คำชี้แจง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ ทรงรับฉันทะเจ้าภาพงานศพหม่อมเจ้าเปล่ง ชุมแสง ในอันจะหาหนังสือพิมพ์แจกเวลาพระราชทานเพลิงศพ ดังคำนำที่สมเด็จ ฯ พระองค์นั้นได้ทรงพระนิพนธ์อันได้พิมพ์ไว้ต่อคำชี้แจงนี้ หอสมุดแห่งชาติได้จัดหนังสือพระราชกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวาย

หนังสือพระราชกิจรายวันนี้ เดิมอยู่ในหอพระสมุดหลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหอพระสมุดหลวง มาเป็นสมบัติของหอพระสมุดสำหรับพระนคร อันเปลี่ยนมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรในบัดนี้ หนังสือพระราชกิจรายวันนี้ ต้นฉะบับเป็นอักษรพิมพ์ดีดมี ๑๐ ปี ตั้งแต่ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) แต่ขาดปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ ไปปีหนึ่ง รวมเป็นหนังสือ ๑๐ เล่มด้วยกัน ปรากฎในบานแผนกบางเล่มว่า กรมหลวงปราจิณกิติบดี ตรัสสั่งให้คัดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ พระราชกิจรายวันเหล่านี้ที่เป็นพระราชนิพนธ์โดยไม่ต้องสงสัยมีในเล่มแรก ๒๕๕ หน้า ต่อนั้นไปเห็นจะเป็นผู้อื่นจด จึงใช้ราชาศัพท์เช่น “เสด็จออกขุนนาง” หรือ “เสด็จประพาส” เป็นต้น แต่สังเกตดูสำนวนที่จดก็เข้าใจว่ายังเป็นพระราชนิพนธ์ คือตรัสสั่งให้อาลักษณหรือผู้หนึ่งผู้ใดจด เป็นต้นว่าตรัสเล่าว่า “วันนี้ออกขุนนางมีคนนี้คนนั้นมาหา” ผู้จดก็เติมราชาศัพท์ลงไปว่า วันนี้เสด็จออกขุนนาง มีคนนั้นคนนี้มาเฝ้า” ที่สังเกตว่ายังเป็นพระราชนิพนธ์อยู่นั้น ด้วยยังมีคำห้วน ๆ อย่างที่เคยตรัสอยู่เรื่อย ๆ ไป เป็นต้นว่า “จิตรเจริญ” (ซึ่งเป็นพระนามเดิมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์) และ “องค์วรวรรณ” (ซึ่งเป็นพระนามเดิมของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) พระองค์ก่อนไม่มีคำว่า “พระองค์เจ้า” พระองค์หลังมีแต่ครึ่ง คือ “องค์” ดังนี้ เห็นได้ว่าตรัสสั่งให้จด คุณค่าของหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร ถ้าอ่านไปแต่ฉะเพาะวันหนึ่งๆ จะเห็นความไม่ติดต่อและไม่ค่อยได้เรื่องราวอะไรนัก เพราะวันหนึ่งๆ มีมากเรื่อง มีต้นไม่มีปลาย มีปลายไม่มีต้น อะไรต่ออะไรเหล่านี้ ถ้าอ่านไปหลายๆ วันจึงค่อยๆ มีเรื่องราวติดต่อกันขึ้นบ้าง ข้อนี้ไม่สำคัญเท่าใดนัก ข้อสำคัญมีอยู่ว่า พระราชกิจรายวันวันละเล็กละน้อยนี้แหละเป็นต้นเหตุให้รู้ว่าเรื่องใหญ่ๆ เช่นออกพระราชบัญญัติกฎหมาย หรือกิจการแผ่นดินต่างๆ อันปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นนั้น มูลเหตุเกิดขึ้นอย่างไร คุณค่าที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ที่บางปีไม่ได้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา เช่นปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ และปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๔๔ ก็ไม่รู้ว่าในปีที่ไม่ออกนั้นมีราชการงานเมืองอะไรบ้าง ถึงแม้อาจค้นได้ในหนังสือราชการตามกระทรวงต่าง ๆ ก็จะต้องจับโน่นชนนี่ด้วยความลำบากยากยิ่งและอาจไม่ได้เรื่องราวตลอด ก็ยังพอจะหาหลักฐานในหนังสือนี้ได้มาก นักประวัติศาสตร์จะเห็นคุณค่าแห่งหนังสือนี้ถ่องแท้เมื่อเขียนพงศาวดารของประเทศสยามยุคนี้ หนังสือเรื่องนี้หอสมุดแห่งชาติได้จัดให้พิมพ์ไป ๓ ภาคแล้ว ภาคนี้เป็นภาคที่ ๔ ถ้ามีโอกาสก็จะให้พิมพ์ต่อไปจนหมด

หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

วันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ