คำนำ

เรื่อง “ปูมราชธรรม” นี้ เอกสารต้นฉบับเป็นสมุดไทยขาว ตัวอักษรไทย ภาษาไทย เก็บรักษาอยู่ที่แผนกเอกสารตะวันออก หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พิศภูมิวิถี นักศึกษาหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณทิต สาขาฝรั่งเศสศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้พบต้นฉบับและได้ขอถ่ายสำเนากลับมายังประเทศไทย ต่อมาได้มอบสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เอกสารเรื่อง “ปูมราชธรรม” มีความสำคัญต่อการศึกษาด้านวรรณคดี อักษรศาสตร์และจารีตในราชสำนักสยาม จึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ข้าราชการกลุ่มงานวรรณกรรม กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ตรวจชำระเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่

“ปูมราชธรรม” เป็นการประมวลข้อธรรมที่พระมหากษัตริย์จะพึงทรงปฏิบัติเพื่อประกาศพระเกียรติคุณให้ปรากฏและเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของเหล่าพสกนิกรในพระราชอาณาจักร เนื้อหาของหนังสือนี้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ ตอนแรก ว่าด้วย “ราชธรรม” เป็นคำสอนหรือข้อแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติ มีการนำตัวอย่างจากเรื่องราวในอดีตมาเป็นอุทาหรณ์ ตอนกลางว่าด้วย “ราชพยัตติธรรม” หรือ “เนาวพยัตติ” อันได้แก่ ความฉลาดรู้แจ้ง ๙ ประการสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ และตอนปลาย แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภท “ร่าย” ว่าด้วย “ราชวิจารธรรม” หรือ ข้อธรรมที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใคร่ครวญพิจารณาเลือกแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติ เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ

พิจารณาจากรูปแบบตัวอักษร คำศัพท์และสำนวนภาษาที่ปรากฏแล้ว เรื่องนี้น่าจะมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งหากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานดังกล่าว ก็นับได้ว่า “ปูมราชธรรม” เป็น “วรรณกรรมสมัยอยุธยา” อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่

เกี่ยวกับราชธรรมขององค์พระมหากษัตริย์ไทยนั้น ข้อธรรมซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายได้แก่ ทศพิธราชธรรม ราชนิติ ราชศาสตร์ จักรวรรดิวัตร ฯลฯ ไม่ปรากฏเรื่อง “ปูมราชธรรม” มาก่อน ประกอบกับสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าว เป็นโอวาทเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรและเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนด “จารีตราชสำนัก” จึงอาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาใน “ปูมราชธรรม” เป็น “วรรณกรรมคำสอน” ที่ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ สำหรับทรงประกอบพระบรมราโชบายในการปกครองเพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์และความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร

อนึ่ง ในการพิมพ์ครั้งนี้ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้ขอให้ นายปรีดี พิศภูมิวิถี เรียบเรียงเรื่อง “ความสนใจเอกสารไทยของชาวฝรั่งเศส ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” เพื่อให้ผู้ศึกษาเรื่อง “ปูมราชธรรม”ได้ทราบถึงความเป็นมาของเอกสารมูลเหตุที่ชาวฝรั่งเศสนำเอกสารไทยไป ตลอดจนการเก็บรักษาเอกสารไทยในหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีสและความสนใจเอกสารไทยของชาวฝรั่งเศส ทั้งได้นำสำเนาเอกสารต้นฉบับมาพิมพไว้ในตอนท้ายของหนังสือนี้ด้วย

กรมศิลปากรหวังว่า วรรณกรรมคำสอนเรื่อง “ปูมราชธรรม” นี้ จะอำนวยคุณประโยชน์ในเชิงวิชาการด้านวรรณคดี อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยแก่ผู้สนใจศึกษาโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ