คำอธิบาย

โคลงนิราสกรุงเก่าที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ได้ความในโคลงบทที่ ๒๓๒ ว่า มหาฤกษ์ เป็นผู้แต่ง และในโคลงบทที่ ๑๘๒ เล่าประวัติไว้ว่า เมื่อเด็กเป็นนักเรียนอยู่วัดเชิงท่า แขวงเมืองกรุงเก่า ครั้นเติบโตขึ้น จึงลงมาอยู่กรุงเทพ ฯ และได้เข้ารับราชการ ไม่สู้มีเวลากลับไปเยี่ยมเยียน ดั่งนี้จึงรู้ได้ว่า มหาฤกษ์ผู้ที่แต่งโคลงนิราสกรุงเก่า เป็นคนเดียวกับมหาฤกษ์ชาวกรุงเก่า ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าแต่งกลอนดี เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ อยู่ต่อมาจนในรัชชกาลที่ ๕ ได้รับราชการเป็นที่หมื่นพากยโวหาร แล้วเป็นหลวงจักรปาณี ในกรมลูกขุน

หนังสือที่มหาฤกษ์แต่งไว้ ส่วนมากเป็นนิราสกลอนแปด ที่แต่งเป็นโคลงก็มีแต่โคลงรามเกียรติเท่านั้น เพิ่งจะมาปรากฏขึ้นครั้งนี้ ว่ามหาฤกษ์ ได้แต่งโคลงนิราสไว้เรื่องหนึ่ง คือ นิราสกรุงเก่า นับว่าได้มีโอกาสรักษาเรื่องของกวีที่มีชื่อเสียงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ไม่ให้สูญได้อีกเรื่องหนึ่ง

พิจารณาโวหารการประพันธ์ของมหาฤกษ์ที่ปรากฏในโคลงนิราสกรุงเก่า รู้สึกว่ามหาฤกษ์ไม่ถนัดแต่การแต่งกลอนแปดอย่างเดียว ยังสามารถแต่งโคลงซึ่งจัดเข้าในชั้นเยี่ยมได้ผู้หนึ่ง การแต่งเป็นไปในทำนองเดียวกับโคลงนิราสนรินทร์ บางบทก็คล้ายคลึงใกล้กันมาก จะถือว่าเอาอย่างมาจากนิราสนรินทร์ก็ได้ แต่การเอาอย่างกันนี้ ว่าทางคติของกวีโบราณ ไม่ถือว่าแปลก เพราะสมัยก่อนเขานิยมกันเช่นนั้น ถึงโคลงนิราสนรินทร์เอง ก็ได้แบบอย่างและความคิดในบางตอนไปจากโคลงกำศรวญของศรีปราชญ์อีกต่อหนึ่ง ข้อสำคัญของการแต่งอยู่ที่รู้จักร้อยกรองคำพูดให้ไพเราะเหมาะเจาะ ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจของผู้อ่านตามที่ผู้ร้อยกรองได้มุ่งหมายไว้ ไม่ว่าความที่แต่งจะต้องเป็นเรื่องที่คิดขึ้นเองหรือไม่ โคลงนิราสกรุงเก่าในบางบทมีสำนวนโวหารโลดโผนมาก เห็นจะแต่งในวัยคะนอง เพราะในบทสุดท้ายของเรื่องนี้ ว่าแต่งเมื่อจุลศักราช ๑๒๒๓ เป็นเวลาที่แต่งไว้ก่อนนิราสปถวีถึง ๑๔ ปี และในกระบวนนิราสกลอนแปดที่มหาฤกษ์แต่งไว้ สำนวนในนิราสปถวีไม่สู้โลดโผน แสดงว่ามหาฤกษ์แต่งเมื่อมีอายุมากขึ้นแล้ว ส่วนสำนวนในนิราสพระปฐมโลดโผนมาก เห็นได้ว่าแต่งในเวลาที่ยังมีคะนองอยู่ และถ้าจะมาเปรียบเทียบกับสำนวนในโคลงนิราสกรุงเก่าเล่มนี้ ก็พอปานๆกัน คงจะแต่งในสมัยใกล้ ๆ กันนั่นเอง และการที่แต่งไปในทำนองโลดโผน แม้จะมีความในบางโคลงเป็นการไม่สุภาพอยู่บ้างก็ดี แต่ศิลปแห่งการประพันธ์งดงามดีพอที่จะลบล้างความน่าเกลียดอันมีอยู่บ้างในบางโคลงได้

ต่อไปนี้เป็นประวัติของมหาฤกษ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้

“มหาฤกษ์เป็นชาวกรุงเก่า อยู่แพหน้าวัดเชิงท่า ในคลองเมือง เห็นจะเป็นกำพร้ามาแต่ยังเยาว์ จึงกล่าวไว้ในนิราสปถวีว่า พระวินัยธร อยู่วัดพนัญเชิง ขอป้ามาเลี้ยงไว้แต่ยังเล็ก แต่อยู่ไม่นาน ไม่ทันจะได้เล่าเรียนอะไร ป้าก็มาลาเอากลับไปฝากพระวินัยธรรม วัดเชิงท่า ตรงหน้าบ้านของตน มหาฤกษ์เล่าเรียนอักขรสมัยอยู่ในสำนักนี้จนบวชเป็นสามเณร เห็นจะได้เรียนภาษาบาลีบ้างแล้ว เพราะปรากฏในนิราสว่า พระวินัยธรรมเป็นผู้มีปรีชาสอนหนังสือดีนัก ทำนองอาจารย์จะเห็นว่ามีเชาว์ดี จึงพาลงมาฝากไว้ที่วัดสุทัศน์ ได้เล่าเรียนอยู่ในสำนักสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อู่) สังเกตตามคำที่กล่าวไว้ในหนังสือนิราส ดูเหมือนจะได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ได้เป็นเปรียญแต่เป็นสามเณรและอุปสมบทอยู่ที่วัดสุทัศน์ กล่าวกันว่าเป็นเปรียญ ๔ ประโยค อุปสมบทอยู่ตลอดรัชชกาลที่ ๓ ถึงรัชชกาลที่ ๔ จึงลาสิกขา สังกัดอยู่ในกรมพระอาลักษณ์ แต่ยังมิได้รับหน้าที่ราชการเป็นชิ้นเป็นอัน อยูข้างจะร่อนเร่ จะได้ภรรยาหรืออาศัยผู้ใดอยู่ที่บ้านแถวคุกใหม่เดี๋ยวนี้ ไม่ปรากฏ เห็นจะเป็นในตอนที่สึกแล้วไม่นาน มหาฤกษ์ไปไหว้พระปฐมจึงแต่งนิราสพระปฐมเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องแรก สังเกตดูข้อความที่พรรณนาในนิราสนั้น รู้ได้ว่าสึกแล้วไม่นานนัก เพราะยังใช้เด็กวัด (เห็นจะที่เคยเป็นศิษย์) ให้แจวเรือ และยังมีตาด้วงวัด ๆ อะไรไปด้วยอีกคน ๑ ทั้งข้อความที่พรรณนาในเชิงสังวาส ก็มีออกนามผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายคน ดูเหมือนยังจะเที่ยวจับจดอยู่ ทั้งสำนวนโวหารที่แต่งในนิราสพระปฐมนั้น ยังมีคะนองมาก เห็นจะยังไม่มีภรรยาเป็นหลักฐาน ในตอนนั้นได้บอกหนังสืออยู่ที่โรงทานด้วย ต่อมาอีก เห็นจะหลายปี มหาฤกษ์ ได้รับราชการประจำตำแหน่งแล้ว แต่ยังไม่มียศศักดิ์ เห็นจะตั้งหลักฐานได้แล้ว ขึ้นไปรับป้าผู้เคยอุปการะที่กรุงเก่า จึ่งแต่งนิราสทวาราวดีเป็นเรื่องที่ ๒ ครั้นต่อมา มหาฤกษ์มีอายุมากขึ้น ไปนมัสการพระฉายเมื่อปีชวด จ.ศ. ๑๒๓๗ พ.ศ. ๒๔๑๘ จึงแต่งนิราสพระปถวีอีกเรื่อง ๑ เป็นเรื่องที่ ๓ แต่เมื่อแต่งนิราสเรื่องนี้จะได้เป็นหมื่นพากยโวหารแล้วหรือยังไม่แน่ เข้าใจว่าได้เป็นแล้ว เพราะนิราสที่แต่งมาก่อนแล้วบอกชื่อตัวทั้ง ๒ เรื่อง มาในเรื่องหลังนี้ชื่อหายไป และดูวางกิริยาท่าทางพากภูมิ เมื่อกล่าวถึงคนใช้ พูดว่า “บ่าว” หลายคำ แลใกล้กับเวลาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมวัดพระแก้วในรัชชกาลที่ ๕ ซึ่งปรากฏว่าหมื่นพากยโวหาร ฤกษ์ ได้แต่งโคลงห้องรามเกียรติด้วย

“นอกจากนิราสที่มหาฤกษ์แต่ง ๓ เรื่องนี้ ยังมีหนังสือที่มหาฤกษ์แต่งทูลเกล้า ฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ๒ เรื่อง คือเสภาเรื่องอาบูหะซันเรื่อง ๑ โคลงรามเกียรติห้อง ๔๔ ตอนเบญกายแปลง กับห้องที่ ๑๓๘ ตอนหณุมานหักด่านท้าวจักรวรรดิเมืองมลิวัน แลโคลงประจำภาพนิลนนท์ เบญกาย ผีเสื้อสมุทร ภายหลังมหาฤกษ์ได้เลื่อนที่เป็นหลวงจักรปาณี ในกรมลูกขุน แต่เห็นจะไม่นานเท่าใดก็ถึงแก่กรรม ประวัติของมหาฤกษ์มีเรื่องดังกล่าวมา.”

กองศิลปวิทยาการ

กรมศิลปากร วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ