๕ เที่ยวดูปราสาทหิน

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน เวลาเช้าขึ้นไปดูนครวัด จะพรรณาว่าด้วยรูปสัณฐานและลวดลายของนครวัดว่าเปนอย่างไรในหนังสือนี้เห็นว่าไม่เปนประโยชน์ ด้วยผู้อ่านที่ได้เคยเห็นรูปถ่ายแล้วก็จะมีมาก ที่ไม่เคยเห็นรูปถ่ายจะพรรณาให้เข้าใจจริงก็ไม่ได้ จะกล่าวแต่ว่าเมื่อมาเห็นตัวนครวัดเข้าจริง รู้สึกว่าผิดกับที่คาดหมายไว้แต่ก่อนอย่างไร คือดูใหญ่โตกว่าที่คาดหมายนั้นอย่าง ๑ ดูงามสง่ากว่าที่คาดหมายด้วยอิกอย่าง ๑ น่าชมช่างผู้คิดแบบอย่างวางแผนที่นครวัด ว่าเปนช่างฉลาดทำให้จับใจคนดู เริ่มต้นแต่เมื่อถึงเชิงสพานหินก่อนที่จะข้ามคูไปเข้าในบริเวณทางด้านตวันตก แลดูปรางค์ประตูและพระระเบียงชั้นนอก มีปราสาทใหญ่ ๙ ยอดสูงตระหง่านอยู่ข้างในก็งามจับใจเสียชั้นหนึ่ง เมื่อข้ามสพานผ่านประตูเข้าไปถึงลานในบริเวณ เปลี่ยนรูปแลเห็นปราสาทอยู่กลางบริเวณ มีพระระเบียงล้อมเปนชั้นๆ ขึ้นไปสมทรวดทรง ก็งามจับใจอิกชั้นหนึ่ง ครั้นเข้าไปถึงปราสาท ตั้งแต่ขึ้นบันไดพระระเบียงชั้นนอกขึ้นไป ก็ได้เห็นฝีมือจำหลักลายต่าง ๆ น่าพิศวงขึ้นไปจนถึงองค์ปรางค์ใหญ่ ดูได้เพลิดเพลินไปทุกชั้น แต่ว่ามีเครื่องท้อใจอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยต้องขึ้นบันไดบ่อยๆ เพราะบันไดชันคั่นก็แคบขึ้นลำบาก บางชั้นบันไดทอดเดียวหลายสิบคั่น สูงตั้งห้าวาหกวาไม่มีราวหรือสิ่งอันใดที่จะยึด ถ้าลื่นพลาดพลำตกลงมาก็เห็นจะคอหัก การที่ขึ้นลงต้องอาศรัยทั้งมือและท้าวคล้ายกับค่อยคลานขึ้นไปและคลานกลับลงมา แต่เพียงขึ้นกับลงเที่ยวเดียวในคราวแรกถึงปวดหน้าขาระบมไปตลอดกัน แต่วันหลัง ๆ ต่อมาก็เคยไป

นครวัดนี้ใหญ่โตกว่าบรรดาโบราณสถานที่พวกขอมสร้างแห่งอื่นทั้งสิ้น แต่แนวคูซึ่งมีเขื่อนหินล้อมรอบบริเวณสี่ด้านยาวถึง ๑๒๕ เส้น แต่ว่าเปนสถานที่ซึ่งสร้างภายหลังแห่งอื่น ได้ความว่าสร้างเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๙๐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าสุริยวารมันที่ ๒ ซึ่งถวายพระนามเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ว่าสมเด็จพระบรมพิษณุโลก นับว่าเดิมนั้นปรางค์องค์ใหญ่เปิดโถง ทำรูปสมเด็จบรมบพิตรพระองค์นั้นเปนรูปพระนารายณ์ตั้งไว้กลาง แลเห็นเทวรูปนั้นได้แต่ข้างนอกบริเวณทั้ง ๔ ด้าน แต่รูปนั้นอันตรายหายสูญไปเสียแล้ว เหลือแต่ฐานอยู่ในปรางค์เปนสำคัญ นครวัดนี้มิได้สร้างเปนวัดในพระพุทธสาสนา มาแปลงเปนวัดในพระพุทธสาสนาต่อชั้นหลัง ชั้นเดิมสร้างเปนเทวะสถานในสาสนาพราหมณ์ตามลัทธิวิษณุเวทที่บูชาพระนารายณ์ ถ้าว่าโดยกระบวรช่างพิจารณาดูเมื่อได้เห็นปราสาทหินแห่งอื่น ๆ แล้ว เห็นว่าช่างที่ให้แบบอย่างสร้างนครวัดไม่ได้คิดอะไรแปลกปลาดขึ้นใหม่ รูปทรงและลวดลายล้วนถ่ายแบบอย่างเอามาจากที่อื่น แต่ถึงกระนั้นก็วิเศษที่สามารถขยายให้ใหญ่โตสมทรวดทรง และหนุนพื้นให้สูงเปนชั้นๆ พอเหมาะส่วน แลเห็นปรางค์เลิศลอยเปนลำดับลงมาทั้ง ๙ ยอด จึงงามสง่ากว่าปราสาทหินแห่งอื่น ๆ

เมื่อขึ้นไปดูนครวัดตอนเช้าวันนี้ พบพวกอเมริกันมาถ่ายรูปหนังฉายอยู่พวกหนึ่ง เขาขอถ่ายรูปพวกเราเวลาขึ้นนครวัด เห็นไม่เปนการแปลกปลาดอันใดก็ยอมให้เขาถ่ายตามประสงค์ ต่อถ่ายแล้วจึงรู้ว่าพวกนี้เขาแต่งเรื่องหนังทำนองเดียวกับเรื่อง “แม่สุวรรณ” มีตัวนายโรงกับนางเอกมาด้วย เมื่อรู้ว่าเช่นนั้นก็ได้แต่เอาใจดีต่อขอร้องว่าถ้าจะเอารูปเราไปเข้าในเรื่องหนังนั้นด้วย ขออย่าให้เอาไปเปนพรรคพวกคนพาล สังเกตดูผู้เปนหัวหน้ามีอัธยาศัยเรียบร้อย เห็นจะไม่ฝ่าฝืนความประสงค์ นอกจากพวกหนังฉายที่กล่าวมา ยังมีพวกอเมริกันชายหญิงที่เที่ยวดูโลก มาพักอยู่ที่โฮเต็ลเดียวกันหลายคนเลยคุ้นเคยกันไปหมด ที่ว่าจะไปกรุงเทพ ฯ ก็มี ดูนครวัดตอนเช้าแล้วกลับมากินกลางวัน เชิญเรสิดังเมืองพระตะบองกินกับเข้าไทยด้วย ชอบกินชมว่าอร่อยนัก

ครั้นเวลาบ่าย ๔ นาฬิกา ยังติดใจนครวัดขึ้นไปดูอิกครั้งหนึ่ง แต่ระอาบันไดยังเมื่อยขาระบมอยู่ไม่กล้าขึ้นถึงปรางค์ชั้นบน เปนแต่เที่ยวดูรูปภาพจำหลักรอบระเบียงชั้นล่าง ซึ่งจำหลักเปนเรื่องต่างๆ มีเรื่องรามเกียรติเปนต้น สันนิษฐานว่าความคิดที่ทำระเบียงรอบปรางค์เปน ๓ ชั้นนั้น ชั้นล่างเห็นจะสำหรับเปนที่พักของราษฎร จึงจำหลักภาพเรื่องให้ดู เพื่อประโยชน์เหมือนสั่งสอน (ที่เขียนระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามเปนเรื่องรามเกียรติ สันนิษฐานว่าถ่ายแบบไปจากนครวัดนี้เอง สมเด็จพระนโรดมถ่ายแบบมาจากวัดพระศริรัตนศาสดาราม เอามาเขียนระเบียงวัดพระแก้วที่พนมเพ็ญอิกชั้นหนึ่ง) ระเบียงชั้นกลางขึ้นไปเห็นจะเปนที่พักของคนชั้นสูงขึ้นไป ส่วนสมณพราหมณ์คงพักระเบียงชั้นสูง ภาพที่จำหลักระเบียงหลายเรื่อง ถ้าดูถ้วนถี่วันเดียวไม่หมด ดูได้ด้านเดียวพอจวนค่ำก็กลับมายังโฮเต็ล ๆ อยู่ใกล้คูข้างด้านหน้านครวัด เดิรไปมาได้สดวกไม่ต้องใช้พาหนะ แต่ได้ยินว่าโฮเต็ลซึ่งรัฐบาลจะสร้างใหม่ จะย้ายไปสร้างที่เมืองเสียมราษฐ์ ห่างไปสัก ๑๕๐ เส้น เราว่าเห็นสู้อยู่ตรงโฮเต็ลเดี๋ยวนี้ไม่ได้ เขาชี้แจงว่าโฮเต็ลใหม่นั้นจะสร้างเปนตึกใหญ่อย่างฝรั่ง ถ้ามาอยู่เคียงกับนครวัดจะพาให้เห็นเปนเมืองใหม่เสียโฉมไป ถึงที่ดินโดยรอบคูนครวัด รัฐบาลก็หวงกันไว้ โดยประสงค์จะห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดสร้างตึกกว้านบ้านเรือนตามแบบอย่างใหม่ ด้วยเกรงจะเสียโฉมนครวัด

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน เวลาเช้า ขึ้นรถยนต์ไปดูนครธม อยู่ห่างนครวัดไปข้างเหนือ ระยะทางประมาณ ๘๐ เส้น

ตรงนี้จะต้องแทรกอธิบายถึงเรื่องตำนานนครธมเสียก่อน เพราะเมืองขอมซึ่งเรียกกันว่า “นครธม” นี้ ในหนังสือไทยแต่โบราณเรียกหลายอย่าง เรียกว่าเมืองยโศธร เช่นในหนังสือยวนพ่ายบ้าง เรียกพระนครหลวง เช่นในหนังสือพระราชพงศาวดารบ้าง ผู้ที่สำคัญว่าเทวสถานบรรยงก์ ซึ่งปรางค์ทำเปนหน้าเทวดาทั้งที่สี่ทิศ ชื่อว่านครธมก็มี อธิบายเปนดังนี้ คือในสมัยกาลครั้งหนึ่ง แต่ดึกดำบรรพ์ กรุงกัมพูชาต้องตกเปนประเทศราชขึ้นอยู่แก่พระเจ้าแผ่นดินชวา มีพระเจ้ากรุงกัมพูชาองค์หนึ่ง ทรงนามว่า พระเจ้าอินทรวาร์มัน ทรงราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๓๓๓ จน พ.ศ. ๑๓๕๕ สามารถกู้กรุงกัมพูชากลับเปนอิศระได้ แล้วมาเลือกที่หมายจะตั้งราชธานีตรงนี้ ได้ลงมือสร้างเทวสถานบรรยงก์ขึ้นก่อน แต่การสร้างเมืองค้างอยู่จนพระเจ้ายโสวารมันราชบุตรได้รับรัชทายาท จึงสร้างเมืองสำเร็จเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๑๓๕๕ จน พ.ศ. ๑๓๖๔ แต่นั้นพวกขอมที่กรุงกัมพูชาก็ตั้งต้นมีอานุภาพขึ้นโดยลำดับ จนสามารถแผ่อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ตัวเมืองที่สร้างเปนราชธานีนั้นจึงได้ชื่อว่า เมืองยโศธรบุรี ตามนามของพระมหากษัตริย์ผู้สร้าง แต่คนทั้งหลายเรียกกันว่า “นครธม” ตรงกับภาษาไทยว่า “นครหลวง" หมายความว่าเปนราชธานี เหมือนอย่างเช่นเราเรียกกรุงเทพ ฯ เพราะอธิบายมีดังกล่าวมา ที่เรียกแต่โบราณว่า “เมืองยโศธร” ก็ดี "นครธม” ก็ดี “นครหลวง” ก็ดี คือที่แห่งเดียวกันนั้นเอง นครธมเปนเมืองใหญ่สมกับเปนราชธานี บริเวณเมืองมีคูเขื่อนศิลาแลงล้อมรอบ ปราการก็ก่อด้วยศิลาแลงสูงราว ๓ วา ๒ ศอก แผนผังรูปเมืองเปนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหนึ่งยาวถึง ๗๐ เส้นเศษ มีประตูอยู่ตรงระยะกึ่งกลาง ด้านตวันออกมี ๒ ประตู เรียกว่าประตูชัยกับประตูผี ด้านอื่นมีแต่ด้านละประตู พิเคราะห์ดูคูและปราการมั่นคงแขงแรงยิ่งนัก ในสมัยเมื่อก่อนมีปืนใหญ่ หรือเมื่อปืนใหญ่ยังไม่สู้มีกำลัง ข้าศึกจะตีหักเอาโดยกำลังเห็นจะยาก น่าสันนิษฐานว่า เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชสามพระยาตีได้นั้น เห็นจะเปนเพราะตั้งล้อมไว้จนข้างในเมืองสิ้นสะเบียงอาหาร อดอยากทนไม่ได้ก็ต้องยอมแพ้ เพราะฉนั้นจึงปรากฎในพงศาวดารว่าล้อมอยู่ถึง ๗ เดือน

แต่เมืองนครธมร้างมาช้านานกว่าห้าร้อยปี บ้านเมืองราษฎรตลอดจนราชมนเทียรที่พระมหากษัตริย์เสด็จอยู่ ซึ่งในสมัยนั้นสร้างแต่ด้วยเครื่องไม้ สูญเสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่สิ่งซึ่งสร้างด้วยอิฐแลศิลาเปนถาวรวัตถุ แม้สิ่งเหล่านั้นก็หักพังทำลายเสียโดยมาก ในบรรดาโบราณสถานแถวนี้ยังนับว่าคงดี (คือหักพังน้อย) มีแต่นครวัด ส่วนนครธมนั้นทั้งตัวเมืองและวัดวาปราสาท กลายเปนเหมือนส้อนอยู่ในป่าสูงอันรกชัฎ แต่ก่อนนี้ใครจะไปดูของโบราณในนครธมก็ต้องขี่ช้างบุกป่าหาคนไปช่วยเฉาะถางทางจึงไปดูได้ พึ่งเที่ยวดูได้สดวกเมื่อฝรั่งเศสจัดการรักษาของโบราณในที่นี้ วิธีการที่จัดนั้นรัฐบาลมอบหน้าที่ให้สมาคมเอคโคลฝรั่งเศสเอกสตรีมออเรียนต์ ซึ่งศาสตราจารย์พีโนต์เปนนายกอยู่ในบัดนี้ อำนวยการรักษาของโบราณ สมาคมจัดให้มีนายช่างฝรั่งเศสเปนผู้จัดการรักษาของโบราณ ตั้งทำการประจำอยู่ที่เมืองเสียมราษฐคนหนึ่ง มีที่พักสำนักงานและคลังเปนสาขาอยู่ที่ในนครธมอิกแห่งหนึ่ง ใช้เขมรเปนนายงารและจ้างราษฎรเปนคนรองงารประจำทำการราว ๓๐๐ คน จ่ายเงินอยู่เดี๋ยวนี้ประมาณปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท เปนเงินของรัฐบาลกรุงกัมพูซาจ่ายส่วนหนึ่ง สมาคมแบ่งเงินที่รัฐบาลฝรั่งเศสอุดหนุนสมาคมมาช่วยด้วยอิกส่วนหนึ่ง วิธีที่ตรวจรักษาของโบราณนั้น เริ่มต้นเขาลงมือทำทะเบียนให้รู้จำนวนและตำแหน่งแห่งที่ของโบราณว่ามีอยู่ที่แห่งใดๆ บ้าง ข้อนี้ได้ยินว่าโบราณสถานที่เขาจดทะเบียนไว้แล้วในเขตแดนกรุงกัมพูชามีถึง ๖๐๐ แห่ง การค้นโบราณสถานที่ยังไม่พบนั้นตั้งสินบลไว้ ถ้าคนในพื้นเมืองใครไปพบปะมาบอกผู้จัดการ และเขาไปตรวจพบได้ความจริงแล้วก็ให้สินบลเปนบำเหน็จรางวัลแก่ผู้มาบอก เปนเครื่องล่อให้คนอื่นช่วยค้นหาด้วย ส่วนโบราณสถานที่พบแล้วนั้น ชั้นแรกเขาไปตรวจดูให้รู้ชนิด ว่าเปนของฝีมือที่ก่อสร้างอย่างดี หรือเปนแต่ปานกลางและอย่างเลว เลือกรักษาแต่สิ่งที่ดีมิให้เปนอันตรายหายสูญหรือหักพังเสียชั้นหนึ่งก่อน ของดีที่ยกขนได้เก็บส่งไปรักษาไว้ยังพิพิธภัณฑสถาน สิ่งซึ่งจะยกย้ายไม่ได้ แห่งใดควรก่อคอนครีตค้ำหรือเอาเหล็กรัดรักษามิให้พังก็ทำรักษาไว้เสียชั้นหนึ่งก่อน ยังไม่แผ้วถางบริเวณสถานนั้น ๆ การแผ้วถางค่อยทำไปทีละแห่ง ๆ แห่งใดที่แผ้วถางแล้วก็รักษาไว้มิให้กลับรก บางแห่งก็ถึงพยายามขุดค้นชิ้นศิลาที่หักพังกระจายอยู่ เอากลับขึ้นเรียบเรียงให้ดีอย่างเดิม แต่ทำเช่นนั้นเฉพาะที่เปนของงามแปลกปลาด ถ้าเปนของสามัญก็เปนแต่ถางไว้ให้เตียน การทำถนนเปนหน้าที่กรมโยธาซึ่งเปนแพนกหนึ่งต่างหาก ได้ยินว่าแต่ก่อนนี้มักเกิดเกี่ยงแย่งกับพนักงารรักษาของโบราณ ด้วยการกรุยถนน พวกกรมโยธามิใคร่จะเอาใจใส่ให้แวะไปหาโบราณสถานต่าง ๆ และเมื่อพบศิลาของโบราณทิ้งอยู่ก็มักชอบเอาไปใช้ทำถนน พนักงารรักษาของโบราณร้องคัดค้าน รัฐบาลจึงตั้งข้อบ้งคับในการทำถนนในแขวงเมืองเสียมราษฐ ให้พนักงารโยธาต้องหารือเจ้าพนักงารรักษาของโบราณก่อนที่จะกรุยถนน และให้พนักงารรักษาของโบราณมีอำนาจหวงกันศิลาของโบราณได้ทั่วไป ถนนที่ทำในจังหวัดนครธมและนครวัดจึงมักผ่านโบราณสถานทุกสาย และมักทำตามแนวถนนของขอมแต่โบราณเปนพื้น แต่ถนนที่เขาตัดในแถวนครธมนี้น่าชม ด้วยท้องที่เปนดงไม้ใหญ่อยู่เดิมดังกล่าวมาแล้ว เขาตัดต้นไม้ใหญ่แต่เฉพาะตรงที่ทำถนน หรือที่ตัดเปนทางเดิรเข้าไปหาโบราณสถานซึ่งอยู่ห่างถนน กับที่ในบริเวณโบราณสถานซึ่งจะแผ้วถาง สองข้างถนนยังคงปล่อยให้เปนดงไม้ยางยูงสูงตระหง่าน มีทั้งฝูงลิงค่าง แม้จนอีเก้งและนกยูงอยู่ในดง ด้วยห้ามมิให้ใครทำอันตราย เมื่อขับรถไปเหมือนไปในป่าสูง แลดูต้นไม้ใหญ่สพรั่งไปทั้งสองข้างงามยิ่งนัก เขาเล่าว่าก่อนนี้ผู้รักษาของโบราณอยู่เรือนที่ในนครธม วันหนึ่งเผลอไป ลิงทั้งฝูงเข้าไปขนเอาของไปเกือบหมด พวกเราไปเที่ยวคราวนี้ก็ได้เห็นทั้งฝูงลิงและฝูงค่างในนครธม

มีความอีกข้อหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวไว้เสียก่อนพรรณาโบราณสถานต่างๆ ที่นครธม คือบรรดาโบราณสถานที่เรียกกันว่าปราสาทหินนั้นที่จริงเปนวัด หรือมิฉะนั้นก็เปนเทวสถานทั้งนั้น ลักษณที่สร้างต่างกันโดยลัทธิสาสนา สร้างเปนวัดในพระพุทธสาสนาก็มี สร้างเปนเทวสถานบูชาพระศิว (คือพระอิศวร) ก็มี สร้างเปนเทวสถานบูชาพระวิษณุ (คือพระนารายณ์) ก็มี ปลาดที่โบราณสถานเหล่านั้นหลายแห่ง และมักเปนสถานที่สำคัญชั้นสร้างก่อนนครวัด มีรอยขูดและแก้รูปภาพที่จำหลัก บางแห่งขูดพระพุทธรูปออกเสีย บางแห่งขูดรูปศิวลึงค์ออกเสีย บางแห่งก็มีรอยจำหลักพระพุทธรูปลงตรงที่ขูดศิวลึงค์หรือจำหลักศิวลึงค์ลงตรงที่ขูดพระพุทธรูป ส่อให้เห็นว่าพวกขอมเคยแปลงวัดในพระพุทธสาสนาเปนเทวสถาน และแปลงเทวสถานเปนวัดในพระพุทธสาสนาก็มี อิกประการหนึ่ง ในบรรดาปราสาทหินทั้งปวงนั้น ไม่ว่าแห่งใดคงมีรอยทำค้างอยู่ทั้งนั้น แม้นครวัดก็เปนเช่นนั้น ของเหล่านี้ส่อให้สันนิษฐานเรื่องตำนานการสร้างปราสาทหิน ดังจะกล่าวไว้ในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

อนึ่งโบราณสถานที่ได้ไปดูครั้งนี้มากแห่งด้วยกัน เหลือที่จะพรรณารูปพรรณสัณฐานและลวดลายโดยพิสดารได้ในหนังสือนี้ และที่จริงก็ไม่จำเปน เพราะเขาได้พิมพ์รูปไว้แล้วโดยมาก ผู้ซึ่งยังไม่เคยเห็น หารูปดูจะเข้าใจได้ดีกว่าอ่านถ้อยคำพรรณา เพราะฉนั้นการพรรณาว่าด้วยโบราณสถานต่างๆ ในหนังสือนี้ จะกล่าวแต่ฉเพาะที่แปลกปลาด

ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องไปดูนครธมต่อไป เมื่อก่อนจะเข้าเมืองนครธม ไปถึงสพานหินซึ่งข้ามคู ทำแปลกปลาดน่าดูยิ่งนัก พนักสะพานทั้งสองข้างทำศิลาเปนรูปพระยานาคตัวใหญ่ ๗ เศียรข้างละตัว มีรูปเทวดาอยู่ฟากหนึ่ง รูปอสูรอยู่ฟากหนึ่ง ฉุดนาคดึกดำบรรพ์นั้น รูปเทวดาและรูปอสูรมีข้างละสัก ๔๐ ตัว ตัวหนึ่งท่านั่งขัดสมาธอย่างพระประธาน หน้าตักเห็นจะกว่า ๓ ศอก ฝีมือทำหน้าตาท่าทางดีทุกตัว สพานที่ข้ามคูนครธมทำรูปเทวดาและอสูรฉุดนาคดึกดำบรรพ์อย่างนี้ทุกสพาน พ้นสพานไปถึงประตูเมืองทำด้วยศิลาเปนประตูสามยอด แต่ทางเข้าช่องเดียว ยอดประตูเปนปรางค์มีหน้าเทวดาสี่ทิศทุกยอด และยังมีรูปภาพอื่นเปนเครื่องประดับอิกหลายอย่าง ที่เชิงประตูเปนช้างโผล่เพียงขาหน้าข้างละ ๓ ตัว ขับรถยนต์เข้าประตูไปแวะดูเทวสถาน ซึ่งเรียกกันเปนสามัญว่า “บายน” คือบรรยงก์ แต่ในศิลาจารึกเรียกว่า “ยะโศธรคิรี” อยู่ตรงสูญกลางเมืองนครธม

เทวสถานบรรยงก์นี้นับว่าเปนสำคัญยอดยิ่งในบรรดาโบราณสถานที่นครธม เพราะสร้างก่อนสถานแห่งอื่น ๆ อย่าง ๑ เพราะรูปสัณฐานที่สร้างแปลกปลาดกว่าสถานแห่งอื่น ๆ ด้วยอิกอย่าง ๑ เรื่องตำนานของเทวสถานบรรยงก์นั้น ว่าในเวลาเมื่อพระเจ้าอินทรวารมันพยายามจะพ้นจากอำนาจพวกชวา ได้อาศรัยพราหมณ์คนหนึ่ง ซึ่งเปนอาจารย์สอนสาสนาพราหมณ์ฝ่ายลัทธิศิเวศ (คือที่นับถือพระอิศวรเปนใหญ่) เปนราชครูและเปนที่ปฤกษาหารือ ครั้นตั้งกรุงกัมพูชาเปนอิศระได้ จึงตั้งพราหมณ์คนนั้นเปนที่ปุโรหิต และประทานพรว่าต่อไปให้แต่ฉเพาะลูกหลานว่านเครือของพราหมณ์คนนั้นเปนปุโรหิตในกรุงกัมพูชา ครั้งนั้นพระเจ้าอินทรวารมันทรงนับถือลัทธิสาสนาของพราหมณ์ผู้เปนปุโรหิต เชื่อว่ามีชัยยด้วยอำนาจพระอิศวรทรงอุปการะ เมื่อจะสร้างนครธม จึงสร้างเทวสถานบรรยงก์นี้ถวายเปนพลีแก่พระอิศวรก่อน และการที่สร้างนั้นผเอิญได้ช่างดีวิเศษเปนผู้คิดแบบอย่าง อนุโลมตามคติสาสนาพราหมณ์ลัทธิศิเวศซึ่งบูชาศิวลึงค์ เอารูปสิวลึงค์ซึ่งมีหน้าคนอยู่ที่โคน เรียกว่า “มุขลึงค์” นั้น มาคิดทำปรางค์มีหน้าคนทั้งสี่ด้าน เทวสถานบรรยงก์มีปรางค์เช่นนั้น เปนปรางค์ใหญ่ ๙ ยอดอยู่กลาง และมีปรางค์เช่นเดียวกันทั้งขนาดกลางและขนาดย่อมรายเปนหลั่นกันลงมาดูสลอนไป เห็นจะราว ๓๐ ยอด ต่อกับพระระเบียงล้อมเปนชั้นๆ ดูทรวดทรงสัณฐานงามยิ่งนัก จะหาที่อื่นเทียบ แม้นครวัดก็ไม่ถึง เสียแต่หักพังเสียมาก ยอดปรางค์ใหญ่ที่ยังเหลืออยู่บัดนี้ก็น่ากลัวจะพัง ช่างฝรั่งเศสยังกำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะรักษาไว้ไม่ให้พังได้ แต่มีข้อปลาดอันหนึ่งซึ่งพึ่งมารู้เมื่อไปเห็นตัวจริง ว่าผู้ที่สร้างเทวสถานบรรยงก์นี้ แม้จะคิดแบบอย่างดีวิเศษเปนอย่างยิ่งก็จริง แต่ไม่สันทัดการก่อสร้าง ด้วยเมื่อสร้างปรางค์ใหญ่ที่อยู่กลางขึ้นไปแล้วจึงรู้ว่าคิดกระบวรก่อไม่ดี ปรางค์จะแยกพังลงมา ต้องแก้แบบอย่างในเวลากำลังสร้าง ยกที่ลานชั้นในขึ้นเปนดาดฟ้า เพื่อจะให้เปนเขื่อนค้ำปรางค์กลางไว้มิให้พัง การที่แก้ยังเห็นได้จนทุกวันนี้ ด้วยต้องอุดประตูและทำบันไดในที่ซึ่งไม่ควรจะทำมีอยู่หลายแห่ง

มีข้อความเนื่องกับเทวสถานบรรยงก์ ควรจะกล่าวแทรกสักหน่อย คือครั้งรัชกาลที่ ๕ เมื่อจะทำพระราชพิธีรัชมงคลที่พระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ให้ฉายดินขุดพบยอดประตูที่ในพระราชวังยอดหนึ่ง เปนรูปปรางค์มีหน้าเทวดาสี่หน้า อย่างปรางค์เทวสถานบรรยงก์นี้ สันนิษฐานกันว่ายอดประตูพระราชวังพระนครศรีอยุธยาที่กล่าวมา คงเปนต้นแบบประตูพรหมที่มาสร้างในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เปนแน่ แต่เข้าใจกันว่าหน้าเทวดานั้นเปนหน้าพรหมเพราะมี ๔ หน้า มาได้ความรู้ครั้งนี้ว่าปรางค์ประตูพระราชวังกรุงศรีอยุธยานั้น คงถ่ายแบบไปจากปรางค์เทวสถานบรรยงก์นี้เอง แต่ที่จริงหน้าเทวดานั้นเปนหน้าพระอิศวรมิใช่พรหม หน้าที่นครธมยังมีรอยตาที่สามเปนสำคัญอยู่บางแห่ง

ออกจากเทวสถานบรรยงก์ขึ้นรถไปดูพนักสพานทางประตูชัย ซึ่งฝรั่งเศสกำลังเพียรต่อรูปเทวดาและรูปอสูรที่ฉุดนาคให้ดีอย่างเดิม แล้วกลับมากินกลางวันที่โฮเต็ล

เดิมกะว่าตอนบ่ายจะไปดูเทวสถานบนยอดเขาบาเกงที่ริมนครธม แต่ยังรู้สึกเมื่อยหน้าขาด้วยกันทุกคน จึงตกลงเปลี่ยนโปรแกรมเปนขี่รถยนต์ไปเที่ยวดูภูมิลำเนาภายนอกนครธม เมืองนครธมตั้งอยู่ริมลำน้ำที่ผ่านเมืองเสียมราษฐไปออกทเลสาป ลำนำนี้ไหลมาแต่พนมกุเลน {แปลว่าเขาลิ้นจี่ อันเปนที่เอาศิลาทรายมาสร้างปราสาทหินทั้งปวงนี้) เปนลำนำเล็ก แต่น้ำไหลแรงตลอดปี มีสพานช้างทำด้วยศิลาแลง ขอมสร้างข้ามลำน้ำนี้ แต่หักพังเสียแล้ว ได้เห็นแห่งหนึ่ง แต่เห็นจะมีแห่งอื่นอิก ข้างนอกเมืองนครธมมีรอยเนินดินถมเปนคัน ดูเหมือนจะสำหรับกันน้ำเปนแนวไปหลายทาง มีที่ลุ่มรอยตกแต่งเปนที่สำหรับทำนา เรียกว่าบาราย อยู่ทั้งข้างฝ่ายตวันออกและตวันตก ปราสาทหินที่ใหญ่โตอยู่นอกเมืองมากกว่าอยู่ข้างใน พื้นที่เปนป่าดงแต่ตรงที่สูงเช่นในนครธม ที่ลุ่มราบข้างนอกเมืองออกมามีราษฎรตั้งบ้านเรือนทำไร่นาเปนแห่ง ๆ ถนนที่ทำใหม่มักผ่านไปตามปราสาทหินที่สำคัญ ปราสาทหินแห่งใดอยู่ห่างถนนออกไป ก็ตัดเปนทางเดิรเข้าไปถึงและปักป้ายเขียนหนังสือบอกชื่อสถานนั้นไว้ที่ปากทางเปนสำคัญ ไปวันนี้ได้ไปแวะที่สระสรง อยู่นอกเมืองนครธมทางด้านตวันออก เปนสระสัณฐานสี่เหลี่ยมรี มีพลับพลาอยู่ริมสระด้านสกด อย่างเดียวกับตระพังโพยศรีที่เมืองสุโขทัยเก่า แต่สระสรงที่นี่ใหญ่โตแลดูงามยิ่งนัก ด้วยลงเขื่อนศิลารอบน้ำก็ใสสอาด ถือกันว่าเปนน้ำมนต์ ขากลับเข้าในนครธมมาแวะดูพลับพลาสูงอยู่ริมสนามหน้าวัง ทำเปนเขื่อนศิลาสูงสัก ๖ ศอก ยาวตลอดหน้าวัง มีมุขทำบันไดลงเปนระยะกัน ๓ แห่ง มุขกลางนั้นเปนตัวพลับพลาสูงที่เสด็จออก แต่สังเกตดูตรงที่พลับพลานั้น เปนแต่ปูหินปรับเปนพื้น ไม่เห็นรอยเสา จึงสันนิษฐานว่าตัวพลับพลาเห็นจะทำด้วยไม้ เปนพลับพลายกตั้งบนนั้น หรือมิฉนั้นก็จะเปนแต่บุษบกหรือราชบัลลังก์โถง มีที่สำหรับข้าราชการหมอบเฝ้ายืดยาวไปทั้งสองข้าง ที่เขื่อนศิลานั้นด้านหน้าจำหลักเปนเรื่องโพนช้าง รูปภาพช้างที่จำหลักรายตลอดไปตามเขื่อนโตเกือบเท่าช้างจริงทุกตัว ที่ตรงมุขจำหลักเปนรูปครุฑและรูปสิงห์แบกตัวใหญ่ๆ ที่บันไดเปนช้างสามตัวโผล่เพียงขาหน้า

ตรงนี้มีเรื่องที่จะกล่าวแทรกอิกสักหน่อย คือในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างปราสาทองค์หนึ่ง ที่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา แต่แรกพระราชทานนามปราสาทนั้นว่า “พระที่นั่งศรียโศธรพิมานบรรยงก์” แล้วทรงพระสุบินไปว่า พระอินทร์ลงมาบอกกระบวรจักรพยุหถวาย ทรงพระราชดำริห์ว่าเปนมงคลนิมิตต์ จึงเปลี่ยนนามปราสาทนั้นเปนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ แต่คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า พลับพลาสูง และเรียกสนามที่หน้าพระที่นั่งนั้นว่า “สนามหน้าจักรวรรดิ” ข้อเหล่านี้เลยเรียกติดปากลงมาจนในกรุงรัตนโกสินทร แต่ก่อนมักเรียกพระที่นั่งสุทไธศวรรค์ ว่าพลับพลาสูง และเรียกท้องสนามชัยว่า สนามหน้าจักรวรรดิ มีปรากฎอยู่ในบทกลอนของเก่า ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนเคยติเตียนว่าพระเจ้าปราสาททองไปเอาชื่ออะไรมาขนานนามปราสาทว่า ศรียโศธรพิมานบรรยงก์ คงเห็นว่ายืดยาวเยิ่นเย้อ จึงอ้างเหตุพระสุบินนิมิตต์ เปลี่ยนชื่อเปนจักรวรรดิไพชยนต์ ดังนี้ อนึ่งเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ขุดค้นดูแนวพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ พบรูปครุฑ และรูปสิงห์แบกปั้นด้วยปูนตัวใหญ่ ๆ ตั้งประดับฐานปราสาทอยู่ข้างหน้า ได้เคยโจษกันว่าแบบอย่างที่พระเจ้าปราสาททองสร้างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ดูแปลกกับที่อื่นๆ จะเปนด้วยเหตุใดยังหาอธิบายไม่ได้ เมื่อมาเห็นฐานพลับพลาสูงที่ในนครธม ก็นึกอธิบายได้ตลอดเรื่อง คือในพงศาวดารว่าตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรตีได้เมืองละแวก ซึ่งเปนราชธานีของกรุงกัมพูชาในสมัยนั้น กรุงกัมพูชาเปนประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาต่อมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้ากรุงกัมพูชาชื่อว่าพระไชยเชษฐาตั้งแขงเมือง พระเจ้าทรงธรรมให้กองทัพลงมาปราบปรามก็เสียทีเขมรกลับไป จนถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททองจึงสามารถเอากรุงกัมพูชากลับไปขึ้นกรุงศรีอยุธยาได้ดังแต่ก่อน เพื่อจะเฉลิมพระเกียรติยศในเรื่องนี้ พระเจ้าปราสาททองจึงให้ถ่ายแบบอย่างสถานที่ต่างๆ ในกรุงกัมพูชา เอาไปสร้างไว้ให้ปรากฎที่ในกรุงศรีอยุธยา คือสร้างพระนครหลวง (นครธม) ที่ตำหนักริมน้ำสัก ทางเสด็จขึ้นพระพุทธบาทเปนต้น มาได้ความรู้คราวนี้ว่าพลับพลาสูง และสนามชัยก็ถ่ายแบบไปจากนครธมนี้เอง จึงทำรูปครุฑและรูปสิงห์แบกตัวใหญ่ๆ ประดับฐานอย่างเดียวกัน ชื่อพระที่นั่งที่เรียกแต่แรกว่าศรียโศธร ก็เอาชื่อเมืองยโศธร พิมานบรรยงก์ ก็คือชื่อเทวสถานบรรยงก์ในนครธม แม้ยอดประตูพรหมซึ่งกล่าวมาแล้วก็เห็นจะสร้างในครั้งนั้นนั่นเอง

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน เวลาเช้ามองซิเออมาชาล นายช่างผู้จัดการรักษาโบราณสถานมาพาเที่ยว เช้าวันนี้ไปดูพระราชวัง พระราชวังหันหน้าไปทางทิศตวันออก รูปแผนผังพื้นที่เปนสี่เหลี่ยมรี หันด้านแคบออกข้างหน้ายืนยาวเข้าไปข้างหลัง ต่อเขตวังข้างเหนือมีวัดพระพุทธสาสนา เรียกกันว่าวัดเทพประนม ต่อเขตวังข้างด้านใต้มีเทวสถาน เรียกกันว่าบาปวน ที่มีวัดและเทวสถานอยู่ต่อติดสองข้างพระราชวังดังนี้ ส่อให้เห็นว่าสมัยเมื่อสร้างนครธม พวกขอมถือพระพุทธสาสนาและสาสนาพราหมณ์ด้วยกันทั้งสองสาสนา คงยกพระพุทธสาสนาเปนสำคัญในทางธรรมยกสาสนาพราหมณ์เปนสำคัญในทางโลก ว่าฉเพาะส่วนพระราชวังข้างด้านหน้าทำเปนพลับพลาสูงต่อสนามชัยดังกล่าวมาแล้ว ต่อพลับพลาสูงไปข้างเหนือมีเขื่อนศิลาเปนฐานอะไรอยู่ต่างหากอิกตอนหนึ่ง เรียกกันเปนสามัญว่าปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อน เพราะในพงศาวดารเขมร ว่ามีพระเจ้ากรุงกัมพูชาองค์หนึ่งเปนโรคเรื้อนเพราะถูกสาปสรรค์ และที่ตรงนี้ผเอิญมีผู้เอาเทวรูปองค์หนึ่ง เปนรูปพระอิศวร (มีสามตา) แต่ทำเปนอย่างมนุษย์ นั่งชันเข่าข้างหนึ่งมาตั้งไว้ และรูปนั้นที่แขนข้างขวาศิลาด่าง คนจึงเหมาว่าเปนรูปพระเจ้าขี้เรื้อน รูปพระอิศวรเช่นเดียวกันนี้ยังมีที่อื่นอิก เอาลงไปไว้ที่เมืองพนมเพ็ญก็องค์หนึ่ง ยังอยู่ที่คลังของพนักงารจัดการรักษาของโบราณที่นครธมก็อิกองค์หนึ่ง ฝีมือทำเกลี้ยงเกลางามทั้ง ๓ องค์ ฐานที่เรียกกันว่าปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อนนั้นชอบกล ทำเปนเขื่อนหินสูงขี้นไปกว่าพื้นถนนสัก ๖ ศอก ข้างนอกจำหลักลายรูปภาพตัวใหญ่ ๆ นั่งเรียงกันเปนแถว ๆ ล่างรูปนาค มีทั้งพระยานาคและนางนาค ต่อขี้นไปชั้นที่ ๒ เปนรูปยักษ์ รูปครุฑมีทั้งชายหญิง แล้วถึงรูปเทวดา จำหลักเปนตัวโตๆ ทั้งนั้น ศาสตราจารย์เซเดส์สันนิษฐานว่าตามลายจำหลักดูทำนองจะทำให้เปนเขาพระสุเมรุ จึงทำรูปนาคอยู่เบื้องต่ำแล้วถึงมาร ถึงครุฑ ถึงเทวดาเปนชั้นกันขึ้นไป ที่ตรงนั้นจะเปนฐานสำหรับทำพระเมรุที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินดอกกระมัง ว่าก็ชอบกล แต่ถ้าเปนพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงพระศพ ดูจะใกล้พระราชวังเกินไปสักหน่อย ฐานปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อนซึ่งกล่าวมานี้ ปลาดอิกอย่างหนึ่งที่มีรอยก่อศิลาจำหลักเปนลายเช่นเดียวกันอิกชั้นหนึ่ง ขยายให้ฐานใหญ่กว่าเดิมออกไปสัก ๓ ศอก แต่ตรงที่ขยายนั้น ลายจำหลักข้างในก็ทิ้งไว้อย่างเดิม เปนแต่ถมดินกลบของเดิมเสีย ฝรั่งเศสไปขุดพบขนดินออกไปเททิ้งเสียที่อื่น จึงปรากฎลายจำหลักเปนสองแนวดังกล่าวมา เหตุใดเมื่อจะขยายให้กว้างออกไป จึงไม่รื้อศิลาลายจำหลักของเดิมออกไปก่อใหม่ ซึ่งอาจจะทำได้โดยง่าย สู้พยายามก่อขึ้นใหม่ให้ลำบาก แล้วกลบทิ้งของเดิมเสีย ข้อนี้ยังเปนปัญหา

ดูปราสาทพระเจ้าขี้เรื้อนแล้วกลับมาขึ้นทางบันไดหน้าพลับพลาสูงผ่านไปลงบันไดหลังพลับพลาก็ถึงประตูพระราชวัง เปนประตูศิลายอดปรางค์สามช่อง มีอักษรจารึกไว้ที่กรอบประตูทั้งสามช่อง แต่คำจารึกนั้นชอบกลหนักหนา ขึ้นต้นว่าเดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ วันอาทิตย์ มหาศักราช ๙๓๓ (พ.ศ. ๑๕๕๔) กรมตำรวจได้กระทำสัตย์สาบาลเช่นนั้นๆ มีคำสาบานเต็มความอย่างสาบาลถือน้ำ ต่อลงไปจารักชื่อผู้ที่ได้สาบาลเปนนายตำรวจอยู่ณะเมืองต่าง ๆ พิเคราะห์ดูความที่จารึกน่าฉงนสนเท่ห์ ถ้าจารึกไว้แต่คำสำหรับกระทำสัตย์ พอจะสันนิษฐานได้ ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีวิธีพิมพ์หนังสือ จารึกไว้ในที่เปิดเผยสำหรับข้าราชการจะได้ใช้ในเวลากระทำสัตย์ แต่ที่ในจารึกลงวันและบอกชื่อผู้ได้กระทำสัตย์ไว้เช่นนั้น กลายไปเปนทำนองจดหมายเหตุ บอกว่าเมื่อวันนั้นปีนั้นคนนั้น ๆ ได้มากระทำสัตย์ถวายดูเปนจารึกเรื่องพงศาวดาร จะจารึกไว้เพื่อประโยชน์อะไรเปนปัญหาอยู่อิกข้อหนึ่ง

ในเรื่องพระราชวังที่นครธม ก็มีปัญหาซึ่งไม่ได้คาดว่าจะพบและมาพบเข้าหลายอย่าง เริ่มต้นแต่ลงบันไดข้างหลังพลับพลาสูงไปเข้าประตูวัง ก็เห็นประตูวังอยู่กระชั้นชิดพลับพลาสูงนัก ส่อให้เห็นว่าจะเปนของสร้างรุ่นเดียวกันไม่ได้ พลับพลาสูงต้องเปนของสร้างเพิ่มขึ้นยุคหลัง จึงกระชั้นชิดประตูวังถึงปานนั้น เมื่อเข้าประตูวังไปแล้ว ก็ไปเห็นปลาดอิกอย่างหนึ่งที่มีรอยถมดินหนุนพื้นวังให้สูงขึ้นสัก ๓ ศอก ยังมีเครื่องศิลาปรากฎ ทั้งที่สร้างบนพื้นเดิมและเปนของสร้างบนพื้นซึ่งหนุนขึ้นใหม่ เหตุใดจึงต้องหนุนพื้นวังให้สูงขึ้นกว่าเดิมถึงเพียงนั้น ข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเขมร ว่าที่นครธมเคยมีเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่ง และมีความปรากฎว่าได้ย้ายราชธานีจากเมืองนครธม ไปตั้งที่เมืองดงตะเคียนครั้งหนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. ๑๔๗๑ ทิ้งเมืองนครธมร้างอยู่ ๑๖ ปี จึงกลับมาตั้งเปนราชธานีอิกเมื่อ พ.ศ. ๑๔๘๗

เข้าประตูวังเดิรตามถนนตรงเข้าไปถึงพระที่นั่งพิมานอากาศ มีเรื่องราวกล่าวว่าเปนที่พระเจ้าแผ่นดินบรรทมกับนางนาค แต่ที่จริงมิใช่พระราชมนเทียร เปนเทวสถานอยู่ในพระราชวัง ทำเปนปรางค์ศิลาตั้งบนฐาน ๓ ชั้น ฐานชั้นยอดมีระเบียงและวิมาน ย่อส่วนเปนอย่างเล็ก ๆ สันนิษฐานว่าทำขึ้นต่อทีหลังเปนเครื่องประกอบฐานเดิม แต่พระที่นั่งพิมานอากาศนี้สูงมาก เห็นจะราวสัก ๘ วา คั่นบรรไดก็แคบ ขึ้นลงน่ากลัวอันตราย ขึ้นดูพระที่นั่งพิมานอากาศแล้ว มองสิเออมาชาลพาไปดูสระที่สรงในพระราชวัง สระนี้ทำงามยิ่งนัก มีเขื่อนศิลาเปนชั้นๆ ลงไปสี่ชั้นรอบสระสำหรับนั่งอาบน้ำได้ทั้งเวลาน้ำมากหรือน้ำน้อย ที่เขื่อนศิลานั้นจำหลักภาพตัวโต ๆ เรียงรายตลอดทุกชั้น ชั้นล่างเปนรูปสัตว์น้ำ เช่นปลาและจรเข้ ชั้นต่อขึ้นมาเปนนาค อิกชั้นหนึ่งเปนครุฑกับยักษ์ ชั้นบนเปนเทวดา (ภาพเทพชุมนุมอย่างตัวใหญ่ๆ ที่เขียนในโบสถ์ตามวัดในเมืองเรา เห็นจะได้แบบไปจากนครธมนี้) แต่ที่ในวังไม่พบเค้าเงื่อนพระราชมนเทียร ปรากฎแต่ถนนกับกำแพงทำด้วยแลง มองสิเออมาชาลบอกว่ากำแพงกั้นแบ่งที่เปน ๓ ตอน เขาพาไปดูกำลังคนทำงานขุดดินอยู่แห่งหนึ่ง ประสงค์จะเปิดให้ถึงพื้นเดิมทั้งวัง ประมาณอิกสักปีหนึ่งจึงจะขุดสำเร็จเห็นแผนผังวังได้ตลอด ดูแล้วออกประตูทางข้างวังทางด้านใต้ ผ่านปราสาทบาปวน เปนเทวสถานอิกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขากำลังขุดดินที่กลบอยู่เหมือนกัน แต่วันนี้ยังไม่ถึงกำหนดโปรแกรมที่จะดูปราสาทบาปวน จึงเปนแต่เดิรผ่านมาขึ้นรถกลับมาโฮเต็ล

เวลาบ่าย ขึ้นไปดูนครวัดซ้ำอิกเปนครั้งที่ ๓ สังเกตดูการสร้างนครวัดนี้ ตั้งใจทำอวดแขกแต่ทางด้านตวันตกด้านเดียว สพานหินทางเข้าก็ดี ระเบียงและปรางค์ประตูก็ดี พลับพลาสูงก็ดี มีแต่ทางด้านตวันตก ฝีมือจำหลักก็บรรจงทำทางด้านนี้ยิ่งกว่าด้านอื่น ตอนแรกเข้าไปดียิ่งยวด ค่อยคลายเข้าไปทีละน้อย ๆ จนถึงจำหลักค้างในที่สุด วันนี้ไปดูภาพเรื่องที่จำหลักฝาระเบียงชั้นล่างต่อที่ดูวันก่อน เรื่องที่จำหลักระเบียง ๙ เรื่องด้วยกัน ตั้งต้นแต่ด้านตวันตกเฉียงใต้ จำหลักเรื่องมหาภารต ด้านตวันตกเฉียงเหนือ จำหลักเรื่องรามเกียรติ (ฝีมือจำหลักดีกว่าทุกเรื่อง) ด้านเหนือฝ่ายตวันตก จำหลักเรื่องเทวาสุรสงคราม ด้านเหนือฝ่ายตวันออก จำหลักเรื่องพระนารายณ์ปราบอสูรสี่ตน ในเรื่องหริวงศ กับปราบพาณาสูรในเรื่องอนิรุทธ ด้านตวันออกเฉียงเหนือ จำหลักเรื่องชักนาคทำน้ำอมฤตย์ ด้านตวันออกเฉียงใต้ จำหลักเรื่องอันใดยังแปลไม่ออก มีจารึกบอกไว้แต่ว่าของเดิมค้างอยู่ มีกษัตริย์พระองค์อื่นจำหลักเพิ่มขึ้นภายหลัง ด้านใต้ฝ่ายตวันออก จำหลักเรื่องสวรรค์และนรก มีอักษรจารึกกำกับรูปภาพบอกว่าสวรรค์วิมานชั้นนั้น ๆ คนได้ขึ้นเพราะทำบุญอย่างนั้น ๆ และนรกขุมนั้น ๆ มีชื่อ ๓๒ ขุมด้วยกัน คนตกเพราะทำบาปอย่างนั้น ๆ ด้านใต้ฝ่ายตวันตก จำหลักเรื่องพระเจ้าสุริยวารมันที่ ๒ ซึ่งทรงราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๕ และถวายพระนามเมื่อสุรคตแล้วว่าสมเด็จพระบรมพิษณุโลก เสด็จกระบวนพยุหยาตรา ดูภาพเรื่องพยุหยาตรานี้ได้ความรู้แปลก ๆ หลายอย่าง เปนต้นว่ากระบี่ธุชครุฑพาห์นั้น เขามักทำแต่เปนรูปลิงหรือรูปครุฑยืนบนปลายคันที่ถือ ที่มีธงก็มีแต่น้อย ถ้ากองทัพผู้อื่นบางทัพก็มีกระบี่นำ บางทัพก็มีครุฑนำ กำหนดกันอย่างไรรู้ไม่ได้ ส่วนกองทัพหลวงของพระเจ้าแผ่นดินนั้น เปนรูปนารายณ์ทรงครุฑมีอยู่ทัพเดียว กระบวนแห่ข้างตอนหน้ามีอักษรจารึกบอกไว้ว่า “ชาวสยาม” ตอนหนึ่ง “ชาวละโว้” ตอนหนึ่ง รูปชาวละโว้แต่งตัวเหมือนกับขอม แต่รูปชาวสยามนั้นแต่งตัวแปลกไปอย่างหนึ่ง จะพึงเห็นได้ในสมุดรูปนครวัดที่เขาพิมพ์ใหม่ แต่ที่เรียกว่าชาวสยามครั้งนั้นจะเปนไทยหรือมิใช่ไทย ข้อนี้สงสัยอยู่ ดูอยู่จนเวลาเย็นจวนค่ำ กลับลงมาทางด้านใต้ เดิรผ่านวัดพระสงฆ์ซึ่งมีอยู่ในบริเวณพระนครวัด ๒ วัด คืออยู่ทางด้านตวันตกเฉียงใต้วัดหนึ่ง ทางด้านตวันตกเฉียงเหนือวัดหนึ่ง วัดที่ไปดูว่ามีพระสงฆ์ ๕๐ แต่ไม่มีอะไรน่าดู ดีแต่พระสงฆ์ ๒ วัดนี้ ถือเปนหน้าที่ช่วยกันปัดกวาดรักษานครวัด เวลาขึ้นไปคราวใดพบพระสงฆ์สามเณรและพวกสัปรุษชายหญิง ทั้งเขมรและญวนจีน ขึ้นนมัสการพระอยู่บนนครวัดมากบ้างน้อยบ้างไม่มีที่จะว่างเลย จนถึงที่เชิงสพานหินหน้านครวัดมีคนเอาของกินไปตั้งขาย เพราะมีคนขึ้นเสมอไม่ขาด มีตาแก่คนหนึ่งพบทุกคราวที่ขึ้นไปจนคุ้นกัน ไต่ถามได้ความว่า มีพวกแขกอินเดียที่อยู่เมืองไซ่ง่อนคนหนึ่ง ทำนองจะเปนเศรษฐีขึ้นมาดูนครวัด มาเห็นเปนเทวสถานซึ่งสร้างตามลัทธิวิษณุเวทอันเปนลัทธิสาสนาของตน ก็เกิดความเลื่อมใสซื้อโคมเครื่องบูชาส่งขึ้นมา และจ้างตาแก่คนนั้นให้ขึ้นไปจุดโคมเวลาเย็นทุก ๆ วัน ให้ค่าจ้างวันละ ๑๐ เซนต์

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เวลาเช้ามองสิเออมาชาลมาพาไปดูปราสาทพระขรรค์เปนปราสาทใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างเปนวัดพระพุทธสาสนามหายาน อยู่นอกนครธมไปทางด้านเหนือ แต่ดูไม่ได้ทั่วเพราะเขายังไม่ได้ลงมือแผ้วถาง เปนแต่เฉาะทางให้เราเดิร สังเกตว่าก่อด้วยแลงปนศิลาทรายเปนรุ่นเก่าขึ้นไป ออกจากปราสาทพระขรรค์ไปดูสระอโนดาต เขมรเรียกกันเปนสามัญว่า “เนียกเปียน” (คือ นาคพัน) เปนสระสี่เหลี่ยม มีเขื่อนศิลาทำเปนคั่นบันไดลงสระโดยรอบ กลางสระมีเกาะกลม กลางเกาะมีปรางค์เทวสถานย่อมๆ หลังหนึ่ง เกาะนั้นมีเขื่อนศิลาทำเปนรูปตัวนาค ๒ ตัวรัดรอบ จึงเรียกกันว่านาคพัน ยังมีรูปเทวดาขี่ม้าตัวใหญ่รูปหนึ่ง มีมารแบกคล้ายรูปมหาภิเนษกรม ทำเหมือนหนึ่งจะเหาะไปจากเกาะ ที่ขอบสระทำซุ้มศิลาไว้ตรงกลางย่านด้านละซุ้ม ในซุ้มนั้นทางด้านนอกสระทิศหนึ่งทำเปนรูปศีร์ษะช้างอ้าปากเปนทางน้ำไหล สำหรับพราหมณ์ตักน้ำมนต์ในสระอโนดาตขึ้นมาเทที่กรวยข้างหลังซุ้ม น้ำนั้นก็ไหลไปออกทางปากช้าง ผู้ที่จะอาบน้ำต้องเข้าไปนั่งใต้ปากช้าง มีแท่นศิลาขุดเปนรอยเท้าไว้สำหรับให้วางเท้าในรอยนั้นทั้งสองข้าง นั่งยองยองพอศีร์ษะรับน้ำที่ปากช้างพอดี หน้าซุ้มออกมาเปนสระน้อยสำหรับรับน้ำที่อาบแล้ว สองข้างสระน้อยนั้น ข้างหนึ่งมีกุฎศิลาแลง สันนิษฐานว่าสำหรับผลัดผ้า อิกข้างหนึ่งมีสระน้อยอิกสระหนึ่งสันนิษฐานว่า สำหรับชำระตัวให้สอาดเมื่อก่อนอาบน้ำสระอโนดาต ทำเหมือนกันเช่นนี้ทั้งสี่ด้าน แต่ทางที่น้ำไหลนั้นเปนศีร์ษะม้าด้านหนึ่ง ศีร์ษะราชสีห์ด้านหนึ่ง แต่อิกด้านหนึ่งเปนศีร์ษะคนใส่เทริด (หาเปนศีร์ษะโคอย่างแบบเขาไกลาสของเราไม่) ที่หลังซุ้มจำหลักลายภาพมีรูปเทวดาต่างๆ และรูปคนเจ็บไข้ไปรดน้ำมนต์รักษาตัว สระอโนดาตนี้ควรนับว่าเปนของแปลกในแขวงนครธมแห่งหนึ่ง ออกจากสระอโนดาตไปดูปราสาทกลอนโค (คือคอกโค) แล้วไปดูปราสาทตาโสม เปนเทวสถานขนาดกลางไม่แปลกปลาดอันใดทั้งสองแห่ง

เวลาบ่าย ไปดูเทวสถานบรรยงก์ซ้ำเปนครั้งที่ ๒ แล้วพวกสมาชิกของเอคโคลฝรั่งเศสเอคสตรีมออเรียนต์ ซึ่งพร้อมกันอยู่ที่นี่ ๓ คน คือศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์คน ๑ มองสิเออมาชาลคน ๑ นางสาวซืซานคาปูเลสคน ๑ เขาเข้ากันจัดการเลี้ยงน้ำชาต้อนรับเราโดยฐานที่เปนสมาชิกกิติมศักดิ์ของสมาคมนั้น พร้อมทั้งผู้ที่ไปด้วยและลูกเมียของเขาประชุมกันที่ลานหน้าปราสาทบายน แล้วมองสิเออมาชาลเชิญให้ไปเลือกชิ้นศิลาจำหลัก ชิงเขาขุดได้ให้เอามาเปนที่รลึกชิ้นหนึ่ง แล้วขึ้นรถกลับมาโฮเต็ล

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เวลาเช้าขึ้นรถยนต์ไปดูเทวสถานในแขวงเมืองสูตรนิคม ๓ แห่ง ระยะทางที่ไปรถราวสัก ๕๐๐ เส้น แล้วต้องไปขึ้นเกวียนระแทะอิกตอนหนึ่งจึงไปถึง เทวสถานที่มาดูนี้สร้างก่อนนครธมและนครวัด เรียกว่าปราสาทโลไลแห่งหนึ่ง ปราสาทพระโคแห่งหนึ่ง ปราสาทบากงแห่งหนึ่ง ปราสาทเหล่านี้ก่อด้วยอิฐ ที่ทำชั้นแรกภาพและลายมักก่อโครงเปนอิฐ แล้วปั้นปูนประกอบ ต่อที่ทำชั้นหลังจึงใช้เครื่องประดับด้วยศิลาจำหลัก ปรางค์อิฐที่กล่าวนี้ที่ปราสาทโลไลมี ๔ ปรางค์ ในจารึกว่าทำอุทิศถวายพระราชบิดามารดา และพระบิดามารดาของพระมเหษี ปรางค์ที่อุทิศถวายบรรพบุรุษเปนชาย รูปภาพทวารบาลเปนชาย ที่อุทิศถวายบรรพบุรุษเปนหญิง รูปภาพทวารบาลก็เปนหญิง ที่ปราสาทโลไลกับปราสาทบากงมีวัดพระสงฆ์อยู่รักษา แต่ที่ปราสาทพระโคนั้นร้าง ปราสาทบากงโตกว่าสองแห่งที่กล่าวมาก่อน มีเทวสถานอยู่กลางแล้วทำปรางค์อิฐล้อม เทวสถานกลางทำเปนฐาน ๓ ชั้นก่อศิลาแลงสูงประมาณ ๗ วา ข้างบนเปนพื้นราบ นัยว่าเปนที่ตั้งศิวลึงค์ มีบันไดขึ้น ขึ้นไปบนนั้นแลดูได้ไกลจนเห็นทเลสาป เทวสถานเหล่านี้มีคูและกำแพงล้อมรอบทุกแห่ง

เวลาบ่ายไปดูเทวสถานบนเขาพนมบาเกง อยู่ใกล้กำแพงนครธมด้านใต้ เปนภูเขาหินธรรมดา แต่ประมาณจะสูงกว่าภูเขาทองกรุงเทพฯ ไม่มากนัก บนยอดเขานั้นทำเทวสถานบูชาศิวลึงค์ ยังมีศิวลึงค์และรอยสำหรับตั้งศิวลึงค์เรียงรายราวกับรั้ว ตัวเทวสฐานก่อถานสูง ๓ ชั้น มีปรางค์ขนาดน้อยทำด้วยศิลาตั้งรายตามชั้นทุกชั้น ชั้นบนมีปรางค์ใหญ่อยู่กลาง สันนิษฐานว่าจะทำไว้รูปพระอุมา ด้วยรูปภาพทวารบาลเปนผู้หญิง มองสิเออมาชาลบอกว่าเดิมมีหินเอาขึ้นไปกองไว้มาก ตั้งท่าจะแปลงเปนวัดพระพุทธสาสนา ก่อพระพุทธรูปองค์โต (อย่างพระเจ้าพนัญเชิง) ครอบปรางค์กลางเสียทั้งปรางค์ แต่ก่อขึ้นไปค้างอยู่เพียงบัวคว่ำบัวหงายไม่ถึงองค์พระ มองสิเออมาชาลจึงรื้อเสียเพื่อจะให้เห็นองค์ปรางค์ของเดิม ที่องค์ปรางค์นั้นยอดพังหมดแล้ว แต่ฝายังดี เขาทำบันไดเหล็กให้ปีนขึ้นไปนั่งแลดูแผนที่ได้บนปลายผนัง เพราะดูนครวัดเห็นได้ถนัดจากบนนั้นทั้งบริเวณ

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน เวลาเช้า ขึ้นรถยนต์ไปดูปราสาทกาวัน (แปลว่าดอกนมแมว) อยู่นอกนครธมด้านตวันออก เปนปรางค์อิฐกับศิลาปนกัน อย่างเช่นที่เมืองสูตรนิคม แต่แปลกที่ข้างในปรางค์ฝาผนังก่ออิฐเปนโครงรูปพระนารายณ์ขนาดใหญ่โตไว้ที่ฝาทั้ง ๓ ด้าน สำหรับจะปั้นประกอบเปนเทวรูป ต้องจุดคบดูจึงแลเห็น มีศิลาจารึกด้วย แล้วไปดูปราสาทบันทายกะได (กะฎี) อาณาเขตใหญ่โต ทำด้วยศิลาปนกับแลง มีที่สังเกตว่าเดิมสร้างเปนวัดพระพุทธสาสนา แล้วถูกขูดแก้เปนเทวสถาน ต่อนั้นไปดูปราสาทแปรรูป ก่อด้วยแลงด้วยอิฐปนกับศิลา แต่ยกฐานสูงเปน ๓ ชั้นอยู่ข้างใหญ่โต แล้วไปดูปราสาทเมบอน หนุนพื้นเปน ๓ ชั้น มีปรางค์ ๕ ปรางค์อยู่ข้างบน นัยว่าทำเปนเขาพระสุเมรุ ขากลับมาแวะดูปราสาทน้อย อยู่ใกล้ประตูชัยนครธมอิกแห่งหนึ่ง เรียกว่าปราสาทพรหมานนท์ ขนาดเดียวกับปรางค์ที่เมืองพิมาย เปนเครื่องศิลาล้วน แบบอย่างที่ทำสันนิษฐานว่ารุ่นเดียวกับพระนครวัด

เวลาบ่าย ไปดูวัดสุคตอาศรม แต่เรียกกันเปนสามัญว่าวัดเทพพนม อยู่ข้างพระราชวังด้านเหนือ มีทางเดิรปูแลง เข้าไปจนถึงวิหารหลวง ทำเปนตรีมุขก่อด้วยศิลาทราย แต่ไม่เห็นมีเค้าเงื่อนเสาส้างอย่างใด มีใบเสมาสองชั้นปักรอบวิหารหลวงนั้น แสดงว่าเปนพระอุโบสถ และมีพระพุทธรูปมารวิชัย ขนาดหน้าตักสัก ๘ ศอก ก่อด้วยศิลาองค์หนึ่ง รูปโฉมเปนแบบอย่างพระเมืองสรรค์ สงสัยว่าใบเสมาและพระพุทธรูปที่ว่านี้ จะเปนของสร้างขึ้นชั้นหลังในตอนเมื่อสาสนาลังกาวงศ์มาถึง เมื่อก่อนเมืองนครธมร้างไม่เกินร้อยปี แต่มีพระพุทธรูปยืนอิกองค์หนึ่ง สูงสัก ๘ ศอกทำด้วยศิลา เห็นจะหักพังทิ้งอยู่ในป่าที่วัดนี้ เขาเอามาเรียงตั้งขึ้นไว้ แต่ไม่ได้พระพักตร์ มีแต่พระหัดถ์ ทำนิ้วเปนวงแสดงพระธรรมจักร อย่างที่พระปฐมเจดีย์ เห็นว่าพระยืนนี้จะเปนพระยืนสำหรับวัดชั้นเดิม เพราะมีศิลาจารึกอยู่ที่วัดนั้นว่าวัดสุคต อาศรมนี้สร้างพร้อมกับนครธม บางทีพระพุทธสาสนาจะได้แผ่มาถึงกรุงกัมพูชาตั้งแต่ก่อนเกิดลัทธิมหายาน ต่อไปๆดูเทวสถาน เรียกว่าพระวิทู เปนเทวสถานขนาดน้อย ๆ แต่ฝีมือทำงดงาม เรียงกันอยู่ริมสนามชัยข้างด้านตวันออกตรงพลับพลาสูงข้าม (อย่างว่าอยู่แถววังสราญรมย์และสวนสราญรมย์) หันหน้ามาทางวัง รวมเบ็ดเสร็จนับได้ ๒๐ สถาน ทำซ้อนกัน ๒ ชั้น ได้ไปดูแต่ ๓ สถาน ออกจากพระวิทูมาแวะดูเทวสถานบรรยงก์ซ้ำอิกเปนครั้งที่ ๓ ด้วยลายจำหลักเปนเรื่องต่างๆ มีที่ฝาผนังระเบียงทั้ง ๒ ชั้น นครวัดเอาอย่างไปจากที่นี้ แต่เรื่องที่จำหลักผนังระเบียงเทวสถานบรรยงก์ เปนเรื่องพงศาวดารเปนพื้น มีรูปภาพที่น่าดูหลายอย่าง สำหรับสังเกตว่าของอย่างใดมีแต่เมื่อพันปีมาแล้ว เปนต้นว่าเรือกิ่งและเรือเอกไชย (ซึ่งเรามักเข้าใจกันว่าเปนของคิดสร้างขึ้นครั้งกรุงศรีอยุธยา) ก็เปนของมีแล้วแต่ครั้งนั้น แม้จนร่มกระดาษเช่นใช้กั้นกันตามถนน ก็มีแต่พันปีมาแล้วเหมือนกัน รูปสำหรับดูเช่นว่านี้มีมาก เที่ยวค้นเล่นจึงสนุก ดูหลายวันก็ไม่เบื่อ แล้วไปดูคลังเก็บรวมของโบราณวัดถุและสำนักงารของมองสิเออมาชาล ของโบราณที่เขาเก็บได้เอาพักไว้ในคลังนี้ก่อน แล้วเลือกคัดสิ่งที่ดีไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่เมืองพนมเพ็ญหรือเมืองฮานอยตามควร ของที่ไม่ต้องการเขาให้พิพิธภัณฑ์สถานขายแก่คนเที่ยว เอาเงินใช้บำรุงรักษาโบราณสถาน

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน เวลาเช้า ขึ้นรถยนต์ไปดูปราสาทแก้ว มักเรียกกันว่า “ตาแก้ว” อยู่นอกนครธมทางด้านตวันออก เปนปราสาทศิลาอย่างทำฐานสูง ๓ ชั้น ขึ้นบันไดไปถึงชั้นยอด สูงเสมอยอดยาง ประมาณเห็นจะสูงสัก ๑๐ วา มีปรางค์ ๕ องค์ สถานปราสาทแก้วนี้เปนของสร้างค้างยิ่งกว่าแห่งอื่นๆ ในแถวนครธม เหมือนแต่อย่างปราสาทโกลน มีรอยได้ลงมือจำหลักบ้างแต่ฐานชั้นล่าง ต่อนั้นไปดูปราสาทตาพรหม เปนวัดใหญ่โต มีสถานมาก แต่สร้างอย่างกระจุกกระจิกไม่มีชิ้นใหญ่ จำหลักลายงามยิ่งนัก สร้างเปนวัดพระพุทธสาสนาลัทธิมหายาน แต่มีรอยแก้เปนเทวสถาน เช่นถูกขูดพระพุทธรูปแล้วจำหลักแปลงเปนศิวลึงค์เปนต้น ออกจากนั้นไปดูพเนียด ซึ่งพึ่งค้นพบใหม่ได้สักเดือนหนึ่ง อยู่ข้างทิศเหนือนครธม ก่อเชิงเทินด้วยแลง สัณฐานกลมมีประตู ๒ ทาง ขนาดจะเขื่องกว่าพเนียดที่เมืองลพบุรีสักหน่อย

เวลาบ่ายขึ้นไปดูนครวัดซ้ำอิกเปนครั้งที่ ๔ ดูลายจำหลักภาพเรื่องที่ฝาผนังปรางค์มุมระเบียงชั้นล่าง จำหลักภาพเรื่องเฉลิมเกียรติพระนารายณ์ เปนปางต่างๆ ภาพตัวโตๆ ทั้งนั้น แต่ว่าดูเหมือนจะทำแล้วแต่ ๒ ปรางค์ข้างด้านตวันตก แต่ปรางค์ข้างด้านตวันออกนั้นค้างอยู่ยังมิได้จำหลัก วันนี้ได้ขึ้นไปดูห้องที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปด้วย เปนของขนมารวบรวมไว้แต่ก่อนฝรั่งเศสมาจัดการ มีพระพุทธรูปศิลามาก ฝีมืออย่างเลวเปนพื้น มีของแปลกอยู่แต่ ๓ อย่าง คือพระบาท (มิใช่รอยพระบาท) ศิลาจำหลักลายยาวสัก ๓ ศอกอย่าง ๑ พระพุทธรูปไสยาสน์เบื้องซ้ายอย่าง ๑ กับพระพุทธรูปไม้ฝีมือขอมอย่าง ๑ มีหลายองค์ที่ยืนสูงถึงราว ๖ ศอกก็มี

วันนี้มีคนเดิรทางเพิ่มมาอิก ๕ คน ด้วยฤดูนี้เรือเมล์เขาเดิรอาทิตย์ละ ๒ ครั้งดังกล่าวมาแล้ว ถ้าคนเดิรทางจะรีบกลับในเรือลำที่มา ได้ดูนครวัดในวันเสาร์วันเดียว ถึงวันอาทิตย์เช้าก็กลับ แต่ถ้ารอกลับเรือลำหลังก็ได้ดูอยู่ ๔ วัน ว่าถึงการดูนครวัดและโบราณสถานที่ต่าง ๆ ในแถวนครธม ถ้าต้องการดูเพียงแต่ว่ารูปสัณฐานเปนอย่างไรอยู่ ๔ วันก็พอ แต่ถ้าจะพิจารณาดูให้เลอียดลออควรจะอยู่ถึง ๗ วันเปนอย่างน้อย ที่เรามาดูคราวนี้ เขาพาให้ดูอย่างนักเรียน คือที่สำคัญแห่งใดเขาพาไปดูหมดทุกแห่ง และพาดูซอกแซกจนทั่วถึง ดูทั้งเช้าทั้งเย็นมา ๘ วันแล้วยังไม่หมด เขาบอกว่าที่จะได้ดูทั่วถึงเช่นเรา แม้ฝรั่งก็มีน้อย แต่ที่จริงการที่ดูอย่างนักเรียนอยู่ข้างจะฟก รอดที่เขากะเวลาดี และมีถนนไปรถยนต์ได้ทั่วถึงสถานที่สำคัญๆ เกือบทุกแห่ง ลงมือออกเที่ยวตอนเช้าราวเวลา ๘ นาฬิกา กลับจวนเที่ยง กินกลางวันแล้วนอนกลางวันกันตามธรรมเนียมของเขาเสียพักหนึ่ง ได้พักจนบ่าย ๓ โมงเศษจึงออกเที่ยวอิกยกหนึ่ง กลับเอาจวนพลบ เวลาค่ำ ๗ นาฬิกากินอาหารเย็น เวลา ๙ นาฬิกาเศษได้เข้านอนทุกคืน จึงรู้สึกฟกอยู่แต่แรก ๆ สักสองวันแล้วก็ชินไปไม่เดือดร้อน

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน เวลาเช้าก่อน ๗ นาฬิกา ขึ้นรถยนต์ออกจากโฮเต็ล ผ่านนครธมออกประตูชัยไปทางตวันออก จนถึงตำบลบ้านประดาด ทางราวเกือบชั่วโมง หยุดรถแบ่งกันขึ้นเกวียนระแทะบ้าง ขี่ม้าบ้าง ไปตามทางผ่านหมู่บ้านประดาดไปประมาณ ๑๐๐ เส้นถึงเทวสถานบันทายสำเร เปนเทวสถานขนาดกลาง ปรางค์ศิลาได้ขนาดและคล้ายคลึงกับปรางค์ที่เมืองพิมายมาก ฝีมือทำรุ่นยุคนครวัด และทำเปนสถานพระนารายณ์เช่นเดียวกัน ฝีมือจำหลักงาม แปลกแต่กำแพงที่ล้อมรอบนอก ทำกำแพงสูงก่อด้วยแลงประกอบศิลา แต่เปนกำแพง ๒ ชั้น มีทางเดิรคล้ายฉนวนในระหว่างกำแพง และเจาะหน้าต่างใส่กรอบศิลา มีลูกกรงไว้ที่กำแพงชั้นนอกบ้างชั้นในบ้าง สลับกันไปจนรอบ ของเดิมน่าจะมีหลังคาข้างบนเปนเพิงพลรอบเทวสถาน แต่มีทางเข้าออกในนั้นขับขัน ทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์อันใดแปลไม่ออก

ขากลับมาแวะดูเทวสถานเจ้าไสยเทวดา เปนปรางค์ ๓ ยอด คล้ายอย่างเช่นที่ลพบุรี แต่ทำด้วยศิลา ลวดลายที่จำหลักรุ่นเดียวกับที่นครวัด กลับมาถึงโฮเต็ลเวลา ๑๐ นาฬิกาเศษ

เวลาบ่าย ๓ นาฬิกาเศษ ผู้ว่าราชการเมืองเสียมราษฐมาหา บอกว่าเมื่อเรามาถึงกำลังไปตรวจราชการ จึงมิได้มารับ ครั้นกลับเข้ามาก็ป่วยเปนไข้ พอหายไข้จึงมาหา ผู้ว่าราชการเมืองคนนี้อายุราว ๓๕ ปีเปนชาวเมืองพนมเพ็ญ แต่พูดไทยได้คล่องแคล่ว เปนที่ออกญาปราสาทรังสรรค์ (ชื่อใหม่สำหรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเสียมราษฐ ผู้คิดหย่อนความรู้โบราณคดี ถ้าชื่อออกญายโศธรธาณินทร หรือออกญามหานครานุรักษ์จะถูกต้องดีกว่า) สนทนากันได้สนิทสนมดี สนทนากับผู้ว่าราชการเมืองเสียมราษฐแล้ว ขึ้นไปดูนครวัดซ้ำอิกครั้งหนึ่ง เปนครั้งที่ ๕ วันนี้ประทักษิณระเบียงทั้งชั้นกลางชั้นบน และในองค์ปรางค์กลาง เปนอันได้ดูทั่วนครวัด

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เวลาเช้า มองซิเออมาร์ชาลพาไปดูประตูผี คือประตูนครธมด้านตวันออก อยู่ตรงเทวสถานบรรยงก์ออกไป ห่างกับประตูชัย (ซึ่งอยู่ตรงหน้าพระราชวัง) ประมาณ ๕ เส้น แบบอย่างเหมือนประตูชัยไม่ผิดกัน แต่ภาพเดิมยังอยู่มาก ฝรั่งเศสกำลังพยายามยกศิลาที่หักพังกลับขึ้นไปตั้งอย่างเดิม จะให้เห็นว่าประตูเดิมเมื่อยังบริบูรณ์ดีเปนอย่างไร ต่อนั้นกลับมาดูปราสาทน้อยแห่งหนึ่ง อยู่ข้างถนนประตูชัยทางฝ่ายใต้ แล้วมาดูเทวสถานบาปวน ซึ่งนับว่าเปนเทวสถานสำคัญอันหนึ่งอยู่ติดพระราชวังข้างใต้ ทำเปนปรางค์ตั้งบนฐานศิลา ๕ ชั้น ต้องขึ้นบันไดสูงมาก ลายจำหลักพอเปนปานกลาง เทวสถานบาปวนนี้ในศิลาจารึกเรียกว่า สุวรรณคิรี แต่เดิมสร้างเปนสถานพระอิศวร มีรอยแก้ในชั้นหลังมาแปลงเปนสถานพระนารายณ์แปลกอยู่ ที่แห่งอื่นเห็นแต่แปลงวัดพระพุทธสาสนาเปนเทวสถาน หรือแปลงเทวสถานเปนวัดพระพุทธสาสนา ที่แปลงเทวสถานไศวะเปนไวษณวะเห็นแต่แห่งนี้ ที่เทวสถานบาปวนมีของปลาดอิกอย่างหนึ่ง คือทางเดิรเข้าไปจากท้องสนามชัย ชั้นเดิมทำเปนถนนปูศิลา ต่อมายกพื้นทำเปนสพานศิลาบนถนนนั้น คือตั้งเสาศิลากลึงกลมสูงสัก ๒ ศอกเศษรายเปนระยะ แล้วปูศิลาบนปลายเสาเปนพื้นสพานตลอดบนถนน แล้วกลับไม่ชอบใจ มีรอยแก้ไขก่อเขื่อนสองข้างถมดินกลบเสาสพานนั้นแปลงเปนถนนเสียอิก ดูน่าพิศวง ก็เทวสถานบาปวนอยู่ชิดกับพระราชวัง ข้อที่ทำสพานบนถนนให้ทางเดิรสูงขึ้นไป สันนิษฐานว่าเห็นจะทำคราวเดียวกับเมื่อถมดินหนุนพื้นพระราชวังให้สูงขึ้นดังกล่าวมาแล้ว แต่สพานหินที่ทำนั้น ดูก็งามดี จะเปนเพราะเหตุใดต่อมาจึงถมกลบเสาสพานเสีย ข้อนี้คิดไม่เห็น

อนึ่งเรามาเที่ยวนี้ได้ตั้งใจสืบสวนการเรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ซึ่งเรียกกันว่าพระกริ่ง เปนของที่นับถือและขวนขวายหากันในเมืองเรามาแต่ก่อน กล่าวกันว่าเปนพระของพระเจ้าปทุมสุริวงศสร้างไว้ เพราะได้ไปจากเมืองเขมรทั้งนั้น เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ พระอมรโมลี (นพ) วัดบุบผาราม ลงมาส่งพระมหาปานราชาคณะธรรมยุติในกรุงกัมพูชาองค์แรก ซึ่งต่อมาได้เปนสมเด็จพระสุคนธ์นั้น มาได้พระกริ่งขึ้นไปให้คุณตา (พระยาอัพภันตริกามาตย์) ท่านให้แก่เราแต่ยังเปนเด็กองค์หนึ่ง เมื่อเราบวชเณรนำไปถวายเสด็จพระอุปัชฌาย์ (สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) ทอดพระเนตร์ ท่านตรัสว่าเปนพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศ์แท้ และทรงอธิบายต่อไปว่าพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศ์นั้นมี ๒ อย่าง เปนสีดำอย่าง ๑ เปนสีเหลืององค์ย่อมลงมากว่าสีดำอย่าง ๑ แต่อย่างสีเหลืองนั้นเราไม่เคยเห็น ได้เห็นของผู้อื่นก็เปนอย่างสีดำทั้งนั้น ต่อมาเมื่อเราอยู่กระทรวงมหาดไทย พระครูเมืองสุรินทร์เข้ามากรุงเทพ ฯ เอาพระกริ่งมาให้อิกองค์หนึ่งก็เปนอย่างสีดำ ได้พิจารณาเทียบเคียงกันดูกับองค์ที่คุณตาให้ เห็นเหมือนกันไม่ผิดเลย จึงเข้าใจว่าพระกริ่งนั้น เดิมเห็นจะตีพิมพ์ทำทีละมาก ๆ และรูปสัณฐานเห็นว่าเปนพระพุทธรูปมหายานอย่างจีน มาได้หลักฐานเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยราชทูตต่างประเทศคนหนึ่งเคยไปอยู่เมืองปักกิ่ง ได้พระกริ่งทองของจีนมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่ากันเปนแต่พระพักตร์มิใช่พิมพ์เดียวกับพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศ ถึงกระนั้น ก็เปนหลักฐานว่าพระกริ่งเปนของมาแต่เมืองจีนแน่ มาเที่ยวนี้จึงตั้งใจจะสืบหาหลักฐานว่าพระกริ่งนั้นหากันได้ที่ไหนในเมืองเขมร ครั้นมาถึงเมืองพนมเพ็ญ พบพระเจ้าพระสงฆ์ที่เปนผู้หลักผู้ใหญ่ ลองไต่ถามก็ไม่มีใครรู้เรื่องพระกริ่งและไม่เคยเห็น มีออกญาจักรีคนเดียวบอกว่าสัก ๒๐ ปีมาแล้วได้เคยเห็นของชาวบ้านนอกองค์หนึ่งเปนพระชนิดเช่นว่า แต่ก็หาได้เอาใจใส่ไม่ ครั้นมาถึงพระนครวัดจึงมาได้ความจากมองสิเออมาร์ชาล ผู้จัดการรักษาโบราณสถาน ว่าเมื่อสัก ๒-๓ เดือนมาแล้ว เขาขุดซ่อมเทวสถานซึ่งแปลงเปนวัดพระพุทธสาสนา อยู่บนยอดเขาบาเกง ริมนครธมข้างด้านใต้ พบพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ในหม้อใบหนึ่งหลายองค์ เอามาให้เราดู เปนพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศทั้งนั้น มีทั้งอย่างดำและอย่างเหลือง ตรงกับที่เสด็จพระอุปัชฌาย์ทรงอธิบาย จึงเปนอันได้ความแน่ว่าพระกริ่งที่ได้ไปยังประเทศเราแต่ก่อนนั้น เปนของหาได้ในกรุงกัมพูชาแน่ แต่จะทำมาจำหน่ายจากเมืองจีน หรือพวกขอมจะเอาแบบพระจีนมาคิดหล่อขี้นในประเทศขอม ข้อนี้ทราบไม่ได้

เวลาบ่าย ไปดูปราสาทบรรยงก์ซ้ำอิกครั้งหนึ่ง เปนครั้งที่ ๔ ดูภาพเรื่องที่จำหลักระเบียงชั้นล่างจนรอบทุกด้าน มีความข้อหนึ่ง เนื่องด้วยเทวสถานบรรยงก์ยังมิได้กล่าว คือเทวสถานบรรยงก์สร้างเปนฝ่ายไศวะ แต่เดิมในปรางค์ตั้งศิวลึงค์ และทำลวดลายรูปศิวลึงค์จำหลักตามที่ต่างๆ แต่มีรอยขูดแก้ลายศิวลึงค์ และยกศิวลึงค์ไปจากในปรางค์ ตั้งพระพุทธรูปแทน แปลงเทวสถานเปนเจดียสถานในพระพุทธสาสนา ใช่แต่เท่านั้น สร้างวัดมีพัทธเสมาล้อมด้วยอิกมุมละวัด เห็นจะเปนของแปลงชั้นหลัง แต่ในสมัยเมื่อราชธานีกรุงกัมพูชาอยู่ที่นครธมนั้นเอง

วันที่ ๑ ธันวาคม เวลาเช้า ขึ้นรถไปเที่ยวดูเทวสถานที่ไม่สู้สำคัญในแถวนครธมซึ่งได้ผ่านทิ้งเสียในวันก่อนๆ แห่งหนึ่ง เรียกว่าปักษีจำกรง อยู่ริมเขาพนมบาเกงข้างนอกนครธม เปนเทวสถานพระอิศวร ทำฐานสูง ๓ ชั้น มีปรางค์อยู่ข้างบน ฐานก่อด้วยแลง ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ต่อไป ๆ ดูวัดพระศรีอารย์ อยู่ใกล้ถนนในนครธม เห็นจะเปนวัดพระพุทธสาสนาสร้างมาแต่ครั้งมหายาน พวกลังกาวงศมาสร้างซ้ำผูกพัทธเสมาอย่างใบเสมาซ้อนสองใบ นอกจากพระพุทธรูปนาคปรกศิลาองค์หนึ่ง ไม่มีอะไรเปนแก่นสาร ต่อไป ๆ ดูวัดพระอินทรเทพ ก็เปนทำนองเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แล้วไปดูที่ฝังศพมองซิเออโกมไมล์ ซึ่งเปนผู้จัดการรักษาของโบราณก่อนมองสิเออมาร์ชาล มองซิเออโกมไมล์คนนั้นเคยไปรับเงินซึ่งสำหรับแจกกุลีเอามาเองจากเมืองเสียมราษฐทุกวันเสาร์ ผู้ร้ายรู้ความดักทางตีชิงยิงมองซิเออโกมไมล์ตาย รัฐบาลได้จัดทำที่ฝังศพให้เปนบำเหน็จความชอบ ทำด้วยศิลาแลง หล่อสิเมนต์เปนลวดลายอย่างปราสาทขอมไม่ใหญ่โต แต่ทำประณีตดี ออกจากนั้นไปดูพระโคกปรก เปนเรือนศิลาสัณฐานยาว ทำไว้ข้างหลังเทวสถานข้ามฟากสนามชัยตรงหน้าบาปวน ดูเหมือนจะเปนที่สำหรับประชุมทำพิธี เช่นถือน้ำกระทำสัตย์เปนต้น แล้วไปดูพระราชวังอิกครั้งหนึ่ง นับว่าเปนเสร็จการดูปราสาทหินแถวนครวัดนครธม พอจะอ้างได้ว่าแห่งใดซึ่งควรดูได้ดูหมดทุกแห่ง พอหมดวันที่กำหนดในโปรแกรมสำหรับอยู่ดูนครวัดนครธมพอดี

มีความรู้บางอย่างเนื่องด้วยปราสาทหิน ยังมิได้กล่าวที่อื่นจะกล่าวเพิ่มลงตรงนี้ คือ ปราสาทหินทั้งปวงนั้น ถ้าว่าด้วยทัพสัมภาระที่ใช้ก่อสร้าง มีสร้างด้วยอิฐอย่าง ๑ สร้างด้วยแลงอย่าง ๑ สร้างด้วยศิลาอย่าง ๑ หรือประสมกันในสองอย่างสามอย่างนั้น น่าจะคิดเห็นว่าชั้นเดิมทีเดียวสร้างด้วยอิฐ เพราะอาจจะทำได้ด้วยกำลังคนน้อย ครั้นต่อมาเห็นว่าก่อด้วยแลงถาวรกว่าอิฐ จึงเปลี่ยนไปใช้ก่อด้วยแลง ในสมัยเมื่อมีคนเปนกำลังมากพอที่จะขนแลงก้อนใหญ่ ๆ เอามาใช้ก่อสร้างได้ ครั้นมาถึงสมัยเมื่อพวกขอมมีอำนาจเต็มที่ มีผู้คนเรียกมาทำงานได้ตั้งหมื่นตั้งแสน จึงให้ไปเที่ยวขุดศิลาขนมาใช้ก่อสร้าง เพราะอยากจะจำหลักทำรูปและลวดลายให้งามกว่าทำด้วยแลงหรืออิฐ แต่ตามความที่ปรากฎในศิลาจารึกหาเปนเช่นนั้นไม่ ปรากฎว่าปราสาทที่ทำในจังหวัดอันเดียวกัน และในยุคอันเดียวกัน ทำด้วยอิฐก็มี ทำด้วยแลงก็มี ทำด้วยศิลาก็มี การที่เลือกว่าจะทำด้วยทัพสัมภาระอย่างใด อาศรัยเหตุอื่น บางทีจะมีเกณฑ์สองอย่าง คือ กำลังของผู้สร้างอย่างหนึ่ง ความสำคัญของสถานที่สร้างอย่างหนึ่ง

ลักษณการก่อสร้างปราสาทหินนั้น บรรดาปราสาทที่สร้างด้วยศิลาเช่นนครวัดเปนต้น ใช้แลงเปนแกนในทั้งนั้น ก่อศิลาหุ้มแต่ข้างนอก เว้นแต่แห่งใดจะทำแกนไม่ได้จึงใช้ศิลาล้วน วิธีก่อศิลานั้น ถากศิลาเปนแท่งโกลนมาเรียบเรียงก่อขึ้นไปจนสำเร็จเสียก่อน แล้วจึงตั้งร่างร้านขึ้นไปเจียนศิลาเปนรูป และจำหลักลายต่อภายหลัง สันนิษฐานว่าการสร้างเห็นจะใช้ช่างหลายพวก คือช่างก่อพวกหนึ่ง ช่างจำหลักพวกหนึ่ง บางทีจะมีพวกช่างแกะลายเบาอิกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องขึ้นร่างร้านสูง แม้เปนผู้หญิงก็อาจทำได้ การที่ก่อกับที่จำหลักทำก่อน แต่การแกะลายเบาทิ้งไว้ทำต่อทีหลัง ดูเหมือนการแกะลายเบานั้น จะปล่อยไว้ให้เรี่ยรายกันทำตามแต่ศรัทธา ด้วยเหตุนี้ แม้ที่นครวัดยังมีรอยแกะลายเบาค้างอยู่ครึ่งๆ กลางๆ หลายแห่ง ถ้าทำเปนงารหลวงที่ไหนจะเปนเช่นนั้น แท้ที่จริงขึ้นชื่อว่าปราสาทหิน ไม่ว่าที่ใด ในแดนกรุงกัมพูชาก็ดี หรือในประเทศของเรานี้ก็ดี ใหญ่ก็ตามเล็กก็ตาม คงก่อค้างบ้าง จำหลักค้างบ้าง แกะค้างบ้าง ที่จะไม่ทำค้างนั้นไม่มีสักแห่งเดียว ข้อนี้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้ทรงสังเกตเห็นก่อน ตั้งแต่ช้านานมาแล้ว คงเปนเพราะวิธีที่ใช้ช่างหลายพวก และผู้สร้างก็หลายพวกดังกล่าวมา

อนึ่งรูปสัณฐานของปราสาทหินนั้น ที่สร้างในพระพุทธสาสนา กับที่สร้างในสาสนาพราหมณ์ สังเกตเห็นผิดกันในข้อสำคัญอย่างหนึ่ง คือถ้าสร้างในพระพุทธสาสนาถึงบริเวณจะใหญ่โตอย่างไร ย่อมทำพื้นต่ำวิหารและปรางค์ไม่หนุนฐานขึ้นไปให้สูงนัก ถ้าสร้างในสาสนาพราหมณ์มักจะมีฐาน ๓ ชั้น หรือ ๕ ชั้น สร้างปรางค์สูงลอยอยู่บนฐาน ความที่ผิดกันเช่นว่านี้ จะพึงสังเกตได้ แม้สถานที่ขอมสร้างณเมืองลพบุรี เช่นวัดมหาธาตุเปนของสร้างในพระพุทธสาสนาพื้นเตี้ย เทวสถานที่เรียกว่าศาลสูงเปนของสร้างในสาสนาพราหมณ์ ยกพื้นสูงขึ้นไปเปนหลายชั้น

ว่าถึงกระบวรลวดลาย พวกขอมได้แบบมาแต่อินเดียเปนแน่ไม่มีที่สงสัย แต่เมื่อช่างขอมเชี่ยวชาญขึ้นจึงคิดแผลงจากลายอินเดียมาเปนลายขอมเกิดขึ้นอิกอย่างหนึ่ง ข้อนี้ได้พบสิ่งสำคัญเปนอุทาหรณ์เหมาะดี มีลายจำหลักศิลาทับหลังประตูของโบราณชิ้นหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานเมืองพนมเพ็ญ เปนลายอินเดีย ไปพบอิกชิ้นหนึ่งอยู่ที่คลังนครธมเปนลายขอม แต่สังเกตได้ถนัดว่าแก้ไขมาจากลายเดียวกัน จึงถ่ายรูปศิลาทับหลังประตูทั้งสองชิ้นมาพิมพ์เทียบกันไว้ให้เห็นในหนังสือนี้ด้วย

เหตุที่สร้างปราสาทหินปรากฎในศิลาจารึกต่าง ๆ กัน ชั้นเดิมดูเหมือนจะสร้างอุทิศหรือเฉลิมพระเกียรติแก่ผู้ที่ล่วงลับไปยังปรโลกแล้ว มาชั้นหลัง ยกตัวอย่างดังนครวัด พระเจ้าแผ่นดินเริ่มสร้างเฉลิมพระเกียรติยศพระองค์เองแต่ยังมีพระชนม์อยู่ แต่ไปแล้วต่อรัชกาลหลัง นัยว่าเวลาที่สร้างราว ๖๐ ปีจึงสำเร็จ นึกถึงประเพณีโบราณของเรากล่าวกันว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์พระองค์หนึ่ง ต้องสร้างวัดประจำรัชกาลวัดหนึ่ง แต่วัดที่สร้างนั้นมักปล่อยค้างไว้ให้ฉลองต่อรัชกาลหลัง ด้วยเกรงว่าถ้าทำให้แล้วเสร็จจะสิ้นรัชกาล คติอันนี้จะได้มาแต่ขอมในเรื่องสร้างปราสาทหินหรืออย่างไรน่าพิเคราะห์อยู่

อนึ่งปราสาทหินซึ่งขอมสร้าง เมื่อคิดดูว่าแห่งหนึ่ง ๆ จะต้องใช้แรงคนสักเท่าใด ดูเหลือที่จะประมาณ อย่างเช่นสร้างนครวัดเห็นจะต้องเกณฑ์จำนวนคนประจำทำงารนับด้วยหมื่น ให้ไปตั้งต่อยศิลาอยู่ที่เขาลิ้นจี่บ้าง ไปเที่ยวขุดหาแลงที่อื่นบ้าง เปนพนักงารขนศิลาและแลงมาจากที่นั้นๆ บ้าง ยังพวกคนยกขนขึ้นเรียบเรียง ในสมัยเมื่อยังไม่มีเครื่องจักรกล ซึ่งจะช่วยแรงคน จะต้องใช้คนมากสักเท่าใดจึงจะพอแก่งาร เพราะฉนั้นคิดดูก็พอเห็นได้ว่าจะต้องใช้อำนาจสักเพียงใด และไพร่พลที่ต้องกะเกณฑ์นั้นจะได้ความเดือดร้อนสักเพียงใด นครวัดนับว่าเปนอนุสาวรีย์โบราณซึ่งใหญ่โตและสง่างามอย่างที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่เมื่อคิดถึงราคาที่ท่านผู้สร้างต้องลงทุนก็น่าอนาถใจ ด้วยตามเรื่องพงศาวดารปรากฎว่า พอเสร็จสร้างนครวัดแล้ว ประเทศขอมก็สิ้นกำลัง ต่อมาไม่ช้านานเท่าใดก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของชาติอื่น

ข้อที่สุดซึ่งจะกล่าวในเรื่องปราสาทหินที่ได้มาดูคราวนี้ อยากจะลงความเห็นไว้ว่าการที่อ่านคำพรรณาเช่นกล่าวมาในหนังสือนี้ก็ดี หรือดูรูปที่เขาถ่ายก็ดี สำคัญใจไว้อย่างไร ครั้นไปเห็นตัวจริงก็รู้สึกว่าสำคัญผิดไปเสียโดยมาก เพราะฉนั้นผู้ที่อยากดูปราสาทหิน ถ้าสามารถไปได้ควรไปดูให้ถึงที่ ได้ดูแล้วจะไม่เสียใจเลย

วันนี้มีพวกอเมริกันเดิรทางมาถึงนครวัดอิกหมู่หนึ่ง ได้ยินว่าจะมีพวกเจ้าหญิงชาวอิยิปต์มาพรุ่งนี้อิก ๔ คน วันศุกร์ก็ว่าจะมีพวกเดิรทางมาอิก ๑๘ คน ผู้จัดการโฮเต็ลออกจะรู้สึกลำบากด้วยที่ไม่พอให้คนอยู่ แต่พวกเราจะไปพรุ่งนี้ ถ้งกระนั้นพวกที่จะมาใหม่ก็มากกว่าพวกเราอิกมาก ในโฮเต็ลดูเหมือนจะมีที่ห้องคนอาศรัยสัก ๑๕ ห้อง ถ้าคนมากก็ต้องอยู่ห้องละหลายคน โฮเต็ลนี้ทราบว่าเปนของบริษัทเมสชาจรีฟลูเวียลที่เดิรเรือจัดการ การกินอยู่ ๆ ข้างดี และมีพาหนะของโฮเต็ล คือรถยนต์และมีช้างของโฮเต็ล ๒ เชือกสำหรับรับพาคนโดยสาน รัฐบาลช่วยจัดคนสำหรับนำทางคนเที่ยวด้วย คนนำทางนั้นเปนพวกเสมียนเขมรที่พูดภาษาต่างประเทศได้ เขาสั่งสอนให้รู้จักอธิบายโบราณสถานต่าง ๆ ค่าโฮเต็ลและค่าพาหนะเรียกแรงอยู่สักหน่อย แต่เมื่อคิดดูก็เห็นอกผู้จัดการโฮเต็ล ด้วยจำนวนคนที่มาเที่ยวไม่ยุติ บางฤดูก็มีมาก บางฤดูก็มีน้อย บางทีก็ไม่มีใครมา เขาต้องเตรียมโฮเต็ลเสียค่าโสหุ้ยอยู่เปนนิจ ก็ต้องคิดถัวกัน ได้ยินว่าแต่เดิมโฮเต็ลเปิดเพียงปีละ ๔ เดือน แต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่มีรถยนต์ มีคนมาดูนครวัดนครธมตลอดปี แลจำนวนคนที่มาก็มากขึ้นทุกที รัฐบาลกำลังคิดอ่านจะให้ค่าโฮเต็ลและค่าพาหนะลดน้อยลง เพื่อให้มีผู้มาเที่ยวมากขึ้น จะได้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองในทางอื่น สังเกตดูการที่มาพบปะคนเดิรทางต่างชาติ ดูก็ชอบกลอยู่ ถ้าเปนอเมริกันมักจะยิ้มแย้มและเลียมให้คุ้นในไม่ช้า ถ้าเปนฝรั่งเศส บางคนที่มีตำแหน่งแห่งโคน ก็มักไปพูดกับผู้กำกับให้ชักนำให้รู้จักกับเรา ที่เปนแต่คนเดิรทางมาเที่ยวสามัญ อยู่ด้วยกันไปเฉยๆ ไม่รู้จักกันก็มี แต่สังเกตได้ว่าเขาคงแสดงอัชฌาสัยดีต่อเราทุกพวกไม่มีเว้น

มองสิเออบอดูแอง เรสิดังสุปีริเอกรุงกัมพูชา กับโปรเฟสเซอร์ดือคูแองช่างปั้น และนายร้อยโท กอนเน นายทหารคนสนิท ซึ่งขึ้นมารับเรากลับโดยทางรถยนต์ ออกจากเมืองพนมเพ็ญแต่เช้า ๕ นาฬิกา ๓๐ นาฑี มาถึงเมืองเสียมราษฐเวลา ๑๑ นาฬิกา เจ้าหญิงได้ช่วยกันทำของกินอย่างไทยส่งไปเลี้ยงเวลากลางวัน ครั้นเวลาบ่ายมาหาที่โฮเต็ล สนทนาปราไสและถ่ายรูปด้วยกันแล้ว เชิญให้พวกเราไปกินอาหารเย็นด้วยที่จวนซึ่งสร้างใหม่ในเมืองเสียมราษฐ ครั้นเวลาค่ำ ๗ นาฬิกาให้รถมารับไปด้วยกันทั้งหมด พูดกันถึงเรื่องที่จะเดิรทางบกขากลับ เรสิดังสุปีริเอเอารถยนต์ขึ้นมาจากเมืองพนมเพ็ญสำหรับให้พวกเรากลับอิกหลังหนึ่ง รวมเปนสองหลังด้วยกันกับรถยนต์ซึ่งเรสิดังสุปีริเอ ได้ส่งล่วงหน้าขึ้นมาสำหรับเราเที่ยวเตร่แต่แรกมาถึง แลสั่งให้เจ้าเมืองหารถยนต์ที่ในเมืองเสียมราษฐรับขนหีบผ้าไปส่งที่กำพงจามอิกหลังหนึ่ง รวมเปนกระบวรรถ ๓ หลังด้วยกัน ของที่จะไปทางบกฉเพาะใช้ ๒ วัน นอกจากนั้นส่งกลับทางเรือเมล์ ให้นายสมบุญ โชติจิตร คุมไป เรือจะออกจากเมืองเสียมราษฐ่ตอวันที่ ๔ เวลาเช้า ถึงเมืองพนมเพ็ญทีหลังเราไปถึง ส่วนเรสิดังสุปีริเอจะล่วงหน้าออกจากเมืองเสียมราษฐ แต่เวลาเช้า ๕ นาฬิกา ๓๐ นาฑี ไปคอยรับอยู่ที่เมืองกำพงธม ซึ่งจะเปนที่พักกินกลางวัน กะให้กระบวรเราออกในระหว่างเวลา ๗ จน ๘ นาฬิกา ครั้นกินอาหารเสร็จแล้วกลับมาโฮเต็ลแต่หัวค่ำ ด้วยจะมาจัดของ ทั้งเห็นว่าเรสิดังสุปีริเอเดิรทางเหนื่อยจะได้ผ่อนพัก

  1. ๑. รูปที่จำลองไว้ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทำดีพอใช้ แต่มีเฉพาะตัวปราสาทกลาง ขาดปรางค์ประตูซึ่งอยู่ริมคูชั้นนอก

     

  2. ๒. นามสุริยวรมัน นั้น เรียกตามที่ปรากฎในศิลาจารึก สันนิษฐานกันว่า ที่ในหนังสือพงศาวดารเขมรเรียกว่า “พระเจ้าปทุมสุริย์วงศ์” นั้น เห็นจะหมายถึงพระเจ้าสุริยวาร์มันองค์นี้เอง

     

  3. ๓. มุขลึงค์ของโบราณมีอยู่ที่วัดพระเชตุพน ฯ แต่หน้าคนมีด้านเดียว

     

  4. ๔. ในหนังสือรัตนพิมพวงศตำนานพระแก้วมรกฎก็กล่าวถึงน้ำท่วมคราวนั้น

     

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ