คำนำ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ได้ทรงมีพระศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา พอพระหฤทัยในการทรงสดับพระธรรมเทศนาและทรงบำเพ็ญบุญกิริยาต่าง ๆ เสมอมา ยิ่งเจริญพระชนมายุก็ยิ่งเจริญพระศรัทธาปสาทะมากขึ้น จนถึงได้เสด็จมาทรงสดับพระธรรมเทศนาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันธรรมสวนะเป็นประจำ เมื่อมีสาสนกิจในวัด เป็นกิจประจำตามกาลานุกาลก็ดี เป็นกิจพิเศษก็ดี ก็ได้ทรงถือเป็นพระภารธุระ ประทานพระอุปการะด้วยดอกไม้บ้าง อาหารบ้าง สิ่งอื่น ๆ บ้าง, และโดยปกติ ได้เสด็จมาประทับเป็นประธานอำนวยกิจการนั้น ๆ ด้วยพระองค์เอง ให้เกิดความปีติยินดีและความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่รวมกำลังกายกำลังใจและกำลังอื่น ๆ เป็นที่อุ่นหนาฝาคั่ง. ในคราวที่สร้างตึกสามัคคีพยาบารสำหรับบรรพชิต ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ทรงเป็นกำลังใหญ่ ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ, ในสมัยที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า เสด็จออกทรงผนวช ก็ได้ทรงรับเป็นพระภารธุระในกิจการทางวัดที่ควรทรงจัดทรงทำทุกอย่าง ทั้งในฐานพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ทั้งในฐานอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา ด้วยทรงมีความจงรักภักดี และ ทรงมีพระศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่ง, ทั้งได้ทรงบริจาคทุนสร้างกุฏิเป็นตึก ๒ ชั้น/*-4ขึ้น ๑ หลัง ถวายเป็นสังฆิกเสนาสนะในวัด, นอกจากนี้ได้ทรงบำเพ็ญบุญกิริยาต่าง ๆ อีกมากอย่าง เป็นต้นว่า ได้ทรงอุปถัมภ์สามเณรให้ได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในคราวทรงบำเพ็ญพระกุศล ตรงกับวันประสูติเป็นประจำทุกปี และได้ทรงบำเพ็ญทานบริจาคบ้าง ประทานพระอุปการะบ้าง ด้วยอาหารภัตร และศิลานเภสัชเป็นต้น แก่พระภิกษุสามเณรในโอกาสต่าง ๆ เสมอมา, แม้ในเวลาก่อนประชวรในอวสาน ก็ได้เสด็จมาทรงสดับพระธรรมเทศนา ในวันธรรมสวนะเป็นครั้งสุดท้าย

พระภิกษุสามเณร วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ระลึกถึงพระกุศลจริยาและพระคุณูปการ ที่ทรงมีอยู่เป็นอันมาก ปรารถนาจะปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณ ตามกำลังสามารถ และตามทางที่จะพึงทำได้ ได้พร้อมกันบำเพ็ญกุศลถวาย ในสัตตมวารที่ ๙ วันที่ ๒๔-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๑ แล้วส่วนหนึ่ง และปรารถนาจะพิมพ์หนังสือแจก เพื่อเป็นอนุสรณ์และถวายกุศลในงารพระราชทานเพลิงพระศพอีกส่วนหนึ่ง.

หนังสือที่จะพิมพ์ เห็นว่า เรื่องทางคติธรรม ทางเจ้าภาพได้ขอประทานบทความธรรมต่างเรื่อง พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า รวบรวมพิมพ์ชื่อว่า “ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา ตั้งแต่เบื้องต้น” เล่ม ๑ แล้ว จึงปรารถนาจะได้เรื่องพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๕ หรือจดหมายเหตุ หรือเรื่องชนิดอื่น ที่เกี่ยวแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น หรือที่เหมาะจะพิมพ์แจกในงาร ได้ทูลพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ขอให้ทรงช่วยดำริเลือก, พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้ทรงเลือก พระราชนิพนธ์ เรื่อง ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม และได้ทรงเขียนอธิบายประกอบเรื่องประทานให้ด้วย.

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ที่ยังไม่เคยพิมพ์ และเป็นเรื่องธรรมเนียมในราชตระกูล จึงเนื่องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ถูกต้องกับความประสงค์ในการของให้ทรงเลือก จึงขอขอบพระคุณ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ในการที่ทรงเลือกเรื่องนี้ และ ทรงเขียน คำอธิบายประกอบเรื่องประทานด้วย.

เรื่องนี้ แม้เป็นเรื่องเฉพาะราชตระกูล แต่ก็กล่าวถึงขนบ, ธรรมเนียมประเพณี ที่ควรทราบโดยทั่วไป เพราะราชตระกูลเป็นตระกูลใหญ่ ที่ชื่อว่าเป็นประมุขของตระกูลทั้งปวง ในทางพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า

ขตฺติโย เสฏฺโ มนุสฺเสสุ เย โคตฺตปฏิสาริโน
ขันติยะสูงสุดในหมู่มนุษย์ผู้นับถือโคตรตระกูล.

ทางพระพุทธศาสนา แสดงธรรมทั้งโดยสมมติสัจจะ ทั้งโดยปรมัตถสัจจะ โดยสมมติสัจจะ เช่นทรงบัญญัติศีลตั้งแต่ศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์ ทรงแสดงทิศ ๖ เช่นทรงแสดงว่า มารดาบิดาเป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า) ของบุตรธิดา เป็นต้น เพื่อให้บุคคลประพฤติชอบตามควรแก่สมมตินั้นๆ ทรงบัญญัติวินัยสำหรับบรรพชิตส่วนโดยปรมัตถสัจจะ เช่นทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา อริยสัจจ์ ๔ ญาณในอริยสัจจ์ ๔ ตามนัยในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้น เพื่อวิชชาวิมุตติ ปรากฏว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกผู้ประสพวิชชาวิมุตติแล้ว เมื่อทรงปฏิบัติเกี่ยวข้องกับโลกหรือหมู่ชน ก็ทรงปฏิบัติโดยชอบ แก่สมมติสัจจะนั้น ๆ. ฉะนั้นเมื่อได้ทราบสมมติสัจจะนั้น ๆ ก็อาจปฏิบัติให้ชอบเหมาะได้

พระภิกษุ สามเณร วัดบวรนิเวศวิหาร ขอถวายส่วนแห่งกุศล ในการที่ได้พิมพ์หนังสือนี้แจก และ แห่งกุศลอื่น ที่ได้บำเพ็ญแล้ว เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ทุกประการเทอญ ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ