คำนำ

คุณหญิงฟ้อน จาติกรัตน์ มาแจ้งความยังหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรว่า มีความประสงค์จะพิมพ์จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแจกในเวลาพระราชทานเพิลงศพพระยาประพันธรำไพ (เจ๊ก จาติกรัตน์) ผู้สามี หอสมุดแห่งชาติจึงอนุญาตให้พิมพ์ตามความประสงค์

หนังสือพระราชกิจรายวันนี้ เดิมอยู่ในหอพระสมุดหลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหอพระสมุดหลวงมาเป็นสมบัติหอสมุดสำหรับพระนคร อันเปลี่ยนมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรในบัดนี้ หนังสือพระราชกิจรายวันนี้ ต้นฉะบับเป็นอักษรพิมพ์ดีดมี ๑๐ ปี ตั้งแต่มีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ถึงปีกุญ จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) แต่ขาดปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ ไปหนึ่งปี รวมเป็นหนังสือ ๑๐ เล่มด้วยกัน ปรากฏในบานแผนกบางเล่มว่า กรมหลวงปราจิณกิติบดี ตรัสสั่งให้คัดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ พระราชกิจรายวันเหล่านี้เป็นพระราชนิพนธ์โดยไม่ต้องสงสัย มีจนถึงหน้า ๑๙ ในภาค ๕ นี้ ต่อนั้นไปเห็นจะเป็นผู้อื่นจด จึงใช้ราชาศัพท์ เช่น “เสด็จออกขุนนาง” หรือ “เสด็จประพาศ” เป็นต้น แต่สังเกตดูสำนวนที่จดก็เข้าใจว่าเป็นพระราชนิพนธ์ คือตรัสสั่งให้อาลักษณ์หรือผู้หนึ่งผู้ใดจด เป็นต้นว่าตรัสเล่าว่า “วันนี้ออกขุนนางมีคนนั้นคนนี้มาหา” ผู้จดก็เติมราชาศัพท์ลงไปว่า “วันนี้เสด็จออกขุนนาง มีคนนั้นคนนี้มาเฝ้า” ที่สังเกตว่ายังเป็นพระราชนิพนธ์อยู่นั้น ด้วยยังมีคำห้วนๆ อย่างที่เคยตรัสอยู่เรื่อยๆ ไป เป็นต้นว่า “จิตรเจริญ” (ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์) และ “องค์วรวรรณ” (ซึ่งเป็นพระนามเดิมของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) พระองค์ก่อนไม่มีคำว่า “พระองค์เจ้า” พระองค์หลังมีแต่ครึ่งคือ “องค์” ดังนี้ เห็นได้ว่าตรัสสั่งให้จด คุณค่าของหนังสือเรื่องนี้เป็นอย่างไร ถ้าอ่านไปแต่ฉะเพาะวันหนึ่งๆ จะเห็นความไม่ติดต่อและไม่ค่อยได้เรื่องราวอะไรนัก เพราะวันหนึ่งๆ มีมากเรื่อง มีต้นไม่มีปลาย มีปลายไม่มีต้น เหล่านี้เป็นอาทิ แต่ถ้าอ่านไปหลายๆ วัน จึงค่อยๆ มีเรื่องราวติดต่อกันขึ้นบ้าง ข้อนี้ไม่สำคัญเท่าใดนัก ข้อสำคัญมีอยู่ว่า พระราชกิจรายวันวันละเล็กละน้อยเช่นนี้ เป็นต้นเหตุให้รู้ว่าเรื่องใหญ่ๆ เช่นออกพระราชบัญญัติกฎหมายหรือกิจการแผ่นดินต่างๆ อันปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นนั้น มูลเหตุให้เกิดขึ้นอย่างไร คุณค่าที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ที่บางปีไม่ได้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา เช่นปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ และปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๔๔ ก็ไม่รู้ว่าในปีที่ไม่ได้ออกนั้นมีราชการงานเมืองอะไรบ้าง ถึงแม้อาจค้นได้ในหนังสือราชการตามกระทรวงต่างๆ ก็จะต้องจับโน่นชนนี่ด้วยความลำบากยากยิ่ง และอาจไม่ได้เรื่องราวตลอด ก็ยังพอจะหาหลักฐานในหนังสือนี้ได้มาก นักประประวัติศาสตร์จะเห็นคุณค่าของหนังสือนี้ถ่องแท้เมื่อเขียนพงศาวดารของประเทศสยามยุคนี้ หนังสือเรื่องนี้หอสมุดแห่งชาติได้จัดการพิมพ์มา ๔ ภาคแล้ว ภาคนี้เป็นภาค ๕ ถ้ามีโอกาสก็จะให้พิมพ์ต่อไปจนหมด

หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ