นายจรูญเศรษฐี
วันหนึ่งข้าพเจ้าพอทำงานเสร็จก็แวะไปที่บ้านนายทองอิน หมายว่าอยู่ว่างๆ จะไปนั่งคุยกันเล่น พอข้าพเจ้าเดินขึ้นไปถึงห้องเขียนหนังสือ แลเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งนั่งพูดอยู่กับนายทองอิน ข้าพเจ้าก็คิดจะกลับออกไปเสียจากห้องนั้นก่อน แต่นายทองอินแลเห็นข้าพเจ้าแล้วจึงพูดว่า
“พ่อวัดมาดีแล้ว ปิดประตูเสียก่อนแล้วมานั่งลงที่นี่หน่อยเถอะ”
ข้าพเจ้าก็ไปนั่งลงที่เก้าอี้ว่างริมโต๊ะเขียนหนังสือ สังเกตดูชายหนุ่มที่นั่งอยู่ก่อนแล้วนั้น เป็นคนอายุระหว่าง ๒๐ กับ ๒๕ หน้าตาก็เป็นผู้ลากมากดีแต่งตัวเรียบร้อย แต่ในเวลานั้นนุ่งผ้าดำพันแขนดำและหน้าตาก็เศร้าซึ่งทำให้ข้าพเจ้าทายได้ว่า คงจะมีญาติอะไรของเขาตายลงใหม่ๆ สักคนหนึ่ง ในเวลาที่ข้าพเจ้ากำลังดูชายหนุ่มอยู่นั้น นายทองอินแลดูข้าพเจ้าอยู่ แล้วแกก็พูดขึ้นว่า
“แกนึกทายถูกแล้ว ญาติของนายเจริญที่ตายนั้นมีข้อน่าสงสัยว่าจะไม่ได้ตายโดยธรรมดา”
ข้าพเจ้าตอบว่า “จริง ฉันกำลังนึกอยู่ยังงั้น”
ชายหนุ่มทำหน้าประหลาดใจแล้วถามว่า “เอ๊ะ นี่คุณทราบได้ยังไง ทายยังไงได้ถึงความที่นึกอยู่ในใจ”
นายทองอินตอบว่า “ไม่ยากเลย นายวัดกับฉันเป็นคนรู้จักกันมาช้านานแล้ว รู้ใจกันจนทายใจถูก นายวัดเขารู้อยู่ว่าคนที่มาหาฉันคงต้องมีเรื่องราวแปลกจากธรรมดา และเมื่อเห็นตัวคนนุ่งผ้าดำแล้ว การที่จะทายว่าญาติคุณตายก็ไม่ยากอะไรนัก”
ชายหนุ่มตอบว่า “จริงๆ ถ้ารู้เสียแล้วยังงี้ก็ดีไม่น่าจะเห็นยาก”
นายทองอินพยักหน้าแล้วจึงหันมาทางข้าพเจ้าแล้วพูดว่า “นี่แน่ะพ่อวัด ฉันจะขอแนะนำให้รู้จักกับนายเจริญ บุตรคุณพระจักรนารายณ์ เมื่อวานซืนนี้นายจรูญพี่ชายเขาตายลง ยังไม่มีบุตร เพราะยังงั้นนายเจริญจึงคาดว่าเขาคงจะได้มรดกพี่ชายบ้าง แต่ก็มาเกิดเหตุขึ้นที่อาจเป็นเครื่องทุ่งเถียงกันได้ นายเจริญมาปรึกษาฉัน แต่ฉันก็บอกเขาแล้วว่าฉันไม่ใช่หมอถ้อยหมอความ เพราะฉะนั้นในส่วนเรื่องพินัยกิจพินัยกรรมฉันจะแสดงความเห็นไม่ได้ ฉันจึงได้แนะนำนายเจริญให้ไปปรึกษาแกหรือนายพิณ ก็พอแกมาพอดี”
ข้าพเจ้าตอบว่า “ฉันมีความยินดีที่จะช่วยถ้าช่วยได้ แต่ขอให้นายเจริญเล่าความให้ฟัง”
นายเจริญก็เล่าความดังต่อไปนี้
“ท่านบิดาผมมีลูกสองคนเท่านั้น คือนายจรูญพี่ชายผมกับตัวผม เมื่อท่านจะตายท่านก็ได้ทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตร ๒ คนเท่าๆ กัน คุณพี่ผมเขาเป็นคนเก่งในทางหากิน เขาก็เอาเงินที่ได้ตามพินัยกรรมนั้นไปทำมาหากินจนมั่งมีเหลือใช้สอยส่วนตัวผมนั้นยังเด็กอยู่ ทั้งไม่เคยเป็นคนใช้เงินเป็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พอได้มรดกคุณพ่อมาก็ใช้สุรุ่ยสุร่ายไปตามแบบของผม คุณพี่ก็ตักเตือนผมหลายครั้ง จนลงปลายผมขัดคุณพี่ไม่ได้ก็เอาเงินที่ยังเหลืออยู่นั้น ไปฝากเพื่อนคุณพี่คนหนึ่งที่เขาทำโรงสีอยู่ ให้เขาช่วยจัดการใช้เงินนั้นให้เกิดผลประโยชน์ เขาจึงแนะนำว่าให้เข้าทำโรงสีด้วยกันกับเขา ข้าพเจ้าก็ตกลง มอบเงินให้เขาไปแล้วก็ไม่ได้เอาธุระอีกเลย เพราะเรื่องเงินทองผมไม่ได้เข้าใจเลยนอกจากในส่วนใช้จ่ายเพื่อความสุขของตนหรือเพื่อน ไม่ช้านักก็ได้ความว่าเจ้าเพื่อนคนทำโรงสีนั้นไม่ใช่คนดีจริง เหมือนคุณพี่หรือผมคาดหมาย พอเขาทำไปได้ไม่นานนักถึงวันดีคืนดีเขาก็ตีกินไปเสียสิงคโปร์หรือปีนังอะไรไม่ทราบ ผมก็เลยฉิบหายหมดตัว การที่คิดมั่งมีกลับกลายเป็นจนยิ่งกว่าคนขอทาน พอคุณพี่ทราบความก็เรียกตัวผมไป แล้วชวนให้ไปอยู่บ้านท่าน ผมก็ยอมโดยความยินดี เพราะเวลานั้นเงินผมสักอัฐสักฬสก็ไม่มี ใช่แต่เท่านั้น คุณพี่เก็บเอาไปเดือดร้อนว่าผมต้องฉิบหายไปเพราะคนที่ท่านแนะนำให้ ท่านจึงออกรู้สึกว่าท่านมีผิดอยู่ด้วยจะขอใช้เงินให้ผมตามที่ได้เสียหายไป แต่ผมก็ไม่ยอมรับ คุณพี่ก็อ้อนวอนไปร่ำไปจนลงปลายผมตกลงเป็นกู้เงินคุณพี่ ๕๐๐ ชั่ง เพื่อไปทำทุนคิดการค้าขายต่อไป การก็เป็นอันเรียบร้อยไปนาน อยู่มาเมื่อปลายปีกลายนี้คุณพี่เรียกผมไปพูดว่า ถึงได้ช่วยผมในการให้กู้เงินไปทำทุนแล้วก็จริง แต่ยังไม่คลายความรู้เลยว่าที่ผมฉิบหายครั้งก่อนนั้นเพราะตัวท่าน เพราะฉะนั้นท่านได้ตกลงทำหนังสือไว้แล้วว่า เมื่อตายลงตึกแถวที่ทางถนนเยาวราชรวมทั้งราคาที่และตึกในเวลาตายนั้นเป็นราคาประมาณ ๑๕๐๐ ชั่งนั้น ให้ตกเป็นของผม ผมจะทัดทานเท่าไรก็ไม่ฟัง กลับเอาหนังสือนั้นยัดเยียดส่งให้ผมไว้ลงปลายผมก็รับ อยู่มาไม่ช้านักคุณพี่ก็ได้ไปขอลูกสาวเพื่อนบ้านผู้หนึ่งชื่อนายพูนเป็นภรรยา ทั้งตาพูนทั้งแม่พันภรรยาพี่ผม ๆ ช่างดูไม่ถูกตาเสียจริงๆ ผมรู้สึกอยู่ว่าคุณพี่แต่งงานต่ำไป จริงอยู่คุณพี่ก็มีเงินอยู่พอไม่ต้องอาศัยของภรรยา แต่ความประสงค์ของผมนึกอยากให้ได้คนมีอันจะกินสักหน่อย ไม่ใช่คนจนเช่นคนที่ได้มาแล้วนั้น พอแต่งงานได้ไม่นานคุณพี่ก็ล้มเจ็บ เจ็บไม่กี่วันก็ตายลงเมื่อวานนี้ ผมไปจัดการเตรียมรดน้ำ ตาพันเมียงเข้ามาทางข้าพเจ้าอยู่นานแล้วจึงพูดว่า แกเสียใจแทนผม ผมถามแกว่าทำไม แกไม่ตอบว่ากระไร ควักหนังสือฉบับหนึ่งออกมาส่งให้ผมดู ผมพอเห็นก็ทราบว่าเป็นพินัยกรรมของคุณพี่ อ่านดูก็ได้ความว่าคุณพี่ยกมรดกให้ภรรยาเขาทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ตึกแถวซึ่งได้ทำหนังสือยกให้ผมไว้เดิมนั้น เปลี่ยนเป็นยกให้นายพันผู้เป็นบิดาภรรยา ใจผมหายวาบแต่ก็วางหน้าเฉยไม่พูดจาว่ากระไร จนจัดการรดน้ำศพคุณพี่เสร็จแล้วจะลงเรือนมา ผมจึงได้บอกกล่าวกับตาพันไว้ว่า ให้เตรียมตัวสู้ความตาพันแกยิ้มทำท่าทางชอบกล แล้วตอบว่าแกไม่กลัว”
ข้าพเจ้าถามว่า “พินัยกรรมของคุณพี่น่ะ คุณได้ตรวจละเอียดหรือ”
นายเจริญตอบว่า “ผมตรวจตลอด”
“ลายมือเซ็นชื่อ เป็นของนายจรูญแน่หรือ”
“เห็นในเวลานั้นผมก็ว่าแน่”
“มีพยานเซ็นเป็นหลักฐานดีหรือ”
“มีเรียบร้อย”
“นายจรูญเป็นคนสติบริบูรณ์ดีหรือ”
“ดี ทำไมคุณถาม”
“ถ้านายจรูญมีจิตฟั่นเฟือนบ้างจะได้มีทางฟ้องได้ว่า เมื่อเซ็นพินัยกรรมครั้งหลังนี้ได้กระทำในเวลาสติฟั่นเฟือนเมื่อเจ็บไม่มีเพ้อบ้างเลยหรือ”
ไม่มี ถ้ามีผมคงรู้ อีกอย่างหนึ่งที่ลงในพินัยกรรมนั้นเป็นพยานว่าทำแต่ก่อนเจ็บ”
ข้าพเจ้าสั่นศีรษะแล้วตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นจะหาข้อที่จะหยิบยกขึ้นฟ้องเห็นจะยาก”
นายเจริญทำหน้าสลดนั่งนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงพูดต่อไปว่า “ผมยังวางใจลงไปไม่ได้ว่าพี่ผมตายโดยธรรมดา”
ข้าพเจ้าตอบว่า “แผนกนี้ไม่ใช่ธุระของผมเป็นธุระนายทองอิน”
นายทองอินจึงพูดขึ้นว่า “อ๊ะ ฉันไม่ใช่เจ้ากรมกองตระเวนนี่ การชนิดนี้เป็นหน้าที่กองสอดแนมกรมกองตระเวน นายเจริญควรจะไปบอกเขาตามความสงสัย”
นายเจริญตอบว่า “ผมยังไม่อยากจะทำตึงตังขึ้น เพราะมันเป็นแต่การสงสัยในส่วนตัวผมเอง ไม่มีหลักฐานอะไรพอที่จะไปแจ้งความแก่กองตระเวน ถึงผมจะไปแจ้งความขึ้นบางทีเขาก็จะไม่เป็นธุระ”
นายทองอินพยักหน้าและตอบว่า “จริงอยู่”
นายเจริญพูดต่อไปว่า “ยังยิ่งกว่านั้น ถ้าจะคิดไปแล้ว คนที่เกลียดผมอาจพูดไปได้ว่า ผู้ที่มีสาเหตุที่จะฆ่าคุณพี่ก็มีอยู่แต่ผม เพราะคนอื่นๆ เขาเป็นผู้ที่ได้รับความกรุณาของพี่ผมทั้งนั้น มีแต่ผมคนเดียวที่เป็นผู้ขาดผลประโยชน์เพราะคุณพี่ทำพินัยกรรมใหม่”
นายทองอินหาตอบคำที่นายเจริญพูดนั้นไม่ แต่ถามขึ้นว่า “นายจรูญน่ะ เจ็บเป็นอะไร”
นายเจริญจึงเล่าว่า “เมื่อล้มเจ็บลงผมก็ไม่ได้อยู่ ไปหัวเมืองพึ่งกลับมาเมื่อวานซืนนี้ แต่ได้ความตามเขาเล่ากันว่า เมื่อก่อนหน้าจะเจ็บถึงล้มหมอนนอนเสื่อนั้น คุณพี่ได้บ่นๆ อยู่ว่ารับประทานอาหารไม่ได้ เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกปวดท้องเป็นกำลัง ครั้นตามหมอมาตรวจหมอก็บอกว่าเป็นท้องเสียจึงเขียนตำรายาให้ไว้ คุณพี่ก็ใช้ให้บ่าวไปให้เขาผสมที่ร้านขายยาตามตำราของหมอ ยานั้นรับประทานก็ไม่หาย กลับจะเป็นมากขึ้นอีก พอผมกลับมาถึงผมทราบว่าคุณพี่เจ็บก็ไปเยี่ยม เมื่อทราบอาการแล้วผมจึงบอกคุณพี่ว่า ผมรู้จักยาอยู่ขนานหนึ่ง เป็นยาดีสำหรับโรคเกี่ยวข้องด้วยท้อง ผมเองเคยรับประทาน คุณพี่ก็ขอให้ผมไปหามาให้ ผมจึงไปหาหมอเอียวที่เคยให้ยานั้นให้ผมรับประทาน แกก็จัดการผสมให้ผมขวดหนึ่ง ผมเอากลับมาไปให้คุณพี่ ส่วนคุณพี่พอได้รับประทานยาของผมเข้าไปครั้งหนึ่งก็บอกว่ารู้สึกสบายขึ้นทันที ผมจึงลากลับไปบ้านของผมอย่างเดิม แต่ก่อนจะกลับผมได้สั่งแม่พันไว้ว่าถ้ายานั้นหมดเมื่อใดให้ส่งขวดไปที่หมอเอียว ให้เขาผสมให้ใหม่ ข้าพเจ้าวางใจเสียแล้วว่าคุณพี่คงจะไม่มีอาการหนักหนา เพราะฉะนั้นพอเช้าวานนี้เขามาบอกว่าคุณพี่ตายแล้ว ผมตกตะลึงรู้สึกตัวชาไปทั้งตัว พอได้สติผมก็รีบไปบ้านคุณพี่เพื่อช่วยจัดการต่างๆ”
นายทองอินถามว่า “มีหมออะไรได้ไปตรวจหรือเปล่า”
นายเจริญตอบว่า “ผมถามแล้ว เขาบอกว่าเปล่า ผมถามว่าทำไมเมื่อคุณพี่มีอาการมาก จึงไม่ได้ตามหมอหรือบอกผม เขาก็ตอบว่าเขาไม่ได้ทราบว่าจะมีอาการมาก เพราะเห็นเมื่อรับประทานยาของผมเข้าไปแล้วดูสบายเข้าก็พากันวางใจไปนอนกันเสียหมด เป็นแต่ให้บ่าวอยู่ในห้องคุณพี่คนหนึ่ง ไล่เลียงเจ้าบ่าวคนนั้นก็ได้ความว่า คุณพี่ได้เรียกยารับประทานตอนดึกอีกครั้งหนึ่งแล้วก็นอนต่อไป ส่วนตัวมันเองพอเห็นนายหลับเรียบร้อยดีแล้วมันก็ไปนอน ครั้นรุ่งเช้ามันตื่นขึ้นเข้าไปในห้องนายเห็นนายนอนนิ่งนึกประหลาดใจ ไปปลุกคนอื่นมาดูแลเห็นว่าตายเสียแล้ว”
นายทองอินถามว่า “ก็ขวดยานั้นเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน”
นายเจริญตอบว่า “ผมไม่ทราบ แต่ผมรับประกันได้ว่าไม่มีอะไรในนั้นพอที่จะทำให้ตายได้”
“เข้าอะไรบ้างทราบไหม”
“จำไม่ได้”
“มีฝิ่นด้วยหรือเปล่า”
“ดูเหมือนมี แต่นิดเดียว”
นายทองอินโคลงศีรษะแล้วพูดว่า “คุณทำผิดทีเดียวในการที่ไม่เอาขวดยานั้นมาเสีย ที่น่ากลัวพวกศัตรูของคุณจะเอาไปใช้เป็นเครื่องทำลายคุณทีเดียว”
นายเจริญทำหน้าตกใจแล้วถามว่า “ยังไง”
นายทองอินตอบว่า “คุณเป็นผู้ไปเอายานั่นมาให้นายจรูญ พอนายจรูญกินยานั้นแล้วไม่กี่ชั่วโมงก็ตาย ยาที่เหลือติดก้นขวดนั้นเขาคงเอาไปให้นายตระเวน กองตระเวนคงให้หมอตรวจถ้าได้ความว่ามียาพิษปนอยู่ในนั้น ซึ่งผมเห็นว่า น่ากลัวจะเป็นของแน่ ความสงสัยต้องตกอยู่ที่ตัวคุณ”
นายเจริญหน้าซีดตบอกผาง “ตาย นี่ผมจะทำยังไง จะหนีไปไหนดี”
นายทองอินลุกไปจับไหล่นายเจริญไว้แล้วพูดว่า “ช้าก่อน อย่าตกใจเกินไป ทำอะไรต้องตริตรองให้รอบคอบ ถ้าคุณหนีหรือหลบหลีกอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว เป็นไม่ต้องสงสัยเลยว่ากองตระเวนจะเห็นว่าเป็นพยานแห่งความพิรุธของคุณ เพราะตามตำราของเขาว่าคนไม่มีผิดเป็นไม่ต้องหนี ตำรานี้ทำให้คนไม่มีผิดติดคุกไปมั่งแล้วก็มี เชื่อผมเถอะ ถ้าจะให้ดีอย่าคิดหลบคิดหนีเลย”
นายเจริญเลียริมฝีปากซึ่งแห้งผากแล้วถามว่า “ถ้ายังนั้นผมจะทำยังไง”
นายทองอินตอบว่า “อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ประพฤติตัวเหมือนเวลาธรรมดาของคุณ”
“ก็ถ้าโปลิศจับผมล่ะ”
“ก็ให้เขาจับ เมื่อเขาจับก็ไปกะเขาดีดี ขอให้ระวังทำให้ดีดีไว้ เขาจะถามอะไรก็ตอบไปตามความจริง ถ้าถามยักย้ายมาก็ตริตรองเสียก่อนแล้วตอบ ที่รู้ก็ตอบว่ารู้ ที่ไม่รู้ก็ตอบว่าไม่รู้”
“อ้ายเรื่องยานั่น”
“พยานเรามีนี่นา หมอเอียวแกเป็นพยานเราอยู่ทั้งคนเทียวนี่จะต้องกลัวอะไร”
“จริงอยู่ แต่เผื่อเขาจะว่าผมมาเติมยาพิษเอาเองทีหลัง”
“เป็นอยู่ เขาอาจว่าได้ ก็คุณจำได้ไหมว่ามีใครไปกะคุณหรือเปล่าวันนั้น”
“มีแต่แขกขับรถ”
“ก็ใช้ได้ มันก็เป็นพยานได้ว่าคุณไม่ได้แวะที่ไหน ตรงไปตรงมา”
“เผื่อเขาว่าไม่เป็นหลักฐาน เพราะเป็นคนลูกจ้างของผมเองล่ะ”
“เอาเถอะ อย่าวิตกเลย พ่อวัดกับผมจะจัดการให้ได้ไม่ให้คุณต้องเสียเลย ขอให้ไว้ใจผมเถอะ”
นายเจริญได้ฟังนายทองอินพูดดังนั้นก็นิ่ง แต่ท่าทางดูไม่สู้สบายแท้ นายทองอินหาน้ำชาให้รับประทานและให้บุหรี่ฝรั่งสูบมวนหนึ่ง ดูค่อยสบายขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็ลานายทองอินไป พอนายเจริญเดินออกประตูไป นายทองอินก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้ หยิบหมวกกับไม้เท้า ข้าพเจ้าก็ลุกขึ้นบ้างเหมือนกัน เพราะไม่แน่ใจว่านายทองอินจะไปไหนหรือทำอะไร แต่ยังไม่ทันจะถามนายทองอินก็พูดขึ้นว่า
“ฉันจะไปบ้านนายพูน แกจะคอยอยู่ที่นี่ก่อนก็ได้”
ข้าพเจ้าถามว่า “ไปด้วยไม่ได้หรือ”
นายทองอินนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงรับว่าได้ นายทองอินกับข้าพเจ้าจึงพากันลงจากเรือน รถของข้าพเจ้าคอยอยู่หน้าบ้าน นายทองอินก็โดดขึ้นไปนั่งเสร็จโดยข้าพเจ้าไม่ต้องเชิญเลย ข้าพเจ้าก็ขึ้นตามไปโดยไม่ต้องพูดจาอะไรกัน ข้าพเจ้านั้นไม่รู้จักทางว่าบ้านนายพูนอยู่ตรงไหน แต่นายทองอินนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงรู้เพราะเห็นจับบังเหียนได้ก็ขับรถเรื่อยไป แต่ก็หาได้ไปบ้านนายพูนไม่ ไปหยุดที่หน้าออฟฟิศกระทรวงนครบาล แล้วก็พากันขึ้นไปหาท่านผู้บัญชาการกองสอดแนม ท่านผู้นี้ดูท่าทางกำลังมีงานทำมาก พอแลเห็นนายทองอินก็พยักหน้าแล้วชี้เก้าอี้ให้นั่ง แต่นายทองอินหานั่งไม่แสดงความขอบใจแล้วพูดว่า
“ผมได้ยินว่านายจรูญตายด้วยอาการซึ่งน่าสงสัยอยู่หน่อยไม่ใช่หรือขอรับ”
ท่านปลัดกรมตอบว่า “ยังงั้น”
นายทองอินจึงถามต่อไปว่า “ก็ผมจะช่วยบ้างได้หรือไม่ขอรับ”
ท่านปลัดกรมตอบว่า “อ๋อไม่จำเป็น เรื่องราวดูจะสืบไม่ยากอะไร คุณจะมาเป็นธุระเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ดูเสียเวลาคุณเปล่าๆ”
นายทองอินถามว่า “ถ้ายังงั้นคุณจะให้ผมเข้าใจว่า คุณไม่ต้องการให้ผมช่วยเลยในเรื่องนี้นะขอรับ”
ท่านปลัดกรมตอบว่า “ยังงั้น จริงหรอกพวกผมมันไม่ใคร่ได้เรื่องจึงต้องอาศัยคุณอยู่บ้าง แต่ครั้งนี้ดูง่ายพอที่จะทำไปให้สำเร็จได้โดยลำพัง”
นายทองอินถามว่า “สั่งจับตัวผู้สงสัยแล้วหรือยังขอรับ”
ท่านปลัดกรมตอบว่า “สั่งแล้ว”
นายทองอินยิ้มแล้วพูดว่า “ผมทายไม่ผิดเลย ผมได้บอกกับตัวเขาแล้วว่า กองตระเวนคงจะจับตัวเขา แต่ผมก็แนะนำเขาแล้วว่าอย่าให้หลบหนีให้ยอมเสียดีๆ”
ท่านปลัดกรมจ้องหน้านายทองอินแล้วถามว่า “คุณพูดถึงใคร”
นายทองอินตอบว่า “ก็นายเจริญน่ะซีขอรับจะใครเสียอีกเล่า”
ท่านปลัดกรมแลดูหน้านายทองอินนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง ไม่ว่ากระไร นายทองอินจึงพูดต่อไปว่า
“คุณได้บอกผมแล้วว่าคราวนี้ไม่ต้องการให้ผมช่วย ผมต้องขอบอกคุณไว้ว่า ตัวผมนั้นไม่จำเป็นต้องทำการแต่เฉพาะเพื่อประโยชน์ของกองตระเวนเสมอ แต่คุณก็ทราบอยู่แล้วว่า ถ้ากองตระเวนต้องการตัวผมเมื่อไรก็ยินดีมาช่วยทุกที เมื่อเกิดความอะไรขึ้นผมย่อมรอให้กองตระเวนหาผมก่อน ต่อเมื่อกองตระเวนไม่ต้องการให้ผมช่วยแล้ว ผมจึงจะรับช่วยฝ่ายจำเลย ผมลาที”
นายทองอินก็ออกเดินจากห้องทันที ไม่ทันให้ท่านปลัดกรมตอบว่ากระไร เดินตรงไปขึ้นรถขับไปบ้านนายพูน ครั้นถึงที่บ้านนั้นแล้วก็พากันขึ้นไป นายพูนออกมาต้อนรับถามว่ามีธุระอะไร นายทองอินตอบว่า
“ฉันชื่อนายอินเป็นหมอ นี่ชื่อนายวัดเป็นหมอความ นายเจริญให้มาสืบเรื่องพินัยกรรมของพี่ชายเขา”
นายพูนลุกเข้าไปในห้อง หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งส่งมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอ่านดูได้ความว่าเป็นพินัยกรรมของนายจรูญ มีข้อความตามที่นายเจริญได้เล่า ข้าพเจ้าตรวจดูรายละเอียดเพื่อจะหาช่องจับยกขึ้นฟ้อง ก็ไม่แลเห็น นายทองอินรับไปจากข้าพเจ้าตรวจดูอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถามขึ้นว่า
“นายจรูญเมื่อเซ็นหนังสือนี้ป่วยแล้วหรือยัง”
นายพูนตอบว่า “ยังไม่มีอาการป่วยไข้อะไรเลย”
“นายจรูญป่วยอยู่ได้กี่วันก่อนตาย”
“ป่วยอยู่ได้ ๔ วัน หรือ ๕ วัน”
“เป็นโรคอะไร”
“หมอเขาว่าท้องเสีย”
“หมออะไร”
“หมอลัมซั่น”
“เขาให้ยากินหรือ”
“เขียนให้ไว้ในกระดาษ แล้วให้บ่าวที่นี่ไปเอาที่ห้างขายยา”
“ถ้ายังงั้นก็เห็นจะไม่มีอะไรที่จะเถียงได้ในส่วนพินัยกรรม เดิมฉันสงสัยอยู่ว่าบางทีนายจรูญจะเซ็นในเวลาเจ็บลงแล้ว เป็นธรรมเนียมของหมอความเขาต้องหาทางไปยังงั้นเอง เขาถึงไปถามฉันมาเพื่อจะให้แน่เสียในข้อที่ว่า ผู้ตายได้เซ็นในเวลาสติสมบูรณ์ พอฉันได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้แล้วก็หมดหน้าที่”
นายพูนพยักหน้าและพูดว่า “จริงๆ ฉันเองก็ไม่อยากให้มีข้อสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ในส่วนตัวฉันหรือลูกสาวฉันว่าคดว่าโกงอย่างใดอย่างหนึ่ง”
นายทองอินตอบว่า “ถูกๆ ฉันช่วยยินดีด้วย ในการที่ตัวท่านกะบุตรสาวได้ลาภ”
นายพูนทำหน้าสลดแล้วพูดว่า “ก็จริงอยู่ฉันนะเป็นคนจน แต่ว่าถ้าต้องได้เงินเพราะลูกเขยตายเช่นนี้ ทำให้หมดความสุขในสมบัตินั้นไปไม่มากก็น้อย”
นายทองอินพยักหน้าและตอบว่า “แน่ทีเดียวฉันเข้าใจ เออนายจรูญกะลูกเขยคนเก่าของท่านคนไหนจะดีกว่ากัน”
นายพูนสะดุ้งแต่ก็ทำหน้าตาเฉยแล้วถามว่า “ลูกเขยเก่าที่ไหน”
นายทองอินตอบว่า “นายเสงลูกอากรเหล็งน่ะยังไงล่ะ ได้ลูกสาวท่านเป็นภรรยาไม่ใช่หรือ”
นายพูนตอบว่า “ท่านเห็นจะทราบผิดไปเสียแล้ว ลูกสาวฉันมีอยู่แต่แม่พันคนเดียว แม่พันก็พึ่งเคยแต่งงานครั้งเดียว”
นายทองอินรับว่า “ยังงั้นฉันเห็นจะผิดไป ฉันได้ทราบว่านายเสงได้ลูกสาวท่านเป็นภรรยา พออยู่กินด้วยกันสักหน่อยนายเสงก็ตาย เขาเล่ากันเป็นกิจลักษณะว่า เมื่อก่อนตายนายเสงได้ทำพินัยกรรมยกมรดกให้แก่ภรรยา แล้วส่วนพ่อตานั้นได้เงินสองพันชั่งกว่า ฉันเข้าใจว่าท่านเทียว”
นายพูนพูดจาแข็งแรงว่า “ไม่ใช่ๆ แต่ดูหน้าตาไม่สู้สนิทนัก”
นายทองอินพูดต่อไปว่า “เขาชี้ให้ฉันเป็นแน่นอนว่าท่านแหละเป็นพ่อตานายเสง ฉันก็จดจำไว้แน่นอน แต่นั่นแหละบางทีจะผิดไปได้ แต่ก็น่าประหลาดนักที่มีคนในกรุงเทพฯ อยู่สองคนหน้าตาเหมือนกันราวกับพิมพ์เดียวกัน”
นายพูนทะลึ่งขึ้นแล้วพูดด้วยเสียงอันดังว่า “ตัวแกจะเป็นคนชนิดไรก็ไม่ทราบ แต่แกไม่มีหน้าที่จะมานั่งหมิ่นประมาทฉันในบ้าน”
นายทองอินตอบว่า “ฉันไม่หมิ่นประมาทอะไรแกเลย เป็นแต่พูดกันดีๆ ถึงลูกเขยเก่าของแก”
นายพูนแสดงอาการโกรธมากและพูดว่า “ถ้าไม่ลงจากเรือนไปเดี๋ยวนี้ละก็ได้เล่นงานกันล่ะ”
นายทองอินก็ลุกขึ้นและพูดว่า “ถ้าแกนึกว่าฉันหมิ่นประมาทเชิญแกไปฟ้องในโรงศาลเถอะ ฉันจะสู้ความแก เพราะความที่ฉันพูดน่ะฉันรู้อยู่ว่าเป็นความจริง”
พูดดังนั้นแล้วก็ลงเรือนมา สังเกตหน้าตานายทองอินดูพอใจอยู่มาก พอจะออกจากประตูบ้าน พบชายผู้หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเดาว่าเป็นคนใช้ของนายพูนยืนอยู่ข้างประตู นายทองอินเดินตรงไปที่เจ้าคนนั้นแล้วพูดว่า
“เย็นวันนี้ย่ำค่ำไปหาที่บ้าน”
ชายผู้นั้นแลดูหน้านายทองอินครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “นายว่ากระไรผมไม่เข้าใจ”
นายทองอินยิ้มแล้วพูดว่า “เออ แล้วไปเถอะ แกต้องทำตามที่แกเห็นว่าถูก ถ้าย่ำค่ำวันนี้แกยังไม่ถึงบ้านฉัน คืนวันนี้แกก็นอนในกรงที่โรงพักเท่านั้นแหละ ไม่ต้องคิดหนีไม่มีประโยชน์เลย แกรู้อยู่แล้วว่าหนีฉันไม่พ้นเป็นขาด เลือกเอาเถอะว่าจะไปบ้านฉันหรือไปเข้ากรง”
พูดดังนั้นแล้วนายทองอินก็ขึ้นรถ พอขับไปได้หน่อยพบนายแจ่มแต่งเป็นกุ๊ยยืนอยู่ริมถนน นายทองอินขับรถเข้าไปใกล้ที่นายแจ่มยืนก้มลงไปพูดว่า “ระวังอ้ายเหมือน” แล้วก็ขับรถต่อไป ข้าพเจ้าคอยจะให้นายทองอินอธิบายเรื่องราวก็หาอธิบายไม่ ข้าพเจ้าอยากทราบจนใจเต้นแต่ทราบอยู่ว่า ถ้านายทองอินจะบอกอะไรแกบอกเองไม่ต้องให้ถาม แต่ถ้าแกจะไม่บอกแล้วถึงถามก็ไม่บอก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าถึงไม่ถาม เลยขับรถนิ่งไปจนถึงบ้านนายทองอิน
ครั้นเวลาย่ำค่ำแล้วไม่กี่นาที เจ้าคนที่ได้พบประตูบ้านนายพูนก็มาหานายทองอิน สังเกตดูหน้าตาท่าทางเป็นคนฉลาดอย่างโกงๆ แต่ก็หน้าตาดี อายุประมาณ ๒๔ หรือ ๒๕ เมื่อมาหานายทองอินนั้นเห็นได้ว่าเขาพยายามจะแสดงกิริยาไม่สะทกสะท้าน แต่วางหน้าไม่สนิทแท้ เดินตรงเข้ามาจนใกล้แล้วนั่งไหว้ นายทองอินพยักหน้ารับและพูดกับข้าพเจ้าว่า “พ่อวัด ฉันขอนำให้แกรู้จักนายเหมือน เดิมเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกแล้วถูกไล่ออกจากโรงเรียนไปหากินเป็นเสมียน เผอิญเกิดอุตริคิดปลอมลายมือผู้ที่เขาจ้างตัวเซ็นเช็คไว้เสร็จแล้ว แต่เคราะห์ดียังไม่ทันเอาไปขึ้น ฉันรู้ความเข้าจึงแนะนำให้เขาลาออกเสียจากที่ทำการ เพราะบิดานายเหมือนกับบิดาฉันเคยเป็นเกลอกันมา ฉันจึงไม่อยากให้นายเหมือนติดคุก ตั้งแต่นั้นมาฉันก็ได้คอยดูแลคุ้มเกรงรักษานายเหมือน คล้ายเทวดาประจำตัวเขาทีเดียว แต่ตัวเขาเองบางทีก็นึกว่าหนีฉันพ้น แต่ข้อนี้เขาเข้าใจผิด ยังไงเหมือนอยู่กับตาพูนสบายดีดอกหรือ”
นายเหมือนแลดูหน้านายทองอินแล้วตอบว่า “ก็สบายดี”
“เงินทองพอใช้หรือ”
“ก็พอ”
“ได้เงินเดือนๆ ละเท่าไร”
“ไม่ได้เงินเดือน”
“ฮือ ยังงั้นได้ยังไงล่ะ”
“ได้ เป็นครั้งเป็นคราว”
“อ้อ ได้เป็นคราวๆ ตามแต่การที่เราทำยังงั้นซิน่ะ”
“ยังงั้น”
“ครั้งนี้ได้เท่าไรล่ะ”
“ครั้งไหน”
“ครั้งนี้น่ะซี ครั้งหลังที่สุดนี่แหละ”
“ครั้งนี้อะไรผมไม่เข้าใจ”
“คิดอ่านให้เข้าใจเสียดีกว่า เช็คที่แกเซ็นแทนนายแกครั้งนั้นน่ะ มันยังอยู่น่ะ”
“ก็ถ้าคุณอยากทราบข้อไหนก็ถามผมตรงๆ ถ้าผมตอบได้ก็จะได้ตอบ”
“แกเข้าใจดีแล้วทีเดียวว่าฉันถามถึงเรื่องพินัยกรรมนายจรูญ แกเป็นคนเขียนไม่ใช่หรือ”
“ผมเป็นคนเขียน ก็หน้าที่ผมสำหรับเป็นเสมียนเขาผมก็ต้องเขียน”
“เออพูดกันตรงๆ ยังงี้ซิดี ลายมือแกน่ะถึงจะดัดยังไงฉันก็จำได้ ก็แกเซ็นแทนนายจรูญด้วยหรือเปล่าล่ะ”
“เปล่าเลย นายจรูญเซ็นเอง”
“ฮือ ยังงั้นแกเป็นแต่แก้ไขหรือ”
“แก้ไขยังไง”
“แกควรจะรู้ดีกว่าฉันว่าแก้ไขยังไง แต่ถ้าจะให้ฉันบอกก็ได้ แกแก้ชื่อนายเจริญเป็นนายพูนที่ตอนกล่าวถึงเรื่องยกตึกให้นั่นไม่ใช่หรือ”
“จริงผมแก้ตรงนั้น”
“ดีแล้ว รับเสียดีๆ ยังงี้ เออนี่แน่ะแกรู้ไหมว่านายเจริญเอายาไปให้พี่ชายเขาเวลาไร”
“เวลาประมาณสักย่ำค่ำ”
“แล้วนายจรูญกินยานั่นทันทีหรือ”
“ผมไม่ทราบ ผมไม่ได้ไปอยู่ใกล้ที่เรือนเขา”
“ตาพูนอยู่ที่นั่นหรือเปล่า”
“อยู่ที่นั่น”
“คืนวันนั้นตาพูนไปไหนมั่งหรือเปล่า”
“ไปเวลาประมาณยามเศษ จะไปไหนไม่ทราบ”
“แล้วกลับเมื่อไร”
“กลับสัก ๔ ทุ่ม”
“ถืออะไรมาด้วยหรือเปล่า”
“ไม่เห็นถืออะไร”
“ไปยังไง มีใครไปด้วยหรือเปล่า”
“เดินไป มีบ่าวไปด้วยคนหนึ่งชื่ออ้ายมาก”
“แกไม่รู้ไม่เห็นอะไรในเรื่องนี้อีกเลยหรือ”
“ไม่ทราบเลย เป็นความสัตย์จริง”
“ฮือ เอาเถอะ แกเตรียมเป็นพยานฝ่ายฉันนะ ฉันไม่ให้แกต้องเสียประโยชน์หรอก”
แล้วนายทองอินก็อนุญาตให้นายเหมือนไป เย็นวันนั้นนายทองอินออกไปเที่ยวซอกแซกต่อไปอีก แต่หาได้ให้ข้าพเจ้าไปด้วยไม่ ครั้นรุ่งเช้าข้าพเจ้าแวะไปหาก่อนไปออฟฟิศ ถามข่าวคราวนายทองอินก็ตอบว่าได้สมประสงค์แล้ว ให้ข้าพเจ้ารับเป็นทนายนายเจริญเถิด แล้วนายทองอินก็ชี้แจงเหตุการณ์ให้ข้าพเจ้าฟังตลอด เพื่อข้าพเจ้าจะได้ทราบทางแก้คดี
ครั้นถึงกำหนดวันนัดพิจารณาคดีระหว่างกรมกองตระเวนโจทก์นายเจริญจำเลย ข้าพเจ้าก็ไปในหน้าที่ทนายจำเลย โจทก์หาว่าจำเลยได้ฆ่าพี่ชายโดยวางยาพิษ จำเลยให้การปฏิเสธ พยานฝ่ายโจทก์ก็มีอยู่คือ พันภรรยานายจรูญผู้ตายกับนายพูน ฝ่ายโจทก์กล่าวว่าสาเหตุที่จะทำให้จำเลยกับผู้ตายมีข้อบาดหมางกันก็คือ เดิมนายจรูญผู้ตายได้ทำหนังสือพินัยกรรมยกที่ตึกแถวทางถนนเยาวราชให้กับจำเลย ภายหลังนายจรูญได้ทำพินัยกรรมยกที่ตึกรายนี้ให้แก่นายพูน บิดาพันภรรยา ฝ่ายจำเลยแก้ความในข้อนี้ว่าจำเลยไม่ได้ทราบเลย ว่าพี่ชายได้กระทำพินัยกรรมยกตึกนี้ให้นายพูน ทั้งมีพยานด้วยว่าที่จริงนายจรูญก็มิได้ทำพินัยกรรมเช่นนั้น พยานที่เรียกก็คือนายเหมือนซึ่งแสดงขึ้นในศาลปรากฏว่า นายพูนได้สั่งให้ตนแก้พินัยกรรมและได้ให้เงินตนถึง ๕ ชั่ง เมื่อความปรากฏขึ้นเช่นนี้ กองตระเวนผู้เป็นโจทก์ก็ถอนฟ้อง ศาลก็จำต้องสั่งให้ปล่อยจำเลย
ส่วนนายพูนนั้น กองตระเวนก็เลยจับตัวขึ้นศาลต่อไป นายทองอินนายเหมือนกับอ้ายมากเป็นพยานฝ่ายโจทก์ กรมอัยการฟ้องหาว่านายพูนได้วางยาพิษไม่ใช่แต่นายจรูญทั้งนายแสงด้วย เมื่อพิจารณาคดีเรื่องนี้จึงได้ความว่า ทั้งภรรยานายจรูญและภรรยานายแสงหาใช่บุตรีนายพูนจริงไม่ นายพูนไปจ้างมาทั้งสองคน ทั้งสองครั้งนายพูนได้จัดการล่อลวงให้เขาเชื่อว่าหญิงนั้นเป็นบุตรีตนและครั้นแต่งงานแล้วสักหน่อยก็ยุยงให้ทำพินัยกรรม แล้วก็จัดการวางยาพิษเสีย ครั้งนายแสงนั้นไม่เกิดเหตุเพราะเผอิญเวลานั้นกำลังโรคปัจจุบันชุม จึงไม่มีใครสงสัย ตายลงไปโดยรวดเร็ว ครั้งนี้โรคปัจจุบันไม่ได้มีชุกชุมอยู่อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งนายพูนโลภอยากได้ตึกแถวที่นายจรูญยกให้น้องชาย จึงต้องคิดแก้พินัยกรรม และคิดปัดความผิดไปให้นายเจริญเสียด้วย เผอิญนายเจริญมาหานายทองอิน ส่วนนายทองอินนั้นได้ทราบเรื่องนายแสงอยู่แล้ว และถึงแม้ในครั้งนั้นนายพูนจะเรียกตนอย่างอื่นอยู่ก็จริง แต่สังเกตดูวิธีที่จะทำนั้นคล้ายกับครั้งหลังนักจึงพยายามจับจนได้ ในส่วนเรื่องนายจรูญนั้นได้ความตามคำให้การของอ้ายมากพยานว่า เมื่อคืนวันก่อนนายจรูญจะตายนั้น นายเจริญน้องชายได้เอายาไปให้พี่ชายกิน ครั้นเวลาประมาณยามเศษ นายพูนได้ไปร้านขายยาแห่งหนึ่ง อ้ายมากตามไปด้วย ไปซื้อยาอะไรอ้ายมากไม่ทราบ ครั้นกลับมาถึงบ้าน นายพูนใช้ให้อ้ายมากขึ้นไปหยิบขวดยาที่นายเจริญเอามานั้นลงมาให้ นายพูนเทยานั้นลงในถ้วยปนกับน้ำ เอายาที่ซื้อมาใหม่ปนลงไป แล้วตรอกลงในขวดอย่างเดิมและให้อ้ายมากเอากลับขึ้นไปไว้ อ้ายมากไม่สงสัยว่ายาที่นายแสงผสมลงไปใหม่นั้นเป็นยาพิษ เพราะเข้าใจว่านายตนเป็นหมอ เพราะได้เคยเห็นให้ยาคนกินเนืองๆ ถึงครั้งนายแสงนายพูนก็ได้ผสมให้ด้วยเหมือนกัน เมื่อเรียกผู้ขายยาที่ร้านที่นายพูนไปนั้น ก็ให้การว่าได้ซื้อยาสตริกนินไปว่าจะวางยาเบื่อสุนัข เมื่อได้ความเช่นนี้แล้วก็เป็นอันหมดข้อสงสัยว่านายพูนได้วางยานายจรูญจริง ศาลจึงพิพากษาลงโทษอ้ายพูนถึงประหารชีวิต ผู้ที่ทราบเรื่องราวตลอดแล้วก็เห็นพร้อมกันว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ส่วนนางพันภรรยานายจรูญนั้นชะรอยจะกลัวภัยจะถึงตัวเลยหนีสูญหายไป เพราะฉะนั้นมรดกก็เลยตกอยู่กับนายเจริญ ซึ่งบัดนี้ทำมาค้าขายดีเป็นเศรษฐีมาจนทุกวันนี้
นายแก้ว
นายขวัญ