เอกสารไทยที่เก็บไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ความสนใจเอกสารไทยหรือวัฒนธรรมไทยของชาวฝรั่งเศสทั้งสามคนตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ชี้ให้เห็นว่านอกเหนือไปจากการพยายามศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยโดยตรงจากพระภิกษุสยามแล้ว ยังมีความสนใจที่จะนำเอกสารสยามกลับไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อเป็นตัวอย่างอีกด้วย ไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นความต้องการของฝ่ายฝรั่งเศสที่ให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในสยามนำเอกสารใดใดกลับไปยังฝรั่งเศส ดังนั้นการระบุในเอกสารว่าได้นำเอกสารกลับไปนั้น น่าจะเป็นความสนใจส่วนบุคคลและอาจนำไปศึกษาเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมใหม่ที่ปรากฏในดินแดนอื่นๆ ความสนใจเช่นนี้คงจะดำเนินและสืบทอดอย่างต่อเนื่อง กระทั่งขยายพรมแดนเป็นฐานความรู้และฐานข้อมูลในราวศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อกระแสความคิด และการศึกษาด้านบุรพคดีศึกษา (Orientalism) เกิดขึ้นเป็นรูปร่าง ส่งผลให้มีการเก็บรวบรวมเอกสารต่างๆ ในสาขาวิชาต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์ในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น

หลักฐานที่ปรากฏในบรรณานุกรม ๒ ฉบับ[๑] ของหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีสจึงมีรายชื่อของเอกสารไทยกว่า ๑๐๐ รายการที่ได้รับการจัดหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งการจัดทำรหัสเอกสาร เพื่อให้สืบค้นได้สะดวก ซึ่งผู้เขียนได้จัดทำตารางแสดงตัวอย่างเอกสารไทยตามหัวเรื่อง ดังนี้

๑. เอกสารว่าด้วยศาสนา/คำสอน

๒. เอกสารว่าด้วยกฎหมาย/สัญญาและข้อกำหนด

๓. เอกสารว่าด้วยประวัติศาสตร์

๔. เอกสารว่าด้วยอักษรศาสตร์

๕. เอกสารว่าด้วยเทววิทยาและอื่นๆ

สำหรับการจัดหมวดหมู่ของเอกสารเพื่อนำเสนอในบทความนี้ ผู้เขียนได้จัดแบ่งตามเอกสารบรรณานุกรม Notice des Manuscrits siamois เป็นหลักเนื่องจากได้แบ่งเอกสารไว้เป็น ๕ หมวด ในตารางแสดงตัวอย่างเอกสารจะระบุเลขรหัสเอกสารตามที่ปรากฏในบรรณานุกรมหลัก ๒ ฉบับ ฉบับที่ให้รายละเอียดอย่างย่อของแต่ละเอกสารคือฉบับ Notice ส่วนอีกฉบับหนึ่งจะลงรายละเอียดเพียงเลขรหัส ชื่อเอกสาร ลักษณะเอกสาร จำนวนหน้าและสรุปย่อเพียง ๑-๒ บรรทัด เป็นที่สังเกตว่าบรรณานุกรมอาจไม่ได้ระบุรายชื่อของเอกสารบางเล่มไว้ เนื่องจากจัดทำต่างปี และจำนวนเอกสารอาจเพิ่มมากขึ้นโดยยังไม่ได้แก้ไขในบรรณานุกรมก็เป็นได้


ตัวอย่างรายชื่อเอกสารไทยที่เก็บไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

๑. เอกสารศาสนา/คำสอน

ลำดับที่

ชื่อเอกสาร

ลักษณะเอกสาร

เนื้อความย่อ/ที่มา

ลำดับที่เอกสารใน Catalogue

รหัส notice

รหัส Catalogue sommaire

๑.

คำสอน

สมุดไทยดำ ๑๖ พับ

คำสอนทางคริสต์ศาสนาที่เรียบเรียงโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในสยามในต้น ค.ศ. ที่ ๑๘

๑๒-๑๓

๒๕๐

๒.

เรื่องพญาสามองค์

สมุดฝรั่ง ๒ เล่ม ๒๓ หน้า

เป็นกวีนิพนธ์ทางศาสนาว่าด้วยเรื่องราวของกษัตริย์ ๓ พระองค์ แต่งโดยเจ้านายสยามพระองค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๔

๒๒

๒๕๕

๓.

เพลงศรีสวัสดิ์

สมุดฝรั่ง ๒๘ หน้า ๔ เล่ม

เพลงทางศาสนา สันนิษฐานว่าเป็นบทพระนิพนธ์ของเจ้านายสยามพระองค์หนึ่งซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทสวดขับร้องของมิชชันนารีศาสนาคริสต์

๒๓

๒๕๖

๔.

สุรเสียง

สมุดฝรั่ง ๗ หน้า อักษรลาติน

บทสวดภาวนาในคริสต์ศาสนา เป็นผลงานของ Mgr.Florens มิชชันนารีในสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕

๑๘

๒๕๗

๕.

เถียงศาสนา

ใบลาน ๑๒ ลาน ๑ ผูก อักษรไทย

ปุจฉา – วิสัชนา เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ผลงานของท่านสังฆราชลาโน

๑๓

-

๒๖๑

๖.

ศีล

ใบลานร่องชาด อักษรขอม ภาษาบาลี ๑๓ ลาน ๑ ผูก

ศีลและข้อปฏิบัติของพระสงฆ์

๑๒

๒๖๐

๗.

สมุดประถมเดิม

สมุดไทยขาว ๒ เล่ม ๒๘ พับและ ๒๙ พับ อักษรไทย เส้นหมึก

พระประวัติของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นเจ้า เรียบเรียงโดย M.Grandjean เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๙

๖๒

๑๕

๓๐๘

๒.เอกสารกฎหมาย – สัญญาและข้อกำหนด

ลำดับที่

ชื่อเอกสาร

ลักษณะเอกสาร

เนื้อความย่อ/ที่มา

ลำดับที่เอกสารใน Catalogue

รหัส notice

รหัส Catalogue sommaire

๑.

พระอัยการลักษณะทาส

สมุดไทยดำ ๕๔ พับ อักษรไทย เส้นหรดาล

กฎหมายเกี่ยวกับทาสในสยาม

๒๔

๒๗

๒๖๕

๒.

พระอัยการลักษณะกู้หนี้

สมุดไทยดำ ๕๖ พับ อักษรไทย เส้นดินสอขาว

กฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมและสินทรัพย์ในสยาม

๒๕

๓๖

๒๖๖

๓.

พระอัยการลักษณะมูลวิวาท

สมุดไทยดำ ๕๔ พับ อักษรไทย เส้นดินสอ

กฎหมายว่าด้วยการทะเลาะวิวาทและการฟ้องร้องคดี

๒๖

๒๘

๒๖๗

๔.

หนังสือสัญญา

สมุดฝรั่ง ๒ เล่ม ๆ ละ ๒๕ แผ่น ภาษาไทยและลาติน

สนธิสัญญาระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓

๒๗

๓๓

๒๖๘

๕.

กำหนด

สมุดฝรั่ง ๓ เล่ม ๆ ละ ๔๐ แผ่น อักษรลาติน

ข้อกำหนดสำหรับการปกครองชุมชนชาวคริสต์ในสยาม พ.ศ. ๒๓๘๕ โดยมุขนายกมิซซังปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix)

๒๘

๓๕

๒๖๙

๖.

สัญญา

สมุดฝรั่ง ๒ แผ่น อักษรลาติน

ข้อตกลงของหัวหน้าชุมชนชาวคริสต์ต่อเจ้าเมือง เมื่อแรกตั้งชุมชน พ.ศ. ๒๓๙๗ มีลายมือชื่อของหลวงกลาโหม เจ้ากรม

๓๑

๓๘

๒๗๒

๓. เอกสารประวัติศาสตร์

ลำดับที่

ชื่อเอกสาร

ลักษณะเอกสาร

เนื้อความย่อ/ที่มา

ลำดับที่เอกสารใน Catalogue

รหัส notice

รหัส Catalogue sommaire

๑.

พงศาวดารเมืองเหนือ

สมุดฝรั่ง ๔๐ แผ่น อักษรไทย สันสมุดร่องชาดอักษรทอง

ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานจนถึงการสถาปนากรุงศรีอยุธยา

๓๓

๕๕

๒๗๔

๒.

พงศาวดารเมืองมอญ, ราชาธิราช

สมุดฝรั่ง ๑๖๖ แผ่น อักษรไทย สันสมุดร่องชาด หลังสมุดเขียนว่า “พระราชาธิราช” แบ่งเป็น ๒๐ เล่ม มีชื่อเรียกกำกับ (ขาด ๔ เล่มสุดท้าย)

พระราชพงศาวดารพม่าและสยามตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๗๓ – ๒๑๘๓ แปลจากภาษามอญ เป็นภาษาสยามประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๘

๓๔

๕๖

๒๗๕

๓.

คามวาสี อรัญวาสี

สมุดไทย ๒๘ พับ อักษรไทย

ว่าด้วยกฎของพระสงฆ์อรัญวาสีและคามวาสี

๓๕

-

๒๗๖

๔.

พงศาวดารสมุทธิสม

สมุดไทย ๒๐ พับ อักษรไทย

ประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เล่มที่ ๒

๓๖

-

๒๗๗

๕.

ประวัติศาสตร์เมืองพะโค

ใบลาน ๗๐ ลาน อักษรไทย

ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ของมอญ

๘๙

-

๓๓๕

๔. เอกสารอักษรศาสตร์

ลำดับที่

ชื่อเอกสาร

ลักษณะเอกสาร

เนื้อความย่อ/ที่มา

ลำดับที่เอกสารใน Catalogue

รหัส notice

รหัส Catalogue sommaire

๑.

จินดามณี

สมุดฝรั่ง ๗ แผ่น และ ๓ แผ่น อักษรไทย ภาษาลาติน

ไวยากรณ์สยามโบราณซึ่งเรียบเรียงโดยมิชชันนารีฝรั่งเศสที่อยู่ในสยาม ราวปลายอยุธยา

๓๘/๓๙

๔๓/๔๔

๒๗๙/๒๘๐

๒.

ประถม ก กา

สมุดไทยขาว ๒๙ พับ อักษรไทย เส้นหมึก

หนังสือไวยากรณ์สยามที่ใช้เรียนตามวัดต่างๆ สำหรับสอนภาษาและศีลธรรมแก่เด็ก

๔๐

๔๗

๒๘๑

๓.

พระอนิรุทธ

สมุดไทยดำ ๒ เล่ม ๆ ละ ๕๔ พับ อักษรไทย เส้นรง

การเดินทางของพระอนิรุทธและการต่อสู้

๔๓/๔๔

๔๙

๒๘๔/๒๘๕

๔.

พระอภัยมณี

สมุดไทยดำ ๗ เล่ม ๆ ละ ๕๖ พับ อักษรไทย เส้นดินสอ

เรื่องราวการเดินทางของพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ

๔๕

๕๐

๒๘๖-๒๙๑

๕.

พระลักษณวงศ์

สมุดไทยดำ ๒ เล่ม ๕๔ พับ และ ๓๑ พับ อักษรไทย เส้นรง

เรื่องราวการเดินทางและการพลัดพรากของพระลักษณวงศ์กับทางทิพเกสร

๔๖/๗๒

๕๔

๒๙๒/๓๑๘

๖.

สุริยะ

สมุดไทยขาว ๒ เล่ม ๆ ละ ๗๔ พับ อักษรไทย เส้นหมึก

เรื่องราวของการกำเนิดดาวนพเคราะห์ จักรราศี และราหู

๕๐[๒] ๕๐[๓]

๔๐

๒๙๕/๒๙๖

๗.

เศวตรฉัตร

สมุดไทยดำ ๙ พับ อักษรไทยและขอม เส้นรง

คำฉันท์กล่อมพระวิมลรัตนกิริณี ซึ่งขึ้นระวางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖

๖๑

๕๓

๓๐๗

๘.

สวัสดิรักษา

สมุดไทยดำ ๗๖ พับ อักษรไทย เส้นรง

คำสอนชายไทยเรื่องสวัสดิรักษา งานนิพนธ์ของสุนทรภู่

๖๖

๓๙

๓๑๒

๙.

พระมาลัย

สมุดไทยขาว ๔๒ พับ อักษรไทย เส้นหมึก

เล่าเรื่องพระมาลัย – ไตรภูมิโลกสัณฐาน และพระอดีตพุทธเจ้า

๗๐

-

๓๑๖

๑๐.

ต้นทางฝรั่งเศส

สมุดไทยดำ ๓๘ พับ อักษรไทย เส้นดินสอ

บันทึกการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปยังราชสำนักฝรั่งเศส ในปี พงศ. ๒๒๒๙

๗๑

-

๓๑๗

๑๑.

ขุนช้างขุนแผน

สมุดไทย ๕ เล่ม ๆ ละ ๒๘ พับ

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

๘๔/๘๘

-

๓๓๐-๓๓๔

๕. เอกสารว่าด้วยเทววิทยาและอื่นๆ

ลำดับที่

ชื่อเอกสาร

ลักษณะเอกสาร

เนื้อความย่อ/ที่มา

ลำดับที่เอกสารใน Catalogue

รหัส notice

รหัส Catalogue sommaire

๑.

ปรินิพพาน

ใบลาน ๑๐ ลาน

ปรินิพพานสูตร

๗๗

-

๓๒๓

๒.

ปูมราชธรรม

สมุดไทยขาว ๓๘ พับ อักษรไทย เส้นหมึก

คำสอนพระมหากษัตริย์ ตำราพิไชยสงคราม คัมภีร์เนาวพยัตติ

๗๕

-

๓๒๑

๓.

ตำรารักษาโรค

ใบลาน ๑๘ ลาน ภาษาบาลี

ตำรายาและคาถารักษาโรค

๙๐

-

๓๓๖

๔.

ตำราฝังเข็ม

สมุดไทยขาว ๒๒ พับ มีภาพประกอบ

การนวดและการฝังเข็มในจุดต่างๆ ของร่างกาย

๗๘

-

๓๒๔

๕.

จดหมายพระเจ้ากรุงสยามถึงโปรตุเกส

สำเนาจดหมายกระดาษฝรั่ง ๓ แผ่น อักษรไทย

สำเนาจดหมายพระเจ้าแผ่นดินสยามถึงกษัตริย์โปรตุเกสในสมัยอยุธยา

๗๙

-

๓๒๕

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนพบว่ามีเอกสารไทยเล่มหนึ่งที่น่าจะมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาและเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคำสอนพระมหากษัตริย์ ชื่อว่า “ปูมราชธรรม” ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากบรรณานุกรม Catalogue sommaire des manuscrits ในส่วน indochinois แล้ว ระบุว่าเป็นเอกสารไทยลำดับที่ ๓๒๑ มีการถ่ายเสียงคำว่า “ปูมราชธรรม” ไว้เป็น Bumarãt thãm พร้อมทั้งให้คำจำกัดความสั้นๆ ไว้ว่าเป็นวรรณกรรมด้วยเทววิทยา (Ouvrage théologique)

ลักษณะทางกายภาพของสมุดไทยฉบับนี้ เป็นสมุดไทยขาวตัวอักษรหมึกดำ จำนวน ๓๘ พับ กว้าง ๑๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๓๓ เซนติเมตร อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยกัดกินของมอดหนังสือหรือฉีกขาดแต่อย่างใด ส่วนลักษณะอักษรนั้นเป็นลายมืออักษรไทยย่อสมัยอยุธยา เส้นหมึก ซึ่งคล้ายคลึงกับลักษณะตัวอักษรสมัยอยุธยาที่ปรากฏในเอกสารอยุธยาอื่น ๆ

ชื่อ “ปูมราชธรรม” ที่ปรากฏในหน้าแรกของสมุดไทยฉบับนี้ ทำให้ผู้เขียนคิดถึงคำว่าปูมที่ปรากฏในเอกสารโบราณต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริบทของ “ปูมโหร” ซึ่งเป็นเอกสารเฉพาะทางที่เรียบเรียงขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดโดยโหราพฤฒาจารย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำว่าปูมโหร ไว้ว่า “คือวิธีจดหมายเหตุของโหร เขาทำประดิทินบอกวันแลฤกษ์ยามเปนรายวันล่วงน่าไว้ตลอดปี แลมีที่ว่างไว้สำหรับจดเหตุการณ์ในประดิทินนั้นโหรฤๅใครที่เอาใจใส่ในฤกษ์ยามและการจดหมายเหตุก็มีสมุดประดิทินเช่นนี้ไว้ทำนองเดียวกับที่ฝรั่งเรียกว่าสมุดไดอารี่... นานเข้ามีผู้รวมประดิทินปีล่วง ๆ มาแล้ว มาจดวันฤกษ์ยามแลเหตุการณ์ลงเปนสังเขปอีกชั้น ๑ เรียกว่าปูม”[๔] อย่างไรก็ดี ความหมายของปูมที่ปรากฏบนหน้าแรกของเอกสารสมุดไทยฉบับนี้หาได้เป็นไปตามพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ แต่ปูมในที่นี้น่าจะเป็นความหมายโดยรวมว่าเป็นการรวบรวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นเรื่อง “ราชธรรม” คำสอนขององค์ พระมหากษัตริย์ ดังนั้นเนื้อความส่วนใหญ่ของวรรณกรรมคำสอนเรื่องนี้จึงว่าด้วยพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์พึงปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแห่งรัฐและอาณาประชาราษฎร์ ทั้งการพิไชยสงคราม การเลือกบุคคลเข้าทำงานสนองพระเดชพระคุณ และสิ่งอันเป็นความเฉลียวฉลาด ๙ ประการอันพึงปฏิบัติในฐานะประมุขของอาณาจักร ส่วนลักษณะการเขียนนั้นเป็นร้อยแก้วในส่วนที่เป็นคำสอนและมีร่ายประกอบในตอนท้ายเรื่อง

วรรณกรรมเรื่อง “ปูมราชธรรม” นี้จะมีอายุตั้งแต่รัชกาลใด ไม่ปรากฏแน่ชัด เพราะมิได้มีปีศักราชระบุไว้ หากพิจารณาเฉพาะลักษณะตัวอักษรแล้วควรสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นเอกสารสมัยอยุธยาที่เขียนขึ้นระหว่างรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ แต่เนื้อความทั้งเรื่อง ซึ่งเป็นคำสอนพระมหากษัตริย์น่าจะเป็นคำสอนที่ปรากฏมาแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคงได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมอินเดียประกอบกันด้วย เนื้อความบางตอนเป็นเรื่องนิทานเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามด้วยอุทาหรณ์ผลของเหตุการณ์นั้นๆ โดยเนื้อความส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์พม่าและมอญ ทั้งปรากฏนิทานชาดกเรื่องต่างๆด้วย ผู้เขียนสนใจพระนามของพระมหากษัตริย์ที่ระบุไว้ในเนื้อความตอนต้นของส่วนที่เป็นร่ายว่า “พระมหาจักรพรรดิ กล่าวอรรถในกามนทกี” เป็นพิเศษและสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่ามิได้หมายความเพียงพระนามของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๐๙๑ - พ.ศ. ๒๑๑๑) เท่านั้น แต่น่าจะเป็นพระนามอย่างย่อที่ใช้เรียกพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาองค์อื่นๆ ด้วย ข้อสังเกตประเด็นนี้ทำให้สันนิษฐานถึงที่มาของ “ปูมราชธรรม” ได้ว่า เป็นการรวบรวมคำสอนที่ปรากฏในอรรถกถาต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยม ว่าควรเป็นคำสอนของชนชั้นปกครองพระราชา และได้รับการรวบรวมไว้กลายเป็นปูมในที่สุด

ประเด็นต่อมาซึ่งควรได้รับการศึกษาคือผู้เขียนหรือผู้รวบรวมคำสอนต่าง ๆ ให้เป็นปูมนี้ควรเป็นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์หรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นอย่างดี ความรู้ทางโลกนั้นได้แก่ความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ การพิไชยสงคราม ส่วนความรู้ทางธรรมนั้นได้แก่ความเชี่ยวชาญในอรรถคดีต่าง ๆ จากชาดก ที่ยกมาเพื่อสั่งสอนให้ผู้ที่เป็นราชาแห่งรัฐมีธรรมและประพฤติกิจในสิ่งอันควรเพื่อความสวัสดิ์แห่งอาณาจักร

เนื่องจากเอกสารสมัยอยุธยาที่พบในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการชำระในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น การศึกษาหลักฐานจากอักขระและเนื้อความของปูมราชธรรม รวมทั้งมุมมองที่จะได้รับการศึกษาต่อไปในอนาคตจะเป็นข้อมูลใหม่ในการศึกษาและจัดลำดับวรรณคดีสมัยอยุธยาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น



[๑] บรรณานุกรมทั้ง ๒ ฉบับคือ

๑. Le Mis De Croizier, Notice des Manuscrits Siamois de la Bibliothèque Nationale, 1883.

๒. Bibliothèque Nationale de Paris, Catalogue sommaire des manuscrits indiens, indochinois, malayo-polynésiens.

[๔] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘, จดหมายเหตุโหร, พิมพ์แจกในงานศพคุณหญิงศรีภูริปรีชา ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐, (พระนคร: โรงพิมพ์ไทย, ๒๔๖๐) หน้า (๒)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ