สำนวนที่ ๑
สุรางคนางค์
๑ ยอกรวันทา | |
นบนิ้วหัตถา | ประณตบทมาลย์ |
ตั้งข้อยอกร | สโมสรชื่นบาน |
น้อมหัตถ์มัสการ | พระมหาสัพพัญญู |
๒ ยกขึ้นเหนือผม | |
ขอถวายบังคม | พระบรมครู |
โปรดฝูงนรชน | ทาสกลชมพู |
เป็นพระบรมครู | สั่งสอนทุกประการ |
๓ เป็นครูเทวา | |
อินทร์พรหมยมรา | ทุกเทพวิมาน |
พระนำฝูงสัตว์ | จากวัฏฏสงสาร |
ให้พ้นบ่วงมาร | สู่ศิวาลัย |
๔ พระศาสดาจารย์ | |
จึ่งโปรดประทาน | พระธรรมพิสมัย |
พระไตรปิฎก | ทั้งสามนี้ไว้ |
โปรดแก่เวไนย | สรรพสัตว์ทั้งปวง |
๕ ข้าไหว้พระธรรม | |
ประเสริฐเลิศล้ำ | พระธรรมใหญ่หลวง |
สั่งสอนกุลบุตร | เป็นที่ยุดหน่วง |
เป็นหนทางล่วง | ไปยังพระนิพพาน |
๖ อย่าได้ประมาท | |
ฟังพุทธโอวาท | พระทศพลญาณ |
ให้รักษาศีล | แล้วจำเริญทาน |
ตัดบ่วงสงสาร | คือราคราคา |
๗ ให้เร่งตัดโลภ | |
อย่าได้ละโมบ | ด้วยโลภเจตนา |
ปรารถนาทุกอย่าง | ต่างต่างนานา |
จะนำอาตมา | ไปสู่อบาย |
๘ ฟังแล้วจำไว้ | |
ตามพระวินัย | ท่านแต่งภิปราย |
ทำบุญตักบาตร | อย่าได้ขาดสาย |
ผลทานทั้งหลาย | เป็นเสบียงอาตมา |
๙ ข้าไหว้พระสงฆ์ | |
เลิศล้ำอุตมงค์ | อันทรงสิกขา |
อันเป็นพุทธบุตร | ในพุทธศาสนา |
ทรงผ้ากาสา | วพัสตร์ธงไชย |
๑๐ เล่าเรียนเขียนธรรม | |
แตกฉานถ้อยคำ | บาลีวินัย |
สั่งสอนกุลบุตร | ตามพุทธวิสัย |
อรรถแปลแก้ไข | ตามพุทธฎีกา |
๑๑ เมื่อเข้านิพพาน | |
จึ่งประดิษฐาน | พระพุทธศาสนา |
กำหนดไว้นั้น | ห้าพันพระวสา |
เป็นพุทธธรรมดา | ตามประเวณี |
๑๒ พระมุนีนาถ | |
สำแดงพระบาท | ไว้บนคีรี |
ไหว้พระพุทธรูป | พระสถูปเจดีย์ |
ไหว้ทั้งพระศรี | มหาโพธิรุกขมูล |
๑๓ สมเด็จศาสดา | |
เห็นว่าศาสนา | จะมาเสื่อมสูญ |
ไหว้เจดียฐาน | ห้าประการพร้อมมูล |
แทนหน่อพุทธังกูร | ให้สัตว์มัสการ |
๑๔ เราท่านเกิดมา | |
ในพระศาสนา | ได้สร้างสมภาร |
เป็นบุญญลาภ | มากมายหลายประการ |
เหมือนได้พบพาน | พระมหากรุณา |
๑๕ แต่งเรื่องราวไว้ | |
แม้นท่านผู้ใด | มีใจศรัทธา |
จะยืมไปอ่าน | นิทานปักษา |
จำเริญปัญญา | ย่อมเป็นกุศล |
๑๖ ผู้ใดประมาท | |
ทำหนังสือขาด | ปราศจากมรรคผล |
น้ำหมากขี้ไต้ | ไฟไหม้ลามลน |
ให้ลงไปทน | ทุกข์ในจตุรา |
๑๗ ถ้าแม้นนอนอ่าน | |
ประมาทชาติพาล | สันดานมิจฉา |
ทิฐิประมาท | คุณพระศาสดา |
จะตกจตุรา | ชั่วพุทธันดร |
๑๘ ยากที่จะลำดับ | |
ยกออกจากศัพท์ | ลำดับบทกลอน |
หลังแข็งหลังขด | อดหลับอดนอน |
จนเอ็นเส้นกล่อน | รึงรัดทั้งกาย |
๑๙ อตส่าห์จำลอง | |
ค่อยตรึกค่อยตรอง | ให้ต้องนิยาย |
แล้วลงอักษร | บทกลอนต้นปลาย |
ตามเรื่องนิยาย | ยากนักใครจะปาน |
๒๐ ตั้งใจเจตนา | |
มีความปรารถนา | ขอทันพระศรีอาริย์ |
จะนำฝูงสัตว์ | จากวัฏฏสงสาร |
ให้ถึงพระนิพพาน | พ้นจากทุกขา |
๒๑ ข้าแต่งนิบาต | |
พระพุทธศักราช | ล่วงแล้วนานมา |
สองพันสามร้อย | ห้าสิบพระวสา |
เศษสังขยา | ยังไม่ทันถึงเดือน |
๒๒ มีเศษเจ็ดวัน | |
อันล่วงไปนั้น | บ่ได้ฟั่นเฟือน |
ล่วงไปเจ็ดวัน | ไม่ทันถึงเดือน |
กลัวจะฟั่นเฟือน | คลาดเคลื่อนคืนวัน |
๒๓ ปีเถาะนพศก | |
วันศุกร์เดือนหก | แรมแปดค่ำนั้น |
เพลาเช้าตรู่ | ฤดูคิมหันต์ |
กำหนดคือวัน | เมื่อลงอักษร |
๒๔ ข้าใช่นักปราชญ์ | |
ใช่บัณฑิตชาติ | ฉลาดกล่าวกลอน |
ได้ฟังมานาน | นิทานแต่ก่อน |
แม้นผิดบทกลอน | จากพระบาลี |
๒๕ ตัวข้านี้ไซร้ | |
ด้วยมีน้ำใจ | เลื่อมใสยินดี |
แต่งเรื่องสกุณา | ตามพระบาลี |
ฉบับไม่มี | แต่งตามปัญญา |
๒๖ แต่งตามนิทาน | |
พระศาสดาจารย์ | บัณฑูรเทศนา |
แต่ยังเสวยชาติ | เป็นสกุณา |
นำมาเทศนา | ไว้เป็นนิทาน |
๒๗ พระศรีสรรเพชญ์ | |
พระองค์เห็นเสร็จ | แจ้งด้วยพระญาณ |
ปางเมื่ออยู่ใน | เชตุพนวิหาร |
พระทศพลญาณ | สำราญพระทัย |
๒๘ ในกาลวันนั้น | |
จึ่งพระอรหันต์ | พร้อมกันอยู่ใน |
โรงธรรมสภา | ศาลาอันใหญ่ |
พระภิกขุนั้นไซร้ | จึ่งสังสนทนา |
๒๙ ว่าพระพุทธคุณ | |
หน่อพุทธางกูร | ทรงพระปัญญา |
เลิศล้ำมนุษย์ | เทวบุตรเทวดา |
ตรัสรู้ธรรมา | ยิ่งกว่าฝูงคน |
๓๐ ทรงพระกรุณา | |
ตรัสธรรมเทศนา | โปรดฝูงนรชน |
ถึงดีถึงชั่ว | ทั่วทุกตัวตน |
ไตรภพจบสกล | ใครเลยจะปาน |
๓๑ พระมหาสัพพัญญู | |
พระองค์ตรัสรู้ | ด้วยปรีชาญาณ |
ทรงพระสังเกต | พฤติเหตุทุกประการ |
พระศาสดาจารย์ | เสด็จดำเนินมา |
๓๒ ยังโรงธรรมศาสน์ | |
ทรงนั่งเหนืออาสน์ | มีพุทธฎีกา |
ตรัสถามพระสงฆ์ | ผู้ทรงสิกขา |
ท่านสังสนทนา | ด้วยเหตุอันใด |
๓๓ จึ่งพระโมคคัลลาน์ | |
รับพุทธฎีกา | แล้วกราบทูลไข |
ว่าพระภิกขุ | ทั่งหลายนี้ไซร้ |
พร้อมกันอยู่ใน | ธรรมภาคศาลา |
๓๔ พระภิกขุนั้น | |
สังสนทนากัน | สรรเสริญศาสดา |
ว่าพระพุทธองค์ | ทรงพระปัญญา |
ยิ่งกว่าเทวา | มนุษย์ทั้งหลาย |
๓๕ ตรัสรู้ไญยธรรม | |
ประเสริฐเลิศล้ำ | โปรดสัตว์หญิงชาย |
ฉัพพรรณรังสี | รัศมีพระกาย |
ประเสริฐเพริศพราย | กว่าเทวดา |
๓๖ สมเด็จพุทธองค์ | |
ได้ฟังพระสงฆ์ | ทูลพระกรุณา |
พระศาสดาจารย์ | ประทานเทศนา |
แก่สาวกา | ด้วยพระบาลี |
๓๗ ดูราพระสงฆ์ | |
สาวกแห่งองค์ | พระชินศรี |
อันพระตถาคต | ปรากฏทั้งนี้ |
ประเสริฐธรณี | ใครเลยจะเทียมทัน |
๓๘ ครั้งหนึ่งปรากฏ | |
พระตถาคต | บังเกิดอัศจรรย์ |
เป็นบุตรเศรษฐี | มีทรัพย์นับพัน |
บรรดาเพื่อนกัน | พันเอ็ดกุมาร |
๓๙ ลาพระบิตุราช | |
ไปเรียนศิลปศาสตร์ | ต่อพระอาจารย์ |
ครั้งนั้นประเสริฐ | ล้ำเลิศเชี่ยวชาญ |
ยิ่งกว่ากุมาร | พอสิ้นทั้งพัน |
๔๐ เรียนผ่าอุรา | |
ถอดดวงหัทยา | ดูน่าอัศจรรย์ |
แกล้วกล้าสามารถ | ศิลปศาสตร์ทุกอัน |
กุมารทั้งพัน | ไม่เหมือนอาตมา |
๔๑ ประเสริฐครั้งนั้น | |
เป็นน่าอัศจรรย์ | มากมายนักหนา |
ตรัสแต่เท่านั้น | ไม่จำนรรจา |
ไม่ตรัสเทศนา | เนื้อความสืบไป |
๔๒ จึ่งพระอรหันต์ | |
สิ้นทั้งปวงนั้น | มีความสงสัย |
จึ่งอาราธนา | เทศนาต่อไป |
ด้วยความสงสัย | ไม่แจ้งคดี |
๔๓ สมเด็จศาสดา | |
นำชาดกมา | เป็นพระบาลี |
ตามเรื่องนิบาต | แต่ชาติก่อนมี |
แต่ครั้งพระชินศรี | ยังเป็นสกุณา |
๔๔ เป็นสัตว์ทวิบาท | |
ยังเป็นสกุณชาติ | อยู่ในราวป่า |
นกกระจาบปักษี | สามีภริยา |
จึ่งชวนกันมา | ทำรังอาศัย |
๔๕ อยู่ในป่าอ้อ | |
นางนกนั้นหนอ | ฟักลูกอยู่ใน |
พ่อนกไปหา | เกสรมาลัย |
เอามาส่งให้ | นางนกทุกวัน |
๔๖ วันหนึ่งแต่เช้า | |
พ่อนกนั้นเล่า | เข้าในไพรสัณฑ์ |
วันนั้นไปปะ | พบสระบุษบัน |
บัวในสระนั้น | เบิกบานอรชร |
๔๗ จึ่งพ่อนกกระจาบ | |
โผผินบินฉาบ | ลงในสาคร |
ยินดีภิรมย์ | ชมบุษบากร |
จะเอาเกสร | มาฝากภริยา |
๔๘ หลงชมเกสร | |
จนพระทินกร | เปล่งแสงลงมา |
ต้องดอกประทุม | หุ้มเข้ามิช้า |
ห่อหุ้มสกุณา | ไว้ในดอกบัว |
๔๙ พ่อนกจนใจ | |
ออกมามิได้ | อกใจระรัว |
คับแค้นแน่นอก | วิตกถึงตัว |
ด้วยกลีบดอกบัว | หุ้มห่อตัวไว้ |
๕๐ ในวันนั้นนา | |
บังเกิดไฟป่า | ไหม้มาในไพร |
ลุกลามวามแวม | อ้อแขมบรรลัย |
ไหม้ป่ามาใกล้ | รังสองสกุณา |
๕๑ แม่นกทุกข์นัก | |
คอยหาผัวรัก | ไม่เห็นกลับมา |
นางนกตกใจ | ร้องไห้โศกา |
เห็นว่าไฟป่า | ไหม้มาใกล้รัง |
๕๒ แม่นกกระจาบ | |
โศกีพิลาป | น้ำตาไหลหลั่ง |
ด้วยความรักบุตร | เป็นสุดกำลัง |
ตกใจเซซัง | บินไปบินมา |
๕๓ กลับออกกลับเข้า | |
คิดถึงลูกเต้า | โศกเศร้าโศกา |
ในครั้งทีนี้ | บุตรีบุตรา |
จะม้วยมรณา | ไฟป่าเผาผลาญ |
๕๔ แม่นกเป็นทุกข์ | |
สร้อยเศร้าเจ่าจุก | ทุกข์หนักใครจะปาน |
ไม่เห็นผัวมา | โศการำคาญ |
ด้วยลูกสงสาร | จะมาบรรลัย |
๕๕ จึ่งนางนกกระจาบ | |
เอาปากจิกคาบ | เอาลูกทันใจ |
จะพาลูกตน | ไปให้พ้นไฟ |
คาบไปไม่ได้ | ร่ำไรโศกา |
๕๖ โอ้ว่าลูกแก้ว | |
จนใจแม่แล้ว | จะม้วยมรณา |
คาบไปไม่ได้ | จนใจหนักหนา |
ประนมปีกซ้ายขวา | ไหว้เทพในไพร |
๕๗ จงช่วยลูกข้า | |
อย่าให้มรณา | ตายในกลางไฟ |
ว่าแล้วมิช้า | ผวาบินเข้าไป |
ในรังนั้นไซร้ | ไห้รักลูกตน |
๕๘ ไฟลุกมาใกล้ | |
ร้อนนักเหลือใจ | สุดที่จะทานทน |
คิดถึงลูกรัก | พะวักพะวน |
แม่นกเสือกสน | บินไปบินมา |
๕๙ บินออกบินเข้า | |
หลายทบหลายเท่า | โศกเศร้าโศกา |
ไฟป่าลุกลาม | ตามราวป่ามา |
ไหม้รังสกุณา | ตกลงทันใจ |
๖๐ จึ่งลูกสกุณา | |
สุดสิ้นชีวา | ตายในกลางไฟ |
นางนกกระจาบ | พิลาปร่ำไร |
พ่อนกนั้นไซร้ | ก็ไม่เห็นมา |
๖๑ จบเจ่าเหงาง่วง | |
กลุ้มกลัดขัดทรวง | ดังดวงหัทยา |
จะแตกทำลาย | เพียงวายชีวา |
ด้วยบุตรฉายา | ตายสิ้นทั้งรัง |
๖๒ ทั้งลูกก็ตาย | |
ทั้งตัวก็หาย | แทบวายชีวัง |
แม่นกร่ำไห้ | ว่ากรรมหนหลัง |
ลูกน้อยร้อยชั่ง | ตายในกลางไฟ |
๖๓ ยังอยู่แต่ตัว | |
คอยท่าหาผัว | อยู่เอกาลัย |
จนสายัณเห | โพล้เพล้มัวไพร |
เพลานั้นไซร้ | สิ้นแสงสูริยน |
๖๔ จึ่งพระจันทร | |
ชักรถบทจร | สว่างเวหน |
น้ำค้างปรอยปรอย | คือดังฝอยฝน |
ต้องดอกอุบล | เบิกบานอรชร |
๖๕ ในเมื่อราตรี | |
ดอกบุษมาลี | คลายคลี่เกสร |
พ่อนกออกได้ | น้ำใจอาวรณ์ |
คาบเอาเกสร | แล้วพาบินมา |
๖๖ ตามแสงจันทร | |
ข้ามพงดงดอน | ร่อนเร่เวหา |
อันกลิ่นดอกบัว | ติดตัวปักษา |
บินมามิช้า | มาถึงรังตน |
๖๗ มาเห็นไฟไหม้ | |
รวงรังบรรลัย | ตกใจเสือกสน |
ลูกรักหญิงชาย | มาตายวายชนม์ |
เสลือกสลน | เรียกหาภริยา |
๖๘ จึ่งนางสกุณี | |
ได้ฟังสามี | มาร้องเรียกหา |
นางนกได้ยิน | แล้วจึงบินมา |
ด้วยความโกรธา | ราว่าทุกอัน |
๖๙ ไปเที่ยวสบาย | |
ไฟไหม้ลูกตาย | หมดสิ้นทั้งนั้น |
ทุกวันเล่านา | เคยมาแต่วัน |
วันนี้อัศจรรย์ | มาต่อกลางคืน |
๗๐ ไปเที่ยวเล่นชู้ | |
เชยชมกันอยู่ | จนดึกจนดื่น |
ลืมลูกลืมเมีย | เสียจนเที่ยงคืน |
ทั้งตัวหอมรื่น | พื้นกลิ่นดอกไม้ |
๗๑ ไปหลงด้วยชู้ | |
ลูบโลมกันอยู่ | ด้วยกลิ่นมาลัย |
อยู่หลังลูกเมีย | ตายเสียในไฟ |
ช่างมันเป็นไร | กูไม่อาวรณ์ |
๗๒ พ่อนกบอกพลัน | |
ไม่เป็นอย่างนั้น | นะนางบังอร |
พี่ไปพบพาน | บัวบานอรชร |
ลงเอาเกสร | ในดอกบุษบา |
๗๓ พอจวนแดดร้อน | |
ดอกบุษบากร | ต้องแสงสุริยา |
หุ้มตัวผัวไว้ | จึ่งมิได้มา |
จนพระสุริยา | เข้ายามราตรี |
๗๔ น้ำค้างตกลง | |
ต้องดอกบุษบง | แย้มเกสรศรี |
เบิกบานไสว | เมื่อในราตรี |
ทีนั้นตัวพี่ | จึงได้กลับมา |
๗๕ แม่นกโกรธนัก | |
ว่าแก่ผัวรัก | อย่าพักเจรจา |
ไปเที่ยวเล่นชู้ | ไม่รู้ฤๅนา |
มุสาเจรจา | ช่างมาแก้ไข |
๗๖ ลืมเมียลืมลูก | |
ยังแต่กระดูก | กองอยู่ในไฟ |
ตายเสียทำเนา | ไม่เอาใจใส่ |
ไปได้เมียใหม่ | จึงไม่นำพา |
๗๗ พ่อนกว่าเล่า | |
ฟ้าผ่าเถิดนะเจ้า | ไม่มีภริยา |
บอกเจ้าจริงจริง | ทุกสิ่งสัจจา |
เจ้าอย่าสงกา | ว่าพี่มีชู้ |
๗๘ บัวตูมหุ้มไว้ | |
ออกมาไม่ได้ | จนใจสุดรู้ |
จึ่งกลิ่นดอกบัว | ติดตัวพี่อยู่ |
มิใช่มีชู้ | จงรู้คดี |
๗๙ เจ้าอย่าขึ้งโกรธ | |
พี่ขอสมาโทษ | แก่นางสกุณี |
ตัวพี่นี้เล่า | ผิดแต่เท่านี้ |
มิใช่ตัวพี่ | มาคิดนอกใจ |
๘๐ นางนกได้ฟัง | |
ผินหน้าผินหลัง | ขึ้งโกรธคือไฟ |
ตัดพ้อพ่อนก | โกหกเหลือใจ |
อย่าพักว่าไป | กูไม่ขอฟัง |
๘๑ ความแค้นไม่หาย | |
ลูกรักหญิงชาย | มาวายชีวัง |
จะอยู่ไปไย | ที่ในรวงรัง |
นางนกจึงตั้ง | สัจจาอธิษฐาน |
๘๒ ประนมปีกไหว้ | |
ฝูงเทพอยู่ใน | วิมานไพรสาณฑ์ |
ด้วยข้ารักบุตร | สุดที่ประมาณ |
จะม้วยวายปราณ | ตายตามลูกไป |
๘๓ นางนกพิษฐาน | |
เดชะสมภาร | ข้าได้สร้างไว้ |
จะตั้งความสัตย์ | โดยอัธยาศัย |
ชาติหน้าขอได้ | ดังความสัจจา |
๘๔ ชาตินี้เล่าไซร้ | |
จะขอตายไป | ตามบุตรทารา |
เกิดชาติหน้าไซร้ | ให้สมปรารถนา |
ไม่ขอเจรจา | ด้วยชายคนใด |
๘๕ สัญชาติว่าชาย | |
สับปลับกลับกลาย | ไม่อายแก่ใจ |
ไม่ขอเจรจา | สนทนาสิ่งใด |
ตั้งความสัตย์ไว้ | แต่ในชาตินี้ |
๘๖ พ่อนกฟังสาร | |
นางนกพิษฐาน | ด้วยสัตย์วาที |
นางนกโกรธผัว | จะเอาตัวหนี |
ไม่ขอพาที | ด้วยชายสืบไป |
๘๗ พ่อนกปักษา | |
จึงตั้งสัจจา | ปรารถนาแก่ไข |
เมียข้าคนนี้ | ไปเกิดที่ไหน |
จะขอตามไป | ให้พูดด้วยกัน |
๘๘ ถึงไม่เจรจา | |
กับคนอื่นมา | สักร้อยสักพัน |
แต่ผัวของข้า | ให้มาผ่อนผัน |
เจรจาด้วยกัน | อย่ามีฉันทา |
๘๙ ขอเป็นคู่สร้าง | |
กับด้วยนวลนาง | ผู้เป็นภริยา |
ขอพบทุกชาติ | อย่าได้คลาดคลา |
ชั่วนี้ชั่วหน้า | ขอให้พบผัน |
๙๐ ข้าหาโกรธไม่ | |
ด้วยนางนกไซร้ | โทโสโมหันธ์ |
จึ่งตั้งสัจจา | ปรารถนาจากกัน |
ขอพบเมียขวัญ | กว่าจะถึงพระนิพพาน |
๙๑ จึ่งนางสกุณี | |
ได้ฟังสามี | ตั้งสัตย์อธิษฐาน |
อาวรณ์ร้อนเร่า | ดังไฟเผาผลาญ |
ครั้นนางพิษฐาน | แล้วบินเข้าไป |
๙๒ ในกองไฟนั้น | |
สูญลับดับขันธ์ | อยู่ในกองไฟ |
พ่อนกนั้นเล่า | บินตามเข้าไป |
ตายในกองไฟ | สิ้นทั้งสองตัว |
๙๓ ทั้งสองสัตว์นั้น | |
ทำลายเบญจขันธ์ | ทั้งเมียทั้งผัว |
สมเพชเวทนา | เป็นกรรมของผัว |
ชาติก่อนเมียผัว | เผาสัตว์ทั้งเป็น |
๙๔ กรรมนั้นตามสนอง | |
แก่สัตว์ทั้งสอง | ให้ทันตาเห็น |
ทั้งเมียทั้งผัว | เผาผัวทั้งเป็น |
ทั้งนี้ย่อมเวร | เผาสัตว์ทั้งหลาย |
๙๕ ใช้กรรมไม่ขาด | |
ถึงห้าร้อยชาติ | บ่ได้คลาดคลาย |
พอสิ้นกรรมนั้น | จึงมาผันผาย |
ผลบุญทั้งหลาย | นำมาบัดดล |
๙๖ นำมาบังเกิด | |
ได้เอากำเนิด | มาเกิดเป็นคน |
ผลบุญสร้างไว้ | จึ่งมาให้ผล |
เดชะกุศล | แต่หนหลังมา |
๙๗ เดชะสมภาร | |
พ้นจากเดียรฉาน | นกกระจาบปักษา |
จุติวันนั้น | มิทันพริบตา |
ผลบุญนำมา | ให้เกิดเป็นคน ๚ะ |
ยานี
๙๘ ปักษาทั้งสองเจ้า | จึ่งมาเอาปฏิสนธิ์ |
มาเกิดแห่งละคน | ในตระกูลต่างต่างกัน |
๙๙ พ่อนกนั้นมาเกิด | เอากำเนิดเป็นอัศจรรย์ |
มาเกิดเมื่อครั้งนั้น | ในสกุลแห่งเศรษฐี |
๑๐๐ ในบ้านจันทคาม | โคตรแลนามบังเกิดมี |
ชื่อโกณฑัญเศรษฐี | มั่งมีทรัพย์ย่อมนับพัน |
๑๐๑ อันว่านางเขมา | เป็นภริยาแห่งโกณฑัญ |
ในบ้านจันฑคามนั้น | ใครจะมีเหมือนเศรษฐี |
๑๐๒ บ้านจันทคามนั้น | ใกล้เขตขัณฑ์พระบูรี |
เมืองพาราณสี | ย่อมเลื่องฦๅทุกตำบล |
๑๐๓ หน่อพระโพธิสัตว์เจ้า | จงมาเอาปัฏิสนธ์ |
ในครรภ์นางนิฤมล | ภริยาแห่งเศรษฐี |
๑๐๔ พอได้สิบเดือนตรา | นางเขมาเจ็บนาภี |
คลอดหน่อพระชินศรี | มาเป็นชายงามโสภา |
๑๐๕ พระพักตร์ดังดวงเดือน | ใครจะเหมือนในโลกา |
เป็นที่เสนหา | แก่บิดาพระชนนี |
๑๐๖ ค่อยอยู่จำเนียรมา | พระชันษาสิบห้าปี |
รูปทรงงามมีศรี | คือดั่งองค์อำมรินทร |
๑๐๗ ครั้นเจ้าจำเริญมา | ทรงปัญญาล้ำดินดอน |
เลื่องฦๅทุกนคร | ประสิทธิปรีชาญาณ |
๑๐๘ ได้นามตามลักษณะ | ชื่อสรรพสิทธิกุมาร |
ปัญญาเจ้ากล้าหาญ | กว่ากุมารสิ้นทั้งหลาย |
๑๐๙ เจ้าสรรพสิทธิ | มีสิริงามเฉิดฉาย |
กุมารสิ้นทั้งหลาย | พันเอ็ดนั้นเป็นเพื่อนกัน |
๑๑๐ เศรษฐีแต่งพี่เลี้ยง | ให้เนื้อเกลี้ยงเลี้ยงจอมขวัญ |
ไปไหนไปด้วยกัน | เลี้ยงเจ้านั้นทุกวันมา |
๑๑๑ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง | เจ้ารำพึงด้วยปัญญา |
จะไปเรียนวิชา | ยังสำนักพระอาจารย์ |
๑๑๒ เจ้าคิดเท่านั้นแล้ว | จึ่งคลาดแคล้วยังสถาน |
บิตุเรศพระชนมาร[๑] | จึ่งกราบกรานบังคมลา |
๑๑๓ ว่าตัวของลูกรัก | จักลาไปเรียนวิชา |
ยังเมืองตักกสีลา | สู่สำนักนิ์พระอาจารย์ |
๑๑๔ จะเรียนศิลปศาสตร์ | อันสามารถให้ชำนาญ |
ทั้งสองจงโปรดปราน | อนุญาตแก่ลูกอา |
๑๑๕ เมื่อนั้นสองเศรษฐี | ฟังคดีแห่งลูกยา |
เศรษฐีทั้งสองรา | จึ่งอนุญาตแก่ลูกชาย |
๑๑๖ จึ่งให้พี่เลี้ยงนั้น | ไปด้วยกันกับโฉมฉาย |
กุมารสิ้นทั้งหลาย | ฟันหนึ่งนั้นไปด้วยกัน |
๑๑๗ ครั้นเจ้ากราบลาแล้ว | จึ่งคลาดแคล้วมาด้วยพลัน |
พากันจรจรัล | ไปเมืองตักกสีลา |
๑๑๘ มาถึงจึ่งเข้าไป | ก้มกราบไหว้แก่ทิศา |
ปาโมกขพฤฒา | สิ้นทั้งพันพระกุมาร |
๑๑๙ เรียนศิลปศาสตร์ | อันสามารถได้ชำนาญ |
ทั้งพันพระกุมาร | เจ้าเรียนได้ต่างต่างกัน |
๑๒๐ เจ้าสรรพสิทธิ | จึ่งดำริเรียนศิลปขันธ์ |
ยิ่งกว่ากุมารนั้น | ผ่าอุราถอดหัวใจ |
๑๒๑ กับพี่เลี้ยงของเจ้านั้น | เรียนเหมือนกันได้ขึ้นใจ |
ประเสริฐครั้งนั้นไซร้ | กว่ากุมารสิ้นทั้งพัน |
๑๒๒ ศิลปศาสตร์อันกล้าหาญ | กว่ากุมารสิ้นทั้งนั้น |
ประเสริฐอัศจรรย์ | ในครั้งนั้นยิ่งแสนทวี |
๑๒๓ ทั้งพันพระกุมาร | ลาอาจารย์จรลี |
มาก่อนพระภูมี | สู่เคหาสถานตน |
๑๒๔ แต่เจ้ากับพี่เลี้ยง | พระเนื้อเกลี้ยงอยู่สองคน |
ยังไม่จรดล | อยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์ |
๑๒๕ ค่อยมาแต่ภายหลัง | ยังไม่ทันถึงสถาน |
ค้างอยู่ในไพรสาณฑ์ | ในท่ามกลางมรคา ๚ะ |
สุรางคนางค์
๑๒๖ เรื่องนี้ยกไว้ | |
จะกล่าวบทไป | ถึงนางสกุณา |
มาเอากำเนิด | เกิดในพารา |
เป็นลูกพระยา | พรหมทัตภูบาล |
๑๒๗ เดชะบารมี | |
ของนางปักษี | สร้างมาช้านาน |
จึ่งให้กำจัด | จากสัตว์เดียรฉาน |
สิ้นกรรมนงคราญ | มาเกิดเป็นคน |
๑๒๘ ตายในกองไฟ | |
จากชาตินั้นไซร้ | มาเอาปัฏิสนธิ์ |
ในครรภ์ฉายา | โกสุมนิฤมล |
มเหสีจุมพล | พรหมทัตภูธร |
๑๒๙ ท้าวครองบูรี | |
พาราณสี | มหานคร |
มาเอากำเนิด | เกิดในอุทร |
จึ่งคลอดบังอร | มาเป็นสตรี |
๑๓๐ ค่อยจำเริญมา | |
จนพระชันษา | ได้สิบห้าปี |
จิ้มลิ้มนิ่มนวล | น่ายวนโลกีย์ |
เกศเกล้าโมลี | ดังปีกภุมรา |
๑๓๑ คิ้วโก่งวงศิลป์ | |
พระทนต์คือนิล | มณีจินดา |
พระโอษฐ์นางนาฏ | ดังเอาชาดทา |
พระเนตรซ้ายขวา | คือตาทรายทอง |
๑๓๒ พระกรสองข้าง | |
คือดังงวงช้าง | ไอยราผันผยอง |
พระปรางสองข้าง | อย่างมะปรางทอง |
ถันนางทั้งสอง | ดังดอกบุษบง |
๑๓๓ พระพักตร์เป็นนวล | |
ราศีถี่ถ้วน | นิ่มเนื้อนวลหง |
ไหล่ผายท้ายถอย | รอยรับรององค์ |
งามรูปงามทรง | ดังเทพกินร |
๑๓๔ ทั้งสองกระษัตรา | |
ให้นามลูกยา | ชื่อสุวรรณเกสร |
ต่ำใต้ไตรภพ | จบทั่วนคร |
ในแผ่นดินดอน | บ่ปานเทวี |
๑๓๕ นางตรัสสัจจา | |
แต่ชาติหลังมา | เมื่อเป็นปักษี |
ด้วยนางโกรธา | โกรธแก่สามี |
ไม่ขอพาที | ด้วยชายเลยนา |
๑๓๖ มาชาตินี้ไซร้ | |
นางงามทรามวัย | มิได้เจรจา |
พาทีภิปราย | ด้วยชายเลยหนา |
ถึงพระบิดา | นางไม่พาที |
๑๓๗ ได้ยินเสียงชาย | |
เนื้อเกลี้ยงเบี่ยงบ่าย | ย้ายเอาตัวหนี |
เข้าอยู่ในห้อง | ของพระชนนี |
พูดกับทาสี | สตรีเหมือนกัน |
๑๓๘ พรหมทัตราชา | |
เห็นพระธิดา | ดูหลากอัศจรรย์ |
แต่เจ้าเกิดมา | ไม่เจรจากัน |
ฤๅนางจอมขวัญ | โกรธพระบิดา |
๑๓๙ ท่านท้าวพรหมทัต | |
ไม่รู้ในอรรถ | นางตั้งสัจจา |
ท้าวคิดสงสัย | จึ่งให้มารดา |
ถามพระลูกยา | ให้รู้คดี |
๑๔๐ จึ่งพระมารดา | |
จึงมีวาจา | ถามพระบุตรี |
เป็นเหตุไฉน | เจ้าไม่พาที |
ด้วยพระภูมี | สมเด็จบิดา |
๑๔๑ เจ้าโกรธว่าไร | |
จงบอกแม่ไป | ให้แจ้งกิจจา |
ขัดข้องพระทัย | ด้วยสิ่งไรนา |
บอกแก่มารดา | มาให้แจ้งใจ |
๑๔๒ นางสุวรรณเกสร | |
จึ่งทูลมารดร | ว่าลูกนี้ไซร้ |
ไม่โกรธพระบิดา | แม่อย่าสงสัย |
เป็นกรรมสิ่งไร | ลูกได้ทำมา |
๑๔๓ อันว่าผู้ชาย | |
ลูกรักโฉมฉาย | ไม่ขอเจรจา |
ได้ยินแต่เสียง | พ่างเพียงจะมรณา |
ขอทูลมารดา | ให้ทราบธุลี |
๑๔๔ ไม่โกรธพระบิดา | |
แม่อย่าสงกา | ว่าไม่พาที |
ชายอื่นนอกนั้น | หมื่นพันอันมี |
ใจของลูกนี้ | ไม่ขอเจรจา |
๑๔๕ โกสุมเทวี | |
ได้ฟังบุตรี | สงสัยไปมา |
ไม่รู้ในอรรถ | นางตั้งสัจจา |
แต่ชาติหลังมา | เมื่อเป็นสกุณี |
๑๔๖ เมื่อนั้นนางนาฏ | |
จึ่งทูลพระบาท | ว่าราชบุตรี |
นางมิได้โกรธ | ได้โปรดเกศี |
นางบอกคดี | สิ้นความสงสัย |
๑๔๗ ใช่แต่บิตุเรศ | |
อันบังเกิดเกศ | ของนางเมื่อไร |
ชายอื่นหมื่นพัน | นอกนั้นออกไป |
ไม่พูดด้วยใคร | เลยนะราชา |
๑๔๘ ได้ยินแต่เสียง | |
อกนางพ่างเพียง | ทำลายอุรา |
แม้นนางได้ยิน | เพียงสิ้นชีวา |
ขอพระราชา | จงทราบธุลี |
๑๔๙ ท่านท้าวพรหมทัต | |
ครั้นท้าวแจ้งอรรถ | ว่าพระบุตรี |
จนพระชนมา | ได้สิบห้าปี |
เจ้าไม่พาที | พูดด้วยผู้ชาย |
๑๕๐ สมเด็จพระบาท | |
ให้ทำปราสาท | อันงามพรรณราย |
ให้นางทรามวัย | อยู่ให้ไกลชาย |
พระสนมทั้งหลาย | แปดหมื่นสี่พัน |
๑๕๑ ข้าเฝ้าเจ้านาย | |
ข้าหลวงทั้งหลาย | สตรีทั้งนั้น |
อยู่รักษานาง | ในปรางค์สุวรรณ |
เป็นสุขทุกวัน | ไม่มีอันตราย |
๑๕๒ วรนุชสุดสวาดิ | |
อยู่แต่ปราสาท | ด้วยนางทั้งหลาย |
ให้นางนิฤมล | อยู่พ้นผู้ชาย |
นางค่อยสบาย | ได้หลายวันมา |
๑๕๓ สมเด็จกรุงกระษัตริย์ | |
ท้าวบรมพรหมทัต | ผู้เป็นบิดา |
ท้าวรำพึงคิด | ว่าพระธิดา |
พระชนมา | ได้สิบห้าปี |
๑๕๔ ว่านางโฉมฉาย | |
ไม่พูดด้วยชาย | ในโลกโลกีย์ |
ท้าวคิดตรึกตรอง | จักลองเทวี |
ว่าพระบุตรี | เจ้าไม่พูดด้วยใคร |
๑๕๕ ครั้นท้าวคิดแล้ว | |
โองการแจ้วแจ้ว | สั่งเสนาใน |
ให้แต่งสารา | ปิดตราแจกไป |
หัวเมืองน้อยใหญ่ | ร้อยเอ็ดธานี |
๑๕๖ ท้าวพระยาทั้งหลาย | |
ให้แต่งลูกชาย | มาทุกบูรี |
เราจะให้พูด | ด้วยพระบุตรี |
แม้นนางเทวี | เจ้าพูดด้วยใคร |
๑๕๗ พูดด้วยใครแล้ว | |
อันว่านางแก้ว | เราจะยกให้ |
จะเสกนิฤมล | กับคนนั้นไซร้ |
เราจะทั้งให้ | เป็นอุปราชา |
๑๕๘ เมื่อนั้นอำมาตย์ | |
รับสั่งพระบาท | จึงแต่งสารตรา |
ตามพระโองการ | ภูบาลสั่งมา |
เสร็จแล้วมิช้า | สั่งให้นักการ |
๑๕๙ ให้เอาสารไป | |
ถวายแก่ท้าวไท | สมเด็จภูบาล |
ร้อยเอ็ดพารา | บัดนี้อย่านาน |
สั่งให้นักการ | ทั้งร้อยเอ็ดนาย |
๑๖๐ นักการเอาไป | |
ถวายให้ท้าวไท | หัวเมืองทั้งหลาย |
ทั้งร้อยเอ็ดแห่ง | แจ้งในกฎหมาย |
จึ่งแต่งลูกชาย | แล้วส่งเข้ามา |
๑๖๑ พระยาทั้งหลาย | |
หวังให้ลูกชาย | เป็นอุปราชา |
ทั้งร้อยเอ็ดองค์ | ส่งลูกเข้ามา |
ยังพระพารา | ณสีเวียงไชย |
๑๖๒ ลูกพระยาร้อยเอ็ด | |
มาพร้อมกันเสร็จ | ร้อยเอ็ดกรุงไกร |
จึ่งทั้งพลับพลา | อยู่หน้าพระลานไชย |
ครั้นเช้าเข้าไป | เฝ้าพระทรงธรรม์ |
๑๖๓ ท้าวเห็นกุมาร | |
มีพระโองการ | ตรัสมาด้วยพลัน |
แก่พระกุมาร | ทั้งร้อยเอ็ดนั้น |
เจ้าจงผลัดกัน | ไปพูดด้วยนาง |
๑๖๔ แม้นนางทรามวัย | |
เจ้าพูดด้วยใคร | ขึ้นที่ในปรางค์ |
ให้ชาวแตรสังข์ | คอยฟังเป็นกลาง |
ได้ยินเสียงนาง | เจ้าพูดด้วยใคร |
๑๖๕ ประโคมแตรสังข์ | |
เราจะคอยฟัง | ให้รู้แก่ใจ |
คนใดคู่สร้าง | ด้วยนางทรามวัย |
ตัวเราจะใคร่ | ให้รู้สำคัญ |
๑๖๖ แม้นนางทรามวัย | |
เจ้าพูดด้วยใคร | ประโคมด้วยพลัน |
จึ่งสั่งกุมาร | ทั้งร้อยเอ็ดนั้น |
เจ้าจงผลัดกัน | พูดคนละราตรี |
๑๖๗ กุมารดีใจ | |
จึ่งลาท้าวไท | ออกมาด้วยดี |
เพลานั้นเล่า | จะเข้าราตรี |
จึ่งชาวมโหรี | ดนตรีแตรสังข์ |
๑๖๘ เข้าไปเตรียมการ | |
อยู่ตามพนักงาน | ได้คอยระวัง |
คอยฟังนางงาม | ทำตามรับสั่ง |
สำหรับระวัง | นางพูดด้วยใคร ๚ะ |
ยานี
๑๖๙ เพลาราตรีกาล | พระกุมารทั้งนั้นไซร้ |
องค์หนึ่งจึ่งเข้าไป | พูดด้วยนางในปรางค์ศรี |
๑๗๐ ครั้นถึงจึ่งปราศรัย | ด้วยอรไทเป็นไมตรี |
บิดาท้าวปรานี | โปรดให้พี่นี้มาหา |
๑๗๑ พระน้องอย่าตัดรอน | นางบังอรจงเมตตา |
เจ้าไม่เจรจา | ด้วยพี่ยานางเทวี |
๑๗๒ พูดไปแล้วพูดมา | เหมือนอย่างบ้าน่าบัดศรี |
พอจวนรุ่งราตรี | นางเทวีไม่เจรจา |
๑๗๓ พอรุ่งราตรีกาล | พระกุมารกลับเปล่ามา |
มาถึงซึ่งพลับพลา | อดนอนมาก็หลับไป |
๑๗๔ ค่ำลงมิทันนาน | พระกุมารองค์หนึ่งไซร้ |
พลบค่ำย่ำฆ้องไชย | จึ่งขึ้นไปพูดด้วยนาง |
๑๗๕ บัดนี้พระบิดา | ให้พี่มาหาในปรางค์ |
ปรานีแก่พี่บ้าง | อย่าโรยร้างซึ่งไมตรี |
๑๗๖ พี่มาถึงปราสาท | วรนุชนาฏได้ปรานี |
อย่าให้เสียท่วงที | ตัดไมตรีให้เด็จดาย |
๑๗๗ ได้แล้วไม่ทิ้งเสีย | เลี้ยงเป็นเมียจนวันตาย |
จงพูดด้วยพี่ชาย | ถึงมิมากแต่สักคำ |
๑๗๘ นางไซร้ไม่แลเหลียว | พูดคนเดียวอยู่งึมงำ |
ไม่พูดด้วยสักคำ | แต่หัวค่ำจนป่านนี้ |
๑๗๙ นั่งบ่นจนหาวนอน | นางบังอรไม่ไยดี |
พอจวนรุ่งราตรี | นางเทวีไม่เจรจา |
๑๘๐ เมื่อนั้นพระกุมาร | ไม่ได้การแล้วกลับมา |
อดนอนจนแสบตา | เสียเปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
๑๘๑ กุมารคนนี้ไซร้ | ในน้ำใจเจ้ากล้าหาญ |
เพลาสนธยากาล | ขึ้นไปพูดด้วยเทวี |
๑๘๒ ดูรานางน้องแก้ว | พี่มาแล้วถึงปรางค์ศรี |
เปิดม่านออกพาที | พูดด้วยพี่สักสองคำ |
๑๘๓ เป็นไรไม่เจรจา | ฤๅใบ้บ้าต้องกระทำ |
ไม่พูดแต่สักคำ | แต่หัวค่ำจนเที่ยงคืน |
๑๘๔ แต่พี่มาอ้อนวอน | ถ้าจะนอนได้สักตื่น |
พูดด้วยให้รวยรื่น | ให้พี่ชื่นในน้ำใจ |
๑๘๕ มาพูดด้วยบังอร | จนหาวนอนจะขาดใจ |
ไม่พูดก็แล้วไป | อดนอนไยให้เสียที |
๑๘๖ ว่าแล้วเท่านั้นไซร้ | นอนกรนไปอยู่ฟี้ฟี้ |
ครั้นว่ารุ่งราตรี | ลงจากปรางค์มาบัดดล |
๑๘๗ กุมารทังนั้นไซร้ | ผลัดกันไปทั่วทุกคน |
สิ้นทั้งร้อยเอ็ดตน | นางมิได้เจรจา |
๑๘๘ ทั้งร้อยเอ็ดกุมาร | มิได้การเหมือนคิดมา |
ไม่สมความปรารถนา | จึ่งทูลลาไปบูรี |
๑๘๙ เมื่อนั้นท้าวพรหมทัต | รำพึงอรรถด้วยเทวี |
เหตุไรพระบุตรี | เจ้าจึ่งไม่เจรจา |
๑๙๐ จะลองอีกสักที | พระภูมีสั่งเสนา |
ให้เร่งบอกกันมา | แต่บรรดาลูกมนตรี |
๑๙๑ บอกมาให้พร้อมมูล | ทั้งตระกูลลูกเศรษฐี |
จะลองอีกสักที | สุดแต่นางพูดด้วยใคร |
๑๙๒ มนตรีจึ่งรับสั่ง | วิ่งล้าลังมาทันใด |
บอกแก่เสนาใน | แต่บรรดามีลูกชาย |
๑๙๓ เสนาแลมนตรี | ลูกเศรษฐีสิ้นทั้งหลาย |
บัดนี้พระฦๅสาย | ให้แต่งลูกชายเข้าไป |
๑๙๔ จะให้พูดด้วยนาง | ที่ในปรางค์ปราสาทไชย |
แม้นนางพูดด้วยใคร | ท้าวจะให้ครองพารา |
๑๙๕ เมื่อนั้นจึ่งเศรษฐี | ทั้งมนตรีแลเสนา |
แต่งลูกตนเข้ามา | เฝ้าสมเด็จพระภูบาล |
๑๙๖ บรมกระษัตริย์ | ท้าวพรหมทัตมีโองการ |
จึ่งสั่งให้กุมาร | ลูกมนตรีแลเศรษฐี |
๑๙๗ ให้ไปพูดด้วยนาง | ที่ในปรางค์ทับทิมศรี |
ไปพูดคนละราตรี | แม้นว่านางพูดด้วยใคร |
๑๙๘ เราจะอุปภิเษก | ให้เป็นเอกครองเวียงไชย |
นางพูดด้วยผู้ใด | ผู้นั้นไซร้จะได้ดี |
๑๙๙ เมื่อนั้นกุมารา | ลูกเสนาแลเศรษฐี |
กราบลาพระภูมี | ครั้นราตรีขึ้นไปพลัน |
๒๐๐ ไปพูดคืนละคน | ด้วยเล่ห์กลต่างต่างกัน |
ผลัดกันพูดทุกวัน | นางจอมขวัญไม่ไยดี |
๒๐๑ นางไซร้ไม่ยลยิน | จนสุดสิ้นลูกมนตรี |
นางไซร้ไม่พาที | ลูกมนตรีก็จนใจ |
๒๐๒ ยังแต่ลูกเศรษฐี | ครั้นราตรีจึ่งขึ้นไป |
บนปรางค์ปราสาทไชย | จึ่งปราศรัยด้วยไฉยา |
๒๐๓ ไปพูดคืนละคน | เหมือนหนหลังดังว่ามา |
ร่ำไปไม่เข้ายา | เห็นจะช้าซึ่งท่วงที |
๒๐๔ นางไซร้มิได้พูด | จนสิ้นสุดลูกเศรษฐี |
เจ้าไม่มาพาที | ด้วยชายใดแต่สักคน |
๒๐๕ ครั้งนั้นลูกมนตรี | ลูกเศรษฐีก็ขัดสน |
มาเฝ้าท้าวจุมพล | ทูลยุบลแจ้งกิจจา |
๒๐๖ ไปพูดด้วยอรไท | เจ้ามิได้เจรจา |
นิ่งไปเหมือนใบ้บ้า | สุดปัญญาจะพาที |
๒๐๗ ทูลแล้วมิทันช้า | จึ่งกราบลาพระภูมี |
ออกมาจากปรางค์ศรี | ต่างจรลีไปเคหา |
๒๐๘ พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ | รำพึงคิดอยู่ไปมา |
ร้อยเอ็ดลูกพระยา | เจ้ามิได้จะพาที |
๒๐๙ ครั้งนี้ก็ประหลาด | ลูกอำมาตย์แลมนตรี |
อีกทั้งลูกเศรษฐี | เจ้ามิได้จะเจรจา |
๒๑๐ จะลองนางเทวี | อีกสักทีดูก่อนรา |
จึ่งสั่งแก่เสนา | ให้ป่าวร้องลูกกระฎุมพี |
๒๑๑ ป่าวร้องให้มามาก | ทั้งคนยากแลคนมี |
แต่ลูกกระฎุมพี | ให้เร่งป่าวกันเข้ามา |
๒๑๒ อำมาตย์รับสั่งท้าว | จึ่งไปป่าวทั่วพารา |
บ้านนอกแลขอกนา | ให้เข้ามาทุกตำบล |
๒๑๓ กระฎุมพีครั้นรู้ข่าว | เขาไปป่าวทุกตัวคน |
จึ่งแต่งซึ่งลูกตน | สิ้นทุกคนให้เข้าไป |
๒๑๔ ลางคนห่มพุดดอก | นุ่งหัวปอกทอใหม่ใหม่ |
บ้างนุ่งตารางไหม | ห่มผ้าเทศอันเนื้อดี |
๒๑๕ บ้างห่มสีหมากสุก | ตารัดมุกงามมีศรี |
ลางคนนุ่งตานี | ห่มดอกคำย้อมน้ำฝาง |
๒๑๖ ลางคนนุ่งเกล็ดเต่า | ห่มนั้นเล่าผ้าขาวบาง |
จะไปพูดด้วยนาง | เห็นท่าทางพูดด้วยเรา |
๒๑๗ ลางคนนุ่งตาโถง | หวีผมโหย่งติดเขม่า |
ขัดปีกแล้วดูเงา | ที่ในไหน้ำมันยาง |
๒๑๘ ลางคนนั้นนุ่งผ้า | ตาเม็ดงาห่มริ้วมะปราง |
จะไปพูดด้วยนาง | ที่ในปรางค์ปราสาทจันทน์ |
๒๑๙ ลางคนนั้นเล่าไซร้ | ตัดผมใหม่ใส่น้ำมัน |
แต่งตัวงามเฉิดฉัน | นุ่งสีจันทร์ห่มสีคราม |
๒๒๐ ส่องกระจกแล้วหวีหัว | พิศดูตัวชมว่างาม |
ผู้หญิงจะวิ่งตาม | กลัวจะเสียเนื้อความไป |
๒๒๑ เหล่าพวกกระฎุมพี | คิดมั่งมีแต่ในใจ |
ว่าครั้งทีนี้ไซร้ | จะได้เป็นอุปราชา |
๒๒๒ กระฎุมพีสิ้นทั้งนั้น | ครั้นพร้อมกันแล้วเข้ามา |
ถึงวังมิได้ช้า | เข้าเฝ้าท้าวในรังศรี |
๒๒๓ เมื่อนั้นพระนเรนทร์ | ครั้นแลเห็นกระฎุมพี |
ตรัสสั่งมาด้วยดี | ให้ไปพูดด้วยฉายา |
๒๒๔ แม้นนางพูดด้วยใคร | จะยกให้เป็นบริจา |
จะให้เป็นฝ่ายหน้า | ตามวาสนาของผู้ใด |
๒๒๕ กระฎุมพีทั้งปวงนั้น | ฟังทรงธรรม์ก็ดีใจ |
กราบลาพระภูวไนย | จะไปพูดด้วยเทวี |
๒๒๖ มาถึงตีนอัฒจันทร์ | จึ่งผลัดกันคนละราตรี |
ไปพูดด้วยเทวี | ที่ในปรางค์รจนา |
๒๒๗ จึ่งว่านางเทวี | ในวันนี้พระราชา |
ให้พี่นี้มาหา | สังสนทนาด้วยเทวี |
๒๒๘ แม้นเจ้ายอมเป็นเมีย | ไม่ให้เสียซึ่งท่วงที |
ตายด้วยม้วยเป็นผี | น้องเจ้าพี่อย่าแคลงใจ |
๒๒๙ ตัวพี่ไม่ล่อลวง | นางนมพวงอย่าสงลัย |
บุญเหลือไม่เชื่อใจ | เจ้าจึงไม่เจรจา |
๒๓๐ แม้นไม่เลี้ยงไว้แนบอก | ให้ตกนรกจัตุรา |
จริงจริงให้ฟ้าผ่า | หัวคนอื่นให้แตกตาย |
๒๓๑ นั่งบ่นเหมือนคนบ้า | กล่าววาจาเป็นมากมาย |
จนถึงสามยามปลาย | นางโฉมฉายไม่พาที |
๒๓๒ อดนอนโงกวับวับ | หลับตาพูดไม่สมประดี |
ครั้นว่ารุ่งราตรี | กระฎุมพีกลับลงมา |
๒๓๓ กระฎุมพีทั้งปวงนั้น | ผลัดกันพูดด้วยฉายา |
ทุกวันนิรันดร์มา | พระยุพาไม่ไยดี |
๒๓๔ ไม่พูดด้วยสักคน | จนสิ้นพวกกระฎุมพี |
กลับมาทูลภูมี | ว่าเทวีไม่เจรจา |
๒๓๕ ทูลแล้วกระฎุมพี | ลาภูมีแล้วออกมา |
จากวังมิได้ช้า | ไปเคหาสถานตน |
๒๓๖ เมื่อนั้นกรุงกระษัตริย์ | ท้าวพรหมทัตคิดฉงน |
ให้พูดจนทุกคน | นางนิฤมลไม่พาที |
๒๓๗ ท้าวไทไม่รู้เหตุ | ว่าเยาวเรศพระบุตรี |
แต่ยังเป็นปักษี | นางเทวีตั้งสัจจา ๚ะ |
สุรางคนางค์
๒๓๘ เรื่องนี้ยกไว้ก่อน | |
จะกล่าวถึงภูธร | หน่อพระศาสดา |
เจ้าสรรพสิทธิ | ไปเรียนวิชา |
ลาอาจารย์มา | ช้านานหลายวัน |
๒๓๙ สองคนกะพี่เลี้ยง | |
ผันผายบ่ายเบี่ยง | มาในไพรสัณฑ์ |
แต่พากันมา | ลินลาจรจรัล |
ได้สิบห้าวัน | มาถึงสถาน |
๒๔๐ เจ้าจึ่งเข้าไป | |
นั่งลงกราบไหว้ | บิตุเรศชนมาร |
โกณฑัญบิดา | เขมานงคราญ |
เห็นพระกุมาร | ลูกรักกลับมา |
๒๔๑ ทั้งสองเศรษฐี | |
ชื่นชมยินดี | จึงมีวาจา |
เจ้าตั้งความเพียร | ไปเรียนวิชา |
ลุดังปรารถนา | ฤๅประการใด |
๒๔๒ สรรพสิทธิปรีชา | |
บอกแก่บิดา | มารดาทันใจ |
เรียนศิลปศาสตร์ | สามารถฤทธิไกร |
สำเร็จดังใจ | ลาอาจารย์มา |
๒๔๓ เมื่อเจ้ามาถึง | |
อำมาตย์คนหนึ่ง | วันนั้นออกมา |
มาหาเศรษฐี | ที่ในเคหา |
สังสนทนา | ด้วยมหาเศรษฐี |
๒๔๔ เห็นหน่อโพธิสัตว์ | |
หนุ่มน้อยกำดัด | ได้สิบหกปี |
โฉมงามประเสริฐ | เลิศล้ำโลกี |
เมื่อนั่นมนตรี | ถามมาทันใจ |
๒๔๕ ว่าข้าแต่ท่าน | |
อันว่ากุมาร | นี้ลูกของใคร |
ฤๅว่าลูกหลาน | ของท่านฤๅไฉน |
โฉมงามทรามวัย | ลูกใครท่านอา |
๒๔๖ เศรษฐีบอกเล่า | |
ว่าลูกข้าเจ้า | นะท่านเสนา |
ตัวเจ้านี้ไซร้ | ไปเรียนวิชา |
เจ้าพึ่งกลับมา | ถึงในวันนี้ |
๒๔๗ เมื่อนั้นเสนา | |
ครั้นฟังกิจจา | จึ่งลาเศรษฐี |
ลงจากเคหา | กลับมาบูรี |
เข้าในวังศรี | เฝ้าท้าวทรงธรรม์ |
๒๔๘ จึ่งกราบทูลสาร | |
ยังมีกุมาร | หนุ่มน้อยเฉิดฉัน |
นรลักษณ์พักตร์ผ่อง | คือดังดวงจันทร์ |
เป็นบุตรโกณฑัญ | อยู่บ้านจันทคาม |
๒๔๙ ไปเรียนวิชา | |
เจ้าพึ่งกลับมา | ข้าได้ไถ่ถาม |
เศรษฐีบอกให้ | จึ่งได้เนื้อความ |
รูปทรงเจ้างาม | ดังเทพเมืองบน |
๒๕๐ ท่านท้าวพรหมทัต | |
ครั้นได้ฟังอรรถ | แจ้งในอนุสนธิ์ |
ตรัสไปไม่ช้า | เสนาสามนต์ |
เร่งเร็วบัดดล | ไปเอาตัวมา |
๒๕๑ ไปบอกโกณฑัญ | |
ว่าลูกชายนั้น | ไปเรียนวิชา |
อันลูกเศรษฐี | บัดนี้กลับมา |
เราจะให้สนทนา | ด้วยพระบุตรี |
๒๕๒ เสนาสามนต์ | |
รับสั่งจุมพล | กราบลาภูมี |
ออกมามินาน | ยังบ้านเศรษฐี |
จึ่งบอกคดี | ถ้วนถี่ทุกประการ |
๒๕๓ ว่าพระทรงฤทธิ์ | |
ให้เจ้าสรรพสิทธิ | เข้าไปอย่านาน |
จะให้ตัวเจ้า | ยอดเยาวมาลย์ |
พูดด้วยนงคราญ | เกสรสาวสวรรค์ |
๒๕๔ เศรษฐีแจ้งกิจ | |
ให้เจ้าสรรพสิทธิ | กับพี่เลี้ยงนั้น |
มาด้วยเสนา | ลินลาผายผัน |
พากันจรจรัล | เข้าในเมืองหลวง |
๒๕๕ มาตามถนน | |
ท่ามกลางมหาชน | ฝูงคนทั้งปวง |
ชวนกันพิศวาส | ทั้งท้องตลาดหลวง |
สาวสาวทั้งปวง | ชวนกันตามดู |
๒๕๖ เห็นรูปโพธิสัตว์ | |
มีความกำหนัด | วิ่งตามพรูพรู |
ลางคนว่าไป | ถ้าได้กับกู |
เปิดนมให้ดู | ชายหูชายตา |
๒๕๗ ลางคนว่าไป | |
พาอีจังไร | มาทำขายหน้า |
ได้เป็นผัวกู | สมหูสมตา |
จะชวนเสนหา | ไม่ให้ขาดวัน |
๒๕๘ ลางคนว่าเล่า | |
ถ้าได้กับเรา | จะดีกว่านั้น |
ให้อยู่ในห้อง | กินของกลางวัน |
ปิดประตูให้มั่น | ทุกวันอัตรา |
๒๕๙ ที่เป็นผู้ใหญ่ | |
ถามว่าลูกใคร | ท่านไปพามา |
รูปร่างสำอาง | เหมือนอย่างเทวา |
เห็นทีฉายา | เจ้าจะพาที |
๒๖๐ แต่ก่อนนั้นเล่า | |
ไม่งามเพริศเพรา | เหมือนเจ้าคนนี้ |
แอร่มแช่มช้อย | หนุ่มน้อยมีศรี |
เห็นนางเทวี | เจ้าจะชอบใจ |
๒๖๑ พักตราน่ารัก | |
คิ้วคอนรลักษณ์ | น่ารักแจ่มใส |
ลูกสาวชาวตลาด | พิศวาสอาลัย |
ตามไปมิได้ | กลับมาเรือนตน |
๒๖๒ เมื่อนั้นอำมาตย์ | |
พาเจ้าลินลาศ | มาตามถนน |
เดินมาล้าลัง | ถึงวังบัดดล |
เข้าเฝ้าจุมพล | ในท้องพระโรงไชย |
๒๖๓ สรรพสิทธิกุมาร | |
ก้มเกล้ากราบกราน | ถวายบังคมไท |
ท้าวเห็นสรรพสิทธิ | พิศดูทรามวัย |
คิดในพระทัย | รำพึงไปมา |
๒๖๔ ว่าลูกโกณฑัญ | |
รูปโฉมโนมพรรณ | เห็นงามพอตา |
ควรที่จะครอง | ปกป้องพารา |
น่ารักพักตรา | เห็นงามเฉิดฉาย |
๒๖๕ จิ้มลิ้มนิ่มนวล | |
เป็นที่ยียวน | ใจโลกย์ทั้งหลาย |
เป็นที่เสนหา | ไม่มาว่างวาย |
จะมีแยบคาย | ในการสตรี |
๒๖๖ นางสุวรรณเกสร | |
เราเห็นลูกอร | จะมาพาที |
ถ้าแม้นไม่พูด | ด้วยชายคนนี้ |
จะให้เทวี | เจ้าหาตามใจ |
๒๖๗ คิดแล้วภูบาล | |
มีพระโองการ | ตรัสแก่ทรามวัย |
ดูรากุมาร | ท่านจงขึ้นไป |
บนปราสาทไชย | พูดด้วยเทวี |
๒๖๘ ที่ในปรางค์ปรา | |
ในเมื่อเพลา | กลางคืนวันนี้ |
พูดจาปราศรัย | เป็นทางไมตรี |
สนทนาพาที | ตามอัชฌาสัย |
๒๖๙ นางพูดด้วยแล้ว | |
อันว่านางแก้ว | เราจะยกให้ |
จะเสกทั้งสอง | ให้ครองเวียงไชย |
เจ้าจงขึ้นไป | เมื่อในราตรี |
๒๗๐ ท่านท้าวจึงสั่ง | |
ใช้ชาวแตรสังข์ | แลดุรีย์ดนตรี |
ขึ้นไประวัง | เหมือนดังทุกที |
จึ่งชาวดนตรี | ชวนกันขึ้นไป |
๒๗๑ สรรพสิทธิกุมาร | |
กราบลาภูบาล | ออกมาทันใจ |
เจ้ามารำพึง | คิดคำนึงใน |
เพลานั้นไซร้ | พลบค่ำราตรี |
๒๗๒ หน่อพระศาสดา | |
เจ้ามีปัญญา | เลิศล้ำโลกี |
เข้ามานั่งเคียง | พี่เลี้ยงด้วยดี |
จึ่งอ่านฤทธี | พระเวทคาถา |
๒๗๓ ถอดเอาหัวใจ | |
ของพี่เลี้ยงไซร้ | ออกจากกายา |
เอามาซ่อนไว้ | เมื่อใกล้สนธยา |
จึ่งเอาขึ้นมา | บนปราสาทไชย |
๒๗๔ ยามหนึ่งนั่งอยู่ | |
ที่ริมประตู | เอาดวงหทัย |
ของพี่เลี้ยงนั้น | ออกมาทันใจ |
เอาใส่เข้าไว้ | ที่บานทวาร |
๒๗๕ หน่อพระชินศรี | |
เสี่ยงด้วยบารมี | ตั้งอธิษฐาน |
ว่าข้ากับนาง | สร้างมาช้านาน |
เดชะสมภาร | เคยคู่กันมา |
๒๗๖ เคยเป็นคู่สร้าง | |
ขอให้นวลนาง | พูดด้วยอาตมา |
เดชะกุศล | แต่หนหลังมา |
ให้นางเจรจา | เมื่อในราตรี |
๒๗๗ ฝ่ายนางทรามวัย | |
ได้ตั้งสัตย์ไว้ | จึ่งไม่พาที |
ด้วยพยาบาท | แต่ชาติปักษี |
มิได้พาที | ด้วยชายคนใด |
๒๗๘ พ่อนกนั้นเล่า | |
พิษฐานตามเจ้า | มาทันอรไท |
เดชะกุศล | ให้เข้าดลใจ |
นางงามทรามวัย | จะใคร่เจรจา |
๒๗๙ แต่ประถมยาม | |
จึ่งพระโฉมงาม | หน่อพระศาสดา |
อยู่ที่ประตู | หวังดูกิริยา |
จึ่งมีวาจา | พูดด้วยพระทวาร |
๒๘๐ ดูราประตู | |
แต่ข้ามาอยู่ | เป็นช้าเป็นนาน |
ท้าวให้มาพูด | ด้วยพระเยาวมาลย์ |
ที่ไหนนงคราญ | นางจะเจรจา |
๒๘๑ เจ้าไม่พอใจ | |
จะพูดด้วยใคร | ชายใดเลยนา |
แต่พี่กับน้อง | พูดกันสองรา |
นางไม่เจรจา | ช่างนางเป็นไร |
๒๘๒ จึงพี่ประตู | |
เล่านิทานสู่ | กันฟังเป็นไร |
นิทานหนหลัง | รู้บ้างฤๅไฉน |
พี่เจ้าเล่าไป | ได้แก้หาวนอน |
๒๘๓ หัวใจในประตู | |
ว่าข้าไม่รู้ | นิทานแต่ก่อน |
เป็นแต่ประตู | ไม่รู้บทกลอน |
ครั้นค่ำเมื่อจะนอน | ท่านปิดเข้าไว้ |
๒๘๔ ครั้นเวลาเช้า | |
ท่านเปิดออกเล่า | เป็นทุกวันไป |
เป็นพนักงาน | แต่เท่านั้นไซร้ |
ไม่รู้สิ่งไร | จะเล่าให้ฟัง |
๒๘๕ ฝ่ายว่านางนาฏ | |
เห็นผิดประหลาด | กว่าแต่หนหลัง |
ประตูพดได้ | ยังไม่เคยฟัง |
กุศลหนหลัง | มาเข้าดลใจ |
๒๘๖ นังอยู่ในม่าน | |
จะฟังนิทาน | กุมารนั้นไซร้ |
จะเล่าตำนาน | นิทานสิ่งใด |
นางงามทรามวัย | เจ้าตั้งใจฟัง |
๒๘๗ เจ้าสรรพสิทธิ | |
ครั้นเจ้าดำริ | แล้วกล่าววาจัง |
ข้าจะเล่าสู่ | ให้พี่ประตูฟัง |
โบราณท่านตั้ง | ไว้เป็นนิทาน |
๒๘๘ แต่ก่อนยังมี | |
ชาวเกลอทั้งสี่ | มีวิชาการ |
ความรู้คนละสิ่ง | ยอดยิ่งเชี่ยวชาญ |
คนหนึ่งชำนาญ | การยิงธนู |
๒๘๙ คนหนึ่งชำนาญ | |
มีวิชาการ | เรียนเป็นหมอดู |
ในยามสามตา | เรียนมาต่อครู |
ใครมาให้ดู | ไม่ผิดสักที |
๒๙๐ คนหนึ่งสามารถ | |
รู้ศิลปศาสตร์ | เลิศล้ำโลกี |
ฝูงคนทั้งหลาย | อันตายเป็นผี |
ชุบด้วยฤทธี | ให้รอดขึ้นมา |
๒๙๑ คนหนึ่งเลิศล้ำ | |
รู้ประดาน้ำ | ดำกลั้นนักหนา |
เงินทองตกน้ำ | จ้างดำอัตรา |
ในกลางคงคา | ดำให้ทุกคน |
๒๙๒ วันหนึ่งเล่าไซร้ | |
จึ่งพากันไป | เที่ยวในไพรสณฑ์ |
นั่งอยู่ร่มไม้ | แทบใกล้ฝังชล |
สหายสี่คน | สนทนาพาที |
๒๙๓ สามเกลอจึ่งถาม | |
แก่หมอทายยาม | ว่าเราวันนี้ |
ชวนกันมานั่ง | ริมฝั่งนัที |
ว่าเราจะมี | ลาภบ้างฤๅไฉน |
๒๙๔ จึ่งหมอดูนั้น | |
จับยามด้วยพลัน | รู้แจ้งในใจ |
ว่าในวันนี้ | จะมีลาภใหญ่ |
นกอินทรีไซร้ | จะคาบนางมา |
๒๙๕ ไม่ช้าบหึง | |
จะคาบมาถึง | บัดนี้แลนา |
พอนกอินทรี | คาบนารีมา |
เห็นแล้วมิช้า | ชี้ให้กันดู |
๒๙๖ สหายทั้งสี่ | |
เห็นนกอินทรี | คาบนางวางวู่ |
มาโน่นแล้วแน่ | ชวนกันแลดู |
นายขมังธนู | จึ่งยิงขึ้นไป |
๒๙๗ ในกลางวิถี | |
อินทรีปักษี | เห็นแล้วตกใจ |
วางนางลงมา | กลางคงคาไหล |
นางนั้นบรรลัย | ในกลางคงคา |
๒๙๘ คนรู้ประดาน้ำ | |
เพื่อนจึงลงดำ | ได้นางขึ้นมา |
นางตายเป็นผั | ไม่มีชีวา |
คนชุบรูปา | ชุบขึ้นทันใจ |
๒๙๙ นางเป็นขึ้นแล้ว | |
เอวบางนางแก้ว | โฉมงามทรามวัย |
จะได้แก่ชาย | สหายคนใด |
จะได้แก่ใคร | นะพี่ประตู |
๓๐๐ ประตูจึงว่าไป | |
นางคนนี้ไซร้ | ได้แก่หมอดู |
สหายทั้งปวง | มิได้ล่วงรู้ |
เพราะว่าหมอดู | จึ่งได้นางมา |
๓๐๑ เมื่อนั้นเทวี | |
เห็นผิดท่วงที | กว่าแต่ก่อนมา |
เหตุไรประตู | จึ่งรู้เจรจา |
ด้วยนางฉายา | ไม่รู้กลใน |
๓๐๒ ว่าเจ้าสรรพสิทธิ | |
ถอดเอาดวงจิต | ใส่ประตูไว้ |
เจ้ารำพึงคิด | เห็นผิดวิสัย |
นางงามทรามวัย | จึ่งมีวาจา |
๓๐๓ ดูราประตู | |
แต่เรามาอยู่ | ช้านานหนักหนา |
ไม่เคยได้ยิน | ลมลิ้นเจรจา |
จะได้ไยนา | แก่คนหมอดู |
๓๐๔ ได้แก่ประดาน้ำ | |
ได้ลูบได้คลำ | ได้อุ้มได้ชู |
ถึงเนื้อถึงตัว | เหมือนผัวเหมือนชู้ |
อันพี่ประตู | ว่านั้นผิดไป |
๓๐๕ จึ่งชาวดนตรี | |
ได้ยินเทวี | พูดจาปราศรัย |
ประโคมแตรสังข์ | อึงทั้งวังใน |
ได้ยินขึ้นไป | ถึงพระบิดา |
๓๐๖ พรหมทัตภูมี | |
ท้าวแจ้งคดี | ว่าพระธิดา |
กับพระกุมาร | สร้างสมภารมา |
จึ่งนางฉายา | พูดด้วยกุมาร ๚ะ |
ยานี
๓๐๗ ยามสองลั่นฆ้องไชย | เลื่อนเข้าไปจากทวาร |
สรรพสิทธิกุมาร | ถอดหัวใจจากประตู |
๓๐๘ จึ่งชาวพนักงาน | นำกุมารผู้โฉมตรู |
เข้ามาพ้นประตู | มาอยู่ใกล้ชวาลา |
๓๐๙ เจ้าสรรพสิทธิ | จึงดำริอยู่ไปมา |
เอาดวงหัทยา | ใส่ชวาลานั้นเข้าไว้ |
๓๑๐ แล้วเจ้านั่งนิ่งอยู่ | พระโฉมตรูไม่ว่าไร |
ไม่พูดด้วยใครใคร | นิ่งดูใจสักครึ่งยาม |
๓๑๑ อันว่านางทรามวัย | เจ้ามิได้จะไถ่ถาม |
พระองค์ผู้ทรงนาม | เจ้าจึ่งกล่าวซึ่งวาจา |
๓๑๒ ข้ามาอยู่คนเดียว | มาเปล่าเปลี่ยวอยู่เอกา |
เห็นแต่ชวาลา | เป็นเพื่อนพูดในราตรี |
๓๑๓ ดูราชวาลา | เอ็นดูข้าในครานี้ |
นิทานอันใดมี | จงเล่าไปสู่กันฟัง |
๓๑๔ หัวใจของพี่เลี้ยง | อยู่ในตะเกียงกล่าววาจัง |
นิทานแต่หนหลัง | ว่าข้าเจ้าไม่เข้าใจ |
๓๑๕ เป็นแต่ชวาลา | ครั้นว่าค่ำลงเมื่อไร |
ท่านนั้นจึงเอาไฟ | จุดตามไว้ทุกวันวาร |
๓๑๖ อันตัวข้าเจ้าไซร้ | ไม่รู้เล่าซึ่งนิทาน |
เป็นแต่พนักงาน | ให้สว่างในราตรี |
๓๑๗ แม้นว่าพระกุมาร | รู้นิทานแต่ก่อนมี |
เล่าไปในราตรี | ข้าเจ้านี้จะขอฟัง |
๓๑๘ นางน้องรำพึงคิด | เห็นวิปริตถึงสองครั้ง |
ตะเกียงอันตามตั้ง | ไม่เคยเห็นเจรจา |
๓๑๙ คิดแล้วนางอรไท | นิ่งไว้ในใจฉายา |
จะฟังชวาลา | เจรจาอีกอย่างไร |
๓๒๐ สรรพสิทธิกุมาร | เล่านิทานมุขหนึ่งไป |
บูราณท่านว่าไว้ | ยังมีช่างทั้งสี่คน |
๓๒๑ อันช่างคนหนึ่งไซร้ | แต่งตัวไม้ไม่ขัดสน |
คนหนึ่งรู้เวทย์มนตร์ | เป็นช่างชุบทุกสิ่งอัน |
๓๒๒ คนหนึ่งเป็นช่างเขียน | เมื่อพิศเพียรงามเฉิดฉัน |
อันช่างคนหนึ่งนั้น | ช่างสลักซึ่งลวดลาย |
๓๒๓ อยู่มาวันหนึ่งนั้น | จึ่งชวนกันทั้งสี่นาย |
รับจ้างคนทั้งหลาย | ทำใบดานการบูเรียน |
๓๒๔ นายช่างแต่งตัวไม้ | แล้วส่งให้แก่ช่างเขียน |
ใบดานการบูเรียน | เขียนเป็นรูปกระสัตรี |
๓๒๕ รูปทรงสงสถาน | ปานดังรูปกินรี |
ครั้นเขียนแล้วทันที | ส่งให้ช่างสลักพลัน |
๓๒๖ สลักเป็นรูปนาง | งามสำอางดูเฉิดฉัน |
รูปร่างดังนางสวรรค์ | เป็นที่รักทั้งสี่นาย |
๓๒๗ ช่างชุบนั้นเล่าไซร้ | ชุบขึ้นไว้ด้วยใจหมาย |
เป็นคนงามเฉิดฉาย | รูปเลิศล้ำกระสัตรี |
๓๒๘ รูปร่างงามนักหนา | แต่ผ้านุ่งนั้นไม่มี |
คนหนึ่งนั้นภักดี | เอาผ้านุ่งมาให้นาง |
๓๒๙ ผ้าห่มนั้นก็ให้ | ความรักใคร่เป็นสุดอย่าง |
ตกอยู่ในท่ามกลาง | นางจะได้แก่คนใด |
๓๓๐ ขอถามชวาลา | จงบอกข้าให้เข้าใจ |
จะได้ไปแก่ใคร | ช่วยว่าให้รู้คดี |
๓๓๑ หัวใจในตะเกียง | ค่อยบ่ายเบี่ยงมาพาที |
อันว่านางคนนี้ | ไซร้จะได้ไปแก่ใคร |
๓๓๒ ข้าเห็นว่านวลนาง | ได้แก่ช่างคนหนึ่งไซร้ |
ที่เอาผ้ามาให้ | นางจึ่งได้ปิดความอาย |
๓๓๓ ข้าเห็นว่าอย่างนี้ | ใช่ว่าที่ช่างทั้งหลาย |
จะมาปิดความอาย | แห่งนวลนางกุมารี |
๓๓๔ เมื่อนั้นนางฉายา | ฟังชวาลามาพาที |
จึ่งนางมารศรี | มีเสาวนีย์ว่าออกไป |
๓๓๕ ดูราชวาลา | เราอยู่มาแต่ก่อนไร |
หาเคยได้ยินไม่ | ชวาลามาพาที |
๓๓๖ ว่ามาผิดท่าทาง | เหตุไรนางกุมารี |
จะได้ช่างคนนี้ | ที่เอาผ้ามาให้นาง |
๓๓๗ ว่านั้นเห็นผิดนัก | อันช่างสลักทำรูปร่าง |
ต้องคลำทำรูปนาง | ไม่ว่างเว้นแต่สักวัน |
๓๓๘ ดูราชวาลา | ช่างเจรจาเห็นคมสัน |
ว่ามาผิดทั้งนั้น | อย่ามาว่าน่าบัดศรี |
๓๓๙ อันว่าช่างทั้งหลาย | จะต้องกายก็ไม่มี |
แต่ช่างสลักนี้ | จะได้นางเป็นภริยา |
๓๔๐ ดนตรีแลแตรสังข์ | ครั้นได้ฟังนางเจรจา |
ประโคมขึ้นมิช้า | เสียงประโคมครืนโครมไป |
๓๔๑ ได้ยินไปถึงกรรณ | พระทรงธรรม์บิดาไท |
ว่านางผู้ทรามวัย | เจ้าพูดด้วยพระกุมาร |
๓๔๒ คำรบถึงสองครั้ง | ท้าวได้ฟังก็ชื่นบาน |
จึ่งชมว่าสมภาร | เจ้าเคยสร้างมาด้วยกัน |
๓๔๓ นางพูดในราตรี | ในวันนี้ดูอัศจรรย์ |
คนอื่นเป็นหมื่นพัน | นอกกว่านั้นไม่เจรจา |
๓๔๔ ยามสามจึ่งพนักงาน | เลื่อนกุมารนั้นเข้ามา |
จากชั้นชวาลา | เข้ามาชั้นพานพระศรี |
๓๔๕ สรรพสิทธิฤทธิไกร | ถอดหัวใจมาด้วยดี |
ใส่ไว้ในพานพระศรี | แล้วมิได้จะว่าไร |
๓๔๖ นางไซร้ไม่กล่าวสาร | พระกุมารจึ่งว่าไป |
ข้าไม่เห็นหน้าใคร | เห็นแต่ท่านพานพระศรี |
๓๔๗ ช่างมานิ่งเสียได้ | เป็นไฉนไม่พาที |
อันตัวของข้านี้ | ไม่รู้ที่พูดด้วยใคร |
๓๔๘ หัวใจอยู่ในพาน | จึ่งกล่าวสารมาแก้ไข |
ข้าเจ้านี้เล่าไซร้ | สำหรับใส่แต่หมากพลู |
๓๔๙ พนักงานเท่านี้ไซร้ | สิ่งอันใดข้าไม่รู้ |
ข้าเจ้าจึ่งนิ่งอยู่ | ไม่รู้ที่จะพาที |
๓๕๐ เจ้าสรรพสิทธิ | ดำริแล้วกล่าวคดี |
ว่าท่านพานพระศรี | เล่านิทานสู่กันฟัง |
๓๕๑ หัวใจอยู่ในพาน | ได้ฟังสารกล่าววาจัง |
ข้ายังไม่เคยฟัง | ว่านิทานประการใด |
๓๕๒ อันว่าตัวข้าเจ้า | หารู้เล่านิทานไม่ |
เจ้ารู้จงเล่าไป | ข้าเจ้าไซร้จะขอฟัง |
๓๕๓ เมื่อนั้นจึ่งนางนาฏ | เห็นประหลาดถึงสามครั้ง |
พานหมากอันเคยตั้ง | ไว้แต่ก่อนห่อนเจรจา |
๓๕๔ หลากด้วยพานพระศรี | รู้พาทีน่าสงกา |
นางคิดอยู่ไปมา | มิได้ว่าสิ่งอันใด ๚ะ |
สุรางคนางค์
๓๕๕ สรรพสิทธิกุมาร | |
จึ่งเล่านิทาน | มุขหนึ่งสืบไป |
ยังมีนายโจร | คนหนึ่งเล่าไซร้ |
กล้าหาญชาญชัย | อยู่ในกลางป่า |
๓๕๖ อยู่ในซอกเขา | |
ถ้ำอันหนึ่งเล่า | ชอบกลนักหนา |
ใครไม่รู้แห่ง | ตำแหน่งโจรป่า |
อยู่ในซอกผา | ลับตาฝูงคน |
๓๕๗ มหาโจรคนนี้ | |
แต่เพื่อนเที่ยวตี | มาหลายตำบล |
เก็บเอาเงินทอง | มาเป็นของตน |
มหาโจรนั้นขน | เอาทรัพย์มาไว้ |
๓๕๘ ปล้นวิ่งชิงสะดม | |
ทรัพย์นั้นสะสม | มากมายเหลือใจ |
ผ้าผ่อนเงินทอง | สิ่งของนั้นไซร้ |
ขนเอามาไว้ | ในถํ้ามากมาย |
๓๕๙ ได้ทรัพย์มากแล้ว | |
มหาโจรใจแกล้ว | คิดในใจหมาย |
ทรัพย์นี้อักขู | ถ้าตัวกูตาย |
เงินทองมากมาย | จะอันตรธาน |
๓๖๐ ลูกเมียหาไม่ | |
แต่ตัวกูไซร้ | อยู่ในไพรสาณฑ์ |
คิดแล้วมิช้า | เที่ยวมาใกล้บ้าน |
แลเห็นกุมาร | มาเล่นหลายคน |
๓๖๑ เห็นได้ท่วงที | |
ว่านางกุมารี | คนนี้ชอบกล |
จะลักเอาไป | ไว้ในใพรสณฑ์ |
มหาโจรเข้าปล้น | ลักเอานางมา |
๓๖๒ อุ้มนางกุมารี | |
ได้แล้วพาหนี | เข้าไพรพฤกษา |
วันหนึ่งยังคํ่า | ถึงถ้ำคูหา |
เลี้ยงเป็นธิดา | ไม่อนาทร |
๓๖๓ เลี้ยงไว้ในถํ้า | |
ทุกวันเช้าค่ำ | แต่กินกับนอน |
โจรรักที่สุด | ดังบุตรอุทร |
อันนางบังอร | ได้สิบห้าปี |
๓๖๔ เมื่อจะวิบัติ | |
นางน้องข้องขัด | โลหิตไม่มี |
ผอมเหลืองเงื่องง่วง | โรยร่วงอินทรีย์ |
นางไม่พาที | สิ่งใดเลยนา |
๓๖๕ มหาโจรนั้นไซร้ | |
เพื่อนมาตกใจ | กลัวลูกมรณา |
คิดว่าจะไป | หาหมอรักษา |
ออกจากคูหา | เดินมาทันที |
๓๖๖ ด้นป่ามาถึง | |
ยังไร่แห่งหนึ่ง | อยู่ในไพรศรี |
ยายแก่เจ้าไร่ | เป็นหมอสตรี |
นวดฟั้นก็ดี | ประกอบหยูกยา |
๓๖๗ หญิงขาดระดู | |
ยายหมอนั้นรู้ | แก้ระดูให้มา |
นายโจรนั้นเล่า | จึ่งเข้าไปหา |
เรียกยายชรา | มาพูดจากัน |
๓๖๘ ยายหมอเจ้าไร่ | |
เห็นโจรเข้าไป | ตกใจตัวสั่น |
ครั้นจะวิ่งหนี | กลัวจะมิทัน |
ความกลัวโจรนั้น | เป็นพ้นปัญญา |
๓๖๙ อันยายหมอนั้น | |
ความกลัวตัวสั่น | งกงันมาหา |
นายโจรว่าไป | ตกใจไยนา |
จะหาไปรักษา | ลูกข้าครั้งนี้ |
๓๗๐ ยายจงไปดู | |
ลูกรักโฉมตรู | ระดูไม่มี |
แม้นลูกข้าหาย | ยายจะได้ดี |
ไปดูเทวี | ให้เห็นแก่ตา |
๓๗๑ ยายหมอนั้นไซร้ | |
ขัดโจรมิได้ | กลัวความมรณา |
แม้นว่าไม่ไป | ขัดใจโจรป่า |
เพื่อนจะโกรธา | ฆ่าให้บรรลัย |
๓๗๒ ไม่รู้ตำบล | |
ตำแหน่งแห่งหน | ว่าอยู่ที่ไหน |
บัดนี้โจรป่า | จะพาเอาไป |
อยู่ใกล้ฤๅไกล | ไม่รู้เลยนา |
๓๗๓ จึ่งเอาลูกผัก | |
น้ำเต้าแฟงฟัก | อีกทั้งถั่วงา |
ยายหมอคนนี้ | แกมีปัญญา |
กลัวว่าโจรป่า | จะเอาตัวไว้ |
๓๗๔ หาหยูกหายา | |
ลูกผักลูกหญ้า | เอาติดตัวไป |
ถ้าแม้นว่าโจร | จะเอาตัวไว้ |
อยู่ช้านานไป | จะได้หนีมา |
๓๗๕ มหาโจรนั้นเล่า | |
จึ่งพายายเฒ่า | มาจากเคหา |
พาเดินด้นดั้น | ในอรัญวา |
ไม่เดินมรคา | ลัดมาในไพร |
๓๗๖ ยายหมอนั้นนา | |
คิดด้วยปัญญา | รำพึงในใจ |
เอาผักนั้นเล่า | อันตนเอาไป |
ปลูกรายลงไว้ | ตามที่ลัดมา |
๓๗๗ ด้วยไม่รู้แห่ง | |
โจรพาลัดแลง | มาในกลางป่า |
วันนั้นจึ่งยาย | ปลูกผักรายมา |
จนถึงคูหา | ที่โจรอาศัย |
๓๗๘ มาถึงถ้ำแล้ว | |
นายโจรใจแกล้ว | พายายเข้าไป |
จึ่งให้รักษา | ธิดานั้นไซร้ |
ยายหมอนั้นให้ | กินยาทุกวัน |
๓๗๙ ทั้งบีบทั้งนวด | |
ค่อยคลายหายปวด | จากความเจ็บนั้น |
แกค่อยรักษา | มาได้หลายวัน |
จึ่งยายหมอนั้น | ลาโจรป่ามา |
๓๘๐ มหาโจรนั้นเล่า | |
ว่าแก่ยายเฒ่า | อย่าไปเลยนา |
ยายอยู่เป็นเพื่อน | ลูกข้าเถิดหนา |
พิทักษ์รักษา | ลูกข้าสืบไป |
๓๘๑ ยายหมอนั้นนา | |
อยู่ด้วยโจรป่า | ในถํ้านั้นไซร้ |
ครั้นถึงเดือนหก | ฝนตกห่าใหญ่ |
ลูกผักนั้นไซร้ | งอกงามขึ้นมา |
๓๘๒ ยายแก่นั้นไซร้ | |
รำพึงในใจ | จะหนีโจรป่า |
นายโจรไม่อยู่ | ยายจู่หนีมา |
ออกจากคูหา | เดินมาในไพร |
๓๘๓ ลัดมาในป่า | |
ตามปลูกผักมา | ที่ในป่าใหญ่ |
ตามต้นผักนั้น | เป็นสำคัญไป |
ยายจึ่งมาได้ | ถึงเคหาตน |
๓๘๔ วันยายมาถึ | |
กุมารคนหนึ่ง | รู้ข่าวบัดดล |
จึ่งมาถามข่าว | เรื่องราวเหตุผล |
ยายบอกอนุสนธิ์ | แต่หนหลังมา |
๓๘๕ ยายหมอบอกข่าว | |
โจรมีลูกสาว | คนหนึ่งโสภา |
ได้สิบห้าปี | ผิวพักตร์ลักขณา |
อยู่ในคูหา | ที่โจรอาศัย |
๓๘๖ เจ้าจะไปหา | |
ตัวยายนี้หนา | จะบอกให้ไป |
ลูกสาวมหาโจร | อยู่ถ้ำโพ้นไซร้ |
แม้ว่าเจ้าไป | จะสมปรารถนา |
๓๘๗ กุมารว่าเล่า | |
ตัวของข้าเจ้า | จะใคร่ไปหา |
ด้วยไม่รู้แห่ง | ตำแหน่งโจรป่า |
อันหนึ่งมรคา | ยังไม่เคยไป |
๓๘๘ ยายจึ่งว่าเล่า | |
แม้นว่าตัวเจ้า | จะใคร่คลาไคล |
เมื่อแรกโจรป่า | มันพายายไป |
ยายปลูกผักไว้ | ได้เป็นสำคัญ |
๓๘๙ ฝนตกลงมา | |
ฟักแฟงถั่วงา | งอกงามเรียงรัน |
หนีโจรมาไซร้ | ได้เป็นสำคัญ |
ตามราวผักนั้น | มาถึงเคหา |
๓๙๐ กุมารนั้นเล่า | |
ได้ฟังยายเฒ่า | จึ่งเจ้าไคลคลา |
ตามราวผักไป | ที่ในพฤกษา |
บัดเดี๋ยวบ่ช้า | ถึงถํ้าทันใจ |
๓๙๑ วันนั้นโจรป่า | |
ออกจากคูหา | เข้าป่าพงไพร |
กุมารนั้นเล่า | จึ่งค่อยเข้าไป |
พูดจาปราศรัย | ด้วยนางกุมารี |
๓๙๒ คนทั้งสองนั้น | |
ลอบลักรักกัน | ผูกพันไมตรี |
เพลาสายัณห์ | โจรนั้นจรลี |
นางกุมารี | เร่งมาปรารมภ์ |
๓๙๓ ว่าไม่เป็นการ | |
พ่อมาพบพาน | ชีวิตจะจม |
เอาผัวซ่อนไว้ | ที่ในมวยผม |
นางงามทรามชม | คอยรับบิดา |
๓๙๔ เพลาสายัณห์ | |
มหาโจรนั้น | เพื่อนจึงกลับมา |
ถึงแล้วเข้าไป | ที่ในคูหา |
ไม่รู้ว่าลูกยา | คบชายมาไว้ |
๓๙๕ มหาโจรนั้นเล่า | |
ครั้นเพลาเช้า | เคยเข้าในไพร |
ลูกสาวนั้นหนอ | เห็นว่าพ่อไป |
เอาผัวตนไซร้ | ออกจากมวยผม |
๓๙๖ อันคนทั้งสอง | |
เชยชมสมพอง | รสราคภิรมย์ |
พ่อกลับมาไซร้ | ซ่อนไว้ในผม |
แต่อยู่สู่สม | จนนางมีครรภ์ |
๓๙๗ มหาโจรเห็นผิด | |
ดำริตริคิด | ดูน่าอัศจรรย์ |
ลูกหาผัวไม่ | เหตุไรมีครรภ์ |
มหาโจรนั้น | เพื่อนคิดสงสัย |
๓๙๘ เสียแรงเลี้ยงมา | |
ควรฤๅธิดา | มาทำนอกใจ |
กูน้อยใจนัก | เพียงจักบรรลัย |
จะอยู่ไปไย | อายแก่เทวา |
๓๙๙ จะหาอุบาย | |
จะจับเอาชาย | ชู้ของลูกยา |
มิได้ออกปาก | ไปจากคูหา |
เข้าไปในป่า | เที่ยวหาอุบาย |
๔๐๐ โจรนั้นไปถึง | |
ยังสระแห่งหนึ่ง | เป็นที่สบาย |
ขึ้นบนต้นไม้ | อยู่ให้บังกาย |
ยังมีกระทาชาย | อมเมียเดินมา |
๔๐๑ ส่วนเมียนั้นไซร้ | |
อมชู้เข้าไว้ | คนหนึ่งเล่านา |
ไม่ให้ผัวตน | รู้กลมารยา |
อมเมียตนมา | ถึงสระทันใจ |
๔๐๒ เป็นที่สบาย | |
จึ่งกระทาชาย | คายเมียออกไว้ |
แล้วเอาซ่อนซุ่ม | ไว้ที่พุ่มไม้ |
กระทาชายนั้นไซร้ | ครั้นแล้วลงมา |
๔๐๓ อาบอุทกัง | |
เมียอยู่บนฝั่ง | มาทำมิจฉา |
คายชู้ออกชม | สมเสพกามา |
ในพุ่มพฤกษา | ริมฝั่งสระศรี |
๔๐๔ มหาโจรนั้นไซร้ | |
อยู่บนต้นไม้ | แลเห็นสตรี |
ทำนอกใจผัว | หญิงชั่วบัดศรี |
เหมือนลูกกูนี้ | นอกใจบิดา |
๔๐๕ ส่วนผัวนั้นเล่า | |
ชื่อดายตายเปล่า | เหมือนคนหลับตา |
ครั้นอาบน้ำแล้ว | คลาดแคล้วขึ้นมา |
ส่วนว่าภริยา | อมชู้เข้าไว้ |
๔๐๖ ครั้นผัวขึ้นมา | |
จึ่งเอาภริยา | อมเข้าทันใจ |
เมียนั้นอมชู้ | ผัวหารู้ไม่ |
หลับตาอมไป | เหมือนแต่ก่อนมา |
๔๐๗ มหาโจรนั้นไซร้ | |
อยู่บนต้นไม้ | เห็นแล้วลงมา |
ลงจากต้นไม้ | แล้วเข้าไปหา |
สหายนี้นา | จะไปแห่งใด |
๔๐๘ กระทาชายนั้นเล่า | |
ว่าตัวข้าเจ้า | มาเที่ยวเล่นไพร |
มาพบสระศรี | นัทีอันใส |
อาบเล่นเย็นใจ | แล้วจะไคลคลา |
๔๐๙ มหาโจรกล่าวสาร | |
ดูราตัวท่าน | อย่าเพ่อลินลา |
ไปบ้านข้าก่อน | อยู่นอนด้วยข้า |
ว่าแล้วมิช้า | ชวนกันเข้าไป |
๔๑๐ เดินมาจรล่ำ | |
ครั้นมาถึงถ้ำ | ชวนกันเข้าไป |
จึ่งเรียกบุตรี | อีจุ้ยไปไหน |
แขกมาแต่ไกล | มากมายนักหนา |
๔๑๑ หุงข้าวต้มแกง | |
ลูกรักตบแต่ง | บัดนี้อย่าช้า |
สักหกสำรับ | เสร็จสรรพยกมา |
ลูกสาวโจรป่า | เห็นมาคนเดียว |
๔๑๒ พ่อว่าแขกมา | |
มากมายนักหนา | หลากใจข้าเจียว |
ว่าแขกนักหนา | เห็นมาคนเดียว |
นางมาแลเหลียว | ไม่เห็นใครมา |
๔๑๓ ครั้นไม่ทำตาม | |
เพราะว่านางงาม | ความกลัวบิดา |
ตบแต่งสำรับ | เสร็จสรรพยกมา |
ทั้งหกมิช้า | เอามาตั้งไว้ |
๔๑๔ มหาโจรนั้นเล่า | |
เห็นสำรับข้าว | ทั้งหกนั้นไซร้ |
จึ่งเรียกกระทาชาย | สหายทันใจ |
ท่านมาแต่ไกล | บริโภคอาหาร |
๔๑๕ กระทาชายนั้นเล่า | |
จึ่งมากินข้าว | สำรับหนึ่งมินาน |
มหาโจรจึ่งว่า | ดูรานาท่าน |
บริโภคอาหาร | แต่ปากเพื่อใด |
๔๑๖ อันว่าภริยา | |
ใส่ผอบอมมา | เอาไว้ทำไม |
คายออกมากิน | ด้วยกันเป็นไร |
กระทาชายนั้นไซร้ | คายเมียออกมา |
๔๑๗ มหาโจรว่าไป | |
ยังคนหนึ่งไซร้ | ในปากภริยา |
ของท่านสหาย | ให้คายออกมา |
กินโภชนา | ให้พร้อมหน้ากัน |
๔๑๘ จึ่งนางภริยา | |
คายชู้ออกมา | ขมีขมัน |
ทั้งผัวทั้งชู้ | นั่งอยู่พร้อมกัน |
มหาโจรนั้น | เรียกลูกสาวตน |
๔๑๙ มากินโภชนา | |
จงให้พร้อมหน้า | กันสิ้นทุกคน |
นายโจรจึ่งว่า | กะลูกสาวตน |
อีจุ้ยเจ้ากล | เอาผัวตนมา |
๔๒๐ ลูกสาวคิดฉงน | |
ชะรอยพ่อตน | เห็นผัวอาตมา |
อมไว้ในปาก | ยังเห็นแก่ตา |
อันว่าบิดา | เป็นคนแสนกล |
๔๒๑ ลูกสาวโจรป่า | |
เอาผัวออกมา | จากมวยผมตน |
ทั้งหกคนนั้น | พร้อมกันบัดดล |
สิ้นทั้งหกคน | บริโภคอาหาร |
๔๒๒ เสร็จแล้วมิช้า | |
มหาโจรจึ่งว่า | ดูราหนาท่าน |
ทุกข์ครั้งนี้เอ๋ย | ใครเลยจะปาน |
อกเราอกท่าน | ครั้งนี้เหมือนกัน |
๔๒๓ น่าน้อยใจนัก | |
เราเลี้ยงลูกรัก | ใครจักเทียมทัน |
มีความรักใคร่ | มิได้เดียดฉันท์ |
เหมือนสหายนั้น | อันรักภริยา |
๔๒๔ ไปไหนอมไป | |
ยังมานอกใจ | ลักเสพกามา |
เหมือนเรารักบุตร | เป็นสุดปัญญา |
มาทำหยาบช้า | นอกใจไม่กลัว |
๔๒๕ เราหารู้ไม่ | |
อยู่ภายหลังไซร้ | คบชู้หาผัว |
กลับกลอกนอกใจ | มิได้เกรงกลัว |
จงอยู่ด้วยผัว | ตัวพ่อจะลา |
๔๒๖ มหาโจรนั้นเล่า | |
ขึ้นไปบนเขา | แล้วโจนลงมา |
ที่ในโตรกตรอก | เงื้อมงอกเหวผา |
ทีนั้นโจรป่า | ทำกิริยาตาย |
๔๒๗ กระทาชายนั้นหนา | |
ความโกรธภริยา | จะฆ่าให้ตาย |
ความรักอมไว้ | อยู่ถึงในกาย |
ยังมาคิดร้าย | นอกใจสามี |
๔๒๘ กูงมหลับตา | |
รู้เพราะโจรป่า | เพื่อนรู้ท่วงที |
กูไม่รู้ทัน | เล่ห์กลมันดี |
น้อยใจสิ้นที | กูจะอยู่ไปไย |
๔๒๙ กระทาชายนั้นเล่า | |
ขึ้นไปบนเขา | โจนลงบรรลัย |
ตายเป็นสองคน | กับโจรนั้นไซร้ |
ทั้งสองตายไป | ในถ้ำคีรี |
๔๓๐ ลูกสาวโจรป่า | |
ครั้นเห็นบิดา | มาม้วยเป็นผี |
เพราะกูทำชั่ว | มีผัวครั้งนี้ |
มาทำมิดี | นอกใจบิดา |
๔๓๑ พ่อมาน้อยใจ | |
จึ่งม้วยบรรลัย | เพราะกูนี้นา |
จะอยู่ไปไย | ตายตามบิดา |
ขึ้นไปยอดผา | โจนลงมาตาย |
๔๓๒ สามคนมรณา | |
ว่าด้วยภริยา | ของกระทาชาย |
ทำนอกใจผัว | ไม่กลัวความอาย |
ครั้นว่าผัวตาย | ได้คิดขึ้นมา |
๔๓๓ ผัวรักอมไว้ | |
มาทำนอกใจ | ให้ผัวมรณา |
กูจะอยู่ไย | ตายไปดีกว่า |
ขึ้นไปจอมผา | แล้วโจนลงไป |
๔๓๔ จากยอดภูผา | |
ในเหวนั้นนา | จึ่งมาบรรลัย |
สี่คนข้องขัด | จึ่งมาตัดษัย |
จึ่งโจนลงไป | ตายในเหวผา |
๔๓๕ ยังแต่ชายชู้ | |
ปรึกษากันดู | ว่าเราสองรา |
มาทำนอกใจ | ให้ท่านโกรธา |
เพราะเราสองรา | จึ่งมาบรรลัย |
๔๓๖ เพราะเราสองคน | |
ทำเล่ห์ทำกล | กลับกลอกนอกใจ |
ลอบลักทำชู้ | ท่านรู้กลใน |
มาคิดนอกใจ | จึ่งม้วยมรณา |
๔๓๗ เราทั้งสองคน | |
ใจอกุศล | เมามัวตัณหา |
อยู่ไปไยเล่า | มันไม่เข้ายา |
ชายชู้สองรา | พากันขึ้นไป |
๔๓๘ บนยอดภูผา | |
แล้วโจนลงมา | ในท้องเหวใหญ่ |
ทั้งสองคนนั้น | มาม้วยบรรลัย |
หกคนนั้นไซร้ | ตายในเหวผา |
๔๓๙ หกคนนั้นตาย | |
รู้ไปถึงยาย | หมอระดูนั้นนา |
ยายแก่นั้นไซร้ | เคยไปรักษา |
ลูกนายโจรป่า | รักษาระดู |
๔๔๐ ยายรำพึงคิด | |
ว่าตัวกูผิด | ชักเมียชักชู้ |
แนะนำกุมาร | ให้ไปสมสู่ |
ครั้นโจรป่ารู้ | ว่าลูกนอกใจ |
๔๔๑ เพราะกูนี้เล่า | |
มาทำให้เขา | ทั้งนี้บรรลัย |
ผิดแล้วตัวกู | จะอยู่ไปไย |
ว่าเท่านั้นไซร้ | ยายกลั้นใจตาย |
๔๔๒ คนทั้งนี้ไซร้ | |
บรรดาตายไป | พอสิ้นทั้งหลาย |
พี่พานพระศรี | จงช่วยธิบาย |
อันบาปทั้งหลาย | จะได้แก่ใคร |
๔๔๓ หัวใจในพาน | |
จึ่งมากล่าวสาร | แยบคายภายใน |
อันคนทั้งหลาย | บรรดาตายไป |
บาปทั้งนั้นไซร้ | ได้แก่กุมาร |
๔๔๔ ด้วยไปลอบลัก | |
ลวนลามความรัก | สมัครสมาน |
โจรป่าไม่อยู่ | ไม่รู้เหตุการณ์ |
เพราะว่ากุมาร | มาทำนอกใจ |
๔๔๕ จึ่งคนทั้งหลาย | |
มาพากันตาย | ทั้งสิ้นนั้นไซร้ |
กุมารนั้นทำ | ให้ชํ้าน้ำใจ |
บาปทั้งนั้นได้ | กุมารคนเดียว |
๔๔๖ เมื่อนั้นนงคราญ | |
ครั้นได้ฟังสาร | นางคิดเฉลียว |
เจ้ารำพึงคิด | เห็นผิดทีเดียว |
นางงามทรามเปลี่ยว | จึ่งมีวาจา |
๔๔๗ ดูราพานพระศรี | |
ไม่เคยพาที | เลยแต่ก่อนมา |
คารมลมลิ้น | พึ่งได้ยินว่า |
ครั้นพูดออกมา | ก็ให้ผิดไป |
๔๔๘ บาปนี้นั้นเล่า | |
จะได้แก่เจ้า | กุมารเพื่อใด |
ยายหมอเป็นต้น | เหตุผลเพราะใคร |
บอกกุมารไป | จึ่งได้วุ่นวาย |
๔๔๙ เหตุด้วยยายหมอ | |
คนทั้งนั้นหนอ | จึ่งพากันตาย |
ปาปทั้งนี้ไซร้ | จะได้แก่ยาย |
ให้คนทั้งหลาย | มาตายวายชนม์ |
๔๕๐ จึ่งชาวดนตรี | |
ได้ยินเทวี | พูดถึงสามหน |
ประโคมแตรสังข์ | สามครั้งบัดดล |
ทราบถึงจุมพล | พรหมทัตราชา |
๔๕๑ ท้าวรู้แจ้งแล้ว | |
ว่าพระลูกแก้ว | พูดถึงสามครา |
พนักงานนั้นเล่า | เลื่อนเจ้าเข้ามา |
ให้หน่อศาสดา | อยู่ชั้นม่านวง |
๔๕๒ จึ่งเจ้าสรรพสิทธิ | |
ถอดเอาดวงจิต | เข้ามาโดยจง |
จากพานพระศรี | ไว้ที่ม่านวง |
คอยฟังโฉมยง | จะว่าฉันใด |
๔๕๓ สรรพสิทธิปรีชา | |
จึ่งมีวาจา | ว่าแก่ม่านไป |
ดูราพี่ม่าน | ข้ารำคาญใจ |
ด้วยไม่มีใคร | เป็นเพื่อนหาวนอน |
๔๕๔ ดูราพี่ม่าน | |
จงเล่านิทาน | มาแต่ปางก่อน |
ประจ๋อประแจ๋ | ได้แก้หาวนอน |
สี่ยามบ่ห่อน | จะได้นอนเลย |
๔๕๕ ม่านจึ่งว่าไป | |
ข้าเจ้านี้ไซร้ | ยังมิได้เคย |
ข้าเป็นแต่ม่าน | ดอกหนาท่านเอ๋ย |
ข้านี้มิเคย | จะเล่านิทาน |
๔๕๖ พนักงานข้าเจ้า | |
รูดออกรูดเข้า | ค่ำเช้าวันวาร |
ถ้าแม้นว่าเจ้า | รู้เล่านิทาน |
จงพระกุมาร | เล่าไปจะขอฟัง |
๔๕๗ เมื่อนั้นนางนาฏ | |
เจ้าเห็นประหลาด | มาถึงสี่ครั้ง |
ม่านรู้เจรจา | หลากกว่าแต่หลัง |
พึ่งมาได้ฟัง | ม่านบังพาที |
๔๕๘ นางคิดในใจ | |
ว่าแต่ก่อนไร | ไม่เป็นอย่างนี้ |
ชวาลาทวาร | ม่านพานพระศรี |
สิ่งของทั้งนี้ | จึ่งรู้เจรจา |
๔๕๙ รู้ฟังนิทาน | |
อันพระกุมาร | เจ้านำเอามา |
นางคิดสงสัย | มิได้เจรจา |
เห็นผิดกิริยา | กว่าแต่หนหลัง ๚ะ |
ยานี
๔๖๐ สรรพสิทธิกุมาร | เล่านิทานแต่ปางหลัง |
เล่าให้พี่ม่านฟัง | ว่ายังมีกระสัตรี |
๔๖๑ กำดัดจะเชยชม | เป็นสาวพรหมจารี |
มาเที่ยวหาสามี | พร้อมกันสิ้นทั้งสี่คน |
๔๖๒ ยังมีกระทาชาย | เป็นสหายกันสี่คน |
ชวนกันมาบัดดล | จะเที่ยวหาภริยา |
๔๖๓ มาพบหญิงทั้งสี่ | จึ่งพาทีตามปรารถนา |
นัดแนะให้ไปหา | ในราตรีกันนั้นไซร้ |
๔๖๔ ชายหนึ่งจึ่งถามเล่า | บ้านของเจ้าอยู่ที่ไหน |
เมื่อค่ำวันนี้ไซร้ | จะไปหานางทรามเชย |
๔๖๕ หญิงนั้นจึ่งบอกมา | เป็นปริศนาให้เห็นสม |
ชี้เข้าที่เต้านม | บ้านข้าอยู่ที่นี่นา |
๔๖๖ ชายหนึ่งจึงถามเล่า | บ้านของเจ้าเพาพังงา |
อยู่ที่แห่งใดนา | จะไปหาในราตรี |
๔๖๗ นางบอกเป็นปริศนา | ลองปัญญาชายคนนี้ |
จึ่งชักเอาเกศี | ลงมาปกหน้าผากไว้ |
๔๖๘ ว่าบ้านของข้านี้ | อยู่ที่นี่จงเข้าใจ |
เมื่อค่ำมาให้ได้ | เป็นแม่นมั่นข้าสัญญา |
๔๖๙ ชายหนึ่งจึ่งถามเล่า | บ้านของเจ้าคนนี้นา |
วันนี้เจ้าพี่อา | พี่จะมาหานวลนาง |
๔๗๐ นางบอกเป็นปริศนา | ดูปัญญาคนนี้บ้าง |
จึ่งชี้ที่ลูกคาง | บ้านข้าอยู่ที่นี่นา |
๔๗๑ คนหนึ่งจึ่งถามเล่า | บ้านของเจ้าเพาพังงา |
เมื่อค่ำจะไปหา | ให้สัญญาเป็นแม่นแท้ |
๔๗๒ นางบอกเป็นปริศนา | ข้าจะบอกเจ้าให้แน่ |
อยู่ที่ตลาดจอแจ | ที่นั่นแลบ้านของเรา |
๔๗๓ เมื่อค่ำชวนกันมา | อย่าเจรจาเล่นเปล่าเปล่า |
ชายสี่คนนั้นเล่า | รับคำมั่นตามสัญญา |
๔๗๔ นัดแนะกันเสร็จสรรพ | ชวนกันกลับมาเคหา |
บริโภคโภชนา | เมื่อเพลาในราตรี |
๔๗๕ สี่คนจึงกลับมา | ตามสัญญาได้พาที |
เที่ยวหาในราตรี | ไม่รู้ที่อยู่แห่งใด |
๔๗๖ ว่าอยู่ที่เต้านม | นางเอวกลมอยู่ที่ไหน |
บ้านช่องของเจ้าไซร้ | อยู่ที่ไหนนะอกอา |
๔๗๗ เที่ยวหาไม่พบพาน | น่ารำคาญเป็นนักหนา |
เที่ยวไปแล้วเที่ยวมา | ไม่รู้ว่าอยู่แห่งใด |
๔๗๘ คนหนึ่งเอาเกศา | ลงมาปกหน้าผากไว้ |
เหย้าเรือนอยู่ที่ไหน | ไม่รู้แห่งจะเที่ยวหา |
๔๗๙ คนหนึ่งว่าไม่พราง | อยู่ที่คางนั้นเล่านา |
บอกในปริศนา | สุดปัญญาทีเดียวแล |
๔๘๐ คนหนึ่งบอกว่าบ้าน | นางนงคราญอยู่นี่แล้ |
อยู่ที่ตลาดจอแจ | ไม่รู้แน่ว่าที่ไหน |
๔๘๑ สี่คนเที่ยวมาหา | แต่กลับมาแลกลับไป |
จะพบก็หาไม่ | เพราะตนไซร้เขลาปัญญา |
๔๘๒ ชายทั้งสี่คนนั้น | ชวนกันบ่นอยู่เหมือนบ้า |
ไม่รู้ที่จะหา | แต่บ่นว่าอยู่ที่ไหน |
๔๘๓ คนหนึ่งว่าอยู่นั่น | คนหนึ่งนั้นว่ามิใช่ |
หาอยู่ที่นั่นไม่ | อยู่ที่นี่ดอกกระมัง |
๔๘๔ คิดแล้วจึ่งเข้าไป | ว่ามิใช่แล้วถอยหลัง |
ในใจให้คลุ้มคลั่ง | ทั้งสี่คนก็จนใจ |
๔๘๕ สี่คนบ่นงึมงำ | เราจะทำประการใด |
จึงพากันเข้าไป | มาแทบใกล้บ้านเศรษฐี |
๔๘๖ เศรษฐีมีทรัพย์หลาย | ตั้งกฎหมายในราตรี |
หน้าบ้านแห่งเศรษฐี | ในราตรีใครเดินมา |
๔๘๗ สองทุ่มจนย่ำยาม | เศรษฐีห้ามอยู่หนักหนา |
ถ้าใครเดินไปมา | ผิดเวลาเอาตัวไว้ |
๔๘๘ เศรษฐีมีวาจา | จึ่งสั่งมาแก่ข้าไท |
ให้คอยทุกวันไป | ถ้าเห็นใครผิดเวลา |
๔๘๙ เร่งจับเอาตัวไป | เสียบเป็นไว้อย่าได้ช้า |
เร่งไปบัดนี้นา | เมื่อเพลาในราตรี |
๔๙๐ คํ่าลงวันนั้นไซร้ | จึ่งข้าไทของเศรษฐี |
มาคอยในราตรี | เมื่อเพลาคืนวันนั้น |
๔๙๑ มาณพคนหนึ่งเซร้ | มีที่ไปหาเพื่อนกัน |
กลับมาในครานั้น | ถึงหน้าบ้านท่านเศรษฐี |
๔๙๒ พอได้ยามนาฬิกา | ผิดเวลาในราตรี |
บ่าวไพร่ของเศรษฐี | รี่เข้าจับเอาตัวมา |
๔๙๓ มาบอกแก่เศรษฐี | ว่าคนนี้แลเดินมา |
กลางคืนผิดเวลา | ข้าจึ่งคร่าเอาตัวไว้ |
๔๙๔ เศรษฐีโกรธนักหนา | จึ่งสั่งมาแก่ข้าไท |
ให้เอาตัวมันไป | เสียบเป็นไว้แทบมรคา |
๔๙๕ บ่าวไพร่ของเศรษฐี | ฟังคดีมิได้ช้า |
จึงเอามาณพมา | เสียบเป็นไว้มิได้นาน |
๔๙๖ เสียบไว้มิได้ช้า | จึ่งกลับมายังสถาน |
มาณพต้องทรมาน | เขาเอามาเสียบเป็นไว้ |
๔๙๗ สี่คนบ่นงึมงำ | เราจะทำประการใด |
จึ่งพากันเข้าไป | พบคนโทษต้องเสียบเป็น |
๔๙๘ เทียวหามาถึงนั่น | คนโทษนั้นครันแลเห็น |
อยากน้ำก็จำเป็น | จึ่งร้องว่ามาทันใจ |
๔๙๙ ว่าท่านทั้งสี่คน | แต่บ่นว่าอยู่ที่ไหน |
ท่านจะไปหาใคร | จงบอกให้รู้คดี |
๕๐๐ ทั้งสี่บอกคนโทษ | ว่าเราโฉดสิ้นทั้งสี่ |
มาพูดด้วยสตรี | ทั้งสี่คนให้มาหา |
๕๐๑ ถามว่าบ้านอยู่ไหน | จึ่งบอกให้เป็นปริศนา |
คนหนึ่งจึ่งบอกมา | ว่าบ้านอยู่ที่เต้านม |
๕๐๒ เรานี้ก็จนใจ | คิดที่ไหนไม่เห็นสม |
คนหนึ่งชักเอาผม | ลงมาปกหน้าผากไว้ |
๕๐๓ ว่าบ้านอยู่ที่นี่ | เราทั้งสี่คิดสงสัย |
คนหนึ่งนั้นเล่าไซร้ | เอามือชี้เข้าที่คาง |
๕๐๔ ว่าบ้านอยู่ที่นั้น | บอกสำคัญว่าไม่พราง |
ไม่เห็นที่ไหนบ้าง | สุดปัญญาทีเดียวแล |
๕๐๕ คนหนึ่งจึ่งบอกมา | ว่าบ้านข้าอยู่นั้นแน่ |
อยู่ที่ตลาดจอแจ | แต่ล้วนบอกเป็นปริศนา |
๕๐๖ เรานี้ทั้งสี่คน | คิดฉงนเป็นนักหนา |
คิดคิดสุดปัญญา | ไม่รู้ว่าอยู่แห่งใด |
๕๐๗ คนโทษต้องเสียบเป็น | ต้องคิดเห็นทุกสิ่งไป |
อยากน้ำเป็นสุดใจ | จึ่งว่าไปมิได้ช้า |
๕๐๘ ดูราท่านทั้งหลาย | ไปขวนขวายหาน้ำมา |
ให้เรากินก่อนรา | จะบอกให้ซึ่งเล่ห์กล |
๕๐๙ ตัวเรานี้คิดได้ | จะบอกให้ทั้งสี่คน |
ทั้งสี่จึ่งจรดล | ไปหาน้ำมาให้กิน |
๕๑๐ คนโทษก็กินน้ำ | จึ่งกล่าวคำโดยถวิล |
ที่บอกว่าบ้านถิ่น | ของนางอยู่ที่เต้านม |
๕๑๑ มีร้านน้ำเต้าอยู่ | ที่ประตูบ้านเห็นสม |
น้ำเต้าคือเต้านม | นางบอกให้เป็นปริศนา |
๕๑๒ อันบ้านนางเอวกลม | ชักเอาผมมาปกหน้า |
ประตูบ้านกัลยา | ต้นไทรย้อยอยู่ริมทาง |
๕๑๓ อันนางคนหนึ่งเล่า | เอามือชี้เข้าที่คาง |
ประตูบ้านของนาง | มีต้นคางเป็นแม่นแท้ |
๕๑๔ บ้านนางคนหนึ่งไซร้ | มีกอไผ่อยู่นั้นแล |
นกกระจาบทำรังแซ่ | ที่ประตูบ้านคนนั้น |
๕๑๕ ทั้งสี่คนเฉาโฉด | ฟังคนโทษบอกสำคัญ |
ดีใจใครจะทัน | ว่าจะได้สมความคิด |
๕๑๖ จึ่งลาคนโทษมา | ทีนี้หนาเห็นไม่ผิด |
จะได้สมความคิด | สำเร็จกิจเราสี่คน |
๕๑๗ มาถึงประตูนั้น | เห็นสำคัญแล้วจรดล |
สตรีทั้งสี่คน | จึงมารับมิได้ช้า |
๕๑๘ ทั้งสี่กระสัตรี | ชวนกันมีซึ่งวาจา |
ว่าท่านแก้ปริศนา | ด้วยความคิดฤๅไฉน |
๕๑๙ ฤๅว่าใครบอกมา | จงบอกข้าให้แจ้งใจ |
ท่านนี้จึงมาได้ | ตามถ้อยคำดังปริศนา |
๕๒๐ สี่ชายนั้นโง่เง่า | จึงบอกเล่าตามสัจจา |
แต่พี่มาเที่ยวหา | ไม่รู้ว่าอยู่แห่งใด |
๕๒๑ แต่มาเที่ยวหาบ้าน | จะพบพานก็หาไม่ |
เที่ยวหาน้อยเมื่อไร | มาจนใจพี่นักหนา |
๕๒๒ นักโทษต้องเสียบเป็น | เพื่อนคิดเห็นบอกให้มา |
พี่จึงได้มาหา | เพราะคนโทษต้องเสียบเป็น |
๕๒๓ หาไม่จะเปล่าดาย | ทั้งสี่ชายไม่คิดเห็น |
จะบอกนางเนื้อเย็น | เป็นความสัจจวาที |
๕๒๔ ทั้งสี่นางได้ฟัง | กล่าววาจังมาด้วยดี |
ดูราท่านทั้งสี่ | ปัญญาดีเป็นนักหนา |
๕๒๕ ปริศนาเท่านี้ไซร้ | คิดมิได้ด้วยปัญญา |
ไปถามคนโทษมา | ทั้งเจรจาน่าบัดศรี |
๕๒๖ ถ้าแม้นตัวคิดได้ | เรานี้ไซร้สิ้นทั้งสี่ |
จะเอาเป็นสามี | แห่งเรานี้ทั้งสี่คน |
๕๒๗ มาได้เพราะคนโทษ | ชายคนโฉดไม่เป็นผล |
ไปเถิดทั้งสี่คน | เรามิได้ปรารถนา |
๕๒๘ ปริศนาเท่านี้ไซร้ | คิดมิได้ด้วยปัญญา |
เราไซร้ไม่ปรารถนา | ที่จะเอาเป็นสามี |
๕๒๙ ส่วนชายทั้งสี่คน | ชวนกันบ่นว่าเสียที |
ถ้าบอกแต่หัวปี | ว่าคิดได้แต่พวกเรา |
๕๓๐ ไม่รู้ว่าอย่างนี้ | มาเสียทีเสียเปล่าเปล่า |
เรานี้มาโง่เง่า | ว่าเท่านั้นแล้วกลับมา |
๕๓๑ สตรีทั้งสี่นั้น | คิดอ่านกันด้วยปัญญา |
เอาทรัพย์ของตนมา | ทั้งสี่คนเสมอกัน |
๕๓๒ ครั้นว่ารุ่งราตรี | หญิงทั้งสี่จึ่งผายผัน |
เอาทรัพย์ของตนนั้น | จึ่งเข้าไปหาเศรษฐี |
๕๓๓ อ้อนวอนไถ่คนโทษ | ท่านจงโปรดในครั้งนี้ |
เอาทรัพย์ให้เศรษฐี | จะขอไถ่คนโทษมา |
๕๓๔ เศรษฐีนั้นเล่าไซร้ | รับทรัพย์ไว้มิได้ช้า |
จึ่งเอาคนโทษมา | ให้แก่นางทั้งสี่คน |
๕๓๕ สี่นางรับเอามา | ยังเคหาบัดเดียวดล |
แม่หญิงทั้งสี่คน | จัดกันเป็นพนักงาน |
๕๓๖ คนหนึ่งนั้นตักตำ | ข้าวแลน้ำโภชนาหาร |
เจ้าเป็นพนักงาน | ปรนนิบัติแต่เท่านั้น |
๕๓๗ คนหนึ่งเป็นแม่ครัว | แต่งให้ผัวกินทุกวัน |
พนักงานแต่เท่านั้น | เป็นทุกวันนิรันดร์มา |
๕๓๘ คนหนึ่งแต่งหมากพลู | อยู่ทุกวันเป็นอัตรา |
ทุกวันทุกเวลา | พนักงานแต่เท่านั้น |
๕๓๙ คนหนึ่งปัดที่นอน | ฟูกแลหมอนอยู่ทุกวัน |
เจ็บปวดได้นวดฟั้น | ปรนนิบัติอยู่อัตรา |
๕๔๐ พนักงานแต่เท่านั้น | ต่างต่างกันอย่างนี้นา |
ทั้งสี่นางกัลยา | ใครจะได้เป็นเมียหลวง |
๕๔๑ ดูรานะพี่ม่าน | ดูอาการคนทั้งปวง |
ใครจะได้เป็นเมียหลวง | จงบอกข้าให้เข้าใจ |
๕๔๒ หัวใจอยู่ในม่าน | จึ่งกล่าวสารมาแก้ไข |
ข้าเห็นว่าจะได้ | นางที่แต่งสำรับนั้น |
๕๔๓ ด้วยนางเป็นแม่ครัว | แต่งให้ผัวกินทุกวัน |
อันว่านางทั้งนั้น | มิได้แต่งซึ่งของกิน |
๕๔๔ ได้แก่คนนี้เล่า | เหมือนข้าเจ้าคิดถวิล |
อรไทครั้นได้ยิน | ว่าม่านนั้นรู้เจรจา |
๕๔๕ ดูหลากทั้งสี่ครั้ง | ด้วยม่านบังพูดออกมา |
เห็นผิดด้วยปริศนา | นางฉายาจึ่งว่าไป |
๕๔๖ ดูรานาพี่ม่าน | ช่างว่าขานทั้งนี้ไซร้ |
ถูกต้องเข้าที่ไหน | ช่างพูดได้น่าบัดศรี |
๕๔๗ อันนางแต่งที่นอน | แต่งฟูกหมอนแลพัดวี |
นวดฟั้นให้สามี | ได้ลูบคลำกันทุกวัน |
๕๔๘ นางได้เป็นเมียหลวง | นางทั้งปวงสามคนนั้น |
ได้เป็นลำดับกัน | ตามวาสนาของผู้ใด |
๕๔๙ ดนตรีชาวแตรสังข์ | ครั้นได้ฟังเสียงอรไท |
ประโคมขึ้นทันใด | ถ้วนคำรบทั้งสี่ยาม |
๕๕๐ สมเด็จพระบิตุรงค์ | จึ่งพระองค์ผู้ทรงนาม |
ได้ยินทั้งสี่ยาม | สมความคิดดังประสงค์ |
๕๕๑ ครั้นถ้วนสี่ยามแล้ว | สว่างแผ้วสูริยง |
สรรพสิทธิฤทธิรงค์ | ถอดหัวใจมิได้ช้า |
๕๕๒ ออกมาเสียจากม่าน | พระกุมารจึ่งลงมา |
จากปรางค์นางฉายา | ลงมาสู่ที่อาศัย ๚ะ |
สุรางคนางค์
๕๕๓ ครั้นรุ่งสุริยา | |
จอมกระษัตริย์ขัตติยา | พรหมทัตท้าวไท |
แจ้งว่าราชบุตร | สายสุดเสมอใจ |
เจ้ามาปราศรัย | ด้วยพระกุมาร |
๕๕๔ ท้าวจึ่งปรึกษา | |
ด้วยนางโกสุมา | เมียรักสงสาร |
ว่าพระราชบุตร | พูดด้วยกุมาร |
ชะรอยสมภาร | สร้างมาด้วยกัน |
๕๕๕ มาเราทั้งสอง | |
จะไปถามลอง | ดูนางจอมขวัญ |
ท้าวทั้งสองรา | เสด็จมาด้วยพลัน |
สู่ห้องจอมขวัญ | ธิดาอาศัย |
๕๕๖ จึ่งพระชนนี | |
มีพจน์วาที | ถามนางทรามวัย |
เจ้าแม่แต่ก่อน | ห่อนพูดด้วยใคร |
คืนนี้เป็นไฉน | จึ่งมาเจรจา |
๕๕๗ พูดด้วยสรรพสทธิ | |
แม่นี้เห็นผิด | กว่าแต่ก่อนมา |
โฉมเฉลาเพาพาล | บอกแก่มารดา |
ลูกรักเจรจา | ด้วยเหตุอันใด |
๕๕๘ นางสุวรรณเกสร | |
ร้อยชั่งบังอร | เจ้ามาอายใจ |
จึ่งทูลชนนี | เทวีแก้ไข |
ว่าลูกนี้ไซร้ | มิได้เจรจา |
๕๕๙ จึ่งพระชนนี | |
ซักถามบุตรี | ด้วยความกังขา |
เจ้าพูดด้วยใคร | หลากใจมารดา |
ชาวแตรจึ่งมา | ประโคมดนตรี |
๕๖๐ แต่ประถมยามหนึ่ง | |
บันฦๅอื้ออึง | ทุกยามนาที |
พระบิดาเจ้า | ให้ชาวดนตรี |
คอยฟังเทวี | เมื่อเจ้าเจรจา |
๕๖๑ ดูราเทวี | |
เจ้าอย่าพาที | กล่าวถ้อยมุสา |
ประโคมโครมคราม | ทุกยามนาฬิกา |
ยามหนึ่งนั้นนา | เจ้าพูดด้วยใคร |
๕๖๒ เขาจึ่งประโคม | |
เหน้าหน่อยอโฉม | จงบอกแม่ไป |
มิได้เจรจา | เขาหาประโคมไม่ |
พระลูกทรามวัย | บอกมาให้รู้ |
๕๖๓ นางทูลมารดา | |
ยามหนึ่งลูกยา | พูดด้วยประตู |
ประตูเจรจา | ลูกยาถามดู |
สองท้าวจงรู้ | ทราบพระบาทา |
๕๖๔ ยามสองนั้นไซร้ | |
เจ้าพูดด้วยใคร | นะพระลูกยา |
ประโคมแตรสังข์ | สองครั้งนั้นนา |
บอกแก่มารดา | มาให้แจ้งใจ |
พิลาป
๕๖๕ จึ่งนางเทวี | |
กราบทูลชนนี | ให้ทราบพระทัย |
พูดด้วยชวาลา | แม่อย่าสงสัย |
ไม่พูดด้วยใคร | นะพระชนนี |
๕๖๖ ประโคมยามสาม | |
ลูกรักโฉมงาม | เจ้ามาพาที |
ด้วยใครอีกเล่า | นะเจ้าเทวี |
จงบอกชนนี | ให้มาแจ้งใจ |
๕๖๗ นางสุวรรณเกสร | |
ทูลพระมารดร | ให้ทราบพระทัย |
พูดด้วยพานพระศรี | ที่มาตั้งไว้ |
ไม่พูดด้วยใคร | นะพระมารดา |
๕๖๘ ประโคมยามสี่ | |
พระอรเทวี | เจ้ามาเจรจา |
ด้วยใครอีกเล่า | นะเจ้าแม่อา |
จงบอกมารดา | ให้รู้อาการ |
๕๖๙ นางทูลมารดา | |
ว่าลูกนี้นา | เจรจาด้วยม่าน |
ลูกมิได้พูด | ด้วยพระกุมาร |
บิตุเรศชนมาร | จงทราบบาทา |
๕๗๐ โกสุมเทวี | |
ซึ่งเป็นชนนี | ว่าแก่ลูกยา |
เมื่อของทั้งนี้ | มิเคยเจรจา |
เหตุไรลูกยา | ว่ารู้พาที |
๕๗๑ จึงพระลูกยา | |
เจ้ามาเจรจา | ด้วยสิ่งทั้งนี้ |
แม่ไม่เคยฟัง | ม่านบังพาที |
ทั้งพานพระศรี | ว่ารู้เจรจา |
๕๗๒ ตะเกียงตามตั้ง | |
รู้กล่าววาจัง | อัศจรรย์หนักหนา |
แล้วว่าประตู | นั้นรู้เจรจา |
จงพระลูกยา | พูดให้แม่ฟัง |
๕๗๓ ด้วยเจ้าสรรพสิทธิ | |
ถอดเอาดวงจิต | จากม่านโดยหวัง |
นางไม่รู้แท้ | ว่าเหมือนแต่หลัง |
จึ่งชวนม่านบัง | สังสนทนา |
๕๗๔ นางพูดด้วยม่าน | |
เป็นช้าเป็นนาน | ม่านไม่เจรจา |
พูดด้วยพานพระศรี | มิได้สนทนา |
พูดด้วยชวาลา | ไม่มาปราศรัย |
๕๗๕ พูดด้วยพระทวาร | |
ทีนั้นใบดาน | มิได้ว่าไร |
ด้วยเจ้าสรรพสิทธิ | ถอดดวงจิตไป |
มิได้ปราศรัย | ด้วยนางเลยนา |
๕๗๖ นางงามทรามวัย | |
ขัดสนจนใจ | ไม่ได้เหมือนว่า |
ทั้งสองสิ่งนี้ | มิได้เจรจา |
เหมือนหนึ่งมุสา | ต่อพระชนนี |
๕๗๗ ทั้งสองกระษัตรา | |
รู้กลมายา | ลูกรักมารศรี |
รู้ว่านางอาย | แยบคายพาที |
ด้วยว่าบุตรี | เจ้าอดสูใจ |
๕๗๘ สองกระษัตริย์แจ้งแล้ว | |
ท้าวจึ่งคลาดแคล้ว | มาจากปรางค์ใน |
ทรงที่นั่งทอง | ยังท้องพระโรงไชย |
ให้หาทรามวัย | สรรพสิทธิเข้ามา |
๕๗๙ ท้าวมีโองการ | |
ตรัสว่ากุมาร | เจ้ามีปัญญา |
ได้พูดด้วยเจ้า | พระเยาวธิดา |
เจ้ามาเจรจา | พูดด้วยกุมาร |
๕๘๐ นางพูดด้วยเจ้า | |
อันหนึ่งตัวเรา | ได้มากล่าวสาร |
ว่าจะเสกเจ้า | ทั้งสองเยาวมาลย์ |
เป็นใหญ่ในสถาน | ปกครองกำนัล |
๕๘๑ เป็นมหาอุปราช | |
มอบสมบัติขาด | ฝ่ายหน้าทรงธรรม์ |
ให้เจ้าทั้งสอง | ครอบครองไอศวรรย์ |
เจ้าปกครองกัน | กับพระธิดา |
๕๘๒ สรรพสิทธิกุมาร | |
รับพระโองการ | สมเด็จราชา |
พระองค์ทรงธรรม์ | มีพระบัญชา |
สั่งแก่เสนา | ทำโรงพิทธี |
๕๘๓ สามสิบเก้าห้อง | |
กระดานเรียบท้อง | ฆ้องไชยเภรี |
ประทีปธูปเทียน | โคมเวียนแสงสี |
ในโรงพิทธี | หอมรสสุคนธ์ |
๕๘๔ แดงปูท้องสาร | |
ขาวดาดเพดาน | ทั้งกาญจน์จงกล |
แต่ในเจ็ดวัน | ให้ทันฤกษ์บน |
แต่งการมงคล | อุปภิเษกสองรา |
๕๘๕ ท้าวให้มนตรี | |
ไปบอกเศรษฐี | โกณฑัญบิดา |
ว่าพระราชบุตร | ยอดสุดเสนหา |
เจ้ามาเจรจา | พูดด้วยกุมาร |
๕๘๖ เราจะเสกเจ้า | |
กับธิดาเรา | ให้ครองศฤงคาร |
ไปบอกเศรษฐี | บัดนี้อย่านาน |
เราจะแต่งการ | ให้เร่งเข้ามา |
๕๘๗ ทีนั้นมนตรี | |
รับสั่งภูมี | จึ่งออกมาหา |
ถึงบ้านจันทคาม | ตามพระบัญชา |
จึ่งแจ้งกิจจา | บอกแก่เศรษฐี |
๕๘๘ ว่านางนงคราญ | |
พูดด้วยกุมาร | เจ้าสรรพสิทธี |
บรมกระษัตริย์ | พรหมทัตภูมี |
จะเสกบุตรี | กับพระกุมาร |
๕๘๙ ให้เป็นอุปราช | |
เชิญเจ้าเสวยราชย์ | ครองแสนศฤงคาร |
สมเด็จท้าวไท | จึ่งให้ดีฉาน |
ออกมาเชิญท่าน | ให้เร่งเข้าไป |
๕๙๐ โกณฑัญเศรษฐี | |
เขมาเทวี | ฟังเสนาใน |
ทั้งสองเศรษฐี | นั้นมาดีใจ |
สั่งแก่ข้าไท | ให้เร่งขนของ |
๕๙๑ พนักงานโตกพาน | |
อีกทั้งพนักงาน | เครื่องเงินเครื่องทอง |
ให้จงครบสิ้น | เครื่องกินทั้งผอง |
ผ้าผ่อนเงินทอง | ให้ขนเอาไป |
๕๙๒ ที่อย่างดีดี | |
เครื่องประดับเศรษฐี | มากน้อยเท่าใด |
เพชรนิลมรกต | ทับทิมสดใส |
กุณฑลมาลัย | สอดสีโมรา |
๕๙๓ เครื่องประดับกาย | |
สำหรับลูกชาย | ให้ขนเอามา |
ข้าไททั้งผอง | ขนของนักหนา |
เศรษฐีสองรา | ขึ้นช้างทันใจ |
๕๙๔ เศรษฐีขี่ช้าง | |
บ่าวไพร่สองข้าง | แห่ห้อมล้อมไป |
มิช้าบหึง | มาถึงเวียงไชย |
เศรษฐีเข้าไป | เฝ้าพระราชา |
๕๙๕ โกณฑัญเศรษฐี | |
เขมาเทวี | ชุลีวันทา |
สมเด็จพระองค์ | ตรัสมีชงคา |
ว่าพระธิดา | เจ้ามาพาที |
๕๙๖ พูดด้วยลูกท่าน | |
สรรพสิทธิกุมาร | เมื่อในราตรี |
หลากใจใช่น้อย | ชะรอยสองศรี |
ได้สร้างบารมี | ไว้แต่ก่อนมา |
๕๙๗ กุมารร้อยเอ็ด | |
มาทั้งสิ้นเสร็จ | ร้อยเอ็ดนัครา |
พระยามนตรี | เศรษฐีลูกค้า |
นางไม่เจรจา | ด้วยใครสักคน |
๕๙๘ สรรพสิทธิกุมาร | |
กับนางนงคราญ | ได้สร้างกุศล |
มาด้วยกันแล้ว | นางแก้วนิฤมล |
จึ่งกล่าวยุบล | ด้วยเจ้าคนนี้ |
๕๙๙ จะเสกทั้งสอง | |
ให้เจ้าปกครอง | พหลมนตรี |
ให้พระกุมาร | บุตรท่านเศรษฐี |
กับพระบุตรี | ให้ครองพารา |
๖๐๐ เศรษฐีทั้งสอง | |
จึ่งกราบทูลฉลอง | แก่ท้าวมิช้า |
ว่าตัวข้าเจ้า | อยู่ใต้บาทา |
สุดแต่เจ้าฟ้า | จะโปรดเกศี |
๖๐๑ จะเสกสองเจ้า | |
สุดแต่ผ่านเกล้า | ทรงพระปรานี |
จะขอปรนนิบัติ | ตามตรัสทั้งนี้ |
ข้าพระเจ้าเศรษฐี | ไม่ขัดอัชฌา |
๖๐๒ ฝ่ายว่ามนตรี | |
ทำโรงพิทธี | เสร็จแล้วมิช้า |
จึ่งทูลกระษัตริย์ | พรหมทัตราชา |
การทั้งนี้นา | พร้อมแล้วภูมี ๚ะ |
ยานี
๖๐๓ เมื่อนั้นจึ่งท้าวไท | สั่งข้างในทำบายศรี |
ข้างหน้าสั่งมนตรี | ให้หมายบอกจงทุกกรม |
๖๐๔ กระลาโหมมหาดไท | ตำรวจในแลสนม |
ขอเฝ้าเจ้าต่างกรม | อภิรมราชยาน |
๖๐๕ มนตรีแลเสนา | พร้อมพฤฒาโหราจารย์ |
พร้อมกันในวันงาน | ทั้งคนเพลงนักเลงหลวง |
๖๐๖ เครื่องเล่นสิ้นทั้งนั้น | เร่งบอกกันทุกกระทรวง |
โขนหนังสิ้นทั้งปวง | ทั้งละครแลมอญรำ |
๖๐๗ เสภาแลดนตรี | ทั้งมโหรีแลทองนำ |
เทพทองแลระบำ | เกณฑ์ให้ครบทุกสิ่งอัน |
๖๐๘ ข้างในเอาคนดี | ทำบายศรีทั้งเจ็ดชั้น |
เห็นงามอยู่เฉิดฉัน | ประดับด้วยแก้วมณี ๚ะ |
๖๐๙ บายศรีชั้นต้น | ท่านยายสีกับยายสน[๒] |
เป็นคนผู้ใหญ่ | ชาววังข้างใน |
เข้าใจบายศรี | เอาใบตองตานี |
คลี่ออกจากมัด | มหาดเล็กขอเฝ้า |
ให้เหลาไม้กลด | สาวสันทัดนั้น |
จัดเป็นช่างแกะ | พูดเป็นแฉะแมละ |
แกะจักมะละกอ | ก้านเกี่ยวเครือวัลย์ |
พัวพันเพริศพริ้ง | ตะละสิ่งอย่างเป็น |
ถ้าใครแลเห็น | ดังเป็นขวัญตา |
สาวสาวน้อยน้อย | แกะเป็นฝูงปลา |
ฝูงนาคนาคา | ลอยมาในน้ำ |
เงือกพรายว่ายคล่ำ | ในน้ำคงคา |
จระเข้เหรา | ว่ายมาเกลื่อนกล่น |
แกะเป็นปลาหน้าคน | ดั้นด้นหาคู่ |
คลึงเคล้ากันอยู่ | ริมวังฝั่งน้ำ |
ถัดนั้นขึ้นไป | ครั้นถึงชั้นสอง |
นางขำกับนางแทน | นั่งแน่นเป็นวง |
บ้างยื่นบ้างส่ง | บ้างจีบบ้างพัน |
บ้างประทับใบตอง | คิ้วต่อคอปล้อง |
นางก็กรองตาข่าย | ทำลายทำดอก |
บ้างหยิกบ้างหยอก | ผันหลังผันหน้า |
ฉวยฟักทองมา | แกะเป็นกระต่ายเต้น |
กิเลนเม่นหมี | เข้ารี่หากัน |
แกะเป็นฝูงเนื้อ | เดินตามกันมา |
คชสารหาญกล้า | ทั้งม้าอัสดร |
แกะเป็นนรสิงห์ | วิ่งบนภูผา |
ฝูงสัตว์ในป่า | เห็นหน้างามงาม |
ถัดนั้นขึ้นไป | ถึงในชั้นสาม |
หม่อมงามกับหม่อมสร้อย | หามีดน้อยน้อย |
ทำเป็นกริชดูคม | บ้างก็ชมว่าดี |
มีดน้อยเล่มนี้ | มันดีเหลือใจ |
สาวสาวโลนโลน | มันก็โกลนช้างให้ |
สาวสาวใหญ่ใหญ่ | ร้องว่าบัดศรี |
อย่าแกะเช่นนี้ | ข้าไม่ชอบใจ |
แต่ล้วนนางข้างใน | ทำได้ทุกอัน |
แกะเป็นมักกลีผล | อยู่บนพฤกษา |
แกะเป็นเพชรพยาธร | เหาะร่อนไปมา |
หน้าตาอย่างดี | แกะเป็นหอยสังข์ |
ขี่ม้าตีคลี | แกะเมรีฉายา |
ขึ้นขี่เลียงผา | แกะเป็นกวางทอง |
ลวงล่อสีดา | แกะเป็นทศพักตร์ |
ลักนางฉายา | ใส่ท้ายรถมา |
โอ้น่าสงสาร | ยอดเยาวมาลย์ |
มือฟายน้ำตา | แลหาผัวรัก |
ถัดนั้นขึ้นไป | ถึงในชั้นสี่ |
นางสีกับนางแสง | นางเพ็งช่างแกะ |
เลิศล้ำมีศรี | รูปร่างอย่างดี |
จิ้มลิ้มพริ้มพราย | กรีดนิ้วกรายกร |
แกะเป็นกินนร | ห่มผ้าห่มผ่อน |
เหมือนกินนรจริงจริง | ทำเป็นแอบอิง |
อยู่ที่หว่างบายศรี | ดีดีงามงาม |
เดินตามกันมา | แกะเป็นมโนห์รา |
ใส่สร้อยสังวาล | รูปร่างสะคราญ |
ปีกหางอย่างดี | เห็นงามหนักงามหนา |
ถัดนั้นขึ้นไป | ที่ในชั้นห้า |
แกะเป็นไก่ป่า | ไก่ฟ้าพญาลอ |
เห็นน่าหัวร่อ | ชูคอขึ้นขัน |
สัพยอกหยอกกัน | ทุกชั้นบายศรี ๚ะ |
๖๑๐ เสร็จแล้วมิทันนาน | พระภูบาลสั่งเศรษฐี |
ให้แต่งพระภูมี | เจ้าสรรพสิทธิกุมาร |
๖๑๑ เร่งแต่งเจ้าเข้ามา | เร็วอย่าช้าให้ทันการ |
เรานี้จะแต่งงาน | อุปภิเษกเจ้าด้วยกัน |
๖๑๒ เมื่อนั้นเศรษฐีเฒ่า | จึ่งแต่งเจ้ามาด้วยพลัน |
แล้วให้ลูกชายนั้น | เจ้าสระสรงพระคงคา |
๖๑๓ ผ้าต้นย่อมลายทอง | งามลำยองสีโมรา |
สังวาลงามรจนา | ย่อมสุวรรณพรรณราย |
๖๑๔ มงกุฎกรรเจียกแก้ว | งามพรายแพรวอยู่เฉิดฉาย |
สังวาลพรรณราย | มารองรับทับทรวงทรง |
๖๑๕ ทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ | ใส่เนาวรัตน์ธำมรงค์ |
ดังแสงสูริยง | เมื่อเปล่งแสงในอัมพร |
๖๑๖ ท้าวพรหมทัตราช | แต่งนางนาฏสายสมร |
สร้อยถนิมพิมพาภรณ์ | ทรงผ้าต้นลายเครือวัลย์ |
๖๑๗ รัดเกล้าพอสมทรง | งามบรรจงอยู่เฉิดฉัน |
แล้วทรงสังวาลวรรณ | อันนายช่างแกล้งบรรจง |
๖๑๘ เจ้าทรงพาหุรัด | นิ้วพระหัตถ์สอดธำมรงค์ |
เครื่องประดับสำหรับองค์ | งามบรรจงอย่างนางฟ้า |
๖๑๙ ครั้นแต่งเสร็จสรรพแล้ว | จึ่งพระแก้วเสด็จมา |
ทั้งพระราชมารดา | นางกำนัลแลขันที |
๖๒๐ โกสุมมารดาไท | กำนัลในนางสาวศรี |
ห้อมล้อมนางเทวี | มายังท้องพระโรงไชย |
๖๒๑ เศรษฐีโกณฑัญเฒ่า | นำพระเจ้านั้นเข้าไป |
ยังท้องพระโรงใน | แล้วบังคมพระภูมี |
๖๒๒ ท้าวพรหมทัตราช | ให้หน่อนาถทั้งสองศรี |
นั่งเหนือกองมณี | ให้สองศรีนั่งเคียงกัน |
๖๒๓ ฝ่ายหน้าเสนาใน | ฝ่ายหลังไซร้นางกำนัล |
เถ้าแก่อยู่แจจัน | มาห้อมล้อมอยู่ไสว |
ครั้นพร้อมแล้วมิช้า | จึ่งโหราให้ฤกษ์ไชย |
หมู่พราหมณ์ทำตามไสย | เอาน้ำสังข์มาประพรม |
๖๒๔ ลั่นฆ้องเข้าสามครา | โห่สามลาอยู่ระงม |
แตรสังข์จึ่งประโคม | ทั้งเครื่องเล่นสมโภชไป |
๖๒๕ ปี่กลองดังครื้นครั่น | เสียงสนั่นทั้งเวียงไชย |
ดนตรีอึงมี่ไป | ทั้งทองนำมโหรี |
๖๒๖ ลางนางบ้างตีทับ | ลางนางดีดกระจับปี่ |
บ้างขับมโหรี | ลางนางตีรำมะนา |
๖๒๗ ลางนางตีฉิ่งฉับ | ลางนางขับเพลงพัดชา |
สมโภชเจ้าสองรา | แล้วจึ่งเวียนซึ่งเทียนไชย |
๖๒๘ เวียนเทียนได้เจ็ดรอบ | ตามระบอบพิธีไสย |
เสร็จสรรพดับเทียนไชย | โบกควันไปให้ต้ององค์ |
๖๒๙ จุดเจิมเฉลิมพักตร์ | สองนรลักษณ์ผู้โฉมยง |
พระญาติแลพระวงศ์ | จึ่งอำนวยซึ่งพรไชย |
๖๓๐ ให้เจ้าทั้งสองศรี | ครองบูรีอย่ามีภัย |
ศึกเสือทั้งเหนือใต้ | ขออย่าได้มาใกล้กราย |
๖๓๑ พยาธิโรคา | อย่ามาเบียนสองโฉมฉาย |
มีแต่ความสบาย | จำเริญสวัสดิ์สัถาวร |
๖๓๒ เสร็จแล้วมอบสมบัติ | เป็นกระษัตริย์ล้ำดินดอน |
สุรางคนิกร | มอบแก่เจ้าหมื่นหกพัน |
๖๓๓ เพลานั้นย่ำฆ้อง | เสด็จสู่ห้องปราสาทจันทน์ |
พระสนมหมื่นหกพัน | มาอยู่ตามตำแหน่งตน |
๖๓๔ ครั้นคํ่ายํ่าสนธยา | พระมารดากล่าวยุบล |
จะส่งนางนิฤมล | ให้อยู่ด้วยพระกุมาร |
๖๓๕ จึ่งว่านางโฉมยง | แม่จะส่งลูกสงสาร |
ไปอยู่ด้วยกุมาร | ในห้องปรางค์รจนา |
๖๓๖ นางสุวรรณเกสร | จึ่งทูลวอนพระมารดา |
พระแม่จะทรมา | ให้ลูกยาอยู่ด้วยชาย |
๖๓๗ ไม่เคยเจรจา | คิดขึ้นมาน่าใจหาย |
ว่าแล้วนางโฉมฉาย | เจ้าทอดกายลงโศกา |
๖๓๘ ด้วยเวรพยาบาท | เมื่อชาติเป็นสกุณา |
ด้วยนางตั้งสัจจา | จึ่งตามมาเข้าดลใจ |
๖๓๙ ด้วยพ่อสกุณา | ตั้งสัจจาตามอรไท |
มาทันครั้งนี้ไซร้ | ด้วยความสัจจวาที |
๖๔๐ นางทูลพระมารดา | ด้วยมารยากระสัตรี |
ข้าแต่พระชนนี | โปรดเกศีลูกก่อนรา |
๖๔๑ ชายใดพระแม่เอย | ลูกไม่เคยจะเจรจา |
ครั้งนี้พระมารดา | จะทารกรรมให้จำตาย |
๖๔๒ เมื่อนั้นพระมารดา | ฟังลูกยากล่าวอุบาย |
จึ่งปลอบนางโฉมฉาย | ฟังแม่ว่าอย่าอาวรณ์ |
๖๔๓ อันการประเวณี | ย่อมมีมาแต่ปางก่อน |
พนิดาอย่าอาวรณ์ | มีแต่เจ้านี้เมื่อไร |
๖๔๔ ภริยากับสามี | ประเวณีแต่ก่อนไกล |
อันความพิสมัย | ใช่แต่เราอยู่ดินดาน |
๖๔๕ อันการสิ่งนี้นา | ถึงเทวาในวิมาน |
ความรักความสงสาร | มีเหมือนกันสิ้นทุกคน |
๖๔๖ ว่าแล้วพระมารดร | กุมพระกรนางนิฤมล |
พาเจ้าเข้าไพรชน | แล้วจึ่งฝากนางฉายา |
๖๔๗ แต่วันนี้ไปเล่า | ทั้งสองเจ้าอย่าฉันทา |
ปกครองกันสองรา | อย่าได้มีอันตราย |
๖๔๘ ฝากนางแล้วมิช้า | พระมารดาจึ่งผันผาย |
จากปรางค์พรรณราย | นางโฉมฉายตามออกมา |
๖๔๙ เมื่อนั้นพระชนมาร | ปิดใบดานมิทันช้า |
สรรพสิทธิปรีชา | เจ้าจึงคว้าพระกรไว้ |
๖๕๐ เมื่อนั้นนางฉายา | ก้มพักตราไม่ปราศรัย |
สรรพสิทธิฤทธิไกร | จึ่งปราศรัยด้วยไมตรี ๚ะ |
สุรางคนางค์
๖๕๑ ดูราน้องแก้ว | |
บุญของเราแล้ว | นะนางเทวี |
พระบิดาเจ้า | โปรดเกล้าเกศี |
เสกเจ้ากับพี่ | ให้ครองพารา |
๖๕๒ เจ้าอย่าครั่นคร้าม | |
พระน้องโฉมงาม | จงได้เมตตา |
กุศลได้ทำ | จึ่งชักนำมา |
ให้เราสองรา | ได้ครองไอศวรรย์ |
๖๕๓ เจ้าอย่าตัดรอน | |
ร้อยชั่งบังอร | จงคิดผ่อนผัน |
จงเงยพักตรา | เจรจาด้วยกัน |
พระอรแจ่มจันทร์ | จงได้ปรานี |
๖๕๔ พี่มาอ้อนวอน | |
เจ้าอย่าตัดรอน | เยื่อใยไมตรี |
ปลอบเจ้าเท่าไร | หาได้ปรานี |
เจ้าไม่พาที | ด้วยพี่เลยนา |
๖๕๕ นางสุวรรณเกสร | |
ได้ฟังภูธร | อ้อนวอนไปมา |
นางงามทรามวัย | มิได้เจรจา |
เจ้าก้มพักตรา | ไม่ว่าสิ่งใด |
๖๕๖ สรรพสิทธิฤทธี | |
เห็นนางเทวี | เจ้าไม่ปราศรัย |
จึ่งกล่าวอุบาย | ด้วยกลภายใน |
นางงามทรามวัย | เจ้าไม่ปรานี |
๖๕๗ ขอถามทรามวัย | |
เจ้าไม่อาลัย | ในการโลกีย์ |
ตามเพศมนุษย์ | บุรุษสตรี |
ตัดความโลกีย์ | ขาดแล้วฤๅไฉน |
๖๕๘ เจ้าไม่ปรารถนา | |
ตัวพี่จะขอลา | พระน้องคลาไคล |
บวชเป็นฤๅษี | อยู่ที่ในไพร |
มิได้อาลัย | ในการโลกีย์ |
๖๕๙ บวชเป็นดาบส | |
ตั้งกรรมทำพรต | อยู่ในพงพี |
มิได้ต้องพาน | ในการประเวณี |
ครั้นรุ่งราตรี | พี่จะขอลา |
๖๖๐ ว่าเท่านั้นแล้ว | |
สมเด็จพระแก้ว | มิได้เจรจา |
ทำเป็นนั่งขึ้ง | เหมือนหนึ่งโกรธา |
มิได้เจรจา | ว่ากล่าวสิ่งใด |
๖๖๑ นางสุวรรณเกสร | |
เห็นพระภูธร | เจ้าไม่ปราศรัย |
ถ้าไม่เจรจา | จะมาน้อยใจ |
โกรธาคลาไคล | ไปจากปรางค์ศรี |
๖๖๒ รู้ถึงบิดา | |
จะมาโกรธา | เคืองแค้นแสนทวี |
คิดแล้วมิช้า | นางจึ่งพาที |
ว่าพระภูมี | เสด็จคลาไคล |
๖๖๓ บวชเป็นฤๅษี | |
ในป่าพงพี | น้องจะตามไป |
อยู่ปรนนิบัติ | โดยอัธยาศัย |
แต่ว่าอย่าได้ | เหลาะแหละพาที |
๖๖๔ เป็นฤๅษีสิทธิ์ | |
จงรักษากิจ | อยู่ตามประเวณี |
อย่าได้ต้องพาน | ในการโลกีย์ |
บวชเป็นฤๅษี | ครองกิจพระวินัย |
๖๖๕ นางกล่าววาจา | |
ด้วยกลมายา | แยบคายภายใน |
แต่ปากหากว่า | กามาหวั่นไหว |
รำจวนป่วนใจ | จะใคร่เสนหา |
๖๖๖ ด้วยมีความอาย | |
จึ่งกล่าวแยบคาย | เบี่ยงบ่ายเจรจา |
แต่พอให้รู้ | ท่วงทีกิริยา |
แจ้งด้วยวาจา | มารยาสตรี |
๖๖๗ หน่อพระทศพล | |
เธอรู้ในกล | จึ่งตอบเสาวนีย์ |
เจ้าว่านี้ชอบ | ขอบใจเทวี |
ธรรมดาฤๅษี | จะทำอะไรใคร |
๖๖๘ แม้นจะปรนนิบัติ | |
เมื่อเป็นคฤหัสถ์ | จะขัดอันใด |
จำเพาะแต่พี่ | เป็นฤๅษีไพร |
เจ้าจึ่งจะไป | ปรนนิบัติรักษา |
๖๖๙ แม้นเป็นคฤหัสถ์ | |
ถ้าจะปรนนิบัติ | มิได้ฤๅนา |
ตามประเวณี | สามีภริยา |
ว่าแล้วมิช้า | เล้าโลมเทวี |
๖๗๐ จึ่งอุ้มนางน้อง | |
ขึ้นสู่แท่นทอง | รัตนมณี |
โลมลูบจูบปราง | ไม่ห่างเทวี |
กัลยามารศรี | ผลักไสไปมา |
๖๗๑ นางฉวยสะบัด | |
วัดแว้งแข็งขัด | แล้วมีวาจา |
พระมาลามลวน | ด่วนได้ไยนา |
อันความเสนหา | นางน้องไม่เคย |
๖๗๒ พระตอบเสาวนีย์ | |
อันความโลกีย์ | สิ่งนี้น้องเอ๋ย |
เป็นประเวณี | มิเคยจำเคย |
การสิ่งนี้เอย | เหมือนกันทุกคน |
๖๗๓ ว่าพลางทางชม | |
ร่วมรู้สู่สม | รสราคเริงรน |
พิรุณโปรยปราย | กระจายสายฝน |
ต้องดอกอุบล | บานรับสูริยา |
๖๗๔ สองสมความคิด | |
สองสำราญจิต | สมความปรารถนา |
นางงามทรามวัย | กราบไหว้ราชา |
นางขอโทษา | แก่พระภูมี |
๖๗๕ น้องได้ข้องขัด | |
ด้วยความอุทัจ | มารยากระสตรี |
ให้เคืองบาทา | ของพระสามี |
โทษาข้านี้ | อย่ามีสืบไป |
๖๗๖ พระว่าไม่โกรธ | |
พี่ไม่ถือโทษ | นางน้องทรามวัย |
มารยากระสตรี | พี่รู้เต็มใจ |
เจ้าอย่าสงสัย | พี่ไม่โกรธา |
๖๗๗ ทั้งสองครองราช | |
เป็นมหาอุปราช | เลิศล้ำโลกา |
กระษัตริย์ทั้งสอง | ครองขัณฑเสมา |
ได้เป็นฝ่ายหน้า | แห่งพระทรงธรรม์ |
๖๗๘ ระบือฦๅจบ | |
กรุงไกรไตรภพ | ทุกประเทศเขตขัณฑ์ |
สรรพสิทธิกับนาง | เป็นคู่สร้างกัน |
แต่ก่อนนางนั้น | ไม่พูดด้วยชาย |
๖๗๙ กุมารร้อยเมือง | |
พูดด้วยบุญเรือง | นางไม่ปราศรัย |
แต่เจ้าสรรพสิทธิ | นางต้องติดใจ |
ด้วยพิษฐานไว้ | ขอให้พบกัน |
๖๘๐ นางโกรธสามี | |
พิษฐานจะหนี | ให้พ้นผัวขวัญ |
ผัวพิษฐานไล่ | หมายได้พบกัน |
ด้วยความสัตย์นั้น | ไม่แคล้วกันไป |
๖๘๑ สัปรุษทั้งหลาย | |
ทั้งหญิงทั้งชาย | ฟังแล้วจำไว้ |
จะสร้างกุศล | ผลบุญสิ่งไร |
ตั้งพิษฐานไว้ | ได้ตั้งปรารถนา |
๖๘๒ เหมือนหน่อพระชินศรี | |
ตั้งสัจจวาที | ตามนางสกุณา |
เจ้าพิษฐานตาม | สมความปรารถนา |
เดชะสัตยา | จึ่งมาพบกัน |
๖๘๓ เจ้าทั้งสองรา | |
ครองขัณฑเสมา | นคเรศเขตขัณฑ์ |
กระษัตริย์ทั้งสอง | ครองพระกำนัล |
ทั้งหมื่นหกพัน | โทษทัณฑ์ไม่มี |
๖๘๔ เจ้าอยู่เสวยราช | |
แสนสนิทพิศวาส | ด้วยนางเทวี |
เป็นบรมสุข | อยู่ทุกราตรี |
เจ้าทั้งสองศรี | สำราญพระทัย |
๖๘๕ ครั้นอยู่นานมา | |
สรรพสิทธิฤทธา | รำพึงในใจ |
จะไปประพาส | พนาวาสชมไพร |
จึ่งพระภูวไนย | ชวนพระเชษฐา |
๖๘๖ ว่าเราทั้งสอง | |
แต่พี่กับน้อง | เราจะไคลคลา |
ชมนกชมไม้ | ที่ในราวป่า |
ชมฝูงมฤคา | ในป่าพงไพร |
๖๘๗ พี่เลี้ยงทูลเล่า | |
ตามแต่พระเจ้า | เสด็จคลาไคล |
เข้าในหิมเวศ | ทุเรศราวไพร |
ชมนกชมไม้ | ตามใจราชา |
๖๘๘ ฟังพี่เลี้ยงทูล | |
จึ่งพระนเรนทร์สูร | เสด็จเข้าปรางค์ปรา |
บอกแก่เมียรัก | พี่จักไคลคลา |
ไปตามเชษฐา | เที่ยวเล่นในไพร |
๖๘๙ ชมปักษาชาติ | |
พฤกษากล้ากลาด | เดียรดาษในไพร |
พรุ่งนี้พี่ยา | จะมาคลาไคล |
วันนั้นเล่าไซร้ | ใกล้คํ่าราตรี |
๖๙๐ เสด็จเข้าสู่ห้อง | |
ภิรมย์ชมน้อง | ในห้องปรางค์ศรี |
แนบชิดพิสมัย | เมื่อในราตรี |
เหนือแท่นมณี | สองศรีหลับไป |
๖๙๑ ทั้งสองไสยาสน์ | |
บรรทมเหนืออาสน์ | แท่นทองผ่องใส |
ใกล้รุ่งรางรอง | แสงทองไรไร |
พระอาทิตย์ฤทธิไกร | เยี่ยมยอดยุคนธร |
๖๙๒ ตื่นจากนิทรา | |
สระสรงคงคา | สุคนธาขจร |
หอมฟุ้งกระลบ | อบองค์ภูธร |
เสร็จแล้วผันผ่อน | มาเสวยโภชนา |
๖๙๓ เสวยแล้วมินาน | |
สรรพสิทธิกุมาร | จึงชวนเชษฐา |
ลงจากปรางค์มาศ | ยุรยาตรคลาดคลา |
ออกจากพารา | จรมาสองคน |
๖๙๔ เข้าในไพรเขียว | |
พากันท่องเที่ยว | ลดเลี้ยวไพรสณฑ์ |
ชมสกลมิ่งไม้ | ในไพรเกลื่อนกล่น |
พากันจรดล | ชมเล่นเย็นใจ ๚ะ |
ยานี
๖๙๕ เข้าในพนาวาส | ชมรุกขชาติกลาดเกลื่อนไป |
เป็นดอกออกแกมใบ | งามไสวอยู่นานา |
๖๙๖ พระชมต้นนิโครธ | งามทรงโตรดพระเวหา |
ชงโควิลารา | กระลำพักจักรนารายณ์ |
๖๙๗ ชมต้นภุมโร | กิ่งสะโกแลโพบาย |
ขอนดอกแลแคทราย | ดอกกระแตสะแกวัน |
๖๙๘ ชมต้นนมพะโค | มีอักโขอยู่เรียงรัน |
สนุ่นบุณฑริกัน | จันทนามหากาฬ |
๖๙๙ สมีแลเสม็ด | ทั้งเค็ดแคแสมสาร |
ไม้บงทั้งปรงลาน | ในดงดานมีหลายพรรณ |
๗๐๐ กระดังงาจำปาทอง | เป็นแถวถ่องอยู่เรียงรัน |
สะคร้ำแลลำพัน | กันทลิกาสารภี |
๗๐๑ โคมลอยสร้อยสนสม | ชมพู่เทศแลลิ้นจี่ |
รวยรินอินจันมี | ต้นจำปีแลลำดวน |
๗๐๒ นางแย้มแกมยมโดย | ลมโบกโบยกลิ่นหอมหวน |
หอมมาน่ารำจวน | ชื่นอารมณ์น่าชมเชย |
๗๐๓ กระลำพักกฤษณา | ส่งกลิ่นมาอยู่รำเพย |
สุมณฑาน่าชมเชย | ระรวยรินกลิ่นมาลา |
๗๐๔ กันเกราทั้งเต่าเกียด | อีกสีเสียดเสนียดป่า |
ละมุดทั้งพุทรา | ลูกหวายหว้าทั้งพลวงพลอง |
๗๐๕ น้อยหน่าแลลำไย | มะเฟืองไฟแลปรางทอง |
สุกเหลืองอยู่เรืองรอง | มะพลับทองงามตระการ |
๗๐๖ ทุเรียนมังคุดนั้น | ครั้นชมนักจักเนิ่นนาน |
พี่เลี้ยงแลภูบาล | สำราญรมย์ชมปักษา |
๗๐๗ ชมฝูงสกุณชาติ | บินเกลื่อนกลาดในพนาวา |
สกุณีสกุณา | มาร่ำร้องอยู่ก้องดง |
๗๐๘ เบญจพาดเบญจพรรณ | เบญจวรรณพญาหงส์ |
ร่ำร้องกึกก้องดง | เสียงเสนาะเพราะเอาใจ |
๗๐๙ สกุโณโพระโดก | จับต้นโศกร้องเสียงใส |
แม่ม่ายแลลองใน | ทั้งเรไรจักรจั่น |
๗๑๐ กระเหว่าลายชายชมพู | นกเขาคูอยู่เรียงรัน |
สำเนียงเสียงแจจัน | สนั่นก้องในท้องดง |
๗๑๑ มยุรามาร่ำร้อง | เสียงกึกก้องไพรระหง |
สัตวาโนรีดง | ส่งเสียงเร้าเคล้าคู่คลอ |
๗๑๒ ไก่ป่าขันจ้าไป | สหัสนัยน์พญาลอ |
กระจาบพิราบมอ | เขาขันจ้อกันไปมา |
๗๑๓ ชมแล้วจึ่งบ่ายเบี่ยง | ชวนพี่เลี้ยงเจ้าลินลา |
เที่ยวไปที่ในป่า | พบสระโบกขรณี |
๗๑๔ สระใหญ่ที่ไพรสาณฑ์ | ดอกประทุมบานที่สระศรี |
เกลื่อนกลาดดาษนัที | น้ำเย็นดีเป็นโอฬาร์ |
๗๑๕ สรรพสิทธิฤทธิรงค์ | จึงสระสรงพระคงคา |
จึ่งชวนพระเชษฐา | ชมบุษบาสำราญใจ |
๗๑๖ บัวหลวงเป็นพวงพุ่ม | บานแลตูมอยู่ไสว |
ผุดแพลมแกมบังใบ | ที่มีในพระคงคา |
๗๑๗ อุบลจงกลนี | ในสระศรีมีนานา |
ภุมรีภุมรา | เอารสกลิ่นนิลุบล |
๗๑๘ สัตตบุษย์ผุดแดงฉัน | สัตตบรรณหัวขาวปน |
บัวเผื่อนอยู่เกลื่อนกล่น | ทั้งสาหร่ายสายสันตะวา |
๗๑๙ มีทั้งกระจับสด | ย่อมมีรสอันโอชา |
ครั้นแล้วชมฝูงปลา | หมู่มัจฉาในสระศรี |
๗๒๐ ฝูงปลาในสระนั้น | สารพันพ้นที่จะมี |
สร้อยซ่าปลากระดี่ | มีทั้งปลาสลุมพร |
๗๒๑ ปลาไหลแลปลาหลด | ทั้งปลากดแลปลาช่อน |
ปลาเสือทั้งเนื้ออ่อน | ปลาเทโพชะโดลาย |
๗๒๒ ปลาเค้าแลปลาม้า | ทั้งปลากาแลปลากราย |
ตะโกกแลปลาสวาย | บ้างว่ายคล่ำดำกินไคล |
๗๒๓ ปลาดุกรุกเข้าออ | ทั้งปลาหมอว่ายน้ำใน |
คางเบือนเบือนคางไป | หาปลาหมอบ่รู้วาย |
๗๒๔ ตะเพียนแลหางแดง | ปลาแขยงแฝงสาหร่าย |
ดำผุดแลดำว่าย | ไล่หยอกกันอยู่พรั่งพรู |
๗๒๕ กุ้งกั้งทั้งแมงดา | ในคงคามีอักขู |
หอยแครงทั้งแมงภู่ | จุ๊บแจงอยู่ดูมากมาย |
๗๒๖ หอยอีรมทั้งนมนาง | ทั้งหอยกวางแลหอยทราย |
หอยกาบคาบสาหร่าย | ทั้งหอยโข่งแลหอยขม |
๗๒๗ ฝูงสัตว์ในนัที | พระภูมีเจ้าเชยชม |
ขึ้นจากสระเสร็จสม | ผลัดภูษาแล้วคลาไคล |
๗๒๘ เห็นฝูงมฤคา | เที่ยวกินหญ้าอยู่ในไพร |
ตัวหนึ่งนั้นบรรลัย | ตายอยู่ในพนาวา |
๗๒๙ เห็นซากมฤคี | อันเป็นผีอยู่ในป่า |
แล้วจึ่งมีวาจา | แก่พี่เลี้ยงด้วยฉับไว |
๗๓๐ ดูราพระเชษฐา | จงรักษารูปข้าไว้ |
ข้าจักถอดหัวใจ | เข้าอยู่ในมฤคา |
๗๓๑ จะไปด้วยฝูงสัตว์ | ในป่าชัฏไพรพฤกษา |
ตามฝูงมฤคา | พี่รักษารูปข้าไว้ |
๗๓๒ พี่เลี้ยงจึ่งว่าเล่า | รูปของเจ้านั้นเล่าไซร้ |
พี่จักรักษาไว้ | มิให้เป็นอันตราย |
๗๓๓ พี่เลี้ยงรับคำแล้ว | จึ่งพระแก้วเจ้ายิ้มพราย |
ถอดหัวใจจากกาย | เข้าอยู่ในมฤคา ๚ะ |
ฉบัง
๗๓๔ เมื่อนั้นสรรพสิทธิฤทธา | ถอดดวงหัทยา |
ออกจากพระกายท้าวไท | |
๗๓๕ เข้ารูปมฤคาทันใจ | ร่างเนื้อนั้นไซร้ |
บัดใจก็เป็นขึ้นมา | |
๗๓๖ โลดโผนโจนเข้าในป่า | ด้วยดวงหัทยา |
เจ้านั้นเข้าอยู่ในกาย | |
๗๓๗ ไปตามฝูงเนื้อทั้งหลาย | ชมเล่นสบาย |
ดังน้ำพระทัยปรารถนา | |
๗๓๘ ฝูงเนื้อมิได้สงกา | ว่าเพื่อนมฤคา |
พากันกินหญ้าในไพร | |
๗๓๙ เมื่อนั้นสรรพสิทธิฤทธิไกร | เข้าชิดพิสมัย |
นางเนื้อมิได้สงกา | |
๗๔๐ สำคัญว่าเพื่อนมฤคา | มีความเสนหา |
มิได้รังเกียจเดียดฉันท์ | |
๗๔๑ เล็มล่าตามมฤคานั้น | จนพระสุริยัน |
จะเคลื่อนคล้อยเข้าบ่ายควาย | |
๗๔๒ พี่เลี้ยงอยู่รักษากาย | ของพระโฉมฉาย |
ก็คิดใจร้ายริษยา | |
๗๔๓ ที่นี้สมความปรารถนา | สรรพสิทธิปรีชา |
เป็นเนื้อในป่าพงไพร | |
๗๔๔ อย่าเลยกูนี้จะไป | เอานางอรไท |
เจ้านั้นเป็นอัครชายา | |
๗๔๕ จะได้เป็นอุปราชา | ที่ปรารถนา |
เห็นว่าจะได้นงเยาว์ | |
๗๔๖ จะถอดหัวใจของเรา | ใส่รูปของเจ้า |
จะกลับเข้าไปบูรี | |
๗๔๗ ทีนั้นนวลนางเทวี | จะว่าสามี |
มิได้กินแหนงแคลงใจ | |
๗๔๘ รูปตัวของผัวนางไซร้ | เอาแต่หัวใจ |
ของเราผู้เป็นเชษฐา | |
๗๔๙ คิดแล้วเท่านั้นมิช้า | ถอดดวงหัทยา |
ออกจากรูปตนด้วยพลัน | |
๗๕๐ เข้าในรูปพระทรงธรรม์ | รูปของกูนั้น |
จะเผาเสียในกลางไพร | |
๗๕๑ ครั้นจะเอารูปกูไว้ | แม้นว่านานไป |
เห็นว่าจะมีราคี | |
๗๕๒ ด้วยเจ้าสรรพสิทธิฤทธี | กลับมาบัดนี้ |
จะเห็นรูปกูนี้นา | |
๗๕๓ จะอ่านพระเวทคาถา | ถอดเอาหัทยา |
ออกจากมฤคาทันใจ | |
๗๕๔ จะเข้าในรูปกูไซร้ | ติดตามเข้าไป |
จะเป็นเสี้ยนหนามต่อกู | |
๗๕๕ ด้วยว่ามันมีความรู้ | เรียนมาต่อครู |
ความรู้ก็มีเสมอกัน | |
๗๕๖ จะเอารูปของกูนั้น | เผาเสียด้วยพลัน |
อย่าให้มันเข้ารูปไป | |
๗๕๗ จึ่งเก็บฟืนมาทันใจ | กองเข้าด้วยไว |
ก่อไฟให้ลุกเป็นควัน | |
๗๕๘ เมื่อนั้นพี่เลี้ยงใจฉกรรจ์ | เอารูปตนนั้น |
เข้าใส่ในกองอัคคี | |
๗๕๙ เผาเสียด้วยพลันทันที | ในกลางอัคคี |
ก็เป็นวิจุณสูญไป | |
๗๖๐ ครั้นแล้วลินลาคลาไคล | ออกจากพงไพร |
ก็กลับเข้าในบูรี | |
๗๖๑ มาถึงจึ่งเข้าวังศรี | ขึ้นปรางค์มณี |
นั่งอยู่ที่เกยชาลา | |
๗๖๒ พระสนมกรมในซ้ายขวา | ไม่แจ้งกิจจา |
เหตุผลนั้นเป็นฉันใด | |
๗๖๓ สำคัญว่าองค์ภูวไนย | เห็นรูปท้าวไท |
คิดว่าเจ้านายของตน | |
๗๖๔ ไม่รู้ว่าพี่เลี้ยงทรชน | เอาหัวใจตน |
มาใส่ในรูปท้าวไท | |
๗๖๕ ไม่รู้แยบคายภายใน | จึ่งนางสาวใช้ |
ถวายบังคมทุกคน | |
๗๖๖ คิดว่าเจ้านายของตน | บ้างถวายสุคน |
ธารสสหัสธารา | |
๗๖๗ บ้างถวายผ้าต้นรจนา | เสร็จแล้วมิช้า |
เข้าที่เสวยด้วยพลัน | |
๗๖๘ นางสุวรรณเกสรสาวสวรรค์ | พิศดูผัวขวัญ |
เห็นอัศจรรย์หนักหนา | |
๗๖๙ รูปทรงนั้นองค์ภัสดา | เหตุไรกิริยา |
เห็นผิดนางคิดสงสัย | |
๗๗๐ จะตรัสถ้อยความสิ่งใด | ผิดแต่ก่อนไป |
มิได้จะเหมือนสามี | |
๗๗๑ สงสัยในใจเทวี | กิริยาพาที |
ก็ผิดทำเนียมกระษัตรา | |
๗๗๒ คิดแล้วจึ่งมีวาจา | ว่าพระเชษฐา |
ไม่มาไปอยู่แห่งใด | |
๗๗๓ สองคนจรดลเข้าไพร | คนหนึ่งไปไหน |
ข้าบาทสงสัยนักหนา | |
๗๗๔ จึ่งบอกแก่นางฉายา | ว่าพระเชษฐา |
พากันไปถึงกลางไพร | |
๗๗๕ ฆ่าเสียให้ม้วยบรรลัย | ไว้ใจไม่ได้ |
เพราะความรู้ไซร้เท่ากัน | |
๗๗๖ บอกเจ้าให้รู้สำคัญ | พี่จึงฆ่าฟัน |
มันนั้นให้วอดวายชนม์ | |
๗๗๗ เอาไว้จะเกิดจุลาจล | ด้วยรู้เวทมนตร์ |
ถอดหัวใจได้เหมือนกัน | |
๗๗๘ พี่นี้มิไว้ใจมัน | จึ่งมาฆ่าฟัน |
ให้มันนั้นม้วยบรรลัย | |
๗๗๙ โฉมยงมาคิดสงสัย | พี่เลี้ยงนี้ไซร้ |
ดีร้ายจะคิดทรชน | |
๗๘๐ อุบายถ่ายเทเล่ห์กล | ถอดหัวใจตน |
เข้าในรูปเจ้าเข้ามา | |
๗๘๑ คิดแล้วจึ่งมีวาจา | ด้วยกลมารยา |
จะใคร่ให้รู้สำคัญ | |
๗๘๒ จึ่งทูลว่าพระทรงธรรม์ | อันพี่เลี้ยงนั้น |
ฟันเสียดีแล้วแลนา | |
๗๘๓ เอาไว้จะเกิดโทษา | ฆ่าให้มรณา |
เอาไว้จะเป็นเสี้ยนหนาม | |
๗๘๔ พี่เลี้ยงครั้นได้ฟังความ | ว่านางโฉมงาม |
เจ้าไม่มีความสงสัย | |
๗๘๕ จะสมความคิดจิตใจ | ในครั้งนี้ไซร้ |
จะได้เป็นอุปราชา | |
๗๘๖ วันนั้นพอจวนเวลา | จะเข้าสนธยา |
เข้ามาในปราสาทไชย | |
๗๘๗ ขึ้นสู่แท่นทองผ่องใส | เข้าใกล้ทรามวัย |
ดังไฟมาไหม้ลามลน | |
๗๘๘ ให้ร้อนในหัวใจตน | อตส่าห์กลั้นทน |
ปราศรัยจะใคร่เสนหา | |
๗๘๙ นางจึ่งกล่าวกลมายา | ว่าข้าบริจา |
ประชวรโรคายายี | |
๗๙๐ พระอุหลบขัดข้องหมองศรี | ให้เจ็บนาภี |
วันนี้ไม่มีความสบาย | |
๗๙๑ พระสนมกรมในทั้งหลาย | เชิญท้าวผันผาย |
ไปชมสุรางค์นางใน | |
๗๙๒ ได้ฟังนางงามทรามวัย | แล้วจึงคลาไคล |
ไปชมสนมสาวศรี | |
๗๙๓ เมื่อนั้นจึ่งนางเทวี | รำพึงคดี |
ก็คิดสงสัยไปมา | |
๗๙๔ รูปทรงก็องค์ภัสดา | แต่กิริยา |
นั้นผิดกับพระสามี | |
๗๙๕ นวลเจ้าโศกเศร้าหมองศรี | นางน้องเทวี |
เจ้าไซร้มิได้บังคม | |
๗๙๖ แม้นว่าจะมาสู่สม | ให้ร้อนระงม |
นั่งใกล้มิได้เลยนา ๚ะ |
สุรางคนางค์
๗๙๗ เรื่องนี้ยกไว้ | |
จะกล่าวบทไป | ถึงหน่อศาสดา |
เจ้าถอดหัวใจ | ใส่ในมฤคา |
เข้าไพรพฤกษา | ไปตามมฤคี |
๗๙๘ ไปในไพรสัณฑ์ | |
จนพระสุริยัน | บ่ายคล้อยแสงศรี |
หิวหอบเหี่ยวแห้ง | เรี่ยวแรงไม่มี |
พาร่างมฤคี | กลับมาทันใจ |
๗๙๙ มาถึงที่อยู่ | |
จึ่งเล็งแลดู | เห็นแต่กองไฟ |
ทั้งรูปทั้งกาย | เจ้านั้นหายไป |
พี่เลี้ยงนั้นไซร้ | หายไปด้วยกัน |
๘๐๐ คิดสงสัยนัก | |
ด้วยเห็นประจ้กษ์ | สลักสำคัญ |
รู้ว่าพี่เลี้ยง | ริษยาอาธรรม์ |
จะให้อาสัญ | อยู่ในกลางพนา |
๘๐๑ ว่าอ้ายพี่เลี้ยง | |
แยบคายบ่ายเบี่ยง | ถอดดวงหัทยา |
เข้ารูปกูไป | ในพระพารา |
จะเอาฉายา | เป็นเมียของตน |
๘๐๒ โอ้ตัวกูเอย | |
เกิดมาไยเลย | ไม่รู้ทันคน |
โง่เง่าเต่างัว | ไม่รักตัวตน |
มาไว้ใจคน | จนมรณา |
๘๐๓ ฝูงคนทั้งหลาย | |
เกิดมาเป็นชาย | อย่าดูเยี่ยงข้า |
ไว้ใจคนนัก | ม้กเกิดโทษา |
เหมือนหนึ่งตัวข้า | มาไว้ใจคน |
๘๐๔ เสียรู้เพราะรัก | |
น่าแค้นใจนัก | เพราะไม่รักตน |
จนเสียลูกเมีย | เพราะเชื่อใจคน |
แต่นี้จะทน | ทุกข์ไม่รู้วาย |
๘๐๕ คิดถึงอรไท | |
สะท้อนถอนใจ | พระทัยขาดหาย |
สรรพสิทธิปรีชา | โศกาบ่วาย |
ใจแห้งแรงหาย | แทบวายชีวัน |
๘๐๖ ครวญคร่ำร่ำไห้ | |
ถึงนางอรไท | ผู้เป็นเมียขวัญ |
ชาตินี้เวรา | ติดตามมาทัน |
เราทั้งสองนั้น | พลัดกันทั้งเป็น |
๘๐๗ เราอยู่คู่ครอง | |
กรรมมาตามสนอง | ให้ทันตาเห็น |
ชาติก่อนกำจัด | สิงสัตว์ทั้งเป็น |
ทั้งนี้ย่อมเวร | ติดตามเรามา |
๘๐๘ จักตั้งพิษฐาน | |
ขอพบเยาวมาลย์ | ทุกชาติเถิดนา |
เป็นสิงเป็นสัตว์ | สารพัดนานา |
ขอพบกัลยา | ผู้เป็นเมียขวัญ |
๘๐๙ เกิดเป็นสิ่งใด | |
พี่จะตามไป | เกิดเป็นสิ่งนั้น |
เจ้าเป็นพฤกษา | ข้าจะเป็นเครือวัลย์ |
ลอดเลี้ยวเกี่ยวพัน | อยู่ที่พฤกษา |
๘๑๐ เจ้าเป็นมาลี | |
อันตัวของพี่ | จะเป็นภุมรา |
จะอยู่สู่สม | เชยชมบุปผา |
ด้วยความเสนหา | เกสรมาลี |
๘๑๑ เจ้าเป็นคูหา | |
อันตัวของข้า | เป็นพญาราชสีห์ |
จะอยู่อาศัย | ในถํ้ามณี |
กว่าชีวิตพี่ | จะมาโทรมทรุด |
๘๑๒ เจ้าตายจากพี่ | |
เป็นงิ้วฉิมพลี | วิมานสูงสุด |
อันตัวของข้า | จะเป็นพญาครุฑ |
ฝากฝังยั้งยุด | ไม่ห่างร้างน้อง |
๘๑๓ เจ้าเป็นคงคา | |
อันตัวพี่ยา | จะเป็นปลาทอง |
จะขออิงแอบ | แนบนวลควรครอง |
จะคอยลอยล่อง | ในท้องคงคา |
๘๑๔ เจ้าเป็นคีรี | |
อันว่าตัวพี่ | จะเป็นพฤกษา |
งอกขึ้นบนตอน | ชะง่อนภูผา |
ชั่วนี้ชั่วหน้า | ขออย่าไกลกัน |
๘๑๕ สรรพสิทธิปรีชา | |
ครวญคร่ำร่ำหา | โศการำพัน |
อุระร้อนเร่า | สร้อยเศร้าโศกศัลย์ |
พระองค์ทรงธรรม์ | สลบซบไป |
๘๑๖ เหนือพื้นปฐพี | |
สิ้นสมปฤดี | มิได้หวาดไหว |
ครั้นต้องน้ำค้าง | ค่อยสว่างพระทัย |
ฟื้นขึ้นมาได้ | รำพึงไปมา |
๘๑๗ หน่อพระชินศรี | |
สมเด็จภูมี | คิดด้วยปัญญา |
นิ่งอยู่มิได้ | จำจะไคลคลา |
พาร่างกวางมา | แต่ในราตรี |
๘๑๘ มาในกลางคืน | |
ค่ำมืดดึกดื่น | ดั้นดงพงพี |
จนพระอุทัย | จะไขรัศมี |
พอรุ่งราตรี | สว่างเวหา |
๘๑๙ สางแสงอุทัย | |
จึ่งมาถึงไร่ | สองเฒ่ายายตา |
เลี้ยงนกแก้วไว้ | ที่ในเคหา |
อันว่าปักษา | นั้นมาบรรลัย |
๘๒๐ สองเฒ่าผัวเมีย | |
เอามาทิ้งเสีย | นอกรั้วทันใจ |
เมื่อใกล้จะรุ่ง | พวยพุ่งสุริย์ใส |
เอาทิ้งออกไป | นอกรั้วมิช้า |
๘๒๑ มาถึงไร่แล้ว | |
มาพบนกแก้ว | อันที่มรณา |
จึ่งถอดหัวใจ | ออกมิได้ช้า |
จากร่างมฤคา | เข้ารูปสกุณี |
๘๒๒ สมความคิดแล้ว | |
เข้ารูปนกแก้ว | ได้แล้วจรลี |
เฉียวฉาบถาบบน | โดยหนวิถี |
มาถึงบูรี | บัดเดียวทันใจ |
๘๒๓ จึ่งสกุโณ | |
บินถาผาโผ | เข้าสู่วังใน |
เห็นเปิดบัญชร | บินร่อนเข้าไป |
จับหน้าแกลไชย | แล้วมีวาจา |
๘๒๔ มาแต่ในไพร | |
ข้าเจ้านี้ไซร้ | อดอาหารมา |
หิวหอบบอบระหวย | จะม้วยมรณา |
ขอโภชนา | กินบ้างเป็นไร |
๘๒๕ จึ่งนางเทวี | |
ไม่รู้ว่าสามี | ถามมาทันใจ |
ดูราปักษา | ท่านมาแต่ไหน |
เป็นเหตุสิ่งไร | ว่าอดอาหาร |
๘๒๖ ท่านอยู่ในป่า | |
อันผลพฤกษา | ทั้งเปรี้ยวทั้งหวาน |
อันมูลผลา | ในป่าหิมพานต์ |
มากมายหลายประการ | ว่าอดโภชนา |
๘๒๗ เราคิดสงสัย | |
สกุณาว่าไป | ให้แจ้งก่อนรา |
อยู่ในไพรสาณฑ์ | เหตุการณ์ใดนา |
จงบอกกิจจา | ให้เราเข้าใจ |
๘๒๘ สรรพสิทธิปรีชา | |
จึ่งมีวาจา | บอกแก่ทรามวัย |
อันว่าข้านี้ | มิใช่อื่นไกล |
ข้านี้มิใช่ | เป็นสกุณา |
๘๒๙ ข้าคือสามี | |
ของนางเทวี | อย่าได้โศกา |
พี่จะเล่าให้ฟัง | แต่หนหลั่งมา |
เมื่อในเพลา | วันพี่จรดล |
๘๓๐ กับอ้ายพี่เลี้ยง | |
ผันผายบ่ายเบี่ยง | เข้าในไพรสณฑ์ |
ถึงทางทุเรศ | เมื่อจะเกิดเหตุผล |
พากันจรดล | ไปพบมฤคา |
๘๓๑ ตัวหนึ่งตายอยู่ | |
มาเล็งแลดู | รู้ว่ามรณา |
พี่ถอดหัวใจ | เข้าในมฤคา |
รูปกายของข้า | ฝากพี่เลี้ยงไว้ |
๘๓๒ แล้วตัวพี่ยา | |
ไปตามมฤคา | ที่ในป่าใหญ่ |
ภายหลังพี่เลี้ยง | บ่ายเบี่ยงแก้ไข |
ถอดเอาหัวใจ | เข้ารูปพี่ยา |
๘๓๓ พี่เลี้ยงทรยศ | |
มันคิดกระบถ | ต่อพี่แลนา |
หัวใจของมัน | รูปนั้นของข้า |
จงแจ้งกิจจา | เถิดหนาเทวี |
๘๓๔ เมื่อนั้นนางแก้ว | |
เห็นประจักษ์แล้ว | ว่าพระสามี |
ยอกรประนม | บังคมดุษฎี |
ทรงกันแสงศรี | แล้วมีวาจา |
๘๓๕ ทีนี้เล่าไซร้ | |
จะทำฉันใด | เล่าพระราชา |
จะได้รูปทอง | ของพระองค์มา |
แต่ดวงหัทยา | จะอยู่กลใด |
๘๓๖ หัวใจของเขา | |
รูปของพระเจ้า | จะเอาอย่างไร |
ไม่รู้ว่าจะตาย | ฝากกายเขาไว้ |
ถอดเอาหัวใจ | ไปเข้ามฤคา |
๘๓๗ คิดฉันใดเล่า | |
อันรูปพระเจ้า | จึ่งจะได้คืนมา |
เหมือนแต่ก่อนเก่า | พ่อเจ้าเมียอา |
ไม่ได้รูปมา | เมียจักบรรลัย |
๘๓๘ สุดคิดเมียแล้ว | |
พระทูลกระหม่อมแก้ว | จะคิดฉันใด |
นางยกสกุณา | ทูนเกศาไว้ |
ดิ้นโดยโหยไห้ | ร่ำไรไปมา |
๘๓๙ หน่อพระชินศรี | |
จึ่งถามเทวี | เมียรักเสนหา |
เมื่อในราตรี | คืนนี้น้องอา |
เข้าที่นิทรา | ด้วยเจ้าฤๅไฉน |
๘๔๐ นางสุวรรณเกสร | |
บอกแก่ภูธร | บัดเดียวทันใจ |
เหมือนหนหลังมา | ดั่งพรรณนาไว้ |
สงสัยที่ไหน | บอกให้ทุกอัน |
๘๔๑ จึ่งเจ้าสรรพสิทธิ | |
ไม่แคลงแจ้งจิต | สิ้นทุกสิ่งสรรพ์ |
ไม่เป็นอันตราย | ด้วยแยบคายนั้น |
ด้วยนางเมียขวัญ | เจ้ามีปัญญา |
๘๔๒ แก้ไขตัวไว้ | |
ด้วยว่าสงสัย | เห็นผิดกิริยา |
หญิงลางคนเล่า | มัวเมาตัณหา |
ไม่พิจารณา | หลับตางมไป |
๘๔๓ คิดแล้วเท่านั้น | |
บอกแก่เมียขวัญ | เจ้าอย่าตกใจ |
จงไปอุบาย | แยบคายภายใน |
ให้มันนั้นไซร้ | หลงด้วยวาจา |
๘๔๔ พี่จะบอกเจ้า | |
จงขี้นไปเฝ้า | แล้วทูลกิจจา |
ว่าพระองค์เจ้า | แต่ปกเกล้ามา |
ไม่เห็นศักดา | อานุภาพท้าวไท |
๘๔๕ แต่มาปกเกศ | |
ไม่เห็นพระเดช | พระคุณสิ่งใด |
เจ้าไปอ้อนวอน | ให้มันอ่อนใจ |
มันจะทำให้ | เจ้าเห็นแก่ตา |
๘๔๖ นางสุวรรณเกสร | |
จึ่งให้ภูธร | เจ้าเสวยโภชนา |
แล้วนางซ่อนไว้ | ที่ในปรางค์ปรา |
มิได้เจรจา | ให้ใครรู้กล |
๘๔๗ ซ่อนเจ้าไว้แล้ว | |
จึ่งนางน้องแก้ว | เสด็จจรดล |
นางจึ่งเข้าเฝ้า | แล้วกล่าวเล่ห์กล |
ขอพระจุมพล | จงได้ปรานี |
๘๔๘ แต่พระองค์เจ้า | |
มาอยู่ปกเกล้า | เป็นปิ่นบูรี |
ไม่เห็นศักดา | อานุภาพภูมี |
ทรงอิทธิฤทธี | เป็นประการใด |
๘๔๙ หัวใจนั้นเล่า | |
อยู่ในรูปเจ้า | ไม่รู้กลใน |
อันนางลวงล่อ | แต่พอหัวใจ |
ให้ออกเสียได้ | จากกายภูมี |
๘๕๐ หัวใจพี่เลี้ยง | |
มิได้บ่ายเบี่ยง | บอกแก่เทวี |
ว่านางโฉมตรู | จะดูฤทธี |
แต่ในวันนี้ | จะได้เห็นกัน |
๘๕๑ จึ่งสั่งมนตรี | |
เร่งเร็วบัดนี้ | ขมีขมัน |
ไปหารูปกาย | สัตว์อันตายนั้น |
เร่งรัดจัดกัน | ไปเที่ยวหามา |
๘๕๒ อำมาตย์รับสั่ง | |
วิ่งมาล้าลัง | เสือกสนค้นหา |
มาพบแพะตาย | อยู่ที่ชายป่า |
เอาแพะตายมา | เข้าถวายด้วยพลัน |
๘๕๓ บรรดาข้าหลวง | |
ขุนนางทั้งปวง | มั่วสุมชุมกัน |
ว่าเจ้าสรรพสิทธิ | แผลงฤทธิ์วันนั้น |
ชาวเราชวนกัน | มาดูฤทธา |
๘๕๔ หัวใจพี่เลี้ยง | |
จึ่งมากล่าวเกลี้ยง | สั่งแก่เสนา |
ดูรามนตรี | บัดนี้อย่าช้า |
เร่งทำพลับพลา | ที่หน้าพระลานไชย |
๘๕๕ เมื่อนั้นเสนา | |
จึ่งทำพลับพลา | เสร็จพลันทันใด |
จึ่งเสด็จลงมา | ยังพลับพลาไชย |
นักสนมกรมใน | ตามเสด็จไคลคลา |
๘๕๖ จึ่งนางเทวี | |
นางเอาสกุณี | ใส่หีบออกมา |
ไม่ให้ใครใคร | สงสัยเลยนา |
ให้สำคัญว่า | หีบใส่หมากพลู |
๘๕๗ ส่งให้สาวใช้ | |
ที่ไว้วางใจ | เคยใช้กันอยู่ |
เอาหีบนี้ไป | อย่าให้ใครดู |
จึ่งส่งให้กู | ที่ในพลับพลา |
๘๕๘ จึ่งนางสาวใช้ | |
รับเอาหีบไป | ตามนางฉายา |
ถึงพลับพลาไชย | ให้นางมิช้า |
จึ่งนางฉายา | รับเอาทันใจ |
๘๕๙ พร้อมกันบมินาน | |
ที่หน้าพระลาน | มากมายอยู่ไสว |
ทั้งซ้ายทั้งขวา | ข้างหน้าข้างใน |
คอยดูท้าวไท | จะแผลงฤทธา |
๘๖๐ พี่เลี้ยงนั้นไซร้ | |
จึ่งถอดหัวใจ | ออกจากกายา |
ของเจ้าสรรพสิทธิ | ด้วยฤทธิ์วิทยา |
เข้าในสรีรา | รูปแพะบมินาน |
๘๖๑ แพะเป็นขึ้นมา | |
ด้วยฤทธิ์วิทยา | อวดแก่เยาวมาลย์ |
ว่าศิลปศาสตร์ | สามารถเชี่ยวชาญ |
ให้นางนงคราญ | เจ้าเห็นฤทธา |
๘๖๒ ข้าหลวงทั้งหลาย | |
คิดว่าเจ้านาย | ของอาตมา |
ว่าเจ้าสรรพสิทธิ | สำแดงฤทธา |
มนตรีเสนา | ซ้องสาธุการ |
๘๖๓ หัวใจนั้นแหละ | |
เข้าอยู่ในแพะ | โลดโผนทะยาน |
สำแดงเดชา | ในหน้าพระลาน |
แพะตายวายปราณ | ดังมีจิตใจ |
๘๖๔ นางสุวรรณเกสร | |
จึ่งนางบังอร | เปิดหีบทันใจ |
จะให้ผัวเจ้า | เข้ารูปท้าวไท |
ด้วยนางทรามวัย | มีใจโกรธา ๚ะ |
ฉบัง
๘๖๕ เมื่อนั้นสรรพสิทธิปรีชา | ขึ้งโกรธโกรธา |
ถอดหัทยาด้วยไว | |
๘๖๖ ออกจากนกแก้วทันใจ | เข้ารูปภูวไนย |
บัดใจจึ่งสั่งเสนา | |
๘๖๗ ให้เร่งจ้บเอาแพะมา | เร่งเร็วอย่าช้า |
มัดเอาเข้ามาด้วยพลัน | |
๘๖๘ ว่าแพะใจร้ายอาธรรม์ | เร่งจับตัวมัน |
มาให้แก่เราบัดนี้ | |
๘๖๙ บัดนั้นเสนามนตรี | จับแพะกาลี |
มัดเข้ามาถวายราชา | |
๘๗๐ หัวใจพี่เลี้ยงนั้นหนา | รำพึงไปมา |
ทีนี้เห็นว่าวอดวาย | |
๘๗๑ ไม่เห็นสิงสัตว์ทั้งหลาย | ซากศพอันตาย |
อยู่ที่หน้าพระลานไชย | |
๘๗๒ ไม่มีกเลวรากสิ่งใด | จะถอดหัวใจ |
เข้าอยู่ในรูปสิ่งนั้น | |
๘๗๓ จะหนีความตายผายผัน | ไม่ได้สำคัญ |
กเลวรากสิ่งใด | |
๘๗๔ ไม่มีที่จะอาศัย | จะถอดหัวใจ |
ออกจากรูปแพะนี้นา | |
๘๗๕ จะหนีให้รอดชีวา | แลซ้ายแลขวา |
ไม่มีที่จะอาศัย | |
๘๗๖ ทีนี้น่าที่จะบรรลัย | กรรมทั้งนี้ไซร้ |
เพราะกูมาคิดทรชน | |
๘๗๗ คิดร้ายต่อเจ้านายตน | จึ่งอกุศล |
แลกรรมให้เห็นทันตา | |
๘๗๘ เมื่อนั้นสรรพสิทธิฤทธา | สั่งแก่เสนา |
ให้ผ่าอกแพะออกไป | |
๘๗๙ ควักแขวะแหวะเอาหัวใจ | แพะร้ายจังไร |
น้ำใจมันไม่ซื่อตรง | |
๘๘๐ ชาติพาลสันดานดำรง | การชั่วตัวยง |
จะไว้ชีวิตมันไย | |
๘๘๑ อำมาตย์รับสั่งท้าวไท | แหวะเอาหัวใจ |
ออกมาผ่าเสียด้วยพลัน | |
๘๘๒ พี่เลี้ยงนั้นสิ้นอาสัญ | สูญซึ่งชีวัน |
วันนั้นก็ม้วยบรรลัย | |
๘๘๓ ฝูงคนไม่รู้กลใน | เห็นหลากแก่ใจ |
ก็คิดสงสัยไปมา | |
๘๘๔ สมคิดดังจิตปรารถนา | เสด็จเข้าปรางค์ปรา |
สองราสำราญบานใจ | |
๘๘๕ ขึ้นบนปรางค์ทองผ่องใส | สมความคิดไซร้ |
ทรามวัยชื่นชมยินดี | |
๘๘๖ สังระเสริญปัญญาสามี | สรรพสิทธิฤทธี |
ปรีชาล้ำเลิศกว่าคน | |
๘๘๗ สองครองนิเวศมณฑล | ไตรภพจบสกล |
เป็นบรมสุขสถาพร ๚ะ |
สุรางคนางค์
๘๘๘ เมื่อนั้นโพธิสัตว์ | |
ครองราชสมบัติ | กับพระบิดร |
บรมกระษัตริย์ | พรหมทัตภูธร |
สุรางคนิกร | แปดหมื่นสี่พัน |
๘๘๙ เย็นเช้าเข้าเฝ้า | |
พระผู้ปิ่นเกล้า | นัคเรศเขตขัณฑ์ |
เฝ้าพระภูวนาถ | มิได้ขาดวัน |
ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ | อยู่ทุกวันวาร |
๘๙๐ พึ่งบุญเดโช | |
เป็นบรมสุโข | โอฬาร์ธิการ |
ข้าเฝ้าน้อยใหญ่ | โพยภัยไม่พาน |
รั้วงานราชการ | ตามประเพณี |
๘๙๑ ข้าศึกศึกเสือ | |
ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ | มิได้ยายี |
เจ้าทรงทศพิธ | ไม่ผิดประเพณี |
ไพร่พลมนตรี | มิได้ฉันทา |
๘๙๒ ดุจเขาพระสุเมรุ | |
มิได้เอียงเอน | หวาดไหวไปมา |
คือองค์ปิ่นปัก | เป็นหลักโลกา |
ถ้อยความถามว่า | โดยสัจจวาที |
๘๙๓ หน่อพระโพธิสัตว์ | |
ครองราชสมบัติ | เป็นเจ้าบูรี |
ร้อยเอ็ดนัคเรศ | ทุกประเทศธานี |
แต่งสุวรรณมาลี | ถึงปีมาถวาย |
๘๙๔ เป็นพระยาอุปราช | |
เสนาอำมาตย์ | มีความสบาย |
ซ้องสาธุการ | ภูบาลเหลือหลาย |
ทั้งหญิงทั้งชาย | สุขกระเษมเปรมปรา |
๘๙๕ สมเด็จกรุงกระษัตริย์ | |
ท้าวบรมพรหมทัต | ขัตติยวงศา |
พระชนม์ท้าวจวน | ประชวรโรคา |
ทรงพระชรา | สู่สวรรคาลัย |
๘๙๖ โกสุมเทวี | |
เห็นพระภูมี | สิ้นชีพตัดษัย |
นางสุวรรณเกสร | สายสมรอรไท |
เศร้าหมองร้องไห้ | รักพระบิดา |
๘๙๗ พระร่มโพแก้ว | |
มาล้มเสียแล้ว | จากลูกแลนา |
ตัดช่องน้อยไป | สู่ไตรตรึงษา |
ในวิมานฟ้า | เสด็จไปแต่องค์ |
๘๙๘ โกสุมเทวี | |
ไห้รักภูมี | เพียงชีพปลดปลง |
มาทิ้งเมียเสีย | เสด็จไปแต่องค์ |
ให้เมียนี้ทรง | โศกาอาวรณ์ |
๘๙๙ สมเด็จท้าวไท | |
สู่สวรรคาลัย | แต่องค์ภูธร |
ละบ้านเมืองไว้ | มิได้อาทร |
ละสุรางคนิกร | เสด็จสู่เมืองสวรรค์ |
๙๐๐ นักสนมทั้งปวง | |
สิ้นทั้งเรือนหลวง | ร้องไห้โศกศัลย์ |
ร่ำรักราชา | โศการำพัน |
ร้อนโรคโศกศัลย์ | ไม่มีสมประดี |
๙๐๑ ครั้นวายโศกแล้ว | |
สมเด็จพระแก้ว | สรรพสิทธิฤทธี |
ให้แต่งโกศทอง | เรืองรองรัศมี |
เชิญศพภูมี | เข้าในโกศทอง |
๙๐๒ เมื่อนั้นพระบาท | |
ตรัสสั่งอำมาตย์ | มนตรีทั้งผอง |
ให้เร่งกะเกณฑ์ | ทำพระเมรุทอง |
รูปสัตว์เนืองนอง | ให้มีทุกพรรณ |
๙๐๓ รูปอินทร์รูปพรหม | |
รูปเทพประนม | ถือดอกบุษบัน |
รูปรามรูปลักษณ์ | รูปยักษ์ทศกัณฐ์ |
รูปเทพเทวัญ | ในชั้นดุษฎี |
๙๐๔ รูปสัตว์จตุบาท | |
ละมั่งระมาด | รูปพญาราชสีห์ |
รูปสัตว์ทวิบาท | พญาราชสกุณี |
หัสดินทร์อินทรี | กินรีกินร |
๙๐๕ ราชวัติรายรอบ | |
ฉัตรธงประกอบ | รูปสัตว์อยู่สลอน |
รูปนางสาวสวรรค์ | อันงามบวร |
รูปเทพนิกร | รำร่อนตามกัน |
๙๐๖ เมรุซีกเมรุแซก | |
ทำให้แปลกแปลก | ทั้งแปดทิศนั้น |
รูปขุนวานรา | ยักษากุมภัณฑ์ |
ประดับทุกชั้น | ให้งามบรรจง |
๙๐๗ หน้ามุขหน้าบัน | |
เป็นลำดับกัน | ทุกชั้นเหมหงส์ |
ย่อมแก้วแกมกัน | เรืองรองเยียรยง |
รูปครุฑภุชงค์ | สลับจับกัน |
๙๐๘ ให้จัดเครื่องเล่น | |
ระบำรำเต้น | เกณฑ์ให้ครบครัน |
ระบำรำมอญ | ละครประชัน |
โขนหนังทั้งนั้น | ให้พร้อมทุกประการ |
๙๐๙ ครั้นจะรำพัน | |
เครื่องเล่นทั้งนั้น | จะช้าเนิ่นนาน |
นอกพระบาลี | มิสู้ต้องการ |
แต่พอประมาณ | ตามเรื่องนิยาย |
๙๑๐ ครั้นถ้วนเจ็ดวัน | |
พระองค์ทรงธรรม์ | เจ้าจึงถวาย |
พระเพลิงกระษัตริย์ | พรหมทัตฦๅสาย |
แล้วเสด็จผันผาย | เข้าสู่วังใน |
๙๑๑ เสร็จการบรมศพ | |
เจ้าผ่านพิภพ | เป็นเจ้าเวียงไชย |
แทนกรุงกระษัตริย์ | พรหมทัตท้าวไท |
ด้วยนางทรามวัย | เกสรมเหสี |
๙๑๒ เป็นปิ่นกระษัตริย์ | |
ครองราชสมบัติ | เลิศล้ำโลกี |
ร้อยเอ็ดนัคเรศ | ทุกประเทศธานี |
บทมาลย์พันปี | ก้มเกล้าถวายกร |
๙๑๓ แต่งสุวรรณมาลา | |
มาถวายเจ้าฟ้า | ทุกกรุงพระนคร |
มักกะสันวิลันดา | พม่าแขกมอญ |
ตะนาวชาวดอน | คุลาตานี |
๙๑๔ มัตตะมะพะโค | |
กะเหรี่ยงเลี่ยงโผ | หัวโตโยคี |
แขกจามพราหมณ์เทศ | ฝรั่งเศสมะละกี |
พึ่งพระบารมี | ทั้งสิบสองภาษา |
๙๑๕ ลูกค้าบกเรือ | |
ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ | เกลื่อนกล่นกันมา |
อีหลุบกำปั่น | ญี่ปุนวิลันดา |
ฝรั่งมังคลา | มาพึ่งสมภาร |
๙๑๖ ครองราชสมบัติ | |
เป็นธรรมเป็นสัตย์ | เลิศล้ำดินดาน |
ขาดเหลือเกื้อหนุน | ทำบุญให้ทาน |
สร้างพระโพธิญาณ | เพิ่มพูนบารมี |
๙๑๗ พระหน่อนรินทร์ปิ่นนรา | |
จอมกระษัตริย์ขัตติยา | ครอบครองธานี |
สุขเขษมเปรมปรา | บ่มีราคี |
เสนามนตรี | เป็นสุขทุกคน |
๙๑๘ ครองพระนคร | |
ส่วยสาอากร | ลดถอนผ่อนปรน |
สิ่งของเพิ่มพูน | บริบูรณ์ฟ้าฝน |
เป็นสวัสดิมงคล | ปิ่นเกล้าธรณี |
๙๑๙ หน่อพระโพธิสัตว์ | |
ครองราชสมบัติ | กำนัลสาวศรี |
พระชนม์ท้าวไท | ได้ร้อยยี่สิบปี |
เหนื่อยหน่ายโลกีย์ | มิได้ต้องพาน |
๙๒๐ ทรงพระชรา | |
ประชวรโรคา | มัจจุราชมาพาน |
ทำลายเบญจขันธ์ | สู่สวรรค์บมินาน |
เสวยสุขสำราญ | ในวิมานไกวัล |
๙๒๑ วิมานทองโสด | |
สูงห้าสิบโยชน์ | เครื่องทิพอนันต์ |
นางฟ้าแช่มชื่น | นับหมื่นนับพัน |
จุติจากสวรรค์ | แล้วกลับลงมา |
๙๒๒ เกิดในชมพู | |
ผลบุญคํ้าชู | เป็นท้าวพระยา |
อกุศลซัดให้ | เข็ญใจนักหนา |
เป็นกระษัตรา | แล้วมาตกไร้ |
๙๒๓ ได้เป็นมนตรี | |
ได้เป็นเศรษฐี | กระฎุมพีเข็ญใจ |
ได้เป็นนักปราชญ์ | อำมาตย์ผู้ใหญ่ |
เวียนมาเวียนไป | หลายชาตินักหนา |
๙๒๔ เป็นฤๅษีสิทธิ์ | |
แล้วเป็นวานิช | ชาวไร่ชาวนา |
เป็นสัตว์เป็นสิง | ทุกสิ่งภาษา |
เป็นจักรพรรตรา | มีเดไชไชย |
๙๒๕ หลายชาติมานาน | |
แม้นจะประมาณ | ยากนักเหลือใจ |
จนพระบารมี | ได้สี่อสงไขย |
กำไรนับได้ | ถึงแสนมหากัลป์ |
๙๒๖ จึ่งได้มาตรัส | |
โปรดเวไนยสัตว์ | ไปยังเมืองสวรรค์ |
บ้างได้อรหัต | ตัดกิเลสนั้น |
เป็นพระอรหันต์ | เข้าสู่พระนิพพาน |
๙๒๗ จึ่งพระศาสดา | |
นำมาเทศนา | สำแดงตำนาน |
ชาดกสกุณา | ล่วงมาช้านาน |
ครั้งพระพิชิตมาร | ยังเป็นปักษี |
๙๒๘ แต่งตามนิบาต | |
เรื่องสกุณชาติ | จบแต่เท่านี้ |
ยุติการะ | ด้วยพระบาลี |
จึ่งพระชินศรี | ประมวลชาติมา |
๙๒๙ มีพุทธโอวาท | |
ตรัสประมวลชาติ | ตามบาทพระคาถา |
พี่เลี้ยงนั้นไซร้ | น้ำใจริษยา |
ครั้นกลับชาติมา | เทวทัตใจพาล |
๙๓๐ เกิดชาติใดมา | |
พบหน่อศาสดา | ตั้งใจปองผลาญ |
จึ่งพระเทวทัตนั้น | เป็นคนอันธพาล |
ไปตกอยู่นาน | ในมหาอเวจี |
๙๓๑ ท่านท้าวพรหมทัต | |
เมื่อเธอกระหวัด | กลับชาติด้วยดี |
เป็นพระอานนท์ | ปรนนิบัติอันมี |
อุปัฏฐากชินศรี | จนเข้าพระนิพพาน |
๙๓๒ โกสุมนางนาฏ | |
เมื่อกระหวัดกลับชาติ | มาตามโพธิญาณ |
เป็นนางมลิกา | ภิกขุณีมินาน |
ประกอบด้วยฌาน | ยิ่งยวดกวดขัน |
๙๓๓ โกณฑัญเศรษฐี | |
เมื่อสิ้นชีวี | กลับชาติด้วยพลัน |
เป็นพุทธบิดา | ในศาสนานั้น |
พระนามทรงธรรม์ | สิริสุทโธทน์ภูมี |
๙๓๔ เขมานางนาฏ | |
เมื่อนางกลับชาติ | ในศาสนานี้ |
เป็นพุทธมารดา | สมเด็จพระมุนี |
พระนามเทวี | สิริมหามายา |
๙๓๕ สรรพสิทธิราช | |
เมื่อได้กลับชาติ | เป็นองค์ศาสดา |
โปรดแก่มนุษย์ | เทวบุตรเทวดา |
ครุฑานาคา | ทั่วโลกโลกีย์ |
๙๓๖ นางสุวรรณเกสร | |
เมื่อนางบังอร | กลับชาติด้วยดี |
เป็นนางพิมพา | ในศาสนานี้ |
เป็นพระชนนี | แห่งพระราหุล |
๙๓๗ ตำนานนิบาต | |
เรื่องราวสกุณชาติ | พอจบบริบูรณ์ |
พระเจ้านำมา | เทศนาบัณฑูร |
จบแล้วบริบูรณ์ | เท่านี้แลนา ๚ะ |
[๑] “ชนมาร”ในเรื่องนี้ใช้ในความหมายว่า “แม่” (ชนนี + มารดา)
[๒] เนื้อความตอนแกะบายศรีแต่งเป็นกลอนแหล่อยู่ในเอกสารเลขที่ ๖๘๒