อธิบายเรื่อง โสวัตกลอนสวด

[๑]เรื่องโสวัตเป็นนิทานไทยโบราณ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “โสวัตนางประทุม” เรื่องนี้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยสมัยอยุธยาสืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏหลักฐานในสมุดภาพหนังสือสวดสมัยอยุธยา สมบัติของวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี สมุดภาพเล่มดังกล่าว มีจิตรกรรมเรื่องโสวัตประกอบอยู่ด้วย พิจารณาจากเทคนิคจิตรกรรมที่ปรากฏแล้ว สันนิษฐานว่าภาพเรื่องโสวัตในหนังสือสวดของวัดสุวรรณภูมิน่าจะเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

นอกจากจิตรกรรมในหนังสือสวดของวัดสุวรรณภูมิแล้ว ยังปรากฏภาพเรื่องโสวัตเขียนไว้บนตู้พระธรรมลายรดน้ำหลายหลังซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอพระสมุดวชิรญาณ ตู้พระธรรมดังกล่าวมีทั้งที่เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นว่าเรื่องโสวัตเป็นที่รู้จักในสังคมไทยสืบเนื่องมานานนับร้อยปี

ส่วนหลักฐานที่เป็นเอกสารนั้น ในหนังสือสุบินกลอนสวด มีเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า พระเจ้ากรุงสาวัตถีรับสั่งให้จัดมหรสพต่าง ๆ สมโภชในคราวอุปสมบทสุบินกุมาร ระบุถึงการเล่นละครเรื่องโสวัต กับตอนตั้งแต่โสวัตกุมารเดินดงไปจนถึงได้นางศุภลักษณ์

๏ ยังเหล่าละคร
ปากเล่ากล่าวกลอน มือรำซ้ายขวา
ลูกโล้ร้องรับ ตีกรับฉ่าฉ่า
เล่นเมื่อราชา โสวัตเดินดง
๏ ออกแดนเมืองยักษ์
พบนางศุภลักษณ์ ที่ริมสระสรง
เห็นโฉมกัลยา ยาจิตรพิศวง
ครั้นค่ำพระองค์ ลอบไปสมสอง

ใน โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเป็นจดหมายเหตุคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดีมาถวายพระเพลิงอีกครั้ง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘ โคลงบทหนึ่งกล่าวว่า มีการเล่นหุ่นเรื่องโสวัต เป็นมหรสพสมโภชในคราวนั้นด้วย

โรงหนึ่งหุ่นเหล้นเรื่อง โสวัต
พระเสด็จโดยดงดัด ดุ่มเด้า
พบองค์อนงค์สวัสดิ์ ปทุเมศ
สมสนิทเชยเคล้า สอดคล้องสองเกษม ฯ

หลักฐานทางวรรณคดีที่ระบุถึงการนำเรื่องโสวัตมาแต่งเป็นบทละครและบทสำหรับเล่นหุ่นนั้น แสดงว่าเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสังคมไทยสมัยโบราณ อนึ่ง นิทานเรื่องโสวัตน่าจะเป็นที่รู้จักกว้างขวางในภูมิภาคนี้ เพราะนิทานดังกล่าวยังเล่าขานกันอยู่ในหมู่ชาวลาวจนถึงปัจจุบัน

เรื่องย่อ

เรื่องโสวัตตามที่ปรากฏในกลอนสวดสำนวนที่กรมศิลปากรตรวจสอบและจัดพิมพ์ครั้งนี้ เนื้อเรื่องตามต้นฉบับสมุดไทยเอกสารเลขที่ ๖๐๓ มีว่า พระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งเมืองพรหมกุฏ มีมเหสีชื่อนางสุมณฑาเทวี คราวหนึ่งพระนางทรงสุบินอัศจรรย์ หลังจากนั้น ไม่นานก็ทรงครรภ์และประสูติพระโอรสที่มีบุญญาธิการมาก ขณะที่กำลังทรงครรภ์อยู่นั้น นางม้าตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใต้ปรางค์ปราสาทก็ตั้งท้องและตกลูกเป็น “ม้าผู้ขาวผ่อง” รูปร่างงดงาม สีกายดังสำลี

พระเจ้าพรหมทัตทรงตั้งนามพระโอรสว่า โสวัตกุมาร โหรทำนายว่าภายหน้าพระกุมารจะมีชายาถึง ๔ องค์ ครั้นโสวัตกุมารเจริญวัยขึ้นพระบิดาก็สร้างปราสาทให้ประทับและตั้งเป็นฝ่ายหน้า

ยังมีนางฟ้าองค์หนึ่งจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในดอกบัวใกล้อาศรมของพระฤๅษี ดอกบัวนั้นมีขนาดใหญ่ผิดกว่าดอกบัวทั้งหลาย พระฤๅษีได้พบกุมารีในดอกบัวจึงนำมาเลี้ยงไว้เป็นธิดา ให้นามตามชาติกำเนิดว่า ประทุมวดี นางมีกลิ่นกายหอมดังเกสรบัวหลวงและมีรูปโฉมงดงามยิ่ง อยู่มาจนมีอายุย่างเข้ารุ่นสาว วันหนึ่งนางเก็บดอกไม้มาร้อยกรองเป็นพวงมาลัย อธิษฐานว่า ถ้าใครเป็นคู่ครองของนางขอให้พวงมาลัยนี้ไปคล้องข้อมือผู้นั้นไว้ เสี่ยงแล้วนางก็ลอยมาลัยลงในลำธารใกล้อาศรม ด้วยบุพเพสันนิวาส พวงมาลัยของนางประทุมวดีลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงเมืองพรหมกุฏเป็นเวลาเดียวกับที่โสวัตกุมารลงสรงสนาน พวงมาลัยก็ลอยเข้าสวมข้อพระกรไว้ พระกุมารสนเท่ห์พระทัยนักจึงให้โหรทำนาย โหรทูลว่า หากพระองค์เสด็จไปทางทิศตะวันออกจะได้เจ้าของมาลัยเป็นคู่ครอง

โสวัตกุมารจึงไปทูลพระบิดาพระมารดาเพื่อขอประพาสป่า ทั้งสองพระองค์ทรงทัดทานแต่ในที่สุดก็ต้องยอมให้โสวัตกุมารเสด็จไปตามพระทัยปรารถนา โสวัตกุมารสั่งเสนาให้จัดเตรียมม้าต้นคู่บารมี (ในนิทานลาวว่าชื่อม้า “มณีกาบ”) ครั้นเสด็จประทับม้าก็โผนขึ้นบนอากาศ พาโสวัตกุมารเหาะไปทางทิศตะวันออกจนบรรลุถึงอาศรมพระฤๅษี ผู้เป็นบิดาของนางประทุมวดี ขณะนั้นพระฤๅษีไม่อยู่ โสวัตกุมารพบนางกำลังไกวชิงช้าขับลำนำรำพันถึงพวงมาลัยที่เสียงไปกับสายน้ำ ทั้งสองได้พูดจาฝากรักกันด้วยความเสน่หา เมื่อพระฤๅษีกลับมาแล้วโสวัตกุมารขออยู่ศึกษาวิชาที่อาศรมนั้นด้วย ต่อมาพระฤๅษีจัดการอภิเษกให้ทั้งสองอยู่ครองคู่กัน เวลาล่วงไปจนนางประทุมวดีทั้งครรภ์ได้ ๓ เดือน รวมเวลาตั้งแต่โสวัตกุมารออกจากเมืองมาได้ ๑๐ เดือน ม้าต้นจึงทูลเตือนให้พาพระชายากลับไปยังบ้านเมืองโสวัตกุมารผัดผ่อนขออยู่ปรนนิบัติสนองคุณพระฤๅษีสักระยะหนึ่ง ม้าต้นท่องเที่ยวไปตามบ้านเมืองต่างๆ โดยลำพังจนลุถึงกรุงชนบทของท้าวจิตราสูร ม้าต้นเหาะข้ามเมืองทำให้พญาปักษ์เจ้าเมืองโกรธมาก ฉวยกระบองเหาะตามไปและเกิดการต่อสู้กัน ท้าวจิตราสูรถูกม้าทำร้ายบาดเจ็บ จึงร้องเรียกให้เสนายักษ์ช่วยกันล้อมจับม้าไว้ได้แล้วนำไปขังไว้ในกรงเหล็ก

วันหนึ่งโสวัตกุมารกับนางประทุมวดีพากันเที่ยวไปในป่า แสวงหาผลไม้มาถวายพระฤๅษี พรานป่าผู้หนึ่งเที่ยวล่าสัตว์ได้เห็นรูปโฉมของนางประทุมวดีก็ใคร่จะได้ไปถวายพระราชาของตน จึงใช้ธนูพิษลอบยิงโสวัตกุมารสิ้นพระชนม์แล้วบังคับนางประทุมวดีให้เดินทางไปกับตน เวลาล่วงไป ๑๕ วัน นางประทุมวดีแสร้งทำอุบายลวงให้พรานป่าวางใจแล้วใช้มีดฟันพรานป่าถึงแก่ความตาย นางเดินทางไปจนถึงฝั่งแม่น้ำกว้างใหญ่ พอดีมีนายสำเภาแล่นเรือผ่านมาพบเข้าก็ประสงค์ที่จะได้นางเป็นภรรยาจึงบังคับให้ลงเรือไปด้วย นางอ้อนวอนว่าขณะนี้นางกำลังมีครรภ์แก่ขอให้นายสำเภาปรานี ต่อเมื่อคลอดแล้ว จึงจะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา นางใช้อุบายเลี้ยงข้าวปลาสุราบานจนนายสำเภาและบริวารต่างเมามายหลับไปสิ้นแล้วนางก็ขนข้าวปลาอาหารและเสื้อผ้าใส่เรือเล็ก (สัดจอง) ลอบหนีไปในคืนนั้น

ฝ่ายพระฤๅษีคอยโสวัตกุมารกับนางประทุมวดีอยู่จนค่ำ เห็นผิดสังเกตคิดว่าคงจะมีเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งจึงออกติดตามหา พบโสวัตกุมารสิ้นพระชนม์อยู่เพียงลำพัง พระฤๅษีชุบโสวัตกุมารให้ฟื้นขึ้น สอบถามได้ความแล้วก็ให้รีบติดตามนางไป

โสวัตกุมารเดินทางไปจนถึงฝั่งน้ำแห่งหนึ่ง พบนางเงือกสาวถูกทำร้ายจนเสียชีวิต จึงใช้น้ำมันวิเศษที่พระฤๅษีให้มาทาไปที่ร่าง นางเงือกก็กลับฟื้นขึ้น โสวัตกุมารได้นางเงือกเป็นชายาและวอนให้นางช่วยพาไปส่งยังฝั่งตรงข้าม นางเงือกทูลว่า ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองยักษ์ที่ดุร้ายมาก แม้แต่ม้าตัวหนึ่งเหาะผ่านยังถูกจับขังไว้ในกรงเหล็ก โสวัตกุมารได้ทรงทราบข่าวม้าที่หายไปก็ดีพระทัย ครั้นนางเงือกพาไปส่งถึงที่หมายแล้วก็ซ่อนพระองค์อยู่ในพุ่มไม้ใกล้สระน้ำ

กล่าวถึงนางศุภลักษณ์ ธิดาของท้าวจิตราสูร วันนั้นนางกับเหล่าสาวใช้พากันไปเล่นน้ำที่สระใกล้พุ่มไม้ซึ่งโสวัตกุมารแอบซ่อนอยู่ นางศรีวรดีพี่เลี้ยงของนางศุภลักษณ์เล่นซ่อนหากับเหล่าสาวใช้ บังเอิญนางหลบเข้าไปซ่อนในพุ่มไม้ โสวัตกุมารพบเข้าจึงเกี้ยวพานจนได้นางเป็นชายา ก่อนที่นางศรีวรดีจะกลับได้นัดแนะว่า เพลาค่ำคืนนี้จะลอบเข้าไปหา ถึงเวลาที่นัดหมายโสวัตกุมารก็ใช้มนตร์สะกดทหารที่เฝ้ายามแล้วลอบเข้าไปเชยชมนางศรีวรดี จากนั้นก็ถามถึงห้องบรรทมของพระธิดาศุภลักษณ์และลอบเข้าไปหาจนได้นางเป็นชายาอีก โสวัตกุมารอยู่ในตำหนักกับนางศุภลักษณ์โดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ นอกจากนางพี่เลี้ยงศรีวรดี วันหนึ่งจิตรีกุมารอนุชาของนางศุภลักษณ์ไปเยี่ยมพระพี่นางแล้วกลับมาทูลท้าวจิตราสูรว่า นางศุภลักษณ์ประชวรไม่สามารถขึ้นมาเฝ้าพระบิดาได้ ท้าวจิตราสูรจึงคิดจะไปเยี่ยม

ความในโสวัตกลอนสวดตามสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๓ จบลงเพียงที่กล่าวมา เรื่องโสวัตตอนต่อจากนี้ปรากฏในหนังสือนิทานลาว (เรื่องท้าวโสวัด) ของ ส.พลายน้อย สรุปความได้ว่า โสวัตกุมารอยู่กับนางศุภลักษณ์ระยะหนึ่งก็ทำอุบายจนได้ม้าคืนแล้วลานางเพื่อออกตามหานางประทุมวดี ขณะที่ขี่ม้าเหาะขึ้นบนอากาศนั้น ม้าก็ร้องเยาะเย้ยพวกยักษ์ว่า “ลูกเขยจะไปแล้ว ยังมัวนอนอยู่ไม่ลุกมาดูหน้าลูกเขยบ้างเลย” ท้าวจิตราสูรได้ยินเช่นนั้นก็ออกติดตามได้รบกันแต่ไม่สามารถจับตัวโสวัตกุมารได้ นางศุภลักษณ์จะเดินทางไปด้วยแต่โสวัตกุมารไม่ยอม ขอให้นางรออยู่ก่อนแล้วจะกลับมารับในภายหลัง นางไม่ละความตั้งใจจึงออกเดินเท้าตามไป โสวัตกุมารก็ใจแข็งไม่ยอมลงมารับ นางศุภลักษณ์เดินป่าไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งจึงว่ายข้าม ขณะนั้นนางกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ ครั้นถึงกลางแม่น้ำก็อ่อนแรงใกล้จะจมน้ำ บังเอิญนางประทุมวดีซึ่งพายเรือเล็กหนีนายสำเภาผ่านมาพบเข้าช่วยเหลือไว้ทันท่วงที สอบถามได้ความว่ากำลังตามหาโสวัตกุมารอยู่เช่นกัน นางประทุมวดีกับนางศุภลักษณ์พากันเดินป่าต่อไป อยู่มานางประทุมวดีประสูติโอรสก่อน หลังจากนั้นไม่กี่วันนางก็ถูกงูเห่ากัด นางศุภลักษณ์เข้าใจว่านางประทุมวดีสิ้นชีวิตแล้ว

สมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๔ เรื่องโสวัตกลอนสวด ดำเนินเนื้อความตั้งแต่ นางศุภลักษณ์คร่ำครวญถึงนางประทุมวดีและสั่งความวานรซึ่งอาศัยอยู่ที่นั้นว่า หากโสวัตกุมารติดตามมาขอให้ช่วยบอกข่าวด้วย แล้วนางก็อุ้มพระโอรสของนางประทุมวดีเดินทางต่อไปจนถึงวิมานของนางเทพธิดาซึ่งล้อมรอบด้วยสระน้ำกรด นางศุภลักษณ์ร้องบอกเข้าไปว่าจะขออาศัยอยู่ด้วยแต่จนใจที่นางไม่สามารถข้ามลำธารน้ำกรดเข้าไปได้ ด้วยบุญญาธิการของพระโอรสทำให้ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องมาเนรมิตสะพานแก้วให้นางข้ามไปถึงวิมานได้อย่างปลอดภัย นางศุภลักษณ์เล่าเรื่องราวของตนให้ฟัง นางเทพธิดามีความสงสาร จึงสัญญาเป็นพี่น้องกันและช่วยเลี้ยงดูพระโอรสอยู่ที่วิมานนั้น

กล่าวถึงท้าวมัททราช กษัตริย์แห่งเมืองมัททราช เทวดาดลใจให้เสด็จออกประพาสป่าพบนางประทุมวดีนอนสลบอยู่ ตรวจดูพบว่าถูกงูกัด จึงให้หมองูแก้ไขจนนางฟื้นขึ้น ท้าวมัททราชประสงค์จะได้นางเป็นมเหสีแต่นางอ้อนวอนขอให้เลี้ยงดูนางไว้เป็นธิดา ท้าวมัททราชทรงยินยอมและพานางกลับไปยังเมืองมัททราช

สมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๔ ตอนกลางเล่มชำรุดขาดหายไปส่วนหนึ่ง เหลือเนื้อความตอนปลายสมุดว่า โสวัตกุมารขี่ม้าเหาะข้ามธารน้ำกรดเข้าไปถึงวิมานของนางเทพธิดาที่นางศุภลักษณ์อาศัยอยู่ด้วย ม้าต้นทูลยุให้โสวัตกุมารเข้าหานางเทพธิดากระทั่งได้นางฟ้าบริวาร ๗ นางที่เฝ้าประตูวิมานเป็นชายา ยังไม่ทันเข้าห้องนางเทพธิดา ความในสมุดไทยจบลงตอนที่นางค่อมบริวารโต้เถียงกับม้าต้น ส่วนเนื้อเรื่องตอนที่ขาดหายไปก่อนหน้านี้สันนิษฐานว่า คงใกล้เคียงกับนิทานลาว กล่าวคือขณะที่โสวัตกุมารออกติดตามหานางประทุมวดี พบครุฑกำลังจะจับพญานาคก็มีใจสงสารจึงยิงธนูให้ครุฑตกใจจนยอมปล่อยพญานาค ฝ่ายพญานาคสำนึกในบุญคุณจึงพาโสวัตกุมารลงไปยังเมืองบาดาลแล้วยกธิดาให้เป็นชายา อยู่ในเมืองบาดาลได้ระยะหนึ่ง ก็ลาพญานาคและธิดานาคออกตามหานางประทุมวดี ท่องเที่ยวไปจนถึงเมืองมัททราช พบนางประทุมวดีบวชเป็นฤๅษี จากนั้นโสวัตกุมารก็รับชายาทั้ง ๔ คือ นางประทุมวดี นางศุภลักษณ์ นางนาค นางเทพธิดา กับโอรสทั้ง ๖ ที่เกิดจากนางประทุมวดีและนางศุภลักษณ์กกับไปครองราชสมบัติในเมืองพรหมกุฏสืบต่อจากพระบิดา

นิทานเรื่องโสวัตนี้มีเนื้อหาหลายประเด็นคล้ายคลึงกับเรื่องสุธนูในปัญญาสชาดกและเรื่องปาจิตกุมารในนิทานพื้นบ้าน ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า นิทานทั้งสามเรื่องมีจุดกำเนิดร่วมกัน ครั้นมีการเล่าสืบต่อกันในลักษณะของ “มุขปาฐะ” จึงทำให้เกิดความแตกต่างในภายหลัง

การตรวจสอบชำระ

การตรวจสอบชำระเรื่องโสวัตกลอนสวดครั้งนี้ ใช้เอกสารโบราณซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้แก่ สมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๓ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องโสวัต และสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๔ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสวด เรื่องโสวัต

เอกสารเลขที่ ๖๐๓ เริ่มต้นด้วยบทนมัสการ แต่งเป็น “ยานี” จำนวน ๘ บท ดังนี้

๏ นบนิ้วขึ้นเหนือเกล้า ต่างบุบบาอันบวร
ไหว้พระปฏิมากร อันสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย
๏ ยอกรใส่เหนือเกล้า ทุกค่ำเช้าบว่างวาย
พระธรรมอันมากมาย สั่งสอนสัตว์พ้นสงสาร
๏ ก้มเกล้าข้ากราบลง ไหว้พระสงฆ์ศีลาจาร
คุณแก้วสามประการ ยกใส่เกล้าในเกศา
๏ ไหว้ครูผู้สั่งสอน ทั่วทุกท่านบคลาดคลา
บิดรแลมารดา คุณยิ่งกว่าคนทั้งหลาย
๏ ข้าเจ้าจะขอผูก ถ้าผิดถูกในนิยาย
บทบาทถ้าคลาดคลาย พอพลั้งพลาดอย่าติเตียน
๏ ตัวข้าใช่นักปราชญ์ เป็นเชื้อชาติคงแก่เรียน
ผิดชอบช่วยแต้มเขียน บำรุงไว้ตามบูราณ
๏ ถ้าหากว่าผู้ใด เรียนขึ้นใจรู้ฉะฉาน
บทบาทคลาดช่วยวาน จงคิดอ่านตามทางธรรม์
๏ บถูกอย่างว่านั้น แต่บูราณย่อมเสกสรร
พระเจ้าเทศนาธรรม์ บำรูงสัตว์ทั่วทั้งหลาย ฯ

เมื่อจบบทนมัสการแล้วแต่งเป็น “สุรางคนางค์” บอกลักษณะของเรื่องว่าเป็น “นิทานชาดก” ซึ่งว่าด้วยการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติก่อนพระชาติที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

๏ ไหว้หมู่พระสงฆ์
ใจจิตคิดปลง ฟังพระศาสดา
เมื่อหน่อพระญาณ สร้างสมภารมา
จึ่งกล่าวคาถา บทต้นบนาน
๏ ราชาเอโก
ตามโพธิเท่านั้น โอฬารเรืองฤทธิ์
ประเสริฐล้ำเลิศ ใครจะเทียมปาน
นามกรภูบาล พรหมทัตจักรี
๏ รัชชังคารี
พาราณสี ยาวรีที่สุด
ท้าวได้เสวยราชย์ ในเมืองพรหมกุฏ
ท้าวเป็นเกษมสุข แต่พระราชา
๏ โอมนะโม
มเหสิโส ยวดยิ่งเทวา
ตรัสทรงพระนาม ตามวงศ์กระษัตรา
ชื่อสุมณฑา หยาดฟ้านางสวรรค์

จะเห็นว่าคำประพันธ์ในบท “ราชาเอโก” และ “รัชชังคารี” ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดทางฉันทลักษณ์เมื่อเปรียบเทียบกับคำประพันธ์ตอนอื่นๆ ในเรื่องนี้ เข้าใจว่าความบกพร่องที่ปรากฏในคำประพันธ์บทดังกล่าวน่าจะเกิดจากการคัดลอกผิด การตรวจชำระครั้งนี้ได้เทียบกับกลอนสวดเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน แล้วนำมาปรับแก้ไขคำประพันธ์ทั้ง ๒ บท ดังที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้

อนึ่ง สมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๓ ระบุไว้ในตอนต้นของกลอนสวดว่าเป็นนิทานชาดก แต่ไม่ปรากฏชาดกเรื่องโสวัตทั้งในนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก ลักษณะดังกล่าวปรากฏในวรรณกรรมกลอนสวดเรื่องอื่นด้วย เช่น นางอุทัยกลอนสวด เป็นต้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้แต่งประสงค์จะให้เรื่องราวนั้นคงถาวร เป็นที่นับถือเช่นเดียวกับนิทานชาดก ซึ่งเป็นพุทธวัจนะ จึงอ้างว่าเรื่องโสวัตเป็นนิทานชาดก

ตอนปลายหน้าต้นสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๓ จบหน้าสมุดลงตอนที่โสวัตกุมารต้องธนูพิษของพรานป่าคือ

๏ เห็นโฉมบริสุทธิ์
ฤๅว่ามนุษย์ เลิศล้ำเทวา
ชะรอยกระษัตริย์ พลัดพรากเมืองมา
จักผลาญชีวา ผัวให้สิ้นปราณ
๏ จักเอาเมียไป
ถวายแก่ภูวไนย จักได้รางวัล
จึ่งขึ้นปืนยา สองตาเมียงมอง
ยิงไปผายผัน ต้องพระราชา
๏ สมเด็จภูมี
เรียกนางมเหสี ช่วยพี่ด้วยรา
เรียมจักมอดม้วย ด้วยพิษปืนยา
กลิ้งเกลือกไปมา โลหิตลามไหล
๏ จึ่งอรเทวี
เหลียวเห็นภูมี ตระหนกตกใจ
กรกอดภูเบศ ชลเนตรลามไหล
เหตุการณ์สิ่งใด เป็นดังนี้นา

เมื่อกลับหน้าสมุดไทยขึ้นหน้าปลายตั้งแต่หน้า ๑ ถึงหน้า ๕ เขียนด้วยตัวอักษร “ไทยย่อ” ซึ่งเป็นรูปแบบตัวอักษรที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื้อความหน้าแรกต่อเนื่องกับปลายหน้าต้นดังนี้

๏ ไม่รู้ที่จะคิด
บ่มีความผิด สักกึ่งเกศา
ฤๅมันจักใคร่ ได้ข้าบริจา
ผลาญชีพเจ้าฟ้า ให้ม้วยฉิบหาย
๏ สิ้นบุญตรัสแล้ว
ชีพของเมียแล้ว ไม่คิดเสียดาย
ปืนยาพิษนัก ปักทรวงดวงใน
ให้ชีพข้าวาย ด้วยพระราชา

ฯลฯ

เอกสารเลขที่ ๖๐๓ หน้าสุดท้ายจบลงตอนที่ จิตรีกุมารอนุชาของนางศุภลักษณ์ขึ้นเฝ้าท้าวจิตราสูร

๏ กุมารก้มเกล้า
ข้าพระพุทธิเจ้า ไปเยียนเทวี
พระเคราะห์กวดขัน เพราะฝันไม่ดี
สามเดือนพระพี่ จึ่งจะพ้นโทษา
๏ บิดาได้ฟัง
ใจจิตคิดหวัง เถิงพระธิดา
พ่อจักเสด็จไป ให้เห็นแก่ตา
พระเคราะห์ธิดา เจ้าเป็นประการใด
๏ กุมารก้มเกล้า
ขอพระองค์เจ้า อย่าเพ่อเสด็จไป
ประชวรเพียงนี้ เห็นมิเป็นไร
จักเคืองพระทัย สมเด็จบิดา
๏ มีโองการตอบ
เจ้าทูลนี้ชอบ

เรื่องโสวัตกลอนสวดน่าจะดำเนินต่อไปอีกในเล่มที่ ๒ แต่ไม่พบต้นฉบับ เข้าใจว่าคงสูญหายไปแล้ว

เอกสารเลขที่ ๖๐๔ เขียนด้วยตัวอักษร “ไทยย่อ” ทั้งเล่ม คำประพันธ์หน้าสมุดแรกแต่งเป็น “สุรางคนางค์”ข้อความชำรุดลบเลือน เริ่มต้นด้วยบทนมัสการแล้วดำเนินเรื่องตั้งแต่นางศุภลักษณ์สั่งความวานร ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่นางประทุมวดีถูกงูกัดขอให้ช่วยบอกข่าวถึง โสวัตกุมาร

๏ ขอกล่าวนิยาย
เป็น.............. ...............
................. .............นิทาน
โสวัตกุมาร เลิศล้ำโลกา
๏ นางสั่งไว้สรรพ
ถ้าพระโสวัต......... เถิงพระ.......
.................. ...........บรรลัย
ศุภลักษณ์ร่ำไห้ ไปด้วยลูกยา
๏ พานรรับคำ
................... ..................
เจ้าสั่งเสียไว้ ท้าวให้ตามา
ตกนักงานข้า จะทูลภูมี
๏ ..............ไท้
จะรักษาไว้ กว่าจะพบภูมี
กลัวแต่เสือสาง ที่กลางพงพี
จะมาราวี เท่านี้แลนา
๏ นางฟังวานร
เจ้ายอพระกร ข้อนทรวงครวญหา
ค่อยอยู่เถิดนะพี่ น้องนี้จะขอลา
ซบพระเกศา ลงกับซากผี

ฯลฯ

จากนั้นดำเนินเนื้อความไปจนถึงท้าวมัททราชช่วยเหลือนางประทุมวดีและวานรบอกข่าวนางศุภลักษณ์แก่นางประทุมวดี

๏ นางได้ฟังข่าว
อกร้อนผะผ่าว รำจวนครวญคราง
ตีทรวงคำสรด ระทดเถิงนาง
ป่าดงพงกว้าง นางก็ไปแห่งใด
๏ เจ้าจักลำบาก
ตกไร้ได้ยาก จะเห็นหน้าใคร
เสือสีห์แรดช้าง ที่กลางพงไพร
จะเบียดเบียนให้ เจ้าไซร้มรณา
๏ แม่ลูกสองคน
ระเหระหน เป็นพ้นปัญญา
สุดรู้สุดฤทธิ์

เอกสารเลขที่ ๖๐๔ ตอนกลางขาดหายไปหลายหน้า (ไม่ทราบจำนวนแน่นอน) จนถึงปลายเล่มสมุดปรากฏเนื้อความแต่งเป็น “สุรางคนางค์” กล่าวถึงโสวัตกุมารกับม้าต้นเดินทางไปถึงวิมานของ นางเทพธิดาที่นางศุภลักษณ์อาศัยอยู่ด้วย

๏ เห็นพิมานแก้ว
เรียงรายพรายแพร้ว แสงแก้วรจนา
ทำไฉนจักได้ นางไท้ธิดา
พี่ม้าอาชา จักคิดกลใด
๏ จึ่งม้าอาชาไนย
ทูลแก่จอมไตร โสวัตราชา
มาเราจะข้ามไป น้ำไหลไคลคลา
ให้เถิงมหา ปราสาททรามวัย

ฯลฯ

ความในสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๔ จบลงตอนที่นางค่อมพี่เลี้ยงของนางเทพธิดาโต้เถียงกับม้าต้น

๏ นางค่อมร้องไป
กริ้วโกรธคือไฟ หวั่นไหวอาตมา
มึงมาทำเข็ญ จะเป็นไรนา
กูนี้มิว่า มึงมาเคยใจ
๏ กุมชายไร้แล้ว
ร้องมาแจ้วแจ้ว มึงร้องด่าใคร
อวดตัวว่าดี มานี่เป็นไร
มึงร้องอยู่ไหน เหตุไรมิมา ฯ

เมื่อจบคำประพันธ์บทสุดท้าย มีข้อความว่า “พระธรรมโสวัตจบบริบูรณ์แต่เท่านี้แล ท่านบาพิมภพุทธิเขียนไปนั้นหามิได้แล้ว อาตมาภาพขอนิพพานปัจจโยโหตุ” ข้อความดังกล่าวบ่งว่า ท่านบาพิมภพุทธิ เป็นผู้เขียนซึ่งอาจหมายความว่าท่านเป็นผู้แต่งเรื่องโสวัตกลอนสวดไว้ แต่ฉบับเดิมไม่มีแล้ว พระภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นผู้ (จดจำไว้ได้) นำมาเขียนลงในสมุดเล่มนี้และจากคำว่า จบบริบูรณ์ ซึ่งปรากฏอยู่ท้ายสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๔ นั้น แสดงว่าเรื่องโสวัตกลอนสวด น่าจะจบลงเพียงเท่าที่มีในสมุดไทย มิได้แต่งไปจนจบเรื่องนิทาน

เนื่องจากเอกสารโบราณต้นฉบับเรื่องโสวัตกลอนสวดเขียน ด้วยตัวอักษรแบบ “ไทยย่อ” จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนว่า กลอนสวดสำนวนนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้ว่าต้นฉบับที่พบจะไม่จบบริบูรณ์ แต่ก็นับว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อการศึกษาวรรณคดีและอักษรศาสตร์

อนึ่ง ตอนท้ายสมุดไทย เอกสารเลขที่ ๖๐๔ มีวรรณกรรมคำสอนเรื่อง “แม่สอนลูก” แต่งเป็นคำกาพย์รวมอยู่ด้วย แม้ว่าเรื่องแม่สอนลูกจะไม่จบ (เพราะหมดหน้าสมุด) และสำนวนโวหารไม่โดดเด่น แต่ก็นับว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาค่านิยมบางประการของสังคมไทยในอดีต จึงได้นำมาพิมพ์ไว้ในภาคผนวกต่อจากสำเนาเอกสารต้นฉบับ

การพิมพ์เรื่องโสวัตกลอนสวดครั้งนี้ได้ปรับอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าใจเรื่องราวได้โดยตลอด ส่วนผู้ที่ประสงค์จะศึกษาตามอักขรวิธีเดิม ให้ดูจากสำเนาด้นฉบับ เอกสารเลขที่ ๖๐๓ และเอกสารเลขที่ ๖๐๔ ซึ่งพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกของหนังสือนี้แล้ว



[๑] นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ