ราชพยัตติธรรม

๏ เป็นมงกุฎแห่งโลกทั้งสาม ซึ่งอรรถแห่งพระบาฬี คือ พระไตรปิฎกก็ดี อันอุดม ซึ่งมนุษย์แห่งอาริยบุคคลทั้งแปดจำพวกก็ดี ด้วยเศียร อันวาทะจักสำแดงซึ่งพระคัมภีร์ชื่อเนาวพยัตติโดยสังเขปโดยบังควร อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่ใด ๆ ก็ประพฤติในสงสารอันเป็นไตรภพ แลสงสารนั้นอันสัตว์ทั้งปวงพึงกลัว แลอดยากแท้ อันสัตว์นั้นๆ ก็เที่ยวไปในสงสาร เหตุกุศลกรรมแลอกุศลกรรมอันอาตมกทำ ประดุจดังกงจักรอันผันตามรอยเชิงโคนั้น แลสัตว์ทั้งปวงก็ประพฤติตามกุศลกรรมแลอกุศลกรรมนั้น

อันว่ากัลลรูป[๑]เป็นประถมนั้น เป็นเลือดก็บังเกิด อันว่าเลือดนั้นเป็นเนื้อก็บังเกิด อันว่ากิ่งทั้งห้าก็บังเกิดแต่เนื้อนั้น อันว่าผมแลขนนั้นพึงมีโดยบังควรในเมื่อสิบเดือนก็บริบูรณ์ อันว่าสัตว์ล่วงแล้วแลออกจากครรภ์มารดาแล

ในกาลขณะนั้น จึงเทพดาพิจารณาโดยกุศลกรรมแลอกุศลกรรมอันสัตว์ได้กทำไว้แต่ก่อนนั้นแล้ว เทพดาจึงเขียนไว้ ณ หน้าผากสัตว์ทั้งปวงตามกุศลกรรมแลอกุศลกรรมนั้น แล้วจึงสติพยัตติก็บังเกิดมีแก่สัตว์ทั้งปวงนั้น

อันกล่าวว่าสตินั้นดังฤๅ คือดังพ่อครัวอันแต่งเครื่องโภชนาหารนั้น อันว่าพยัตตินั้นคือดังอัคคีในเตาแลอัคคีในเตานั้น ถ้าแลพ่อครัวมิได้รักษาไว้เสมอดังอัคคีนั้นดับไปดุจเดียว ครั้นแลอัคคีในเตานั้นดับไซร้ สรรพเครื่องโภชนาหารอันต้มแกงทั้งปวงนั้น คือหนึ่งมิสุกดุจเดียว เหตุนั้นจึงว่า อันว่าสติแลมิได้รักษาพยัตติไว้นั้น แม้นจะปรารถนาสิ่งใดก็บ่มิลุดังความปรารถนานั้น จึงว่าให้สติรักษาพยัตตินั้นไว้ แลพยัตตินั้นมีลักษณะ ๙ ประการคือ อันว่าพยัตติ ๙ ประการนั้น จาเรพยัตติ ๑ โยคพยัตติ ๑ โมเจยพยัตติ ๑ ฉายาพยัตติ ๑ ธาราพยัตติ ๑ สัลลวพยัตติ ๑ ลเหลหาพยัตติ[๒] ๑ สุจิลาพยัตติ ๑ สันนีกพยัตติ ๑ แลเก้าประการนี้ชื่อพยัตติ แลนักปราชญ์จักกล่าวไว้

จาเรพยัตตินั้นดังฤๅ อุปรมาประดุจดังแมลงภู่ สวภาวะแห่งแมลงภู่นั้นไซร้ ย่อมบินแสวงหาดอกไม้อันมีกลิ่นนั้น ครั้นแลประสบพบได้กลิ่นดอกไม้นั้นแล้ว ก็บินมุ่งหมายมาสู่ดวงดอกไม้นั้น แลทำประทักษิณแก่ดอกไม้นั้นแล้ว จึงโอนเคล้าเอาซราบละอองเกสรดอกไม้นั้นแล้ว ก็บินไปสู่ยังเวฬุคูหา[๓]ทองนั้น อุปรมาดุจนั้น อันว่าบุคคลผู้มีปรีชาอันฉลาด แลจะแสวงหาประโยชน์ในอิหโลก แลจักใคร่แจ้งซึ่งอันประพฤติผิดแลชอบนั้น แลจะใฝ่แก่กิตติโฆษเพื่อจะให้จำเริญเกียรติยศให้ฦๅชาปรากฏไซร้ ก็พึงให้บำราศความประมาทนั้นเสียแล้ว จงให้มีความเพียรแสวงหาคัมภีร์ฎีกาทั้งปวงนั้นก็ดี แลให้วิริยะสู่หาสมาศัพท์ด้วยสมณพราหมณ์ก็ดี แลให้วิริยะเฝ้าแหนผู้มีอีศวรภาพซึ่งได้ครอบครองนั้นก็ดี แลให้วิริยะสู่หาสมาศัพท์ไต่ถามนักปราชญ์ผู้กอปรด้วยปัญญาญาณนั้นก็ดี แลให้เคารพแก่บิดามารดาครูอาจารย์แลผู้มีอายุศม์นั้นก็ดี แลให้วิริยะในคัมภีร์โลกุดรธรรมแลราชานุวัตรก็ดี โลกวัตรก็ดี แลให้วิริยะในคีติดนตรีแลเครื่องประดับประดาทั้งปวงนั้นก็ดี แลให้รู้สรรพวิชาการอันจะเลี้ยงชีวิตแห่งอาตมนั้นก็ดี แลให้เชื่อผลกรรมแลจำศีลภาวนาบริจาคทานก็ดี บุคคลดังนี้ชื่อว่าแสวงหาประโยชน์แห่งอาตมในอิหโลกบรโลก อุปรมาประดุจดังช่างร่อน สุภาวะช่างร่อนนั้นไซร้ ร่อนเลือกแต่บรรดากรวดแลดินทรายนั้นออกเสียแล้ว จึงประมูลเอา แต่อันหนักนั้นมาส่ำสมไว้ แลบุคคลผู้เป็นพหูสูต พหูทัสสะ พหูสิปปะ พหูสิกขี เหตุได้พบเห็นสดับฟังร่ำเรียนจำเนียรมามาก แลบุคคลดังนี้ประดุจแมลงภู่แลช่างร่อน อาจารย์กล่าวไว้ ชื่อจาเรพยัตติแล

อันว่าโยคพยัตตินั้นดังฤๅ อุปรมาดังผึ้ง สวภาพผึ้งนั้นไซร้ อาศัยแก่ภูเขาอันสูงซึ่งจะร่มแดดร่มฝนนั้นก่อเป็นรวงรังแลอุโมงค์คูหาซึ่งจะไว้ลูกนั้นแล้ว จึงแต่งยุ้งฉางแลหาเสบียงซึ่งจะเลี้ยงลูกนั้นมาไว้ให้เต็มยุ้งฉางแล้ว ขุดสระแลบ่อแสวงหาน้ำมาไว้เพื่อจะให้ลูกอาศัย ใช่แต่เท่านั้นเล่า แลคิดเพื่อจะป้องกันศัตรูในอัฐทิศจดุรทิศ แลแต่งอาวุธกอปรด้วยพิษให้ครบให้ทั่วกันเป็นนิรันดร อนี้ คือว่าพึงตกแต่งรักษาเลี้ยงชีวิตแล บุคคลผู้ใดเป็นอธิบดีแก่สัตว์แลจะปกครองรักษาสัตว์ทั้งปวงนั้นไซร้ มีโยค ๔ ประการคือ โยคศิริ ๑ โยคพล ๑ โยคยาตรา ๑ โยคเสนางค์ ๑ อันว่าโยคศิรินั้น พระมหากระษัตริย์พระองค์ใดจะให้มีฤทธานุภาพแล ปลูกศรีมหาโพธิ กุฎีวิหารแลขุดสระบ่อน้ำ แลบริจาคจตุประจัยแก่สงฆ์ แลแต่งข้าวบิณฑ์ข้าวบาตรฉัตรธงธูปเทียนบูชาสการะพระเจดีย์แลศรีมหาโพธิ แลให้แผ้วถางถนนหนทาง แลปลูกสร้างปราสาทราชมนเทียรแลสวนอุทยาน สระน้ำบ่อน้ำแลให้พลีกรรมเทวดาอันรักษาโลกนั้นเป็นอาทิ คือเทพดาโสดาบัน แลเทพดามหิมาธิก แลเทพดามเหสักข์อันอยู่ในเมืองนอกเมือง แลบริจาคทานแก่สมณพราหมณ์แลยาจกพันนิพกทั้งหลาย แลให้รู้จักคุณวิเศษรักใคร่ผู้มีคุณวิชญาการทั้งปวงนั้นเป็นอาทิ คือ ช่างเขียน ช่างฉลัก ช่างกลึง ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างนวการ แลช่างขับรำแลดุริยดนตรีเล่นการมหรสพ แลตั้งพิทธีโดยฤกษ์ตามฤดูกาลนั้น แลประพฤติโดยลักษณะดังนี้ไซร้ คือว่าจะให้จำเริญศรีสวัสดีแห่งเมือง ชื่อว่าโยคศิริแล

อันว่าโยคพลนั้นเป็นอาทิ คืออำมาตย์เสนาบดีมนตรีมุข แลผู้ได้บังคับบัญชา แลเศรษฐีคฤหบดีนอกเมืองในเมือง แลนายบ้านขว้านช่องแลข้าส่วยไร่ แลควาญช้างควาญม้าชาวไร่นาอากรลูกค้าวานิช แลประชาราษฎรอันอยู่ในแว่นแคว้นสีมามณฑลนั้นก็ดี อันเป็นหูเมือง ตาเมือง จรมูกเมือง ปากเมือง ตีนเมือง มือเมือง ท้องเมือง ข้างเมืองนั้นก็ดี แลคนทั้งปวงนี้ควรให้เจียดทองพานทอง แลบ้านเมืองแลไร่นาอากรตรหลาดขนอนก็ดี ควรให้ประทานรางวัลเป็นอาทิคือ ขันเงินขันทองแลเสื้อผ้าก็ดี แลให้พิจารณาโดยอัชฌาสัยคุณแห่งบุคคลทั้งปวงนั้นแล้ว จึงให้พระทานรางวัลเลี้ยงดูตามคุณวิชญาการนั้น แลให้สงเคราะห์ด้วยถ้อยคำอันไพเราะประดุจศัพท์สำเนียงเสียงพิณแห่งท้าวอุเทนราชอันผูกตรากหูช้างแลใจช้างทั้งปวงไว้นั้น ลักษณะดังนี้ว่าหว่านไมตรีผูกตรากใจคนทั้งปวงไว้ คือว่ารักใคร่ไพร่พลทั้งปวง ชื่อว่าโยคพลแล

อันว่าโยคเสนางค์นั้นให้ป้องกันรักษาเมือง แลแต่งค่ายคู เขื่อน ทวาร หอรบแลธงไชยแลจตุรงคพลทั้งสี่จงครบสรรพไว้ แลจดุรงคพลทั้งสี่นั้นคือ พลช้างสรรพด้วยจำลองแลกโจม[๔]อันมีพรรณต่าง ๆ แลทหารซึ่งจะขี่คอช้างนั้น สรรพด้วยหมวกแลเกราะนวมประดับสำหรับช้าง แลพลม้านั้น สรรพด้วยทวนอันมีส้นแลตรูถือสำหรับม้านั้น แลรถนั้นประดับธงเทียวแลหางยูงแลชนนกอันมีพรรณนั้น แลทหารซึ่งขี่รถนั้นถือทวนยาวแลธนูหน้าไม้ พลเดินนั้นถือด้างแลเขนเงินเขนทองแลทวนเทา แลธนูหน้าไม้แลปืนใหญ่ปืนนกสับ ลาง บ้างถือตรวดแลคบไฟ หม้อชัน แลจัดทหารทั้งปวงไว้แล้ว จึงแต่งเป็นนายทัพนายกองยุกรบัตรเกียกกาย แลสารวัตรอาชญาศึก กองแล่นกองใช้แลสรรพแล้ว จึงให้ไปตั้งประจำอยู่ทุกหัวเมืองทั้งปวงตามใกล้แลไกลนั้น แลตกแต่งการดังนี้ ชื่อว่าโยคเสนางค์แล

อันว่าโยคยาตรานั้น ถ้าแลพระมหากระษัตริย์พระองค์ใดจะยาตรายกทัพศึกไปไซร้ให้ชุมนุมโหราจารย์แลราชครูแลสมณพราหมณ์แล้วให้หาฤกษ์อันดี แลให้รู้จักยายีนาคร แล้วให้บูชาพระเจดีย์แลศรีมหาโพธิ แลสมณพราหมณ์ แลกทำพลีกรรมในเมืองแลนอกเมือง เลี้ยงดูทแกล้วทหารไพร่พลทั้งปวง แลให้แผ้วถนนหนทางประดับด้วยราชวัติฉัตรธง ครั้นแลได้ฤกษ์ไซร้ ให้ประคมฆ้องกลองเป็นสัญญาสำคัญไว้แล้ว เสด็จด้วยยาน ๔ประการคือ ช้าง ม้า รถ แลอวน[๕] เป็นพาหนะ แลกางเศวตฉัตรขึ้นไว้ แล้วจึงบำเรอด้วยฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยดนตรี แลฝ่ายทหารทั้งปวงนั้นใส่หมวกแลประดับด้วยหางยูงแลขนนกอันมีพรรณ แลถืออาวุธต่าง ๆ สำหรับณรงค์นั้น แล้วก็ห้อมล้อมโดยซ้าย ขวา หน้า หลังตามหมู่ตามกรมนั้น จึงพระมหากระษัตริย์นั้นพิษฐานหลั่งน้ำด้วยขันทอง ขอพรแก่เทพดาอันรักษาเศวตฉัตรนั้นแล้ว จึงตีกลองไชยโดยฤกษ์ แลทอดพระเนตรเล็งแล ใกล้ไกลโดยทิศทั้งสี่นั้นแล้ว จึงควรยาตรา ตกแต่งการดังนี้ ชื่อว่าโยคยาตราแล

พระมหากระษัตริย์พระองค์ใด แลมิได้ประพฤติตามในโยคทั้งสี่นี้ไซร้ ราชสมบัตินั้นคือว่าอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ครั้นลุในอำนาจศัตรูแล้วไซร้ อาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็จะได้ความทุกข์ ก็จะถอยเกียรติยศแลชนมายุศม์แห่งพระมหากระษัตริย์ แลโยคทั้งสี่นี้ จะได้จำเพาะแต่พระมหากระษัตริย์นั้นหามิได้ แลย่อมมีแก่นรชาติทั้งปวงนั้น ถ้าแลมิได้ประพฤติดังนี้ไซร้ จักถอยประโยชน์แลชนมายุศม์ เหตุนั้นจึงชื่อว่าโยคพยัตติแล

โมเจยพยัตตินั้นดังฤๅ อุปรมาประดุจดังน้ำปรอทแลน้ำปูน ศิลานั้น สวภาวะปรอทนั้นไซร้ เห็นเป็นก้อนกลมกล่อมอยู่ดุจดังจะหยิบเอาได้ ครั้นแลไปหยิบเอาไซร้ อย่าว่าจะหยิบเอาได้เลย แต่จะชุ่มในนิ้วมือก็หามิได้ สวภาพน้ำปูนนั้นไซร้ เห็นขาวผ่องเป็นนวลอยู่ดังน้ำนม แลดุจกินได้ ครั้นแลกินเข้าไปลำคอคือดังจะเปื่อยทำลายไป ดุจเดียวบุคคลหนึ่งนั้นมีปัญญารู้หลักเฉลียวฉลาด แลบุคคลผู้อื่นทำเล่ห์กลอุบายล่อลวง สงเคราะห์ด้วยธนทรัพย์แก้วแหวนเงินทอง แลถ้อยคำอันไพเราะ ประดุจดังเสียงพิณแห่งท้าวอุเทนราชอันผูกตรากใจช้างไว้ แลประดุจง้วนผึ้งอันเอมโอชนั้น เพื่อจะทำลายอายุศมเดชะตระบะให้ถอยเกียรติยศผลประโยชน์ทั้งปวงนั้นเสีย บุคคลผู้กอปรด้วยปัญญาอันฉลาดนั้น รู้ว่าล่อลวงด้วยกลอุบายแล้ว แลคิดอ่านเปลื้องอาตมให้พ้นจากภัยนั้นได้ อุปรมาประดุจดังพระมโหสถอันกอปรด้วยปัญญาอันฉลาด แม้นราชครูทั้ง ๔ คิดจะทำลายปองร้ายเท่าใดก็ดี มิอาจสามารถจะทำลายเสียได้ เพราะพระปัญญานั้นหาผู้จะเสมอมิได้ แลปัญญามนุษยชาตินี้ก็ยกไว้ บ่เริ่ม[๖] เมื่อยังเป็นเดียรัจฉานชาติอยู่นั้น เหตุมีปัญญาอันฉลาด แลมิได้ประมาทลืมสติจึงพ้นจากภัยนั้นก็มี

ปางเมื่อบรมโพธิสัตว์เอากำเนิดเป็นเนื้อนั้น ยังมิสะคร้อต้นหนึ่ง แลโพธิสัตว์ย่อมพาเอาบริวารไปกินลูกสะคร้อนั้นเป็นนิจกาลมิได้ขาด แลในกาลวันหนึ่ง มีพรานเนื้อผู้หนึ่ง รู้ว่าฝูงเนื้อย่อมเคยมากินลูกสะคร้อ ณ ใต้ต้นสะคร้อนั้น แลพรานนั้นจึงถืออาวุธแล้วก็ขึ้นไปแฝงอยู่ ณ บนต้นสะคร้อนั้น ครั้นแลเถิงเพลากาลโพธิสัตว์ก็พาเอาบริวารมาจะกินลูกนั้นไซร้ แลโพธิสัตว์จึงพิจารณาดูว่า ทุกวันสิมีนกแลรอกกแต[๗]ไต่ไปมา ณบนต้นไม้นั้นมิได้ขาด บัดนี้มิได้เห็นนกแลรอกกแตไต่ไปมาเป็นสงัดอยู่นี้ เห็นจะเป็นเหตุการณ์มิอย่า[๘]เลย แลโพธิสัตว์แลบริวารทั้งปวงนั้นก็มิได้เข้าไปใต้ต้นสะคร้อนั้น แลเวียนอยู่แต่ไกลรอบคอบต้นสะคร้อนั้น แลโพธิสัตว์จึงร้องว่าแก่พฤกษาเทพดาอันอยู่ ณ ต้นสะคร้อนั้นว่า แต่กาลก่อนโพ้น ครั้นแลเห็นเรามา เทพดาย่อมสั่นลูกสะคร้อนั้นลงมาให้เรากิน ในกาลวันนี้เทพดามิได้สั่นลูกสะคร้อลงมาให้แก่เรานั้นด้วยเหตุการณ์ดังฤๅ ครั้นแลพรานได้ยินโพธิสัตว์ร้องว่าแก่พฤกษาเทพดาดังนั้น พรานจึงคิดว่า ชะรอยเทพดาเห็นกูอยู่บนต้นไม้นี้ เทพดาจึงมิสั่นลูกสะคร้อนั้นลง คิดฉะนี้แล้วพรานจึงสั่นลูกสะคร้อนั้นลง แลโพธิสัตว์รู้ว่ามีศัตรูแล้ว จึงพาเอาบริวารไปหากินฐานที่อี่นนั้น อันคือว่ามีสติปัญญาอันฉลาด แลได้พ้นจากเงื้อมมือศัตรู อนึ่ง แม้นเข้าอยู่ในเงื้อมมือศัตรูแล้ว แลได้พ้นจากอำนาจศัตรูนั้นก็มีแล เมื่อบรมโพธิสัตว์เป็นมาณพผู้หนึ่ง แลไปเรียนศิลปศาสตร์ ณ เมืองตักกสิลา ครั้นแลกลับมา พบยักษ์ผู้หนึ่งเป็นยางอยู่ทั่วสรรพางค์ ครั้นแลเห็นโพธิสัตว์แลยักษ์นั้นก็แล่นสาวมาหาโพธิสัตว์ ๆ เอาธนูยิง แลปืนนั้นก็ติดตัวยักษ์นั้นอยู่ แลโพธิสัตว์เอาหัตถ์บาทถีบตียักษ์นั้น หัตถ์บาทโพธิสัตว์นั้นก็ติดตัวยักษ์นั้นอยู่ แลโพธิสัตว์กแทก[๙]ดันด้วยเศียร ๆ นั้นก็ติดอยู่ แลโพธิสัตว์รู้ว่าจะมิพ้นจากมือยักษ์นั้นแล้ว โพธิสัตว์จึงกล่าวแก่ยักษ์นั้นว่า ดูกรยักษ์ ตัวกูนี้เพชร ถ้าแลมึงกินเนื้อแห่งกูก็ดี เลือดแห่งกูก็ดี จะคงอยู่ในท้องมึงนั้นหามิได้ แต่ปากมึงจะตรลอดออกไปโดยทวารแล แลมึงจักเถิงแก่มรณาภัยเที่ยงแท้ ครั้นแลยักษ์ได้ยินถ้อยคำโพธิสัตว์กล่าวดังนี้ ยักษ์นั้นจึงคิดรำพึงว่า แต่กูเอาเป็นอาหารก็มากมาแล้ว แลมาณพผู้นี้ถ้อยคำแลกิริยานั้นหลากทั้งปวง ถ้าแลกูเอามาณพผู้นี้กินเป็นอาหารไซร้ เห็นว่าชีวิตกูจะฉิบหายเป็นเที่ยงแท้ แลยักษ์นั้นก็ปล่อยโพธิสัตว์เสีย อันมีสติปัญญารู้หลักเฉลียวฉลาดกล่าวมาทั้งนี้ ชื่อโมเจยพยัตติแล

อันว่าฉายาพยัตตินั้น อุปรมาประดุจดังเกลือ สุภาวะเกลือนั้นไซร้ สรรพโภชนาหารโอชรสทั้งปวงนั้น อาศัยแก่เกลือเป็นอาทิจึงมีรส แลบุคคลผู้หนึ่งนั้นมีปัญญาอันฉลาดแลมีสติรักษาพยัตตินั้นไว้ แลรู้คุณวิชญาการในโลก คือคีติดนตรีแลขับรำ ช่างเงิน ช่างทองเหลือง สโนหะ แลอิฐแลง ผ้าแลหนังแลด้ายเข็มนั้นก็ดี แลรู้ครบการทั้งนี้ แลการซึ่งจะเสียไปนั้น ก็รู้บำรุงตกแต่งให้ดี แลพากยวาจาซึ่งจะขาดนั้นก็ต่อสืบได้ แลเป็นศัตรูแก่กันแต่ก่อนมานั้นก็ดี ครั้นแลฟังถ้อยคำแห่งอาตมไซร้ ก็กลับคืนเป็นมิตรสหายรักใคร่กันเล่า แลเนื้อความซึ่งจะอัปราไชยนั้นก็ให้มีไชยชำนะได้ แลคนผู้มีคุณวิชาการรู้หลักดังนี้ อาจารย์กล่าวไว้ว่า ชื่อฉายาพยัตติแล

อันว่าธาราพยัตตินั้น บุคคลผู้หนึ่งนั้นมีปัญญารู้หลักแลฉลาดในคำนวณควณการ ๑๐ ประการ เป็นอาทิคิดควณทันคัณทูล แลน้ำ แผ่นดิน แลเรือ เกวียน ไม้ หนัง แลทอง เทียน แลฉับชาญชำนาญควณทั้งนี้ จะตั้งพยุหะ ลบ บวก คูณ หาร แลรู้จักโดยคุณสังขยา มาก น้อย สั้น ยาว ตื้น ฦก หนัก เบาทั้งปวงจนเถิง กล่ำ กล่อม แลเมล็ดข้าว[๑๐] เมล็ดงา แลพันธุ์ผักกาด แลเส้นผมนั้นก็ดี อนึ่ง จะดำเนินโดยชลมารค สถลมารคไซร้ ก็จำ ศก มาส วัน คืน แลดาวฤกษ์ทั้งปวงนั้นเป็นสำคัญ แลจะมุ่งหมายไปสถานใด ๆ นั้นก็มิได้แคล้วคลาดซึ่งตามปรารถนานั้น อนึ่ง รู้จักลักษณะสินค้าซึ่งจะควรซื้อขายสะดวกนั้น แลสำคัญด้วย คิ้ว นิ้ว ตา แลคิดอ่านรวดเร็วฉับไวนั้น อาจารย์กล่าวไว้ว่า ชื่อธาราพยัตติแล

อันว่าสัลลวพยัตตินั้น อุปรมาประดุจดังยางรัก ๆ นั้นย่อมผูกพันรัดรึงไว้ให้มั่นคง แลแต่งเครื่องทั้งปวงให้หมดไซร้ แลยังมีบุคคลผู้หนึ่งนั้น แลคนทั้งหลายทั้งปวงซึ่งอยู่รอบคอบใกล้ไกลนั้นย่อมทำสนิทชิดเชื่อผูกรักมักใคร่ให้ปันพัสดุสิ่งใด ๆ นั้นก็ดี แลช่วยกิจการแห่งผู้อื่นนั้นเป็นฉันกิจการแห่งอาตม แลทำประดุจดังญาติ แล้วก็กล่าวถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตนั้น แลผู้ได้บังคับบัญชาเป็นใหญ่นั้นก็มีบรรณาการไปสู่หาเนือง ๆ มิได้ขาด แลกิจการแห่งท่านนั้นมิได้เกียจคร้านแลช่วยด้วยหัวใจตามกำลังแห่งอาตม แลผู้กอปรด้วยคุณวุทธิทั้งปวงนั้นก็มีบรรณาการสิ่งอันควรนั้น ผูกเป็นไมตรีไว้ อนึ่ง จะดำเนินโดยทางบก เรือไปสถานใด ๆ ไซร้ แลผู้อยู่หัวบ้านหัวเมืองทั้งนั้นย่อมทำฉันญาติ มิได้ตระหนี่ แลมีของฝากรากไม้ตามบังควรนั้น ผูกพันเป็นมิตรไมตรีไว้ แลกล่าวถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตดุจอำมฤตนั้น ครั้นแลเห็นหน้าแลฟังถ้อยคำอันไพเราะนั้น ก็บังเกิดมีความเมตตากรุณา ครั้นแลมีความเมตตากรุณาแล้วจะปรารถนาสิ่งใด ๆ นั้น มิอาจที่จะอำพรางไว้ได้เลย แม้นโลกธรรมสิ่งใด ๆ บังเกิดมีแก่อาตมก็ดีย่อมมีผู้ช่วยทำนุกบำรุง เมื่อแลผูกเป็นพันธมิตรไว้ทุก ๆ หัวบ้านหัวเมืองแลสถานใด ๆ ดุจดังนัยซึ่งกล่าวมานี้ไซร้ คือว่าฝากอาตมแลโภชนาหารไว้แก่คนทั้งปวงนั้นดุจเดียว แลบุคคลกอปรด้วยสติธรรม แลช่องสำแดงพยัตติไว้ให้แจ้งดังนี้ แลพิจารณาเห็นผลประโยชน์แห่งอาตมในอนาคตกาลนั้นไซร้ อาจารย์กล่าวไว้ว่า ชื่อสัลลวพยัตติแล

อันว่าลเหลหาพยัตตินั้นอุปรมาประดุจดังปลวก สุภาวะปลวกนั้นไซร้ แม้นก้อนดินแต่ประมาณปลายข้าวสารนั้นก็ดี เหตุกำลังอันอุตสาหะขนเนือง ๆ นั้นก็ให้บังเกิดเป็นจอมปลวกขึ้น แลบุคคลผู้บริบาลรักษาสติธรรมแลสำแดงพยัตติไว้ให้แจ้งแล้วแลตัดความประมาทนั้นเสีย แลมีความเพียรมิได้ลืมสมปฤดีซึ่งจะเลี้ยงชีวิตนั้นทุกเมื่อ แลรู้ขนาดซึ่งจำหน่ายแลประดับประดาแลจะบริโภคกินอยู่ แลจะสำรวลเล่นหัว แลจะประมูลส่ำสม แลรู้บังคับบัญชาตักเตือนข้าไทแลญาติพี่น้องลูกหลานแลคนอันทรมานทนทุกข์ยากแลตัดความเกียจคร้านเสีย แลตั้งความเพียรซึ่งจะเลี้ยงชีวิตดังน้ำในกัลออมอันใสนั้นไซร้ อาจารย์กล่าวไว้ว่า ชื่อลเหลหาพยัตติแล

อันว่าสุจิลาพยัตตินั้น อุปรมาประดุจดังกต่ายล้ำสัตว์จตุบาททั้งปวงไซร้ กต่ายนั้นรู้หลักอุบายกลยิ่งกว่าสัตว์ทั้งปวงนั้น แลผู้ฟังเอาถ้อยคำแห่งกต่ายนั้นไซร้ ก็ย่อมได้ทุกข์รำคาญแค้นเคืองก็มี แลสัตว์อันถ่อยนั้นก็ยกไว้ บ่เริ่มหนึ่งไกรสรสีหราชแลฟังเอาถ้อยคำแห่งกต่ายนั้นไซร้ ก็เถิงซึ่งความพินาศดุจเดียว

ยังมีกต่ายตัวหนึ่งย่อมไปแสวงหาอาหารกิน ณ ราวป่าที่สงัดแห่งหนึ่ง แลมีลูกหมากตูมสุก หล่นตกลงมาระต้องทางตาลแลใบตาล แลกต่ายนั้นตกใจก็ซังไปโดยกำลัง ก็ตกลง ณ บ่อแห่งหนึ่ง ครั้นแลสัตว์จตุบาทอันอื่นเห็นกต่ายซึ่งตกอยู่ ณ บ่อนั้นจึงถามว่า ท่านมาอยู่ ณ บ่อนี้ด้วยเหตุอันใด แลกต่ายจึงบอกชี้ขึ้นไปว่า ฟ้าจะทำลายลงมา แลกลัวจะทับต้องเราตาย เราจึงลงมาเร้นอยู่ ณ บ่อนี้แล สัตว์ทั้งปวงก็แหงนขึ้นไปแลดูบนอากาศแลเห็นเมฆเกลื่อนกลุ้มไปมา แลเห็นอาการนั้นประดุจหนึ่งฟ้าจะทำลายลงมาดุจเดียว แลสัตว์ทั้งปวงนั้นกลัวภัยต่าง ๆ ก็โจนลงเต็มอยู่ ณ บ่อนั้น แลสัตว์ซึ่งเหลือนั้นก็แสวงหาบ่อแห่งอันอื่น แลเอิกเกริกเป็นโกลาหลอยู่ทั้งป่านั้น แลสีหราชจึงถามสัตว์นั้น ครั้นแลรู้เหตุการณ์นั้นแล้ว สีหราชจึงระงับสัตว์ทั้งปวงนั้นให้สงบอยู่ แลเมื่อชันสูตรไต่ถามไซร้ เกิดอุบัติเหตุเพราะกต่าย แลจึงให้หากต่ายมาถาม แลกต่ายจะได้บอกโดยสัตย์ตามซึ่งตนตระหนกตกใจ แลซังแล่นตกลง ณ บ่อนั้น แลตนแสร้งใส่กลล่อลวงสัตว์ทั้งปวงให้ลงเต็มบ่อนั้น แลบอกเป็นอุบายกลแก่สีหราชว่า ข้าพเจ้าเห็นศัตรูเจ้ากูมาเถิงแล้ว ข้าพเจ้าจะบอกแก่เจ้ากูให้รู้ เพื่อจะให้เป็นคุณ แลแล่นมาโดยกำลังก็ตกลงในบ่อนั้น แลสัตว์ทั้งปวงเห็นก็โจนลงตามข้าพเจ้า แลสีหราชไซร้เป็นใหญ่แก่สัตว์ทั้งปวง ณ ป่านั้น ครั้นแลได้ยินว่ามีศัตรูก็เป็นอันแค้นเคืองนักหนา จึงถามกต่ายว่า ศัตรูแห่งเรานั้นอยู่ฐานที่ใดให้เร่งนำไป ถ้าแลนำไปมิได้ชีวิตแห่งมึงจะฉิบหายเป็นเที่ยงแท้ แลกต่ายก็นำไป ณ บ่อน้ำอันฦกแห่งหนึ่งนั้น ว่าศัตรูแห่งเจ้ากูอยู่ในฐานที่นี้เป็นมั่นแม่น แลสีหราชก็เยี่ยม[๑๑]ลงไป ณ บ่อนั้น ด้วยกำลังความโกรธ แลเห็นเงาแห่งอาตมนั้น แลคิดว่าศัตรู ทำสีหนาทด้วยกำลังฤทธิ์แลเงานั้นก็ทำด้วย แลราชสีห์ก็เร่งบันดาลความโกรธขึ้นมายิ่งนักหนา แลถีบยันด้วยกำลังก็ตกลง ณ บ่อนั้น ก็เถิงแก่มรณาภัย

อนี้[๑๒]คือว่า กต่ายรู้อุบายกลกว่าสัตว์จตุบาททั้งปวงนั้น แลบุคคลซึ่งรู้อุบายกลหลักแหลมนั้นคือ ไกรวัฏพราหมณ์อันสั่งสอนท้าวจุลนีพรหมทัตนั้น อนึ่ง ไกรวัฏพราหมณ์สั่งสอนด้วยถ้อยคำอันรู้หลักไพเราะให้ไปสรรเสริญโถมนาการพรรณาเถิงโฉมนางปัญจาลจันที ณ เมืองวิเทหราชนั้น อนึ่ง ไกรวัฏพราหมณ์คิดอ่านจะแต่งสาส์นไปเถิงเมืองวิเทหราชนั้นว่า ให้ท้าววิเทหราชมารับเอานางปัญจาลจันทีนั้นเถิดจะแต่งเป็นวิวาหะให้ แลท้าววิเทหราชก็จะเชื่อเอาแล้วก็จะยกมา ครั้นแลยกมาแล้วก็จะอยู่ในเงื้อมมือเราแท้แล ครั้นแลคิดดังนั้นแล้ว จึงให้ราชทูตเอาสาส์นนั้นไป ครั้นแลท้าววิเทหราชได้ฟังสาส์นก็บรรทมมิหลับ แลถามอาจารย์ทั้ง ๔ แลอาจารย์ทั้ง ๔ เหตุเป็นมนทปัญญา แลมิได้พิจารณาซึ่งศัตรูแลมิตร จึงว่าท่านจะยกนางแก้วให้นั้นควรที่จะเสด็จไป แลท้าววิเทหราชจึงถามหารือพระมโหสถ ๆ จึงทูลว่า ท่านนั้นเป็นศัตรูแต่ก่อนมา แลซึ่งจะเป็นมิตรนั้นเห็นเป็นอันยากนักนั้น แลคิดเห็นแต่เหยื่อแลซึ่งเป็นเงี่ยงงานั้นมิได้เห็น แลบรมโพธิสัตว์จึงว่า พระองค์อย่าเพ่อเร็วพระทัย แลขอรำพึงดูน้อยหนึ่งก่อน แลเหตุบรมโพธิสัตว์กอปรด้วยปัญญาญาณ แลใช้ให้สุวบัณฑิต[๑๓]รู้ว่าคิดอ่านเป็นกลอุบายล่อลวงจะให้เข้าไปสู่เงื้อมมือดังนั้นแล้ว สุวบัณฑิตก็บอกแก่บรมโพธิสัตว์ ๆ รู้เป็นมั่นแม่นแล้วจึงคิดเป็นรำพึงว่า นางปัญจาลจันทีกับท้าววิเทหราชผู้เป็นเจ้านั้น ก็มิให้เข้าไปในเงื้อมมือแห่งท่านนั้น ครั้นแลโพธิสัตว์คิดดังนั้นแล้ว จึงทูลแก่ท้าววิเทหราชว่า ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปรับนางปัญจาลจันทีนั้นก็ควรแล้ว แลขอพระองค์ได้งดก่อน แลข้าพเจ้าจะข้ามไปเถิงเมืองพาราณสีแล้วข้าพเจ้าจึงจะกลับมาทูลแก่พระองค์ ๆ จึงเสด็จไปเถิด แลบรมโพธิสัตว์จึงเอารี้พลอีกทั้งผู้มีคุณวิชญาการตามบังควรนั้นข้ามไปยังเมืองพาราณสี แลท้าวจุลนีพรหมทัตราชก็ชื่นชมยินดีนักหนาว่า คราทีนี้เข้าอยู่ในเงื้อมมือแห่งเราแล้ว แลบรมโพธิสัตว์จะปรารถนาสิ่งใด ๆ แลท้าวจุลนีพรหมทัตให้ตามปรารถนานั้น แลท้าวเอาเนื้อความในมโหสถชาดกนั้นมาเปรียบเป็นอุปรมัย เท่าเถิงได้นางปัญจาลจันทีมาแก่ท้าววิเทหราชนั้น ประการหนึ่งเหตุไกรวัฏพราหมณ์นั้นรักษาสติธรรม แลอุบายอันชื่อสุจิลาพยัตติใส่กลล่อลวง จึงท้าววิเทหราชก็ได้ไปเถิงเมืองพาราณสีนั้น แลพระมโหสถนั้นเหตุรักษาสติธรรมกอปรด้วยปัญญาอันเฉลียวฉลาดชื่อโมเจยพยัตตินั้น รู้ว่าท่านล่อลวงเป็นอุบายกล แลเข้าไปอยู่ในเงื้อมมือแห่งท่านแล้วก็ดี เหตุปัญญาญาณแห่งบรมโพธิสัตว์จึงเปลื้องพ้นจากเงื้อมมือท่าน แลมิได้ลุในอำนาจท่านนั้น แลได้ไปยำยีในบ้านเมืองท่านนั้นอีกเล่า แลสุจิลาพยัตติซึ่งเป็นกลอุบายนั้น จะรู้เถิงเป็นอันยากนักหนา แลซึ่งจะทำลายให้ถอยฤทธานุภาพก็ดี จะให้ถอยผลประโยชน์แห่งกันก็ดี เหตุมีปัญญาฉลาดกอปรด้วยโมเจยพยัตติ จึงเปลื้องให้พ้นจากสุจิลาพยัตติอันกล่าวว่ามีปัญญารู้หลักเฉลียวฉลาดนั้น แลมิได้รักษาสติธรรมไว้ไซร้ จะได้ทุกข์รำคาญนักแล

อนึ่ง ในเมืองสะเทิมนั้นยังมีกระษัตริย์องค์หนึ่งชื่อสมิงมนูหระ แลพญานั้นมีกลองไม้แวง แลมีทหารพี่น้องสองคน ๆ หนึ่งชื่อปราบใหญ่ คนหนึ่งชื่อปราบน้อย แลพญานั้นมีเดชานุภาพอันยิ่ง แลปกครองรักษาประชาชนทั้งปวง เป็นใหญ่แก่พญาร้อยเอ็ดเมือง แลเมืองสะเทิมนั้นประดุจดาวดึงสาสวรรค์ เหตุมีศักดานุภาพเป็นอันยิ่ง แลพญาพุกามคิดจะทำลายอานุภาพนั้นเสีย แลพญาพุกามนั้นจึงสั่งสอนลูกหญิงคนหนึ่งชื่อนางคลาส่งไปแก่พญามนูหระ ๆ ก็รู้ว่าพญาพุกามนั้นเป็นศัตรูแต่ก่อนแล้ว เหตุมิได้กอปรด้วยโมเจยพยัตติมีปัญญาอันฉลาด แลมิได้รักษาสติธรรมไว้ แลเอานางคลานั้นเป็นนางพญา ครั้นแลต้องคุณวิเศษอุปเท่ห์นั้นมากแล้วไซร้ ก็เงื่องงุนมืดมัวไปประดุจดังบุคคลอันเมาสุรา แลแมลงภู่อันเมารสคนธานั้น แลถ้อยคำซึ่งนางคลาว่ากล่าวประการใดนั้นพญาสะเทิมก็ฟังยินเอาถ้อยคำนั้น แลนางคลาจึงถามพญาสะเทิมว่า เจ้ากูมีศักดานุภาพนั้นเพราะเหตุอันใด แลพญาจึงบอกว่า เรามีฤทธานุภาพนี้เพราะเหตุ ๓ ประการ เหตุกลองไม้แวงประการหนึ่ง เหตุทหารทั้งสองประการหนึ่ง เหตุบิดาแห่งเราจำพรรษา แลรักษาศีลประการหนึ่ง เหตุ ๓ ประการนี้เราจึงมีเดชานุภาพเป็นอันยิ่ง แลนางคลารู้เหตุซึ่งพระบิดาพระยามนูหระจำพรรษาแลรักษาศีล มิได้ดำเนินไปมาในไตรมาสนั้นแล้ว นางคลาจึงทูลแก่พญาสะเทิมว่า น้องเจ้ากูซึ่งเกิดด้วยนักสนมนั้นก็มีอยู่ แลเกลือกน้องเจ้ากูทั้งนั้นเอาใจออกแลได้พระบิดาเจ้ากูไปไซร้ จะมีเดชะเป็นอันมั่นคงเท่าแล แลควรเอาพระบิดาเจ้ากูมาไว้ใกล้พระองค์จึงจะชอบ แลพญาสะเทิมก็ฟังเอาถ้อยคำนางคลา จึงให้ไปเชิญพระบิดา ๆ นั้นจำพรรษาจึงมิมา ครั้นพระบิดามิมาแลนางจึงเอาเนื้อความซึ่งพญาจะทรงพระโกรธแก่พระบิดานั้นมาทูลยุยงแก่พญา ๆ ก็ทรงพระโกรธแก่พระบิดา จึงใช้ให้ทหารทั้งสองคือ สมิงปราบน้อยแลสมิงปราบใหญ่ให้ไป แลทหารทั้งสองจึงคิดว่า พระมหากระษัตริย์ใช้เรานี้ทำเนียมจะเอาเป็นนั้นหามิได้ แลทหารทั้งสองจึงตัดเอาเศียรพระบิดานั้นมา ครั้นแลนางคลาเห็นเศียรแห่งพระบิดานั้นแล้ว แลนางคลาจึงทูลยุยงแก่พญาว่า ทหารทั้งนี้คิดเพื่อจะให้ถอยฤทธานุภาพแห่งพระองค์จึงทำฉะนี้ แลทูลยุยงต่าง ๆ ซึ่งพญาจะทรงพระโกรธแก่ทหารทั้งสองนั้น แลพญาจึงทรงพระโกรธ แลให้เอาทหารทั้งสองนั้นไปจำไว้ แลนางคลาจึงทูลแก่พญาดังนี้เล่าว่า พระบิดาก็หามิได้แล้ว แลทหารทั้งสองก็หมองใจเล่า แลเห็นแต่กลองลูกเดียวนี้ แลกลองนี้เป็นอันเล็กนักหนา แลจะฝ่าฝืนศัตรูนั้นมิได้ ถ้าแลใหญ่ขึ้นอีกน้อยหนึ่งจึงจะดี แลพญาฟังเอาถ้อยคำนางคลานั้น จึงให้แปลงกลองนั้นให้ใหญ่ขึ้น ครั้นแลกลองนั้นเสียไซร้ อำมาตย์เสนาบดีทั้งปวงก็ติฉินนินทาไปมา ครั้นแลนางคลารู้ว่าติฉินนินทาดังนั้น นางคลาก็พาเอาข้าไทพรรคพวกของเองนั้นลงเรือหนีขึ้นไป ณ เมืองพุกาม จึงแต่งให้ไปตาม แลได้ตัวนางคลานั้นมา ครั้นแลถึงท่าเรือจึงให้ตัดนมเสียทั้งสองเต้า แลนางคลานั้นเถิงแก่มรณาภัย ตำบลนั้นเรียกชื่อว่าตัดนมนางแล เหตุพญาพุกามนั้นรักษาสติธรรมไว้ กอปรด้วยโมเจยพยัตติ มีกลอุบายหลักแหลม แลทำลายฤทธานุภาพแห่งพญาสะเทิมนั้นเสียได้แล แลทหารทั้งสองคือ ปราบน้อย ปราบใหญ่นั้น จึงคิดรำพึงว่า เราจะสู้ตายในจำนองจองจำนี้ด้วยอันใด แลเราจะหนีไปสู่เมืองปรมาแลเมืองไทใหญ่มิได้ฤๅ แลคิดดังนั้นแล้ว จึงปราบน้อยหนีขึ้นไป ณ เมืองพุกาม แลพญาพุกามได้ปราบน้อยไว้แล้ว ก็ยกทัพไปรบเอาเมืองสะเทิมนั้น แลพญาสะเทิมรู้ว่าศึกมาเถิงเมือง จึงให้ปราบใหญ่นั้นแปลกกันว่าผู้อื่น แลเข้าต่อแย้งสู้ฟันกัน ณ แผ่นดินแลบนอากาศ แลจะเอาไชยชำนะแก่กันมิได้แล้ว จึงร้องถามกันไปมา แลรู้ว่าเป็นพี่น้องกันแล้ว จึงก็วางอาวุธทั้งปวงนั้นเสีย แลกอดคอกันร้องไห้อยู่ แลพญาพุกามรู้ว่าทหารทั้งสองนั้นเป็นพี่น้องกันแล้ว แลพญาพุกามก็เลิกทัพกกับไปยังเมืองพุกาม แลพญาพุกามนั้นเพราะเหตุความโลภมีกำลังแลคิดจะยำยีชิงเอาราชสมบัติแห่งท่าน แลคิดเป็นกลอุบายอยู่เป็นนิจกาล แลจึงรำพึงว่าจะทำประการใดจะให้ทหารทั้งสอง คือปราบน้อย ปราบใหญ่นั้นหมองใจแก่กัน เพราะเหตุมีปราบใหญ่อยู่ ณ เมืองสะเทิมนั้น เมืองสะเทิมนั้นจึงมิได้เข้าอยู่ในเงื้อมมือเรา แลพญาพุกามคิดรำพึงดังนี้แล้ว จึงแต่งถ้อยคำเป็นอุบายกล เขียนเป็นหนังสือใช้ให้ปลอมเข้าไป ณ เมืองสะเทิม แลผู้รักษาด่านทางนั้นเห็น แลผู้ถือหนังสือไปนั้นก็ซัดแต่หนังสือไว้แล้วก็หนีไป ครั้นแลได้หนังสือนั้นแล้วเอาทูลแก่พญาสะเทิม พญาสะเทิมก็ให้อ่านดู แลในหนังสือนั้นว่า ซึ่งสมิงปราบใหญ่จะให้เราลงมาในปีนี้ไซร้ เราจะมานั้นยังมิได้เพราะว่าจะตกแต่งการทั้งปวงแลเสบียงเรียงไถ้นั้น ยังมิได้เกือบเหลือ แลต่อปีหน้าเราจึงจะลงมาได้ ครั้นแลเราลงมาแล้ว สมิงปราบใหญ่จะให้ตั้งค่ายตั้งทัพอยู่ในที่ฐานตำบลใดนั้น เราจะทำตามทุกประการ แลฝ่ายสมิงปราบเล่าไซร้ ซึ่งได้กทำกติกาสัญญาแก่กันนั้นก็อย่าให้เสียความสัญญานั้น ครั้นแลเราได้เมืองสะเทิมแล้ว สมิงปราบจะปรารถนาสิ่งใด เราจะให้ตามความปรารถนานั้น ครั้นแลพญาสะเทิมรู้เนื้อความในหนังสือนั้นแล้วก็ทรงพระโกรธนักหนา จึงให้หาปราบใหญ่มาว่าดังนี้ เพราะเหตุเราได้จำสมิงปราบไว้ แลสมิงปราบแค้นใจแก่เรา แลเห็นว่ากทำกติกาสัญญาแก่ท่านนั้นแม่นจริงแล้ว แลให้เอาสมิงปราบใหญ่นั้นไปฆ่าเสีย แลสมิงปราบจึงออกปากว่า เรานี้จะได้มีโทษผิดสิ่งใดนั้นหามิได้ เหตุวิบากสัตว์ทั้งหลายจึงบังเกิดภัยแก่เราทั้งนี้ ถ้าแลเราตายแล้ว ให้เอาเศียรเราไว้ ณ กลางเมือง แลหัตถ์บาทเรานั้นให้ไว้ ณ ประตู จะปีนเมืองแลจะคิดทำร้ายนั้นมิอาจทำร้ายได้เลย ถ้าแลมิทำตามดังนี้ไซร้เมืองสะเทิมนั้นท่านจักยำยีแล ครั้นแลว่าดังนี้แล้ว จึงเพชฌฆาตก็ฆ่าสมิงปราบนั้นเสีย แลจึงทำตามคำสมิงปราบสั่งไว้นั้น ครั้นแลพญาพุกามรู้ว่า หาสมิงปราบใหญ่มิได้เป็นมั่นแม่นแล้ว จึงยกทัพลงมาปีนกำแพงรบเอาเมืองสะเทิม แลรบเอามิได้ ก็แตกออกมาเป็นหลายครั้ง แลสมิงปราบน้อยก็พิจารณาว่า เห็นจะมีเหตุสักสิ่งมิอย่าเลย แลปราบน้อยจึงปลอมเข้าไปหาพี่สะใภ้ในเมืองสะเทิมนั้น ครั้นแลพบพี่สะใภ้ แลรู้แห่งที่ฝังกดูก[๑๔]สมิงปราบใหญ่ผู้พี่แห่งตนนั้น แลได้กดูกสมิงปราบนั้นแล้วก็ใส่ถุงผ้าสะพายออกมาแล้ว ก็กรูกันปีนกำแพงขึ้นแลรบเอาเมืองสะเทิมนั้น จำเดิมแต่นั้นมาจึงขาดกระกูลวงศ์แห่งพญาสะเทิมแลสมณพราหมณ์ เศรษฐีคฤหบดีทั้งปวงแตกกันขึ้นไปอยู่ ณ เมืองพุกามนั้น แลกอปรด้วยสุจิลาพยัตติ รู้รักษาอุบายกลซึ่งจะชิงเอาราชสมบัติแห่งท่านนั้น จะปรากฏยิ่งกว่าสุจิลาพยัตติ อันกล่าวว่าอุบายกลนั้นหามิได้เลย พระมหากระษัตริย์ชิงกันก็ดี โหราชิงกันก็ดี ผู้มีคุณวิชาการชิงกันก็ดี ก็ย่อมมักทำลายล้างผลาญกันเอง แลสุจิลาพยัตติอันกล่าวอุบายกลนั้น อุปรมาประดุจพิษงู แลโมเจยพยัตติอันมีปัญญารู้หลักเฉลียวฉลาดนั้น อุปรมาประดุจดังอาลัมพาย[๑๕] แลอาลัมพายนั้นเหตุรู้อาคมสบถน้ำ จึงปัดพิษแห่งงูนั้นให้ระงับดับหายไปได้ ถ้าแลมิรู้เถิงไซร้ ก็จะเถิงแก่มรณาภัยเป็นเที่ยงแท้ เหตุนั้นอาจารย์ก็กล่าวไว้ว่า ชื่อสุจิลาพยัตติแล

อันว่าสันนีกพยัตตินั้นดังฤๅ อุปรมาประดุจดังพื้นอากาศแลฉัททันตสระ สภาวะพื้นอากาศนั้นไซร้ ในเพลากาลทั้งสามนั้นก็บังเกิดมีพรรณสามประการ แลในเพลาอรุโณทัยนั้น เมื่ออรุณรังสีก็มีพรรณสี่ประการคือ ดังสีเงินแลสีทองแลสีทองแดงแลสีสัมฤทธิ์ ประดุจดังแกล้งเขียนแต้มแต่งแลเป็นอันงามรุ่งเรืองงามแก่ตาโลกทั้งปวง แลในกาลเมื่อเพลาสายัณห์นั้นไซร้ให้บังเกิดเมฆมีพรรณต่าง ๆ คือ สีทอง แลสีทองแดงแลสัมฤทธิ์ประดุจแกล้งฉละเฉลาแต้มเขียนไง้ ณ พื้นอากาศนั้น แลควรทัศนาการเป็นที่จำเริญใจ งามแก่ตาโลกทั้งปวง แลในเมื่อเพลาอัฑฒยาม[๑๖]นั้นก็มีรัศมีรุ่งเรืองประเทืองไปด้วยรัศมีแห่งดาวทั้งปวงแลกอปรด้วยดาวฤกษ์ทั้งร้อยแปดประดับห้อมล้อมพระจันทร์ แลมีเศวตวิมานอันเทียมด้วยเศวตกุญชร[๑๗]อันเป็นโสภณาการแก่ตาโลกทั้งปวง

อันว่าฉัททันตสระนั้นเล่าไซร้กอปรด้วยดวงดอกบัวทั้งห้า[๑๘] แลดวงดอกอุบลทั้งสาม[๑๙]แลดวงดอกสายบัวทั้งสอง[๒๐]อันบังเกิดเป็นธรรมดา แลมีดอกไม้ต้นไม้ต่าง ๆ นานาพรรณ ประดับห้อมล้อมเป็นบริวารสระนั้น แลฤๅษีโยคีอันกอปรด้วยญาณนั้น ครั้นแลเถิงสารทฤดู[๒๑]ก็เหาะเข้าไปยังหิมพานต์ แต่เล็งแลดูพรรณดอกไม้แลพรรณไม้ทั้งปวงนั้นจึงมาสำแดงแก่ตาโลกทั้งปวงให้แจ้ง แลผู้มีปัญญาอันฉลาดนั้นก็พิจิตรรจนาวาดเขียนแต้มแต่งฉลักเฉลาแลปักร้อยอันแล้วไปด้วยเนาวรัตน แลด้วยไหมอันมีพรรณต่าง ๆ เป็นรูปภาพแลนกเนื้อเครือวัลย์ตามฤๅษีโยคีสำแดงไว้นั้น แลบุคคลผู้รักษาสติธรรมแลรู้ตกแต่งประดับประดาประการรจนาลังการเป็นขวัญตาให้จำเริญใจโลกทั้งปวงนั้นก็ควรที่สรรเสริญแลรักใคร่สการบูชา แลสามประการนี้ดุจดังทิพยโอสถแลมีเสนหเล่ห์กลนั้น บุคคลอันฉลาดแลมีคุณวิชญาการดังนี้ คือพยัตติ ๙ ประการ อันเกิดในขันธสันดานแห่งสัตว์โลกทั้งปวงนั้น

แลสัตว์ทั้งปวงนั้นย่อมได้แสวงหาผลประโยชน์ซึ่งจะเลี้ยงชีวิตแห่งอาตมนั้นก็เพราะเหตุพยัตติทั้ง ๙ ประการนี้ ถ้าแลพยัตติ ๙ ประการ นี้ ประการใดประการหนึ่งแลมิได้มีแก่บุคคลผู้ใดไซร้ บุคคลผู้นั้นเป็นพาลบุคคลเที่ยงแท้ แลบุคคลอันมีพยัตตินั้นจึงว่ามีปัญญา แลปัญญานั้นมีลักษณะ ๓ ประการคือ จุลบัณฑิต ๑ มัธยมบัณฑิต ๑ มหาบัณฑิต ๑ บุคคลผู้ใดรู้จักคุณแลโทษผลประโยชน์แต่ในอิหโลกนี้แลซึ่งจะเป็นคุณเป็นโทษผลประโยชน์ในบรโลกนั้นมิได้รู้ไซร้ ชื่อจุลบัณฑิต แลบุคคลผู้ใดรู้จักคุณโทษผลประโยชน์ในอิหโลกบรโลกแลรู้แสวงหาผลประโยชน์ในอิหโลกบรโลกนั้นไซร้ ชื่อว่ามัธยมบัณฑิต แลบุคคลผู้ใดรู้จักคุณโทษในอิหโลกบรโลกนั้น แลเชื่อเอาเป็นมั่นแม่นแล้ว แลเลี้ยงชีวิตโดยธรรม แลปรารถนาเอามรรคผลนั้นไซร้ ชื่อว่ามหาบัณฑิตแล

อันว่าปัญญานั้นเหตุบริบาลรักษาสติไว้ ประดุจดังเทียนแลชวาลาทิพย์อันส่องให้สว่างในที่อนธการ แลส่องจิตวิญญาณแห่งสัตว์ทั้งปวงให้มีความคิด แลความปรารถนาคือจินตโยนาม ได้ชื่อว่าจินเตยะนั้น แลเพราะเหตุมีจิตแลกายอันหมั่นแลเป็นพหูสูต พหูทัสสะ พหูสิกขี พหูสิปปะ บริบูรณ์ด้วยคุณ ๔ ประการนี้ จึงชื่อว่า จาเรพยัตติ แลเหตุรักษา ธนทรัพย์ ข้าว น้ำ วัว ควาย ช้าง ม้า ข้าไทซึ่งจะเลี้ยงชีวิตนั้นมิให้เข้าอยู่ในเงื้อมมือศัตรูได้นั้นจึงชื่อว่าโยคพยัตติ แลเหตุปัญญาอันฉลาดมิดชิดแนบเนียน แลรู้เถิงอุบายกลแห่งท่านนั้นแล้ว แลเปลื้องอาตมให้พ้นจากเงื้อมมือศัตรูได้นั้น จึงชื่อว่าโมเจยพยัตติ เหตุช่างวิจิตรรจนาลังการทั้งปวงนั้นควรที่ทัศนาการแลรู้เจรจาไพเราะเอมโอช ซรับซราบควรที่เชื่อแลฟังยินเอานั้น จึงชื่อว่าฉายาพยัตติ แลเหตุมีปัญญารู้ผูกพันธมิตรแก่บุคคลผู้รอบคอบใกล้ไกลนั้นให้มีใจโสมนัสรักใคร่ยินดีนั้น จึงชื่อว่าธาราพยัตติ แลเหตุรู้คำนวณควณการ ลบ บวก คูณ หาร คิดอ่านรวดเร็วฉับพลัน แลรู้พิจารณาเห็นเหตุผลซึ่งไกลนั้น จึงชื่อว่าสัลลวพยัตติ แลเหตุมีความเพียรประมูลส่ำสมซึ่งจะเลี้ยงชีวิตในโลกนี้ จึงชื่อว่า ลเหลหาพยัตติ แลเหตุรู้แต่งถ้อยคำเป็นอุบายกลทั้งปวงนั้นจึงชื่อว่าสุจิลาพยัตติ แลเหตุรู้ตกแต่งประดับประดาให้เป็นสูงศรี เป็นอันงามแก่จักษุวิญญาณทั้งปวงนั้น จึงว่าสันนีกพยัตติ แลลักษณะพยัตติ ๙ ประการบริบูรณ์ ๚

๚ จบเท่านี้แล ๚



[๑] กัลลรูป = รูปเมื่อแรกตั้งปฏิสนธิ

[๒] ฉบับคัดลอกชำระในรัชกาลที่ ๑ ว่า “เลหเลหาพยติ”

[๓] เวฬุคูหา = ปล้องไม้ไผ่ หมายถึงที่อาศัยของแมลงภู่ในปล้องไม่ไผ่

[๔] กโจม = กระโจม

[๕] ความในเอกสารต้นฉบับใช้ว่า “อวน” แต่ในคัมภีร์เนาวพยัตติฉบับชำระคัดลอกในสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า “ยาน”

[๖] บ่เริ่ม น่าจะมีความหมายว่า ปางก่อน ครั้งก่อน

[๗] รอกกแต = กระรอกกระแต

[๘] มิอย่า บ่มิอย่า = แน่นอน เป็นแน่

[๙] กแทก = กระแทก

[๑๐] มาตราชั่งนํ้าหนักโบราณ

๒ เมล็ดข้าว เป็น ๑ กล่อม ๔ สลึง เป็น ๑ บาท

๒ กล่อม เป็น ๑ กล่ำ ๔ บาท เป็น ๑ ตำลึง

๒ กล่ำ เป็น ๑ ไพ ๒๐ ตำลึง เป็น ๑ ชั่ง

๒ ไพ เป็น ๑ เฟื้อง ๒๐ ชั่ง เป็น ๑ ดุล

๒ เฟื้อง เป็น ๑ สลึง ๒๐ ดุล เป็น ๑ ภารา

[๑๑] เยี่ยม = ชะโงก, โผล่หน้า

[๑๒] อนี้ = อันนี้

[๑๓] สุวบัณฑิต หมายถึง นกแขกเต้าสุวโปดกในเรื่องมโหสถชาดก

[๑๔] กดูก = กระดูก

[๑๕] พราหมณ์อาลัมพายในเรื่องภูริทัตชาดก

[๑๖] อัฑฒยาม = อัฑฒราตรี คือ เวลาเที่ยงคืน

[๑๗] ตรงนี้น่าจะผิด เพราะรถของพระจันทร์เทียมด้วยม้าขาว ที่ถูกควรเป็น “เศวตอัสดร”

[๑๘] ดอกบัวทั้งห้า คือ บัวเบญจพิธพรรณ หมายถึงดอกบัวทั้ง ๕ สี

[๑๙] อุบลทั้งสาม คือ นิลุบล (บัวขาบ) รัตตุบล (บัวแดง) และเสตุบล (บัวขาว)

[๒๐] ดอกสายบัวทั้งสอง คือ บัวเผื่อนและบัวผัน

[๒๑] สารทฤดู = ฤดูสารท ได้แก่ระยะสองเดือนหลังฤดูฝน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ