คำนำ

ด้วยประวงศ์ สุขุมาลจันทร์ ผู้พี่ ลิ้ม สุขุมาลจันทร์ ผู้น้อง จะปลงศพนายพันตำรวจตรีหลวงทุรการกำจัด (เป้า สุขุมาลจันทร์) ในกระทรวงนครบาล ผู้เปนบิดา ให้มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ว่ามีความศรัทธาจะรับสร้างหนังสือในหอพระสมุดฯ เปนของแจกในงานศพเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าเลือกหนังสือโคลงดั้น เรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ฯ ซึ่งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์ เจ้าภาพเห็นชอบด้วย จึงได้พิมพ์ในสมุดเล่มนี้

สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เปนกวีซึ่งคนทั้งหลายนับถือว่าเปนชั้นเอกในกวีไทยพระองค์ ๑ พระนิพนธ์จึงเปนของที่นักเรียนพอใจอ่าน หนังสือที่ทรงนิพนธ์ก็มีหลายเรื่อง สอบได้บาญชีดังนี้ คือ

๑ สรรพสิทธิคำฉันท์

๒ สมุทโฆษคำฉันท์ ตอนปลาย แต่งต่อพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายน์มหาราชที่ทรงค้างไว้จนจบ

๓ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

๔ ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพัง

๕ กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง

๖ ฉันท์มาตราพฤติ

๗ ฉันท์วรรณพฤติ

๘ ลิลิตเตลงพ่าย

๙ ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐิน

๑๐ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน

๑๑ ร่ายทำขวัญนาคหลวง

๑๒ มหาชาติ ๑๑ กัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีโคลงฉันท์เบ็ดเตล็ด เช่นโคลงฤๅษีดัดตน โคลงกลบท เปนต้น ซึ่งทรงรับแต่งพร้อมกับคนอื่นๆ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณโดยมาก แต่หนังสือวชิรญาณเปนหนังสือพิมพ์ออกรายเดือน มีเรื่องอื่นๆปะปนอยู่ด้วย ที่จะได้พิมพ์แยกออกเฉภาะพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสมีน้อยเรื่อง เคยพบแต่ลิลิตเตลงพ่ายเรื่อง ๑ นางกฤษณาสอนน้องเรื่อง ๑ กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณได้ให้พิมพ์แยกออกอิก ๒ เรื่อง คือ มหาชาติทั้ง ๑๑ กัณฑ์เรื่อง ๑ กับลิลิตกระบวนเสด็จพยุหยาตราอิกเรื่อง ๑ ดูนักเรียนพากันพอใจมาก กรรมการจึงได้คิดว่าถ้ามีโอกาศ จะพิมพ์พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสแยกออกเปนเล่มๆ ต่อไปให้ครบทุกเรื่อง

เรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ที่ข้าพเจ้าเลือกให้ประวงศ์แลลิ้ม พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาให้สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์ เมื่อปีมะเสงสัปตศก พ.ศ. ๒๓๘๘ ในคราวเมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ สังเกตในท้องความ ดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะให้จารึกแผ่นศิลาติดไว้ในวิหารพระพุทธไสยาศน์ แต่ข้าพเจ้ายังหาได้เคยเห็นแผ่นศิลาจารึกนั้นไม่ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ นี้ มีข้อวิเศษ ๒ อย่าง คือ อย่าง ๑ ลักษณการแต่งกลอน ถ้าแต่งเรื่องบรรยายเช่นแต่งนิทานไม่สู้จะยาก ด้วยมีทางที่จะยักย้ายกระบวนความได้หลายอย่าง แต่งเปนเรื่องพรรณาการเช่นหนังสือเรื่องนี้ มีแต่ที่จะพรรณารูปร่างโบสถ์ราม ลวดลายปั้นลายเขียน ทางความคับแคบแต่งยากกว่านิทาน ซ้ำแต่งเปนโคลงดั้น ซึ่งมีบังคับยากกว่าโคลงสุภาพ ใช่แต่เท่านั้น ในเวลาเมื่อสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ ประจวบที่ฝ่ายคฤหัสถ์แต่งเพลงยาวกลบทประกวดกัน ทรงแต่งโคลงดั้นเรื่องนี้ในตอนข้างท้ายเปนกลบทต่างๆ สู้คฤหัสถ์ด้วย จึงนับว่าเปนหนังสือที่แต่งยาก แลทรงแต่งได้ดีประการ ๑ อิกประการ ๑ นั้น วิเศษในทางโบราณคดีที่กล่าวถึงเรื่องราววัดพระเชตุพนฯ วัดนี้เมื่อครั้งกรุงเก่าเปนวัดเล็กๆ เรียกว่าวัดโพธาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาเปนพระอารามหลวง สร้างใหญ่โตกว่าวัดอื่นๆ ในรัชกาลที่ ๑ มีจดหมายเหตุการสร้างจารึกศิลาไว้ มาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์แก้ไข แลขยายเขตรวัดให้กว้างขวางออกไปอิก ทรงสร้างเพิ่มเติมอิกก็หลายอย่าง ใครๆเช่นตัวข้าพเจ้าเอง เคยไปเที่ยววัดพระเชตุพนฯนับครั้งไม่ถ้วน เคยพบแลอ่านตำนานวัดพระเชตุพนฯ มาก็หลายฉบับ ยังไม่เคยได้ความรู้เรื่องวัดพระเชตุพนฯ ว่าครั้งรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างไว้อย่างไร แลในครั้งรัชกาลที่ ๓ ทรงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรได้เลอียด จนมาได้อ่านโคลงเรื่องนี้ จึงเปนหนังสือวิเศษในทางจดหมายเหตุด้วยอิกประการ ๑ ข้าพเจ้าขอแนะนำผู้ศึกษาโบราณคดีที่แสวงหาความรู้การเก่า ขอให้เอาใจใส่ในความข้อหลังนี้โดยเฉภาะ

อนึ่งเมื่อพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้ส่งสมุดประวัติของหลวงทุรการกำจัดมาให้ ด้วยมีความประสงค์จะให้ข้าพเจ้าเก็บเนื้อความเรียงลงในคำนำให้ปรากฎอยู่กับหนังสือนี้ด้วย ข้าพเจ้าได้ตรวจข้อความในประวัติได้ความว่า นายพันตำรวจตรี หลวงทุรการกำจัด (เป้า สุขุมาลจันทร์) เกิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันพุฒที่ ๑๗ มิถุนายน ปีมโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ตั้งบ้านเรือนอยู่ตรอกอามาเกง อำเภอสำเพ็ง ได้เล่าเรียนหนังสือไทยแลภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนนันทอุทยาน แลได้อุปสมบทเปนพระภิกษุที่วัดจักรวรรดิราชาวาศ แรกเข้ารับราชการเปนเสมียนอยู่ในกรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ รับราชการอยู่ในกรมกองตระเวนได้เลื่อนยศด้วยความชอบความดีขึ้นโดยลำดับทุกชั้น ตั้งแต่เปนนายหมวด เปนสารวัดแขวง เปนสารวัดใหญ่ จนเปนปลัดกรม แลได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงทุรการกำจัด ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ ทั้งเหรียญจักรมาลา แลเหรียญพระราชพิธีต่างๆ ได้รับราชการมีความชอบเปนพิเศษเรื่องจับโจรผู้ร้ายก็หลายคราว หลวงทุรการกำจัดป่วยถึงแก่กรรมเมื่อณวันที่ ๓๐ มีนาคม ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุได้ ๔๘ ปี

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทานซึ่งประวงศ์ แล ลิ้ม บำเพ็ญในการปลงศพสนองคุณบิดาด้วยความกตัญญูกตะเวที กับทั้งที่พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ให้เจริญวิชาความรู้นับในธรรมทาน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า บรรดาผุ้ทีไ่ด้อ่านจะพอใจแลจะอนุโมทนาการกุศลนี้ด้วยกันทุกคน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ