อธิบายเรื่อง นกกระจาบกลอนสวด

[๑]เรื่องนกกระจาบเป็นนิทานไทยโบราณมีเค้าเรื่องปรากฏใน “สรรพสิทธิชาดก” อันเป็นปัญญาสชาดกเรื่องหนึ่ง นิทานเรื่องนี้เคยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมไทย กวีในอดีตนำมาประพันธ์เป็นร้อยกรองหลายสำนวน เช่น นกกระจาบกลอนสวดสำนวนที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ และสรรพสิทธ์คำฉันท์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น

การชำระต้นฉบับ

เรื่องนกกระจาบกลอนสวดนี้ กรมศิลปากรยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ แม้เรื่องดังกล่าวจะไม่มีความโดดเด่นในด้านกวีโวหาร แต่ก็นับว่ามีคุณค่าต่อการศึกษาในเชิงคติชนวิทยาและขนบประเพณีไทยโบราณ การตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในครั้งนี้ใช้เอกสารสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ตามรายละเอียดดังนี้

เอกสารเลขที่ ๖๗๙

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ (เล่ม ๑)

ประวัติ ทายาทหลวงดรุณกิจวิทูร มอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

เอกสารเลขที่ ๖๘๐

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ (เล่ม ๒)

ประวัติ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) มอบให้หอพระสมุดฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐

เอกสารเลขที่ ๖๘๒

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ (เล่ม ๑)

ประวัติ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) มอบให้หอพระสมุดฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐

เอกสารเลขที่ ๖๘๓

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ (เล่ม ๑)

ประวัติ ทายาทหลวงดรุณกิจวิทูร มอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

เอกสารเลขที่ ๖๙๒

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ (เล่ม ๒)

ประวัติ ประชาชนมอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

เอกสารเลขที่ ๖๙๓

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ

ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๖

เอกสารเลขที่ ๖๙๔

หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องนกกระจาบ

ประวัติ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

สมุดไทยที่กล่าวมาทั้งหมด (ยกเว้นเอกสารเลขที่ ๖๙๔) เป็นเรื่องนกกระจาบกลอนสวดสำนวนที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และในจำนวนสมุดไทยต้นฉบับดังกล่าวนั้นมีเพียงเอกสารเลขที่ ๖๙๓ ฉบับเดียว ที่ปรากฏเนื้อหาคำประพันธ์ต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ดังนั้น จึงใช้เอกสารฉบับนี้เป็นหลักในการตรวจสอบชำระ เนื่องจากเอกสารทุกฉบับที่เป็นตัวเขียนมักมีความบกพร่องซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการคัดลอก กล่าวคือ คำประพันธ์ในแต่ละฉบับไม่ครบบริบูรณ์ บางบทหาย ไป ๑-๒ วรรค บางวรรคจำนวนคำไม่ครบตามฉันทลักษณ์ บางฉบับหายไปหลายๆ บท ในการชำระต้องใช้วิธีสอบทานเอกสารทุกฉบับ แล้วประมวลข้อความที่สมบูรณ์จากฉบับต่าง ๆ มาเติมลงในฉบับที่บกพร่อง จนได้ความครบบริบูรณ์

เรื่องนกกระจาบกลอนสวดสำนวนที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีข้อความระบุวันเวลาและศักราชที่แต่งไว้ดังนี้

  ๏ ข้าแต่งนิบาต
พุทธศักราช ล่วงแล้วนานมา
สองพันสามร้อย ห้าสิบพระวสา
เศษสังขยา ยังไม่ทันถึงเดือน
  ๏ มีเศษเจ็ดวัน
อันล่วงไปนั้น บ่ได้ฟั่นเฟือน
ล่วงไปเจ็ดวัน ไม่ทันถึงเดือน
กลัวจะฟั่นเฟือน คลาดเคลื่อนคืนวัน
  ๏ ปีเถาะนพศก
วันศุกร์เดือนหก แรมแปดค่ำนั้น
เพลาเช้าตรู่ ฤดูคิมหันต์
กำหนดคือวัน เมื่อลงอักษร
  ๏ ข้าใช่นักปราชญ์
ใช่บัณฑิตชาติ ฉลาดกล่าวกลอน
ได้ฟังมานาน นิทานแต่ก่อน
แม้นผิดบทกลอน จากพระบาลี
  ๏ ตัวข้านี้ไซร้
ด้วยมีน้ำใจ เลื่อมใสยินดี
แต่งเรื่องสกุณา ตามพระบาลี
ฉบับไม่มี แต่งตามปัญญา

คำประพันธ์ดังกล่าวระบุว่า “เรื่องนกกระจาบกลอนสวดสำนวนนี้ เริ่มแต่ง (ลงอักษร) เมื่อวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะนพศก (จุลศักราช ๑๑๖๙) หลังจากล่วงพุทธศักราช ๒๓๕๐ ไปแล้ว ๗ วัน” การนับพุทธศักราชถือเอาวันวิสาขบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) ปีหนึ่งไปบรรจบอีกปีหนึ่ง ดังนั้น “สองพันสามร้อยห้าสิบพระวสา ... มีเศษเจ็ดวัน” จึงเป็นช่วงต้นพุทธศักราช ๒๓๕๑ อันเป็นปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ผู้ประพันธ์บอกไว้ในตอนต้นของกลอนสวดว่า แต่งเรื่องนี้ขึ้นจากนิทานที่ได้ฟังมา ไม่มีฉบับสอบทาน ดังนั้นจึงมีหลายประเด็นแตกต่างไปจากปัญญาสชาดก โดยเฉพาะนิทานนกกระจาบที่อยู่ตอนต้นของกลอนสวดนั้นไม่ปรากฏในปัญญาสชาดก

เรื่องย่อ

สนัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร พระอรหันตสาวกทั้งหลายมาประชุมกันที่โรงธรรมสภา สนทนาสรรเสริญพระปัญญาธิคุณของพระพุทธองค์ว่าประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงทราบข้อสนทนานั้นด้วยทิพโสตญาณจึงเสด็จมายังโรงธรรมสภาแล้วตรัสเทศนาอดีตนิทานแสดงถึงพระปัญญาบารมีครั้งเสวยพระชาติเป็นสรรพสิทธิกุมารว่า

ปางก่อนพระพุทธองค์ได้เสวยพระชาติเป็นนกกระจาบ ทำรังอยู่กับภริยาในป่าอ้อ ทุกวันพ่อนกจะออกแสวงหาอาหารและเกสรดอกไม้มาฝากแม่นกซึ่งกกลูกน้อยอยู่ในรัง เช้าวันหนึ่งพ่อนกบินไปถึงสระมีดอกบัวบานงามนัก จึงโผบินลงคลุกเคล้าเกสรหมายจะเอากลิ่นหอมไปฝากภริยา ครั้นตะวันสายดอกบัวนั้นต้องแสงอาทิตย์ก็ค่อย ๆ หุบกลีบเข้าหากัน พ่อนกมัวเพลินอยู่จึงถูกกลีบบัวหุ้มกายไว้ไม่สามารถบินออกมาได้ บังเอิญวันนั้นเกิดไฟป่าลุกไหม้ลามมาถึงรัง แม่นกพยายามนำลูกน้อยออกไปให้พ้นภัยก็ไม่สำเร็จในที่สุดลูกทั้งหมดก็ตายในกองเพลิง ตะวันลับฟ้าดอกบัวก็คลี่กลีบบานรับแสงจันทร์ พ่อนกรีบบินกลับรังโดยเร็ว ครั้นถึงได้เห็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นก็เสียใจนัก ฝ่ายแม่นกได้กลิ่นหอมของเกสรบัวที่ติดกายสามีมาก็เข้าใจผิดว่าพ่อนกไปมีชู้ จะอธิบายอย่างไรนางก็ไม่ยอมเชื่อ นางตั้งจิตอธิษฐานว่าเกิดชาติหน้าจะไม่ขอเจรจากับผู้ชาย พ่อนกได้ยินดังนั้นก็อธิษฐานตามว่า เกิดชาติใดขอให้ได้เป็นคู่กับนางอีก แม้นางจะไม่ยอมพูดกับชายอื่นแต่ขอให้พูดกับตน แล้วทั้งสองก็บินเข้ากองไฟตายไปพร้อม ๆ กัน[๒]

พ่อนกไปเกิดเป็นบุตรของโกณฑัญเศรษฐีกับนางเขมา ชาวบ้านจันทคามใกล้กรุงพาราณสี ได้นามว่าสรรพสิทธิกุมาร[๓] มีรูปโฉมงดงามและมีปัญญาฉลาดเฉลียว เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี สรรพสิทธิกุมารกับพี่เลี้ยงก็ลาบิดามารดาไปเรียนวิชาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกสีลา ทั้งสองเรียนวิชาถอดหัวใจออกจากร่างให้เข้าไปอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ได้ ฝ่ายแม่นกไปเกิดเป็นนางสุวรรณเกสร[๔] พระธิดาของพระเจ้าพรหมทัตกับนางโกสุมแห่งเมืองพาราณสี ตั้งแต่เล็กนางไม่ยอมเจรจากับชายใดเลยแม้แต่พระบิดาของนางเอง ครั้นเจริญชันษาได้ ๑๕ ปี ท้าวพรหมทัตทรงเห็นว่านางควรจะมีคู่ครอง พระบิดาจึงประกาศไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ว่า ผู้ใดสามารถทำให้พระธิดาพูดด้วยจะยกนางให้เป็นคู่ครองและอภิเษกให้เป็นอุปราชกรุงพาราณสีด้วย พระองค์สั่งพนักงานไว้ว่าหากได้ยินนางพูดกับผู้ใดให้ประโคมดนตรีขึ้น ชายหนุ่มทั้งหลายต่างผลัดเปลี่ยนกันองค์ละคืนนั่งเฝ้าอยู่ที่ประตูปราสาทพยายามอ้อนวอนให้นางพูดด้วยก็ไม่สำเร็จ

ยังมีอำมาตย์ผู้หนึ่งไปเยี่ยมโกณฑัญเศรษฐีที่บ้านจันทคาม ได้พบสรรพสิทธิกุมารซึ่งเดินทางกลับจากสำนักอาจารย์เพิ่งถึงบ้านบิดา อำมาตย์นั้นนำความขึ้นกราบทูลท้าวพรหมทัต พระองค์จึงรับสั่งให้สรรพสิทธิกุมารเข้าไปเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นรูปโฉมก็พอพระทัย จึงให้ทดลองเจรจากับพระธิดาตามกติกาที่ตั้งไว้ ครั้นถึงเวลาค่ำสรรพสิทธิกุมารก็ลอบถอดเอาหัวใจของพี่เลี้ยงเข้าไปด้วย ยามที่ ๑ นำหัวใจของพี่เลี้ยงไปใส่ที่บานประตูปราสาทแล้วชวนกันสนทนา ขอให้บานประตูเล่านิทานให้ฟังแก้ง่วงนอน บานประตูตอบว่าไม่มีความรู้ สรรพสิทธิกุมารจึงเล่านิทานเรื่องที่ ๑ ให้ฟัง เรื่องมีว่า ชาย ๔ คนเป็นสหายกัน ชายคนแรกมีวิชายิงธนู คนที่ ๒ รู้วิชาหมอดู คนที่ ๓ รู้วิชาประดาน้ำและคนที่ ๔ รู้วิชาชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นขึ้น ทั้ง ๔ นั่งสนทนากันอยู่ริมฝั่งน้ำ คนหนึ่งถามขึ้นว่า วันนี้เราจะมีลาภอย่างไรหรือไม่ ชายที่เป็นหมอดูจับยามแล้วบอกว่า จะมีนกอินทรีคาบหญิงงามผ่านมาบัดนี้ ชายที่เป็นนายขมังธนูจึงยิงธนูขึ้นไป นกอินทรีตกใจก็ปล่อยนางตกลงในแม่น้ำถึงแก่ความตาย ชายนักประดาน้ำจึงงมร่างนางขึ้นมาและชายอีกคนหนึ่งชุบชีวิตนางฟื้นคืนชีพ ครั้นจบนิทานสรรพสิทธิกุมารจึงถามบานประตูว่า ชายทั้ง ๔ นั้น ใครควรจะได้นางเป็นภริยา หัวใจของพี่เลี้ยงในบานประตูตอบว่า ชายที่เป็นหมอดูควรจะได้เป็นสามีเพราะเป็นเหตุเบื้องต้นให้ได้นางมา นางสุวรรณเกสรได้ยินบานประตูพูดได้ก็อัศจรรย์ ตั้งใจฟังนิทานของสรรพสิทธิกุมารตั้งแต่ต้นจนจบ นางไม่เห็นด้วยกับคำตอบของบานประตูก็ค้านว่า ชายนักประดาน้ำควรจะได้นางเป็นภริยาเพราะได้ “ถึงเนื้อถึงตัว เหมือนผัวเหมือนชู้” พนักงานได้ยินเสียงนางเจรจาก็ประโคมดนตรีขึ้น

ยามที่ ๒ พนักงานจัดการย้ายที่ให้มาอยู่ใกล้ชวาลา สรรพสิทธิกุมารจึงถอดหัวใจของพี่เลี้ยงจากบานประตูไปใส่ไว้ในชวาลา ชวนกันสนทนาและเล่านิทานที่ ๒ ให้ฟังว่า มีชาย ๔ คนเป็นช่างทำประตูศาลาการเปรียญ ชายคนแรกทำหน้าที่ตัดแต่งไม้ ชายคนที่ ๒ เป็นช่างจิตรกรรม วาดรูปนางงามลงบนแผ่นไม้ ชายคนที่ ๓ แกะสลักให้เป็นรูปนางงาม ชายคนที่ ๔ ชุบรูปนั้นให้มีชีวิตขึ้นและมีชายอีกคนหนึ่งนำเสื้อผ้ามาสวมใส่ให้นาง ชายทั้งนั้นตกลงกันไม่ได้ว่า นางควรจะเป็นของผู้ใด สรรพสิทธิกุมารจึงถามความเห็นจากชวาลาหัวใจชองพี่เลี้ยงตอบว่า ควรจะได้แก่ชายคนที่นำเสื้อผ้ามาสวมปกปิดให้นางพ้นความอาย นางสุวรรณเกสรประหลาดใจยิ่งขึ้นเมื่อเห็นชวาลาพูดได้ ครั้นได้ฟังนิทานไปจนจบนางจึงค้านว่าชวาลาตอบปัญหาไม่ถูก ชายที่เป็นช่างแกะสลักต่างหากที่ควรจะได้นางเป็นภริยา ชาวพนักงานได้ยินเสียงนางเจรจาก็ประโคมดนตรีอื้ออึงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ยามที่ ๓ พนักงานเลื่อนที่ให้ไปอยู่ใกล้พานพระศรี สรรพสิทธิกุมารก็ถอดเอาหัวใจพี่เลี้ยงจากชวาลาไปไว้ในพานพระศรี ชวนสนทนาแล้วเล่านิทานที่ ๓ ว่า นายโจรผู้หนึ่งปล้นทรัพย์สมบัติได้เป็นอันมากก็นำไปซ่อนไว้ในถํ้ากลางป่าลึก อยู่มานายโจรเกรงว่าจะไม่มีผู้ใดดูแลทรัพย์สมบัติต่อจากตน จึงไปลักพาตัวเด็กหญิงคนหนึ่งมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ครั้นบุตรนั้นอายุได้ ๑๕ ปีก็ล้มป่วยด้วยโรคระดู นายโจรจึงไปบังคับยายหมอชราให้ไปรักษาบุตร ระหว่างเดินทางยายหมอชราได้นำเมล็ดพันธุ์ผักหว่านลงเป็นระยะ ๆ เมื่อถึงที่พำนักของนายโจรก็ประกอบยารักษาจนนางหายเป็นปกติ นายโจรจึงขอให้ยายหมออยู่เป็นเพื่อนบุตรสาวของตนต่อไป อยู่มาถึงฤดูฝนเมล็ดพันธุ์ผักก็งอกงามเติบโตขึ้น สบโอกาสหญิงชราจึงลอบหนีกลับมาตามทางที่หว่านเมล็ดพันธุ์ผักไว้ ต่อมานางได้แนะนำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งลอบไปทำชู้กับบุตรสาวของนายโจรจนนางตั้งครรภ์ นางซ่อนสามีไว้ในมวยผมโดยที่บิดาไม่รู้ วันหนึ่งนายโจรลอบขึ้นไปนอนบนคบไม้ริมทางใกล้สระน้ำ ชายเดินทางผู้หนึ่งอมภริยาไว้ในปาก ครั้นมาถึงสระน้ำก็คายภริยาออกจากปากวางไว้แล้วลงไปอาบน้ำ ฝ่ายภริยาซึ่งอมชายชู้ไว้ในปากก็คายชู้ออกมาร่วมอภิรมย์ โดยที่สามีมิได้ล่วงรู้ ชายเดินทางอาบน้ำเสร็จก็ขึ้นจากสระและอมภริยาไว้ดังเดิม ฝ่ายภริยาก็อมชู้ซ่อนไว้อีก นายโจรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดจึงออกปากชวนชายเดินทางให้แวะไปยังที่พำนักของตนก่อน ครั้นถึงนายโจรก็ให้บุตรสาวเตรียมสำรับกับข้าวสำหรับแขก ๖ คน บุตรสาวก็นึกสงสัยเพราะเห็นผู้เป็นพ่อพาแขกมาเพียงคนเดียว เมื่อนางยกสำรับกับข้าวออกมา นายโจรจึงบอกให้ชายเดินทางคายภริยาที่อมไว้ในปากออกมาร่วมสำรับ และบอกให้หญิงภริยาคายชายชู้ออกมาด้วย ฝ่ายบุตรสาวเข้าใจว่าบิดารู้ความลับทั้งหมดจึงนำชายชู้ออกมาจากมวยผม นายโจรน้อยใจจึงไปโดดหน้าผาตาย ชายเดินทางก็น้อยใจภริยาจึงไปโดดหน้าผาตายตามนายโจร ภริยา ชายชู้ บุตรสาวและชายหนุ่มเห็นเช่นนั้นก็สำนึกผิด พากันไปโดดหน้าผาตายทั้งหมด ข่าวรู้ไปถึงหมอชรา คิดว่านางเป็นต้นเหตุให้คนอื่นต้องตาย เกิดสังเวชใจจึงกลั้นใจตายตามไปอีกคนหนึ่ง ครั้นจบนิทานสรรพสิทธิกุมารจึงถามพานพระศรีว่า บาปทั้งหมดจะตกอยู่แก่ใคร หัวใจของพี่เลี้ยงตอบว่า บาปนั้นตกอยู่แก่ชายหนุ่มที่ลอบไปเป็นชู้กับบุตรสาวของนายโจร นางสุวรรณเกสรค้านว่าไม่ถูกต้อง เพราะหญิงชราผู้เป็นต้นเหตุควรจะรับบาปทั้งหมด พนักงานได้ยินเสียงนางเจรจาจึงประโคมดนตรีขึ้นอีก

ยามที่ ๔ พนักงานเลื่อนสรรพสิทธิกุมารไปไว้ที่หน้าม่าน พระโพธิสัตว์ก็ถอดหัวใจของพี่เลี้ยงออกจากพานพระศรีไปใส่ไว้ที่ม่าน ชวนสนทนาแล้วเล่านิทานที่ ๔ ว่า หญิงสาว ๔ คนต้องการหาสามีที่เฉลียวฉลาดได้พบกับชาย ๔ คนจึงนัดแนะให้ฝ่ายชายไปหาที่เรือนในเวลากลางคืนโดยบอกสถานที่เป็นปริศนา หญิงคนที่ ๑ เอามือชี้ที่เต้านม หญิงคนที่ ๒ ดึงผมมาปกไว้ที่หน้าผาก หญิงคนที่ ๓ เอามือชี้ที่คาง ส่วนหญิงคนที่ ๔ บอกว่าบ้านของนางอยู่ที่ตลาดจอแจ ชายผู้โง่เขลาทั้ง ๔ ต่างตีปริศนาของนางไม่ออก ครั้นคํ่าก็พากันออกเที่ยวหา จนมาพบนักโทษคนหนึ่งถูกจองจำอยู่จึงขอให้ช่วยแก้ปัญหา นักโทษขอดื่มน้ำแล้วไขว่า หญิงคนที่ ๑ นั้นปลูกน้ำเต้าไว้หน้าบ้าน หญิงคนที่ ๒ หน้าบ้านมีต้นไทรย้อย หญิงคนที่ ๓ ที่ประตูบ้านมีต้นคางและหญิงคนที่ ๔ บ้านอยู่ใกล้กอไผ่มีรังนกกระจาบอยู่ตรงประตู ชายผู้โง่เขลารีบตรงไปตามที่นักโทษบอกก็ได้พบหญิงเจ้าปัญญา นางถามว่า ใครเป็นผู้แก้ปริศนาได้ ชายทั้ง ๔ พาซื่อ เล่าเรื่องราวให้ฟัง จึงถูกนางขับไล่ไป รุ่งเช้านางก็นำทรัพย์คนละเท่า ๆ กัน ไปไถ่ตัวนักโทษผู้นั้นมาเป็นสามี หญิงคนที่ ๑ ทำหน้าที่ตักน้ำตำข้าว หญิงคนที่ ๒ ทำหน้าที่เป็นแม่ครัว หญิงคนที่ ๓ ทำหน้าที่จัดหมากพลู และหญิงคนที่ ๔ ทำหน้าที่จัดที่หลับนอน เมื่อจบนิทานแล้วสรรพสิทธิกุมารก็ถามม่านว่า หญิงทั้ง ๔ นั้นใครควรจะได้เป็นภริยาหลวง หัวใจของพี่เลี้ยง ตอบว่า หญิงที่ทำหน้าที่เป็นแม่ครัว นางสุวรรณเกสรได้ยินดังนั้นก็ค้านว่า หญิงคนที่จัดเตรียมที่นอนให้นั้นควรจะเป็นภริยาหลวง พนักงานก็พากันประโคมดนตรีขึ้นเป็นคำรบ ๔ ท้าวพรหมทัตจึงจัดพิธีอภิเษกและตั้งให้สรรพสิทธิกุมารเป็นอุปราชกรุงพาราณสี[๕]

อยู่มาสรรพสิทธิกุมารออกประพาสป่ากับพี่เลี้ยงตามลำพัง ครั้นไปถึงกลางป่าพบกวางตัวหนึ่งเพิ่งตายใหม่ ๆ สรรพสิทธิกุมารบอกให้พี่เลี้ยงคอยดูแลร่างของตนไว้แล้วถอดหัวใจเข้าไปในร่างกวาง ท่องเที่ยวไปกับฝูงกวางอย่างสำราญ ฝ่ายพี่เลี้ยงทรยศ คิดใคร่จะได้นางสุวรรณเกสรและราชสมบัติ จึงถอดหัวใจเข้าในร่างสรรพสิทธิกุมารและเผาร่างเดิมของตนแล้วกลับเข้ามายังกรุงพาราณสี นางสุวรรณเกสรสังเกตเห็นกิริยาของพระสามีผิดไปจากเดิมก็ไม่วางพระทัย คิดว่าคงจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับสรรพสิทธิกุมารเป็นแน่

ใกล้ค่ำ สรรพสิทธิกุมารในร่างกวางก็กลับมายังจุดนัดหมาย พบร่องรอยร่างของพี่เลี้ยงถูกเผาก็เดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้โดยตลอด พยายามเดินทางมาในกลางคืนจนได้พบร่างของนกแก้วตัวหนึ่ง จึงถอดหัวใจออกจากกวางเข้าไปอยู่ในร่างนกแก้วแล้วบินกลับมาพบนางสุวรรณเกสรและเล่าความเป็นไปทั้งหมดให้นางฟัง สรรพสิทธิกุมารออกอุบายให้นางสุวรรณเกสรลวงพี่เลี้ยงว่า นางใคร่จะเห็นพระสามีสำแดงวิชาถอดหัวใจให้ดู นางซ่อนนกแก้วไว้แล้วอ้อนวอนจนพี่เลี้ยงในร่างสรรพสิทธิกุมารหลงเชื่อ สั่งเสนาให้ไปหาซากสัตว์ตายใหม่ ๆ มาเตรียมไว้สำหรับสำแดงวิชาถอดหัวใจ เสนาได้ซากแพะมาตัวหนึ่ง เมื่อถึงเวลานางสุวรรณเกสรก็ลอบเอานกแก้วใส่หีบนำไปยังพลับพลา พอพี่เลี้ยงถอดหัวใจเข้าในร่างแพะ สรรพสิทธิกุมารก็ออกจากร่างนกแก้วคืนเข้าไปในรูปเดิมแล้วสั่งให้ฆ่าแพะทรยศผ่าอกแหวะหัวใจออก พี่เลี้ยงก็ถึงแก่ความตายโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ความนัย[๖]

สรรพสิทธิกุมารและนางสุวรรณเกสรได้ครองกรุงพาราณสี ต่อจากท้าวพรหมทัต ประชาราษฎรต่างมีความสุขทั่วกัน ตอนท้ายของกลอนสวดเป็นการประชุมชาดกว่า ท้าวพรหมทัตกลับชาติมาเป็นพระอานนท์ นางโกสุมกลับชาติเป็นนางมลิกาภิกขุณี โกณฑัญเศรษฐีเป็นพระเจ้าสิริสุทโธทนะ นางเขมาเป็นพระนางสิริมหามายา นางสุวรรณเกสรกลับชาติเป็นพระนางพิมพาและสรรพสิทธิกุมารคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นกกระจาบกลอนสวดสำนวนที่ ๒

ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องนกกระจาบกลอนสวด เอกสารเลขที่ ๖๙๔ เป็นอีกสำนวนหนึ่งซึ่งมีเนื้อเรื่องต่างไปจากที่กล่าวมาแล้ว ทั้งสำนวนโวหารในการประพันธ์ก็ดีกว่า แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ต้นฉบับที่พบไม่ครบทั้งเรื่อง ความในตอนต้นและตอนปลายหายไป เหลืออยู่เพียงตอนกลางซึ่งพอจะลำดับเรื่องราวได้ดังนี้

พระไชยบัณฑิตเป็นพระโอรสของท้าวมัททราชกับนางเกสรแห่งนครมัททรา พระไชยบัณฑิตกับพี่เลี้ยงชื่อนายสนิทบดีลาพระบิดาพระมารดาเดินทางไปศึกษาวิชาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกสีลาเป็นเวลา ๓ ปี ครั้นสำเร็จแล้วจึงพากันเดินทางกลับแต่พลัดหลงเข้าไปในแดนเมืองยักษ์จนเกิดต่อสู้กัน ยักษ์สู้ไม่ได้จึงถวายคาถาวิชาถอดดวงใจให้พระไชยบัณฑิตเดินทางออกจากเมืองยักษ์ไป จนถึงเมืองพิไชยนครของท้าวพิทูรราชและนางอุบลมาลี (หรือเอกมาลี) มีพระธิดาชื่อนางสุวรรณมณี นางไม่ยอมเจรจากับชายใด

เนื่องจากไม่พบต้นฉบับเนื้อความตอนต้นเรื่องจึงไม่ทราบว่าเรื่องดำเนินมาอย่างไร หน้าแรกของสมุดไทยเอกสารเลขที่ ๖๙๔ เริ่มความตั้งแต่พระไชยบัณฑิตถอดหัวใจของพี่เลี้ยงใส่ไว้ในพระเขนย แล้วเล่านิทานว่า สตรีคนที่ ๑ กระเดียดหม้อน้ำเดินมา น้ำหกใส่ทำให้ผิวของนางชํ้าหมอง สตรีคนที่ ๒ ได้ยินเสียงกลองก็ทำให้ผิวของนางชํ้าหมอง สตรีคนที่ ๓ ต้องแสงอาทิตย์ทำให้ผิวชํ้าหมองและสตรีคนที่ ๔ ต้องแสงจันทร์ก็ทำให้ผิวของนางชํ้าหมอง พระไชยบัณฑิตถามพระเขนยว่า นางทั้ง ๔ นี้ ผิวพรรณของใครอ่อนที่สุด พระเขนยตอบว่า นางคนที่ผิวหมองช้ำเพราะต้องน้ำนั้นมีผิวอ่อนละมุนที่สุด นางสุวรรณมณีค้านว่าผิด เพราะหญิงคนที่ผิวหมองช้ำเพราะต้องแสงจันทร์นั้นมีผิวอ่อนที่สุด

ท้าวพิทูรราชจัดการอภิเษกพระไชยบัณฑิตกับพระธิดา ความในกลอนสวดสำนวนที่ ๒ นี้กล่าวต่อไปว่า มีอาจารย์ ๒ คนในเมืองพิไชยนครตั้งปัญหาถามกันว่า เหตุไฉนนางสุวรรณมณีพระธิดาของท้าวพิทูรราชจึงไม่ยอมเจรจากับชายใดมาก่อน อาจารย์อีกผู้หนึ่งตอบข้อถามโดยยกนิทานเรื่องนกกระจาบสามีภริยาซึ่งมีเค้าเรื่องเหมือนที่กล่าวในกลอนสวดสำนวนที่ ๑

อย่างไรก็ตาม แม้กลอนสวดทั้ง ๒ สำนวนจะระบุว่า เรื่องนี้มีที่มาจากปัญญาสชาดกและแต่งขึ้นจากความทรงจำ ทำให้รายละเอียดของเรื่องแตกต่างกันไป หลายประเด็นที่ไม่ปรากฏในปัญญาสชาดกแต่มีในกลอนสวด ลักษณะเช่นนี้มักปรากฏในร้อยกรองที่ประพันธ์ขึ้นจากปัญญาสชาดกหลายเรื่อง

ในการตรวจสอบชำระเรื่องนกกระจาบกลอนสวดเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ส่วนท่านที่ประสงค์จะอ่านอักขรวิธีตามต้นฉบับโปรดดูจากสำเนาเอกสารเลขที่ ๖๙๓ ซึ่งพิมพ์ไว้ในภาคผนวกของหนังสือนี้



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง

[๒] ปัญญาสชาดกไม่ปรากฏเรื่องตอนนี้

[๓] ปัญญาสชาดกว่า สรรพสิทธิกุมารเป็นโอรสของท้าววิชัยราชกับนางอุบลเทวีกษัตริย์แห่งเมืองอลิกนคร

[๔] ปัญญาสชาดกว่า นางสุวรรณโสภา ธิดาของท้าวอุสภราชวับนางกุสุมพะแห่งกรุงคิริภชนคร

[๕] นิทานที่สรรพสิทธิกุมารเล่าบางเรื่องต่างไปจากปัญญาสชาดก

[๖] เนื้อความตอนพี่เลี้ยงทรยศนี้ไม่ปรากฏในปัญญาสชาดก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ