๖ กลับเมืองพนมเพ็ญทางเมืองกำพงจาม

วันที่ ๒ ธันวาคม เวลาเช้า ๗ นาฬิกา ออกจากโฮเต็ลนครวัด พวกเจ้าเมืองกรมการและผู้จัดการโฮเต็ลพากันมาส่ง จัดผลไม้และขนมให้มาสำหรับกินในรถ ขับรถกลับเข้ามาทางเมืองเสียมราษฐ แล้วข้ามลำน้ำมาข้างใต้

ถนนตอนพรมแดนเมืองเสียมราษฐต่อกับมณฑลกำพงธมยังไม่แล้วดี ได้เห็นเวลากำลังทำถนน พอรู้เค้าเงื่อนวิธีทำถนนของฝรั่งเศสบ้าง ได้ยินว่าถนนที่ทำนั้นเขากำหนดเปน ๓ ชนิด ชนิดที่ ๑ ถนนสำหรับโคโลนี คือทำเพื่อประโยชน์รวมกันทุกอาณาเขต รัฐบาลกลางที่เมืองฮานอยเปนผู้คิดว่าควรจะทำไปทางไหน และใช้เงินของรัฐบาลกลางก่อสร้าง ชนิดที่ ๒ เปนถนนสำหรับอาณาเขต คือคิดทำเพื่อประโยชน์ฉเพาะอาณาเขต อาณาเขตตังเกี๋ยก็ส่วนหนึ่ง อาณาเขตญวนก็ส่วนหนึ่ง อาณาเขตไซ่ง่อนก็ส่วนหนึ่ง อาณาเขตกัมพูชาก็ส่วนหนึ่ง อาณาเขตลาวก็ส่วนหนึ่ง รัฐบาลอาณาเขตนั้นๆ คิดและก่อสร้าง และใช้เงินของอาณาเขตนั้นๆ ชนิดที่ ๓ เปนถนนสำหรับมณฑล หรือเมืองซึ่งจะทำมาต่อกับถนนอาณาเขต รัฐบาลมณฑลนั้น ๆ เปนผู้คิดผู้ทำ และใช้เงินของมณฑลนั้นๆ ถนนที่เรามาวันนี้เปนถนนชนิดอาณาเขตของกรุงกัมพูชา วิธีทำนั้นคือในชั้นต้นกรุยทางเสร็จแล้ว พูนดินเปนโครงถนน (อย่างเราทำทางรถไฟ) ทุบปราบและทำสพานไม้ชั่วคราวพอให้ใช้รถยนต์เดิรได้เสียชั้นหนึ่งก่อน ทิ้งไว้จนดินยุบแน่นได้ที่ (และมีเงินพอจะทำ) จึงลงมือทำเปนถนน การที่ทำถนนดูเหมือนจะลงทุนซื้อเครื่องมือเปนเงินมากมาย แต่ในสายที่เรามาวันนี้ มีรางเหล็กอย่างยกได้เปนผืน ๆ และมีรถเหล็กเดิรบนราง สำหรับขนดินและขนศิลาลากด้วยรถจักรมากทีเดียว ตำบลใดเปนที่ส่งศิลาและทรายของใช้ทำถนน วางปลายรางไปแต่ที่ตำบลนั้นตั้งหลาย ๆ ร้อยเส้น ตามทางมีเรือนที่พักของนายช่างผู้อำนวยการและโรงคนรองงารอาศรัยตั้งเปนแห่ง ๆ เหมือนเช่นทำรถไฟ มีเรือบรรทุกศิลาไปส่งที่ปลายราง รถรางรับบรรทุกพ่วงรถจักรลากไปจนถึงที่เทถมถนน และมีลูกกลิ้งสติมก็มาก กลิ้งบดแล้วโรยทรายให้เรียบ ทำตอนไหนสำเร็จแล้วก็ยกรางขึ้นบรรทุกรถ แล้ววางรางขนย้ายไปตั้งเซกชันใหม่ ทำถนนที่ตอนอื่นต่อไป ถึงเวลาทำถนนเสร็จแล้วเช่นนี้ สพานยังใช้เปนสพานไม้ชั่วคราว ค่อยเปลี่ยนทำเปนของถาวรเปนลำดับไป (ดูเหมือนเรื่องทำสพานจะแล้วแต่เศษเงินมีเหลือปีละเท่าใดก็ทำเท่านั้น) สังเกตดูถนนตอนแต่เมืองเสียมราษฐมาจนเมืองกำพงสวาย อันตั้งที่ว่าการมณฑลกำพงธม จำนวนสพานที่ทำเปนของถาวรเสร็จแล้ง กับสพานที่กำลังทำเปนของถาวร และสพานซึ่งยังเปนของใช้ชั่วคราว จำนวนจะเท่า ๆ กัน แต่ในเวลาที่ทำสพานเขาไม่ยอมให้ปิดถนน เพราะฉนั้นจะทำสพานตรงไหนต้องถมดินทำเปนถนนโค้งสำหรับรถเดิรอ้อมชั่วคราวทุกแห่ง เรสิดังสุปีริเอบอกว่าถนนที่ทำตั้งแต่กำพงธมไปถึงเมืองเสียมราษฐระยะทางราว ๑๕๐ กิโลเมตร์ (คือ ๓๗๕๐ เส้น) ลงทุนเปนเงิน ๖๐๐,๐๐๐ เหรียญ แต่การรักษาถนนที่ทำแล้วรักษาดียิ่งนัก แม้ถนนยืดยาวนับตั้งหมื่นเส้น และผ่านไปในที่ทุ่งนาป่าเปลี่ยวโดยมาก ที่จะผ่านหมู่บ้านนั้นน้อยแห่ง เขาวางคนสำหรับปัดกวาดและซ่อมแซมมีตลอดทุกระยะ รักษาเรียบรื่น จะหาแต่รกสักแห่งหนึ่งก็หาพบไม่ เมื่อลองคิดดูถึงประโยชน์ที่จะได้จากการทำถนนยืดยาวและมากมายหลายแห่งเช่นฝรั่งเศสทำ ดูเหมือนประโยชน์จะเปน ๒ ชั้น คือประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ในอนาคต ส่วนประโยชน์ในปัจจุบันนั้นเห็นจะได้แก่รับาลมากกว่าผู้อื่น เพราะอาจจะใช้รถยนต์ไปมาได้รวดเร็ว มีการเกิดขึ้นฝ่ายพลเรือน เช่นจะไปตรวจราชการก็ดี หรือการฝ่ายทหาร หากจะเกิดจลาจลขึ้นที่ใดจะส่งกำลังไปปราบปรามก็ดีก็เปนการสดวก ไม่จำเปนต้องมีเจ้าพนักงารหรือรี้พลแยกย้ายไปเที่ยวตั้งประจำอยู่ตามท้องที่มากมายอย่างแต่ก่อน ตัดความเปลืองและความลำบากในเรื่องนั้นลงเปนตัวกำไรที่ได้จากทำถนน แต่ส่วนราษฎรนั้นดูจะยังไม่สู้ได้รับประโยชน์ในปัจจุบันนัก เพราะหมู่บ้านที่ตั้งมาแต่ก่อนสร้างถนน อยู่ห่างถนนโดยมาก มาทางถนนนานๆ จะพบหมู่บ้านที่อยู่ริมถนนสักแห่งหนึ่ง ยานพาหนะของราษฎรเล่าก็ยังใช้เกวียนอย่างเก่าอยู่โดยมาก เกวียนอย่างเก่านั้น ถ้าปล่อยให้เดิรบนถนนก็กัดถนนเสีย ดูเหมือนรัฐบาลฝรั่งเศสจะห้ามไม่ให้เดิรบนถนนอยู่แล้ว ด้วยเห็นรอยทางเกวียนมีอยู่ข้างถนนเนือง ๆ ถึงยอมให้เดิรบนถนน เกวียนเหล่านั้นเองก็ทนไม่ได้ ด้วยทำเปนเครื่องผูกสำหรับแต่เดิรกับที่ทราย ต่อเปลี่ยนเปนเกวียนล้อหุ้มเหล็กเมื่อใด เกวียนกับถนนจึงจะเข้ากันได้ เกวียนเช่นว่ายังไม่เห็นมีกี่หลัง ในปัจจุบันนี้ประโยชน์ที่ราษฎรได้เพียงเดิรทางสดวกขึ้น แต่ประโยชน์ส่วนอนาคตนั้นราษฎรและบ้านเมืองคงจะได้เปนอันมากไม่ต้องสงสัย เดี๋ยวนี้ก็พอสังเกตเห็นได้อยู่แล้ว สองข้างถนนที่ผ่านไป ที่ป่าดงมีรอยโก่นสร้างถางทำไร่และบ้านเรือนร้านตลาดขึ้นใหม่ไปทุกแห่ง หมู่บ้านที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าคงหันมาสร้างริมถนนหลวง หรือมิฉะนั้นก็คงทำถนนสายแยกเข้าไปหาหมู่บ้าน การขนสินค้าต่างๆ มีแต่จะสดวกขึ้นทุกที เมื่อพูดกับเรสิดังสุปีริเอถึงเรื่องทำถนน เราพูดขึ้นว่าเกวียนอย่างโบราณใช้กับถนนไม่ได้ เขาบอกว่าพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ออกประกาศแล้ว ว่าเมื่อพ้น ๒ ปีล่วงไปจะไม่ยอมให้เกวียนอย่างเก่าขึ้นเดิรบนถนนเปนอันขาด ต่อเกวียนที่มีล้อหุ้มแผ่นเหล็กจึงจะยอมให้เดิร

ในทางที่มาวันนี้พอเข้าแขวงมณฑลกำพงธม ถนนทำตามแนวถนนขอมแห่งหนึ่ง ตรงที่ข้ามห้วยสะตุงบาออ เปนห้วยใหญ่และลึก ขอมได้ทำสพานช้างข้ามห้วยไว้แต่โบราณ เปนสพานก่อด้วยแลงอย่างแขงแรง เปิดทางน้ำเดิรหลายช่อง สูงจากท้องห้วยขึ้นมาถึงรดับถนนเห็นจะราว ๕ วา พนักสพานทำด้วยศิลาเปนรูปพระยานาค ๗ เศียรยังปรากฎอยู่ดูแยบคายดี มาถึงกำพงธมเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาฑี เรสิดังสุปีริเอพาไปดูโฮเต็ลซึ่งสร้างใหม่เปนตึกสองชั้น จะเปิดในเดือนมกราคมนี้ สร้างขึ้นโดยความคิดของเรสิดังสุปีริเอคนนี้เอง เหตุด้วยตำบลกำพงธมอยู่กึ่งทางตั้งแต่เมืองพนมเพ็ญที่จะไปเมืองเสียมราษฐ ที่ว่าการมณฑลกำพงธมซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกำพงสวายนั้น ตั้งอยู่ริมคลองใหญ่ เขมรเรียกว่า แพรกสทึงแสน ฝรั่งเศสสร้างสถานที่ต่าง ๆ เปนตึกตามแบบเมืองมณฑลในกรุงกัมพูชา ดูโฮเต็ลแล้วพาไปพักที่บ้านเรสิดังเรสิดัง ชื่อมองสิเออสเตรมเลร์ เคยไปเปนกงสุลอยู่ที่เมืองอุบลยังพูดไทยได้ ช่วยกันต้อนรับกับภรรยาอย่างแขงแรง เจ้าเมืองเขมรเปนตำแหน่งออกญาเดโชผู้ว่าราชการจังหวัดกำพงสวายก็มารับ เปนคนรุ่นใหม่พูดได้คล่องทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทย

เจ้าเมืองเขมรที่มารับมักแต่งครึ่งยศติดตรา วันนี้มีโอกาศได้ถามถึงเรื่องเครื่องอิศริยาภรณ์เขมร ได้ความว่ามี ๓ อย่าง อย่าง ๑ เรียกว่า โอดรวยกำโพช หมายความว่าเครื่องอิศริยาภรณ์กรุงกัมพูชา สร้างแต่ครั้งสมเด็จพระนโรดมครองกรุงกัมพูชา มี ๕ ชั้น ตั้งแต่สายสพายลงมาจนแขวนแพรแถบติดอกแพรสีแดงขอบเขียว แต่เครื่องอิศริยาภรณ์โอดตรวยก่ำโพชนั้นเดี๋ยวนี้ทำเปนของฝรั่งเศสขึ้นอิกอย่างหนึ่ง ใช้แพรสีขาวขอบเหลือง เสนาบดีกระทรวงเมืองขึ้นเปนผู้ให้ ยอมให้ใช้ในประเทศฝรั่งเศสแต่อย่างข้างหลัง อย่างที่กล่าวมาก่อนใช้ได้แต่ตามเมืองขึ้น ได้ยินว่าตรามังกรทองของญวน ก็ทำเปน ๒ อย่างเช่นว่านี้เหมือนกัน มีเครื่องอิศริยาภรณ์ของเขมรซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในครั้งสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ๒ อย่างเรียกว่า สุวัตราภรณ์ แพรสีเขียว ตัวตรากลางเปนรูปปรางค์สามยอด อย่าง ๑ เข้าใจว่ามี ๓ ชั้น คือชั้นที่ ๑ แขวนคอ ชั้นที่ ๒ ติดแพรแถบมีดอกไม้ห้อยอก ชั้นที่ ๓ ติดแพรแถบห้อยอกไม่มีดอกไม้ เครื่องราชอิศริยาภรณ์อย่างนี้ ว่าสำหรับประทานเปนบำเหน็จความชอบที่ทำนุบำรุงกสิกรรม อิกอย่าง ๑ เรียกว่ามณีสุราภรณ์ ตัวตราเปนทองเกลี้ยง ห้อยแพรสีเหลือง สำหรับประทานผู้มีวิชาความรู้

เรสิดังเลี้ยงกลางวันเปนการเลี้ยงรวมกันกับเรสิดังสุปีริเออด้วย ครั้นกินเลี้ยงแล้วเรสิดังสุปีริเอล่วงหน้าไปก่อนตามเคย ไปได้สัก ๑๕ นาฑี เราจึงขึ้นรถตามไปภายหลัง ไปตามถนนทางที่จะไปเมืองพนมเพ็ญ จนถึงหลักทางเหลืออยู่ ๒๐๐๐ เส้น จึงแยกไปทางตวันออกสักชั่วโมงหนึ่งถึงชานเมืองกำพงจาม ไปหยุดที่ปราสาทหิน เรียกว่า วัดนครชัย เปนวัดพระพุทธสาสนาฝ่ายมหายาน ฝีมือสร้างรุ่นเดียวกับเทวสถานบรรยงก์ เรสิดังสุปีริเอมาคอยรบอยู่ที่นั่น มีผู้คนมาดูเกลื่อนกลุ้ม เรสิดังกำพงจามชื่อมองสิเออมาร์ตีกับภรรยาออกมารับ และจัดของว่างเลี้ยงที่วัดนั้น พระสงฆ์ก็ตั้งเลี้ยงด้วยอิกขาหนึ่ง ดูของโบราณเสร็จแล้วขึ้นรถต่อไปอิกทางหนึ่ง ประมาณ ๕๐ เส้นถึงเมืองกำพงจาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตวันตก เปนเมืองที่ว่าการมณฑลอย่างฝรั่งเศสสร้าง เรสิดังพาขี่รถเที่ยวดูเมืองจนทั่วแล้วพาไปส่งที่เรือไฟจอดอยู่ที่ท่าเมือง เรือไฟที่จัดไว้ ๒ ลำ เปนเรือสำหรับเรสิดังสุปีริเอไปตรวจราชการ มีห้องนอนพอแต่เรากับลูก จัดให้เปนเรือสำหรับเราล่องลำน้ำโขงลำ ๑ เอาเรือไฟสำหรับเรสิดังกำพงจามตรวจราชการมาเปนเรือสำหรับบริวารอิกลำ ๑ จอดเทียบกัน จัดให้นอนค้างในเรือ เพราะเรือจะออกแต่เวลาดึก ๓ นาฬิกา เวลาค่ำ ๗ นาฬิกาให้รถมารับไปกินอาหารเย็นที่บ้านเรสิดังพร้อมกับเรสิดังสุปีรีเอเหมือนอย่างเลี้ยงมาที่อื่น แล้วกลับลงมานอนเรือ เวลา ๓ นาฬิกาออกเรือ

มองสิเออบอดูแองเรสิดังสุปีริเอ เคยเปนเรสิดังอยู่เมืองกำพงจามนี้คราวหนึ่ง อธิบายถึงเรื่องชื่อกำพงจามว่า ที่แปลกันว่า“ท่าของพวกจาม” นั้นผิด พวกจามอยู่ข้างใต้ลงไปมาก หาได้มาเกี่ยวข้องถึงที่ตรงนี้ไม่ ที่ถูกนั้นคือ “กำพงจำ” หมายความว่าท่าเปนที่หยุด (คำว่า จำ ในที่นี้หมายความตรงกับที่เราใช้ว่าเรือนจำ หรือจำพระวัสสา) การที่เรามาเมืองกำพงจามคราวนี้ เกิดแต่อยากจะเห็นแม่น้ำโขงข้างตอนใต้ ว่าจะผิดกับข้างตอนเหนือ คือตั้งแต่เมืองหนองคายลงมาจนเมืองมุกดาหาร ซึ่งเราได้เห็นแล้วนั้นอย่างไร มาได้ความว่าอาจจะไปเรือไฟจากเมืองกำพงจามนี้ ทางวันครึ่งถึงแก่งลิผี และว่าไปได้โดยสดวก รู้เข้าก็นึกเสียดายยิ่งนักที่ไม่รู้เสียก่อน หาไม่ก็จะพยายามขึ้นไปให้ถึงแก่งลิผี ซึ่งในพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ให้ขุดคลองเอากองทัพเรือขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๒๑ แต่นี้โปรแกรมเขาได้กะการและนัดหมายเสียเสร็จแล้ว ก็จำต้องงด

วันที่ ๓ ธันวาคม เรือไฟล่องแต่เมืองกำพงจามมาในลำแม่น้ำโขง เรือของเรสิดังสุปีริเอที่เรามาเปนเรือดาดฟ้าสองชั้น ชื่อเรือพระตะบอง พนักงารเดิรเรือเปนญวนทั้งนั้น ตัวกัปตันนั้นเช่นเดียวกับกัปตันยากัปตันหมัดของเราแต่โบราณไม่มีผิด พิเคราะห์ดูแม่น้ำโขงตอนใต้ คล้ายก้บแม่น้ำเจ้าพระยาตอนข้างเหนือ เช่นที่เมืองอุตรดิฐ แต่ต้องขยายส่วนออกไปสัก ๕ เท่า คือฝั่งเปนดินอ่อน สายน้ำกัดตลิ่งพังทางหนึ่ง ไปมูลเปนหาดขึ้นอิกทางหนึ่ง เปลิ่ยนได้ปีละมาก ๆ เห็นเรือไฟเดิรรับส่งสินค้าและคนโดยสารสัก ๔-๕ ลำ ทั้งสองฝั่งมีวัดวาบ้านเรือนและเรือกสวนเปนระยะมาไม่เปลี่ยว และไม่มีแก่งเหมือนแม่น้ำโขงข้างตอนเหนือ เมื่อใกล้จะถึงเมืองพนมเพ็ญ มีเกาะใหญ่ๆ หลายเกาะ มาถึงที่แม่น้ำสี่แยก ซึ่งเรียกว่า ทะเลจตุรมุข คือลำน้ำโขงกับลำน้ำทเลสาปมาประสบกับลำน้ำป่าสัก ดูงามแปลกยิ่งนัก เวลานี้ปลากำลังชุม มีเรือลำเล็กๆ คนออกไปตกเบ็ดอยู่ตั้งร้อย พอเรือเลี้ยวหัวแหลมแม่น้ำโขงก็แลเห็นปราสาทราชมนเทียรและบ้านเรือนที่เมืองพนมเพ็ญ ดูเปนเทือกตลอดคุ้ง เมื่อเรือแล่นผ่านหน้าวังขึ้นไป สังเกตดูเมืองพนมเพ็ญข้างตอนใต้เปนบ้านเรือนพวกเขมรลงมาจนริมน้ำ ไม่มีอะไรงดงามน่าดู ต่อขึ้นมาถึงตอนพระราชวัง ฝรั่งเศสกำลังทำถนนริมน้ำต่อลงมาจากตอนข้างเหนือ แลดูเห็นยอดปราสาทระกะไป ที่ตรงริมน้ำหน้าวังปักเสาธง (อย่างเดียวกับเสาธงในรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งอยู่ที่หน้าหอรัษฎา) ชักธงพื้นแดงกลางน้ำเงินเหมือนอย่างธงมหาราชครั้งรัชกาลที่ ๕ ลายในธงเปนรูปมงกุฎกับพระขรรค์ตั้งบนพานสองชั้น มีฉัตร์เครื่องสูงสองข้าง ที่ในน้ำตรงหน้าวังมีตำหนักแพ คือแพแฝด มีมุขคล้ายกับแพรับช้างเผือก (คำที่เรียกว่าตำหนักแพ เกิดขึ้นในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เล่ากันมาว่าเดิมทำอย่างเรือนแพ จึงเรียกว่าตำหนักแพ แต่ผู้ที่ไม่ทันเห็น ได้ยินแต่เรียกชื่อมักเข้าใจกันไปว่าเปนแพลอยในน้ำที่สมเด็จพระนโรดมเอาอย่างมาทำที่กรุงกัมพูชา ก็ด้วยสำคัญผิดเช่นนั้น) พ้นตอนวังขึ้นไปข้างเหนือเปนตลาดจีน มีตึกแถวสองชั้นติดต่อกันหลายหมู่ ริมน้ำมีถนนแล้วลงเขื่อนเปนท่าสำหรับจอดเรือค้าขาย มีเรือไฟใหญ่น้อยหลายลำ เดิรไปมากับเมืองไซ่ง่อนบ้าง เดิรตามลำน้ำโขงและลำน้ำป่าสักบ้าง รัฐบาลปันที่ให้บริษัทต่าง ๆ เจ้าของเรือเช่าจอดเรือกั้นเปนตอน ๆ ตอนของใครอยู่ตรงไหน ก็ตั้งเปนซุ้มประตูเขียนชื่อบริษัทปักไว้ตรงนั้น พ้นตอนตลาดจีนขึ้นไปถึงตอนบ้านฝรั่งริมลำน้ำมีถนนและเขื่อนต่อขึ้นไปอิกไกล ที่ท่าบ้านเรสิดังสุปีริเอ ริมน้ำมีเสาธงชักธงฝรั่งเศสสำหรับเรสิดังสุปีริเอ แต่เสาไม่สูงนัก มีสพานแพลอยสำหรับจอดเรือด้วย เหนือขึ้นไปยังมีเขื่อนและมีท่าจอดเรือต่อขึ้นไปอิก ดูเหมือนเรือหลวงจะเอาไว้ข้างตอนเหนือ เพราะเรือของเรสิดังสุปีริเอลำที่เรามา เมื่อส่งเราที่บ้านเรสิดังสุปีริเอแล้วขึ้นไปจอดอยู่ข้างเหนือ เรสิดังสุปีริเอออกจากเมืองกำพงจามแต่เวลาเช้า ๕ นาฬิกา มารถยนต์ มาถึงเมืองพนมเพ็ญแต่เวลา ๘ นาฬิกา คอยรับอยู่ที่บ้าน

เวลาบ่ายเปนวันว่างสำหรับเตรียมตัวที่จะไปเมืองไซ่ง่อนในวันรุ่งขึ้น เราจึงขึ้นรถยนต์ให้เขาขับไปตามถนน เพื่อจะดูเมืองพนมเพ็ญให้ทั่วในวันนี้ เมืองพนมเพ็ญมีชื่อเรียกเปนคำหลวงว่า “เมืองจตุรมุข” เพราะตั้งอยู่ตรงลำน้ำสี่แยกดังพรรณามาแล้ว แต่คนทั้งหลายชอบเรียกตามชื่อหมู่บ้านเดิม จึงเรียกว่าเมืองพนมเพ็ญ ถ้าว่าโดยภูมิแผนที่ ที่เมืองพนมเพ็ญตั้งอยู่เปนไชยภูมิ เพราะเหตุที่ลำน้ำอันสำคัญในทางคมนาคมกับเมืองญวน เมืองลาว และเมืองไทยมาประชุมกันตรงนี้แห่งเดียว แต่ถ้าว่าโดยพื้นที่ มีข้อเสียเปนสำคัญที่ดอนอยู่แต่เพียงริมน้ำไม่กี่เส้น ข้างในเข้าไปเปนที่น้ำท่วมถึงเปนบึงบางกว้างใหญ่ตั้งสิบเส้น และยาวตลอดไปตามลำแม่น้ำทั้งทางเหนือและทางใต้ การสร้างเมืองจำต้องถมที่ตั้งเก้าศอกสิบศอก เพราะฉนั้นพื้นที่ๆ ถมได้ขนาดมีเพียงแต่ตอนวังขึ้นไปจนตอนบ้านฝรั่ง ทางใต้วังพื้นที่ยังต่ำต้องอาศรัยถนนเปนคันกั้นน้ำ ที่บ้านเรือนพวกเขมรต่ำกว่าถนนราวสองศอก ทางแถวบ้านเขมรถ้าเปนที่ยังไม่ได้ถมก็ต้องปลูกเรือนอย่างเรือนแพเสาสูง ๆ ที่ภายในถนนล้อมบ้านเรือนปลูกเปนตึกมีบ้าง ที่เขาชี้ว่าเปนวังเจ้าหรือบ้านขุนนางผู้ใหญ่ ก็เปนตึกหลังย่อมๆ ไม่เห็นมีที่จะดูเปนสง่าผ่าเผย เห็นบ้านใหญ่อยู่แต่บ้านออกญาวัง กั้นกำแพงล้อมรอบอยู่ตรงหน้าพระราชวัง แต่ส่วนพระราชวังเอง ข้างตอนหน้าฝรั่งเศสทำใหม่ดูภาคภูมิดี แต่ตอนข้างหลังวังก็ยังซอมซ่อ ต่อขึ้นไปถึงตอนตลาดจีนเปนตึกแถวสองชั้นเปนพื้น ตอนบ้านฝรั่งตึกแถวค่อยมั่งคั่งขึ้น มีสถานที่ทำการต่างๆ และเรือนอยู่รายตลอดไป ประมาณขนาดเมืองพนมเพ็ญยาวตามลำน้ำเห็นจะสักร้อยเส้น กว้างยืนขึ้นไปแต่ลำน้ำราวยี่สิบห้าเส้น กำลังถมที่ขยายเมืองออกไปทางด้านหลังและสร้างตึกเปนบ้านให้เช่าใหม่ๆ หลายหลัง ถนนทำดีมีไฟฟ้ารายตลอด และปลูกต้นไม้ทั้งสองข้าง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ