็ยังไม่หายอยากเล่น แกก็ไปขอยืมเงินเขามาเล่นก็เสียอีก เงินแกได้ในการค้าขายเท่าไรก็ใช้เจ้าหนี้เขาไม่พอ แกหมดท่าก็คิดให้ขโมยขึ้นบ้านแก แต่ถ้าขโมยนั้นไม่มีตัวมีตนเสีย ดูก็จะยังไง ๆ อยู่ โปลิศก็จะถามแกต่าง ๆ แกจึงต้องคิดหาตัวคนซัดให้เป็นขโมยเสีย แกรู้อยู่ว่านายกรเสมียนแกเป็นคนเล่นเบี้ย ถ้าพอโปลิศรู้เข้าก็คงสงสัย วันอาทิตย์เป็นวันเหมาะไม่มีใครอยู่ในร้านนอกจากลูกเมียแก แขกยามก็เจ็บ แกก็คิดว่าจัดการเสียวันนี้เป็นดี ครั้นแกจะงัดตู้ของแกก็กลัวเขาจะไม่นึกสงสัยคนซึ่งแกต้องการให้เขาสงสัยคือนายกร เพราะฉะนั้นแกอุตส่าห์ไปที่บ่อนหัวเม็ด สู้เสียเวลานานกว่าแกจะสำเร็จประสงค์ พอแกเข้าใกล้นายกรได้แล้วก็ไม่เป็นการยากอะไร นายกรมัวเล่นเพลินไม่เหลียวซ้ายแลขวาทั้งไว้ใจด้วย แกก็ล้วงกระเป๋าเอาตามสบายใจ พอได้กุญแจแล้วแกก็รีบกลับมาเวลายามเศษจวน ๔ ทุ่ม นายกรมาเรียกแก แกก็ทำนอนหลับเสียพอสังเกตว่าดึกเงียบคนแกก็ลงมาจัดการไขตู้เอาเครื่องเพชรออก เจาะหน้าต่างเหยียบรอยตีน พอรุ่งเช้าแกก็ให้บ่าวแกเอาเครื่องเพชรไปขาย แล้วแกเตรียมไว้ว่าเมื่อผู้ซึ่งเขาเอาเครื่องเพชรมาฝากให้แกซ่อมแซมมาเร่งเอากับแก แกก็จะบอกเขาว่า จะทำอย่างไรได้ถูกขโมยเป็นเคราะห์ร้ายของแก แต่เพื่อไม่ให้ผู้ซึ่งกรุณาแกเสียหายมากมาย แกจะยอมใช้เงินให้กึ่งราคาเครื่องเพชรอย่างนี้ถูกหรือไม่ถูก”
นายสุวรรณเมื่อนายทองอินกำลังพูดอยู่นั้น สังเกตดูหน้าซีดลงทุกทีกว่านายทองอินจะพูดจบ นายสุวรรณหน้าเขียวปากสั่นจนข้าพเจ้าออกนึกสงสาร นายทองอินรอฟังให้ตอบอยู่สักครู่หนึ่งแล้วก็พูดต่อไปว่า
“ที่แกคิดคราวนี้ที่จริงก็มีดีอยู่มาก เห็นได้ว่าไม่ใช่ความคิดคนโง่เลย เสียแต่เลินเล่อเสียหน่อยหนึ่ง ข้อที่ ๑ ก็คือเรื่องรอยตีน แกไม่ควรจะลืมเลยว่าเมื่อวันอาทิตย์นั้น ฝนไม่ได้ตกเพราะฉะนั้นตีนนายกรคงจะไม่เปื้อนโคลนเปรอะถึงเพียงนั้น ทั้งในการที่จะไปเอากุญแจของนายกรมาไขแล้วทิ้งไว้หน้าตู้ ที่แกนึกว่าจะทำให้เป็นเครื่องนำความสงสัยไปทางนายกรนั้นกลับทำให้ฉันเชื่อ – เอ๊ะ – เอ๊ะ – นั่นแกเป็นอะไร” ต่างคนต่างก็มองหน้านายสุวรรณเห็นทำหน้านิ่วคิ้วขมวดแล้วประเดี๋ยวก็ล้มหงายลงไปกับพื้น เจ้ากรมกองตระเวนก็สั่งให้ไปตามหมอมาทันที แต่หมอมายังมิทันถึง นายสุวรรณก็ขาดใจตาย นายทองอินก้มไปตรวจดูถ้วนถี่ สั่นหัว ๒ – ๓ ครั้ง ค้นดูในกระเป๋าเสื้อแล้วก็ควักเอาขวดสีเขียวออกมาขวดหนึ่งและพูดว่า
“ฉันนึกแล้วยาตาย เสียดายจริงหนักปากไป ฉันควรจะบอกท่านเจ้ากรมให้ระวังในเรื่องนี้เสีย ตั้งแต่เมื่อให้มาจับเจ๊กบ๋อย เอาเถอะ เอาเถอะ นายสุวรรณลงโทษตัวเองเสียเช่นนี้แล้ว ก็จะได้ไม่เปลืองเวลาศาล พ่อวัดกลับไปบ้านเถอะ เมื่อท่านเจ้ากรมกองตระเวนท่านต้องการตัวเราเมื่อไร ท่านก็จะให้ไปตามเองแหละ
เมื่อความเป็นเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องกล่าวว่ากรมกองตระเวนได้ปล่อยตัวนายกรทันที ส่วนจีนหยงนั้นก็ได้ส่งตัวขึ้นศาลชำระรับพระราชอาญาตามโทษานุโทษ และมองอ่องกับมองหล่ากรมกองตระเวนก็ได้ฟ้องในศาลกงสุลอังกฤษ ปรับโทษตามสมควรเหมือนกัน ส่วนผู้ที่ได้ฝากเครื่องเพชรให้นายสุวรรณซ่อมแซมก็ได้ของของตนกลับคืนไปแทบทุกคน เรื่องขโมยเครื่องเพชรก็เป็นอันยุติกันเพียงนี้
นายแก้ว
นายขวัญ