๓ ว่าด้วยอากรค่านา

ค่านานั้นแต่ก่อนเรียกเป็นหางเข้าตวงขึ้นฉางหลวงไร่ละ ๒ ถัง แล้วซ้ำจัดซื้อเป็นราคาหลวงอีกไร่ละ ๒ ถัง พระราชทานเงินให้ไร่ละเฟื้อง เป็นราคาหลวงถังละ ๒ ไพ แต่ราษฎรต้องขนมาส่งถึงฉางในกรุงเทพฯ และฉางหัวเมือง ตามแต่เจ้าพนักงานจะบังคับ ราษฎรได้ความยากบ้างง่ายบ้างไม่เสมอกัน ที่ได้ความยากก็ร้องทุกข์กล่าวโทษข้าหลวงเสนาและเจ้าพนักงานไปต่างๆ ต้องมีผู้ตัดสินเป็นถ้อยความอยู่เนืองๆ มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้นทรงพระราชดำริพร้อมกับความคิดเจ้านายต่างกรมและเสนาบดีเห็นว่า เรียกหางเข้าค่านาและจัดซื้อเข้าเป็นตัวเข้าแล้วก็บังคับให้มาส่งถึงฉาง ราษฎรได้ความลำบากมากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน ที่ถูกเกาะครองเร่งรัดก็มักร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าพนักงานและข้าหลวงเสนา เป็นถ้อยความต่างๆ เนืองๆ จึงได้คิดอ่านตั้งอย่างธรรมเนียมเสียใหม่ เลิกเรียกหางเข้าค่านาและจัดซื้อเข้าเป็นราคาหลวงอย่างแต่ก่อนนั้นเสีย แล้วมีพระราชบัญญัติให้เรียกเป็นค่านาไร่ละสลึงเฟื้องเสมอกันไปทั้งนาคู่โคและนาน้ำฝนฟางลอย แต่การที่เรียกตามประเมินนาปักนาน้ำฝนฟางลอย และเรียกตามจำนวนในตราแดงและนาคู่โคนั้น ยังคงอยู่ตามเดิมไม่ยักย้าย ก็เมื่อใดฝนแล้งน้ำน้อยหรือน้ำมากเกินประมาณ ราษฎรเจ้าของนาคู่โคที่ต้องเสียตามจำนวนตราแดง มักร้องทุกข์ว่าทำนาได้ผลน้อย จะทนเสียค่านาตามจำนวนตราแดงไปไม่ได้ ที่เป็นไพร่หลวงฝีพายและพวกพ้องของพวกฝีพายมาเข้าชื่อกันถวายฎีกาในกรุงเทพฯ บ้าง ก็การที่สำเร็จแก่ผู้ร้องนั้นเป็นไปต่างๆ เอานิยมลงไม่ได้ บางทีก็โปรดให้ยกให้ลดให้แต่ไพร่หลวงกรมฝีพายที่ลงมารับราชการ บางทีก็โปรดให้ประเมินเรียกเอาแต่ตามที่ได้ทำ บางทีก็โปรดลดให้ไร่ละเฟื้องเสมอไปในปีหนึ่งนั้น ตามครั้งคราวที่เป็นใหญ่เป็นน้อยหายืนลงเป็นอย่างไม่ (ต่อนี้ไปเป็นพระราชบัญญัติเรื่องนาตราแดงและนาคู่โคซึ่งประกาศให้ลดการเสียค่านาลงคงเหลือไร่ละ ๑ สลึง)

คัดจากประกาศพระราชบัญญัติเรื่องนาตราแดงและนาคู่โค ลงวันพุธ เดือนยี่ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดฉศก (พ.ศ. ๒๔๐๗)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ