ผู้ร้ายฆ่าคนที่บางขุนพรหม
เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องของนายอำเภอทับกวางตลอดและได้สนทนากันบ้างตามที่ข้าพเจ้าได้เล่าแล้ว นายอำเภอทับกวางก็ลากลับไป แต่เมื่อก่อนจะไปนั้น ได้บอกกับข้าพเจ้าว่าได้รับอนุญาตให้พักราชการชั่วคราว เพราะฉะนั้นจะขอมาหาสนทนากับข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าก็แสดงความยินดีเชิญให้มา เมื่อมาทีไรก็ได้ซักถามข้าพเจ้าถึงการที่นายทองอินได้ทำมาแต่ก่อน ข้าพเจ้าก็เล่าให้ฟังหลายเรื่อง บางเรื่องข้าพเจ้าก็ได้ส่งมาลงพิมพ์ให้ท่านทั้งหลายอ่านแล้ว บางเรื่องก็ยัง บัดนี้ข้าพเจ้าจะจัดมาลงพิมพ์ต่อไปตามแต่จะมีเวลาแต่ง
เรื่องที่ข้าพเจ้านึกออกเวลานี้ก็เป็นเรื่องชอบกล เป็นเรื่องคนถูกฆ่าด้วยอาการน่าประหลาด นี่ท่านผู้อ่านคงนึกในใจว่าอะไรมีแต่เรื่องฆ่ากันตายกับเรื่องขโมยร่ำไป ข้าพเจ้ายอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง เพราะความจริงผู้ร้ายโดยมากก็เห็นมีแต่ขโมยหรือฆ่าคน ที่ทำผิดอย่างอื่นๆ นานๆ จะมีสักครั้งหนึ่งที่น่าเล่า ข้าพเจ้าเห็นว่าที่จริงเป็นของประหลาดอยู่ที่ผู้ร้ายช่างมีความคิดใช้วิธีต่างๆ เพื่อประพฤติชั่ว เพราะฉะนั้นถึงผลจะเหมือนกันวิธีก็คงต่างกัน จึงกล้านำเรื่องฆ่ากันตายมาเล่าซ้ำกันย่อยๆ พูดเพ้อเจ้อมามากแล้ว จับเรื่องเสียที
ในสมัยแห่งเรื่องนี้ข้าพเจ้ายังมิได้มีภรรยา เพราะฉะนั้นเวลานั้นข้าพเจ้าเช่าบ้านอยู่ด้วยกันกับนายทองอิน เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าตื่นขึ้นออกมาที่เฉลียงเห็นนายทองอินนั่งอยู่ที่นั่นแล้ว มือถือกระดาษเล็กๆ แผ่นหนึ่งคิ้วขมวด พอเห็นข้าพเจ้านายทองอินสั่นศีรษะแล้วพูดว่า
“พ่อเจ้าประคุณตื่นสายจริงนะ หิวข้าวออกแย่แล้วละ”
ข้าพเจ้าถามว่า “ก็ทำไมแกถึงไม่กินเสียก่อนละ คอยฉันทำไมไม่จำเป็นเลย”
นายทองอินหัวเราะแล้วพูดว่า “เปล่าหรอก ฉันไม่ได้ตั้งใจคอยแกหรอก แต่นั่งนึกอะไรมันเพลินไปก็เลยไม่ได้เรียกข้าวมากิน จนเห็นหน้าแกเข้าถึงได้รู้สึกหิวเชียบขึ้นมา”
“เอ๊ ทำไมเห็นหน้าฉันถึงต้องหิวข้าวด้วยล่ะ”
“ก็เพราะแกเป็นพนักงานสำหรับเตือนให้ฉันกิน ฉันนอนอยู่เสมอนี่ ถ้าฉันไม่ได้แกไว้ท่าเห็นจะผอมแห้งตาย ฉันมันเป็นคนชอบกลลืมกินก็ได้ลืมนอนก็ได้”
ข้าพเจ้ารีบเรียกบ่าวให้ยกสำรับขึ้นมา ครั้นบ่าวไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงถามขึ้นว่า “เรื่องสำคัญหรือ”
นายทองอินแลดูตาข้าพเจ้าแล้วพูดว่า “แกนี่ช่างสังเกตขึ้นมากเทียว” แล้วก็ส่งกระดาษที่ถืออยู่นั้นให้ข้าพเจ้าดู ในนั้นมีเป็นหนังสือจากนายบุญเชิดสารวัตรแขวงบางขุนพรหมว่าขอพบนายทองอินสักหน่อย เพราะมีเรื่องสำคัญ นายบุญเชิดผู้นี้นายทองอินเมตตามาก ส่วนนายบุญเชิดก็นับถือนายทองอินคล้ายๆ อาจารย์ เมื่อมีเรื่องสำคัญเห็นว่าจะทำไปไม่สำเร็จโดยตนเองแล้วก็มาหาขอความแนะนำของนายทองอินเสมอ
เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือนั้นแล้วก็ส่งคืนไป นายทองอินจึงถามขึ้นว่า “ยังไรพ่อวัด แกทายถูกไม่ใช่หรือว่าจะเป็นเรื่องอะไร”
ข้าพเจ้าพยักหน้าแล้วตอบว่า “คงจะเป็นเรื่องฆ่ากันที่บางขุนพรหมที่อ้ายบ่าวๆ มันเอามาลือกันเมื่อคืนนี้”
นายทองอินรับว่า “แน่ทีเดียว ประเดี๋ยวบุญเชิดก็มาคอยฟังว่าจะออกความเห็นอย่างไรบ้าง”
ครั้นรับประทานแล้วนั่งคอยอยู่สักครู่หนึ่งนายบุญเชิดก็มา นายทองอินทักทายปราศรัยเสร็จแล้ว ก็ถามว่า “มีธุระอะไร”
นายบุญเชิดตอบว่า “เรื่องฆ่ากันที่บางขุนพรหม”
“เรื่องราวมันเป็นอย่างไร”
“เมื่อวานนี้เวลาประมาณเที่ยงเศษ บ่าวนายรอดที่ริมวัดสารพัดช่างมาแจ้งความกับผมว่านายถูกผู้ร้ายฆ่าตายเสียแล้ว ผมซักไซ้ดูก็ได้ความว่าไม่ทราบว่ามีสาเหตุอันใด ไม่ได้มีทะเลาะเบาะแว้งกับใคร กลางคืนวันก่อนเวลา ๔ ทุ่มเศษ นายรอดก็ได้เข้าไปนอนเหมือนเคย รุ่งขึ้นเช้าบ่าวจัดข้าวปลาเตรียมไว้แต่โมงหนึ่งตามเคยจน ๒ โมงก็ยังไม่เห็นนายรอดลุกขึ้น ๓ โมงแล้วก็ยังนิ่งเงียบอยู่ บ่าวๆ ก็พากันนึกเสียว่า ตอนกลางคืนคงจะนอนไม่หลับจึงตื่นสาย แต่ครั้นถึง ๕ โมงยังไม่ตื่นภรรยานายรอดออกสงสัยกลัวผัวจะป่วย จึงเข้าไปในห้องสักครู่หนึ่งเสียงร้องกรีดแล้วร้องเรียกบ่าวเอะอะ พวกบ่าวๆ พากันเข้าไปจึงเห็นนายรอดนอนอยู่กลางห้องข้าวของในห้องกระจัดกกระจาย ที่คอนายรอดมีเลือดเปื้อนกรังอยู่ และเลือดไหลลงมาเปื้อนอยู่ที่พื้นเป็นกองใหญ่ ใครๆ ก็แลเห็นได้ว่า นายรอดสิ้นใจเสียก่อนนั้นนานแล้ว
“เออ แล้วยังไงอีกเล่า”
“ผมก็รีบไปที่บ้านนายรอด ตรวจดูศพก่อนอื่น เห็นแผลยาวที่คอหอยลึกมาก สังเกตได้ว่าอ้ายผู้ร้ายได้ใช้มีดอย่างคมมาก ส่วนข้าวของนั้นก็กระจัดกระจาย เหมือนคำเจ้าเจียมบ่าวกล่าว ซึ่งเป็นพยานว่านายรอดได้ต่อสู้กับอ้ายผู้ร้าย”
“ถูก ถูก มีอะไรอีกมั่งที่แกได้สังเกตไว้”
“ผมสังเกตเห็นที่แขนนายรอดมีรอยฟันกัดอยู่แห่งหนึ่ง”
“ดีมาก ฟันบอกได้ไหมว่ารูปพรรณสัณฐานเป็นยังไง”
“แหลมๆ เล็กๆ ดูเป็นรอยคล้ายฟันลิงมากกว่าคน แต่โตกว่าลิง”
“แผลกัดนะลึกหรือ”
“เข้าลึกอยู่ครับ ลึกเกือบกระเบียดหนึ่ง”
“ชอบกล แกมีความเห็นยังไงในเรื่องนี้มั่งไหมล่ะ”
“ถ้าจะสังเกตตามรอยกัดก็เห็นจะต้องว่าเด็ก”
“ฮือ เด็กจะใจเหี้ยมโหดถึงฆ่าคนได้อย่างร้ายกาจยังงั้นเทียวหรือ”
“ข้อนี้ผมได้นึกแล้ว จึงคะเนว่าคงมา ๒ คนด้วยกัน เด็กคนหนึ่งผู้ใหญ่คนหนึ่ง เจ้าเด็กคงจะเป็นคนมือไวเป็นหน้าที่ขโมย เจ้าผู้ใหญ่คอยช่วยป้องกันรักษาภัยอันตราย ท่าทางตารอดคงตื่นขึ้นเวลาเจ้าเด็กนั้นล้วงของ คงลุกขึ้นจับกัน ตารอดคงจับไว้แน่นหนาแล้ว เจ้าเด็กกัดแล้วก็ยังไม่ปล่อย เจ้าผู้ใหญ่เห็นถ้าจะไม่ได้การผู้คนจะตื่นขึ้นก็เลยเชือดคอตารอดเสีย”
“ก็ชอบกล ข้าวของทรัพย์สมบัติอะไรหายไปมั่งละหรือเปล่า”
“ไม่มีอะไรหายเลย เห็นจะเป็นเพราะตกใจอยากหนีไปเสียให้พ้นเร็วๆ”
“เป็นได้ เออก็ถ้าได้ต่อสู้กันอยู่อย่างแกว่าแล้วละก็ ทำไมพวกบ่าวไพร่ตารอดไม่ได้ยินเลย พึ่งรู้กันต่อตอนเช้า”
“อ้อ ข้อนั้นอธิบายไม่ยาก ตารอดแกเป็นคนชอบกล แกชอบนอนให้ไกลๆ คน แกทำหอสูงขึ้นในบ้านหลังหนึ่ง เฉพาะตัวแกนอนคนเดียว คนอื่นๆ นอนกันในเรือนใหญ่ทั้งนั้น เรือนใหญ่ก็อยู่ห่างหอสูงนั้นหลายก้าวอยู่”
“ฮือ มีอะไรอีกมั่งล่ะ”
“ในห้องนั้นเป็นอันหมด แต่นอกห้องมี คือมีเชือกเส้นหนึ่งผูกอยู่ที่ท่อน้ำที่ติดอยู่กับรางน้ำฝนหลังคา ท่อนั้นอยู่ไกลหน้าต่างพอจะเอื้อมถึงได้”
“ก็แกคิดอย่างไรในเรื่องนี้”
“ดูทายไม่สู้ยากนัก อ้ายผู้ร้ายคงรู้เห็นเป็นใจกับคนในบ้าน เจ้าคนในบ้านต้องเป็นผู้เอาเชือกไปผูกไว้ที่ท่อน้ำ เพราะเจ้าขโมยจะเอาไปผูกไว้เองที่ไหน”
“ท่อน้ำนั้นคนปีนไม่ได้เทียวหรือ”
“ได้นะได้หรอก แต่ต้องเป็นคนปีนเก่งๆ แต่ว่าถ้าปีนขึ้นได้แล้วทำไมจะต้องผูกเชือกสำหรับลง ดูลงจะง่ายกว่าขึ้น”
“เชือกแกได้ตรวจหรือเปล่า”
“ตรวจแล้ว เป็นเชือกมนิลาคล้ายๆ ที่ใช้ในกำปั่น นอกนั้นก็ไม่มีอะไรในส่วนเชือกนั้นที่จะให้จับผู้ร้ายได้อีก”
“ฮือ ฉันเห็นว่าเชือกนั้นเป็นพยานสำคัญอย่างหนึ่ง มันเป็นพยานสำคัญทีเดียว”
“เอ๊ะ ผมยังไม่แลเห็นเลยว่าจะเอาเป็นพยานแน่นอนอย่างไรได้”
“บางทีฉันจะผิดไป แต่นั่นแหละฉันยังไม่ได้ดูที่ทางละเอียด จะออกความคิดลงแน่นอนไม่ได้ แต่ว่าถ้าแกจะถามฉันว่าผู้ร้ายนั้นเป็นคนชนิดไร ฉันจะต้องคะเนตามเรื่องราวของแกว่าเป็นกลาสีเรือกำปั่น” นายทองอินทำหน้าตา “รู้แล้ว” ตามแบบของแก
“เอ๊ะ คุณทราบได้ยังไง”
“ไม่รู้แต่ทาย เพราะเชือกมนิลา”
“ทำไมคนอื่นจะใช้เชือกอย่างนั้นบ้างไม่ได้เทียวหรือ”
“ก็ได้ แต่กลาสีหาง่ายกว่า อีกอย่างหนึ่งแกก็ว่าแล้วว่าผู้ร้ายเป็นคนปีนเก่ง เอาเชือกกับปีนเก่งรวมกันเข้าไม่เป็นกลาสีหรือ”
“ผมไม่เห็นเช่นนั้น ถ้ากลาสีคงปีนเก่งพอที่จะไม่ต้องใช้เชือก นี่เชือกอีกผมเห็นเป็นพยานว่าเป็นคนปีนไม่เก่งพอจึงต้องอาศัยเชือก”
“นี่แกเป็นเห็นแน่นอนนะว่าคนในบ้านเอาเชือกไปผูกไว้”
“แน่ทีเดียว ถ้าอ้ายผู้ร้ายนั้นปีนขึ้นไปผูกเชือกนั่นได้เองแล้วทำไมจะต้องใช้เชือกเวลาขาลง”
“ก็อ้ายเด็กล่ะ”
“เด็กไหน”
“เด็กที่แกว่าเป็นผู้ขโมย และที่กัดตารอดยังไงล่ะ”
“อ้อจริงถูกแล้ว เชือกนั้นต้องใช้จริง เพราะเจ้าเด็กที่ไหนจะปีนท่อได้สูงเพียงนั้น ถูกแล้วผมลืมอ้ายเด็ก จริง ยิ่งนึกไปก็ยิ่งเห็นความโง่ของผม ถ้าเป็นคนในบ้านรู้เห็นเอาเชือกไปผูกคงจะจัดการแก้เสียก่อนคนรู้กันขึ้นแล้ว ผมเห็นด้วยกับคุณแล้วว่าเห็นจะไม่มีสายในบ้าน”
“ฉันมีความยินดีที่ฉันมีความเห็นร่วมกับแก”
“คุณอย่าพูดอย่างนั้นซิขอรับ ศิษย์จะไปสู้ครูยังไงได้ ไม่มีธรรมเนียมแลย”
นายทองอินยิ้มและนั่งนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงถามต่อไป
“ที่พื้นดินและนอกบ้านมีอะไรร่องรอยมั่งไหม”
“มีขอรับ ที่ใต้ท่อนั้นดินอ่อน และเห็นได้ว่ามีรอยเท้าหลายรอย เป็นรอยผู้ใหญ่คนหนึ่งเด็กคนหนึ่งตีนเปล่าๆ ทั้งสองคน รอยตีนผู้ใหญ่ไม่สู้ประหลาด แต่รอยตีนเจ้าเด็กนั้น ผมเกิดมายังไม่เคยเห็นรอยตีนประหลาดเหมือนยังงั้นเลย”
นายทองอินนั่งตัวตรงขึ้นแล้วถามว่า “เป็นยังไง”
ยาวไม่เคยเห็นเทียว นิ้วก็ยาว แล้วเดินจิกๆ ดินหน่อยๆ
“ฮือ แล้วนอกบ้านละ”
“เจ้าผู้ร้ายออกทางหลังบ้านเดินเลียบรั้วไปหน่อยแล้วเลี้ยวขวาไปในสวนที่อยู่ใกล้ๆ นั่น เมื่อแรกดูเดินไปด้วยกันเรียบร้อย เจ้าตีนยาวนั่นน่าจะเป็นพิการ ตีนยาวยังงั้นควรจะเป็นคนสูง แต่กลับเป็นคนเตี้ย”
“ทำไมแกถึงรู้”
“เห็นก้าวสั้นๆ ถี่”
“ถูกถูก บุญเชิดแกนี่เป็นนักเรียนเก่งของฉันคนหนึ่งเทียวนะ เอ้าเล่าต่อไป”
“คราวนี้เมื่อเลี้ยวเข้าไปในสวนแล้ว เจ้าตีนยาวกระโดดท้องร่องเก่งพอใช้ ดูโดดได้ยาวๆ กว่าผู้ใหญ่เสียอีก พอไปถึงกลางสวน จะเกิดเหตุอะไรขึ้นไม่ทราบ รอยตีนวนไปวนมาหลายทางตามเกือบไม่ได้ ลงปลายมีแต่รอยตีนเจ้าผู้ใหญ่เดินต่อไปจนถึงถนนแล้วก็หมดเพราะถนนแข็ง”
นายทองอินพยักหน้าแล้วพูดว่า “ดีมากแกตรวจตราคราวนี้ละเอียดลออ ก็สงสัยข้อไหนละ”
นายบุญเชิดเกาศีรษะแล้วตอบว่า “สงสัยตอนอ้ายเจ้าเด็กจะว่าเป็นคนพิการก็ทำไมกระโดดเก่งนัก วิ่งก็เร็ว ถ้าไม่เร็วที่ไหนจะหนีเจ้าผู้ใหญ่พ้น”
นายทองอินพยักหน้าซ้ำๆ และตอบว่า “จริงอยู่ๆ ฉันกลัวจะไม่ใช่เด็ก”
“ก็อ้ายฟันที่กัดยังไงละขอรับ ฟันมันเล็กแหลมไม่ใหญ่เป็นฟันผู้ใหญ่เลย”
นายทองอินหัวเราะแล้วพูดว่า “ก็บางทีมันจะพิการทั่วตัวดอกกะมัง ที่จริงมันน่าจะจับง่ายขึ้นนี่นา คนอย่างเจ้านี่คงไม่มีกี่คนในโลกควรจะจับได้ง่าย” ท่าทางที่นายทองอินพูดนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามีติดเยาะอยู่ในนั้นนิดๆ คือแปลว่าแกไม่เคยเห็นตามนายบุญเชิด แกมีความเห็นของแกอย่างหนึ่งแต่แกยังไม่อยากขยาย แต่ส่วนนายบุญเชิดหาเข้าใจอย่างนี้ไม่ จึงตอบออกมาว่า
“จริงขอรับ พอคุณพูดขึ้นดังนี้ก็เห็นจริง ผมจะให้คนเที่ยวหาอ้ายเจ้าพิการนั้นให้ได้ เมื่อได้คนหนึ่งแล้วอ้ายอีกคนหนึ่งก็คงไม่ยาก”
“ถูกแล้ว”
“แต่ถ้าคุณจะไปดูทางที่เสียหน่อยละก็จะดีทีเดียว”
“ได้ซี ประเดี๋ยวฉันจะไป แกไปคอยฉันอยู่ก่อนซิ”
นายบุญเชิดรับแล้วก็ลาไป นายทองอินนั่งนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็พูดว่า
“บุญเชิดนี้ถ้าอย่ารู้สึกความฉลาดของตัวเสียจะดี ที่จริงเป็นคนฉลาด แต่ค่าที่รู้สึกว่าตัวฉลาดเลยเห็นคนอื่นโง่เสียทั้งนั้น ที่จริงสู้นึกว่าตัวโง่ไม่ได้ ถ้านึกตัวโง่จะได้ต้องขวนขวายให้เต็มที่”
ข้าพเจ้าถามขึ้นว่า “ความคิดแกเป็นยังไงในเรื่องนี้”
นายทองอินตอบว่า “ก็แกได้ยินฉันพูดกับบุญเชิดแล้วนี่”
ข้าพเจ้ายังไม่พอใจ “อ๊ายถามจริงๆ นะ”
นายทองอินหัวเราะแล้วตอบว่า “ก็จริงน่าซี ฉันบอกบุญเชิดแล้วว่าเห็นจะไม่ใช่เด็ก ฉันเชื่อแน่ว่าไม่ใช่เด็ก”
“ก็ฟัน”
“ฟันนั่นแหละทำให้ฉันเชื่อว่าไม่ใช่เด็ก แกเคยถูกเด็กกัดมั่งไหม”
“ไม่เคย หรือเคยก็นานมาแล้วจำไม่ได้”
“เอาเถอะ ยังไงๆ แกก็รู้ว่าเด็กๆ กัดได้ลึกไม่กี่มากน้อย ยังไงๆ ไม่ถึงกระเบียดละ”
“อ๋อไม่ถึง”
“ก็นี่บุญเชิดว่าลึกประมาณกระเบียดหนึ่ง แกก็ได้ยิน”
“ก็ยังงั้นแกนึกว่ามันเป็นคนอย่างไรล่ะ”
“คอยดูเอาเถอะ ถ้าฉันจะบอกแกเดี๋ยวนี้ก็จะจืดเสียและน่ากลัวจะไม่เชื่อด้วย ฉันจะต้องไปเขียนหนังสือสักฉบับหนึ่ง แล้วจะได้ไปบ้านนายรอด”
ครั้นนายทองอินเขียนหนังสือเสร็จแล้ว ก็พาข้าพเจ้าขึ้นรถไปที่บ้านนายรอดที่บางขุนพรหม นายรอดผู้นี้ สังเกตดูตามรูปบ้านก็เห็นได้ว่า เป็นคนไม่ใช่จนเลยและเป็นคนอยู่ข้างแปลกๆ กว่าธรรมดา ตามที่นายบุญเชิดได้เล่าแล้ว นายรอดหาได้นอนในเรือนไม่ ไปทำหอไว้ต่างหากห่างจากตัวเรือนประมาณ ๑๕ ก้าว หอนั้นมีสองชั้นๆ ละห้องเดียว ประมาณ ๑๐ ศอกสี่เหลี่ยม ชั้นล่างใช้เป็นห้องนั่งหรือออฟฟิศ ชั้นบนเป็นห้องนอน ริมหอสูงนั้นมีต้นไม้ใหญ่ๆ หลายต้น เมื่อขึ้นไปชั้นบนแล้วมองออกไปเห็นสวนอย่างไทยๆ อย่างข้างหลังนอกรั้วตัวหอเองอยู่ห่างรั้วไม่ถึง ๓ ก้าว ในห้องนอนนั้นก็ไม่มีเครื่องแต่งอะไรมาก มีเตียงอยู่เตียงหนึ่ง ข้างเตียงมีโต๊ะเล็กสำหรับวางนาฬิกาหนังสือ ตะเกียง และของเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องการใช้ในเวลากลางคืน มีโต๊ะล้างหน้าโต๊ะ ๑ โต๊ะแต่งตัวโต๊ะ ๑ ตู้ผ้าเล็กๆ ตู้ ๑ กลางห้องมีโต๊ะกลางโต๊ะ ๑
นายทองอินพอไปถึงบ้านนายรอด ก็ขอให้นายบุญเชิดพาตรงขึ้นไปที่บนห้องนอนนายรอด ในนั้นเห็นของยุ่งอยู่จริง คือโต๊ะกลางนั้นล้มอยู่ เก้าอี้หักตัวหนึ่ง ส่วนนายรอดนั้นอยู่หน้าเตียง นายทองอินตรงเข้าไปตรวจทั่วตัวครู่หนึ่ง พยักหน้าแล้วก็เดินเที่ยวภายในห้องรอบห้อง พอดูทั่วแล้วจึงพูดขึ้นว่า
“เออ บุญเชิดแกนึกว่าอ้ายผู้ร้ายใช้มีดชนิดไร”
“ข้อนี้ผมยังเดาไม่ถูก แต่คงเป็นมีดคมมาก เพราะสังเกตตามแผลดูเรียบร้อยไม่คดเคี้ยวและลึกด้วย ทำไมถ้าทราบถึงมีดจะช่วยให้จับผู้ร้ายได้เทียวหรือ”
“อ๋อ ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ก็อาจจะทำให้สิ้นความสงสัยอะไรไปอย่างหนึ่ง”
“ก็คุณทราบหรือไม่ทราบเล่าว่าเป็นมีดชนิดไร”
“ฉันว่ามีดโกน แล้วไม่ใช่มีดของคนอื่นมีดของนายรอดเอง”
“เอ๊ะรู้ได้ยังไง”
“พุทโธ่ บุญเชิดนี่หมายว่าความรู้จวนทันกันแล้วเทียว ยังไงของนิดหน่อยเท่านี้ก็ต้องถาม ดูที่โต๊ะแต่งตัวนั่นแน่ะ”
“ผมตรวจแล้วไม่เห็นมีมีดโกน”
“ก็มันควรจะมีไม่ใช่หรือ”
“ผมไม่เห็นจำเป็นจะต้องมี บางทีนายรอดแกจะไม่ได้โกนหนวดเลย”
“ขอให้ดูที่คาง ถ้าไม่ได้โกนหนวดทำไมจะมีรอยมีดบาดอยู่ที่นั่น แต่ข้อนี้ไม่สำคัญ ถ้าจะรู้ให้แน่ถามบ่าวมันดูสักคนหนึ่งก็คงได้ความ”
ข้าพเจ้าลงไปถามเจ้าพวกบ่าวก็ได้ความว่ามีดโกนเคยมีวางอยู่บนโต๊ะแต่งตัวเล่มหนึ่ง นายบุญเชิดได้ทราบดังนั้นจึงพูดว่า
“ถ้ายังงั้นมีดโกนนั่นเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนหนอ”
นายทองอินยิ้มๆ อยู่แล้วถามว่า “ทำไมมันไม่ตกหล่นอยู่ที่ตามนี้บ้างเลยหรือ”
นายบุญเชิดตอบว่า “ผมหาทั่วแล้วไม่พบมีดอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ทั้งในห้องนี้และข้างนอก”
นายทองอินยิ้มอีกแล้วพูดว่า “แกมัวไปเที่ยวหาในที่ซอกๆ นี่นะ เขาว่าถ้าจะหาของอะไรให้หาในที่แจ้งๆ ก่อน หรือจะพูดให้ละเอียดเข้าไปอีกก็ต้องว่า ที่ไหนนึกว่าไม่เป็นที่ซ่อนของอะไรได้พึงหาที่นั่น”
“เอ๊ะนี่คุณเห็นแล้วหรือครับว่ามีดอยู่ที่ไหน”
“ก็ไม่แน่นัก แต่นึกเอาว่าคงเป็นมีด นั่นแน่ะแก เห็นอะไรขาวๆ บนหลังตู้ผ้าไหมล่ะ”
นายบุญเชิดก็ขึ้นบนเก้าอี้ เอื้อมมือขึ้นไปหยิบของขาวๆ บนหลังตู้พอมือถูกเข้าก็ร้องโอ๊ย แล้วก็หยิบลงมาก็เป็นมีดโกนจริง ตัวมีดเปื้อนเลือดทั้งหมดกรังเป็นสนิมอยู่ นายทองอินพยักหน้าแล้วยิ้มทำหน้ารู้แล้วตามเคยของแก นายบุญเชิดนั้นออกประหลาดใจมาก แล้วพูดว่า
“เอ๊ะนี่ทำไมวิ่งขึ้นไปซ่อนไว้บนนั้น”
“ดูเหมือนจะไม่ได้ตั้งใจซ่อน นายทองอินตอบหน้าตาเฉย
“ก็ยังงั้นเอาขึ้นไปไว้บนนั้นทำไม”
นายทองอินตอบคำเดียวว่า “ซน”
นายบุญเชิดสั่นศีรษะว่าแล้วพูดว่า “อะไรฆ่าคนแล้วยังจะคิดซนได้อีกหรือครับ”
นายทองอินพยักหน้าแล้วตอบว่า “การซนของเจ้าผู้ฆ่าดูเหมือนจะไม่ต้องคิดมากมาย เป็นนิสัยซนยังงั้นบางทีกลับปีนหนีได้”
“อะไรคุณพูด ดูอ้ายนั้นราวกับลิง”
“มันก็คล้ายๆ ลิง”
“เอ๊ะนี่คุณทราบแล้วหรือว่ารูปร่างเป็นอย่างไร”
“พอเดาได้ แต่จะเอาแน่ไม่ได้ ไหนขอฉันดูมีดอีกทีหรือ”
มองดูมีดอยู่ครู่หนึ่ง ชักแว่นออกมาส่องแล้วก็พยักหน้าส่งมีดคืนนายบุญเชิดไป
“ยังไงครับ”
“ก็มีพยานที่มีดนิดหน่อย แต่ไม่มาก คิดอ่านไปดูตามข้างนอกเห็นจะดี”
ว่าดังนั้นแล้ว นายทองอิน นายบุญเชิดกับข้าพเจ้าก็พากันลงไปข้างล่าง และเดินตามรอยเท้าอ้ายผู้ร้ายไป ก็เป็นไปดังนายบุญเชิดกล่าวแล้วนั้นทุกประการ ครั้นถึงกลางสวนนายทองอินก็หยุด เหลียวไปแลมาแหงนขึ้นก้มลงอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วก้มลงเก็บหมากขึ้นผลหนึ่งแล้วหัวเราะและส่งให้ข้าพเจ้าดู หมากนั้นข้างหนึ่งเปลือกยังอยู่บริบูรณ์ อีกข้างหนึ่งเป็นรอยฟันกัดเข้าไปจนถึงเนื้อ ข้าพเจ้าแลไม่เห็นว่าแปลว่ากระไรจึงถามนายทองอินว่าอะไร นายทองอินถามว่า
“ก็แกไม่เห็นเป็นพยานอะไรหรือ”
“จะเป็นพยานอะไร”
“ไม่เห็นก็แล้วไปเถอะ แล้วก็คงรู้เอง”
ว่าดังนั้นแล้วนายทองอินก็เที่ยวเดินซอกแซกไปตามในสวนนั้น นัยน์ตามองดูพื้นดินบ้างบนต้นไม้บ้าง แต่ในเวลานั้นก็ไม่ปรากฏว่าได้ความอะไร ส่วนข้าพเจ้าทราบอยู่ดีว่านี่เป็นเวลาแกกำลังอยากปิดอยู่ คือยังไม่ได้ความแน่หรือยังนึกไม่ออก ว่าจะขยายความอย่างไรจึงจะเข้าที พอแกดูรอบสวนแล้วแกก็บอกนายบุญเชิดขอให้ห้ามคนอย่าให้เข้าไปในสวนนั้นเลยเป็นอันขาดจนกว่านายทองอินจะบอกว่าเข้าได้ เมื่อได้บอกนายบุญเชิดว่าศพไม่ต้องตรวจอีกแล้วก็พาข้าพเจ้ากลับบ้าน
วันนั้นข้าพเจ้าอัดใจเหลือเกิน เพราะเห็นนายทองอินแกทำใจเย็นนั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ ไม่เห็นคึกคักเลย จนชั้นจะพูดถึงเรื่องอ้ายผู้ร้ายฆ่านายรอดแกไม่ยอมพูดด้วยแกชักคุยเรื่องอื่นเสีย ครั้นข้าพเจ้ากวนแกนักเข้า แกเลยไปหยิบหนังสือมาอ่านเสียไม่พูดจาอีกต่อไป
รุ่งขึ้นเมื่อข้าพเจ้าตื่นขึ้นเวลาประมาณ ๓ โมงเศษ เห็นนายทองอินยืนอยู่ที่เฉลียง สูบบุหรี่ปุ๋ยๆ ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใสดี ข้าพเจ้าจึงถามว่า
“นี่จับได้แล้วละซิ”
นายทองอินพยักหน้าแล้วพูดแกมหัวเราะว่า “ทายแม่นจริงพ่อวัด จับได้แล้วจริง”
ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า “จับได้เมื่อไร”
“เมื่อเช้านี้เอง ฉันไปแต่ก่อนแกตื่น”
“ได้ที่ไหน”
“ในสวนหลังบ้านตารอดนั่นเอง”
“โปลิศไปด้วยหรือเปล่า”
“เปล่า ฉันชวนพวกพ้องของเราเองไปช่วย”
“แกส่งให้โปลิศแล้วหรือ”
“ยัง ส่งให้เขากลัวเขาจะไม่เชื่อว่าเป็นผู้ร้ายจริง ฉันยังรอฟังพยานอยู่”
“จับยากหรือง่าย”
“ไม่สู้ยากนัก เอาของกินล่อพอเข้าใกล้ก็ช่วยกันกลุ้มรุมเข้าจับเอา”
“ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยินใครจับผู้ร้ายอย่างแกเลย”
“ก็นี่มันไม่ใช่ผู้ร้ายสามัญนี่นา อีกอย่างหนึ่งมันอดอยู่ เพราะในสวนนั้นแกก็เห็นแล้วว่าไม่ใคร่มีต้นไม้อื่นนอกจากต้นหมาก”
“ทำไมแกถึงรู้ว่ามันยังอยู่ในสวนนั้น”
“ฉันพึ่งไปรู้เมื่อไปอยู่ที่นั่น เมื่อแรกฉันนึกว่ามันจะไปเสียแล้ว แต่เผอิญไปเห็นมะปรางเป็นรอยกินใหม่ๆ ทิ้งอยู่”
“ทำไมแกถึงรู้ว่ามันอด”
“ถ้าไม่อดมันจะกินหมากหรือ มันหมดแต้มเข้าแล้ว มันถึงได้ลองหมาก นี่ถ้าช้าไปอีกวันแทบจับไม่ได้”
“เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน”
“อยู่ข้างล่าง ล่ามโซ่ไว้”
ข้าพเจ้าแสดงกิริยาประหลาดใจจนนายทองอินอดหัวเราะไม่ได้แล้วแกก็ชวนลงไปดู ข้าพเจ้ามืดแปดด้านนึกไม่ออกว่าไอ้ผู้ร้ายนี้จะเป็นคนชนิดไร ดูยิ่งฟังความประพฤติของมันไปยิ่งประหลาดมากขึ้นทุกที ยังไงๆ ก็ต้องเป็นคนอย่างประหลาด แต่ไม่นึกเลยว่าจะเป็นอย่างที่ได้เห็นอยู่ข้างล่าง ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทายไม่ถูกเป็นแน่ถ้าข้าพเจ้าไม่บอก อ้ายผู้ร้ายที่นายทองอินจับมาล่ามโซ่ไว้กับต้นไม้ในสวนนั้นไม่ใช่คนเลย แต่ต้องรับว่าคล้ายคนจนออกรู้สึกในใจชอบกล คือเป็นตัวเบื้อหรือคนป่าซึ่งตามภาษาฝรั่งเรียกว่า ออรัง-อุตัง ยิ่งพิจารณาไปยิ่งคล้ายคนแก่ มือเท้าคล้ายคนมาก ถึงท่าทางนั่งลุกก็คล้ายจนใจหาย เมื่อข้าพเจ้าเห็นดังนั้นก็เข้าใจสิ่งซึ่งยังไม่เข้าใจอยู่แต่ก่อน มีแผลกัดนายรอดและรอยเท้ายาวผิดปรกติเป็นต้น นี่แหละคนเราเมื่อรู้ผลแล้วจับชนกับเหตุเข้าแล้วก็ดูไม่น่าจะคาดผิด ที่นายทองอินผิดกับคนธรรมดาโดยมากก็ทางนี้เอง คือเมื่อแลเห็นเหตุแล้วแกจับชนกับผลได้ทันที
เมื่อข้าพเจ้าดูเบื้อนั้นแล้วถามว่า “ก็นี่แกจะรอคอยอะไรอีกล่ะ ตัวผู้ร้ายก็ได้แล้ว”
นายทองอินตอบว่า “ฉันยังอยากทราบอะไรอยู่นิดหน่อยที่อ้ายเบื้อมันบอกฉันไม่ได้ เมื่อยังไม่ได้ความละเอียดทุกข้อเช่นนี้ จะส่งให้กองตระเวนฉันก็จะเสียชื่อ เพราะเมื่อฉันจับสืบอะไรแล้วอยากทำจนได้ความละเอียดแจ่มแจ้งทุกข้อ”
ข้าพเจ้าถามว่า “ก็เมื่อไหร่ถึงจะได้ความตลอดเล่า”
นายทองอินตอบว่า “หวังใจว่าจะไม่ช้า”
พูดดังนั้นแล้วนายทองอินก็ส่งหนังสือพิมพ์ให้ข้าพเจ้าฉบับหนึ่งและชี้ให้ดูแจ้งความ มีทั้งหนังสือไทยและภาษาอังกฤษดังนี้
“คนป่า”
“จับได้เมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าใครเป็นเจ้าของให้มาถามดูที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์นี้ ถ้ามีหลักฐานดีผู้จับได้จะได้มอบตัวสัตว์นั้นให้ -- ไป --
-- ท,อ,”
นายทองอินอธิบายต่อไปว่า “ฉันได้สั่งเขาไว้ที่ออฟฟิศหนังสือพิมพ์แล้วว่า ถ้ามีใครมาถามหาตัวเบื้อให้ส่งมาที่บ้านฉัน หวังใจว่าไม่ช้าจะมีคน แล้วแกคอยดูเถอะคนๆ นั้นคงเป็นกลาสีหรืออะไร เกี่ยวข้องกับเรือๆ อะไรอย่างหนึ่ง”
ในเวลาวันนั้นเองตอนบ่าย นายทองอินกับข้าพเจ้านั่งเล่นอยู่ที่เฉลียง บ่าวขึ้นมาบอกว่าฝรั่งคนหนึ่งขึ้นมาหา นายทองอินก็บอกให้บ่าวเชิญเขาขึ้นมา ฝรั่งที่มานั้นผิดความคาดหมายนายทองอินไปหน่อย คือไม่ใช่กลาสี เป็นคนรูปร่างล่ำสันแต่งตัวอย่างฝรั่งธรรมดา เมื่อนายทองอินเชิญให้เขานั่งแล้ว ฝรั่งก็พูดภาษาอังกฤษว่า
“ท่านหรือเป็นผู้จับคนป่าของข้าพเจ้าได้”
นายทองอินพยักหน้าและตอบว่า “จ้ะฉันจับได้”
“มันอยู่ที่ไหน”
“มันอยู่ในสวนข้างบ้านนายรอดที่บางขุนพรหม”
ฝรั่งแลดูหน้านายทองอินแล้วถามว่า “ขอโทษเถิด ท่านเป็นอะไร เกี่ยวข้องกับกองตระเวนหรือเปล่า”
นายทองอินตอบว่า “เปล่า”
ฝรั่งดูท่าทางค่อยสบายใจแล้วจึงถามต่อไปว่า “ทำไม ท่านจึงได้ทราบ ว่าคนป่าของข้าพเจ้าอยู่ในสวนนั้น”
นายทองอินตอบว่า “ข้าพเจ้าเดินไปทางนั้นเห็นเข้า ก็เอาของกินล่อมันก็ลงมา ข้าพเจ้าก็ให้พวกพ้องเข้าจับ ก็ท่านเองทราบหรือเปล่าว่ามันอยู่ที่ไหน”
ฝรั่งตอบ “ทราบแต่ไม่กล้าไปจับ”
นายทองอินถามว่า “ทำไม”
ฝรั่งก็ตอบตามตรงว่า “เพราะฉันกลัวพลตระเวน ท่านคงจะได้ทราบ เรื่องคนถูกฆ่าที่บางขุนพรหม”
นายทองอินพยักหน้ารับว่าทราบ ฝรั่งพูดต่อไปว่า “อ้ายคนป่าของข้าพเจ้าตัวนี้เองเป็นผู้ฆ่า”
นายทองอินทำเป็นประหลาดใจและถามว่า “เอ๊ะเรื่องราวเป็นอย่างไร”
ฝรั่งก็เล่าเรื่องให้ฟังดังต่อไปนี้
“เมื่อเร็วๆ นี้เอง ข้าพเจ้าไปรับเพื่อนซึ่งมาจากสิงคโปร์ไปในเรือเห็นคนป่าตัวหนึ่งเป็นของกลาสีเรือ ข้าพเจ้าชอบใจจึงขอซื้อจากเขา พอเอามาไว้บ้านได้วันหนึ่งมันก็หนีไป มันแรงมากดึงโซ่ขาดไปได้ อ้ายพวกลูกจ้างข้าพเจ้าก็ไม่กล้าจับ เผอิญเจ้ากลาสีเจ้าของเดิมยังอยู่ ข้าพเจ้าจึงให้ไปตามตัวมาและจ้างให้เข้าไปจับอ้ายคนป่ากลับคืนมา ส่วนเจ้าคนป่าเมื่อแรกหลุดไปใหม่ๆ ก็ไม่ได้ไปไหนไกล แต่พอเห็นเจ้าของเดิมมันก็เลยหนีเปิดใหญ่ กลาสีนั้นเขาทราบอยู่แล้วว่ามันดึงโซ่ขาดไปเขาจึงเอาเชือกมนิลาติดตัวไปด้วย เขาหายไปนานจนดึกจึงกลับมาบ้าน หน้าตาตื่นตกใจ และมาบอกกับข้าพเจ้าน่ากลัวจะเกิดความใหญ่ เพราะอ้ายคนป่าได้ไปฆ่าคนตายคนหนึ่ง ซักไซ้ดูก็ได้ความว่า กลาสีไล่ติดตามคนป่าไปจนถึงบ้านแห่งหนึ่ง เขาไม่ทราบว่าบ้านใคร มันปีนข้ามรั้วเข้าไป เขาก็ปีนตามเข้าไปด้วย เวลานั้น ๔ ทุ่มเศษแล้ว ในบ้านนั้นมืดกลาสีไม่แลเห็นคนป่า ครั้นจะเรียกร้องขึ้นก็กลัวเขาจะหาว่าเป็นขโมยเพราะพูดกันไม่เข้าใจ กำลังเที่ยวหาอยู่ได้ยินเสียงตึงตังบนหอสูงในบ้านนั้น กลาสีตกใจจึงแอบฟังอยู่ครู่หนึ่ง ได้ยินเสียงคนร้องแล้วเงียบไป กลาสีหมดความกลัวตรงเข้าไปที่ประตูหมายว่าจะเข้าไปช่วย แต่ประตูลั่นกุญแจครั้นจะไปเรียกร้องคนในเรือนก็กลัว จึงปีนขึ้นไปทางท่อน้ำฝนอยู่ใกล้หน้าต่างหลัง พอปีนเข้าไปก็เห็นเจ้าของบ้านนอนอยู่กลางห้อง เลือดไหลนอง ส่วนอ้ายคนป่านั้นขึ้นไปนั่งอยู่บนหลังตู้ผ้าถือมีดโกนอยู่ในมือ พอมันเห็นกลาสีนั้นมันก็ทิ้งมีดโกนทำท่าจะหนี แต่กลาสีนั้นได้ทำบ่วงด้วยเชือกมนิลาไปเสร็จแล้ว ก็เลยไล่คล้องเอาได้ มันเคยกลัวกันอยู่แล้วพอคล้องได้ก็ไม่ดิ้นรน เจ้ากลาสีครั้นจะอยู่ต่อไปอีกก็กลัวเป็นกำลัง กลัวเขาจะซัดว่าตัวเป็นผู้ร้ายฆ่าคน จึงคิดหนีแต่การที่จะพาคนป่าลงทางท่อนั้นก็ไม่ง่ายจึงเอาปลายเชือกที่ทำบ่วงนั้น ผูกเข้าที่ท่อน้ำเพื่อกันมันหนีแล้วก็ไล่มันลงก่อน ตัวกลาสีตามลงไปพอถึงดินจึงตัดต้นเชือกให้เหลือแต่พอถึงจูงไปได้ พากันออกไปได้ทางประตูหลังบ้านเรียบร้อยดี แต่พอถึงสวนอ้ายคนป่ามันสะบัดหลุดไปได้อีกไล่จับมันก็ไม่ได้ เพราะมันปีนต้นไม้หนี ฝ่ายเจ้ากลาสีครั้นจะอยู่ช้าไปอีกก็กลัว จึงปล่อยอ้ายคนป่าเสียรีบหนีไปแต่ตัว เรื่องเท่านี้เอง”
นายทองอินพยักหน้าแล้วพูดว่า “ขอบใจที่ท่านเล่าเรื่องให้ฟังน่าฟังมาก”
ฝรั่งถามว่า “ก็ตัวคนป่านั่นกองตระเวนเขาจะไม่ต้องการหรือ”
นายทองอินตอบว่า “จะเอามันขึ้นศาลชำระก็เห็นจะไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าข้าพเจ้าเป็นท่าน ข้าพเจ้าจะคิดหากรงให้แน่นหนาใส่ไม่ให้หลุดไปอีก”
ฝรั่งสั่นศีรษะแล้วตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการมันอีกแล้ว เห็นหน้าทีไรก็จะนึกถึงที่มันเคยฆ่าคนร่ำไป บางทีมันจะฆ่าข้าพเจ้าเสียเองได้ ข้าพเจ้าคิดจะขายมันเสีย แต่ข้าพเจ้ายังหวาดหวั่นไม่หาย กลัวจะถูกฟ้อง ถ้าเขาจะเอาค่าทำขวัญเท่าไรข้าพเจ้าเต็มใจให้ แต่ขออย่าให้ต้องขึ้นศาล”
นายทองอินตอบว่า “ข้าพเจ้าก็รู้จักอยู่กับญาติคนที่ตาย บางทีจะจัดการให้สำเร็จได้”
ฝรั่งขอบใจนายทองอิน ให้การ์ดชื่อไว้ แล้วก็รับตัวคนป่าไป
ฝ่ายนายทองอินก็ไปหาภรรยานายรอด เล่าตามจริงให้ฟังทุกประการ ภรรยานายรอดว่าตนก็ไม่อยากให้ถึงขึ้นศาล เพราะฉะนั้นจะยอมรับเงินค่าทำขวัญ พอเป็นค่าทำศพสามี นายทองอินจึงไปพูดกับฝรั่ง ฝรั่งตกลงให้เงินแก่ภรรยานายรอดพันบาทความก็เลิกกัน ฝ่ายกองตระเวนก็เลยยังจับตัวผู้ร้ายฆ่ายนายรอดไม่ได้จนทุกวันนี้
นายแก้ว
นายขวัญ