จดหมายเหตุ

วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๔ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จบรมธรรมิกมหาราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิสรราช บรมนาถบรมบพิตร์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณพระที่นั่งบุษบกมาลา มหาจักรพรรดิพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยเสวกามาตย์โหราราชปุโรหิตเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยอันดับ จึงพระยาราชนิกูลนิตยภักดีพิริยพาหะกราบทูลพระกรุณาว่า พระยาสังคโลก พระยานราธิราช เมืองโพธิสัตว์ แต่งให้พระมโนปัญญา นายเหม็น ถือหนังสือบอกเข้ามา ว่าขุนเพ็ชรเสนาแต่งให้นายหมกหมอ นายคงควานกับหมอควานมีชื่อ ๖ คน ช้างต่อพลาย ๒ พัง ๒ รวม ๔ ช้าง ไปเที่ยวแทรกคล้องช้างณเขาตะภ้อปลายน้ำเมืองโพธิสัตว์ ครั้นณวันศุกร เดือนอ้าย ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีวอกจัตวาศก นายหมกหมอนายคงควานพบช้างฝูงประมาณ ๑๐๐ เศษ จึงขี่ช้างต่อเข้าไปดู เห็นช้างพลายสีประหลาดช้างหนึ่งอยู่ในฝูง นายหมกหมอคล้องถูกจับได้ เวลาเช้าประมาณ ๓ โมงเศษ แล้วนำลงมาถึงบ้านเกาะกันลอง เมืองโพธิสัตว์ วันศุกร เดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พระยาสังคโลก พระยานราธิราช กับพระยา พระเขมรออกไปพิเคราะห์ดูเห็นสีประหลาด จึงพระยาสังคโลก พระยานราธิราช วัดศอกนิ้วได้สูง ๒ ศอกคืบ ๘ นิ้วกึ่ง เล็บขาวบริสุทธิ สีตัวเปนสีบัวโรยงายาวพ้นสนับงา ๓ นิ้ว รูปพรรณสมควร พระยาสังคโลก พระยานราธิราช ให้นิมนต์พระสงฆ์ ๒๐ รูปก่อพระเจดีย์ทรายฉลอง ๗ วัน แล้วเกณฑ์คน ๕๐๐ คนไปตั้งกองอยู่รักษาทั้งกลางวันกลางคืน กำหนดจะได้นำช้างสำคัญเข้ามาเมืองโพธิสัตว์ ณวันเสาร์ เดือนอ้าย แรมค่ำหนึ่ง ปีวอกจัตวาศก ระยะทางแต่บ้านเกาะกันลองลงมากว่าจะถึงเมืองโพธิสัตว์ประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ กำหนดเดิน ๕ คืนจึงจะถึง พระยาสังคโลก พระยานราธิราช จึงแต่งให้พระมโนปัญญา นายเหม็นกับไพร่ ๑๐ คนคุมเอาไม้ศอกนิ้วกับอย่างงาช้างขนช้างสำคัญเข้ามาแจ้งราชการ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผู้ถือหนังสือบอก คือ พระมโนปัญญาเสื้อมังกรตัว ๑ นายเหม็นเสื้อแพรสีตัว ๑ แล้วมีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชวังเมือง เจ้ากรมข้างซ้าย ๑ นายทรงบาศชวา ๑ ขุนหมื่น ๘ รวมกรมช้าง ๑๐ พระราชรินทร เจ้ากรมพระตำรวจ ๑ จมื่นทิพเสนา ปลัดกรม ๑ รวมกรมพระตำรวจ ๒ หมื่นเทวานิมิตช่างปั้น ๑ รวมข้าราชการพระราชวังหลวง ๑๓ กับหลวงอินทรคชลักษณ กรมช้างกรมพระราชวังบวร ฯ อีก ๑ เปน ๑๔ คน ช้างพลาย ช้างพังรวม ๒๐ กับไพร ๑๐๐ เศษออกไปรับช้างสำคัญ และคุมเอาสิ่งของออกไปพระราชทานนายหมกหมอ เสื้อกระบวนจีนผุดทองผืน ๑ ผ้าปูมผืน ๑ ผ้าดำปักผืน ๑ แพรหงอนไก่ขาวผืน ๑ นายคงควาน เสื้อกระบวนจีนผุดทองผืน ๑ ผ้าเชิงปูมผืน ๑ ผ้าดำปักผืน ๑ แพรหงอนไก่ขาวผืน ๑ แต่จมื่นทิพเสนา นายทรงบาศขวา ให้กลับเข้ามาแจ้งราชการ

วันจันทร์ เดือนยี่แรม ๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก หลวงวิจิตรสงคราม ผู้ช่วยราชการเมืองฉะเชิงเทรา ออกไปสืบราชการเมืองไซ่ง่อนกลับเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณา ว่าได้ไปดูช้างสำคัญณเมืองโพธิสัตว์เห็นสีตัวดีกว่าพระเทพกุญชร

จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯสั่งว่า ทางที่จะนำช้างเผือกผู้เข้ามาแต่เมืองปัตตะบองกว่าจะถึงเมืองประจิมนั้นยังคับแคบลุ่มดอนอยู่ไม่ราบเสมอดี จึงให้มีตราพระราชสีห์ออกไปเมืองปัตตะบอง ให้พระยาอภัยภูเบศร์แต่งพระยา พระเขมรคุมไพร่พอสมควรมาทำทางปลูกโรง เปนระยะกันกว่าจะถึงด่านพระจาฤกแล้วให้เกณฑ์คนป้องกันช้างเผือกผู้เข้ามาส่งกว่าจะถึง แล้วให้มีตราพระราชสีห์ขึ้นไปเมืองสระบุรี ให้พระพิพิธเดชะ พระยาสระบุรี พระยารัตนากาศ พระยาศรีราชวงศ เกณฑ์เลขลาวพุงขาวลาวพุงดำ ๕๐๐ คน ให้มีมีดพร้าจอบเสียมทุกตัวคน แล้วเกณฑ์นายหมวกคุมไพร่ส่งให้พระยาท้ายน้ำ พระยารามกำแหง ออกไปทำทางบรรจบกันกับพระยาอภัยภูเบศร์ แต่ด่านพระจาฤกถึงเมืองประจิม ทาง ๓๐๐-๔๐๐ เส้นให้มีโรงพักแห่งหนึ่ง แล้วให้พระยาพิชัยสงคราม พระยาสระบุรี คุมไพร่ ๕๐๐ คนออกไปทำทางบรรจบกันกับพระยาท้ายน้ำ พระยารามกำแหงแต่เมืองประจิมมาถึงบ่อโพงกรุงเก่า ทาง ๓๐๐-๔๐๐ เส้นให้มีโรงพักแห่งหนึ่ง แลมีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าเมืองกรมการกรุงเก่าสระบุรี จัดม้าให้หลวงวิสูตรหัศดร ๑ พันทอง ๑ ขุนพรหม ๑ หมื่นแก้ว ๑ หมื่นแสน ๑ รวม ๕ กับนายม้าอีก ๒ เปน ๗ คน ออกไปเร่งให้พระราชวังเมือง พระราชรินทร หลวงอินทรคชลักษณ ยกช้างเผือกผู้เข้ามาให้ถึงบ่อโพงกรุงเก่าโดยเร็ว

วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พระราชวังเมือง พระราชรินทร หลวงอินทรคชลักษณ บอกเข้ามาว่า วันจันทร เดือนยี่ แรม ๙ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พบพระยาวิเศษสุนทร พระยาสังคโลก พระยาราชนายก ขุนหมื่นมีชื่อ คุมช้างเผือกผู้ยกออกจากเมืองปัตตะบองถึงสมอกำบอ ทาง ๒๐๐ เส้น ข้าพเจ้าพร้อมกันพิเคราะห์ดูเห็นเปนพระยาช้างเผือกแท้ ได้วัดชันสูตรศอกนิ้วสูง ๒ ศอกคืบ ๑๑ นิ้ว หูหางสรรพ เล็บครบ ๑๘ รูปพรรณงาม จำนวนคนป้องกันมากับพระยาช้างเผือกผู้ ข้าหลวง ๑๐๐ ช้าง ๒๐ คนเมืองปัตตะบอง ๓๐๐ ช้าง ๑๕ คนเมืองโพธิสัตว์ ๒๑๔ ช้าง ๒๔ รวมทั้งสิ้นคน ๖๑๔ ช้าง ๕๙ แล้วข้าพเจ้า พระราชวังเมือง พระราชรินทร หลวงอินทรคชลักษณ ข้าหลวง พระยาสังคโลกเมือง โพธิสัตว์ พระยาวิเศษสงคราม พระยาราชนายก นายจงบุตรพระยาอภัยภูเบศร์เมืองปัตตะบอง พร้อมกันทำหลังคาผ้าขาว ชั้นในเพดานผ้าขาวมีระบายลงยันต์ แล้วตั้งเปนกระบวนแห่พระยาช้างเผือกผู้มากลางทาง หน้า ธง ๒ คัน ปืนคาบศิลาและคาบชุด ๓๐ คู่ ตะบอง ๑๐ คู่ ทวน ๔๐ คู่ ดาบสพายแล่ง ๘ คู่ หลัง ปืนคาบศิลาและคาบชุด ๑๐ คู่ กายสพายแล่ง ๗ คู่ ทวน ๑๕ คู่ รวมธง ๒ คัน ปืน ๔๐ คู่ ตะบอง ๑๐ คู่ ทวน ๕๕ คู่ ดาบ ๑๕ คู่ สัปทนคู่ ๑ จามรคู่ ๑ มโหรีปี่พาทย์ฆ้องชัยประโคมมาตามทาง เข้ากัน ๒๔๖ คน แล้วให้หมื่นเทวานิมิตปั้นรูปพระยาช้างเผือกผู้ ให้จมื่นทิพเสนา ๑ นายจบคชประสิทธิทรงบาศขวา ๑ หมื่นเทวานิมิตช่างปั้น ๑ นายเลื่องไตรภพกรมพระราชวังบวรฯ ๑ คุมเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย

วันจันทร เดือนยี่ แรม ๙ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราพระราชสีห์ไปถึงพระยาวิชิตณรงค์ พระยาประจิม ให้พระยาโกษาธิบดี ๑ ขุนหมื่น ๑๑ รวมเปน ๑๒ นายรองอีก ๕ รวมเปน ๑๗ ไพร่ ๓๐๐ รวม ๓๑๗ นาย ขุนรองปลัดเมืองนนท์ ๑ ไพร่ ๒๐ รวม ๒๑ นาย มหาดเล็กนายคุ้มเวรศักดิ ๑ นายทองดีเวรสิทธิ ๑ ไพร่ ๓ รวม ๕ นาย ล้อมวัง ขุนวิชิตณรงค์ ๑ ขุนทิพย์ ๑ นายเถื่อน ๑ ไพร่ ๒๕ รวม ๒๘ นาย ตำรวจ หลังขุนวิเศษจัตุรงค์ ๑ ตำรวจใหญ่ จมื่นไชยาภรณ ๑ ไพร่ ๑๐ รวม ๑๒ นาย หมอ พันเรืองหมอยา ๑ พันมาหมอนวด ๑ รวม ๒ นาย หลวงญาณประกาศพราหมณ์ ๑ จึงเปนจำนวนนาย ๒๐ นายรอง ๕ หมอ ๒ ไพร่ ๓๕๘ รวมคนทั้งสิ้น ๓๘๕ คน ปืน ๕๐๐ กระบอก กระสุน ๑,๕๐๐ ลูก ศิลา ๒๕๐ ปาก ดินดำ ๑๘ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ออกไปจัดแจงราชการไว้คอยรับพระยาช้างเผือกผู้ณเมืองประจิมให้พร้อม แล้วให้แต่งขุนหมื่นเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทแจ้งราชการเนือง ๆ

วันศุกร เดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พระยาพิชัยบุรินทรา พระยาพิพัฒนโกษา พระยาอนุรักษ์โยธา พระยาปลัดเมืองโคราช ออกไปราชการเมืองพุทไธเพ็ชรบอกเข้ามาว่า ได้ให้พระยาสังคโลกเมืองโพธิสัตว์ทำทางและปลูกโรงรายทาง และมีหนังสือไปถึงพระยาอภัยภูเบศร์ ให้ลงมาทำทางปลูกโรงรายทางต่อกันกับพระยาสังคโลกจนถึงเมืองปัตตะบอง แล้วได้แต่งให้หลวงวังเมืองโคราช ๑. หมอช้าง ๒ ไพร่ ๕๐ รวม ๕๓ คน กับเขมรเมืองโพธิสัตว์ ๓๐๐ คนป้องกันพิทักษ์รักษาช้างเผือกผู้เข้ามากว่าจะถึงเมืองปัตตะบอง

วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระราชสีห์ขึ้นไปให้พระยาศรีสุนทรกรมการจัดแจงทำทางสถลมารค ชลมารค และปลูกพระตำหนักรับเสด็จ ปลูกโรงพระยาช้างเผือกผู้ โรงพระราชพิธี และตั้งโขลนทวารที่วัดเสด็จแห่งหนึ่ง บ่อโพงแห่งหนึ่ง และพระยาช้างเผือกผู้ให้เกณฑ์เอาเลขแขกกองกระเบื้อง เลขลาวพุงขาวลาวลุงดำ เลขกรมช้าง ช่วยระดมทำการให้แล้วทันกำหนด แล้วมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาศรีธรมาธิราช ขึ้นไปจัดแจงการณบ่อโพงกรุงเก่า แล้วมีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ สั่งให้พระยาจ่าแสนยากร พระยากระลาโหมราชเสนา พระยาเกษตรรักษา ขึ้นไปช่วยพระยาศรีสุนทร กรมการกรุงเก่า

วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราพระราชสีห์ขึ้นไปถึงพระยาศรีสุนทรกรมการกรุงเก่า ว่าถ้าพระยาช้างเผือกผู้มาถึงเข้าโรงสมโภชบ่อโพงวันใด ให้ตั้งวงด้วยอาราธนาพระสงฆ์เจริญพระปริตวันละ ๑๐ แล้วให้เอาน้ำพระพุทธมนต์รดพระยาช้างเผือกผู้ และถวายสำรับของคาวหวานทุกวันครบ ๓ วัน แล้วให้ถวายสะบงองค์ละผืนกว่าพระยาช้างเผือกผู้จะได้ลงแพ ให้หมื่นสุเรนทร หมื่นนนท์ หมื่นพรหม คลังพระศุภรัตคุมผ้าสะบง ๗๐ ผืน ให้นายมหาคชรัตน์กรมช้าง คุมเงิน ๗ ตำลึงกับสำรับของคาวหวาน ขึ้นไปส่งให้พระยาศรีสุนทร กรมการกรุงเก่า

วันจันทร เดือนยี่ แรม ๙ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ได้นำพระยาช้างเผือกผู้เดินออกจากเมืองปัตตะบอง มาถึงด่านพระจาฤกทาง ๓,๖๔๐ เส้น

วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ยกจากด่านพระจาฤก มาถึงเมืองนครนายกทาง ๓,๗๐๒ เส้น พระยาโกษาธิบดี ข้าหลวงมีชื่อ พระยานครนายก กรมการปลูกโรงพักและโรงพระราชพิธีตั้งโขลนทวารรับ แล้วพระหมอเถ้าเบิกป่าลาไพรปล่อยนกปล่อยไก่เสียไพรควาดเคราะห์ แล้วนำพระยาช้างเผือกผู้เข้าอยู่โรงพัก นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรน้ำบาตรทรายทำขวัญเวียนเทียนพระยาช้าง เวลาค่ำพระหมอเถ้าอ่านดุษฎีกล่อมประโลม

วันศุกร เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ยกจากเมืองนครนายก มาถึงบ้านระบัวทาง ๑,๗๒๕ เส้น พักอยู่คืนหนึ่ง

วันจันทร เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ เจ้าพระยาศรีธรมาธิราช กับพระยาจ่าแสนยากร พระยากระลาโหมราชเสนา พระยาเกษตรรักษา ฝ่ายพระราชวังบวร ฯ อีก ๓ พระยาศรีสุนทร กรมการกรุงเก่า พร้อมกันออกไปรับพระยาช้างเผือกผู้ณบ้านระบัว มาเข้าโรงพักวัดเสด็จ ทาง ๒๑๓ เส้น เวลาเช้า ๒ โมงเศษ พระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ณโรงพัก ๆ กว้าง ๙ ศอก ๕ นิ้ว ในประธาน ๓ ห้อง ยาว ๓ วา ๓ ศอก ๕ นิ้ว เฉลียงรอบ โรงชำระยาว ๕ ศอกคืบ ขื่อกว้าง ๕ ศอก เพดานชั้นในลงยันต์ รวม ๒ โรง พระยากระลาโหมราชเสนา ๑ พระรามรงค์ ๑ขุนวิชิต ๑ ขุนจงใจภพ ๑ รวมนาย ๔ คน ไพร่สม ๑๘ ไพร่ลาวพุงขาว ๓๐ ไพร่ลาวลุงดำ ๑๔ รวมไพร่ ๖๒ คน รวมทั้งสิ้น ๖๖ คน เปนผู้ทำ คิดระยะทางแต่เมืองโพธิสัตว์มาถึงด่านพระจาฤกทาง ๓,๖๔๐ เส้น แต่ด่านพระจาฤกมาถึงเมืองนครนายกทาง ๓,๗๐๒ เส้น แต่เมืองนครนายกมาถึงบ้านระบัวทาง ๑,๗๒๕ เส้น แต่บ้านระบัวถึงวัดเสด็จ ทาง ๒๑๓ เส้น แต่วัดเสด็จมาถึงบ่อโพงกรุงเก่าทาง ๗๓ เส้น สิริทางแต่เมืองโพธิสัตว์ถึงบ่อโพงกรุงเก่าทาง ๑๑,๓๓๔ เส้น เดิน ๒๖ วัน แรม ๒๖ คืนจึงถึง

วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทับ เอาเงินขึ้นไปพระราชทานนายหมกหมอ นายคงควาน ๒ คน ๑ ชั่ง นายไพร่ผู้ทำทาง ๑,๑๖๑ คน ๑๐ ซึ่ง รวมเงิน ๑๑ ชั่ง ณโรงพักวัดเสด็จครั้งหนึ่ง

ณวันพุธ เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก พระหมอเถ้าตั้งราชพิธีธนญชัยบาศ โรงพระราชพิธี ๒ ห้อง ขื่อ ๓ ศอกคืบ ยาว ๘ ศอกคืบ เดี่ยว ๓ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว เฉลียงกว้าง ๔ ศอกทั้ง ๔ ด้าน ในประธานผูกม่านรอบใน พื้นในประธาน ๒ ศอก เฉลียงศอกคืบทั้ง ๔ ด้าน รั้วไก่สูง ๒ ศอกรอบโรงพิธี สถลทินกว้าง ๑ ศอก สูง ๑ ศอก ยาว ๕ ศอก กระยาสังแวงหุงเข้าเภาอยู่ทิศบูรพ์เพดานผ้าขาว กระยาคชวางเชือกบาศ อยู่ทิศประจิมเพดานผ้าขาว สถลทินกว้าง ๑ ศอก สูง ๑ ศอก ยาว ๑ ศอก ธรรมาสน์พระกว้างยาว ๑ ศอกจัตุรัส สูง ๒ ศอก พนักตาแชลง ๓ ด้าน ผ้าขาวรองพระ ผ้าขาวพนัก เพดานผ้าขาว อยู่ทิศอุดรแห่ง ๑ ทักษิณแห่ง ๑ ตรงกัน ศาลกลีสูงเพียงตากว้างยาว ๑ ศอก ผ้าขาวรองศาล ผ้าขาวเพดาน ผ้าขาววงศาล อยู่ทิศอาคเน สถลทินอันหนึ่งกว้าง ๑ ศอก ยาว ๕ ศอกไม่มีพื้นก่อแท่นกลมสูง ๗ นิ้ว ๒ แท่น ปลูกหญ้าคาแท่นละกอ เพดานผ้าขาว อยู่ทิศประจิม จักรใหญ่ ๔ ทิศ จักรน้อย ๓๐ ครุยแฝก ๒๔ อยู่ตามรั้วไก่ บูชาท้าวจัตุโลกบาลด้วยเป็ดต้มไก่ต้ม แลสิ่งของ คือทองคำทำรูปเต่าตัวหนึ่งหนักสองสลึงเฟื้องใส่เตากุณฑ์ เงินควาดช้าง ๑ ตำลึง เงินทำมะกรูด ๑ ตำลึง เงินใส่หม้อน้ำมนต์บาทเฟื้อง เงินบูชาท้าวจัตุโลกบาล ๓ บาท เงินทักขิณาบูชา ๑ ตำลึง ๒ บาท เงินผู้หุงเข้าเภา ๑ บาทสองสลึง รวมเงิน ๔ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึงเฟื้อง เทียน เทียนชัยหนักเล่มละ ๒ บาท ๓ เล่ม เทียนอวิสูตรหนักเล่มละ ๓ สลึง ๓๐ เล่ม เทียนชะนวนเชิงธูปหนักเล่มละ ๒ สลึง ๗๒ เล่ม เทียนวาลุกะหนักเล่มละสลึง ๑๙ เล่ม เทียนรายบัตรหนักเฟื้อง ๙๐ เล่ม เทียนรายกะออมหนัก ๒ สลึง ๒๗ เล่ม รวม ๔๐๒ เล่ม ธูปเล็ก ๓๐๐ ดอก ผ้าลายทำธงผืน ๑ ผ้าขาวทำเพดานสถลทิน ๔ โขลนทวาร ๔ ผ้าขาวเพดานพระ ๑ รองพระ ๑ ผ้าขาวนพวักเบญจคัพย์ ๒ ผ้าขาวพันกุมภ์หม้อน้ำ ๑๒ ศอก ผืน ๑ ผ้าขาวรองอวิสูตรผู้นั่งทำพิธี ๑ ผ้าขาวปกเพดานศาลกลี ๑ ผ้าขาวพระขัว ๑ ผ้าขาวนุ่ง ๑ ห่ม ๑ ผ้าขาวนุ่งหุงเข้าเภา ๒ ผ้าขาวรองวาลุกะ ๑ ผ้าขาวปกแลรองเชือกต้น ๒ รวมผ้าขาว ๒๓ ผืน รวมทั้งผ้าลายเช่น ๒๔ ด้ายดิบจับสายสิญจน์ ๓ เข็ด กระแชงบังสถลทิน ๔ ผืน เสื่ออ่อนร่องกุณฑ์รองนั่งรองหม้อน้ำ ๕ ผืน สิ่งของที่กล่าวมานี้ พระยาเกษตรรักษา ปลัดวังซ้าย นายวิจารณมนเทียร ฝ่ายพระราชวังบวร ฯ คุมขึ้นไปจ่าย นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่กรมการกรุงเก่าจัดอีก คือนางเลิ้งตักน้ำหุงเข้าเภา ๒ ทนนใส่น้ำมนต์ ๑๒ เชิงกราน ๑ หม้อเข้าหม้อแกง ๒ หม้อน้ำมนต์ตั้งบนเกยประตูป่าซ้ายขวา ๔ รวม ๒๑ มะกรูด ๑๕ ลูก ส้มป่อย ๑๕ ฝักทำน้ำมนต์ นกเขาคู่หนึ่ง ไก่คู่หนึ่งเสียไพรควาดเคราะห์ แป้งเข้าจ้าวทนาน ๑ โรยนพวัก เข้าเปลือกสัด ๑ เข้าสารถุง ๑ กล้วย ๑๕ หวี แตงกวา ๑๐๐ ลูก พลู ๑๐ กำ หมากสง ๑๐๐ ลูก ถั่วเขียวดิบ ๒ ทนาน งาดิบ ๒ ทนาน น้ำมันงา น้ำผึ้ง มะพร้าวมีหางหนูห้าว ๑๕ ลูก อ่อน ๒๗ ลูก ขมิ้นสดห่อหนึ่งบวชมะพร้าว เข้าตอกดอกไม้สิ่งละ ๒ พาน หมากซีกพลูจีบวันละ ๓๐ คำ ถวายพระ ๓ วัน เข้าเหนียวสุก เข้าจ้าวสุก ขนม กล้วยอ้อย ผักซ่าพล่ายำ กระทงเปล่าวันละ ๒๗ ใบ ใส่นพวัก โหมกุณฑ์ หม้อกุมภ์ถวายพระสงฆ์ ๓ วัน เครื่องกระยาบวชวันละ ๓ สำรับ ๓ วัน ๙ สำรับ นมสดวันละ ๒ ทนาน เนยทนาน ๑ โหมกุณฑ์ เป็ดต้ม ไก่ต้มทำด้วยแป้งวันละคู่บูชาท้าวจัตุโลกบาล บายศรีตอง ๓ ชั้นวันละ ๓ สำรับ บูชาพระเชือกนนตรี ๓ วัน ๙ สำรับ บายศรีปากชามทอดเชือก ๕ สำรับ ๒ วัน ฟืนแสม ๙๐ ดุ้นโหมกุณฑ์ ฟืนพุดทรา ๓๐ หุงเข้าเภา ใบไม้ชุบโหม ใบเงิน ใบทอง ใบรัก ใบโพบาย ใบพรรณงู ใบมะม่วง ใบตะงบ ใบหญ้าคา ใบบัวหลวง ใบกระจับ ใบสรรพมอน รวม ๑๑ สิ่ง ๆ ละ ๒ ห่อ บูชายอดไม้ ๗ สิ่ง โพบายทองกวาว ราชพฤกษ์ มะตูม มะเดื่อ เลียบ ไทร สิ่งละ ๗ ยอด

วันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เอาสิ่งของขึ้นไปพระราชทานพระยาช้างเผือกผู้ สัปทน ๔ ตะบอง ๔ ถุงตะเครียว ๑๐ แสร้ด้ามเงิน ๒ โต๊ะทองขาวเท้าช้าง ๒ พระราชทานนายหมกหมอ เสื้ออัตลัดจีน ๑ เสื้อกระบวนจีนไหม ๑ รัตคตสาย ๑ ผ้าขาวดอก ๑ ผ้าขาวบาง ๑ แพรหงอนไก่แดง ๑ ผ้าห่มนอนปักมีซับ ๑ ผ้าเชิงปูม ๑ ผ้าลายถลาง ๑ พระราชทานนายคงควาน เสื้ออัตลัดจีน ๑ เสื้อกระบวนจีน ๑ รัตคตสาย ๑ ผ้าขาวดอก ๑ ผ้าขาวบาง ๑ แพรหงอนไก่แดง ๑ ผ้าห่มนอนปักมีซับ ๑ ผ้าหางกะรอก ๑ ผ้าลายถลาง ๑ พระราชทานพระยาสังคโลก เสื้อเข้มขาบดอกเล็ก ๑ ผ้าห่มนอนปักทอง ๑ แพรหงอนไก่มีดวง ๑ แพรหงอนไก่หาดวงมิได้ ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าขาวบางเนื้อดี ๑ ณโรงพักวัดเสด็จอีกครั้งหนึ่ง

ครั้นเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ เจ้าพระยาศรีธรมาธิราช พระราชวังเมือง ขุนหมื่นนายท้ายช้าง พร้อมกันทำพระราชพิธีทอดเชือกหน้าโรงพระราชพิธีในรั้วไก่

วันศุกร เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาเช้าทำพระราชพิธีดามเชือก ครั้นเวลา ๓ โมง ๖ บาท เชิญพระยาช้างเผือกผู้ออกจากโรงพักมาเข้าประตูป่า ๆ กว้าง ๕ ศอก สูง ๙ ศอก ๕ นิ้ว ปลายเสาโขลงมีอุณาเทวาพรหมโองการหูช้างข้างละ ๔ ศอกคืบ เสมาข้างละ ๙ ใบ เสาเมดข้างละเมด ผ้าขาวหุ้มเสาและห้อยหู ๔ ผืน ตาชะแลงล้อมโรงพิธีและล้อมแท่นจับเชิงสูง ๒ ศอกคืบ สามทิศ ๆ บูรพ์ยาว ๑๒ วา ทิศอุดรยาว ๑๑ วา ทิศทักษิณยาว ๑๓ วา มีเกยซ้ายขวาอยู่นอกประตูโขลง สำหรับพระหมอเถ้ารดน้ำ กรมการเอาบายศรีตองซ้ายขวามาตั้ง พระหมอเถ้าเบิกไพร ปล่อยนกคู่ ๑ ไก่คู่ ๑ ควาดเคราะห์ และนำพระยาช้างเผือกผู้มาขึ้นแท่นที่จับเชิง แท่นกว้าง ๓ ศอกคืบ ๑ นิ้ว ยาว ๕ ศอก มีตลุง หน้าสูง ๔ ศอกคืบ หลังสูง ๓ ศอก กว้าง ๕ ศอกคืบ ๙ นิ้ว เบญพาษหุ้มผ้าขาว มีเพดานผ้าขาวสูง ๖ ศอกคืบ

ครั้นได้ฤกษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ เจ้าพระยาศรีธรมาธิราช กับข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร ฯ คือ พระยาจ่าแสนยากร พระยากระลาโหมราชเสนา พระยาเกษตรรักษา พระคชภักดี พระศรีภวังค์ หลวงอินทรคชลักษณ์ กับข้าราชการฝ่ายพระราชวังหลวง คือพระราชวังเมือง ขุนหมื่นนายท้ายช้าง พระยาศรีสุนทร พระปลัด และพระยาสังคโลกเขมร พระยาวิเศษเขมร พร้อมกันให้หลวงสิทธิชัย พระหมอเถ้าพราหมณ์ ขุนจำนงหมอเถ้ากับขุนพรหมหมอจ่าไทย จับเชิงพระยาช้างเผือกผู้สอดทรงท้าวซ้ายขวา พาดตราก โอบข้อ และประโคมแตรสังข์ปี่พาทย์ฆ้องชัยทุกครั้ง

ครั้นจับเชิงแล้วเวลา ๓ โมงเช้า ๙ บาท เชิญพระยาช้างเผือกผู้ออกจากแท่นที่จับเชิง ตั้งเปนกระบวนแห่ หน้ากลองแขก ๓ สำรับ ๙ กลองชนะ ๑๐ คู่ ๒๒ ปืนเขมร ๒๐ คู่ ๔๐ ทวนเขมร ๒๐ คู่ ๔๐ ธงตะขาบ ๗ คู่ ๑๔ ธงมังกร ๗๕ คู่ ๑๕๐ ปี่พาทย์ ๓ สำรับ มลายู กลอง ๒ รำ ๖ เปน ๘ สัปทนขาว ๒ สัปทนแฉก ๒ เปน ๔ จามร ๒ ตะบอง ๒ รวมหน้า ๓๐๕ หลัง สัปทนแฉก ๒ ตะบอง ๒ แสร้หางม้าด้ามเงิน ๒ โต๊ะกล้วย ๑ โต๊ะอ้อย ๑ โต๊ะหญ้า ๑ เปน ๓ ธงมังกร ๓๐ คู่ ๖๐ ปี่พาทย์ ๓ สำรับ ๑๒ เพลงปรบไก่ ๑๐ รวม ๙๑ หามเพดาน ๒๔ ปี่พาทย์ ๒๔ กลองแขก ๑๒ เปน ๖๐ ขี่ช้าง ๒๕๓ สารวัด ๕ รวม ๓๑๙ ช้างพระประน้ำมนต์ ๖ ช้างเกณฑ์แห่ ๑๑๖ ช้างเชือกตามพระยาช้าง ๔ ช้างต่อพระยาช้างพัง ๒ รวม ๑๒๘ รวมทั้งสิ้น ๗๑๕ ลงมาแต่วัดเสด็จถึงบ่อโพงทาง ๓๗ เส้น มีราชวัตรฉัตรดาษ ๒ ข้างถนน ขวา ราชวัตร ๔๒ แผ่น ฉัตร ๔๒ คัน ซ้าย ราชวัตร ๔๒ แผ่น ฉัตร ๔๒ คัน รวมราชวัตร ๘๔ ของพระยาจ่าแสนยากร ฉัตร ๘๔ ของพระยากระลาโหมราชเสนา เกณฑ์ขุนหมื่นและลาวพุงขาวลาวพุงดำทั้ง ๒ ราย ครั้นพระยาช้างเผือกผู้มาถึงประตูป่าบ่อโพง กรมการเอาบายศรีตอง ๓ ชั้นมาตั้งซ้ายขวา พระหมอเถ้าเบิกไพร่ ปล่อยนกคู่ ๑ ไก่คู่ ๑ ควาดเคราะห์ประน้ำมนต์ แล้วนำพระยาช้างเผือกผู้เข้าอยู่โรงสมโภชบ่อโพง

โรงสมโภชนั้นในประธาน ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เฉลียงในรอบเครื่องไม้ไผ่เสาในประธานไม้สักยาว ๓ วา ๓ ศอก ลงดิน ๒ ศอกคืบ เดี่ยว ๑๐ ศอก ๕ นิ้ว หุ้มผ้าขาว ขื่อ ๑๑ ศอกทาขาว เฉลียงรอบด้านละ ๕ ศอกคืบ เสาไม้พญาเลย ยกพื้นสูง ๑ ศอก ๕ นิ้ว กว้าง ๔ ศอก หว่างเสาในประธานศอกคืบ มีประตูมุข ๔ ทิศ สูง ๖ ศอกคืบ ๗ นิ้ว กว้าง ๔ ศอกคืบ ๔ นิ้ว ทาขาว ตลุงหน้า ๗ ศอกคืบ ๖ นิ้ว ลงดิน ๒ ศอกคืบ ๑๑ นิ้ว อยู่บนดิน ๕ ศอก ๕ นิ้ว ตลุงหลัง ๕ ศอก ๙ นิ้ว ลงดิน ๒ ศอก ๑๑ นิ้ว อยู่บนดิน ๓ ศอก ๑๑ นิ้ว หุ้มผ้าขาวทั้ง ๒ ตลุง เม็ดปิดทองคำเปลว เบญพาษสูง ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว หุ้มผ้าขาว แท่นสูง ๑๓ นิ้ว ยาว ๔ ศอกคืบ ๗ นิ้ว กว้าง ๓ ศอก ๓ นิ้ว ทาขาวล้วน จั่วในประธาน จั่วมุขปิดทอง น้ำตะกูเขียนเส้นหมีก ช่อฟ้าหางหงส์ปิดทองน้ำตะกู เพดานในประธานแผงทาขาว แม่ลายดาวเดือนปิดทองน้ำตะกูเขียนเส้นหมึก เพดานเฉลียงดาษผ้าขาวรอบ แผงบังสาดทาขาว แม่ลายปิดทองน้ำตะกูเขียนเส้นหมีก บานประตูปิดทองน้ำตะกูเขียนเสี้ยวกาง แผงพนักสูง ๑๙ นิ้วพื้นแดง ขอบทาขาวเขียว แผงบังหลังเต้าทาขาวเขียว อรหันต์ หลังคามุงทุกแล้วทับแผงทาขาวเขียวแดงสอดสีเปนอินทธนู โคมแก้วแขวนด้านตวันออกห้องละ ๒ ใบ ๓ ห้อง ๖ ใบ ด้านตวันตกห้องละ ๒ ใบ ๓ ห้อง ๖ ใบ รวม ๑๒ ใบ แขวนด้านเหนือ ๒ ใบ ด้านไต้ ๒ ใบ ๔ ใบ รวม ๔ ทิศ ๑๖ ใบ ตะเกียงแก้วติดเสา ๔ ใบ โรงสมโภชที่กล่าวมานี้ พระอร่ามมนเทียร ๑ ขุนหมื่นช่างทหารใน ๖ รวม ๗ กับกรมการ ๘ คือหลวงยุกรบัตร ๑ หมื่นรองวัง ๑ ขุนหมื่น ๖ เปนผู้ทำ

หอพระปริตอยู่ทิศพายัพ ในประธาน ๒ ห้อง ๆ หนึ่งยาว ๔ ศอกคืบ เสาไม้พญาเลยยาว ๙ ศอก ๕ นิ้ว ลงดินศอกคืบ เดี่ยว ๔ ศอกคีบ พื้น ๓ ศอก ๕ นิ้ว ชานกว้าง ๒ ศอก ฝาแผงทาขาวรอบ หมื่นแม่นใจนึก กองพระยากระลาโหมราชเสนา ท้าวใจลาวพุงขาวเปนผู้ทำ

โรงอาบน้ำสูง ๕ ศอก ๑๓ นิ้ว ยาว ๖ ศอก กว้าง ๕ ศอก ช่อฟ้าหางหงส์เชิงกลอนปิดทองน้ำตะกู เพดานดาษผ้าขาวปิดดาวเดือนมีระบายช่อห้อยจั่วปิดทองน้ำตะกูเขียนเส้นหมึก อยู่ทิศหรดี พระยาจ่าแสนยากรเปนผู้ทำ

โรงพระราชพิธีพราหมณ์อยู่ทิศบูรพา ในประธาน ๒ ห้อง พื้นสูง ๒ ศอก ยาว ๑๐ ศอก ขื่อ ๕ ศอก เดี่ยว ๔ ศอกคืบ มีเพดานม่านผ้าขาว วงรอบเฉลียงรอบด้านละ ๓ ศอก พื้นสูง ๑ ศอกคืบ สถลทินสูง ๑ ศอก ยาว ๕ ศอก กว้าง ๑ ศอก กระยาสังแวงหุงเข้าเภาอยู่ทิศบูรพ์ กระยาคชวางเชือกบาศอยู่ทิศประจิม เพดานผ้าขาว (ทั้ง ๒ แห่ง ) สถลทินเพลิงสูงกว้างยาว ๑ ศอกเท่ากัน ธรรมาสน์พระกว้าง ๑ ศอก สูง ๒ ศอก พนักตาชะแลง ๓ ด้าน ผ้าขาวรองพระ วงพนัก ดาษเพดานอยู่ทิศอุดรศาล ๑ ทักษิณศาล ๑ รวม ๒ ศาล ศาลกลีสูงเพียงตากว้าง ๑ ศอกจตุรัส ผ้าขาวรองศาล วงศาล เพดาน อยู่ทิศอาคเน ศาลให้เขายร้าน(?)สูงเพียงตากว้าง ๑ ศอกจตุรัส ผ้าขาวรองศาล วงศาลเพดานอยู่ทิศอิสาน จักรใหญ่ ๔ ทิศจักรน้อย ๒๐ ตรุยแฝก ๒๔ อยู่ตามรั้วตาชะแลง บูชาท้าวจตุโลกบาลด้วยเป็ดไก่ สายสิญจน์หญ้าคาวงรอบรั้วไก่ เสาธงผ้าลายอยู่ทิศอาคเนคันหนึ่ง โรงพระราชพิธีพราหมณ์นี้ หมื่นแม่นใจนึกกองพระยากระลาโหมราชเสนา ท้าวใจลาวพุงขาวเปนผู้ทำ

รั้วตาชะแลงล้อมรอบ ๔ ทิศ ๆ บูรพายาว ๑๒ วา ๒ ศอก ทิศประจิมยาว ๑๒ วา ๒ ศอก ทิศอุดรยาว ๑๖ วา ๒ ศอก ทิศทักษิณยาว ๑๖ วา ๒ ศอก ประตูสูง ๙ ศอกคืบกว้าง ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว รัดเกล้าสองชั้นตาชะแลง ช่องกระจกดอกจันทน์ หูช้างตาชะแลงดอกจันทน์ พรหมโองการตาชะลอมเหมือนกันทั้ง ๔ ประตู โรงสมโภชโรงพระราชพิธีหอพระปริต ราชวัตรหูช้างซ้ายขวา ฉัตรผ้าฉัตรกระดาษ ประตูหนึ่งราชวัตร ๔ แผ่น ฉัตรกระดาษ ๕ ชั้นอยู่หูช้างละ ๒ คัน ฉัตรผ้า ๕ ชั้นประดับทองอังกฤษประตูละ ๒ คันรวม ๔ คัน ๔ ประตู ราชวัตร ๑๖ ฉัตรผ้า ๘ ฉัตรกระดาษ ๘ รวม ๑๖ (รั้วตาชะแลงและราชวัตรฉัตรเหล่านี้ พวกที่ทำโรงสมโภชเปนผู้ทำ).

ครั้นเวลาบ่าย พระยาศรีสุนทร กรมการ อาราธนาพระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ แล้วเอาน้ำพระพุทธมนต์รดพระยาช้างเผือกผู้.

วันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาเช้าถวายสำรับ พระสงฆ์ฉันแล้ว พระยาศรีสุนทร กรมการเอาบายศรีตอง ๕ ชั้นมาตั้งทำขวัญเวียนเทียน เวลาบ่ายมีเพลงปรบไก่ เวลาค่ำอาราธนาพระสงฆ์จำเริญพระปริต.

วันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไกรสร เอาสิ่งของขึ้นไปพระราชทานขุนศรีสงครามผู้ฝึกพระยาช้างเผือกผู้ที่โรงสมโภชบ่อโพงกรุงเก่า คือเสื้อมังกรเขียว ๑ แพรหงอนไก่ดวงผืน ๑ ผ้าไหมมุ่งผืน ๑ แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ ให้วัดศอกนิ้วพระยาช้างเผือกผู้ได้สูง ๓ ศอก ๒ นิ้ว แต่พระยาช้างเผือกผู้มาพักอยู่วัดเสด็จ ๔ วัน อยู่บ่อโพง ๑๔ วัน เข้ากัน ๑๘ วัน.

วันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาบ่าย ๔ โมง ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปถึงบ่อโพงกรุงเก่า แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรพระยาช้างเผือกผู้ในโรง เวลาค่ำมีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ สั่งให้มีละคอนผู้หญิงโรง ๑.

วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาค่ำให้มีละคอนผู้หญิงโรง ๑ หนัง ๒ โรง

วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ให้ทำขวัญพระยาช้างเผือกผู้ กรมวังเอาบายศรีทอง ๓ ชั้น บายศรีเงิน ๒ ชั้น บายศรีตอง ๕ ชั้นมาตั้ง ข้าราชการซึ่งไปตามเสด็จและกรมช้างกรมการมานั่งรับแว่นเวียนเทียน แล้วประโคมสังข์แตรปี่พาทย์ฆ้องชัยกลองแขกเวลาเช้าเย็นทุกวัน แล้วพระราชทานนายหมกหมอ เงิน ๗ ตำลึง ผ้าเชิงปูมผืน ๑ เสื้อกระบวนจีนผืน ๑ นายคงควาน เงิน ๕ ตำลึง ผ้าม่วงผืน ๑ เสื้อแพรสีผืน ๑ แล้วมีงานสมโภชพระยาช้างเผือกผู้ครบ ๓ วัน คือมีละคอนผู้หญิงโรง ๑ โขนโรง ๑ หุ่นโรง ๑ ลอดบ่วง ๑ รำแพน ๑ หกคะเมน ๑ ไต่ลวด ๑ นอนหอก ๑ คาบขอน ๑ หกคะเมนข้ามช้าง ๑ ลอดช่วงไฟ ๑ นอนดาบ ๑ มวย ๖ วัน ๘ คู่ ปล้ำ ๓ วัน ๑๓ คู่ หนังคืนละ ๒ โรง กรมการกรุงเก่าให้มีละคอนโรง ๑ ปรบไก่วง ๑ ลาวบ้านอรัญญิกบ้านศาลาลอยทำกรวดลาว ๒๐ กระบอกเล่นบั้งไฟ.

วันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก มีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ สั่งพระยาจ่าแสนยากรให้ถอยแพเข้าไปประทับสพาน ๆ กว้าง ๘ วายาว ๕ วามีคร่าวไม้แก่นข้างละ ๓ คร่าว มีแผงบังตาสูงข้างละ ๔ ศอก ทาขาว เขียนช้างข้างละ ๔ ตัว ปักกิ่งไม้บังไพรทั้ง ๒ ข้าง ขุนรองปลัดกรมการกรุงเก่ากับไพร่ลาวเมืองสระบุรี ๖๐ คนทำ พระอร่ามมนเทียร พระยาศรีสุนทร ถอยแพเข้าประทับสพาน แพเรือนไม้ล่างด้านยาว ๔ วา ๓ ศอก ลูกบวบยาว ๗ วา กินน้ำศอกคืบ พ้นน้ำศอกคืบ ๑๐ นิ้ว ในประธาน ๓ ห้องขื่อ ๘ ศอก เหนือ ๔ ศอก กลาง ๕ ศอก ใต้ ๔ ศอก ๓ ห้องยาว ๓ วา ๑ ศอก เฉลียงรอบกว้าง ๔ ศอกมีมุขประตูทั้ง ๔ ด้าน หลังคามุงจากดาษสีผ้าแดงข้างในประธานและเฉลียง ช่อฟ้าหางหงส์ปิดทองน้ำตะกู จั่วประธานมุขปิดทองน้ำตะกู มีเพดานผ้าขาวระบาย ๒ ชั้นลงยันต์ห้อยตรงพระยาช้างอยู่ ตลุงสูง ๕ ศอกหุ้มผ้าขาวเมดปิดทองคำเปลวไม่มีเบญพาษ แผงบังสาดข้างในทาขาวข้างนอกปิดทองน้ำตะกูตัดเส้นหมึก บานประตูข้างในทาขาว ข้างนอกปิดทองน้ำตะกูเขียนเสี้ยวกาง นอกเฉลียงมีชานรอบ กว้างศอกคืบ มีราชวัตรสูงศอกคืบทาเขียวแดง เมดปิดทองน้ำตะกู คันฉัตรหุ้มผ้าขาว ๕ ชั้นประดับทองอังกฤษ ๑๒ คัน ศาลพระเทวกรรม หลังคาม่านผ้าขาวศาล ๑ สายสิญจน์มียันต์กระดาษ ยันต์ดีบุก วงรอบในประธานแพ พนักงานที่ทำแพและตกแต่ง คือ พระอร่ามมนเทียร ๑ หลวงสถานไพบุลย์เจ้ากรม ๑ หลวงภักดีภิรมย์ ๑ ขุนหมื่น ๑ ซึ่งเปนช่างทหารในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับพระยาศรีสุนทร ๑ หลวงมหาดไทย ๑ หลวงวัง ๑ ขุนหมื่น ๑ กรมการกรุงเก่า กับไพร่แขก ๓๐ ลาว ๔๐ สมกรมการ ๒๐ รวม ๙๐ คนด้วยกัน แต่พระยาช้างเผือกผู้ ออกจากเมืองโพธิสัตว์มาถึงบ่อโพงกรุงเก่าเดินมาและพักอยู่ ๒ เดือน ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโภชอยู่ ๖ วัน เข้ากัน ๒ เดือนกับ ๖ วันจึงได้ลงแพ.

วันศุกร เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาเช้า ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงไปที่แพ มีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ สั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิให้เชิญพระยาช้างเผือกผู้ลงมาแพ ตั้งเปนกระบวนแห่ลงไป.

กระบวนแห่มีฆ้องชัย ๑ สังข์ ๑ แตร ๖ คู่ ปี่พาทย์ ๒ วง กลองชนะ ๑๐ คู่ กลองแขก ๒ สำรับ ธงมังกร ๑๕ คู่ สัปทน ๒ คู่ ตะบอง ๒ คู่ แสร้คู่ ๑ รวม ๘๙ ช้าง ๔ ช้าง คือหมื่นคชกรกับนายคำควานขี่ช้างนำพังหมอน ๑ หมื่นกลางระวางคชไกรกับหมื่นวรหัสดินทรควานขี่ช้างต่อพังทอง ๑ หมื่นสิทธิกรรมกับนายช้างควานขี่ช้างเชือกตามพังตุ้มใหญ่ ๑ หมื่นราชกุญชรกับนายช้างควานขี่ช้างเชือกตามพังตุ้มน้อย ๑ เวลาเช้า ๒ โมง ๔ บาทได้ฤกษ์ หลวงสิทธิชัยถือสังข์ พระหมอเถ้า ขุนสิทธิกรรม์โปรยทรายข้างซ้าย ประแดงราชมุนีโปรยทรายข้างขวา เจ้าพระยาศรีธรมาธิราชเคียงพระยาช้าง พระราชวังเมืองกรมช้างถือกล้วย ขุนศรีสงครามกรมช้างถือเชือก พระยาสังคโลกเจ้าเมืองโพธิสัตว์ถืออ้อย เชิญพระยาช้างเผือกผู้ออกจากโรงสมโภชมาลงแพ ออกประตูทิศอุดรเลี้ยวมาประตูทิศบูรพา พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ประน้ำอยู่บนเกยข้างประตู ๔ องค์ ลงมาถึงต้นสพาน ข้างขวามีเกยพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์อีกองค์หนึ่ง ครั้นพระยาช้างเผือกผู้ลงแพแล้ว สังฆการีอาราธนาพระพุทธรูปห้ามสมุทมาตั้งหน้าพเนดฝ่ายขวาองค์หนึ่ง พระราชาคณะขึ้นไปแต่กรุงเทพฯ ผลัดเปลี่ยนกันสวดพระจตุเวกภาณวารทั้งกลางวันกลางคืนคราวละ ๕ รูป ที่เตียงหน้าแพในเฉลียงฝ่ายขวาผูกม่านทองรอบ แล้วกรมวังกรมพระราชวังบวร ฯ ถวายสำรับคาวหวานเวลาเช้าเพลมาตามทางทุกเวลาจนถึงพระหมอเถ้าเชิญพระเทวกรรม์มาตั้งพเนดฝ่ายซ้าย แล้วมีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญพระกรรภิรมย์มาตั้งในแพ ภูดาษชูเชิญพระเสมาพิบัติอัฏนามหาชัยมหาฤกษ์ หมื่นอำพลเชิญพระฉัตรชัย ภูดาษอู่เชิญพระเกาวภามหามงคลสามองค์มาตั้งที่เสาในประธานหน้าแพ ๒ องค์ หลังองค์ ๑ พระยาศรีสุนทร พระปลัดกรมการกรุงเก่าเอาบายศรีตอง ๕ สำรับ ๔ ชั้นสำรับหนึ่งมาตั้งหน้าพเนด บูชาพระเทวกรรม์ สามชั้น ๔ สำรับตั้ง ๔ มุมแพบูชาท้าวจาตุมหาราช

เวลา ๒ โมง ๕ บาทได้ฤกษ์ มีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ ให้ยาตราแพพระยาช้างเผือกผู้ออกทุกท่าล่องลงมา พระหมอเถ้า ขุนสารพสิทธิ ๑ ขุนสิทธิกรรม์ ๑ ประแดงราชมุนี ๑ ประแดงสิทธิภักดี ๑ รวม ๔ ผลัดเปลี่ยนกันโปรยทรายมาหน้าแพทั้งกลางวันกลางคืน ผู้มากับแพ คือกรมช้างพระราชวังหลวงพระราชวังเมือง ๑ ขุนหมื่นนายท้ายช้าง ๑๐ รวม ๒๑ กรมช้างกรมพระราชวังบวรฯ หลวงอินทรคชลักษณ์ ๑ ทหารในพระอร่ามมนเทียร ๑ ขุนหมื่น ๑ รวม ๒ กรมการกรุงเก่า พระยาศรีสุนทร ๑ พระปลัด ๑ หลวงวัง ๑ รวม ๓ เขมร พระยาสังคโลก ๑ นายหมกหมอผู้ได้ ๑ รวม ๒ แขกคลองตะเคียน นาย ๒ ไพร่ ๒๐ รวม ๒๒ รวมทั้งสิ้น ๕๐ คน แล้วพระยาจ่าแสนยากร พระยากระลาโหมราชเสนา กรมพระราชวังบวร ฯ เกณฑ์เรือดั้ง ๖ คู่ ๑๒ ลำ เรือข้าราชการ ๑๔ คู่ ๒๘ ลำ รวม ๔๐ ลำเข้าชักแพ ๔ แถว ฝีพายใส่เสื้อแดงหมวกแดง มีธงมังกรลำละคันโคมลำละใบ มาถึงบ้านไผ่ พระยาจ่าแสนยากรสั่งให้เจ้าพนักงานเอาฆ้องชัยกับขันนาฬิกามาตั้งที่แพพระยาช้างเผือกผู้ ล่องลงมาถึงหน้าวัดใด พระสงฆ์ตั้งโรงสวดพระพุทธมนต์ส่งทุกหน้าวัด เวลาบ่าย ๓ โมงมาถึงหน้าวัดกระสัง มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ขุนหมื่นตำรวจคุมเรือแง่ซ้ายขึ้นไปช่วยชักแพ ๒ ลำ ญวนแจวใส่เสื้อแดงหมวกแดงธงมังกรปักท้ายลำละ ๒ คัน ย่ำยามแล้ว ๕ บาทถึงขนอนหลวง ขุนอุทัยราชรักษาแขวงเอาบายศรีตอง ๓ ชั้น ๒ สำรับ ศีรษะสุกร ๑ ผ้าขาวผืน ๑ ด้ายดิบ ๓ เข็ด กล้วยโต๊ะ ๑ มาทำขวัญพระยาช้างเผือกผู้.

วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก ย่ำรุ่งแล้ว ๕ บาท มีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ ให้ประทับแพพระยาช้างไว้ณบ้านข้างศีร์ษะเกาะใหญ่ ให้ฝีพายเรือชักหยุดรับพระราชทาน ขุนหมื่นกรมวังกรมพระราชวังบวร ฯ เอาบายศรีทอง บายศรีเงิน กับแว่นมาตั้งแล้วเวียนเทียนทำขวัญพระยาช้าง ขุนด่านบางไทรเอาบายศรีตอง ๓ ชั้นสำรับ ๑ ศีร์ษะสุกร ๑ เงินค่าธรรมเนียม ๑ ตำลึง ผ้าขาวผืน ๑ ขันล้างหน้า ๑ กล้วยโต๊ะ ๑ อ้อยโต๊ะ ๑ มาทำขวัญพระยาช้างเผือกผู้ เวลาเช้า ๓ โมง ๕ บาทมีพระบันทูลโปรดเกล้าฯ ให้ถอยแพพระยาช้างออกจากที่ประทับ น้ำขึ้นเชี่ยวนักชักไม่ไหว จึงมีพระบันทูลโปรดเกล้าฯ สั่งพระอินทราธิบาลเจ้ากรมพระตำรวจ ให้เอาเรือพระที่นั่งกำปั่นลำทรง ๑ เรือครุฑ ๒ เรือหนุมาน ๒ เรือดั้งคู่ชัก ๒ เรือกลอง ๒ รวม ๙ ลำเข้าช่วยชัก เปนกระบวนหน้า เรือศรีเขียนลายรดน้ำที่นั่งทรงลำ ๑ เรือศรีเขียนลายรดน้ำที่นั่งรองลำ ๑ เรือประเทียบข้างในผูกม่านทองดาษศรี ๒ ลำรวม ๔ ลำ เปนกระบวนหลัง ๑๓ ลำ เวลาบ่าย ๓ โมง ๙ บาทถึงหน้าวัดตำหนักสามโคก พระสงฆ์ ๒๗ รูปสวดพระพุทธมนต์อยู่บนศาลาวัด พระไตรสรณธัชะเอาน้ำพระพุทธมนต์มารดพระยาช้างเผือกผู้ กรมการและกำนันตลาดเมืองสามโคกเอาบายศรีตอง ๓ ชั้นสำรับ ๑ เงินค่าธรรมเนียม ๑ ตำลึง กล้วยโต๊ะ ๑ อ้อยโต๊ะ ๑ มาทำขวัญพระยาช้างเผือกผู้ เวลาบ่าย ๕ โมง ๓ บาทเกิดลมแดง มีพระบันทูลโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ประทับแพพระยาช้างหยุดไว้หน้าวัดมะขาม ปากคลองเชิงราก เวลาบ่าย ๕ โมง ๕ บาทลมสงบ มีพระบันทูลโปรดเกล้าฯ ให้ถอยแพพระยาช้างออกจากที่ประทับ เวลา ๘ ทุ่มเข้าคลองปากเตร็จ ขุนด่านเอาบายศรีตอง ๓ ชั้น ๒ สำรับ ศีร์ษะสุกร ๑ เงินค่าธรรมเนียม ๑ ตำลึง มะพร้าวอ่อนปอกแล้ว ๒ โต๊ะ กล้วย ๒ โต๊ะ อ้อย ๒ โต๊ะมาทำขวัญพระยาช้างเผือกผู้ เวลา ๓ ยาม ๖ บาทถึงเมืองนนทบุรี เวลา ๑๐ ทุ่ม ๗ บาทถึงวัดใหม่ตลาดแก้ว มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ประทับแพพระยาช้างเผือกผู้ไว้สมโภช.

วันศุกร เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำปีวอกจัตวาศก เวลา ๓ โมง ๕ บาท ขุนหมื่นกรมวังกรมพระราชวังบวร ฯ เอาบายศรีทอง บายศรีเงิน แว่นเวียนเทียนมาตั้ง กรมการเมืองนนทบุรีเอาบายศรีตอง ๓ ชั้น ๒ สำรับ ศีร์ษะสุกร ๒ ศีร์ษะ เงินค่าธรรมเนียม ๑ ตำลึง ด้ายดิบ ๗ เข็ด กล้วยโต๊ะ ๑ อ้อยโต๊ะ ๑ มาทำขวัญพระยาช้างเผือกผู้ แล้วมีละคอนโรง ๑ ปรบไก่วง ๑ ที่วัดใหม่ เวลาเช้า ๔ โมง ๕ บาท

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับพระยาช้างเผือกผู้ถึงแพ แล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรอยู่บนแพ จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์เรือดั้งและเรือข้าราชการซึ่งตามเสด็จขึ้นไปนั้น เข้าระดมชักแพพระยาช้าง เวลา ๔ โมง ๙ บาทถอยแพออกจากที่ เวลาบ่ายโมง ๑ แพพระยาช้างเผือกผู้ถึงประตูท่าพระ น้ำลงแห้งยังขึ้นมิได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้าพระราชวัง.

และสพานรับพระยาช้างนั้นยาว ๙ วา กว้าง ๓ วามีแผงบังตาทั้งสองข้างผูกต้นกล้วยต้นอ้อยฉัตรกระดาะปักต้นสพาน มีเกยสำหรับพระสงฆ์รดน้ำทั้งสองข้าง พนักงานสี่ตำรวจทำ วิเสทแต่งบายศรีทอง ๕ ชั้น ๒ สำรับมาตั้งที่ต้นสพานซ้ายขวา เชิญพระยาช้างเผือกผู้ขึ้นจากแพ แต่ประตูท่าพระสองข้างถนนขึ้นไปถึงโรงสมโภชท้องสนาม มีฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น ราชวัตรฉัตรกระดาษปักรายทาง กรมพระสัสดีได้เกณฑ์

แล้วหมื่นจ่าศรีนรคชจัดช้างนำ ช้างตาม ช้างเชือก ตั้งเปนกระบวนแห่ลงไปรับ คือพังคูณสูง ๔ ศอกคืบ ๗ นิ้วผูกเครื่องหุ้มแดง นายกเรนทรพัดชากับนายช้างควานประจำ ๑ พังวงสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้วผูกเครื่องหุ้มแดง นายศรีคชแกว่นกับนายช้างควานประจำ ๑ ช้างต้นพังเทพลินลาสูง ๕ ศอก ๑ นิ้วผูกเครื่องหุ้มแดง นายสารใหญ่ซ้ายกับนายช้างควานประจำ ๑ รวม ๓ ช้าง พระอินทรอัยราสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้ว ผูกเครื่องกุดั่นผ้าปกหลังตาข่าย นายจำลองขวากับนายช้างควานประจำ ๑ พระเทพกุญชรสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้วผูกเครื่องกุดั่นผ้าปกหลังตาข่าย นายทรงบาศขวากับนายสวัสดิคชฤทธิควานประจำ ๑ ช้างสายสูทพังหักสูง ๔ ศอก ๑๐ นิ้วผูกเครื่องหุ้มผ้าแดง นายจิตรคชลักษณ์ กับนายช้างควานประจำ ๑ เชือกตามต้นพังเทพประภาสูง ๕ ศอกผูก เครื่องหุ้มผ้าแดงปกเชือก หมื่นศรีสิทธิบาศกับนายช้างควานประจำ ๑ เชือกตามต้นพังบุษบากรสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้วผูกเครื่องหุ้มผ้าแดงปกเชือก หมื่นเทพกุญชรกับนายช้างควานประจำ ๑ รวม ๘ ช้าง พันภานุราช หัวพันมหาดไทยเกณฑ์เครื่องแห่ พระอินทรอัยราสัปทน ๒ คู่ ๔ คน ตะบอง ๒ คู่ ๔ คน ถาดกล้วยคน ๑ ถาดอ้อยคน ๑ ถาดหญ้าคน ๑ รวม ๓ แสร้หางม้า ๒ คู่ ๔ คน รวมเปน ๑๕ พระเทพกุญชรสัปทน ๒ คู่ ๔ คน ตะบอง ๒ คู่ ๔ คน ถากกล้วยคน ๑ ถาดอ้อยคน ๑ ถาดหญ้าคน ๑ รวม ๓ แสร้หางม้า ๒ คู่ ๔ คน รวมเปน ๑๕ แห่พระยาช้างเผือกผู้ หน้า ธง ๕๐ คู่ ๑๐๐ คน เทวดา ๕๐ คู่ ๑๐๐ คน กลอง ชนะ ๔๒ สังข์คู่ ๑ สองคน แตรฝรั่ง ๕ คู่ ๑๐ คน แตรงอน ๑๐ คู่ ๒๐ คน เครื่องสูงสองสำรับ ๓๒ คน พระกรรภิรมย์ ๓ คัน รวมเปน ๓๐๙ คน หลัง เทวดา ๒๕ คู่ ๕๐ คน ธง ๒๕ คู่ ๕๐ คน รวมเปน ๑๐๐ คน รวมหน้าหลัง ๔๐๙ คน รวมทั้งเกณฑ์แห่ด้วย ๔๓๙ คน วิเสทแต่งโต๊ะเงินใส่กล้วย ๑ ใส่อ้อย ๑ รวม ๒ โต๊ะลงมาคอยรับ.

ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง ๔ บาทน้ำขึ้นถึงสพานแพประทับได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงไปรับพระยาช้างเผือกผู้ณประตูท่าพระ ขึ้นจากแพ พระราชาคณะรดน้ำอยู่บนเกยข้างละองค์ แล้วตั้งกระบวนแห่ไปเข้าโรงสมโภช ครั้นถึงโรงสมโภชแล้วเจ้าพนักงารมโหรีปี่พาทย์ฆ้องชัยแตรประโคม.

โรงสมโภชท้องสนาม ในประธานในองค์ ๓ ห้อง มุข ๒ ห้อง เปน ๕ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก มีเฉลียงรอบเครื่องไม้ไผ่ เสาในประธาน ไม้สักยาว ๔ วา ๒ ศอก ลงดิน ๓ ศอก เดี่ยว ๓ วา ๓ ศอก ต้นปลายเสาปรุกระดาษเปนกรวยเชิงประดับ กลางหุ้มผ้าแดง ขื่อ ๓ วา ดั้ง ๕ คืบขาดหลัง เฉลียงกว้าง ๖ ศอก เสายาว ๙ ศอกคืบ ลงดิน ๒ ศอกคืบ เดี่ยว ๗ ศอก ต้นปลายเสาปรุกระดาษเปนกรวยเชิงประดับ กลางหุ้มผ้าแดง เฉลียงยกพื้น ๓ ด้านสูงศอก ๕ นิ้ว พรึงปรุกระดาษประดับแผง ล่องถุนชั้นนอกปิดทองน้ำตะกูปรุกระดาษประดับ ล่องถุนชั้นในปิดทองน้ำตะกูเขียนเส้นชาด พนักปิดทองน้ำตะกูปรุกระดาษดำประดับ หลังคามุงจากดาษผ้าแดงแล้วสอดสีเปนอินท์ธนู จั่วปิดทองน้ำตะกูตัดเส้นหมึก ช่อฟ้าหางหงส์นาคสดุ้งปิดทองน้ำตะกู เพดานในประธานเพดานเฉลียงดาษผ้าขาวปิดทองน้ำตะกูตัดดาวตัดเดือนปิดเชิงกลอน ในประธานข้างในทาแดงข้างนอกปิดทองน้ำตะกู เฉลียงข้างในทาแดงข้างนอกปิดทองน้ำตะกู แผงบังสาดรอยนอกข้างในหุ้มผ้าขาวข้างนอกหุ้มผ้าแดง มีประตูทิศบูรพา ๑ ทิศประจิม ๑ เปน ๒ ประตู บานประตูข้างในปิดกระดาษเงิน บานประตูข้างนอกปิดทองน้ำตะกูเขียนเสี้ยวกาง สายสิญจน์วงรอบในประธานและเฉลียงมียันต์กระดาษปิดแขวนทุกห้อง ม่านทองผูกเสาเฉลียงทุกเสา โคมระย้า ๘ ใบ โคมเขาแพะ ๖ ใบแขวนในประธานทุกห้อง โคมแกว ๒๒ ใบแขวนเฉลียง มีภู่กลิ่นแขวนหว่างโคม ตลุงหน้ายาว ๑๐ ศอกลงดิน ๕ ศอก ตลุงท้ายยาว ๘ ศอก ลงดิน ๔ ศอก หุ้มผ้าขาวทั้งสองเสา เม็ดปิดทองคำเปลว เสาคั่นเบญพาษชั้นบนหน้ายาว ๔ ศอกคืบลงดิน ๒ ศอก ท้ายยาว ๓ ศอกคืบลงดินศอกคืบ เสาคั่นเบญพาษชั้นล่างหน้ายาว ๓ ศอก คืบลงดินศอกคืบ ท้ายยาว ๓ ศอกลงดินสอกคืบ หุ้มผ้าขาวทั้งสองเสา เบญพาษยาว ๖ ศอกหุ้มผ้าขาว เสากงพัดยาว ๑๐ ศอก ลงดิน ๔ ศอก หุ้มผ้าขาว เม็ดปิดทองคำเปลว แท่นยาว ๔ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว กว้าง.... มีเพดานลงยันต์ตัวอักษรเขียนเส้นทองมีระบาย ๒ ชั้น มีภู่กลิ่นทองอังกฤษห้อย รัดเกล้าปิดทองคำเปลว เกย เสา ยาว ๕ ศอกคืบลงดิน ๒ ศอก กว้างศอก ๕ นิ้ว หุ้มผ้าขาวเม็ดปิดทองน้ำตะกู พรึงปิดทองน้ำตะกูปรุกระดาษดำประดับ พนัก ๒ ด้านข้างในปิดกระดาษเงินปรุกระดาษประดับ ข้างนอกปิดทองน้ำตะกู อัฒจันท์ไม้ปิดทองน้ำตะกูตัดเส้นหมีก ราวหุ้มผ้าขาว เสาหุ้มผ้าแดง เม็ดปิดทองน้ำตะกู ราชวัตรทรงเครื่องประดับทองอังกฤษมุมละ ๒ แผ่น ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน ปักมุมละ ๓ คันทั้ง ๔ มุม โคมดอกพิกุลปัก ๔ มุม ราชวัตรฉัตรและโคมเหล่านี้ นายจ่ารง นายเนียม นายฉัตรฉา มหาดเล็กทำ สี่ตำรวจเอามาตั้ง ฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น ราชวัตรทรงเครื่องปักรอบโรงสมโภช กรมพระสัสดีเกณฑ์.

โรงชำระอยู่ข้างป้อมสิงขรขัณฑ์ เสายาว ๙ ศอกคืบ ลงดิน ๒ ศอก เดี่ยว ๗ ศอกคืบ ยอดสูง ๑๑ ศอก ขื่อ ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว สี่เหลี่ยม เครื่องบนเปนยอดเชิงกลอน ๓ ชั้นปิดทองน้ำตะกู มีกระจังปิดทองน้ำตะกู นาคชั้นละ ๔ ตัวทุกชั้น ทวยเสาละ ๓ ตัวทั้ง ๔ เสา หลังคามุงแฝกแล้วดาษผ้าขาวทั้ง ๔ ด้าน ต้นปลายเสาปรุกระดาษเปนกรวยเชิงกลางหุ้มผ้าขาว แท่นยาว ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว กว้าง ๒ ศอกคืบ ๙ นิ้ว ตลุงยาว ๘ ศอกคืบ ๖ นิ้ว หุ้มผ้าขาวเม็ดปิดทองน้ำตะกู ราชวัตรทรงเครื่องประดับทองอังกฤษมุมละ ๒ แผ่น ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน ปักมุมละ ๓ คันทั้ง ๔ มุม ขันเชิงทองขาวใส่น้ำมุมละใบสี่ตำรวจรักษา พล้อเงินตักน้ำคู่หนึ่งกรมช้างรักษา

หอพระเทวกรรม์กว้าง ๑ ศอกจตุรัส สูง ๖ ศอก มีเหมมีบัวกลุ่ม พิน ๒ ชั้น ๆ บนวงผ้าขาวชั้นล่างกรุแผงทาขาว โรงพิธีท้องสนามหลวงและเกยกับโรงชำระที่กล่าวมานี้ พนักงานตำรวจเปนผู้ทำ แล้วหลวงธรรมเสนาอาราธนาพระชัยมาตั้งองค์นึ่ง ขุนศรีสยุมพร เอาหม้อทองหม้อเงินมาตั้งใส่น้ำพระพุทธมนต์ แล้วสังฆการีนิมนต์พระราชาคณะมาสวดพระพุทธมนต์ณโรงสมโภชท้องสนาม แต่ณวันเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ๓๔ รูป แรม ๔ ค่ำ ๓๔ รูป แรม ๕ ค่ำ ๓๓ รูปสิริเปน ๑๐๑ รูป

ครั้นณวันเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำเวลาเช้า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ทุกเวลา ครั้นพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วทรงถวายเครื่องไทยทาน ผ้าสะบงองค์ละผืน กระจาดองค์ละใบ เวลาค่ำหมอเถ้าอ่านดุษฎีกล่อมประโลม หมื่นบำเรอภูบาลขับไม้กล่อมพระยาช้างเผือกผู้ทุกเวลา

วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกโรงสมโภชพระยาช้างเผือกผู้ พระราชทานโต๊ะทองคำปากกว้างศอกเศษใส่กล้วย ๑ ใส่อ้อย ๑ เปน ๒ โต๊ะ ขันเชิงกาไหล่ใส่น้ำใบ ๑ ให้พระยาช้างเผือกผู้รับพระราชทาน แล้วมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ตั้งนายหมกหมอ เปนขุนคเชนทรฉัททันต์ ตั้งนายคงควาน เปนหมื่นหิรัญอัยรา แล้วพระราชทานแก่ขุนคเชนทรฉัททันต์ คือเงินตรา ๕ ชั่ง เสื้ออลิยา เสื้อกระบวนจีนผุดไหม ๑ เสื้อมังกรชมภู ๑ เสื้อมังกรน้ำเงิน ๑ เสื้อริ้วแดง ๑ ผ้านุ่งยกทองพื้นแดงจีน ๑ ผ้านุ่งยกไหมพื้นเขียว ๑ ผ้าไหมแดง ๑ ผ้าไหมน้ำเงิน ๑ ผ้าไหมเกาะ ๑ ผ้าลายฉีกเก้าแขน ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าขาวหนา ๑ ผ้าเช็ดพื้นเขียวผืน ๑ ผ้ามีดวงสีต่างกัน คือขาว ๒ แดง ๑ เขียว ๑ น้ำเงิน ๑ ม่วง ๑ ชมภู ๑ แพรหงอนไก่หาดวงมิได้ ๑ รวมเสื้อ ๕ ผ้าห่ม ๑๐ ผ้านุ่ง ๗ ล่วมเข้มขาบ ๑ ดอกเล็กพื้นแดง ๑ ผ้าพันเข้มขาบดอกใหญ่พื้นดำ ๑ ถาดหมากคนโททองขาวสำรับ ๑ ขันน้ำทองขาวสำรับ ๑ กระโถนทองขาวสำรับ ๑ โต๊ะสามเท้าทองเหลืองถ้วยชามพร้อมสำรับ ๑ มุ่งผ้าขาว ๑ เสื่อคล้าที่นอนฟูกหมอนสำรับ ๑ พัดด้ามจิ้วเล่ม ๑ หีบจีนใส่ผ้าใบ ๑ ปั้นเหน่งเงินถมตะทองสายโหมด ๑ แหวนแมงดา ๒ วง แหวนดอกมะพร้าว ๒ วง แหวนศีร์ษะมรกตวง ๑ แหวนศีร์ษะทับทิมวง ๑ รวมแหวน ๖ วง รวมของพระราชทานทั้งสิ้น ๓๘ สิ่ง

พระราชทานหมื่นหิรัญอัยรา คือเงินตรา ๓ ชั่ง เสื้อแพรอลิยา ๑ เสื้อแพรกระบวนจีนผุดไหม ๑ เสื้อแพรมังกรสีชมภู ๑ ผ้านุ่งยกทองพื้นแดงจีน ๑ ผ้านุ่งเชิงปูม ๑ ผ้านุ่งไหม ๑ ผ้านุ่งลายเกาะ ๑ ผ้านุ่งลายฉีก ๑ เก้าแขน ๑ ผ้าขาวหนา ๑ ผ้าเช็ดพื้นชมภู ๑ ผ้าห่มเขียว ๑ แดง ๑ ผ้าห่มมีดวงสีต่างกันม่วง ๑ ชมภู ๑ ผ้าห่มหงอนไก่ขาว ๒ น้ำเงิน ๑ ผ้าห่มหงอนไก่ขาวไม่มีดวง ๑ รวมเสื้อ ๕ ผ้านุ่ง ๕ ผ้าห่ม ๙ ล่วมเข้มขาบดอกเล็กพื้นแดง ๑ ผ้าพันเข้มขาบดอกใหญ่พื้นดำ ๑ ขันน้ำทองขาว ๑ กระโถนทองขาว ๑ โต๊ะสามเท้าทองเหลือง ๑ มุ้งผ้าขาว ๑ พัดด้ามจิ้ว ๑ ถาดหมากทองขาว ๑ โคนโททองขาว ๑ เสื่อคล้าที่นอนฟูกหมอนสำรับ ๑ หีบจีนใส่ผ้าใบ ๑ ปั้นเหน่งถมตะทองสายโหมด ๑ แหวนแมงดา ๒ วง แหวนดอกมะพร้าว ๑ วง แหวนศีร์ษะมรกตวง ๑ แหวนศีร์ษะทับทิมวง ๑ รวมแหวน ๖ วง

ขุนศรีสงคราม เจ้ากรมพะเนียดและหมื่นคชบาล ผู้ฝึกพระยาเศวตกุญชร พระราชทานผ้าเกี้ยวกับผ้าเชิงปูมคนละ ๒ ผืน รัตคตคนละ ๑ สาย

วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯสั่งว่าพระราชวังเมือง หลวงอินทรคชลักษณได้ไปรับพระยาช้างเผือกผู้เข้ามาแต่เมืองโพธิสัตว์จนถึงกรุงเทพมหานครได้โดยสดวกดีนั้นมีบำเหน็จความชอบ ให้พระราชวังเมือง เปนที่พระยากำแพงรามภักดี สุริยชาติสมุพระคชบาล เจ้ากรมช้างขวา แล้วพระราชทานสมปักปูม ๑ สมปักลาย ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าเกี้ยว ๑ รัตคต ๑ ผ้าขาวหนา ๑ รวม ๖ อย่าง ให้หลวงอินทรคชลักษณ เปนที่พระราชวังเมือง สุริยชาติสมุหพระคชบาลเจ้ากรมช้างซ้าย และพระราชทานสมปักเชิงปูม ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าเกี้ยว ๑ รัตคตสาย ๑ ผ้าขาวหนา ๑ รวม ๕ อย่าง แล้วพระราชทานขุนหมื่นนายท้ายช้าง ซึ่งไปด้วยพระราชวังเมืองและหลวงอินทรคชลักษณ คือขุนอินทราชาเจ้ากรมช้างประเทียบ ๑ นายท้ายช้าง ๓ คือนายทรงบาศขวา ๑ นายจำนองคชเลิศ ๑ นายชำนาญคชประจง ๑ กรมเชือก ๒ คือหมื่นราชสิทธิกรรม์ ๑ พันก้อนแก้ว ๑ หมอเลือก หมอจำเริญจักร ๑ หมอพัตโหนต ๓ คือขุนโรควิชัย ๑ หมื่นเกลื่อนโรคัน ๑ พันอินทรรักษา ๑ กรมพะเนียด ๓ คือหมื่นสารวัดคชรัตน์ ๑ พันจงกริน ๑ พันบำรุงคชคง ๑ ประแดงคเชนทรรักษา ๑ นายเลื่องไตรภาพท้ายช้างกรมพระราชวังบวรฯ ๑ รวม ๑๕ คน พระราชทานเสื้อผ้าคนละสำรับ พระยาสังคโลกเขมรผู้มาด้วยพระยาช้าง ได้รับพระราชทานผ้ายกไหม ๑ ผ้าเกี้ยว ๑ รัตคตสาย ๑ รวม ๓ อย่าง

ณวันจันทร เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ณโรงสมโภชพระยาช้างเผือกผู้ท้องสนามหน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระโหราธิบดีถวายพระฤกษ์จะได้ขนานชื่อพระยาช้างเผือกผู้ เวลาเช้า ๒ โมง ๖ บาท นายเทียรฆราช อาลักษณลงอักษรเปนพระยาเศวตกุญชร บวรพาหนาถ บรมราชจักรพรรดิ มงคลรัตนนาเคนทร์ คเชนทรชาติฉัททันต์ หิรัญรัศมีศรีพระนคร สุนทรลักษณเลิศฟ้า ลงในท่อนอ้อย แล้วพระหมอเถ้าจารึกเทวมนต์ลงในท่อนอ้อย ครั้นได้ฤกษ์ประโคมฆ้องชัยแตรสังข์กลองแขก ตีไม้บัณเฑาะว์มโหรีปี่พาทย์ พระวิเชียรปรีชาราชบัณฑิต รับเอาพานทองรองท่อนอ้อยต่อพระหมอเถ้าเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงรับเอาท่อนอ้อยไปพระราชทานพระยาช้างเผือกผู้ต่อพระหัตถ์ วิเสทแต่งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน มาตั้งทำขวัญพระยาช้าง เมื่อทำขวัญขนานชื่อนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอุทัยธรรม จางวางพระภูษาเอาพระธรรมรงค์มาผูกทำขวัญพระยาช้างทั้ง ๔ เวลา แล้วขุนทินบรรณาการ ขุนทานกำนัล เอาต้นไม้ทองสองต้น เงินสองต้น สูงต้นละ ๔ ศอกมาตั้ง ครั้นเวลาบ่ายวิเสทแต่งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน วันละ ๓ สำรับ ธูปเทียนเครื่องสำหรับบายศรีพร้อมมาตั้ง ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนนุ่งสมปักลายใส่เสื้อครุยขาว มานั่งรับแว่นเวียนเทียนทำขวัญพระยาช้าง แล้วให้มีการสมโภชเครื่องเล่น โขนโรง ๑ วันละ ๑๕ ตำลึง ๓ วัน ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง หุ่นโรง ๑ วันละ ๑๕ ตำลึง ๓ วัน ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง ละคอนโรง ๑ วันละ ๑๕ ตำลึง ๓ วัน ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง งิ้วโรง ๑ วันละ ๕ ตำลึง ๓ วัน ๑๕ ตำลึง ลวดลังกา ๒ สายลวดเลว ๒ สายรวม ๔ สาย ๓ วัน ๓ ตำลึง ๒ บาท หกร้านหอก ๑ หกร้านดาบ ๑ หกหลังม้า ๑ รวม ๓ ร้าน ๓ วัน ๒ ตำลึง ๑ บาท หกหลังช้าง ๑ สามวัน ๒ ตำลึง ๑ บาท คาบขอนคน ๑ สามวัน ๑ บาท ๒ สลึง ลอดบ่วงไฟ ๑ ลอดบ่วงคน ๑ รวม ๒ คน ๓ วัน ๓ บาท โยนดาบคน ๑ สามวัน ๑ บาท ๒ สลึง ปี่กลองมลายูสำรับ ๑ สามวัน ๓ บาท หนังคืนละ ๒ โรง ๖ คืน ๑ ชั่ง ๑ ตำลึง รวมเงิน ๙ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ สลึง มวย ๕ คู่ ๑ ชั่ง ๑ ตำลึง ปล้ำ ๖ คู่ ๑๘ ตำลึง ตะบอง ๔ คู่ ๑๓ ตำลึง กระบี่ ๔ คู่ ๙ ตำลึง ๓ บาท ดั้ง ๒ คู่ ๖ ตำลึง ดาบสองมือคู่หนึ่ง ๑ ตำลึง รางวัลจริง ๓ ตำลึง รวม ๔ ชั่ง ๓ บาท รวมทั้งสิ้น ๑๓ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ครบ ๓ วันแล้วให้สวดพระพุทธมนต์ที่โรงช้างในพระราชวัง วันจันทร วันอังคาร วันพุธ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๓ วัน พระยาเศวตกุญชร ๑๐ รูป พระเทพกุญชร ๕ รูป พระอินทรอัยรา ๕ รูป รวมพระสงฆ์ ๒๐ รูป

วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก เวลาเช้า ๑ โมง ๓ บาท หมื่นจ่าศรีนรคชจัดช้างนำ ๓ ช้าง คือพังคุณสูง ๔ ศอกคืบ ๗ นิ้ว ผูกเครื่องหุ้มแดง นายกเรนทรพัดชากับนายช้างควานประจำ ๑ พังวงสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้วผูกเครื่องหุ้มแดง นายสิริคชแกว่นกับนายช้างควานประจำ ๑ ช้างต้นพังเทพลินลาสูง ๕ ศอก ๑ นิ้วผูกเครื่องหุ้มแดง นายสารใหญ่ซ้ายกับนายช้างควานประจำ ๑ พระอินทรอัยราสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้ว ผูกเครื่องกุดั่นผ้าปกหลังตาข่าย นายจำลองขวากับนายช้างควาน ประจำ ๑ พระเทพกุญชรสูง ๔ ศอกคืบ ๘ นิ้ว ผูกเครื่องกุดั่นผ้าปกหลังตาข่าย นายทรงบาศขวากับนายยวดคชฤทธิควานประจำ ๑ ช้างสายสูทพังหักสูง ๔ ศอก ๑๐ นิ้วผูกเครื่องหุ้มแดง นายจิตรคชลักษณกับนายช้างควานประจำ ๑ รวมเปน ๖ ช้างด้วยกัน แล้วพันภานุราชหัวพันมหาดไทยเกณฑ์เครื่องแห่พระอินทรอัยรา สัปทน ๒ คู่ ๔ คน ตะบอง ๒ คู่ ๔ คน ถาดกล้วยคน ๔ ถาดอ้อยคน ๒ ถาดหญ้าคน ๑ แสร้หางม้า ๒ คู่ ๔ คน รวม ๑๕ คน พระเทพกุญชร สัปทน ๒ คู่ ๔ คน ตะบอง ๒ คู่ ๔ คน ถาดกล้วยคน ๑ ถาดอ้อยคน ๑ ถาดหญ้าคน ๑ แสร้หางม้า ๒ คู่ ๔ คน รวม ๑๕ คน พระยาเศวตกุญชร หน้า ธง ๕๐ คู่ ๑๐๐ คน เทวดา ๕๐ คู่ ๑๐๐ คน กลองชนะ ๔๒ คน สังข์คู่หนึ่ง ๒ คน แตรงอน ๑๐ คู่ ๒๐ คน แตรฝรั่ง ๕ คู่ ๑๐ คน หลัง เครื่องสูง ๒ สำรับ ๓๒ คน เทวดา ๒๕ คู่ ๕๐ คน ธง ๒๕ คู่ ๕๐ คน รวม ๔๐๖ รวมทั้งสิ้น ๔๓๖ คน ตั้งกระบวนแห่ พระยาเศวตกุญชรเข้าในพระราชวัง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จมาคอยรับพระยาช้างอยู่ณโรง แล้วพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ๆ แล้วทรงถวายผ้าสะบงองค์ละผืน กระจาดองค์ละใบ แล้วมีละคอนผู้หญิงแต่ณวันพฤหัสบดี วันศุกร วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ๑๐ ค่ำ ๑๑ ค่ำ ในพระราชวังอีก ๓ วัน เวลาบ่ายวิเสทแต่งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน ตัวละ ๓ สำรับ คือพระยาเศวตกุญชร ๓ สำรับ พระเทพกุญชร ๓ สำรับ พระอินทรอัยรา ๓ สำรับเข้ากันวันละ ๙ สำรับ ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนมานั่งรับแว่นเวียนเทียนทำขวัญพระยาช้างทั้ง ๓ เวลา แล้วมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ถามนายหมกหมอนายคงควาน นายหมกหมอนายคงควานให้การว่า เดิมข้าพระพุทธเจ้านายหมกหมอ นายคงควาน คิดกันกับพระยานราธิราช หลวงเพ็ชรเสนา ว่าจะไปคล้องช้างให้ได้สักหนึ่งหรือสองช้างจะเอามาขาย นายหมกหมอนายคงควานจึงยืมเอาช้างต่อพลาย ๒ พัง รวม ๔ ช้าง พลายสูง ๕ ศอก ๓ นิ้วช้างหนึ่ง พลายสูง ๕ ศอกช้างหนึ่ง พังสูง ๔ ศอก ๑๐ นิ้วช้างหนึ่ง พังสูง ๔ ศอกคืบ ๗ นิ้วช้างหนึ่ง กับผู้มีชื่อ ๖ คน เข้ากัน ๘ คน พากันไปจากบ้านเกาะกันลองแต่ณวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ไปประมาณ ๑ วันคล้องช้างเถื่อนได้พลาย ๒ พัง ๔ รวม ๖ ช้าง จึงให้ช้างต่อพลาย สูง ๕ ศอก พาเอาช้างซึ่งคล้องได้ ๖ ช้างกลับมาบ้าน แต่นายหมกหมอนายคงควานกับผู้มีชื่อ ๔ คน เข้ากัน ๖ คน ช้างต่อ ๓ ช้าง ไปอีก ๕ วัน เวลาค่ำหยุดนอนณเขาตะภ้อ ปลายน้ำเมืองโพธิสัตว์ ในคืนวันนั้นนายหมกหมอนอนหลับไป เวลาจะใกล้รุ่งฝันเห็นว่าพระสงฆ์ ๓ องค์มาถามว่าเองจะไปบ้านเมื่อไร นายหมกหมอบอกแก่พระสงฆ์ว่าจะไปบ้านพรุ่งนี้ พระสงฆ์จึงว่าเองจะไปก็ไปข้างทิศอิสานกูจะให้มึง นายหมกหมอถามพระสงฆ์ว่าพระคุณจะให้อะไรดีฉัน พระสงฆ์จึงว่าจะให้ของดี แล้วพระสงฆ์ ๓ องค์ก็กลับไป นายหมกหมอตื่นขึ้นแก้ฝันกับผู้มีชื่อ ๕ คนว่าพระสงฆ์มาบอกว่าให้ไปทางทิศอิสานจะให้ของดี เวลารุ่งเช้านายหมกหมอกับผู้มีชื่อก็ผูกช้างไปข้างทิศอีสานตามฝัน ข้ามเนินไปเนินหนึ่งถึงตำบลป่าทองยอพอตวันขึ้นพ้นปลายไม้ พบช้างเถื่อนฝูงหนึ่งจึงพากันเข้าไปดูทั้ง ๓ ช้าง เห็นช้างเถื่อนประมาณ ๑๐๐ เศษ หมอควาน ๔ คนกับช้างพัง ๒ ช้างกลัวไม่เข้าไป แต่นายหมกหมอนายคงควานขี่ช้างพลายเข้าไปเหนือลม ฝูงช้างเถื่อนได้กลิ่นพากันตื่นเข้าป่าไป เห็นแต่ช้างพลายฟังเล็ก ประมาณ ๑๑ - ๑๒ ช้างเวียนกลมกันอยู่หาไปตามช้างใหญ่ไม่ นายหมกหมอก็ขับช้างต่อรีบเข้าไปจึงเห็นช้างเผือกอยู่กลาง นายหมกหมอจึงว่ากับนายคงควานว่า กระบือขาวเรียกว่ากระบือเผือก นี่ช้างขาวมิเรียกว่าเปนช้างเผือกหรือ เราจะคล้องหรือไม่คล้อง นายคงควานว่าคล้องเถิด นายหมกหมอกับนายคงควานตีช้างต่อเร็วเข้าไป ช้างเผือกกับช้างเล็กก็พากันวิ่งหนีช้างต่อไป นายหมกหมอขับช้างต่อไล่ทันช้างเผือกประมาณ ๔ ศอก นายหมกหมอทิ้งบาศสอดหว่างเท้าหลังข้างซ้ายผิดไปครั้งหนึ่ง ประหลาดใจอยู่เคยทิ้งบาศไม่ผิด นายหมกหมอจึงนึกอธิฐานว่าเดชะพระบารมีพระพุทธเจ้าอยู่หัวขอทิ้งบาศถูกช้างเผือกเถิด นายหมกหมอจึงทิ้งบาศอีกครั้งหนึ่งถูกเท้าซ้าย ช้างเผือกวิ่งไปบาศแตกประมาณ ๖ ขด ช้างเผือกไปยืนหันหน้าหันหลังอยู่ ช้างเล็กวิ่งเข้ามาไปสิ้น นายหมกหมอจึงโยนทามแทงผนึกกับคอช้างต่อเล่า นายหมกหมอกู่เรียกผู้มีชื่อ ๔ คนกับช้างพัง ๒ ช้างเข้ามา ผู้มีชื่อเห็นในตาช้างเผือกขาวเถียงกันว่าช้างตาบอด นายหมกหมอคิดสงสัยจึงให้หมอคนหนึ่งลงจากคอช้างพังหักกิ่งไม้เข้าไปล่อดู ช้างเผือกเห็นก็ไล่ จึงรู้ว่าตาช้างเผือกดีอยู่ พร้อมกันพิเคราะห์ดูเห็นเปนช้างประหลาด ก็ผลัดกันประจำคอช้างต่อติดผนึกช้างเผือกพากลับมา ๒ วัน พบนายเตียงไปเก็บยา นายหมกหมอจึงบอกให้นายเตียงรีบกลับมาบอกพระยาสังคโลกณเมืองโพธิสัตว์ แล้วนายหมกหมอพาช้างเผือกมาหยุดอยู่ณบ้านเกาะกันลองใกล้เมืองโพธิสัตว์ทางคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นเวลาบ่าย พระยาสังคโลกกับพระยาพระเขมร ไพร่มีชื่อ ๓๐๐ เศษ ไปถึงนายหมกหมอณบ้านเกาะกันลอง ช่วยทำโรง เกณฑ์คน ๕๐๐ คนให้ล้อมวงรักษาช้างเผือกไว้ แล้วนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ทำบุญอยู่ประมาณ ๗ – ๘ วัน แล้วก็รับช้างเผือกเข้ามาเมืองโพธิสัตว์ สิ้นคำให้การนายหมกหมอนายคงควานแต่เท่านี้

แล้วมีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ สั่งว่าช้างพลายกองสูง ๕ ศอก ๓ นิ้ว ซึ่งนายหมกหมอนายคงควานขี่ไปคล้องได้พระยาเศวตกุญชร กับพังทองสูง ๔ ศอก ๖ นิ้ว ซึ่งเปนช้างต่อพระยาเศวตกุญชรมาแต่เมืองโพธิสัตว์นั้น ให้ผูกโรงไว้ณกรุงเทพ ฯ แล้วพระราชทานเงินตราพลายกองสูง ๕ ศอก ๓ นิ้ว ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง พังทองสูง ๔ ศอก ๖ นิ้ว ๑ ชั่ง สองช้างเปนเงิน ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง และเชือกบาศซึ่งคล้องพระยาเศวตกุญชรได้นั้นให้ลงรักปิดทองเอาไว้เปนเชือกต้น สำหรับทำการพระราชพิธี

วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีระกาเบญจศก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้มีศุภอักษรออกไปถึงพระอุทัยราชาธิราช ว่านายหมกหมอนายคงควาน บ่าวพระยานราธิราช กับนายอบ นายปน คนมีชื่อไปแทรกคล้องช้างณป่าตำบลทองยอฝ่ายตวันออกเขาตะภ้อเมืองโพธิสัตว์ นายหมกหมอนายคงควานคล้องได้พระยาช้างหนึ่ง มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ออกมารับเข้าไปณกรุงเทพ ฯ แล้วพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าเครื่องอุปโภคบริโภค และยศถาบรรดาศักดิเปนบำเหน็จความชอบแก่นายหมกหมอนายคงควานณกรุงเทพ ฯ แล้ว ฝ่ายพระยา พระ เขมร หมอควานผู้ไปแทรกคล้องช้างด้วยนั้น มีบำเหน็จความชอบมากอยู่ จึงให้พระยามหาอำมาตย์ พระสุริยภักดี จมื่นศักดิบริบาล คุมเอาสิ่งของออกมาพระราชทาน คือพระยานราธิราชผู้นายนายหมกหมอ เสื้อเข้มขาบ ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าห่มนอนปัก ๑ แพรขาวมีดวง ๑ รวม ๔ อย่าง พระยาเพ็ชรเสนา เจ้าของช้างต่อ เสื้อเข้มขาบ ๑ ผ้าปูม ๑ ผ้าห่มนอนปัก ๑ แพรขาวมีดวง ๑ รวม ๔ อย่าง คนซึ่งไปคล้องแทรกด้วยนั้น นายปน นายหมก รวมหมอ ๒ คน นายอบ นายมก รวมควาน ๒ คน ผ้าม่วงคนละผืน เสื้อแพรสีคนละตัว แต่ตำบลป่าทองยอฝ่ายตวันออกเขาตะภ้อที่คล้องพระยาช้างได้นั้น เปนชาติภูมิแห่งพระยาช้างเผือกผู้อันประเสริฐ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอภัยไว้ อย่าให้ผู้ใดไปทำการปาณาติบาตเบียดเบียนชีวิตสัตว์โดยปริมณฑลกว้างยาวโยชน์หนึ่งเปนกำหนด เพื่อจะให้มีเกียรติยศแห่งพระยาช้างเผือกผู้ไว้ชั่วกัลปา ให้พระอุทัยราชาธิราชจัดหลักศิลาเปนเสาประโคนไปปักไว้ให้เปนเขตร์แดนทั้ง ๔ ทิศ แล้วให้ประกาศป่าวร้องแก่พระยา พระ เขมร ไพร่บ้านพลเมืองพุทไธเพ็ชร และหัวเมืองขึ้นแก่เมืองพุทไธเพ็ชร ให้รู้จงทั่วกัน

สิ่งของพระราชทานขุนคเชนทรฉัททันต์ คือ พระราชวังหลวงพระราชทาน เงินตรา ๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เสื้ออัตลัดจีน ๑ เสื้อกระบวนจีนผุดไหม ๑ เสื้อกระบวนจีนผุดทอง ๑ เสื้อมังกร ๒ เสื้อริ้วแดง ๑ เสื้อแพรอลิยา ๑ รวม ๘ เสื้อ ผ้าห่มนอนปักพื้น ๑ ผ้าขาวดอกผืน ๑ ผ้าขาวบางผืน ๑ ผ้าขาวหนาผืน ๑ ผ้าห่มแพรสีต่างกัน ๑๐ ผืน ผ้าเช็ดพื้น ๑ ผ้านุ่งยกจีนผืน ๑ ผ้านุ่งยกนครผืน ๑ ผ้านุ่งปูม ๒ ผืน ผ้านุ่งเชิงปูมผืน ๑ ผ้าไหม ๒ ผืน ผ้าลายถลางผืน ๑ ผ้าลายเกาะผืน ๑ ผ้าฉีกเก้าแขนผืน ๑ รัตคตสาย ๑ ล่วม ๓ ผ้าพันล่วม ๑ ถาดหมากคนโทสำรับ ๑ ขันน้ำกระโถนสำรับ ๑ โต๊ะสามเท้าถ้วยชามสำรับ ๑ มุ้ง ๑ ที่นอน ๑ พัดด้ามจิ้ว ๑ หีบจีน ๑ ปั้นเหน่งสาย ๑ แหวน ๖ วง กรมพระราชวังบวร ฯ พระราชทาน เงินตรา ๗ ตำลึง ผ้าเชิงปูม ๑ เสื้อกระบวนจีน ๑ ตัวหนึ่ง

สิ่งของพระราชทานหมื่นหิรัญอัยรา คือ พระราชวังหลวง พระราชทาน เงินตรา ๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เสื้ออัตลัด ๑ เสื้อกระบวนจีนไหม ๑ เสื้อกระบวนจักขุนทอง ๑ เสื้อแพรอลิยา ๑ เสื้อมังกร ๑ ผ้าห่มนอนปัก ๒ ผืน ผ้าขาวดอกผืน ๑ ผ้าห่มขาวบางผืน ๑ ผ้าห่มขาวหนาผืน ๑ แพรห่มสีต่างกัน ๙ ผืน ผ้าเช็ดผืน ๑ ผ้านุ่งยกจีนผืน ๑ ผ้าเชิงปูม ๒ ผืน ผ้านุ่งไหมหางกระรอกผืน ๑ ผ้านุ่งไหมเปล้าผืน ๑ ผ้าลายเกาะผืน ๑ ผ้าลายถลางผืน ๑ ผ้าฉีกเก้าแขนผืน ๑ รัตคตสาย ๑ ล่วมเข้มขาบ ๑ ผ้าพันล่วมเข้มขาบ ๑ ถาดหมากคนโทสำรับ ๑ ขันน้ำกระโถนสำรับ ๑ โต๊ะสามเท้าถ้วยชามสำรับ ๑ มุ้ง ๑ ที่นอน ๑ พัดด้ามจิ้ว ๑ หีบจีนใบ ๑ ปั้นเหน่งสาย ๑ แหวน ๖ วง

กรมพระราชวังบวร ฯ พระราชทาน เงินตรา ๕ ตำลึง ผ้าไหมผืน ๑ เสื้อแพรสีตัว ๑

----------------------------

พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ตำบลถนนราชบพิธ จังหวัดพระนคร

วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๗๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ