คำนำ
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้โปรดจัดหนังสือ เรื่องโคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่ ให้มหาเสวกโท พระยาสุวรรณศิริ (ทองดี สุวรรณศิริ) พิมพ์เป็นครั้งแรกแจกในโอกาสที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยายืนชิงช้า โคลงนิราศสุพรรณที่พิมพ์ในคราวนั้น พิมพ์ไว้ตอนท้ายว่า “จบบริบูรณ์” ซึ่งมีโคลงทั้งหมดเพียง ๒๔๑ บท เข้าใจว่า ในครั้งนั้นคงจะพบต้นฉบับโคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่แต่เพียง ๑ เล่มสมุดไทย ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้พบต้นฉบับโคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่เพิ่มขึ้นอีก ๒ เล่มสมุดไทย มีบทโคลงเพิ่มขึ้นและดำเนินความต่อไปอีก ๒๒๑ บท รวมกับโคลงนิราศที่หอพระสมุดฯ ให้พิมพ์ไว้ก่อนแล้ว ๒๔๑ บท จึงเป็น ๔๖๒ บท สมุดไทยที่พบใหม่นี้ เป็นสมุดไทยดำเขียนด้วยดินสอขาว ลายมือเดียวกันกับลายมือในสมุดไทยเล่ม ๑ ใจความก็ต่อกันสนิท เจ้าหน้าที่จึงได้คัดและตรวจสอบชำระขึ้นไว้ บัดนี้เจ้าหน้าที่ในกองหอสมุดแห่งชาติ และกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านสุนทรภู่ ระหว่างวันที่ ๒๖ มิถุนายน ถึง ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงมีความเห็นร่วมกันจัดพิมพ์โคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่ออกเผยแพร่ เพื่อเป็นที่ระลึกและประกาศเกียรติคุณของท่านมหากวีเอก
ต้นฉบับสมุดไทยเรื่องโคลงนิราศสุพรรณที่มีอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนี้ ถ้ามิใช่ลายมือของท่านสุนทรภู่เอง อาจจะเป็นลายมือเสมียนเขียนตามคำบอกของท่านก็ได้ เพราะปรากฏว่ามีรอยลบแก้ใหม่ตลอดจนตกเติมมากมายหลายแห่ง จึงพิมพ์ตามอักขรวิธีในต้นฉบับสมุดไทย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาวิธีเขียนสะกดการันต์ และเสียงอ่านเสียงพูดที่เคยใช้กันมาในสมัยโบราณ เพราะในสมัยที่ยังไม่มีพจนานุกรมเป็นหลักการเขียนเช่นในปัจจุบัน คนส่วนมากย่อมเขียนหนังสือตามสำเนียงที่พูดและออกเสียง แต่คำที่ลักลั่นมากก็พยายามทำเชิงอรรถเทียบคำปัจจุบันไว้ด้วย ปรากฏว่ามีคำเป็นอันมากที่เขียนตามเสียงพูด เช่น ผกา เขียนเป็น พกา, จมูก เขียนเป็น ตมูก, บุปผชาติ เขียนเป็น บุพชาติ, ชิงช้า เขียนเป็น ชิ่งช้า, จะร้อง เขียนเป็น จร้อง, ชาวประมง เขียนเป็น เชาปมง, อายุวัฒนะ เขียนเป็น อายุวันชนะ, สุพรรณบุรี เขียนเป็น สูพัน หรือ สุพันบูรี เป็นต้น นอกจากนั้น ก็มีคำที่พยายามเขียนให้ได้เอกโทตามลักษณะบังคับของการแต่งโคลงอีกมาก ซึ่งท่านผู้อ่านจะศึกษาได้จากฉบับพิมพ์นี้
โคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่ ที่หอพระสมุดฯ เคยพิมพ์มาแล้ว มีใจความตั้งแต่ท่านสุนทรภู่ออกเดินทางไปสุพรรณบุรี เพื่อหาแร่หรือที่ท่านเรียกว่าปรอท หรือปูนเพชร ซึ่งเชื่อว่าเป็นแร่ที่ทำให้กลายเป็นทองได้และมีอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี จากโคลงบทที่ ๒ แสดงว่าขณะนั้นท่านสุนทรภู่ยังคงบวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม คงจะเดินทางจากวัดลงเรือไป กล่าวถึงคลองมหานาคไว้ว่า
๏ มหานากฉวากวุ้ง | คุ้งคลอง |
ชุ่มชื่นรื่นรุกขีสอง | ฝั่งน้ำ |
คุกคิดมิศหมายครอง | สัจสวาดิ ขาดเอย |
กล้าตกรกเรื้อซ้ำ | โศกทั้งหมางสมร ฯ |
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในคำนำโคลงนิราศสุพรรณ คราวที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่า “เหตุที่สุนทรภู่ไปเมืองสุพรรณคราวที่แต่งนิราศนั้น ความปรากฏในเรื่องนิราศว่าไปหาแร่ ทำนองจะเล่นแร่แปรธาตุเอง หรือมิฉะนั้นก็ไปหาแร่ให้ผู้อื่นที่เล่นแปรธาตุ เพราะเชื่อกันว่าที่ในจังหวัดแขวงสุพรรณ มีแร่อย่างใดอย่างหนึ่งทรงคุณวิเศษสำหรับใช้แปรธาตุ พวกเล่นแร่แปรธาตุยังเชื่อกันมาจนทุกวันนี้ สุนทรภู่ไปครั้งนี้พาบุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน แลมีศิษย์ไปด้วยก็หลายคน ลงเรือที่ท่าวัดเทพธิดาผ่านมาทางคลองมหานาค เมื่อถึงวัดสระเกศกล่าวความว่าในเวลานั้นมารดาพึ่งตาย ศพยังฝังอยู่ที่วัดนั้น แล้วล่องเรือไปออกปากคลองโอ่งอ่าง เมือไปถึงเมืองสุพรรณได้ขึ้นไปทางลำน้ำข้างเหนือเมือง ไปขึ้นเดินบกที่วังหิน เที่ยวหาแร่แล้วกลับลงเรือที่บ้านทึง ความที่พรรณนาในนิราศดูในเขตแขวงจังหวัดสุพรรณในสมัยนั้นยังเปลี่ยวมาก ทั้งข้างใต้แลฝ่ายเหนือเมือง ถึงไปปะเสือตามใกล้ๆ ลำแม่น้ำ แต่แร่ที่ไปหาจะได้หรือไม่ได้หาได้กล่าวถึงไม่ เรื่องตำนานนิราศโคลงของสุนทรภู่มีดังกล่าวมา”
ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “แต่แร่ที่จะไปหาจะได้หรือไม่ได้หาได้กล่าวถึงไม่” นั้นเพราะในคราวนั้น ได้พบต้นฉบับสมุดไทยโคลงนิราศสุพรรณแต่เล่ม ๑ เพียงเล่มเดียว และโคลงบทสุดท้ายของสมุดไทย เล่ม ๑ คือบทที่ ๒๔๑ จบลงเพียงตอนสุนทรภู่กับคณะอำลาสองตายายชื่อตาทองกับยายนากอายุร้อยยี่สิบกว่าปีด้วยความอาลัยเท่านั้น คือโคลงที่ว่า
๏ สำเรจรู้ผู่เถ้าช่วย | อวยภร |
สิบประการประกอบกลอน | กล่าวไว้ |
ขอสวัดสัฐาวอร | ไว้ว่า ลาเอย |
สองเท่าเฝ้าร้องไห้ | ลเหี่ยลห้อยหงอยเหงา ฯ |
ส่วนโคลงนิราศสุพรรณที่กรมศิลปากรพบต่อไปอีกสองเล่มสมุดไทย ช่วยให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการที่ท่านสุนทรภู่ไปสุพรรณบุรีครั้งนั้นอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ไปแล้วไม่ได้แร่ ซ้ำยังได้รับความลำบากยากเข็ญ ต้องผจญภัยต่างๆ นานาในป่าแทบเอาตัวไม่รอด เช่น ต้องเข้าไปอยู่ในดงว่านพิษ และไปพบโขลงช้างอาละวาด เป็นต้น
การเดินทางไปสุพรรณบุรีของท่านสุนทรภู่ครั้งนั้น เข้าใจว่ามีลูกชายและลูกเลี้ยงเดินทางไปด้วยอย่างน้อยสี่คน มีชื่อตามที่ปรากฏในนิราศเรื่องนี้ คือ พัด ลูกที่เกิดจากจัน ตาบ ลูกที่เกิดจากนิ่ม กลั่นและชุบ ลูกเลี้ยง นอกจากนั้นก็มีนายรอดคนนำทาง ซึ่งคนจะอกเดินทางไปด้วยตั้งแต่กรุงเทพฯ คณะของท่านสุนทรภู่เดินทางรอนแรมไปทางเรือ โดยเข้าทางคลองบางกอกน้อย ไปจนถึงสุพรรณบุรีแล้วขึ้นเดินบก ดังที่ปรากฏในพระนิพนธ์อธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ยกมาอ้างข้างต้นแล้ว เมื่อไปถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยง ก็ได้พบกะเหรี่ยงชื่อกวั่งนำเข้าไปในหมู่บ้าน กะเหรี่ยงชาวบ้านได้เลี้ยงอาหารด้วยไมตรีจิต ท่านสุนทรภู่แจกลูกปัดอันเป็นของที่พวกกะเหรี่ยงพอใจทั่วกัน แล้วตากวั่งก็ได้เพื่อนกะเหรี่ยงชื่อสังบุเรหรือซั่งบุเรร่วมไปเป็นผู้นำทางอีกคนหนึ่ง ดังกล่าวในโคลงบทที่ ๓๐๕ ว่า
๏ ลูกปัดตัดแจกถั้ว | ตัวคน |
หมดย่ามตามยากจน | จัดให้ |
ลาจากอยากตรมปรน | นิบัดหนุ่ม อุ้มเอย |
ตากวั่งซั่งบูเรได้ | เพื่อนด้วยช่วยนำ ฯ |
ถึงตอนนี้ไม่กล่าวถึงนายรอดเลย เข้าใจว่า เมื่อขึ้นบกแล้วแยกทางกับนายรอด หรือนายรอดอาจจะยังไปด้วย แต่ไม่มีบทบาทให้กล่าวถึงก็อาจเป็นได้ กะเหรี่ยงกวั่งกับสังบุเรนำทางเข้าไปในป่า จนไปค้างคืนในป่าว่านพิษ แต่ท่านสุนทรภู่ได้ความรู้แก้พิษว่านไปจากสองตายาย คือตาทองกับยายนาก คณะของท่านจึงไม่เป็นอันตราย ครั้นแล้วกะเหรี่ยงก็พาเดินทางต่อไปจนถึงหมู่บ้านละว้า ซึ่งเป็นที่รู้จักนับถือกันอยู่ พวกละว้าต้อนรับเลี้ยงข้าวปลาอาหารเป็นอันดี แล้วท่านสุนทรภู่ก็ได้
๏ ตาลวดยวดยิ่งลว้า | ป่าเขียว |
เคยปะพระเจดีเดียว | เที่ยวด้วย |
คือได้ตาลวดชาวละว้าซึ่งคงจะเป็นผู้อาวุโสอยู่ในหมู่บ้านหรือเป็นละว้าชั้นหัวหน้าร่วมทางไปด้วย พากันเดินทางบุกป่าฝ่าดงไปด้วยความลำบาก ตอนนี้ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาลักษณะป่าไว้อย่างไพเราะกินใจมาก มีทั้งบทชมนก ชมน้ำ ชมไม้ ชมสัตว์ป่าต่างๆ จนกระทั่งไปพบพระเจดีย์สูงหกศอกข้างถ้ำในป่า ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นแหล่งที่ไว้ใบลานทองบอกวิธีแปรธาตุหรือมิฉะนั้นก็บรรจุแร่ปรอทที่ต้องการ ลูกๆ ของท่านพากันผลักประตูแต่ก็ไม่อาจจะผลักให้เปิดได้ จึงได้ตั้งพิธีบวงสรวงสังเวยขอความสำเร็จในการหาแร่สำคัญครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าเทวดาเจ้าป่าไม่ยินดีช่วย แม้ว่าบวงสรวงสังเวยอย่างดีแล้วก็ตาม จึงต้องค้างคืนที่นั่น จนรุ่งเช้าได้พบโขลงช้างมาอาละวาดสกัดล้อมไว้จะทำร้าย กะเหรี่ยงกับละว้าพาหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูง จนเวลาเที่ยงช้างก็ล่าถอยไป คณะของท่านสุนทรภู่ต้องค้างคืนที่นั่นอีก และยังไม่ละความพยายาม จึงตั้งพิธีบวงสรวงสังเวยอีกครั้งหนึ่ง แล้วเข้าผลักประตู ๆ ทำท่าจะเปิด แต่แล้วก็กลับกระดอนปิดสนิทแน่น ท่านสุนทรภู่เห็นว่าคงไม่สำเร็จก็คิดจะกลับ พอเคลิ้มหลับก็รู้สึกคล้ายถ้ำนั้นเป็นท้องพระโรง มีพระมหากษัตริย์และนางพระยากับลูกเล็กๆ ไว้ผมจุกมาปรากฏให้เห็น ตรัสเยินยอสุนทรภู่แล้วขอให้ท่านขับกล่อมถวาย ท่านก็รับขับกล่อมตามพระประสงค์เป็นที่พอพระทัย กษัตริย์นั้นจึงทรงเล่าความให้ฟังว่า ที่บริเวณนั้นแต่เดิมเคยเป็นบ้านเมืองมีปราสาทราชวัง แต่ถูกโรคห่ารบกวนจึงกลายเป็นเมืองร้างกลางป่า มีโขลงช้างคอยเฝ้าสมบัติมีค่า คือในพระเจดีย์นั้นมีแร่ปรอทสำหรับแปรธาตุเป็นทอง แต่พระองค์จะเก็บรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของลูกๆ ที่ไว้จุก เมื่อมาเกิดแล้วจะได้ใช้สร้างปรางค์ทองต่อไป กล่าวไว้ในโคลงบทที่ ๔๑๗ ว่า
๏ เจดีที่อยู่ห้อง | ทองพทม |
ปรอดเสร็จเพชปูนปสม | ใส่ไว้ |
สำหรับกับถั่วนม | เนื้อแผด แปดแฮ |
ของลูกจุกจได้ | เกิดสร้างปรางทอง ฯ |
แล้วก็ตรัสห้ามต่อไปว่า ยาอายุวัฒนะนั้นไม่มีในโลก ขออย่าให้ท่านสุนทรภู่หลงใฝ่หาเลย เรื่องแร่ปรอทก็เป็นเรื่องบ้าเหลวไหลให้เลิกคิดแสวงหาเสีย กลับไปมุ่งแสวงกุศลผลบุญจากสมณเพศดีกว่า และขอให้แบงบุญกุศลให้พระองค์บ้าง ให้สุนทรภู่รีบหนีช้างไปเสีย กับทรงฝากลูกแก่ท่านเพื่อให้เรียนรามเกียรติ์ และลูกจะได้ช่วยให้คณะของท่านสุนทรภู่เดินทางโดยปลอดภัย ครั้นแล้วท่านสุนทรภู่ก็ตื่นขึ้น วันนั้นเป็นวันเก้าค่ำ จะเป็นขึ้นแรมปีอะไรมิได้กล่าวไว้ แต่ท่านก็จดจำคำห้ามทั้งสามประการได้ จึงพากันลาป่าปู่เจ้าเดินทางกลับ มาถึงเขตเสาหินที่พระเจดีย์ก็พบโขลงช้างป่าสกัดล้อมรอบไว้อีก ตาลวดละว้าใช้หน้าไม้ยิงช้างงาหักล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาอีก ทั้งกะเหรี่ยงและละว้าจึงไหว้ปู่เจ้าเขาโพลงขอให้ช่วย ผีปู่เจ้าเขาโพลงมาเข้าสังบุเร กล่าวว่าตาลวดยิงช้างตายจะต้องเอาตาลวดไว้ใช้แทนช้าง แล้วสังบุเรก็สลบไป ท่านสุนทรภู่จึงรำลึกถึงอำนาจพุทธานุภาพขอให้ช่วย กะเหรี่ยงกับละว้าก็ฟื้นขึ้นเล่าความว่า มีเด็กไว้ผมจุกมาช่วยจึงพ้นอันตราย ท่านสุนทรภู่จึงตรวจน้ำสวดสัพพีแผ่กุศลให้แก่เจ้าป่าและโขมดภูตผีไพร ขอให้ช่วยอำนวยให้เดินทางกลับโดยสะดวก ทันใดนั้นก็แว่วเสียงระนาดฆ้องดังมาวังเวง ท่านสุนทรภู่จึงขอให้ลูกๆ ช่วยกันขับลำบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา แล้วจึงออกเดินทาง กะเหรี่ยงผู้นำทางแลเห็นมีเด็กไว้ผมจุกจุดไต้มานำทางให้ จนกระทั่งออกพ้นป่าเป็นเวลายามหนึ่ง ได้ยินเสียงช้างร้องแปร๋แปร้นอยู่แว่วๆ ทางเบื้องหลัง จึงทราบว่าได้อาศัยบุญของเด็กลูกกษัตริย์เจ้าป่านำทางบังตาโขลงช้างมิให้เห็น คณะของท่านจึงเดินทางพ้นป่ามาได้โดยสวัสดิภาพ ครั้นถึงแดนละว้าแล้ว ท่านสุนทรภู่กับลูกๆ ก็อำลากะเหรี่ยงกับละว้า แล้วออกเดินทางต่อมาลงเรือที่อำเภอสองพี่น้องมุ่งหน้ากลับ เป็นอันจบการผจญภัยของท่านสุนทรภู่คราวนี้ ในตอนท้ายท่านได้ฝากข้อคิดไว้ว่า
๏ หวังไว้ให้ลูกเต้า | เหล่าหลาน |
รู้เรื่องเปลืองป่วยการ | เกิดร้อน |
อายุวันชนะขนาน | นี้พ่อ ขอเอย |
แร่ปรอดยอดยากข้อน | คิดไว้ให้จำ ฯ |
โคลงนิราศสุพรรณของท่านสุนทรภู่ จบบริบูรณ์ลงในบทที่ ๔๖๒ ดังที่พิมพ์ไว้ในเล่มนี้แล้ว นอกจากจะมีความไพเราะซาบซึ้งและให้ความสนุกเพลิดเพลินตามท้องเรื่องแล้ว โคลงนิราศสุพรรณนี้ยังช่วยให้เราได้ทราบรายละเอียดในเรื่องการเดินทางไปสุพรรณบุรีของท่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาชีวประวัติของท่านเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้ที่สำคัญก็คือได้ช่วยให้ผู้ทียังหลงใหลในเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและหายาอายุวัฒนะ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้เชื่อว่ามี ได้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ดังท่านสุนทรภู่ได้แถลงไว้ชัดเจนแล้วในโคลงนิราศสุพรรณของท่านเรื่องนี้
อนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาการตามระยะเดินทางของท่านสุนทรภู่ กรมศิลปากรจึงได้ให้เจ้าหน้าที่จัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับสถานที่ตามที่ปรากฏให้เส้นทางเดิน พร้อมทั้งทำแผนที่สังเขปแสดงระยะเดินทางประกอบขึ้นไว้ ดังได้พิมพ์ไว้ตอนท้ายของโคลงนิราศนี้
ณ อภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เวียนมาบรรจบในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ศกนี้ อีกครั้งหนึ่ง กรมศิลปากรขอเชิญชวนท่านที่เคารพทั้งหลายโปรดร่วมใจน้อมคารวะ ระลึกถึงกิตติคุณอันสูงส่งของท่านมหากวีเอก ซึ่งได้สร้างสมบัติวรรณกรรมอันไพเราะเพราะพริ้งและหาค่ามิได้ ไว้เป็นมรดกสำคัญของชาติไทย และเป็นเครื่องประดับใจของอนุชนทุกยุคทุกสมัยชั่วนิรันดร์.
กรมศิลปากร
๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๐