๒ ประเพณีลงสรงโสกันต์

ธรรมเนียมลงสรงโสกันต์ ที่เป็นพิธีสำหรับราชตระกูลในแผ่นดินสยามสืบมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า ทั้งชายทั้งหญิง คือท่านที่มีพระบิดาพระมารดาเป็นราชตระกูลทั้งสองฝ่าย แต่จะว่าให้ละเอียดถ้าเป็นการตั้งพระวงศ์ใหม่ พระเจ้าพี่ยา พระเจ้าน้องยา พระเจ้าพี่นาง พระเจ้าน้องนาง ที่ร่วมพระชนกชนนีกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ก็เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ทั้งสิ้น แต่ที่ต่างพระมารดาต่อโปรดให้เป็นจึงเป็นได้ พระเจ้าลูกเธอที่ประสูติแต่พระอัครมเหษี พระราชชายาที่ติดมาแต่เดิมก็ดี ตั้งใหม่ก็ดี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้งชายทั้งหญิง พระเจ้าลูกเธอที่เจ้าจอมมารดาเป็นแต่พระสนมไม่เป็นเจ้าฟ้า ก็เป็นแต่พระองค์เจ้า ถ้าเจ้าจอมเป็นเชื้อพระวงศ์ห่างๆ ก็ดี เป็นบุตรเจ้าแผ่นดินเมืองน้อยรอบคอบก็ดี หรือเป็นบุตรเสนาบดีมีความชอบก็ดี ถ้าโปรดให้เป็นเจ้าฟ้าก็เป็นได้ พระเจ้าหลานเธอนั้น คือพระโอรสพระธิดาในพระบวรราชวัง ถ้าพระมารดาโปรดให้เป็นเจ้า บุตรีก็เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง เมื่อได้พระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ก็ดี เป็นกรมพระราชฯวังก็ดี เป็นเจ้าต่างกรมไม่มีกรมเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามีบุตรบุตรีบังเกิดก็เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาต่ำเสมอพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าหลานเธอ ดังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ มีศักดินาเสมอเพียงพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าลูกเธอ

เมื่อแผ่นดินสืบๆ มา พระราชโอรสพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ แลกรมพระราชวัง ฯ ที่ประสูติแต่พระมารดาเป็นเจ้าฟ้าก็ดี เป็นพระองค์เจ้าก็ดีคงเป็นเจ้าฟ้า ถ้ามารดาเป็นแต่หม่อมเจ้าและราชนิกูลและธิดาเมืองน้อยรอบคอบ ก็คงเป็นแต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า ต่อพระเจ้าแผ่นดินใหญ่โปรดให้เป็นเจ้าฟ้าจึงเป็นได้

ในกรมพระราชวังหลัง บุตรบุตรีประสูติแต่อัครชายา มียศเป็นเจ้า ก็เป็นได้เพียงพระองค์เจ้า ต่อมารดาเป็นเจ้าฟ้าจึงเป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา บุตรบุตรีกรมพระราชวังหลังที่เกิดแต่พระสนมก็คงเป็นหม่อมเจ้าเหมือนกับบุตรบุตรีของพระองค์เจ้าชายทั้งปวง ที่ตั้งกรมแล้วและยังไม่มีกรม หม่อมเจ้าทั้งปวงที่ได้ราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน โปรดเลื่อนให้เป็นพระองค์เจ้าโดยความชอบก็เป็นได้ การกำหนดที่ว่ามานี้ ตามแบบแผนซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ หลายชั่วแผ่นดินแต่ครั้งกรุงเก่ามา

เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีแรกตั้งแผ่นดินบางกอกก่อนพระวงศ์นี้ มีพระเจ้าลูกเธอชายเป็นเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ พระองค์ ๑ เกิดแต่พระอัครชายาเดิม อีกพระองค์ ๑ เกิดแต่มารดาที่เป็นพระญาติพระวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินในเวลานั้น อีกพระองค์ ๑ เกิดแต่มารดาที่เป็นบุตรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อตั้งพระวงศ์ใหม่ขึ้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสองพระองค์ก็เป็นเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่มีพระบุตร ๓ บุตรี ๑ แต่พระบิดาสิ้นชีพเสียนานแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยมีพระบุตร ๓ บุตรี ๒ พระบิดาก็สิ้นชีพเสียนานแล้วเหมือนกัน ก็ทั้ง ๙ พระองค์นั้นพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทั้งสิ้น ภายหลังมาพระบุตรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่นั้น โปรดให้เป็นกรมพระราชวังหลัง เป็นลำดับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่โปรดให้เป็นกรมพระราชวังบวร ฯ ในแผ่นดินนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินนั้น มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระราชธิดา ๒ พระองค์แต่พระอัครชายาเดิม โปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ แต่กรมพระราชวัง ฯ มีพระธิดาประสูติแต่พระมารดาเป็นเชื้อเจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าด้วย รวมเจ้าฟ้าในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ถ้านับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่เป็นกรมพระราชวังฯ ด้วยก็เป็น ๓ เป็นชั้นศักดิ์สูงอย่างเอก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๔ พระองค์เป็นอย่างโท สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า นับกรมพระราชวังหลังด้วยเป็น ๑๑ พระองค์เป็นอย่างตรี รวมเจ้าฟ้าทั้ง ๒ อย่างเป็น ๑๘ พระองค์ คือนับเจ้าฟ้าหลานเธอที่เป็นราชบุตรกรุงธนบุรีด้วยนั้น อนึ่งมีเจ้าฟ้าหญิงอีกพระองค์หนึ่ง เป็นพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระวงศ์เก่ากรุงศรีอยุธยายังคงยศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าอยู่ด้วย จึงรวมเป็น ๑๙ พระองค์ด้วยกัน

ก็ในเจ้าฟ้าเหล่านี้ เมื่อแรกตั้งแผ่นดินยังไม่ได้โสกันต์ ๗ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ ยกแต่พระองค์ใหญ่ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ๒ พระองค์ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า ในกรมพระราชวังฯ พระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอที่เป็นราชบุตรกรุงธนบุรีพระองค์ ๑ จึงรวมเป็น ๗ พระองค์ เมื่อถึงปีมีกำหนดควรจะโสกันต์ ก็มีราชการทัพศึกกับพะม่าวุ่นวายอยู่ เพราะเป็นการต้นแผ่นดิน ไม่มีช่องมีเวลาที่จะได้ทำพระราชพิธีให้เต็มตามตำรา คือ ๒ พระองค์ ถึงกำหนดโสกันต์ในปีแรกตั้งแผ่นดินใหม่ คือปีขาลจัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๘๒ อีก ๒ พระองค์ถึงกำหนดในปีมะเส็งสัปตศก ศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๘๕ อีก ๒ พระองค์ถึงกำหนดโสกันต์ในปีระกาเอกศก ศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๘๙ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าที่เป็นราชบุตรเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ถึงกำหนดโสกันต์ในปีกุนตรีศก ศักราช ๑๑๕๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๙๑ ใน ๑๐ ปีนี้พะม่ายกมารบแทบทุกปี มีราชการทัพศึกมาก ไม่มีช่องที่จะได้คิดทำการลงสรงโสกันต์เลย เป็นแต่ทำโดยสังเขปพอเป็นแล้วไป แต่เจ้าฟ้าพินทวดีซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เอง แลเห็นการงานต่างๆ เมื่อเวลาลงสรงโสกันต์เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านๆ ทราบการทุกอย่าง เป็นผู้แนะนำอย่างธรรมเนียมโบราณอื่นๆ ต่างๆ หลายอย่างหลายประการ ในกรุงเทพ ฯ นี้ เมื่อท่านเห็นว่าเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ที่โสกันต์ ไม่ได้ทำเต็มตามตำราพระราชพิธีแต่สักพระองค์หนึ่ง จนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่าการอย่างธรรมเนียมพระราชพิธีลงสรงโสกันต์เจ้าฟ้าจะสาบศูนย์ไปเสียแล้วท่านก็ทรงชราแล้ว เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้น ใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้องตามแบบแผนได้เล่า ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงานลงสรงโสกันต์ต่าง ๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างในเรียนดูรู้ไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบศูนย์ไป ความที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงพระวิตกนั้น กรมพระราชวัง ฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงสร้างเขาไกรลาสมีพระมณฑปบนยอด แลมีสระอโนดาตและท่อไขน้ำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ตามอย่างเจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ ครั้นการเขาไกรลาสเสร็จแล้วก็กราบทูลขอแด่พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำการโสกันต์พระราชบุตรและพระราชบุตรีของท่านที่เป็นแต่พระองค์เจ้าสมมตให้เป็นดังเจ้าฟ้า ทำการทั้งนี้แม้ผิดอย่างธรรมเนียมก็เพื่อว่าจะให้เห็นเป็นอย่างทันเวลาเมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ จะให้มีผู้ได้รู้ได้เห็นไว้เป็นอันมาก มิให้การสาบศูนย์ไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้การเป็นไปตามพระทัยกรมพระราชวัง ฯ แต่ส่วนพระองค์ไม่ชอบพระราชหฤทัยจะทำให้ผิดอย่างธรรมเนียมไป กรมพระราชวัง ฯ เมื่อได้ช่องโปรดอำนวยให้ทำ ก็ได้ทำการโสกันต์ในพระบวรราชวัง ๓ ครั้ง คือปีเถาะสัปตศกศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๙๕ ครั้ง ๑ คือปีมะเมียสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๙๘ ครั้ง ๑ คือปีระกาตรีศก ศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๑ ครั้ง ๑

และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ได้เสด็จอยู่กับพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าหญิง ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ประสูติพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระองค์ที่ ๑ ประสูติในปีระกาตรีศก ศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๑ ได้เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่สิ้นพระชนม์เสียในปีนั้น พระองค์ที่ ๒ ประสูติในปีชวดฉศก ศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๔ พระองค์ที่ ๓ ประสูติในปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๘ สองพระองค์นี้เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา และเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ ในแผ่นดินนั้นสวรรคตในปีกุนเบ็ญจศก ศักราช ๑๑๖๕ ตรงกับปีคฤศตศักราช ๑๘๐๓ แล้วล่วงมาถึงปีเถาะนพศก ศักราช ๑๑๖๙ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่เลื่อนที่เป็นกรมพระราชวังบวร ฯ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพระโอรสท่าน ๒ พระองค์ พระองค์ ๑ ประสูติก่อนเลื่อนที่ พระองค์ ๑ ประสูติเมื่อเลื่อนที่แล้วนั้น เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า

ก็พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง มารดาเป็นบุตรีเจ้าเมืองเวียงจันท์ โปรดให้เป็นแต่เพียงพระองค์เจ้าเหมือนกันกับพระราชบุตรและพระราชบุตรีพระองค์อื่นที่ประสูติแต่พระสนม เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้านั้นสิ้นชีพในปีกุนเบ็ญจศก เมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ สวรรคตแล้วนั้น พระองค์เจ้านั้นมีพระชนมายุได้ ๕ ขวบ เป็นกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา ทรงพระกรุณามาก ภายหลังล่วงมาปีหนึ่งพระองค์เจ้านั้นตามเสด็จลงไปลอยกระทง วิ่งเล่นตกน้ำหายไป คนทั้งปวงตกใจเที่ยวหาอยู่ครู่หนึ่ง จึงพบพระองค์เจ้าไปเกาะทุ่นหยวกอยู่หาจมน้ำไม่ ผู้พบเชิญเสด็จกลับมาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดมากขึ้น มีพระราชโองการดำรัสว่า พระองค์เจ้านี้เจ้าจอมมารดาก็เป็นฝ่ายลาว อัยยกาธิบดีคือตัวเจ้าเวียงจันท์ก็ยังอยู่ ควรจะให้เลื่อนที่เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า การพิธีโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังแต่ตั้งแผ่นดินมาก็ยังหาได้ทำไม่ ถ้าถึงคราวโสกันต์จะได้ทำให้เป็นแบบอย่างในแผ่นดิน จึงโปรดพระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เจ้าฟ้านั้นเมื่อถึงปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๘ พระชนมายุครบ ๑๑ ปีถึงกำหนดที่จะโสกันต์ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพินทวดีที่เป็นผู้ชี้การมาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง ๗ ปี ถึงกระนั้นแบบแผนตัวอย่างการต่างๆ ที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงจัดไว้ มีผู้ได้เรียนรู้เห็นอยู่เป็นอันมาก แลได้ดูอย่างการที่ทำแต่ก่อนในพระบวรราชวัง ๓ ครั้งนั้นด้วย จึงได้จัดการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่เต็มตามตำรา คือตั้งพระราชพิธีพระมหาปราสาทคล้ายกับพระราชพิธีตรุษ แลมีเขาไกรลาส ราชวัติ ฉัตรทอง ฉัตรเงินและฉัตรรายทาง นั่งกลาบาศและการเล่นต่างๆ อย่างสูง และแห่มีมยุรฉัตร นางเชิญเครื่อง นางสระแห่เครื่องขาว เสด็จมาทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนตร์ ๓ วัน แล้วแห่มาเวลาเช้าโสกันต์ในวันที่ ๔ แล้วเสด็จขึ้นเขาไกรลาส ครอบเครื่องต้นแล้วแห่เวียนเขาไกรลาส ๓ รอบ แล้วแห่กลับในเวลาเช้า ครั้นเวลาบ่ายแห่เครื่องแดงมาสมโภชวันนั้นแล้วต่อไปอีก ๒ วัน วันที่ ๗ จึงแห่พระเกศาไปลอย การเป็นเสร็จโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในเดือน ๔ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๙

ครั้นล่วงมาอีก ๖ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวร ฯ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นแผ่นดินที่ ๒ เจ้าฟ้าพระราชโอรส ๒ พระองค์นั้นก็เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงปฤกษาด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ว่าการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า ได้ทำลงเป็นอย่างมีแบบแผนเป็นจดหมายเหตุอยู่แล้ว แต่การพระราชพิธีลงสรงตั้งพระนามเจ้าฟ้าโดยอย่างเต็มตามตำราครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า ยังหาได้ทำเป็นแบบอย่างไม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเห็นก็แก่ชราเกือบจะหมดไปแล้ว จะสาบศูนย์เสีย จะใคร่ทำไว้ให้เป็นเกียรติยศเยี่ยงอย่างสักครั้งหนึ่ง ข้าราชการเห็นพร้อมตามกระแสพระราชดำริ ครั้นถึงปีระกาเบ็ญจศกศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๓ จึงได้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ ผูกแพไม้ไผ่ที่ท่าราชวรดิษฐ์ มีกรงที่สรงอยู่กลางล้อมด้วยซี่กรงชั้นหนึ่งตารางไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่ง ร่างแหอีกชั้นหนึ่ง ผ้าขาวอีกชั้นหนึ่ง มีบันไดเงินบันไดทองลง ๒ ข้าง บันไดกลางเป็นเตียงหลั่นหุ้มผ้าขาว เรียกว่าบันไดแก้ว ในกรงมีมะพร้าวคู่ปิดเงินปิดทองแลปลาทองปลาเงิน กุ้งทองกุ้งเงิน ลอยอยู่ทั้ง ๔ ทิศ กรงนั้นมีพระมณฑปสวม มีราชวัติ ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงินล้อม ๓ ชั้น มีทหารนั่งรายรอบ แลมีเรือจุกช่องล้อมวงแพที่สรงแทนเขาไกรลาสในการโสกันต์ การพระราชพิธีนอกนั้น คือการขึ้นพระมหาปราสาท และการแห่ทางแห่การเล่นต่างๆ ก็เหมือนกับการโสกันต์แห่เครื่องขาวเสด็จไปทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนตร์ขึ้นมหาปราสาท ๓ วัน วันที่ ๔ จึงแห่เสด็จลงไปท่าราชวรดิษฐ์ สรงในแพที่สรงแล้วแห่กลับ แล้วจึงเสด็จมารับพระสุพรรณบัฏขึ้นมหาปราสาท พระราชทานพระสุพรรณบัฏจาฤกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงศ์พงศอิศรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร ครั้นเวลาบ่ายแห่เครื่องแดงทรงเครื่องต้นมาสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้งนั้นเรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในวันนั้นและต่อไปอีก ๒ วันเป็น ๓ เวลา เสร็จการพระราชพิธีลงสรง ครั้นเสร็จการแล้วมีพระราชโองการดำรัสว่า การลงสรงเช่นนี้ ทำแต่ครั้งเดียวนี้เถิด พอเป็นตัวอย่างไว้ไม่ให้ศูนย์พิธีโบราณ เพราะการโสกันต์เป็นอันจำจะต้องทำสำหรับยศเจ้าฟ้าทุกๆ พระองค์ การลงสรงทำเป็นสองซ้ำก็หาต้องการไม่ ไพร่ๆ ที่เขาลงท่าลูกเขานั้นเพราะเขาร้อนรนจะเร่งเอาของขวัญเก็บเอาเงินคนอื่นมาใช้ เขาจึงรีบด่วนทำการลงท่าก่อนเวลาโกนจุก เพราะเขาเห็นว่าการโกนจุกนั้นยังช้าอยู่ ก็ในหลวงไม่ได้ร้อนรนอะไร ไม่ควรจะทำให้เป็นสองซ้ำสามซ้ำ ทำแต่โสกันต์เถิด ด้วยเป็นของต้องจำใจทำตามธรรมเนียม ครั้นมาเดือน ๔ ปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ เป็นเดือนมาร์ช ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๗ ได้มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎนั้นเป็นการใหญ่ เหมือนกันกับครั้งโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ครั้นมาเดือน ๔ ปีมะโรงอัฐศก ศักราช ๑๑๘๒ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๑ ได้มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฑามณีอีกครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาสและการอื่นๆ เหมือนกันกับการสองครั้งก่อน เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้นได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระโอรส ๓ พระธิดา ๑ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ พระองค์ใหญ่ประสูติในปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๖ พระนามว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระองค์ที่ ๒ ประสูติในปีเถาะเอกศก ศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๙ พระนามว่าเจ้าฟ้ามหามาลา พระองค์ที่ ๓ เป็นเจ้าฟ้าหญิงประสูติเมื่อศักราช ๑๑๘๒ สิ้นพระชนม์เสียในวันประสูติ พระองค์ที่ ๔ ประสูติในปีมะเมียจัตวาศก ศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๒ พระนามว่าเจ้าฟ้าปิ๋ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงพระราชดำริไว้จะทำการโสกันต์ให้เต็มตามตำราเหมือนกัน ก็แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตในปีวอกฉศก ศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ.

ก็แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ข้างพระบวรราชวังมีการโสกันต์ ๒ ครั้ง คือโสกันต์พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศร์ครั้ง ๑ ในเดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๓ อีกครั้ง ๑ มีการโสกันต์พระองค์เจ้าน้อยนฤมลในเดือน ๔ ปีจอฉศก ศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๕

ในครั้งหลังมีเขาไกรลาสด้วย แต่ย่อมกว่าในพระบรมมหาราชวัง การที่ทำนั้นก็คล้ายกับการโสกันต์เจ้าฟ้า เพราะทรงนับถือว่าพระองค์เจ้า ๒ พระองค์นั้น ประสูติแต่พระมารดาเป็นธิดาเจ้ากรุงธนบุรี แต่เพราะมีเหตุจึงหาได้โปรดให้เป็นเจ้าฟ้าไม่ ว่าด้วยการโสกันต์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสิ้นเท่านี้

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อปีจออัฐศก ศักราช ๑๑๘๘ มาจนปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ คือเป็นปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๖, ๑๘๒๗, ๑๘๒๘, นั้น เจ้าอนุเวียงจันท์คิดกบฏ บ้านเมืองมีการทัพศึกไม่เป็นปกติ พระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ค้างอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทถึง ๒ ปี ครั้นการพระบรมศพแล้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทชำรุด ต้องรื้อทำใหม่ในปีชวดสัมฤทธิศก พระชนมายุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า บ้านเมืองมีราชการทัพศึกอยู่หาสู้สบายไม่ พระมหาปราสาทก็ต้องรื้อทำใหม่ ไม่มีที่ตั้งพระราชพิธีโสกันต์ ทำแต่สังเขปเอาเถิด จึงตั้งพระราชพิธีโสกันต์ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทใหม่ ไม่มีเขาไกรลาส แต่การแห่นั้นก็คล้ายกับกระบวนพยุหยาตรา โสกันต์ในวันที่ ๔ แล้วเวลาบ่ายแห่ทรงเครื่องต้น สมโภชเวลาเดียวเป็นเสร็จ การโสกันต์สังเขปครั้งนี้เป็นอย่างลงแล้ว ก็เมื่อโสกันต์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลาก็ดี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าปิ๋วก็ดี ศักราช ๑๑๙๓ และปีมะเมียฉศก ศักราช ๑๑๙๖ มีพระราชโองการดำรัสว่า เมื่อโสกันต์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ทำเพียงเท่าไรก็ทำเพียงเท่านั้นเถิด ก็มีการแห่เหมือนกัน แต่เปลี่ยนไปโสกันต์และสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท งาน ๔ วันเลิกเหมือนกัน ก็การ ๓ ครั้งนี้มีคนบ่นซุบซิบอยู่มาก ว่าการเป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีเจ้าของ ในพระบวรราชวังแผ่นดินนั้นมีการโสกันต์ ๓ ครั้งแห่เป็นพยุหยาตรา เจ้าที่โสกันต์ ๓ ครั้งก็เป็นแต่พระองค์เจ้ามิใช่เจ้าฟ้า กรมพระราชวัง ฯ นั้นมีพระราชบุตรพระองค์ ๑ แต่พระอัครชายาทรงพระนามพระองค์ดาราวดี เป็นพระราชธิดากรมพระราชวัง ฯ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชบุตรพระองค์นี้ตามศักดิ์ที่มีในกฎหมายอย่างธรรมเนียมก็เป็นเจ้าฟ้า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหาได้โปรดให้เป็นไม่ เรียกพระนามว่า พระองค์เจ้าอิศราพงศ์ๆ นั้นมีพระชนมายุถึงกำหนดโสกันต์ กรมพระราชวัง ฯ สวรรคตก่อนแต่พระองค์เจ้านั้นยังไม่ได้โสกันต์ เมื่อโสกันต์มาโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังด้วย พิธีไม่มีแห่แหนเหมือนพระองค์เจ้าสามัญ ก็มีผู้คนกระซิบกันว่าเป็นอย่างนี้เพราะไม่มีเจ้าของเหมือนกันนั้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับหม่อมเจ้าหญิงธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ ๗ เดือนมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง โปรดปรานมากยิ่งกว่าพระราชบุตร พระราชธิดา พระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนที่ให้เป็น พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ทำท่วงทีเหมือนจะให้เป็นเจ้าฟ้า ด้วยพิธีเมื่อเวลาเลื่อนหม่อมเจ้าให้เป็นพระองค์เจ้านั้น คล้ายกับเมื่อเลื่อนพระองค์เจ้าหญิงให้เป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ครั้นพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระเจริญชนมายุถึงกำหนดโสกันต์ในปีมะเมียอัฐศก ศักราช ๑๒๐๘ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๖ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ คล้ายกับโสกันต์เจ้าฟ้า เป็นแต่ไม่มีเขาไกรลาส ปลูกพระเบญจาที่สรงแลพลับพลาเปลื้องเครื่องบนชาลาพระมหาปราสาทแทน การอื่นๆ ก็เหมือนกันกับเจ้าฟ้า แห่ถึง ๖ วัน เป็นแต่วันที่ ๗ ไม่มีแห่พระเกศา ก็โสกันต์ครั้งนี้อย่าว่าแต่พวกอื่นเลย ถึงพระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้าฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็บ่นว่า พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีมีบุญมากไปกว่าพระองค์เจ้าลูกเธอทั้งปวงอีก การโสกันต์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นเท่านี้ ครั้นล่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีกุนตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๑ จึงพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมใจกันเชิญเสด็จ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ รับพระบรมราชาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง และเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี ให้รับพระบวรราชาภิเษกในพระบวรราชวัง ตามอย่างยศพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์อย่างแต่ก่อน เพราะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ๒ พระองค์นี้ มีพระบารมีเล่าลือชาปรากฏเป็นที่นับถือของคนใกล้แลไกลเป็นอันมาก ด้วยได้มีการลงสรงและโสกันต์เป็นการใหญ่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึง ๓ ครั้งดังกล่าวมาแล้ว แล้วพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันว่า พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีได้เป็นพระองค์เจ้ามียศใหญ่ ได้มีการโสกันต์อย่างเจ้าฟ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามแลเกียรติยศลือชาปรากฏสมควร จึงได้กราบทูลถวายตั้งเป็นสมเด็จพระนางเธอเป็นเจ้าเป็นใหญ่ข้างใน สมเด็จพระนางเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระครรภ์ได้ ๗ เดือนประชวรลง ประสูติพระราชโอรสในกำลังประชวร พระราชโอรสนั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายเรียกพระนามตามพระมารดา ว่าเจ้าฟ้าโสมนัสมีพระชนม์อยู่เพียง ๓ นาฬิกาก็สิ้นพระชนม์เพราะพระกำลังยังอ่อนนัก สมเด็จพระนางเธอนั้นก็ประชวรหนักลงพระอาการหาคลายไม่ สิ้นพระชนม์ภายหลังพระโอรส ๕๐ วัน คือในวันอาทิตย์เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนออกตอเบอรปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๒ ครั้นภายหลังมาพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และเสนาบดีพร้อมใจกันถวายพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ผู้พระธิดาของพระเจ้าลุง ของสมเด็จพระนางเธอซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วนั้น ให้เป็นสมเด็จพระนางเธอสืบฐานันดรนั้นต่อไป

สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ประสูติพระราชบุตรใหญ่พระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ในกลางปีฉลูเบ็ญศก ศักราช ๑๒๑๕ ตรงกับเดือนเสปเตมเบอรคฤศตศักราช ๑๘๕๓ แล้วประสูติพระราชธิดาอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ในปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับเดือนเอปปริล ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๕ แล้วประสูติพระราชบุตรอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี ในปลายปีมะโรงอัฐศก ศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับเดือนยันนุวารีปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๗ แลประสูติพระราชบุตรอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี ในปลายปีมะแมเอกศก ศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับเดือนยันนุวารี ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๐ สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์นั้นประชวรพระโรคในพระทรวงมาปีเศษ สิ้นพระชนม์ในเดือน ๑๐ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนเสปเตมเบอร คฤศตศักราช ๑๘๖๒ แล้วสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลก็สิ้นพระชนม์ลงในเดือน ๖ ปีกุนเบญจศก ๑๒๒๕ ตรงกับเดือนเม คฤศตศักราช ๑๘๖๓ ยังคงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์

ก็ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ มีการโสกันต์ในพระบรมราชวังครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาสและการแห่การเล่นใหญ่กว่าปกติแต่ไม่เต็มตำรา การคล้ายกันกับเช่นเคยมีในพระบวรราชวังแต่ก่อนมา ภายหลังแต่ครั้งนั้นมาในพระบวรราชวังเมื่อโสกันต์พระองค์เจ้าคราวใดก็มีการแห่เครื่องสูงกลองชนะทุกครั้ง แต่ทำการนั้นในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ไม่ได้ทำเป็นการใหญ่ไม่ได้ตั้งเขาไกรลาสและมีการเล่นนักดูประชุม ถึงกระนั้นการก็เป็นอย่างลงในการโสกันต์พระองค์เจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ แต่ฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้าลูกเธอที่มีพระชนมายุเจริญจนถึงกำหนดจะโสกันต์ยังหามีไม่ จนถึงปีระกาตรีศก

ครั้นมาเมื่อปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๒ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ พระราชวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีกราบทูลพระกรุณาว่า การพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่เว้นว่างมานานหาได้ทำไม่ถึง ๕๐ ปีเศษมาแล้ว ผู้ที่ได้เคยเห็นการในครั้งก่อนก็มีน้อยตัวแล้ว ถึงได้เห็นจะจำการก็ไม่ถนัด แต่ผู้ที่ไม่ได้เห็นนั้นมากกว่ามาก ขอพระราชทานให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ ในการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเป็นปฐมในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า ครั้งนั้นจึงได้มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ มีกระบวนแห่และมีนางเชิญมยุรฉัตร นางเชิญเครื่อง และนางสระ และการเล่นอื่นๆ แต่ไม่มีเขาไกรลาส และได้มีการพระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎมหาบุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร แทนพระราชพิธีลงสรง แต่ไม่มีพระมณฑปขึ้นแพในที่สรง

การพระราชพิธีทั้งสองนี้ได้มีในเดือน ๔ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๓ เมื่อการพระราชพิธีโสกันต์ได้มีลงเป็นอย่างดังนี้แล้ว ครั้นมาเมื่อปีจอจัตวาศก พระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์ คือพระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระองค์เจ้าหญิงประภัศร มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงได้โปรดให้มีการแห่โสกันต์เป็นการใหญ่อย่างครั้งก่อนอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๓

แลในเดือน ๔ ปีจอจัตวาศกนั้น ในพระบวรราชวังได้มีการโสกันต์พระองค์เจ้าอีกครั้งหนึ่งเป็นการใหญ่ มีการแห่และการเล่นแลเขาไกรลาสน้อย คล้ายกับเมื่อปีชวดจัตวาศกโน้นแล

ภายหลังมาเมื่อปีชวดฉศก พระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ คือพระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงทรงพระราชดำริว่า ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชาธิเบศรมหาราชปราสาททอง ได้มีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอิน ณที่ประทับ เกาะบ้านเลนเป็นอย่างมา ก็ครั้งนี้พระราชวังที่ประทับเป็นที่ประพาสก็มีหลายตำบล จึงโปรดให้มีการแห่โสกันต์เป็นการใหญ่อย่างครั้งก่อน ที่พระนครคิรีณเมืองเพ็ชรบุรี ตามอย่างซึ่งเคยมีในโบราณนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ปีชวดฉศก ศักราช๑๒๒๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๔

เมื่อว่าการตามเหตุที่ควร พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าซึ่งมิใช่เจ้าฟ้าก็ไม่ควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบวรราชวังได้มีการแห่โสกันต์พระองค์เจ้าเกินธรรมเนียมเก่า ๒ ครั้ง ๓ ครั้งมาแล้ว และในแผ่นดินปัจจุบันนี้ในพระบวรราชวังก็มีการเกินธรรมเนียมเก่านำหน้าเป็นอย่างมาก่อนถึง ๒ ครั้งแล้ว ฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจึงต้องทำตามไป การเป็นทั้งนี้ก็เพราะการโสกันต์เป็นการใหญ่ไม่ได้มีมานานแล้ว ผู้จะใคร่ดูมีมากและจะคอยเวลาภายหน้าก็ไม่ไว้ใจการว่าจะเป็นแน่ที่จะได้ดู จึงกราบทูลขอให้ทำขึ้น

บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระองค์ใหญ่มีพระชนมายุได้เต็ม ๑๒ ปีแต่ปีประสูติ ถึงกำหนดเวลาควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่ ด้วยได้พระราชทานพระอิสสริยยศต่างๆ เสมออย่างพระองค์ ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทุกประการแล้ว ครั้งนี้จึงควรให้มีการพระราชพิธีโสกันต์เป็นการใหญ่เต็มตามตำรา ซึ่งมีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๒ ครั้งนั้น เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างไปภายหน้า ท่านผู้ที่จ้างเกณฑ์รับราชการใดๆ ในบัดนี้จงมีความยินดีคิดฉลองพระเดชพระคุณทุกท่านทุกนายให้เต็มตามกำลังเทอญ

คัดจากประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ลงวันพฤหัสบดีเดือนยี่ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก (พ.ศ. ๒๔๐๘)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ