สยาม-ฝรั่งเศส : การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม

กรณีที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาเรื่องการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมในสมัยอยุธยาจะปรากฏเด่นชัดมากในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - พ.ศ.๒๒๓๑) เมื่อชาติตะวันตกหลากหลายเชื้อชาติได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีวัตถุประสงค์ในพันธกิจที่เด่นชัดมากกว่าที่ปรากฏในรัชกาลก่อน ๆ ดังตัวอย่างเช่น พ่อค้าฮอลันดาได้แสดงความปรารถนาในด้านการค้าและสิทธิทางการค้าที่จะเอื้อประโยชน์แก่บริษัทตนเพิ่มมากขึ้น ส่วนพ่อค้าอังกฤษก็แสดงความพยายามในการยกระดับการค้าระหว่างประเทศของตนกับสยามให้มากขึ้นกว่าเดิม

กล่าวสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับประเทศฝรั่งเศสนั้นเราสามารถแบ่งความสนใจของฝรั่งเศสต่อสยามได้ ๓ ประเด็นสำคัญด้วยกัน โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาและบริบททางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. ความสนใจด้านการเผยแผ่ศาสนา ปรากฏเด่นชัดเมื่อคณะมิซซังต่างประเทศ กรุงปารีส (Missions Etrangères de Paris) ได้ส่งคณะมิชชันนารีเดินทางมายังภูมิภาคตะวันออกไกลโดยมีจุดหมายปลายทางที่แคว้นโคชินจีน แคว้นตังเกี๋ย แต่เมื่อเดินทางเข้ามาถึงยังสยามก็พบว่าดินแดนนี้มิได้รังเกียจการเคารพนับถือศาสนาอื่น ๆ คณะมิชชันนารีจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเผยแผ่ศาสนาในดินแดนนี้[๑] ทั้งได้ดำริที่จะจัดตั้งโรงเรียนสอนศาสนา “สามเณราลัย” ขึ้น[๒] ความสนใจที่จะเผยแผ่ศาสนาได้ขยายพรมแดนจากการพยายามชักจูงให้ชาวสยามเข้ารีตไปสู่การชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยอมรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำพระองค์อีกด้วย หากเมื่อพระสังฆราช ลอมแบร์ เดอ ลา มอตต์ (Lambert de la Motte - พ.ศ.๒๑๖๘ – พ.ศ. ๒๒๒๒) ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลเรื่องราวต่าง ๆ ทางคริสต์ศาสนา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มิได้ทรงแสดงพระราชหฤทัยที่จะทรงเข้ารีต แม้บางครั้งจะทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับเรื่องศาสนาบ้างก็ตาม ความสนพระราชหฤทัยของพระองค์อยู่ที่สรรพวิทยาการตะวันตกที่ดูจะเป็นของใหม่ในดินแดนตะวันออกมากกว่า ผลของความพยายามในครั้งนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จตาม วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังที่บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ (De Choisy) ระบุไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ทราบแก่ใจอยู่แล้วว่า การที่พูดกันว่าพระเจ้ากรุงสยามจะทรงเข้ารีตนั้น เป็นคำพูดที่เกินกว่าเหตุมาก ข้าพเจ้าได้รู้สึกว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงยอมที่จะปกครองและบำรุงพวกเข้ารีต แต่หาใช่พระองค์เองจะเข้ารีตด้วยไม่ การที่พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนี้ก็โดยพระราชดำริจะชักนำให้ชาวต่างประเทศและสินค้าได้เข้าไปในพระราชอาณาเขต เพื่อเป็นทางป้องกันมิให้พวกฮอลันดามารังแกข่มเหงพระองค์ได้ เพราะบรรดาเจ้าแผ่นดินฝ่ายอินเดียทุกองค์มีความกลัวพวกฮอลันดามาก”[๓] อย่างไรก็ตาม ข้อสนธิสัญญาเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ก็ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้เผยแผ่ศาสนาได้อย่างเสรี[๔]

๒. ความสนใจด้านการค้า เมื่อการเริ่มวางรากฐานคริสต์ศาสนาในสยามเริ่มเข้ารูปเข้ารอยแล้ว แนวคิดทางด้านการค้าก็ได้รับการเสริมขึ้นมาทันทีโดยท่านสังฆราชปัลลู (François Pallu - พ.ศ. ๒๑๖๙ – พ.ศ. ๒๒๒๗) เพราะเมื่อท่านสังฆราชเดินทางกลับจากกรุงโรม มายังฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๒๑๑ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และกราบบังคมทูลรายงานผลการเผยแผ่ศาสนาและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถานีการค้าขึ้นที่อยุธยา เหตุผลที่ท่านสังฆราชเสนอแนวคิดนี้เนื่องจากว่า “จากอาณาจักรนี้ฝรั่งเศสจะสามารถติดต่อกับเกาะสุมาตรา ชวาและบอร์เนียวได้ทางตอนใต้ ทางตะวันตกสามารถแผ่ขยายไปจนถึงเมืองขึ้นของตนในอินเดียและเกาะมาดากัสการ์ ทั้งยังสะดวกในการขยายอำนาจไปทางตะวันออกในแคว้นโคชินจีน แคว้นตังเกี๋ย ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น”[๕] แนวคิดทางการค้าได้รับการสนับสนุน และพยายามทำให้มั่นคงขึ้นดังปรากฏข้อสัญญาที่เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) ได้ทำไว้เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ แสดงความยินยอมของฝ่ายสยามที่อนุญาตให้บริษัทการค้าของฝรั่งเศสสามารถดำเนินกิจการบางอย่างได้เสรี เช่น การซื้อขายสินค้ากับพระคลัง การค้าขายดีบุกที่ภูเก็จ การตั้งบริษัทห้างร้านในอยุธยา เป็นต้น[๖]

ตัวอย่างดังนี้เป็นการสะท้อนการทดลองแนวคิดค้านการค้าในภูมิภาคตะวันออกไกลของบริษัทการค้าฝรั่งเศสที่พึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ฝรั่งเศสและขุนนางอยู่มาก[๗] แต่การเริ่มต้นที่รวดเร็วเกินไปนั้นทำให้บริษัทไม่พร้อมสำหรับการค้าในภูมิภาคดังกล่าวเท่าที่ควร อีกทั้งไม่สามารถต่อสู้กับอิทธิพลทางการค้าของบริษัทอีสต์อินเดียตะวันออกของฮอลันดาและอังกฤษที่ดำเนินงานในดินแดนมหาสมุทรอินเดียและคาบสมุทรอินโดจีนนี้มาเกือบศตวรรษ ผลสุดท้ายคือบริษัทการค้าของฝรั่งเศสต้องยุติกิจการลงในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โดยประสบภาวะขาดทุนและเมืองสถานีการค้าบางเมืองเช่นปอนดิเชรี (Pondicherry) ถูกยึดครองโดยชาวฮอลันดา[๘]

๓. ความสนใจด้านการเมือง นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ปรากฏขึ้นหลังจากกระแสการค้าในภูมิภาคปรากฏผลสำเร็จในช่วงต้น แต่ในมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาแล้ว นับว่าเป็นความสนใจของฝรั่งเศสที่ปรากฏขึ้นในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลักฐานเอกสารบางฉบับระบุความตั้งใจทางด้านการเมืองการทหารที่เด่นชัด เช่นเนื้อความในจดหมายลับของนายฟอลคอนซึ่งเขียนเป็นภาษาโปรตุเกสที่ขอให้ฝรั่งเศสส่งนายทหารที่มีความพร้อมในการดำรงชีวิตอยู่ในสยามเข้ามาประจำการอย่างลับๆ เพื่อจะได้จัดเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในราชอาณาจักร[๙] หรือในเอกสารคำสั่งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มอบหมายให้นายพลเดฟารจ์ช (Général Desfarges) ผู้นำกองกำลังทหารฝรั่งเศสในบางกอกนั้นก็มีข้อความสำคัญว่าให้ฝ่ายฝรั่งเศสสามารถใช้กำลังในการยึดครองบางเมืองสำคัญในอาณาจักรได้ และในกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ทรงยินยอมให้ชาวฝรั่งเศสเข้าตั้งมั่นที่เมืองบางกอกก็ให้สามารถเข้ายึดอำนาจของเจ้าเมืองไว้[๑๐] ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่ข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงนโยบายของฝรั่งเศสในช่วง ๕ ปีหลังก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากการเผยแผ่ศาสนาและการค้ามาเป็นการแสวงหาดินแดนเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวขึ้นของประชาคมฝรั่งเศสในราวทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มิใช่มีองค์ประกอบของความสนใจหลักเพียง ๓ ประการดังที่ได้สรุปนี้เท่านั้น ผู้เขียนพบว่ามีบางประเด็นที่สมควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนมุมมองความสนใจของฝรั่งเศสต่อวัฒนธรรมของชาวสยาม ซึ่งในที่นี้ จะได้นำเสนอเนื้อความในเอกสารของชาวฝรั่งเศสบางคนที่ได้แสดงความคิดเห็นและความสนใจเกี่ยวกับเอกสารสยามที่ได้พบเห็นและอาจนำกลับไปยังประเทศฝรั่งเศสด้วย

ความสนใจเอกสารสยามนี้ควรนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจวัฒนธรรมอันเป็นประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งนอกเหนือไปจากความสนใจที่ได้กล่าวมาแล้ว วัฒนธรรมในที่นี้หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมตามที่พบเห็นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในกระแสของนักปรัชญาตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ นั้นการแสวงหาความงามจากสิ่งที่แปลกใหม่ดูจะเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในวงวิชาการ ความรู้ใหม่ที่ค้นพบจากโลกตะวันออกเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์และมีสีสันต่อการศึกษา “โลกใหม่” ที่ต่างจากวัฒนธรรมเดิมของตน บาทหลวงมิชชันนารี นักเดินทางและพ่อค้าที่ต่างก็มีโอกาสผ่านมายังภูมิภาคตะวันออกนั้นจะต้องรายงานสิ่งที่ตนพบเห็นในทำนองบันทึกช่วยจำอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการของตน ด้วยเหตุดังนั้น บันทึกของวันวลิต (Van Vliet), เดอ ลาลูแบร์ (De la Loubère), นิโคลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise), แกมเฟอร์ (Kampher) จึงให้รายละเอียดของภาพต่างๆ ในสังคมไว้อย่างมากมาย เช่น ภาษา การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรมของชาวบ้าน สัตว์ต่างๆ ยานพาหนะ การค้าขายแลกเปลี่ยนรวมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ แม้ว่าบางคนจะมีโอกาสเข้ามาเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม

ความสนใจวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศสนี้เป็นตัวอย่างของการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่นเมืองอยุธยา เพราะการปรากฏตัวของชาวต่างชาติในฐานะต่าง ๆ ย่อมนำมาซึ่งวัฒนธรรมของตนที่สามารถผนวกเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นถิ่นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เช่น อาหาร ผ้าผ่อนแพรพรรณและข้าวของเครื่องใช้จากเปอร์เซีย อินเดีย สามารถซื้อหากันได้ตามท้องตลาดในเมืองอยุธยา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในลักษณะเช่นนี้ทำให้สังคมอยุธยากลายเป็นสังคมนานาชาติในที่สุด[๑๑]



[๑] กรมศิลปากร, เรื่องราวของคณะสังฆราชฝรั่งเศสในราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย เพียงฤทัย ตันธีรวิทย์, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร), ๒๕๓๖

[๒] ดูรายละเอียดใน รัชฎาพร ฤทธิจันทร์, สามเณราลัยของคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส : รูปแบบใหม่ในระบบการศึกษาไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต สาขาฝรั่งเศสศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๓

[๓] เสรี พงศ์พิศ, คาทอลิคกับสังคมไทย สี่ศตวรรษแห่งคุณค่าและบทเรียน, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๗) หน้า ๕๐

[๔] พลับพลึงมูลศิลป์, ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสสมัยอยุธยา, (กรุงเทพฯ .บรรณกิจ, ๒๕๒๓) หน้า ๓๐๓-๓๐๖

[๕] อาเดรียง โลเน่ย์, สยามและคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส, แปลโดย ปทุมรัตน์ วงศ์ดนตรี, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๘) หน้า ๕๒

[๖] พลับพลึง มูลศิลป์, อ้างแล้ว หน้า ๒๙๘-๓๐๒

[๗] เล่มเดียวกัน หน้า ๕๕-๕๗

[๘] Hubert METHIVIER, Le siècle de Louis XIV, Paris : Presses Universitaires de France, 1994, p. 101 – 105.

[๙] E.W. HUTCHINSON, 1688 Revolution in Siam, Hongkong : Hongkong University Press, 1968. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กรรณิกา จรรย์แสงและมอร์กาน สปอร์แตส “โกษาปานต้านฝรั่งเศสยึดสยาม” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑ (พ.ย. ๒๕๓๖) หน้า ๑๖๔ - ๑๗๓ หรือใน ณรงค์ พ่วงพิศ “อิทธิพลตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อราชวงศ์ปราสาททอง”, เอกสารประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี ๖-๘ ธันวาคม ๒๕๒๒, (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์), ๒๕๒๔.

[๑๐] Archives Nationales, Fonds. 50, No. 3 Folio I, Instruction que le roy veut et ordonne estre remise entre les mains du Sieur Desfarges Choisy par Sa Majesté pour commander les troupes qu’elle envoye au Roy de Siam I’année 1687.

[๑๑] วรพร ภู่พงศ์พันธุ์, ความเป็นสังคมนานาชาติของพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ถึง ค.ศ. ๑๗๖๗, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ