- ๑ ประเพณีนำริ้วตรวจทางเสด็จพระราชดำเนิร
- ๒ ประเพณีลงสรงโสกันต์
- ๓ ประเพณีพระราชทานเบี้ยหวัดและเงินเดือนแก่เจ้านายในพระราชวังบวร
- ๔ ประเพณีพระราชทานเบี้ยหวัดพระราชวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช
- ๕ ประเพณีพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่พ่อค้าต่างประเทศ
- ๖ ประเพณีเสด็จพระราชทานพระกฐิน พระอารามหลวงกรุงศรีอยุธยา
- ๗ ประเพณีพระสงฆ์รามัญสวดพระปริต ทำน้ำพระพุทธมนตร์ในพระราชวังชั้นใน
๓ ประเพณีพระราชทานเบี้ยหวัดและเงินเดือนแก่เจ้านายในพระราชวังบวร
เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เมื่อปีมีกรมพระราชวังอยู่ เจ้านายในพระบวรราชวังตั้งแต่เจ้าฟ้าพิกุลทองลงมาไม่มีนามในบัญชีเบี้ยหวัดและเงินเดือนเลย มีแต่แบ่งเงินไปแจกเบี้ยหวัดในพระบวรราชวังปีละ ๕๐๐ ชั่ง แต่เงินเดือนในพระบวรราชวังนั้น ต้นแผ่นดิน ๓ ปีมีบัญชีว่าเดือนละ ๕ ชั่ง แล้วต่อมาอีก ๗ ปีมีบัญชีว่าเดือนละ ๑๐ ชั่ง ต่อมาอีก ๑๑ ปีมีบัญชีว่าเดือนละ ๒๐ ชั่ง ต่อมาภายหลังเมื่อกรมพระราชวังไม่มีแล้ว เจ้านายในพระบวรราชวังจึงมีบัญชีเบี้ยหวัดองค์ละ ๒ ชั่งขึ้นไป ๑๐ ชั่งลงมา ตามใหญ่ตามน้อย แต่เงินเดือนมีเจ้าฟ้าพิกุลทองที่เป็นกรมขุนศรีสุนทร และกรมหมื่นเสนีเทพ และพระองค์เจ้าดุษฎีเท่านั้น ครั้นเมื่อตั้งวังหน้าใหม่ที่พระราชวังเดิม ข้าราชการในพระบวรราชวัง ขุนนางข้างหน้ามารับในพระบรมมหาราชวังหมด เงินรวมทั้งปีมากๆ น้อยๆ ไม่เสมอกัน แต่เจ้านายนั้นได้รับพระราชทานบ้าง ไม่ได้รับพระราชทานบ้าง ได้รับพระราชทานแต่ที่ได้เข้ามาเฝ้าในพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงรู้จัก แล้วรับสั่งให้พระราชทานจึงได้ ไม่ได้รับสั่งแล้วก็ไม่ได้ การเป็นดังนั้นมาแต่ครั้งเป็นต่างกรม แต่ข้าราชการข้างในนั้นได้รับพระราชทานแต่คุณศรีที่เรียกว่าคุณพีผู้เดียว นอกนั้นได้รับพระราชทานแต่จ่าทนายเรือนและโขลน ที่ยกแบ่งไปจากพระบวรราชวังเก่า ถึงกระนั้นก็ได้มารับพระราชทานในบัญชีรวมพร้อมกันกับข้าราชการในพระบวรราชวังเก่า ซึ่งรักษาพระบวรราชวังอยู่นั้น แต่เงินเดือนในพระบวรราชวังนั้น แต่แรกได้ตั้งพระราชทานไปแต่เดือนละชั่ง ภายหลังพระราชทานเดือนละ ๓ ชั่ง ของจับจ่ายทุกสิ่งเบิกแต่พระคลัง ในพระบรมมหาราชวังบ้าง จัดซื้อเอาแต่เงินกำไรสำเภาบ้าง ว่าถึงการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเท่านี้.
เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระราชทรัพย์ขัดสน เงินท้องพระคลังจะแจกข้าราชการไม่พอ ต้องลดกึ่งและแบ่ง ๓ ให้แต่ ๒ แทบทุกปี เงินไม่มีต้องเอาผ้าตีให้ก็มีบ้าง มีบัญชีแต่ว่าไปขอยืมเงินในพระบวรราชวังแจกเบี้ยหวัด แล้วจึงเก็บเงินค้างใช้คืน เพราะครั้งนั้นในพระบวรราชวังค้าสำเภามีกำไรมาก เงินพอเบี้ยหวัดข้าราชการในพระบวรราชวัง ต่อปีไรสำเภาในพระบวรราชวังเสีย พระราชทานขึ้นไปบ้างน้อยๆ มากๆ ไม่เสมอตำรา แต่เงินเดือนละ๒๐ ชั่งเสมอ แต่พระองค์เจ้านั้นเมื่อกรมพระราชวังยังมีอยู่ ได้รับพระราชทานตามบัญชีเดิม ที่เคยได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรมหมื่นธิเบศรบวร พระองค์เจ้าประชุมวงศ ได้รับพระราชทานองค์ละ ๓ ชั่ง นอกนั้นก็ได้น้อยๆ ลงมาจนถึงที่พระเยาว์ยังไม่โสกันต์ได้องค์ละ ๕ ตำลึง โสกันต์แล้วองค์ละ ๑๐ ตำลึง ที่มาแต่วังบ้านหลวงเดิมก็ดี ที่ประสูติใหม่ในพระบวรราชวังก็ดี ที่ยังไม่ได้โสกันต์ได้รับพระราชทาน ๕ ตำลึง ที่โสกันต์แล้วก็ ๑๐ ตำลึง เหมือนกับหม่อมเจ้าในวังเจ้าต่างกรม และว่ากันว่าพระองค์เจ้าในพระบวรราชวังในแผ่นดินปัตยุบันเวลานั้นๆ ควรได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในเงินรวมสำหรับในพระบวรราชวัง ซึ่งได้พระราชทานไปดังว่าแล้วนั้น ตามบัญชีเก่าที่เคยมาแต่แผ่นดินก่อน ต่อมาถึงปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๑๗๗ กรมพระราชวังไม่มีแล้ว พระองค์เจ้าในพระบวรราชวังจึงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมากขึ้น คือพระองค์เจ้าประยงก์เป็นพระองค์ใหญ่ โปรดให้เป็นกรมหมื่นธิเบศรแล้วพระราชทานเบี้ยหวัด ๑๐ ชั่ง พระองค์เจ้าหนูปานซึ่งเป็นกรมหมื่นอมรมนตรีบัดนี้กับพระองค์เจ้าหญิงใหญ่ประชุมวงศ ได้รับพระราชทานองค์ละ ๕ ชั่ง นอกนั้นได้รับพระราชทานองค์ละ ๓ ชั่งบ้าง ๒ ชั่งบ้าง ชั่ง ๑๐ ตำลึงบ้าง ชั่ง ๑ บ้างตามใหญ่แลน้อย แต่เงินเดือนเจ้านายในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีบัญชีว่าได้รับพระราชทานตามแต่เคยได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่พระราชทานขึ้นใหม่ไม่มีๆ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมาได้วังหม่อมเหม็นเป็นวังแล้ว เบี้ยหวัดที่หม่อมเหม็นเคยได้ ๓๐ ชั่งทุกปี เงินเดือนๆ ละ ๑๐ ตำลึงทุกเดือน ก็ได้รับพระราชทานแต่ปีแรกมาอยู่วังนั้น จนสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[๑]
คัดจากประกาศเรื่องจะพระราชทานเบี้ยหวัดพระโอรสพระธิดาในพระบรมราชวัง ปีฉลูสัปตศก (พ.ศ. ๒๔๐๘)