๑ ว่าด้วยอากรค่าน้ำ

อากรค่าน้ำนี้ก็เป็นทางที่ให้บังเกิดพระราชทรัพย์อย่างหนึ่งสำหรับแผ่นดินในสยามประเทศนี้มีมาแต่โบราณสืบๆ กาลพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทุกๆ พระองค์ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่ามา จะได้ยินว่าในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งจะให้เลิกถอนเสียนั้นหามิได้ เพราะคนชาวประเทศไทยมีปกติดังธรรมดา มีเนื้อและปลาเป็นกับเข้าเป็นนิจทุกตัวคนทุกตำบลทุกแห่ง จะเป็นคนกินแต่ของเครื่องเค็มและเต้าหู้ซึ่งเป็นสิ่งมิใช่เนื้อปลาเป็นกับเข้าดังจีนบางจำพวกก็ดี หรือเป็นคนกินนมเนยถั่วงาเป็นกับเข้าดังพราหมณ์และคนชาวมัชฌิมประเทศโดยมากก็ดีหามีไม่ เพราะฉะนั้นท่านผู้ครองแผ่นดินมาแต่ก่อนจึงได้เก็บอากรแก่คนหากุ้งหาปลาเหมือนเก็บค่านาสมพักสรแก่ผู้ทำนาทำไร่ทำสวนเสมอกันไปทั้งพระราชอาณาเขตต์ รวบรวมพระราชทรัพย์มาใช้จ่ายเป็นการทำนุบำรุงแผ่นดิน คุ้มครองราษฎรทั้งปวงไว้ให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็และประเพณีรักษาแผ่นดินอย่างประเทศไทยนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลและประเทศอันนี้อยู่แล้ว เพราะพระเจ้าแผ่นดินกรุงไทยสืบมาแต่บุราณองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งจะมีบุญญาธิการเหลือล้นนัก จนถึงขุนคลังแก้วมีทิพจักษุเห็นทรัพย์แผ่นดิน หยิบเอาทรัพย์ในแผ่นดินขึ้นมาถวายได้ทุกขณะทุกเวลา เหมือนขุนคลังแก้วของบรมจักรพรรดินั้นก็ดี และจะมีบุญฤทธิวิเศษยิ่งจนบันดาลห่าฝนแก้ว ๗ ประการให้ตกลงมาได้ดังพระหฤทัยปรารถนาเหมือนพระเจ้ามันธาตุราชและพระเพสยันดรก็ดี หามีไม่แต่สักพระองค์หนึ่ง

ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีพระบวรสันดานเพลิดเพลินในการพระราชกุศล ทรงสดับเรื่องราวโบราณนิทานชาดกและอื่นๆ มากแล้ว มีพระราชประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์และสัปรุสในพระพุทธศาสนา ซ้องสรรเสริญนับถือว่าเป็นมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์มหัศจรรย์กว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ จึงทรงพระราชดำริตริตรองจะทรงปฏิบัติให้เหมือนพระโพธิสัตว์ที่มีเรื่องราวมาในชาดก ซึ่งกล่าวด้วยพระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์ เสวยสมบัติในเมืองพาราณสีและเมืองอื่นๆ ในมัชฌิมประเทศที่มีประชาชนกินนมเนยและถั่วงาเป็นกับเข้านั้นเอามาเป็นพระอารมณ์ ว่าพระโพธิสัตว์แต่ก่อนได้เสวยสมบัติแล้วพระราชทานอภัยให้แก่สัตว์ในป่า นกบินอยู่บนฟ้า ปลาในน้ำทั้งสิ้น ไม่ให้ใครทำปาณาติบาตเลยทีเดียวได้อย่างไร การอย่างนั้นจะทรงปฏิบัติได้บ้าง

อนึ่งทรงระแวงแคลงไปว่า เมื่อตั้งนายอากรไปให้เป็นเจ้าของเขตต์แดนห้วยหนองคลองบึงบางแลเกาะในชะเล เมื่อนายอากรจะเก็บเอาทรัพย์ที่เกิดด้วยปาณาติบาตของราษฎรมารวบรวมมาส่งเป็นพระราชทรัพย์แล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงใช้สอยพระราชทรัพย์นั้นก็จะเป็นมิจฉาชีพไปด้วย จึงโปรดให้เลิกอากรฟองจันละเม็ดในชะเลและค่าน้ำเสียให้หมด แต่ครั้งปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙) มา ในปีนั้นปีเดียว โปรดให้มีข้าหลวงขึ้นไปเปิดกระบังรังเฝือกซึ่งราษฎรรับแต่นายอากรปิดห้วยหนองคลองบึงบางไว้ ปล่อยปลาอยู่ในที่ขังให้พ้นไป แล้วทรงประกาศการอันนั้นให้พระสงฆ์ราชาคณะอนุโมทนาสาธุการ เป็นพระเกียรติยศครั้งหนึ่งเท่านั้น

(เมื่อปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๓๙๙ มีประกาศในรัชกาลที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องอากรค่าน้ำฉะบับ ๑ ประกาศนั้นก็เป็นพระราชนิพนธ์ ทรงบรรยายเรื่องตำนานอากรค่าน้ำครั้งรัชชกาลที่ ๓ ทำนองเดียวกับความในท้องตราฉบับนี้ แต่มีพลความบางข้อซึ่งมิได้ปรากฏในท้องตราฉะบับนี้ คือ

ข้อ ๑ ว่าเงินอากรค่าน้ำในรัชชกาลที่ ๓ เมื่อก่อนจะเลิกอากรนั้นเป็นจำนวนเงินนายอากรนำส่งพระคลังปีละ ๗๐๐ ชั่ง

อีกข้อ ๑ ทรงสืบทราบว่านายอากรไปเก็บอากรค่าน้ำ แล้วตัดตอนขายหนองคลองบึงบางเป็นคลองเขินให้แก่ราษฎรเป็นเจ้าของที่ต่างๆ จึงผู้ซึ่งซื้อตอนทั้งปวงนั้นปิดพนบลงกระบังรังเฝือกกั้นคลองบึงบางรุกรวมเอาปลากักขังไว้ในส่วนของตัวๆ ปลาจะว่ายไปมาตลอดไปในที่มีน้ำทั้งปวงตามธรรมดาก็ไม่ได้ คนที่มีประโยชน์จะเดิรเรือก็เดิรไม่ได้ จึงทรงพระกรุณากับปลาว่าเป็นสัตว์มีชีวิต อย่าให้ต้องติดขังจำตายเลย และจะให้คนที่มีประโยชน์เดิรเรือไปมาได้คล่องไม่ต้องเข็นข้ามพนบและเฝือกเป็นเหตุให้มีทะเลาะวิวาทกันนั้นด้วย จึงโปรดให้มีข้าหลวงขึ้นไปเปิดกระบังรังเฝือก ซึ่งราษฎรรับแต่นายอากรปิดห้วยหนองคลองบึงบางไว้ ปล่อยปลาอยู่ในที่ขังให้พ้นไป ให้นายอากรเก็บค่าน้ำต่อไปแต่โดยพิกัดตามเครื่องมืออย่างเดียว อย่าตัดทอนขายต่อไปเลย เมื่ออากรจะขาดสักเท่าไรก็ให้นายอากรมาร้องขาดเถิดจะลดให้ ฝ่ายนายอากรก็มาร้องขาดให้ลดเงินอากรลงปีหนึ่ง ๓๐๐ ชั่งเศษ คงเงินอากรอยู่แต่ปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษ ครั้นภายหลังมายังทรงรังเกียจกลัวบาปต่อไป ด้วยทรงแคลงว่าเพราะมีค่าน้ำคนจึงหาปลามากขึ้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอีกครั้งหนึ่งให้ยกอากรค่าน้ำที่เคยเรียกได้เป็นเงินอากรเพียงปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษนั้นเสียทีเดียว)

ครั้นกาลภายหลังต่อมาทรงพระราชดำริว่า ครั้นจะห้ามการปาณาติบาตทุกแห่งทุกตำบล ด้วยพระราชอาชญาหาเหตุและเขตต์บมิได้ก็ไม่ควร การจะไม่สำเร็จ จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปให้กรมการหัวเมืองฝ่ายตะวันออกซึ่งขึ้นกรมท่า แต่งกองจับออกจับคนผู้หาฟองจันละเม็ดในชะเล จับตัวได้ให้เอามาทำโทษและเรียกค่าปรับไหมโดยสมควร แต่การหากุ้งหาปลานั้นให้ห้ามแต่ในเขตต์เสาศิลา ซึ่งปักไว้แต่ก่อนเป็นอาถรรพ์กันปิศาจทุกทิศในเขตต์พระนคร ถ้าใครทำปาณาติบาตในเขตต์พระนครแล้วให้กรมเมืองจับปรับเอาทรายทำวัด การที่มีผู้ทำปาณาติบาตในที่อื่นๆ นอกจากเสาศิลาเขตต์พระนครนั้นเป็นแต่ตรัสประภาสไว้ว่า เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของห้วยหนองคลองบึงบางแล้วราษฎรก็จะแย่งกันทำปาณาติบาตในที่นั้นๆ ก็จะเกิดวิวาทขึ้น แล้วจึงจะยึดเอาที่นั้นเป็นที่หลวงเสีย แล้วจึงจะได้ห้ามมิให้ใครทำปาณาติบาตในที่นั้นต่อไป ที่นั้นๆ จะทำปาณาติบาตของราษฎรก็จะน้อยแคบเข้าทุกที ก็จะเป็นที่เจริญอภัยทาน เป็นการพระราชกุศลเสมอไป ความข้อนี้เป็นแต่ตรัสประภาสไว้ตั้งแต่ปีจออัฐศก (พ.ศ. ๒๓๖๙) มาจนปีจอโทศก (พ.ศ. ๒๓๙๓) เป็น ๒๕ ปี ก็ไม่มีใครซึ่งแย่งกันจนถึงเกิดความจนถึงได้ยึดเอาที่นั้นเป็นที่หลวง แม้นถึงจะเกิดวิวาทกันบ้างก็ชำระแล้วไปแต่ในเจ้านายเท่านั้น ไม่เป็นไปได้ตามพระราชประสงค์ ซึ่งมีพระราชโองการรับสั่งให้กรมการหัวเมืองจับผู้หาฟองจันละเม็ดในชะเล และให้กรมเมืองจับผู้หากุ้งหาปลาในภายในเขตต์เสาศิลานั้น เมื่อมีรับสั่งครั้งหนึ่งแล้วก็ทรงไปด้วยราชการอื่นๆ ด้วยว่ามีราชกิจเป็นการใหญ่ๆ มากมิได้ทรงตักเตือนตรวจตราประการใดอีก การนั้นก็จืดจางไป ผู้ที่ทำปาณาติบาตก็ได้ช่องที่จะทำกำเริบขึ้น เพราะฉะนี้ที่เลิกอากรค่าน้ำเสียนั้น ไม่เป็นคุณอันใดแก่แผ่นดินและพระพุทธศาสนาและตัวสัตว์คือกุ้งปลาในน้ำ กลับเป็นคุณแก่ผู้ที่ทำปาณาติบาตเป็นคนบาปนั้นยิ่งกว่าคนที่เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม คือทำไร่นาเรือกสวนทั้งปวงนั้นเสียอีก เป็นการไม่เสมอในการที่จะถือเอาส่วยแต่ราษฎรทั้งปวงไป (ความต่อไปเป็นเรื่องตั้งนายอากรค่าน้ำ และพิกัดเครื่องมือจับสัตว์น้ำ)

คัดจากสารตราลงวันเสาร เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๙๕)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ