คำนำ

โคลงลักษณะช้างนี้ กรมขุนศิริธัชสังกาศได้ทรงนิพนธ์ไว้ แต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นศิริธัชสังกาศและลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศสเล่ม ๑ ประจำวันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นเวลาร่วม ๕๐ ปีมาแล้ว ปรากฏในคำนำและคำอธิบายซึ่งกรมหลวงพิชิตปรีชากร สภานายกหนังสือวชิรญาณวิเศส ทรงนิพนธ์ลงในหนังสือนั้นว่า ได้มีสมาชิกส่งเรื่องมาลงพิมพ์ในหนังสือนั้น ๓ ท่าน แต่โคลงลักษณะช้างของกรมหมื่นศิริธัชสังกาศนั้นเป็นโคลงหลายสิบบท ครั้นจะนำลงข้างต้นหรือตัดคัดลงแต่พอควรก็ประมาณไม่แน่ เกรงว่าหนังสือจะขาดจะเหลือกับหน้ากระดาษไป จึงได้สั่งให้เจ้าพนักงานพิมพ์ลงพิมพ์ต่อท้ายเรื่องของคนอื่น แล้วแต่จะไปยุตติลงเพียงใด ฉะนั้นโคลงลักษณะช้างนี้จึงไปค้างอยู่เพียงที่กล่าวถึงช้างอัฐคชเกิดในตระกูลพิษณุพงศ์เพียง ๕ ช้างคือช้างชื่อ “ครบกระจอก” ขาดอยู่อีก ๓ ช้างจึงจะครบ ๘

พระประสงค์ของกรมขุนศิริธัชสังกาศ คงจะทรงนิพนธ์ให้จบตำราช้างของเก่า หรืออย่างน้อยก็คงจะทรงนิพนธ์ให้ถึงช้างศุภมงคลเกิดในตระกูลอัคนิพงศ์ แต่ที่มีฉบับปรากฏอยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศสเพียงเท่านี้ คงจะเป็นเพราะทรงนิพนธ์ได้เพียงเท่านี้ แล้วไม่มีโอกาศจะได้ทรงนิพนธ์ต่อ หรือไม่มีโอกาศจะนำลงในหนังสือวชิรญาณฉะบับอื่น ๆ จึงไม่พบในหนังสือวชิรญาณวิเศสฉะบับต่อ ๆ มา เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าได้ทรงนิพนธ์และนำลงในหนังสือวชิรญาณวิเศสจนจบ เราจะได้ตำราช้างที่ดีอีกสำนวนหนึ่ง ส่วนมนต์สำหรับช้างที่ได้พิมพ์ลงด้วยนั้นก็เป็นของมีอยู่ในพระนิพนธ์แต่เติม ซึ่งเข้าใจว่ากรมขุนศิริธัชสังกาศคงได้ทรงคัดของเก่ามาลงไว้ ดังปรากฏอยู่ต่อท้ายโคลงบทที่ ๗ นั้น

หอสมุดแห่งชาติ

กรมศิลปากร วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ