ลัทธิธรรมเนียมราษฎรภาคอีศาน

ข้าพเจ้า ขอเล่าถึงลัทธิธรรมเนียมที่ราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกได้ใช้มาแต่โบราณ และเป็นสิ่งที่เราท่านทั้งหลายควรรู้ไว้ พอเป็นทางดำริในการงานทั้งปวงต่อไปด้วย แต่การที่จะกล่าวถึงลัทธิธรรมเนียมของราษฎรภาคอีศานตะวันออกนั้น จะต้องบรรยายโดยลำดับเดือนปีที่เป็นส่วนความนิยมในการบุญ และความนิยมในการเล่น ซึ่งประจวบกับนักขัตฤกษ์เดือนปีตั้งแต่เดือน ๕ เป็นต้นไป ตามความนิยมที่นับว่าเป็นเดือนที่ ๑ ของปีใหม่ ดังความนิยมนับฤดูเดือนปีที่ใช้อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้

ความนิยมในการบุญและการเล่นในต้นเดือน ๕ นั้น คือ ถึงฤดูเดือน ๕ ซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ ครั้นถึงวันสงกรานต์ พระภิกษุสงฆ์สามเณร ได้เชิญพระพุทธรูปออกจากโบสถ์ไปตั้งไว้ที่หอสรง (คำที่เรียกว่าหอสรงนี้ เป็นที่สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปในฤดูสงกรานต์ ซึ่งชนชาวบ้านได้ปลูกสร้างลงไว้ในวัดเพื่อประโยชน์ในการบุญ และเป็นหอเล็กๆ พอจุพระพุทธรูปอย่างมากเพียง ๑๐ องค์) ครั้นเชิญพระพุทธรูปออกตั้งไว้ที่หอสรงแล้ว ถึงเวลาบ่าย ๒ โมง หญิงสาวหรือแก่บรรดาที่อยู่ในบ้านนั้นต่างคนได้เอาน้ำอบน้ำหอมตามมีตามเกิด แม้นที่สุดจนน้ำท่าเปล่าๆก็ได้ พากันไปสรงน้ำพระพุทธรูปทุกวันไป ได้ ๑๕ วันจึงจะเลิก การที่สรงน้ำพระพุทธรูปนั้นใช้สรงด้วยเครื่องสรงชะนิด ๑ ซึ่งราษฎรภาคอีศานเรียกว่ากงพัด คำที่เรียกว่ากงพัดนี้เขาทำด้วยไม้ไผ่สีสุกปล้องเดียวทะลวงข้อข้างหนึ่งคงไว้ข้างหนึ่ง แต่เจาะช่องรอบปล้องไม้ไผ่ให้ได้ ๖ ช่อง และเอาไม้ไผ่ที่เล็กปล้องเดียวทำท่อธารน้ำ และท่อเล็กนั้นก็เจาะเป็นช่องให้น้ำไหลพลุ่งออกได้ด้วย และเอาไม้ไผ่ขดเป็นกงโค้งคล้ายกงในปั่นฝ้าย และเอาครั่งอุดยารอบนอกให้มิดชิดดี รูปที่สำเร็จแล้วคล้ายกับสุ่มที่เขาสุ่มปลา และมีรางรองน้ำอันหนึ่งยาวประมาณ ๖ ศอกเศษ คล้ายรางรองน้ำฝนที่ใช้รองน้ำตามชายคาเรือนเรานี้ เมื่อเวลาสรงน้ำพระเขาได้เทน้ำอบน้ำหอมรวมกันลงในรางให้ไหลลงไปถึงกงพัด พอน้ำตกถึงกงพัดและไหลออกตามท่อ และกงพัดก็หมุนได้ดังจักรเรือกำปั่น จะเรียกว่าจักรน้ำก็ได้ ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงสรงน้ำพระแล้ว หญิงสาวและชายหนุ่มทั้งภิกษุสามเณร ก็พากันไปเก็บดอกไม้ตามป่ามาบูชา เครื่องที่เก็บดอกไม้นั้นเขาเอาแฝกมามัดเป็นกำได้ ๓ เปลาะ มัดแฝกนั้นทำเป็นสามขาเหมือนเท้าโต๊ะ สำหรับได้ตั้งวางไว้ไม่ให้ล้ม เมื่อจะไปเก็บดอกไม้ พระได้แจกมัดแฝกนี้ให้เก่หญิงสาวและชายหนุ่มให้ถือไปคนละ ๑ อัน พระสงฆ์และสามเณรก็ไปด้วย ครั้นไปถึงป่าหรือโคกที่มีดอกไม้แล้วก็หยุดพักอยู่ตามร่มไม้ ต่างคนก็ต่างไปหักเด็ดเอาช่อดอกไม้มาปักเข้าที่มัดแฝก ประดับประดาตามสีดอกไม้ให้เป็นพุ่มพวง แลดูก็งดงามได้ตามชาวปัจจันตประเทศ ในเวลานั้นเป็นเวลาแดดอ่อนจวนค่ำ แลดูป่าก็น่าจะเจริญตาสบายใจ เหลีบวซ้ายแลขวาล้วนแต่ใบไม้อ่อนเขียวชอุ่มไปทั้งโคก ทั้งพรรณหญ่าต่าง ๆ ก็เขียวดาดลาดไปตามใต้ร่มไม้ นับว่าเป็นความรื่นเริงของชนชาวบ้านนอกได้อย่างหนึ่ง ใช่แต่เท่านั้น ย่อมมีเครื่องดนตรีของชาวป่าตามไปประโคมในการนี้ด้วย ดนตรีนั้นคือกลองตบ ๑ ฆ้องหมุ่ย ๑ ฉาบ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เป็นดนตรีตามไปประโคมด้วย คำที่เรียกว่ากลองตบนี้รูปร่างคล้ายเถิดเทิง แต่หุ้มหนังทั้ง ๒ หน้า เมื่อเก็บดอกไม้ได้พอแล้วก็พากันแห่กลับมา ครั้นถึงวัดแล้วก็นำดอกไม้นั้นไปวางไว้ที่หอสรงรอบองค์พระพุทธรูป ถึงเวลากลางคืนประมาณทุ่ม ๑ ก็ตีกลองใหญ่ขึ้นสองสามตูม ราษฎรชาวบ้านหนุ่มสาวชายหญิงก็ไปประชุมกันที่ลานวัด ส่วนหญิงสาวก็แจกหมากพลูบุหรี่แก่พระสงฆ์ ส่วนหนุ่ม ๆ ก็แอ่วบ้าง ขับแคนบ้าง เป็นการสุนกครึกครื้นของชาวปัจจันตประเทศ การประชุมเช่นนี้อยู่ดึกประมาณ ๔ ทุ่มหรือ ๕ ทุ่มจึ่งเลิกแล้วกลับไปบ้าน ส่วนเจ้าหนุ่ม ๆ ก็ตามหญิงสาวไปที่บ้านเรือนของหญิงแล้ว พูดเกี้ยวพานคันตามประเวณีของราษฎรภาคอีศาน อนึ่งการเก็บดอกไม้ตามโคกมาบูชาพระนี้ บางทีไปประจวบกันเข้ากับพวกบ้านอื่นหรือวัดอื่น ก็ได้ตีกลองตบแข่งกันเพื่อจะอวดว่าข้างไหนจะมีเสียงดังกว่ากัน ถ้าข้างไหนเสียงดังกว่า ข้างนั้นเป็นชะนะ แต่การชะนะนี้มิได้เกี่ยวข้องแก่การพนันเสียเงินทองแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้เกิดความสนุกครึกครื้นเท่านั้น และถ้าฝ่ายไหนชะนะ ฝ่ายนั้นก็มีหน้ามีตาเอิกเกริกไป การที่เก็บดอกไม้บูชาพระนี้ ราษฎรชายหญิงตลอดถึงภิกษุสามเณรย่อมมีความอุตสาหะมากทุกปีไป ส่วนภิกษุที่จะนึกกลัวต่อภูตคามปาจิตตีย์ในการที่เด็ดดอกไม้นี้ไม่มีเลย ด้วยใส่ใจเสียว่าเป็นการบุญการกุศล ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดได้ส่วนหนึ่ง แต่เป็นของใช้ประพฤติตามกันมาแต่โบราณ และยังมีการสนุกในนักขัตฤกษ์สงกรานต์อีกอย่างหนึ่ง คือหนุ่มสาวสาดน้ำกัน การที่สาดน้ำกันนี้ เล่นสกปรกโสมมอย่างเอก คือไม่เลือกน้ำที่จะสาด สุดแล้วแต่ได้สิ่งที่จะทำให้เปื้อนเปรอะเป็นต้นว่าโคลนเลนหรือน้ำครำที่ใต้ถุนซึ่งมีกลิ่นเหม็น ก็เอาเป็นใช้ได้ ถ้าปะเป็นเราที่ไม่เคยถูก บางที่จะทำให้คลื่นเหียนได้ แต่เหตุการณ์ที่จะเกิดทะเลาะวิวาทกันเพราะการสาดน้ำนี้ไม่มีเลย การที่เล่นสนุกด้วยการสาดน้ำนี้ ตั้งแต่หนุ่มและสาวตลอดถึงผู้ใหญ่ไม่เลือกหน้า แม้ภิกษุสงฆ์สามเณรเดินไปพบเข้ากำลังเขาเล่นสาดกันอยู่นั้น เขาก็ไม่ละเว้นให้เลย เว้นแต่รีบหนีไปเสียให้พ้นจึงจะไม่ถูก การที่เล่นสาดน้ำกันนี้เป็นธรรมเนียมถือมาแต่โบราณ ด้วยเข้าใจว่าถ้าปีใดผู้เถ้าผู้แก่และหนุ่มสาวไม่เล่นสาดน้ำ ปีนั้นน้ำฝนนักจะน้อยไป เขาถือว่าการเล่นสาดน้ำนี้เหมือนดังกิริยาที่พระยานาคเล่นน้ำในสระอโนดาต การเป็นดังนี้ จึงได้นิยมในการเล่นสาดน้ำกันนัก ด้วยถือว่าเพื่อจะทำให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ในฤดูปีเดือน ความเข้าใจเป็นดังนี้ แต่การเล่นเช่นนี้จะเกี่ยวข้องแก่ฟ้าฝนซึ่งจะพึงตกในฤดูปีเดือนนั้นๆหามิได้ แม้ความเข้าใจและนิยมดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นเพราะคนฉลาดหลอกคนโง่ไว้ให้หลงใหลแต่เดิมมา และเป็นความโง่ที่ไม่ได้ไตร่ตรองของคนภายหลังนี้ด้วย และการเล่นสาดน้ำนี้ มาในเวลาปัจจุบันนี้ไม่ใคร่จะเอิกเกริกครึกครื้นเหมือนอย่างแต่ก่อน จะเป็นด้วยเขาเห็นว่าเป็นการโสโครก หรือเห็นว่าเป็นการไม่มีประโยชน์อะไรในลัทธินั้นหรืออย่างไร การที่เล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์ของราษฎรภาคอีศานตะวันออกนั้น เล่นอยู่นานถึง ๑๕ วันจึงจะเลิก และจะเกี่ยวข้องด้วยการพนันเช่นถั่วโปหรือไพ่หวยและอื่นๆบรรดาการพนันที่จะทำให้เสียทรัพย์ ไม่มีในนักขัตฤกษ์นี้เลย เพราะการเล่นการพนันในประเทศนั้นไม่ใคร่มีมาแต่เดิม อนึ่ง ความนิยมในนักขัตฤกษ์สงกรานต์นี้ มีแปลกปลาดไปจากความเข้าใจของราษฎรภาคอีศานเราอีกอย่างหนึ่ง คือโหรคำนวณว่าปีนั้นไม้ชะนิดนั้นเป็นพระยาไม้คือไม้หว้าและไม้ยางทรายเป็นต้นและเปลี่ยนกันไปทุกปี บางปีก็ซ้ำกันบ้าง ถ้าปีใดโหรคำนวณว่าไม้ใดเป็นพระยาไม้ ราษฎรชาวบ้านมักจะไปถากเปลือกหรือตัดเอากิ่งไม้นั้นมาแช่ไว้ในตุ่มน้ำอาบบ้างกินบ้าง ด้วยถือว่าเป็นที่ทำให้หายโรคภัยได้ต่างๆ ความเข้าใจอันนี้เกิดด้วยตำราอะไรปรากฏในแบบแผนอะไรไม่ทราบเลย ในเรื่องอื่นๆ เป็นต้นว่านาคให้น้ำปีละตัวหนึ่งหรือสองตัวสามตัวนั้น มีเหมือนกันกับโหรฝ่ายราษฎรภาคอีศานนี้ การที่โหรคำนวณเอาต้นไม้ให้เป็นพระยาไม้ในปีหนึ่งๆ คือใช้บวกลบคูณหารตามวิธีเลข เอาจุลศักราชเป็นที่ตั้ง ถ้าบวกลบคูณหารได้เศษเลขตัวใด และต้องตำราว่าเศษนั้นเป็นไม้ชะนิดใดดังนี้แล้ว ก็ตั้งเอาไม้นั้นเป็นพระยาตามสมมต นิยมคล้ายกับตำราที่ตั้งไว้ว่าปีนี้นาคให้น้ำตัวเดียวหรือ ๒ ตัวเป็นต้นนี้เอง การที่คำนวณเอาต้นไม้เป็นพระยาไม้ และนาคให้น้ำในปีต่างๆ เหล่านี้ เป็นลัทธิกำหนดหมายตามความเข้าใจเท่านั้น ใช่จะเป็นของจะพึงมีพึงเป็นเช่นนั้นโดยธรรมดาปีเดือนก็หามิได้

เทศกาลเดือน ๖ และเดือน ๗ เดือน ๘ ในระหว่าง ๓ เดือนนี้ราษฎรชาวบ้านณตำบลต่างๆ ได้ประชุมกัน จัดให้มีการประชุมทำบุญคราวนี้เป็นสนุกเอิกเกริกใหญ่ เรียกว่าบุญบั้งไฟบ้าง เรียกว่าบุญเดือน ๖ บ้าง การทำบุญของชาวบ้านเช่นนี้ย่อมมีบั้งไฟประกอบเข้าช่วยทุกคราวมิได้เว้นเลย เพราะฉะนั้นเขาจึงได้เรียกว่าบุญบั้งไฟ และซึ่งเรียกการบุญนี้ว่าบุญเดือน ๖ นั้น ก็เพราะเขามักทำในฤดูเดือน ๖ และเดือน ๗ โดยมาก การทำบุญบังไฟนี้ เมื่อเขาประชุมตกลงกันแน่นอนแล้ว จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมเดือน ๖ และเดือน ๗ ก็ตาม เขาจึงเขียนเป็นหนังสือลงในใบลาน แจกไปแก่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันทั่วระยะทางวัน ๑ บ้าง วันและคืน ๑ บ้าง หลายบ้านด้วยกัน ประมาณ ๑๕ บ้านหรือ ๒๐ บ้านหรือ ๓๐ บ้านก็ถึง แล้วแต่ความพอใจของบ้านที่จะทำบุญ หนังสือที่แจกไปแก่หมู่บ้านต่างๆ นั้นคือจดหมายนัดวันคืนเดือนปีที่จะประชุมทำบุญ ให้บ้านที่จะมาประชุมนั้นรู้และมาทันตามกำหนด จดหมายนั้นเขาเรียกว่าสลากใส่บุญ คราวแรกที่เขาจะลงมือทำบุญ เขาได้ประชุมลูกบ้านให้พร้อมใจกัน เพื่อจะปฤกษาแบ่งบ้านให้กันรับ คือ ๓ หลังเรือนรับบ้าน ๑ บ้าง ๔ หลังเรือนรับบ้าน ๑ บ้าง การที่ประชุมแบ่งบ้านที่นัดมาประชุมให้รับเป็นส่วน ๆ นี้ เพื่อบ้านที่รับนั้นได้เป็นธุระดูแลจัดการเลี้ยงดูพระสงฆ์สามเณร และราษฎรชายหญิงซึ่งจะมาประชุมในการบุญนั้น คือบ้านที่ถูกเชิญตั้งแต่พระสังข์ลงมาตลอดฆราวาศชายหญิง มิได้เป็นกังวลที่จะหาสะเบียงอาหารไปบริโภค ย่อมเป็นหน้าที่ของบ้านที่รับเป็นธุระอันได้ตกลงกันตามที่เขาได้ประชุมแบ่งหน้าที่แล้วนั้นทั้งสิ้น การเลี้ยงดูนั้นส่วนพระสงฆ์สามเณรก็เลี้ยงเช้าและเพน ส่วนฆราวาศชายหญิงนั้นเลี้ยงข้าวปลาอาหารเช้าเย็นและเหล้ายาให้อิ่มหนำเอิกเกริก และการเชิญนัดประชุมนี้ มักเชิญให้หมู่บ้านนั้นหากลองมาตีแข่งประชันกันบ้านละ๑ คู่ ทั้งบั้งไฟบ้านละ ๑ บอกด้วย เมื่อกาลข้างหน้ายังอีก ๑๐ วันหรือ ๑๑ วัน ส่วนบ้านก็จะทำบุญนั้นบรรดาผู้ที่ได้รับหน้าที่ก็ได้ลงมือปลูกปรำ ปรำนี้ปลูกรอบไปทั้งลานวัด วางระยะติดกันยืดยาวเป็นแถวตลอดวัด เว้นไว้แต่ช่องทางคนเดินเข้าออกเท่านั้น ที่เรียกว่าปรำนี้เรียกตามภาษาราษฎรภาคอีศาน เรียกว่า ผามบ้าง ตูบบุญบ้าง ที่เรียกว่าผามหรือตูบบุญนี้ เขาทำด้วยไม้จริง ยกพื้นให้สูงพ้นดินประมาณศอก ๑ สำหรับพระสงฆ์สามเณรนั่ง ชั้นล่างเป็นพื้นดินแต่รองด้วยใบไม้หรือหญ้าฟางสำหรับพอกผู้หญิงแก่และสาวนั่ง เมื่อถึงกันกำหนดบรรดาบ้านที่ได้รับเชิญก็ยกมาเป็นพวกๆ พอบ่าย ๓ โมงหรือ ๔ โมงก็พอถึงบ้านที่ทำบุญ หมู่บ้านใดรับหน้าที่บ้านใด หมู่บ้านนั้นต้องแบ่งกันไปรับพระสงฆ์และหญิงชายบรรดาที่มาด้วย นำเข้าไปพักที่ผามบุญ บางพวกก็จัดหาเสื่อสาดไปลาดปูไว้สำหรับอาศน์สงฆ์ก่อน แต่พระสงฆ์ยังไม่มาถึง พระสงฆ์และหญิงชายชาวบ้านบรรดาที่ได้รับเชิญมาถึงพร้อมกันทุกบ้านแล้ด ถ้าเรือนใดมีนาคที่จะบวชก็แห่เข้าไปวัดแล้วแห่ประทักษิณรอบโบสถ์ กิริยาที่แห่นาคนี้มักให้นาคนุ่งหุ่มประดับประดาสระสรวย และให้ขี่ม้าเดินไปรอบวัดด้วย มีคนถือฆ้องโหม่งใหญ่ตีนำหน้า และยิงปืนและจุดตะไลตามหลัง ม้านั้นผูกลูกพรวนดังเกรียวกราว ถ้าถูกม้าไม่ใคร่เคยได้ยินเสียงปืนและเสียงตะไล มักจะวิ่งเขย่าใหญ่กระโดดโลดโผน ต้องมีคนจูงบังเหียนข้างละ ๑ คน หาไม่เจ้านาคก็คงจะปาฏิหารลงมาจากหลังม้าเป็นแน่ ถ้าการแห่นาคใช้ขี่ม้าเช่นนี้นับว่าเป็นการมีหน้ามีตานัก ถ้าใช้แห่เดินไปด้วยเท้ารอบวัดแล้วมักจะเป็นที่น้อยหน้าต่ำตานัก ตามความนิยมของเขาดังนี้ อนึ่งถ้าผู้ใดมีศรัทธาจะสรงน้ำพระภิกษุรูปใด ต้องแห่พระรูปนั้นออกหน้าเจ้านาคไปด้วย การที่สรงน้ำพระภิกษุนี้ คำราษฎรภาคอีศานเรียกว่าหดน้ำพระ กิริยาที่หดน้ำพระนั้นมีปริกขารภัณฑ์ต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธาของผู้จะทำบุญ คือเตียงนอน และเสื่อสาดหมอนยิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำพานรองเละสำรับคาวหวาน ผ้าไตร ๑ สำรับ คำที่เรียกว่าหดน้ำพระนี้ ไม่ใช่พิธีสรงน้ำพระสงฆ์เช่นราษฎรภาคอีศานเราเคยใช้อยู่ในฤดูสงกรานต์นั้น อันนี้เป็นลัทธิอย่างหนึ่ง คือถ้าพระภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศขึ้นจากเป็นอันดับคือเจ้าหัว จึงจะได้รับการสรงน้ำนี้ เพราะฉะนั้นการสรงน้ำนี้ เป็นการทำเพื่อเลื่อนยศให้สมณะ ถ้าภิกษุรูปใดได้รับสรงน้ำของทายก ภิกษุรูปนั้นแต่นั้นไปต้องเปลี่ยนชื่อจากเจ้าหัวเรียกว่าเสด็จนั้นเสด็จนี้ เรื่องนี้จะได้อธิบายพิศดารในเบื้องหน้าต่อไปการที่บวชนาคก็อย่างเดียวกันกับที่ใช้อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้

ส่วนที่เรียกว่าหดน้ำพระนั้น ครั้นแห่ประทักษิณได้ ๓ รอบแล้ว ก็เชิญพระนั้นลงจากเตียงหาม นิมนต์ให้ขึ้นนั่งบนแท่นอันหนึ่ง ซึ่งทำลวดลายด้วยหยวกกล้วย แล้วเจ้าศรัทธาก็โสรจสรงพระนั้นด้วยน้ำอบน้ำหอม ตลอดถึงผู้เถ้าผู้แก่ชาวบ้าน ครั้นเสร็จการสรงแล้วจึงอ่านประกาศชื่อตั้งของพระนั้นให้ทราบทั่วกัน ประกาศนั้นเขียนลงในใบลานบ้าง เขียนลงในแผ่นเงินและทองบ้าง ตามลำดับยศ สำเนาประกาศนั้นก็คือกล่าวถึงความเลื่อมใสของทายก และความอุตสาหะของพระรูปนั้นด้วย และการตั้งชื่อให้แก่พระนั้นก็ตั้งเอาตามความชอบใจ มิได้อาศัยแบบแผนอะไร ครั้นสรงและอ่านประกาศแล้วเจ้าศรัทธาก็มอบปริกขารภัณฑ์ต่างๆ บรรดาที่จัดมานั้นแก่ภิกษุรูปนั้นบริโภคต่อไป เป็นเสร็จการหดน้ำพระเท่านี้

จะกล่าวถึงเรื่องบุญเดือน ๖ ต่อไป ครั้นถึงเวลาประมาณ ๑ ทุ่มเสียงหนุ่มและสาวเจรจากันดูเอิกเกริกเซงแซ่ไปตลอดลานวัด ทั้งเสียงขับแอ่วโอ้ โลมสาวข้างนอกหน้าผามบุญล้วนแต่เจ้าหนุ่มๆ เที่ยวแอ่วสาว ข้างในผามบุญล้วนแต่หมู่ผู้หญิงสาว ๆ นั่งหันหน้าออกมาข้างนอกแลดูออกสลอนไป บางคนก็รูปร่างสระสรวย บางคนก็ขี้ริ้ว บางคนเป็นผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ บางคนเป็นไพร่พลเรือน ในหมู่หญิงสาวหมู่หนึ่ง ๆ ย่อมมีผู้หญิงแก่กำกับดูแลอยู่ด้วย เพื่อจะมิให้ชายหนุ่มทำการล่วงเกินแก่หญิงในที่อันไม่สมควร และเพื่อจะกันมิให้เกิดการลามกต่างๆอันจะมีเพราะชายหนุ่มและหญิงสาวซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันโดยธรรมดา ครั้นเวลาประมาณ ๓ ทุ่มและ ๔ ทุ่ม บรรดากลองที่ได้นัดมาตีแข่งกันทุก ๆ บ้านนั้น ต่างก็ยกมาตีประชันกันที่ลานวัด เวลานั้นจะพูดจากันไม่ได้ยินเสียงเลย เสียงกลองกะท้อนเข้าไปในหัวใจหนวกหูเป็นอย่างเอก ครั้นเวลาประมาณ ๕ ทุ่มหรือ ๖ ทุ่ม การตีกลองแข่งขันกันจึงเลิก ต่อนั้นไปคงมีแต่เจ้าหนุ่มเที่ยวขับแอ่วสาว บางคนก็รักใคร่พูดจากันอยู่จนสว่าง จับเป็นคู่ ๆ บางพวกก็เที่ยวพูดจาโฉบฉาบตลกคนองตามชอบใจ บางพวกก็เมามายไม่มีสติ ถึงแก่เดินเซล้มลุก ผ้าผ่อนลุ่ยหลุดก็มี การที่จะเกิดชกตีวิวาทกันเพราะความเมามาย หรือความหึงษ์หวงผู้หญิงในระหว่างชายหนุ่มต่อชายหนุ่มไม่ใคร่มีเลย การปกครองของเจ้าเมืองกรมการหรืออำเภอกำนัน ก็ไม่ใคร่เข้มงวดกวดขันอย่างใด หากเป็นเพราะธรรมดาประเพณีของคนชาตินั้น ซึ่งไม่ใคร่ชอบใช้การประพฤติตนเป็นคนเกะกะแต่โบราณมา การที่จะเกิดตีรันฟันแทงกันในการประชุมใหญ่เช่นนั้นนาน ๆ ปีหนึ่งหรือสองปีจะมีสักคู่ ๑ บางทีถึงสี่ปีห้าปีไม่มีเลยก็มี นับว่าเป็นความเรียบร้อยในกิริยาที่พระพฤติของเขาได้ส่วน ๑ การทำบุญบั้งไฟนี้ต่อเนื่องมาแต่เดือน ๖ ถึงเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำจึงจะหมดคราว รวมอยู่ในระหว่าง ๓ เดือนนี้ ถ้าปีใดมีอธิกมาศก็ยังทำได้อีกถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ที่ ๒ ด้วย

ถึงเดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำเป็นเทศกาลทำบุญตามมาศนิยม เรียกว่าบุญข้าวประดับดิน มีการจับฉลากเลี้ยงพระ จำเพาะในบ้านเดียวมิได้เกี่ยวแก่บ้านอื่นเหมือนบุญเดือน ๖๐

ถึงเดือน ๑๐ ขึ้น ๒๕ ค่ำ ชาวบ้านประชุมกันทำบุญอิกคราวหนึ่ง คราวนี้เรียก บุญข้าวสลาก การที่ทำบุญข้าวสลากนี้ ชะนิดเดียวกันกับทำบุญสลากภัตรในกรุงเทพ ฯ นี้ คือนิมนต์พระสงฆ์สามเณรลงไปที่การเปรียญส่งสลากให้ทั้งกอง องค์ใดจับถูกสำรับผู้ใดเป็นพระหรือเป็นเณร ผู้นั้นก็นำสำรับคาวหวานของตนไปถวายแก่พระและเณรนั้น ครั้นพระเณรฉันแล้ว ก็ประชุมกันฟังเทศน์บรรยายนิทานวัตถุและภาสิตต่างๆ ทั้งอานิสงส์สลากภัตรด้วย ชั่ววันกับคืนหนึ่งจึงเลิก

ถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๒๕ ค่ำเป็นวันออกพรรษา ราษฎรชาวบ้านตลอดถึงพระสงฆ์สามเณร พากันตามประทีปโคมไฟ เรียกว่าทำบุญจุดประทีป การทำบุญจุดประทีปนี้เป็นการขวนขวายมากทั้งฝ่ายพระและคฤหัสถ์ แต่โคมแก้วต่าง ๆ ไม่มีจะใช้ ต้องเอาลูกตุมกามาควักเอาเมล็ดในออกหมด ขูดผิวข้างนอก และเยื่อข้างในออกให้บางโปร่งดี แล้วเอาน้ำมันมะพร้าวหรือเอาน้ำมันมะเยา คือน้ำมันลูกซ่าบู่ เทลงในกะลาลูกตุมกา มีไส้ลอยอยู่ในนั้น มีหูหิ้วเหมือนกระเช้า บางทีเอาลูกฟักเหลืองทั้งลูกมาเจาะควักเอาเยื่อในออกให้หมด ขูดให้บางเหลือแต่ผิวข้างนอก บางทีเอาลูกส้มโอที่เขื่อง ๆ มาควักเอาเยื่อในออก ขูดให้บางเหลือแต่ผิวนอก ใช้ต่างโคม เอาไฟจุตขึ้นไปแขวนไว้บนกิ่งมะม่วงหรือกิ่งไม้ต่างๆ บรรดามีอยู่ในวัด แลดูแดงครืดไปทั้งวัด เหมือนโคมญี่ปุ่นที่เราใช้จุดกันนี้ เมื่อพิจารณาดูโคมราษฎรภาคอีศานเหล่านี้ ก็นับว่าเป็นความฉลาดได้อย่าง ๑ การที่จุดประทีปนี้ เขาทำให้เป็นร้านสูงร้าน๑ ร้านนั้นทำด้วยต้นกล้วย มีหัวเละท้ายคล้ายเรือสำเภา แล้วเอาต้นกล้วยมาปลูกลง ๖ ต้น ท้ายคู่ ๑ กลางคู่ ๑ หัวคู่ ๑ สูงประมาณเพียงศีร์ษะ และรอบร้านนั้นเอาไม้จริงลำเล็ก ๆ คล้ายไม่ค้างพลูมาปักลงเป็นรั้วตาข่าย ทำให้เป็นทางวนเวียนไปหลายรอบกว่าจะเข้าถึงร้านต้นกล้วยนั้น รั้วนั้นเรียกว่าคิรีวงกฎ ดูก็สมชื่อจริงๆ เพราะว่าเป็นทางอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดหลายชั้นหลายเชิงนักหนา บางทีถ้าเป็นคนแก่หรือเด็กไม่ได้จำต้นทางที่เข้าไปก็มักจะทำให้หลงทางกลับออกมาไม่ถูก ถึงแก่เดินวนไปมาจนดึกดื่นก็เป็นได้ การทำรั้วที่เรียกว่าคิรีวงกฎนี้ เป็นความคิดอันฉลาดเหมือนผู้คิดทำค่ายสำหรับพักพวกพลทหาร เมื่อทำการยุทธสงครามก็ว่าได้ รูปเขาคิริวงกฎนี้บางปีก็ทำ บางปีก็ไม่ได้ทำ เพราะเป็นของค่อนข้างทำยากหน่อย ด้วยต้องลงมือทำรั้วนานวันจึงจะสำเร็จได้ ครั้นถึงวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำและ ๑๕ ค่ำจนแรมค่ำ ๑ เวลากลางคืน ราษฎรชายหญิงต่างคนถือธูปเทียนไปจุดถวายพระในร้านประทีปนั้น ส่วนผู้หญิงก็แจกหมากพลูบุหรี่แก่พระแล้ว ฟังเทศน์บอกอานิสงส์ในการจุดประทีปโคมไฟบูชาพระกัณฑ์ ๑ เมื่อจบลงแล้วก็พากันกลับบ้านเรือน ดังนี้ทั้งสามวันจึงสิ้นการจุดประทีป

ต่อนี้ไปเป็นฤดูทำปราสาทผึ้งถวายพระและมีการทอดกฐินบ้างในบางอาราม ส่วนการทำบุญปราสาทผึ้งนั้นมักมีชุมทุกวัดทุกบ้าน การทอดกฐินมีน้อยวัดไม่ใคร่ชุกชุมเหมือนในกรุงเทพฯ นี้เพราะราษฎรชาวบ้านมีความขัดสนโดยมาก ทั้งผ้าไตรและปริกขารที่จะใช้ในการกฐินก็หายาก ทั้งราคาที่จะซื้อก็แพงมากกว่าที่ซื้อขายกันในกรุงเทพ ฯ นี้ด้วย

ถึงเดือน ๑๒ ข้างขึ้น ราษฎรชาวบ้านเกี่ยวข้าวและนวดข้าวแล้ว ก็พากันทำบุญที่ลานข้าว เรียกว่า “คูนลาน” การที่ทำบุญในลานข้าวนี้ มีสวดมนต์เย็นฉันเช้าเหมือนดังที่ใช้อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้ ความประสงค์ในการทำบุญลานก็คือเพื่อจะให้เป็นศิริมงคลแก่ข้าวเปลือกซึ่งจะใช้สรอยต่อไป เพราะเมื่อพระฉันเช้าแล้วนั้น เขาได้เชิญผู้ชายสูงอายุคนหนึ่งซึ่งรู้คำอวยชัยในการนี้ มาอ่านประกาศอวยชัยให้พรตามลัทธิของเขา เรียกว่าทำขวัญข้าว กิริยาอาการคล้ายกันกับทำขวัญจุกและทำขวัญนาคซึ่งใช้อยู่ในกรุงเทพ ฯ ทุกวันนี้ และเมื่อเวลาค่ำสวดมนต์เย็นแล้ววันนั้น พวกหนุ่ม ๆ ที่ไปประชุมต่างก็เลี้ยงสุรากันเมามาย และเป็นคราวกำลังหนาวจัดด้วย เมื่อกินเหล้าเมาแล้วก็นอนอยู่ตามกองฟาง และพูดจาเกี้ยวพานกับพวกหญิงสาวซึ่งไปช่วยในการทำบุญนี้ ดูก็เป็นกสรสนุกสนานได้ส่วนหนึ่ง พอรุ่งขึ้นพระฉันเช้าและทำขวัญข้าวแล้ว พระและฆราวาศต่างก็กลับไปวัดและไปบ้าน การทำบุญลานนี้ถ้าทุ่งนาอยู่ไกลบ้าน ก็ต้องพากันไปค้างแรมอยู่ที่ลานข้าว ทั้งพระและฆราวาศชายหญิง ถ้าทุ่งนาอยู่ใกล้บ้านก็ทำกันที่เรือน กิริยาที่ทำอยู่กับเรือนและทำที่ลานข้าวในทุ่งนาก็ทำอย่างเดียวกัน มิได้แปลกปลาดกันเลย

ถึงฤดูเดือนอ้ายเดือนยี่ พระสงฆ์ทุก ๆ วัดมักจะอยู่ปริวาศกรรมมิได้เว้นเลยสักปีเดียว ในระหว่างที่พระอยู่ปริวาศกรรมนี้ ราษฎรชาวบ้านพากันทำบุญให้ทานแก่พระเป็นอันมาก ด้วยเขาเข้าใจว่าได้บุญมาก การที่พระอยู่ปริวาศกรรมนี้ เพื่อความประสงค์จะเปลื้องปลดอาบัติน้อยใหญ่ที่ได้ล่วงมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ต้นปี แต่ที่จริงการอยู่ปริวาศกรรมเป็นพุทธบัญญัติ ส่วนหนึ่งซึ่งทรงอนุญาตไว้แก่ภิกษุผู้ได้ล่วงครุกาบัติ คือ สังฆาทิเสสและมีกำหนดอายุของอาบัติสังฆาทิเสส อันภิกษุผู้ได้ล่วงได้บอกเล่าแก่เพื่อนพรหมจรรย์ไว้ตามที่ตนได้รู้สึก มีกำหนดวันหรือเดือนหรือปีอันแน่นอน แล้วจึงอยู่ปริวาศกรรมครบกำหนดวันเดือนปีที่ได้ล่วงและขอสุทธิต่อคณะสงฆ์อันได้สวดอัพภานุโมทนาให้ จึงจะพ้นจากครุกาบัติโทษคือสังฆาทิเสสได้ แม้นจะถือว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วเมื่อใดและมิได้กำหนดวันคืนเดือนปีและจะอยู่ปริวาศกรรมชั่ว ๙ ราตรีแล้วก็เป็นผู้บริสุทธิได้เหมือนดังลัทธิพระภาคอีศานซึ่งได้นิยมในการอยู่ปริวาศกรรมนั้นมิได้เลยเป็นอันขาดเพราะมิได้ทำให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ แต่พระสงฆ์ภาคอีศานนับถือว่าการอยู่ปริวาศกรรมเป็นจารีตอันประเสริฐ ด้วยความเข้าใจว่าเป็นเครื่องเปลื้องปลดอาบัติน้อยใหญ่ทั้งปวงได้ ที่จริงเห็นว่าถ้าภิกษุรูปใด มิได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสและอยู่ปริวาศกรรมก็ชื่อว่าเป็นผู้ละเมิดต่อพุทธบัญญัติข้อนี้ เพราะตนมิได้เป็นคนมีโทษและปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีโทษ ความที่คิดว่าเป็นบุญนั้นบางทีจะกลายเป็นบาปไป เพราะมุสาวาทที่ตนได้กล่าวเท็จต่อคณะสงฆ์ แต่เหตุใดพระสงฆ์ที่มีความรู้ในพุทธบัญญัติข้อนี้ก็มีโดยมากแต่มิได้ห้ามปรามแก่พระภิกษุอื่น พลอยนิยมยินดีว่าเป็นความดีความชอบเสียด้วย แต่ข้าพเจ้าผู้กล่าวถึงลัทธิอันนี้ เห็นว่าเป็นการมีโทษในกิริยาที่ประพฤตินั้นแท้ทีเดียว ตามความเข้าใจในพุทธบัญญัติที่ว่าด้วยอุฏฐานะบริสุทธิ ซึ่งมีอยู่ในวินัยสิกขาบท

เดือน ๓ และเดือน ๔ ในระหว่าง ๒ เดือนนี้ เป็นสมัยที่ราษฎรชาวบ้านพากันทำบุญมีเทศน์ที่วัด เรียกว่าบุญข้าวจี่ การทำบุญคราวนี้คล้ายกันกับบุญเดือน ๖ แต่ไม่ทำใหญ่โตเหมือนเดือน ๖ ทั้งการบวชนาคและหดน้ำพระก็ไม่มีในการบุญคราวนี้ด้วย ที่เรียกว่าบุญข้าวจี่นั้นคือราษฎรชาวบ้านที่ทำบุญได้นิมนต์พระสงฆ์มาแต่วัดบ้านอื่น พร้อมด้วยราษฎรชายหญิงที่บ้านนั้นไปประชุมกันทำบุญประมาณ ๑๐ บ้านเป็นอย่างมาก เวลาบ่ายพระและราษฎรชายหญิงที่ไปด้วยไปถึงก็พากันเข้าไปอยู่ผามบุญที่เขาปลูกไว้รับนั้น เวลากลางคืนมีการสวดพระปริตมงคล และมีเทศน์อุณหิศวิชัยกัณฑ์ ๑ เวลาเช้ามีการตักบาตรข้าวจี่พร้อมกันทุก ๆ เรือน เพราะฉะนั้นการบุญคราวนี้เขาจึงเรียกว่าบุญข้าวจี่ คำที่เรียกว่าข้าวจี่นั้นคือเวลาเช้ามืดของคืนที่ประชุมกันนั้น ราษฎรชาวบ้านที่ทำบุญก็พากันก่อกองไฟกองใหญ่ลงที่ลานวัด แล้วเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าผลมะตูมขนาดกลาง แล้วเอาน้ำอ้อยปึกเป็นไส้ใน เสียบไม้เข้าย่างในกองไฟพลิกไปพลิกมาสุกเกรียมโดยรอบดีแล้วจึงเอาออกมา ทุบไข่ไก่ทารอบปั้นข้าวนั้นแล้วก็ย่างไฟให้ไข่สุกอีก ครั้นสุกแล้วก็เป็นอันใช้ได้ ทำกันคนละมาก ๆ นี้แลเรียกว่าข้าวจี่ เมื่อทำเสร็จแล้วได้เวลาก็นำไปตักบาตรพระเพื่อจะได้ฉันต่างของหวานพร้อมกันกับฉันเช้าวันนั้น รสชาติของข้าวจี่นี้ก็ไม่เอร็ดอร่อยอะไรนัก เป็นแต่หวานบ้างมันบ้างเล็กน้อย แต่ก็นับว่าเป็นขนมอย่างดีของราษฎรภาคอีศานได้อย่าง ๑ ตั้งแต่พระฉันเช้าแล้วไปก็มีเทศน์ที่ศาลาการเปรียญในวัดทำบุญนั้นหลายกัณฑ์ ประมาณบ่าย ๒ โมงหรือ ๓ โมงก็จบ เมื่อเทศน์จบแล้ว ก็เป็นอันสิ้นการทำบุญข้าวจี่แต่เท่านั้น การทำบุญข้าวจี่นี้คล้ายกับพระราชพิธีเผาข้าวซึ่งมีอยู่ในกฎมนเทียรบาล ปรากฏเป็นพระราชพิธีอันหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโบราณได้โปรดให้ทำในกาลโน้น แต่ข้าพเจ้าไม่อาจจะยืนยันว่าพระราชพิธีเผาข้าว และการทำบุญข้าวจี่ของราษฎรภาคอีศานอันได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นพิธีอย่างเดียวกันนั้นได้ เพราะเป็นแต่คาดคเนดูว่าจะเป็นอย่างเดียวกันเท่านั้น แม้การเรื่องนี้จะคลาดเคลื่อนจากความประสงค์เดิมอย่างใด ข้าพเจ้าขออภัยแก่ท่านผู้อ่านทั้งปวง กล่าวด้วยลัทธิของราษฎรภาคอีศานตะวันออก ซึ่งได้ประกอบการเล่นและการบุญตามมาศนิยมโดยลำดับ แต่เดือน ๕ เป็นที่ ๑ ถึงเดือน ๔ เป็นที่ ๑๒ บรรจบครบปี ๑ ก็จบแต่เท่านี้ ฯ

แต่นี้ไปจะได้บรรยายเรื่องนามสมมตินิยมอย่าง ๑ ซึ่งคนราษฎรภาคอีศานตะวันออกได้ใช้เรียกสมณะ ผู้ที่บวชเป็นสามเณรเรียกว่าจั่ว ผู้ที่สึกจากเพศสามเณรเรียกว่าเชียง ผู้ที่บวชเป็นภิกษุเรียกว่า เจ้าหัว คำนี้คงจะเป็น เจ้าอยู่หัว จะขาดคำว่าอยู่ไปเสียคำหนึ่งหรืออย่างไร ผู้ที่สึกจากภิกษุ เรียกรำ ทิด คำนี้เดิมคงจะเป็น บัณฑิต จะขาดคำว่า บัณ เสียหรืออย่างไร ถ้าเช่นนั้นคำว่า “ทิด” ซึ่งทอนอักษรคำตัวต้นออกแล้วนั้น ควรใช้เป็น “ฑิต” ตัวนี้จึงจะถูกตามบัญญัติเดิม ภิกษุผู้ได้รับหดน้ำของทายกดังกล่าวแล้วในเรื่องบุญเดือน๖ นั้น เรียกว่า เสด็จ ภิกษุผู้ที่ได้เลื่อนยศเป็นเสด็จแล้วนั้นสึกออกไป เรียกว่า จาน คำนี้เดิมเห็นจะเป็นอาจารย์ ดังนี้ แต่ลดตัวอาคำต้นออกเสีย จึงคงแต่คำว่าจานคำท้าย ถ้าเช่นนั้นก็ควรใช้เขียนเป็น จารย์ ดังนี้จึงจะถูกตามบัญญัติ ภิกษุผู้ได้รับหดน้ำของทายกครั้งที่ ๒ เรียกว่าซา คำว่าซานี้ตามภาษาราษฎรภาคอีศานและไทยก็แปลไม่ได้ความ ถ้าภาษาจีนแปลได้ความว่าสามหรือที่ ๓ เมื่อพิเคราะห์ตตามเหตุผลในเรื่องนี้คำว่าซา แปลว่าสามตามภาษาจีนก็ไม่สมควรแก่เหตุในการเรื่องนี้ คือธรรมดาว่า ๒ และ ๓ ย่อมมี ๑ เป็นเบื้องต้นจึงจะเกิดเป็น ๓ ได้หรือจะหมายเอาพระที่บวชที่แรกเรียกว่าเจ้าหัวนั้นเป็นที่ ๑ และได้รับหดน้ำเลื่อนยศที่เรียกว่าเสด็จนั้นเป็นที่ ๒ การหดน้ำเลื่อนยศคราวนี้ จึงเรียกว่า ซา ซึ่งเป็นที่ ๓ ของยศอันพระรูปนั้นได้รับแล้วดังนี้ ถ้าเหตุนี้สมควรแก่ความคาดหมายก็เห็นคำจะใช้ได้ทีเดียว ภิกษุได้รับหดน้ำเลื่อนยศครั้งที่ ๓ เรียกว่าหัวครู เป็นสุดยศที่พวกราษฎรภาคอีศานตะวันออก ใช้เรียกสมณะแต่เท่านี้ การเลื่อนยศสมณะนั้น ถ้าเป็นเสด็จ ก็จารึกชื่อลงไว้ในใบลาน ถ้าเลื่อนยศเป็น ซา ก็จารึกชื่อลงในแผ่นเงิน ถ้าเลื่อนยศเป็นหัวครู ก็จารึกชื่อลงในแผ่นทองคำ กิริยาที่ใช้จารึกชื่อของพระภิกษผู้ได้เลื่อนยศในแผ่นเงินแผ่นทองนี้ ได้ใช้มาแต่โบราณ ในกาลทุกวันนี้เป็นแต่รวบรวมเงินและทองได้บ้างเล็กน้อยแล้วก็ตีเป็นแท่งหนา ๔ เหลี่ยมประมาณเท่านิ้วมือ มอบถวายแก่พระรูปนั้นไว้ มิได้จารึกชื่อลงไว้เป็นสำคัญเหมือนแต่ครั้งโบราณมา อนึ่งภิกษุที่ได้เลื่อนยศเป็นซาและหัวครูแล้วและสึกออกเป็นฆราวาศ ก็เรียกว่า จารย์ซา จารย์ครู ตามสมมตินิยม ที่หมู่ราษฎรภาคอีศานตะวันออก ได้ใช้สืบมาแต่โบราณจนกาลบัดนี้

กล่าวด้วยลัทธิธรรมเนียมอันหนึ่ง ซึ่งพวกราษฎรภาคอีศานตะวันออกได้นับถือใช้สืบมานั้น ก็สิ้นข้อความแต่เท่านี้ ฯ

ประเพณีการปกครองของราษฎรภาคอีศานตะวันออก

หัวเมืองราษฎรภาคอีศานตะวันออกทั้งปวง ได้จัดการปกครองสืบจารีตมาแต่โบราณนั้นเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง และธรรมเนียมเช่นนี้ได้คิดจัดตั้งขึ้นไว้แต่ครั้งไร ใครเป็นผู้คิดขึ้น เป็นพ้นวิสัยที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ เพราะเรื่องเหล่านี้มิได้มีปรากฏในจดหมายเหตุหรือไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดได้จดจารึกลงไว้ในที่ใดที่หนึ่ง หรือจะมีบ้างแต่สูญหายเพราะเหตุอะไรเสียนั้น ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เราทั้งหลายรู้ไม่ได้ในการเรื่องนี้ทีเดียว แต่ถึงอย่างไร แม้การปกครองเช่นนี้ จะมีผู้จัดขึ้นแต่ครั้งไรก็ตาม ก็เป็นอันยกเว้นเสียทีเดียว จะขอเล่าแต่เรื่องที่ปรากฏอยู่ในกิริยาที่ราษฎรภาคอีศานทั้งหลาย ที่เรียกว่าเจ้าเมืองเป็นต้น ได้ใช้การปกครองเช่นนี้สื้บมาแต่โบราณเท่านั้น มูลเหตุที่จะเกิดเป็นเมือง เดิมราษฎรภาคอีศานตะวันออกฝั่งขวาแม่น้ำโขงนี้ เป็นประเทศป่าดอนปราศจากถิ่นฐานบ้านเมืองอันมั่นคง มีหมู่บ้านอยู่ห่างกันทางคืน ๑ บ้าง ๒ คืนบ้าง บางแห่งก็ถึง ๔ คืน ๕ คืน จึงถึงระยะบ้านหนึ่ง ๆ หัวเมืองเล็กน้อยทั้งปวงบรรดาที่มีชื่ออยู่ในเวลานี้ คือ อุบล, เขมราฐ, อำนาจจำเริญ, มุกดาหาร, นครพนม, กาฬสินธ์, (ริมน้ำก่ำ) ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ชนบท, นครจำปาศักดิ์, สังข, สุรินทร์, ศีศะเกษ เป็นต้นเหล่านี้ เดิมก็เป็นบ้านหนึ่ง ๆ ซึ่งมีผู้คนอยู่มากหลายสิบหลังเรือน และเป็นบ้านมีทำเลดี คืออยู่ใกล้แม่น้ำและบึงหนองใหญ่ และมีท้องทุ่งที่ควรจะทำนาได้มาก ทั้งป่าดงที่จะทำไร่ก็บริบูรณ์ดี และผู้คนซึ่งอยู่ในบ้านนั้น ค่อนข้างจะมั่งคั่งด้วยทรัพย์เงินทองกว่าบ้านอื่นบรรดาที่อยู่ใกล้เคียง หรือบางทีผู้ที่เป็นหัวหน้าในบ้านนั้นมีสติปัญญาดีมีผู้คนนับถือมาก ก็พากันคิดจัดรวบรวมขอร้องต่อพระมหานครอันตนได้ขึ้นอยู่ เพื่อได้รับอนุญาตตั้งบ้านนั้นขึ้นเป็นเมือง ครั้นได้รับอนุญาตแล้วก็ตั้งขึ้นเป็นเมือง เหมือนตั้งเมืองอุบลราชธานีเดี๋ยวนี้ เดิมก็ชื่อบ้าน “แจะละแม” ครั้นโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานคร จึงได้ตั้งขึ้นเป็นเมือง ชื่ออุบลราชธานี สืบมาจนบัดนี้ เพราะฉะนั้น บรรดาเมืองน้อยที่มีชื่อทั้งหลายนั้น เดิมล้วนแต่เป็นบ้านมาก่อน แล้วจึงเป็นเมืองขึ้นต่อภายหลัง บางเมืองก็ตั้งมานานหลายร้อยปี บางเมืองก็ตั้งเพียง ๑๐๐ ปีกว่าก็มี ตามอายุของประเทศที่ได้รับสมมติก่อนและหลัง เมืองที่ยกบ้านขึ้นเป็นเหล่านี้ ย่อมเป็นแต่เมืองเล็กน้อย มิได้เคยเป็นเมืองมีกษัตริย์ครอบครองหรือเมืองประเทศราช

ส่วนเมืองมีกษัตริย์ครอบครอง ดังเชียงใหม่และหลวงพระบางหรือเวียงจันท์เป็นต้น ดูเหมือนจะยกไปตั้งเป็นเมืองใหญ่ทีเดียว มิได้ยกเอาบ้านขึ้นเป็นเมือง ดังกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทองได้โปรดให้สร้างพระนครลงตำบลหนองโสน เมื่อจุลศักราชปี ๗๑๒ นี้เป็นตัวอย่าง นับแต่การสร้างกรุงศรีอยุธยาโบราณมาจนปี ๑๑๕ นี้ เป็นปีได้ ๕๔๕ การที่เป็นมาของประเทศที่ได้รับสมมติย่อมเป็นดังนี้

ผู้ปกครองสำหรับประเทศภาคอีศานทั้งหลายแต่โบราณนั้น ถ้าจะว่าโดยประเทศที่มีกษัตริย์ครอบครอง ซึ่งเรียกกันโดยมากว่าเมืองเอกราช หรือเมืองประเทศราช ในบางคราว เช่นเวียงจันท์ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่ากรุงศรีสัตนาคนหุต และนครจำปาศักดิ์เป็นต้น หรือหัวเมืองเล็กน้อยซึ่งเรียกถ่าเมือง เอก, โท, ตรี, จัตวา, คือหนองคาย, อุบล, เขมราฐและอำนาจจำเริญเป็นต้น กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองเมืองซึ่งนับว่าเอกราชหรือประเทศราช หรือเจ้าเมืองเล็กน้อยซึ่งประจำอยู่ในหัวเมืองต่าง ๆ บรรดาที่กล่าวมานี้ ถ้าเมืองที่เป็นกษัตริย์เช่นเวียงจันท์และเมืองที่เป็นเจ้าประเทศราช เช่นนครจำปาศักดิ์ ก็เรียกต้นชื่อว่าพระเจ้าหรือเจ้านั่นเจ้านี่ ดังพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตและเจ้ายุติธรรมธรเหล่านี้ นับว่าเป็นหัวหน้าหรือเจ้าผู้ครองเมืองเป็นตำแหน่งที่หนึ่ง ต่อลงมาก็เรียกว่าเจ้าอุปราชเป็นตำแหน่งที่สอง เจ้าราชวงศ์เป็นตำแหน่งที่สาม เจ้าราชบุตรเป็นตำแหน่งที่สี่ ผู้ที่อยู่ใน ๓ ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งสำหรับได้เลื่อนขึ้นไปโดยลำดับจนถึงได้รับที่เป็นเจ้าผู้ครองเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หนึ่งได้ และตำแหน่งที่ต่อลงไปจากตำแหน่งที่สี่ที่กล่าวแล้วยังมีอยู่อีกหลายตำแหน่ง คือเรียกว่าเมืองแสนเป็นตำแหน่งที่ ๕ เมืองจันท์เป็นตำแหน่งที่ ๖ เมืองขวาเป็นตำแหน่งที่ ๗ เมืองซ้ายเป็นตำแหน่งที่ ๘ เมืองกลางเป็นตำแหน่งที่ ๙ เมืองคุกเป็นตำแหน่งที่ ๑๐ เมืองฮามเป็นตำแหน่งที่ ๑๑ นาเหนือเป็นตำแหน่งที่ ๑๒ นาใต้เป็นตำแหน่งที่ ๑๓ ซาเนตรเป็นตำแหน่งที่ ๑๔ ซานนท์เป็นตำแหน่งที่ ๑๕ ซาบัณฑิตเป็นตำแหน่งที่ ๑๖ ตำแหน่งตั้งแต่เมืองแสนลงมาจนถึงซาบัณฑิตเป็นที่สุดนี้ เรียกว่า “เพีย” อีกประการหนึ่งตำแหน่งตั้งแต่เมืองแสนลงมาจนถึงซาบัณฑิตเป็นที่สุดนี้ ถ้าเป็นเมืองเอกราชหรือเมืองประเทศราชตามชาติชนภาคอีศาน ต้องเรียกว่าพระยาทั้งสิ้น เหมือนดังเรียกเพียเมืองแสนว่าพระยาเมืองแสนเป็นต้น ถ้าเป็นเมืองโทหรือเมืองตรี ตำแหน่งเจ้าเมืองก็เรียกเพียงแต่พระนั่นพระนี่ ตามที่มีในสัญญาบัตร เหมือนดังพระเทพวงษาเจ้าเมืองเขมราฐ พระประจญจัตุรงค์ เจ้าเมืองชาณุมารมณฑลเป็นต้น ถ้าตำแหน่งรองลงมาก็เรียกว่าอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ไม่มีคำว่าเจ้านำหน้าในตำแหน่งชื่อ คำซึ่งเรียกว่าท้าวเป็นคำสำหรับยศในคนพวก ๑ ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษ ไม่มีกำหนดว่ากี่คนหรือเพียงใด เพราะว่าบุตรหลานของผู้ที่เป็นเจ้าเมืองที่เป็นชายมีกี่คน หรือบุตรหลานอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ที่เป็นผู้ชายมีกี่คน ก็เรียกว่าท้าวทั้งสิ้น คำว่าท้าวเป็นคู่กันกับคำที่เรียกว่านาง คำที่เรียกว่านาง เป็นยศสำหรับเรียกผู้หญิงซึ่งเป็นบุตรหรือหลานของเจ้าเมืองและอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรเพราะฉนั้นคำที่เรียกว่าท้าวและเรียกว่านางจึงไม่มีกำหนดว่ามากน้อยเท่าใด เป็นตำแหน่งพิเศษสำหรับประเทศบ้านเมืองซึ่งเป็นเมืองเล็กน้อย ถ้าเป็นเมืองประเทศราช บุตรชายหญิงหรือหลานชายหญิงของเจ้าผู้ครองเมือง และเจ้าอุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร ก็เรียกชื่อมีคำว่าเจ้านำหน้าชื่อทั้งชายหญิง เหมือนดังเรียกบุตรชายเจ้านครจำปาศักดิ์คนหนึ่งว่าเจ้าหยุย และเรียกบุตรหญิงคน ๑ ว่าเจ้านางกอง เป็นต้น ก็ถ้าจะกล่าวถึงราษฎรสามัญ ลูกชายเรียกว่าอ้าย ลูกหญิงเรียกว่าสาว เหมือนดังเรียกว่าอ้ายคำภา สาวที เป็นต้น ตำแหน่งกรมการสำหรับเมือง นอกจากตำแหน่งที่เรียกชื่อทั้ง ๑๖ นั้น ยังมีตำแหน่งพิเศษออกไปอิกหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งพิเศษเหล่านั้น จะตั้งขึ้นก็ได้ หรือมิตั้งขึ้นก็ได้ เหมือนดังตำแหน่งเพียนามเสนา เพียมหาเสนา เพียจันทรฮส เพียซามาตย์ เพียซานุชิต เพียแก้วดวงดี เพียสุวรรณไมตรี เพียอรรควงษ์ เพียเนตวงษ์ เพียนามวงษ์ เพียวุฒิวงษ์ เหล่านี้เรียกว่าตำแหน่งพิเศษ สำหรับเป็นผู้ช่วยราชการในหน้าที่ต่างๆในเจ้าเมืองหรืออุปฮาดราชวงศ์ราชบุตร ตลอดเมืองแสนเมืองจันท์ ตำแหน่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาในเบื้องต้นนี้ เป็นตำแหน่งสำหรับเมือง ส่วนตำแหน่งสำหรับบ้านและหมู่บ้านยังมีอิกคือเรียกว่า ท้าวฝ่าย ตรงกับคำว่าอำเภอตำแหน่ง ๑ เรียกว่าตาแสง ตรงกับคำว่านายแขวงตำแหน่ง ๑ เรียกว่ากำนัน ตรงกับคำว่าผู้ใหญ่บ้านตำแหน่ง ๑ และมีตำแหน่งที่เรียกว่าจ่าสำหรับเป็นผู้ช่วยในกำนันในบ้านหนึ่ง ๆ มีตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปจนถึง ๔ คน และ ๖ คนตามบ้านน้อยและบ้านใหญ่ ความประสงค์ที่จะให้มีตำแหน่งเหล่านี้ และมีการสำหรับทำธุระในหน้าที่ต่างๆซึ่งมีอยู่สำหรับประเทศบ้านเมืองนั้น จะได้อธิบายในข้างหน้าต่อไป (อธิบายชื่อตำแหน่งต่างๆ) อุปราชหรืออุปฮาด คุณศัพท์ ในชื่อนี้แปลความว่าเป็นผู้ได้รับอำนาจและสมบัติกึ่งหนึ่ง “อุปฮาด” ศัพท์นี้เดิมก็จะเป็นอุปราชอย่างเดียวกัน แต่ภาษาราษฎรภาคอีศานใช้สำเนียง “ร” เป็นสำเนียง “ฮ” ไปเสีย เพราะฉนั้นคำว่าราชจึงกลายเป็น “ฮาด” ไปตามสำเนียงภาษาราษฎรภาคอีศาน ถ้าฉนั้นเมื่อจะเขียนคำว่า “ฮาด” ก็ควรใช้ตัว “ช” สกดให้คงรูปเดิมไว้จึงจะเป็นการสมควร คือควรเขียนคำว่าอุปฮาดเป็นอุบฮาช ดังนี้ ราชวงศ์แปลว่าเชื้อแถวของเจ้าเมือง ราชบุตร แปลว่าลูกของเจ้าเมือง เมื่อเล็งดูคุณศัพท์ในนามทั้ง ๒ นี้ ก็เห็นว่าเดิมตำแหน่งทั้ง ๒ นี้ คงจะเป็นคนที่เป็นเชื้อสายและลูกเต้าเหล่ากอของเจ้าเมืองนั้นเอง ไม่ใช่คนมาแต่อื่นที่จะได้รับตำแหน่งนี้ หรือบางทีตำแหน่งที่เรียกว่าราชวงศ์และราชบุตรนี้ เดิมเห็นจะเป็นเชื้อวงศ์หรือลูกเต้าของเจ้าผู้ครองเมืองใหญ่ให้มาเป็น เพื่อจะได้กำกับราชการในบ้านเมืองดอกกระมัง จึงสมกับชื่อว่า ราชวงศ์ และราชบุตร ในคำอธิบายนี้บางทีก็จะคัดค้านได้อิกว่า ธรรมดาเมืองขึ้นของเมืองใหญ่ทั้งหลายใช่ว่ามีแต่น้อยตำบลหามิได้ ย่อมมีมากตั้ง ๔๐ หรือ ๕๐ ตำบลขึ้นไป ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งเป็นราชวงศ์และราชบุตร มิต้องมีมากให้ครบหัวเมืองขึ้นทั้งหมดนั้นหรือ ก็จะตอบได้ว่าคงจะไม่มีครบทั้งหมดทุกหัวเมืองได้ เพราะตามความเข้าใจว่าเจ้าผู้ครองเมือง ๆ หนึ่งคงจะไม่มีลูกชายมากตั้ง ๕๐ คน อย่างมากก็จะมีได้เพียง ๒๐ คน เมื่อการเป็นดังนี้จึงว่าผู้ที่ได้รับตำแหน่งที่เรียกว่าราชวงศ์และราชบุตรนั้น แม้ถึงจะเป็นเชื้อวงศ์และลูกเต้าของเจ้าผู้ครองเมืองใหญ่ก็ดี มิใช่ก็ดีก็คงจะเป็นได้ ถ้าเช่นนั้นคำที่เรียกชื่อตำแหน่งว่าราชวงศ์และราชบุตรนั้น หากจะเป็นคุณนามบัญญัติเพื่อความดีความชอบของคนผู้มีวุฒิอันสมควรจึงจะได้รับตำแหน่งเช่นนี้ ความประสงค์เดิมคงจะเป็นอย่างนี้ดอกกระมัง ในคำอธิบายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการคาดคเน มิใช่ว่าได้พบเห็นแบบแผนตัวอย่างในที่หนึ่งที่ใดก็หามิได้ อาศัยคุณศัพท์ในตำแหน่งชื่อทั้งสองที่ได้อธิบายมาในเบื้องต้นนี้เป็นสำคัญ แล้วก็อนุมัติอธิบายตาม เพื่อจะค้นหาความจริงต่อไป ตำแหน่งรองลงไป ๑๒ ตำแหน่งนั้นมีชื่อต่างๆ เหลือที่จะค้นหาเค้าเงื่อนได้ แต่มีชื่อนำหน้าคำเดียวด้วยกันทั้งสิ้น ชื่อนำหน้านั้นคือ “เพีย” คำว่าเพียนี้แปลไม่ได้ความ คำว่าเพียนี้ บางทีเดิมจะเป็น “เพรีย” ดังนี้ดอกกระมัง เพราะภาษาราษฎรภาคอีศานมักไม่ใช้คำที่เป็นอักษร “ควบ” เหมือนดังคำว่าโกรธ ก็อ่านว่าโกธ ดังนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเช่นนั้นคำว่า “เพีย” ซึ่งว่าจะเป็น “เพรีย” ก็จะแปลได้ความวว่า “ผู้มีเพียร” หรือจะเป็นเพียร์ แปลว่าผู้มีเพียรก็จะได้ เพราะภาษาไทยใช้คำว่า เพียรซึ่งเป็นคำแปลงมาจากภาษาบาลี คือ “วีระ” เป็น “พีระ” แผลงไปเป็นเพียรก็ได้ความ ถ้า “พิริยะ” แผลงเป็น “เพรีย” คืออักษร พ, และ ร, ควบเป็นสำเนียงเดียวกันก็ได้ เพราะคำว่าพิริยะ ถ้าอ่านสำเนียงเร็วเข้าก็อาจจะกลายเป็นเพรียไปได้ แต่ยังไม่เห็นที่มาเป็นตัวอย่างในที่ใดที่หนึ่งเลย คำอธิบายนี้เป็นแต่พูดหันหามูลเหตุเดิม ด้วยเห็นว่าจะเป็นดังนี้ อนึ่งคำว่า “เพีย” นี้ ภาษาไทยมักใช้อ่านเป็นเสียงเพี้ยนไป คือใช้คำว่า “เพีย” เป็น “เพี้ย” ดังนี้ เติมไม้โท ( ้) เข้า ที่จริงไม่ถูกตามสำเนียงภาษาราษฎรภาคอีศานเลย โดยเหตุผลดังได้อธิบายมาแล้ว อธิบายคำว่า “เพีย” นี้เป็นแต่ส่วนคาดคเนหมายว่าจะเป็นดังนี้ เมื่อจะถูกต้องตามที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ก็จะเป็นการดี ถ้าพลาดจากความประสงค์เดิมไปแต่อย่างใด ข้าพเจ้าผู้อธิบายก็เป็นอันยอมตาม ด้วยไม่พบที่มาในแห่งใดในแบบแผนอันใดเลย

อำนาจของผู้มีหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรทั้ง ๔ ตำแหน่งนี้ ย่อมมีอำนาจที่จะทำการตามหน้าที่ของตนดังนี้ คือเจ้าเมืองเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาด ในการที่จะตั้งและบังคับกรมการทั้งปวง หรือในกิจสุขทุกข์ของราษฎรทั่วไปบรรดาที่อยู่ในแว่นแคว้นแดนเมืองนั้น หรือผู้ที่มาแต่อื่น หากมีการเกี่ยวข้องแก่คนหรือสิ่งของพัสดุทั้งปวง ที่เกิดขึ้นในแว่นแคว้นแดนเมืองนั้น หรือสรรพคดีทั้งหลายที่เกิดมีแก่ราษฎรในถิ่นฐานบ้านเมือง หรือมาแต่ที่อื่น อุปฮาดมีหน้าที่สำหรับทำการแทนเมื่อเจ้าเมืองป่วยหรือมีที่ไป หรือไม่มีตัวเจ้าเมืองด้วยเหตุที่ตายไป หรือด้วยเหตุที่ต้องราชทัณฑ์ถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือแก่ชราอายุมาก ในเหตุเหล่านี้อุปฮาดต้องเป็นผู้แทนทั้งสิ้น เมื่ออุปฮาดได้รับหน้าที่แทนผู้ว่าราชการเมืองเพียงใด ย่อมได้รับอำนาจบังคับการสิทธิขาดเต็มเหมือนดังเจ้าเมืองได้บังคับมาแต่ก่อนเพียงนั้น ถ้าและเจ้าเมืองยังมีตัวอยู่หรือไม่มีกิจไปแห่งใด หรือไม่เจ็บป่วยอุปฮาดก็มีหน้าที่และอำนาจตามตำแหน่งของตน คือสำหรับเป็นหัวหน้าในการปรึกษาหารือความขัดข้องของกรมการตำแหน่งรองลงไป เมื่อไม่ปรองดองตกลงประการใด จึงต้องหารือต่อเจ้าเมืองซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ ราชวงศ์ย่อมเป็นผู้แทนอุปฮาด เหมือนตั้งอุปฮาดได้ว่าการแทนเจ้าเมือง อำนาจและหน้าที่อันใดซึ่งอุปฮาดได้บังคับอยู่ก่อนเพียงใด ราชวงศ์ก็ได้รับและทำได้เต็มทุกอย่างเหมือนตัวอุปฮาด ราชบุตรก็เป็นผู้สำหรับทำการแทนราชวงศ์ ได้ทุกอย่างเหมือนดังราชวงศ์ได้รับการแทนอุปฮาด อำนาจเจ้าเมืองดังที่กล่าวมานี้ ไม่สิทธิขาดได้ในการบางอย่าง เช่นตัดสินลงโทษแก่ผู้ร้ายอย่างฉกรรจ์ คือต้องตัดศีร์ษะเป็นต้น หรือการเกี่ยวข้องด้วยเขตต์แดน การทัพศึกสงครามหรือการตั้งแต่งกรมการผู้ใหญ่ ตั้งแต่อุปฮาดลงมาจนถึงราชบุตรเป็นที่สุด หรือไม่อาจถอดถอนได้เอง การสำคัญเช่นนี้ต้องแแล้วแต่เมืองใหญ่จะสั่งมาประการใดจึงจะทำตามได้ นอกจากที่ยังไม่ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่เมืองใหญ่แล้ว การเหล่านี้ก็เป็นอันทำเองไม่ได้แท้ทีเดียว แม้นอุปฮาดเมื่อได้ทำการแทนเจ้าเมือง ก็บังคับการใหญ่เช่นนี้ไม่ได้เลย นอกจากได้รับคำสั่งจากเมืองใหญ่เป็นสำคัญ อนึ่งอำนาจของเจ้าเมืองอาจจะแต่งตั้งกรมการผู้น้อยได้ทั้ง ๑๒ ตำแหน่ง คือเมืองแสนเมืองจันท์เป็นต้น โดยไม่ต้องบอกกล่าวเมืองใหญ่ก็ได้ และอาจจะถอดถอนกรมการตำแหน่งน้อยเหล่านี้ได้ทั้งสิ้นตลอดถึงท้าวฝ่ายตาแสงกำนันจ่าบ้านทั้งปวง เจ้าเมืองก็อาจตั้งแต่งและถอดถอนได้ทั้งนั้น อนึ่งอุปฮาดก็ดี ราชวงศ์และราชบุตรก็ดี ทั้งสามคนนี้ก็อาจตั้งแต่งและถอดถอนเมืองแสน เมืองจันท์ ตลอดถึงท้าวฝ่ายตาแสงกำนันจ่าบ้านได้เหมือนกับเจ้าเมือง แม้จะเป็นผู้แทนเจ้าเมืองหรือโดยปกติก็ดี ก็ตั้งและถอดได้เหมือนกัน เพราะว่ากรมการตำแหน่งเล็กน้อยเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ในบังคับหัวหน้า คือ ๔ ตำแหน่งนี้ทั้งสิ้น อนึ่งกำนันหรือจ่าบ้านแม้เมืองแสนเมืองจันท์จะตั้งแต่งขึ้นก็ได้ เพราะว่าเป็นกรมการสำหรับรักษาหมู่บ้าน เหมือนดังผู้ใหญ่บ้านและอำเภอที่มีอยู่ในกรุงเทพฯนี้ อนึ่งหัวหน้าใหญ่ทั้ง ๔ ตำแหน่งหรือหัวหน้ารองลงมาอีก ๑๒ ตำแหน่งนี้ อาจออกหนังสือเดินทางให้แก่ราษฎรที่อยู่ในแว่นแคว้นของตน เมื่อจะไปมาค้าขายต่างเมือง หรือตัดสินคดีราษฎรบรรดาทีขึ้นอยู่ในแว่นแคว้นของตน และอาจปราบปรามโจรผู้ร้ายซึ่งเกิดขึ้นในเขตต์แขวงของตน

ธุระในหน้าที่ตำแหน่งต่างๆเจ้าเมืองมี่หน้าที่สำหรับเป็นธุระดูแลสรรพกิจสุขทุกข์ของราษฎรทั่วไปตลอดเขตต์แขวงของตน เป็นธุระในสรรพผลประโยชน์ของบ้านเมือง และผลประโยชน์ของราษฎรทั่วไป และความเสื่อมเสียผลประโยชน์ของบ้านเมืองและราษฎรทั่วไป เป็นต้นว่าฝนแล้งข้าวแพง ต้องคดีมีโทษหรือเบียดเบียนกัน หรือเกี่ยวข้องแก่คนต่างแขวงต่างเมือง และเป็นธุระดูแลในการที่จะตัดสินสรรพคดีน้อยใหญ่ของราษฎรที่อยู่ในเขตต์แขวง เป็นธุระดูแลรับผิดและรับชอบในการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ของเขตต์แขวงบ้านเมือง เป็นธุระสอดส่องตรวจตราด่านทาง ระวังโจรผู้ร้ายศัตรูหม่ปัจจามิตรจะกร้ำกรายมาเบียดเบียนราษฎรในอาณาเขตต์ของท่าน เป็นธุระตรวจตราส่วยสาอากรส่งแก่เจ้ากระทรวงใหญ่ในเมืองหลวง เป็นธุระที่จะทำรายงานคือใบบอกส่งข่าวคราวสารทุกข์ของราษฎร หรือข่าวคราวของผลประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่ได้และเสีย เช่นฝนดีและฝนแล้ง ราคาข้าวปลาอาหาร หรือสินค้าถูกและแพงเป็นต้น ต่อเจ้าพนักงานใหญ่ในเมืองหลวง เป็นธุระดูแลในการที่จะส่งข่าวคราวการศึกสงครามที่รุกล้ำมาใกล้เขตต์แตน ต่อเจ้าพนักงานใหญ่ในเมืองหลวงให้ทราบโดยเร็ววัน เป็นธุระดูแลในการจับกุม หรือปราบปรามโจรผู้ร้ายมิให้เบียดเบียนแก่ราษฎรในเขตต์แขวง อุปฮาดมีธุระในตำแหน่งหน้าที่ คือเป็นผู้รวบรวมสรรพบัญชีส่วยสาอากรที่ขึ้นแก่เมือง เป็นผู้รวบรวมบัญชีสำมะโนครัวตัวเลขสมสังกัดพรรค์สำหรับเมือง เป็นผู้เร่งรัดกรมการในตำแหน่งรองให้เก็บส่วยสาอากรแก่ราษฎรมารวบรวมส่งเจ้าพนักงานผู้ใหญ่ในเมืองหลวง มิให้คั่งค้างล่วงงวดล่วงปี เป็นผู้ออกประกาศสั่งเกณฑ์พลเมืองทำการทหารในคราวที่มีทัพศึกสงคราม เป็นผู้รับธุระหารือราชการงานเมืองของกรมการผู้น้อย เป็นผู้รับอำนาจแทนเจ้าเมืองเมื่อไม่มีตัว เป็นผู้แนะนำตักเตือนกรมการผู้น้อยให้ทำตามหน้าที่ทั่วไป ราชวงศ์และราชบุตร ๒ ตำแหน่งมีราชการเดียวกัน คือถ้าราชวงศ์เป็นผู้ควบคุมไพร่พลไปในการทัพศึกสงครามในบางคราว ราชบุตรก็เป็นผู้ส่งสะเบียงอาหารและกระสุนดินดำสรรพเครื่องยุทธ ทั้งเกณฑ์พลไพร่เพิ่มเติมเสมอไป ถ้าราชบุตรเป็นผู้ควบคุมพลไพร่ไปในการทัพศึก ราชวงศ์ก็เป็นผู้ส่งสะเบียงอาหารและกระสุนดินดำ ทั้งเครื่องสรรพยุทธและเกณฑ์พลไพร่เพิ่มเติมเหมือนกัน ถ้าการปรกติ ราชวงศ์หรือราชบุตรย่อมเป็นผู้นำเงินส่วยส่งเจ้าพนักงานใหญ่ในเมืองหลวงตามงวดเปลี่ยนกันทั้ง ๒ คน อนึ่งหน้าที่ราชวงศ์และราชบุตรเป็นผู้ควบคุมไพร่พลเมืองซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ ที่ควรนับว่าเป็นพลทหารสำหรับเมืองซึ่งมีบัญชีอยู่ในมือของตน ทั้ง ๒ ตำแหน่งนี้เหมือนดังเป็นแม่ทัพสำหรับเมือง อนึ่งราชวงศ์และราชบุตร ย่อมเป็นผู้ช่วยราชการในเจ้าเมืองและอุปฮาดในเวลาที่เป็นปรกติเสมอไป เมืองแสนเมืองจันท์ ๒ ตำแหน่งนี้ เป็นผู้มีราชการประจำหน้าที่ คือสำหรับออกหนังสือเดินทางแก่ราษฎรที่จะไปมาต่างเขตต์แขวงด้วยกิจมีการค้าขายเป็นต้น เป็นผู้แต่งรายงานคือใบบอกเรื่องราชการงานเมือง ที่จะส่งไปเมืองหลวง เป็นตุลาการสำหรับพิพากษาตัดสินคดีของราษฎร เป็นธุระในการที่จะเกณฑ์ราษฎรทำ ทำเนียบสำหรับรับข้าหลวงไปมาด้วยราชการต่างๆ เป็นธุระในการที่จะจัดการรับรองข้าหลวงไปมาด้วยราชกิจทั้งปวง เป็นธุระดูแลในการที่จะจัดแจงว่ากล่าวบังคับท้าวฝ่ายตาแสงกำนันจ่าบ้านให้ดูแลลูกบ้านพลเมืองไม่ให้มีการกดขี่ข่มเหงกัน และติตตามจับกุมโจรผู้ร้ายที่เกิดขึ้นในแว่นแคว้นแดนเมือง หรือหนีมาแต่บ้านอื่นเมืองไกล เป็นผู้ดูแลการในเมืองทั่วไป เหมือนดังกรมเมืองในเมืองหลวง เป็นผู้เก็บรักษาเครื่องอาวุธสำหรับบ้านเมือง เมืองขวาเมืองซ้ายเมืองกลาง ๓ ตำแหน่งนี้มีราชการประจำหน้าที่ คือรักษาบัญชีคนโทษและดูแลคนโทษ และรับคำสั่งให้ปล่อยหรือให้ขังนักโทษ เป็นผู้รับคำสั่งให้จัดทำที่ขังนักโทษหรือซ่อมแปลง และดูแลวัดวาอารามควรจะปฏิสังขรณ์หรือรื้อสร้างขึ้นใหม่ เป็นผู้กำกับในการที่จะสักเลขและรักษาบัญชีเลขเขยสู่ต่างเมืองเป็นต้น เมืองคุก เมืองฮาม ๒ ตำแหน่งนี้ เป็นผู้คุมกำกับตรางขังนักโทษ เป็นธุระในการที่จะเฝ้าระวังนักโทษมิให้หนีไปเป็นต้น นาเหนือ, นาใต้, ๒ ตำแหน่งนี้มีราชการประจำหน้าที่คือจัดหาข้าวขึ้นไว้ในยุ้งฉางสำหรับเป็นกำลังแก่ราชการบ้านเมืองมีการทัพศึกและเลี้ยงข้าหลวงไปมาเป็นต้น เป็นผู้ออกเดินเก็บส่วยแกราษฎรตลอดเขตต์บ้านเมือง และออกไปเที่ยวเก็บเงินเลขเขยสู่ซึ่งไปมีภรรยาอยู่ต่างเมือง เรียกว่า “เดินทุ่ง” การเก็บเงินส่วยแก่พลเมืองหรือที่เรียกว่าเขยสู่นี้ ย่อมเก็บทุกปีมิได้ละเว้น เป็นผู้ออกไปทำสำมะโนครัวแก่ไพร่บ้านพลเมืองตลอดเขตต์แขวงในชั่ว ๓ ปีต่อครั้งหนึ่ง เป็นพนักงานจับกุมควบคุมรักษาสัตว์พาหนะจำพลัดและเป็นพนักงานสำหรับแทงจำหน่ายเลขรายหนีและตาย ชรา พิการ อุปสมบท ตามที่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้า คือเมืองแสนเมืองจันท์ ซาเนตร, ซานนท์, ๒ ตำแหน่งนี้ เป็นเสมียนของเมืองแสนเมืองจันท์ แล้วแต่หัวหน้าจะใช้ เป็นผู้ช่วยในเมืองแสนเมืองจันท์ ในการพิพากษาตัดสินคดีของราษฎรทั่วไป ซาบัณฑิต, เป็นพนักงานที่จะอ่านท้องตราที่ส่งไปแต่เมืองใหญ่ และอ่านประกาศคำสั่งของเจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ ในเวลาประชุมที่ศาลากลาง และอ่านประกาศแช่งน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาธิฐานและทำประกาศตั้งชื่อหัวครูสำหรับเมืองและประกาศตั้งชื่อกรมการผู้น้อย บรรดาที่เจ้าเมืองหรืออุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ได้ตั้งแต่ง เป็นผู้รวมบัญชีรายงานการต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่สำหรับบ้านเมือง เป็นผู้ทำการคำนวณศักราชปีเดือนสำหรับปีหนึ่งๆ เหมือนประกาศ์สงกรานต์ที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯนี้

หน้าที่กรมการสำหรับแขวง ท้าวฝ่ายตาแสงมีหน้าที่สำหรับทำการคือรับรายงานโจรผู้ร้ายหรือรายงานการผลประโยชน์สำหรับประเทศบ้านเมือง คือน้ำฝนต้นข้าวถั่วงา และราคาข้าวเปลือกข้าวสารและถั่วงาและรายงานสัตว์พาหนะเจริญหรือเสื่อมเพราะโรคภัยไข้เจ็บสำหรับสัตว์ จากกำนันและจ่าบ้านส่งต่อเมืองแสนเมืองจันท์ซึ่งเป็นหัวหน้าและรับประกาศบัญญัติหรือคำสั่งใด ๆ จากหัวหน้าไปประกาศ และแจ้งแก่กำนันจ่าบ้านให้ป่าวร้องให้ราษฎรรู้ทั่วและทำตาม กำนันและจ่าบ้านเป็นผู้เอาใจใส่ดูแลราษฎรคอยระวังโจรผู้ร้าย และตรวจตราดูไร่นาการค้าขาย และทำรายงานยื่นต่อท้าวฝ่ายตาแสงตามธรรมเนียม และป่าวร้องราษฎรให้ระวังรักษาโคกระบือมิให้ปล่อยปละละเลย เมื่อเวลากลางคืนในเทศกาลที่ประชาชนได้หว่านกล้าดำนาแล้ว ต่อเมื่อราษฎรทั้งหลายทุกๆแขวงเกี่ยวข้าวขึ้นลานแล้วจึงจะปล่อยได้ ถึงเทศกาลที่จะทำบุญให้ทานเป็นการปี เช่นบุญบั้งไฟและบุญข้าวจี่เป็นต้น ย่อมเป็นผู้ป่าวร้องราษฎรในบ้านให้ไปประชุมปรึกษาหารือ ให้ตกลงว่าจะรับเชื้อเชิญให้บ้านอื่นมาประชุมได้เท่าใด ถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ป่าวร้องราษฎรบรรดาที่อยู่ในบ้านให้พากันไปทำพลีกรรม บวงสรวงแก่ผีปู่ตาตามจารีตโบราณ ถ้ามีการจำเป็นสิ่งใดเกิดขึ้น เหมือนดังราษฎรในหมู่บ้านเกิดป่วยไข้ และจะทำการสวดพิธีขับไล่ผีสาง กำนันและจ่าบ้านย่อมเป็นผู้ป่าวร้องราษฎรให้ไปประชุมกันที่วัดหรือที่ใดๆ ทำพิธีไล่ผี และทำประกาศห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งอยูต่างบ้านต่างแขวงล่วงเลยเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้านที่ทำพิธีนั้นในชั่ว ๓ วันหรือ ๗ วัน ทำเป็นป้ายจารึกอักษรว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาในตาเหลวกรุยนี้” ดังนี้ ถ้ามีการที่จะต้องสั่งข้าหลวงไปมา ณ ที่ใด ๆ อันบ้านอื่นเขานำหาบมาส่ง ก็เป็นธุระหน้าที่ของกำนันและจ่าบ้านเรียกเกณฑ์ราษฎรชายหญิงให้นำหาบไปส่งบ้านอื่นต่อไป กว่าจะพ้นเขตต์บ้าน และเป็นธุระดูแลกะเกณฑ์ราษฎรให้จัดหาข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงข้าหลวงตลอดเวลาที่พักอยู่ในหมู่บ้านของตน เกณฑ์ราษฎรให้เฝ้าระวังรักษาสิ่งของ และสรรพอันตรายที่จะพึงมีแก่ข้าหลวงในเวลากลางคืน ตลอดคราวที่พักอยู่บ้านของตน ถ้าราษฎรชายหญิงบรรดาที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นเกิดถ้อยความเล็กน้อย คือชกตีวิวาทกัน ไม่ถึงแตกหักและไม่ถึงตาย ก็เป็นหน้าที่ของกำนันและจ่าบ้านได้ชำระว่ากล่าวเปรียบเทียบตัดสินให้เลิกแล้วแก่กันโดยเร็ว คราวใดมีกรมการในเมืองออกไปจัดการเก็บส่วยแก่ราษฎรในบ้านของตน กำนันและจ่าบ้านย่อมเป็นธุระป่าวร้องราษฎรให้ไปเสียส่วยแก่กรมการตามเคยหรือบางคราวกรมการในเมืองออกไปสักเลข ก็เป็นหน้าที่ของกำนันและจ่าบ้าน บังคับให้ราษฎรที่สมสักให้ไปสัก ถ้าโคหรือกระบือ ช้าง ม้า, จำพลัดมีอยู่ในบ้านหรือเขตต์แขวงตนเท่าใด ก็เป็นหน้าที่ของกำนันและจ่าบ้านระวังรักษาไว้ส่งแก่ท้าวฝ่ายตาแสงให้ส่งเข้าไปในเมือง สำหรับเป็นพาหนะของบ้านเมืองต่อไป การที่กำนันและจ่าบ้านเกณฑ์ราษฎรชายหญิงส่งหาบข้าน้ำคนหลวง หรือเกณฑ์ผู้ชายให้นอนเวรเฝ้าข้าน้ำคนหลวงซึ่งไปถึงบ้านหรือแขวง และเกณฑ์ให้ทำทำเนียบสำหรับรับข้าน้ำคนหลวงนั้นดังนี้ คือถ้าคราวนี้ได้เกณฑ์เรือนใดไปส่งหาบหรือนอนเฝ้าเวรผลัดเปลี่ยนกันไปคราวละ ๓ หรือ ๔ หลังเรือน บางทีถึง ๑๐ หลังเรือนก็มี ถ้าพวกไหนถูกเกณฑ์คราวนี้แล้ว คราวหน้าต้องยกเว้นพวกนั้น เปลี่ยนกันไปกว่าจะครบหลังเรือน ถ้าครบหลังเรือนแล้วก็วกมาจับต้นไปใหม่ การที่เกณฑ์นี้มีที่ยกเว้นอยู่อีก คือเรือนใดเป็นกรมการผู้ใหญ่หรือเป็นตัวตาแสงกำนันจ่าบ้าน เรือนเหล่านี้ต้องเว้นไม่ถูกเกณฑ์ เพราะมีหน้าที่รับธุระเรียกร้องกะเกณฑ์ผู้อื่นเสียแล้ว เครื่องสำหรับเกณฑ์นั้น เขาเอาไม้ไผ่สีสุกที่ตัดหัวท้ายขังข้อมาปล่อง ๑ เขียนหนังสือข้อบังคับสำหรับบ้านไว้รอบปล้องไม้ไผ่นั้น ถ้าถึงเวรใครกี่คน จ่าบ้านต้องนำปล้องไม้ไผ่นั้นไปให้ผู้นั้นอ่าน ให้รู้ว่าตนต้องถูกเกณฑ์จนทั่วทุกคน ไม้เครื่องหมายเกณฑ์นี้ เขาเรียกว่า “บั้งเวร” การกะเกณฑ์ราษฎรเช่นนี้ย่อมเป็นราชการส่วนหนึ่งของกำนันและจ่าบ้าน ราษฎรทั้งหลายก็ย่อมทำตามข้อบังคับมิได้ขัดขืนเลย ที่กล่าวมาแต่ต้นจนที่สุดนี้ เรียกว่าตำแหน่งผู้ปกครอง และราชการในหน้าที่ของผู้อยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ ก็แต่กฎหมายสำหรับใช้ในการปกครอง ซึ่งเป็นดั้งเดิมของประเทศราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกทั้งหลาย ได้ใช้สืบมาแต่โบราณนั้น จะเสื่อมสูญหกหายไปอย่างไรหาทราบไม่ ในการทุกวันนี้ก็คงใช้กฎหมายพิมพ์สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ทั่วพระราชอาณาเขตต์นั้น แต่ถึงกระนั้นก็ดี กฎหมายสำหรับประเทศราษฎรภาคอีศานตั้งแต่โบราณ ก็ยังมีเค้าเงื่อนอยู่บ้างเล็กน้อย และคงใช้อยู่ในการปกครองบางอย่างดังจะนำมากล่าวไว้ ในที่นี้ พอเป็นตัวอย่างต่อไป

ประเวณีปาลกะธรรม ชายใดหนุ่มหรือปานกลางหรือแก่ มีภรรยาแล้วก็ดี หาภรรยามิได้ก็ดี ทำการล่วงเกินแก่หญิงสาวก็ดีหม้ายก็ดี เป็นต้นว่าจับข้อมือหรือมวยผม เรียกว่าละเมิด ต้องปรับให้หาดอกไม้ธูปเทียนไปแปลงผีและขอขมาโทษแก่พ่อแม่หรือพี่ป้า, น้า, อา, อาวของหญิงจึงจะชอบ หรือชายทำการล่วงเกินแก่หญิง เป็นต้นว่าจับต้องเต้าถันชื่อว่าละเมิดรบิลเมืองท่าน ต้องปรับให้เสียเงินกึ่งตำลึงแก่พ่อแม่หรือพี่, ป้า, น้า, อา ,อาว, หญิง และให้หาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาโทษด้วยจึงจะชอบ หรือชายทำการล่วงเกินแก่หญิงจนถึงร่วมประเวณี ได้ชื่อว่าละเมิดรบิลเมืองท่าน ต้องปรับให้เสียเงินห้าบาทแก่พ่อแม่หรือ พี่ ป้า, น้า, อา, อาว หญิง และให้หาดอกไม้ธูปเทียนไปแปลงผี และขอขมาโทษด้วยจึงจะชอบ หรือชายใดทำการล่วงเกินแก่หญิง คือร่วมประเวณีจนถึงหญิงนั้นมีครรภ์ ถ้ารับสมอ้างตามคำของหญิง ต้องปรับให้เสียเงินสามตำลึงแก่เจ้าเมืองกรมการเป็นค่าละเมิดรบิลเมืองท่าน และทั้งเสียเงินอีกห้าบาทให้แก่พ่อแม่หญิง เป็นค่าละเมิดอีกส่วนหนึ่ง ถ้าหญิงที่มีครรภ์นั้นคลอดบุตรออกมาเป็นอันตรายแก่ชีวิตด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเกี่ยวข้องแก่การคลอดบุตรภายใน ๓ เดือนเข้ามาต้องปรับให้ชายนั้นเสียเงินสิบสองตำลึงเท่าค่าตัวหญิงให้แก่พ่อแม่หญิง ถ้าหญิงนั้นคลอดบุตรออกมามิได้เป็นอันตรายแก่ชีวิตในภายใน ๓ เดือนนับตั้งแต่คลอดบุตรแล้วไป หรือหญิงนั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากภายใน ๓ เดือนออกไป ชายนั้นจึงไม่มีโทษในการเรื่องนี้ ชายใดขึ้นไปหลับนอนด้วยหญิงบนเรือนของหญิง และพอรุ่งสว่างชายนั้นก็ลงไปจากเรือนหญิงเสียโดยเหตุที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายยังมิได้พูดจาว่ากล่าวกันให้ปรองดอง คือว่ายังมิได้ยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชาย และยังไม่ได้มอบชายให้เป็นเขยของพ่อแม่หญิงเรียกว่า “ขูลง” ชื่อว่าละเมิด ต้องปรับให้ชายนั้นเสียเงินสิบบาท เป็นค่าละเมิดแก่พ่อแม่หญิง และให้หาดอกไม้ธูปเทียนไปแปลงผีเรือนและขอขมาโทษแก่พ่อแม่หญิงด้วย หญิงใดรักใคร่กันกับชายและรับของฝากชาย เป็นต้นว่าแหวนก็ดี เงินทองก็ดี หรือพัสดุที่มีราคาใดๆก็ดี โดยสองต่อสอง ภายหลังหญิงนั้นไปมีสามีอื่นโดยยังมิได้ส่งของฝากที่ตนได้รับไว้จากชายนั้น ได้ชื่อว่าละเมิด ต้องปรับไหมหญิงเท่าราคาของที่ตนรับไว้ และให้คืนสิ่งของนั้นเสียด้วย ถ้าของที่ตนรับได้นั้น แตกหักขาดเสียหรือสูญหายด้วยเหตุใดๆ ต้องปรับไหมหญิงนั้นซื้อหามาใช้ให้แก่ชายจงครบ หรือใช้เงินแทนสิ่งของที่เสียหายไปนั้นจงครบตามที่ตนรับไว้ ชายใดเป็นบุตรเขยท่านและด่าว่าล่วงเกินแก่บิดามารดาหรือพี่ ป้า, น้า, อา, อาว, หญิง หรือเฆี่ยนตีหญิงภรรยาของตน ชื่อว่าละเมิดรบิลเมืองท่าน ต้องปรับให้ชายนั้นหาดอกไม้ธูปเทียนขอขมาโทษแก่บิดามารดา พี่, ป้า, น้า, อา, อาว, หญิง ทั้งให้เสียเงินค่าเส้นผีตามราคาของที่เส่นนั้นด้วย ในส่วนโทษที่ชายผิดเมียท่านไม่มีกำหนดแน่นอนลงได้ สุดแต่เจ้าผัวจะร้องให้ปรับโทษเพียงใดก็ต้องปรับเพียงนั้น แต่คงไม่เกินกว่าหกตำลึงขึ้นไป

โยธายุตรกิจ ผู้หนึ่งผู้ใดจะกะที่ลงตัดฟันเป็นไร ต้องบากไม้หมายกรุยได้โดยรอบเป็นสำคัญ เมื่อพื้นที่มีเครื่องหมายอันผู้ใดได้กรุยได้โดยรอบแล้ว ที่นั้นต้องเป็นสิทธิแก่ผู้นั้นจนกว่าจะสิ้นคราวของที่ผู้นั้นปลูกสร้างลงไว้ หรือสิ้นฤดูที่ทำการเช่นนั้นแล้วไปจึงจะพ้นเขตต์ความหวงแหนของผู้ที่ได้บากไม้หมายกรุยไว้แต่เดิม ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปตัดฟันหรือก่อสร้างทับถมลงในพื้นที่ๆ เขาได้หมายกรุยไว้แล้วนั้น ได้ชื่อว่าละเมิด ต้องปรับให้เสียเงินหกสลึง และเหล้าไหหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่ง เป็นเบี้ยละเมิด เว้นแต่ผู้ที่บากไม้หมายกรุยหวงแหนที่ดินไว้เล้ว ปล่อยให้ล่วงเลยสิ้นงวดสิ้นปีไป ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดไปก่อสร้างตัดฟันทับถมลงในพื้นที่นั้นจึงจะไม่มีโทษ เพราะผู้หวงแหนแต่เดิมนั้นปล่อยให้ล่วงเลยจนสิ้นงวดสิ้นปีเสีย ผู้หนึ่งผู้ใดจะหวงแหนท้องทุ่งจะจับจองก่อสร้างเป็นทุ่งนา ต้องปักหลักหมายกรุยโดยรอบตลอดพื้นที่ๆ ตนต้องการ ถ้าทำดังนี้โดยรอบแล้ว ท้องทุ่งนั้นก็เป็นสิทธิแก่ผู้นั้น ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปจับจองทับถมลงในที่ ๆ เขาหมายกรุยไว้แล้วก็ชื่อว่าละเมิด ต้องปรับเหมือนอย่างดังพื้นที่ไร่ที่กล่าวมาแล้ว เว้นแต่ผู้ที่จับจองหมายที่จะทำนานั้น ปล่อยปละละเลยไวเกินกว่าสามปีขึ้นไป ผู้หนึ่งผู้ใดจะจับจองทับถมลงจึงจะไม่มีโทษ

ผึ้งรวงก็ดี ผึ้งที่อยู่ในโพรงไม้ก็ดี (ผึ้งโกน) หรือหนองน้ำวังปลาทีมีตัวปลาบริบูรณ์ก็ดี ถ้ามีผู้หวงแหนก็มีเฉลวปัก หรือมีกำหญ้ามัดหมายกรุยไว้เป็นสำคัญ ชื่อว่ามีผู้หวงแหนแล้ว ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลักลอบตัดฟันเอาไป หรือทอดแหทอดอวนในหนองน้ำในวังปลาที่เขาหวงแหนด้วยเครื่องหมายเป็นสำคัญไว้แล้ว ผู้นั้นนับว่าขโมย ย่อมมีโทษตามรบิลเมืองท่าน

สัตวารักษกิจ ผู้ใดมิได้ผูกช้างม้าโคกระบือ ในเวลากลางคืน หรือผูกแล้วแต่หลุดหลักแหล่งไป ในเทศกาลที่ราษฎรทั้งหลายลงมือตกกล้าดำนา กำหนดตั้งแต่เดือนหกข้างแรมไปจนเดือนอ้ายข้างขึ้น ถ้าช้างม้าโคกระบือนั้น ไปกินข้าวกล้าของผู้ใดในเวลากลางคืน ต้องปรับให้เจ้าของช้างม้าโคกระบือใช้กล้า และข้าวแก่เจ้าของเขาจงครบตามที่เสียไปมากและน้อยเท่าใด ถ้าข้าวมีท้องหรือออกรวงต้องปรับให้ใช้ข้าวเป็นเมล็ดหรือเป็นฟ่อนตามมากและน้อย ถ้าช้างม้าโคกระบือของผู้ใดมิได้ต้อนเข้าคอกระวังรักษาไว้ ในเวลาเทศกาลที่ต้องห้ามดังกล่าวแล้ว หรือระวังรักษาแต่หากว่าหลุดหลักแหล่งไปในเวลากลางคืน และไปเหยียบย่ำลานข้าวหรือกินเมล็ดข้าว หรือพังและชนกองข้าวของผู้ใด ต้องปรับให้เจ้าของช้างม้าโคกระบือนั้น ใช้ข้าวแก่ท่านตามที่เสียไปมากน้อยเท่าใด และปรับให้ทำขวัญข้าวของท่านด้วย คือไก่ตัว ๑ เหล้าแก้ว ๑ เป็นเครื่องบายศรีขวัญข้าว ถ้าช้างม้าโคกระบือของผู้ใดปล่อยปละมิได้ระวังรักษา หรือหลุดหลักแหล่งไปในเวลากลางคืนในเทศกาลที่ต้องห้าม และไปกินข้าวกล้าหรือเรือกสวนของผู้ใด ถ้าเจ้าของนาและเจ้าของสวนจับได้ เจ้าของมิได้ติดตามว่ากล่าวในกำหนด ๗ วันก็ดี เดือน ๑ ก็ดี ๓ เดือนก็ดี ช้างม้าโคกระบือนั้นเรียกว่า “จำพลัด” บรรดาช้างม้าโคกระบือที่เรียกว่าจำพลัด มีมากน้อยเท่าใด ต้องตกเป็นของเจ้าเมืองกรมการทั้งสิ้น ถ้าโคและกระบือเปลี่ยวของผู้ใดไปชนโคและกระบือของท่านที่ผูกได้ตัวที่ถูกชนนั้นตายกับที่ก็ดีหรือเป็นอันตรายเขาหักขาหักตาบอดก็ดี ถ้าตายต้องปรับให้เจ้าของโคและกระบือเปลี่ยวนั้น ใช้ค่าโคและกระบือของท่านที่ตายไปจงเต็มตามราคา ถ้าไม่ถึงตายเพียงแต่เขาหักขาหักตาบอด ก็ให้ทำราคาโคกระบือของท่านที่เจ็บเป็นสามส่วน ให้ใช้แต่ส่วนหนึ่ง คือเป็นต้นว่าราคาโคกระบือที่เจ็บนั้น ๓ ตำลึง ก็ให้ใช้แต่ตำลึงเดียว และปรับให้รักษาพยาบาลโคกระบือของท่านกว่าขาและเขาที่หักและตาที่บอดนั้นจะหาย ถ้าสุนักข์ของผู้ใดดุร้าย เที่ยวกัดลูกโคลูกกระบือของท่านตาย ก็ปรับให้เจ้าของใช้ราคาลูกโคลูกกระบือของท่านจงเต็ม ถ้าไม่ตายเป็นเพียงแต่อันตรายเล็กน้อย เช่นขาหักเขาหักตาบอดเป็นต้น ให้ทำราคาลูกโคลูกกระบือนั้นเป็นตามส่วน ยกเสียสองส่วนให้เจ้าของสุนักข์ ใช้แต่ส่วนหนึ่ง และให้รักษาพยาบาลกว่าลูกโคลูกกระบือของท่านจะหาย ถ้าเป็นสุนักข์พลัดมาหาเจ้าของมิได้ และมากัดลูกโคลูกกระบือของท่านตาย ก็เป็นภัยแก่เจ้าของลูกโคลูกกระบืออยู่เอง

กล่าวด้วยลักษณะกฎหมายธรรมเนียม สำหรับการปกครองราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกทั้งหลาย ซึ่งมีมาแต่โบราณนั้นพอเป็นเค้าเงื่อนแต่เล็กน้อย ข้าพเจ้าเข้าใจว่าลักษณะกฎหมายทั้งปวงในประเทศราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกแต่โบราณมานั้น คงจะมีมากมายหลายสิบส่วน อาศัยเหตุด้วยไม่มีผู้รวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ไว้จึงได้เสื่อมสูญขาดตอนจนจะไม่มีเค้าเงื่อนที่จะพาให้รู้ได้ ดังข้าพเจ้าได้กล่าวบรรยายมานี้ ฯ

----------------------------

เรื่องเงินของราษฎรภาคอีศาน

เงินที่ใช้อยู่ในประเทศราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออก ตั้งแต่โบราณมามีหลายชะนิด ตามที่ข้าพเจ้าเคยเห็น

เงินทั้งปวงเหล่านั้นมีกำหนดอัตราไม่ใคร่จะแน่นอนเหมือนอย่างอัตราที่เรียกว่า สลึง, เฟื้อง, ไพ, อัฐ, โสฬส, ซึ่งใช้อยู่ในประเทศสยามเราทุกวันนี้ การซึ่งอัตราเงินทั้งหลายไม่ได้กำหนดแน่นอนเป็นแบบเดียวกันได้นั้นข้าพเจ้าเห็นว่าราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกนี้ เป็นประเทศปลายพระราชอาณาเขตต์ของกรุงสยาม ห่างไกลจากพระมหานครเป็นอันมาก มนุษย์ซึ่งอยู่ในประเทศเหล่านี้ ไม่ใคร่จะได้ส้องเสพย์พบเห็นแบบแผนขนบธรรนเนียมสำหรับพระมหานครโดยมาก

อีกประการหนึ่งมนุษย์เหล่านี้ได้ไปมาค้าขายคบค้ากับพวกญวนบ้างพวกจีนฮ่อบ้าง การใช้เงินทองและแบบแผนอัตรากำหนดต่างๆกัน เมื่อผู้ใดทราบและคุ้นเคยแก่อัตราแบบแผนของพวกพ่อค้าชาติจีนฮ่อ หรือพวกพ่อค้าชาติญวน ผู้นั้นก็ใช้เงินตามอัตรากำหนดของจีนฮ่อและญวนตามที่ตนเข้าใจนั้น

เพราะฉะนั้นการใช้เงินของมนุษย์ ที่เป็นราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกจึ่งไม่มีกำหนดแน่นอนเป็นแบบเดียวกันลงได้ โดยบรรยายที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ กับอีกประการหนึ่งเงินทั้งหลายบรรดาซึ่งใช้อยู่ในประเทศราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกแต่โบราณมานั้น ผู้ใดมีความต้องการจะหล่อจะหลอม หรือจะทำเป็นรูปพรรณชะนิดใดใช้สอยมากน้อยเท่าใดก็ย่อมจะหล่อหลอมทำเป็นรูปพรรณใช้สอยได้ตามชอบใจ เมื่อเป็นดังนี้อัตรากำหนดในการที่จะใช้เงิน ตามที่เรียกกันว่าเฟื้อง, และสลึงเป็นต้นก็ย่อมกำหนดใช้เอาตามชอบใจ อันนี้ก็เป็นเหตุที่จะทำให้อัตราเงินไม่มีกำหนดเป็นแบบเดียวกันได้เหมือนกัน

เงินทั้งหลายทุก ๆ ชะนิดบรรดาที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นต้นคิด หลอมหล่อและตีเป็นรูปพรรณขึ้นแต่ครั้งไร เพราะเงินทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีที่หมายศักราชเดือนปีวันคืนและชื่อผู้ทำหรือตำบลที่ได้ทำเงินเหล่านี้ขึ้นทั้งประเทศที่เป็นอิสสรภกาพ ซึ่งได้ทำเงินเหล่านี้ขึ้นใช้สอย เพราะฉะนั้นก็เป็นอันรู้ไม่ได้ว่าผู้ใดทำแต่ครั้งไร, มาแต่ประเทศใดอยู่เอง

ถ้าว่าตามรูปพรรณที่คล้ายคลึงและคาดคเนเห็นๆว่าเงินทั้งหลายเหล่านี้คงจะได้ครูมาแต่ประเทศอานามคือญวนและมาจากประเทศจีนตอนปลายอาณาเขตต์ของจีน เช่นเมืองเสฉวนและเมืองหนองแสเป็นต้น

ด้วยเห็นตัวอย่างเงินแท่งเงินฮ่อเป็นต้น ซึ่งใช้มาแต่โบราณและยังปรากฏเป็นพยานอยู่ในเวลานี้เป็นอันมาก และเงินทั้งหลายเหล่านี้ในเวลานี้ราษฎรพลเมืองพ่อค้าทั้งหลายในประเทศชนชาติตะวันไม่ใคร่จะใช้จำหน่ายซื้อหาแลกเปลี่ยนกันเพราะได้ใช้เงินบาทและเหรียญสยามทั้งเบี้ยทองแดงซึ่งโปรดพระราชทานให้ใช้ตลอดพระราชอาณาเขตต์แล้วนั้นเป็นพื้นแม้นแต่ก่อนมา เงินบาทและเงินเหรียญสยาม ทั้งเบี้ยทองแดงด้วยนั้นก็โปรดพระราชทานให้ใช้ตลอดพระราชอาณาเขตต์มานมนานแล้ว แต่หากว่าเงินเหล่านี้มีไปไม่ทั่วถึง ถึงจะมีบ้างก็แต่เล็กน้อยไม่เพียงพอแก่ความประสงค์จับจ่ายแลกเปลี่ยนซื้อหาแก่กันและกัน จึงจำเป็นต้องเอาเงินของมนุษย์ที่เป็นชาติญวนชาติจีนฮ่อ มาใช้สอยเจือจานทั่วไปตลอดประเทศชนชาติตะวันออก เงินทั้งหลายซึ่งใช้อยในประเทศชนชาติตะวันออก ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นมี ๔ ชะนิด คือ (๑) เรียกว่าเงินฮาง (๒) เรียกว่าเงินตู้ (๓) เรียกว่าเงินฮ่อย (๔) เรียกว่าเงินลาด ที่เรียกว่าเงินฮางนั้น รูปพรรณสัณฐานหัวท้ายงอนเหมือนดังเรือไหหลำโดยยาว ๖ นิ้ว โดยกว้าง ๒ นิ้ว ธรรมดามีขอบเหมือนแคมเรือทั้งสี่มุม มีท้องเป็นร่องเหมือนท้องเรือแต่ไม่ลึก ที่ข้างมุมข้างหนึ่งมีดวงตราตอกประจำ ในดวงตรานั้นเป็นอักษรจีน ๒ อักษร แต่ไม่ทราบว่าแปลว่ากะไร ในท้องเงินข้างมุมที่ตอกดวงตราประจำนั้น มีรอยขีดตีนกา ๒ เส้น ดูเหมือนจะเป็นเลขจีนสำหรับหมายนัมเบอร์, มีดังนี้เหมือนกันทุก ๆ ฮาง เงินฮางนี้มีน้ำหนัก ๖ ตำลึง ๖ สลึง อีกประการหนึ่งคำที่เรียกว่า ฮางนั้นเป็นสำเนียงภาษาราษฎรภาคอีศานตะวันออก ถ้าสำเนียงภาษาไทยก็เรียกว่า “ราง” เพราะภาษาราษฎรภาคอีศานตะวันออกใช้เสียงอักษร “ร” เป็นอักษร “ฮ” ไป เพราะฉนั้นคำที่เรียกว่าเงินรางตามอักษรไทยก็ได้ความ ด้วยเงินนั้นมีสัณฐานเหมือนรางหญ้าม้าหรือรางข้าวหมู คำที่เรียกว่าเงินฮางนี้บางทีก็เรียกว่าเงินแท่งบ้าง เรียกว่าเงินแน่นบ้าง เพราะฉะนั้นโดยความเข้าใจของราษฎรชาวภาคอีศานตะวันออกทั้งหลายว่าเงินฮาง, เงินแท่ง, เงินแน่น, เป็นของเป็นก้อน จึ่งเรียกเงินบาทหรือเงินเหรียญสยาม ซึ่งใช้อยู่ทุกวันนี้ว่าเป็นเงินมุ่น ก็คือแปลว่าละเอียด โดยเหตุที่ไม่เป็นแท่งอันเดียวนั้นเอง เงินที่เรียกว่าฮางหรือแน่นหรือแท่งนี้ แท่งหนึ่งมีน้ำหนัก ๒ ตำลึง ๖ สลึง

อีกประการหนึ่งที่เรียกว่าเงินฮางนั้น บางทีเขาเรียกว่าเงินฮางรังไก่ก็มี เรียกเงินฮางศีร์ษะโปก็มี ที่เรียกว่าเงินฮางรังไก่นั้น เพราะที่กลางท้องเงินเป็นร่องแหลมกลมเหมือนก้นหอย ลิึกประมาณถึงกระเบียดที่เรียกว่าเงินฮางศีร์ษะโปนั้น เพราะศีร์ษะข้างที่เขาตอกดวงตราประจำและขีดเลขหมาย เป็นปมโตกว่าศีร์ษะข้างที่ไม่ใด้ตอกดวงตราประจำและขีดหมาย การที่เป็นร่องกลางและศีร์ษะปมนี้ จะเป็นด้วยเหตุที่เจ้าของผู้หล่อจะทำให้เป็นเครื่องหมายไว้อีกชั้นหนึ่งหรือประการใดหาทราบไม่ แต่พวกราษฎรภาคอีศานชาวตะวันออกทั้งหลายผู้เคยให้เงินชะนิดนี้ เมื่อได้เห็นตำหนิทั้งสองประการดังกล่าวแล้วมีอยู่ในเงินฮางใด ก็หมายเรียกเงินฮางนั้นว่า เงินฮางรังไก่บ้าง เงินฮางศีร์ษะโปบ้าง ตามความสมมติของตนที่เข้าใจ ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าคำที่เรียกว่ารังไก่และศีร์ษะโบนี้ จะเป็นด้วยพวกราษฎรภาคอีศานทั้งหลายสมมติชื่อเรียกเอาเอง หาใช่เป็นบัญญัติชื่อเดิมของผู้ทำเงินตั้งขึ้นไม่ ส่วนน้ำหนักและราคา หรือเนื้อเงินก็อย่างเดียวกันกับเงินฮางที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนี้ ที่เรียกว่าเงินตู้ก็มีรูปพรรณสัณฐานอย่างเดียวกันกับเงินฮาง มีแปลกอยู่แต่ขอบศีร์ษะและท้องทั้งน้ำหนักคือเงินตู้ไม่มีขอบสูงเหมือนเงินฮางอย่างหนึ่ง มีศีร์ษะไม่งอนขึ้นเหมือนเงินฮางอย่างหนึ่ง มีทองไม่เป็นร่องลึกเหมือนเงินฮางอย่างหนึ่ง มีน้ำหนักตัวก่อนเงินฮางอย่างหนึ่ง เงินตู้นี้เขาหล่อเป็นรูปแบนๆ เป็นสี่เหลี่ยมเหมือนอย่างรูปพรรณเงินที่เขาตีให้เป็นสี่เหลี่ยมฉะนั้น มีส่วนกว้างและยาวย่อมกว่าเงินฮางประมาณกระเบียดหนึ่งและทั้งบางกว่าด้วย คำที่เรียกว่าตู้ถ้าจะว่าตามภาษาราษฎรภาคอีศานก็แปลว่า “ลุ่น” เพราะไม่มีขอบไม่มีริมเหมือนเงินฮาง เหมือนดังกระบือทุย ภาษาราษฎรภาคอีศานก็หมายเรียกว่ากระบือเขาตู้ หรือบางทีจะเรียกว่าเงินทู้ตามภาษาจีนฮ่อ ถ้าจะเรียกว่าทู้ก็แปลว่า “ยอม” เหมือนดังคำว่าเจ้าเมืองแถงออกอ่อนน้อมยอมทู้แก่แม่ทัพไทย ดังนี้เป็นต้น แต่คำว่าทู้ที่แปลว่ายอมนี้จะเอามาใช้ในบัญญัติชื่อเงินก็ดูจะไม่สมแก่เหตุผล เพราะเงินเป็นทรัพย์ส่วนไม่มีวิญญาณอย่างหนึ่ง จะมีเหตุไปอ่อนน้อมยอมแพ้แก่ผู้ใด หรือจะหมายเอาว่าผู้ทำเงินนี้เดิมเป็นผู้แพ้ผู้ยอมแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรืออย่างไรจึงได้ให้ชื่อเงินตามกิริยาของตน เมื่อจะอาศัยเหตุดังนี้ก็จะเป็นได้บ้างกระมัง

ที่เรียกว่าเงินตู้มีหลายชะนิด ๆ หนึ่งมีน้ำหนัก ๖ ตำลึงกับหนึ่งบาท ชะนิดหนึ่งมีน้ำหนัก ๕ ตำลึง ๓ บาท ชะนิดหนึ่งมีน้ำหนัก ๑๔ บาท ชะนิดหนึ่งมีน้ำหนัก ๓ ตำลึง แม้นเงินตู้จะมีหลายชะนิดประการใด ก็ย่อมมีรูปพรรณสัณฐานและเนื้อเงินอย่างเดียวกันทั้งสิ้น เงินฮางและเงินตู้สองอย่างนี้ถ้าเป็นเงินชะนิดที่เขาหล่อมาเต่เดิมมิใช่ปลอมแปลงแล้วย่อมเป็นเงินมีเนื้ออันอ่อนเหนียว เหมือนอย่างเงินรูเปีย ที่ใช้อยู่ในประเทศราษฎรภาคอีศานเฉียง ถ้าจะเอาไปตีเป็นรูปพรรณคือภาชนะใช้สอยทั้งปวง มีถาดและขันเป็นต้น ย่อมจะตีได้ง่าย ไม่ใคร่จะแตกหักเปราะเหมือนเงินตะกั่วและชินนั้นเลย เงินทั้งสองอย่างนี้ในประเทศราษฎรภาคอีศานตะวันออกทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ใช้ซื้อหาแลกเปลี่ยนกันอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างน้อยเต็มทีเพราะเขาใช้เงินเหรียญและเงินบาท อย่างที่โปรดเกล้าฯ ให้ใช้นี้เสียโดยมาก ถึงแต่กาลก่อนโน้นเงินเหรียญและเงินบาทที่โปรดเกล้าฯให้ใช้ตลอดพระราชอาณาเขตต์สยาม มีมานานอยู่แล้วนั้นก็จริง แต่ไม่สู้จะแพร่หลายเหมือนในกาลทุกวันนี้ ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในเบื้องตันนั้น

การที่ใช้เงินฮางกับเงินตู้ซื้อหาแลกเปลี่ยนกัน ย่อมเป็นความลำบากอย่างหนึ่ง คือถ้าของนี้ราคาไม่ถึงน้ำหนักเงิน จำเป็นต้องเอาเงินมุ่น คือเงินบาททอน เหมือนดังเราเอาเงินบาทเงินสลึงเงินเฟื้องไปซื้อของที่ตลาด แต่ราคาของไม่ถึงบาทไม่ถึงสลึงไม่ถึงเฟื้อง ผู้ขายต้องทอนอัฐให้แก่เราผู้ซื้อฉะนั้น เงินฮางและเงินตู้ย่อมมี รวง, ปน, แดง, หรือปลอม, เหมือนเงินบาททั้งหลาย เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ค้าขายทั้งหลายจะใช้เงินเหล่านี้ ต้องเป็นผู้ชำนาญสังเกตรูปพรรณและเนื้อเงินโดยละเอียด เป็นต้นว่าเอาเชือกหรือด้ายผูกเข้าแล้วยกขึ้น เอาไม้หรือเหล็กเคาะฟังดูเสียงแล้วจึงเอาค้อนหรือสันขนานทุบเงินนั้นให้งอเข้าแล้วตีขยายคืนให้ตรงอย่างเดิม แล้วจึงเอาเชือกหรือด้ายผูกยกขึ้นเอาไม้หรือเหล็กเคาะฟังดูเสียงอีก ถ้าเสียงเงินดังอย่างเดิมไม่มีเสียงกลับกลายนับเอาเป็นใช้ได้เป็นเงินดี ถ้าเงินนั้นมีเสียงกลับกลายไม่คงที่อย่างเสียงเดิมเป็นใช้ไม่ได้ มักเป็นเงินปนหรือเงินเนื้อต่ำ หรือแดงโดยมาก ถ้าจะสังเกตดูว่าเงินฮางหรือเงินตู้จะเป็นเงินปลอม เขามักสังเกตที่ขอบเหลี่ยมเงินหรือรอยตอกตรายี่ห้อเป็นต้น ถ้าไม่สนิทมีพิรุธอย่างหนึ่งอย่างใดตามความชำนาญของเขา ก็เป็นอันใช้ไม่ได้ ในส่วนรวง จะรู้ได้ด้วยกิริยาเผาไฟอย่างเดียว แต่เงินฮางเงินตู้นี้ไม่ใคร่จะมีรวง นานๆ จึงได้พบครั้งหนึ่ง มักมีชุกชุมแต่ปลอมและแดงหรือปนโดยมาก เงินฮางและเงินตู้นี้ เป็นเงินหล่อมาแต่ประเทศญวน คือ (อานัมก๊ก) และเขมรในชั้นโบราณโน้นก็ใช้หล่อเงินฮางและตู้ใช้เหมือนญวน เนื้อเงินและน้ำหนักย่อมดีเท่ากันกับเงินญวนหล่อ ที่เรียกว่าเงินปลอมคือเป็นราษฎรภาคอีศานตะวันออกหล่อ ถ้าเงินฮางและเงินตู้เป็นฝีมือราษฎรภาคอีศานตะวันออกหล่อแล้ว ผู้ซื้อขายทั้งหลายเขารังเกียจไม่ใช้ทีเดียว และเรียกว่าเป็นเงินปลอมเสียด้วย เว้นแต่รู้ไม่ถึงว่าเป็นเงินฝีมือราษฎรภาคอีศานตะวันออกหล่อจึงจะใช้จำหน่ายแลกเปลี่ยนได้ เพราะว่าถ้าฝีมือราษฎรภาคอีศานตะวันออกหล่อ มักจะเป็นเงินแดงและปนเสียโดยมาก เงินฮางและตู้ ถึงจะเป็นญวนหรือเขมรหล่อก็ดี ย่อมใช้ยี่ห้อและลักษณะรูปพรรณอย่างเดียวกัน จะเป็นด้วยเหตุใดจึงใช้ยี่ห้ออย่างเดียวกันนั้นหาทราบไม่ เป็นแต่นึกคาดคเนเห็นว่าเงินทั้งสองอย่างนี้เดิมเป็นเงินเกิดมาแต่ประเทศญวน เมื่อเขมรจะเลียนเอาไปใช้บ้างจึงได้คิดหล่อขึ้น ที่คงใช้ยี่ห้อและรูปพรรณสัณฐ่านอย่างเงินญวนเหล่านั้น บางที่จะประสงค์เพื่อจะให้เงินนั้นเป็นที่จำหน่ายซื้อขายได้คล่องเหมือนดังเงินญวนหล่อ เพราะเงินญวนหล่อมีคนเป็นจีนมาก ได้ใช้ซื้อหาแลกเปลี่ยนและเชื่อถือว่าเป็นของดี ใช้ได้มานานแล้ว จะเป็นดังนี้ดอกกระมังเขมรจึงได้ใช้ยี่ห้อและรูปพรรณสัณฐานของเงินฮาง และเงินตู้เลียนตามแบบญวน ก็แต่ที่เรียกว่าเงินเขมรเหล่านี้เข้าใจว่าไม่ใช่เขมรที่เป็นเจ้านายเป็นอิสสรภาพทำขึ้นเป็นเขมรคนหนึ่งคนใดคิดทำขึ้นต่างหาก เพราะถ้าเขมรที่เป็นเจ้านายเป็นอิสสรภาพทำขึ้นแล้ว คงจะใช้อักษรหรือตรายี่ห้อสำหรับชาติของตนประจำในตัวเงินทั้งสองอย่างนี้ทีเดียว คงจะไม่เลียนเอายี่ห้อหรือตราที่เป็นของญวนมาใช้เป็นแท้ ความเห็นอันนี้เป็นแต่ส่วนคาดคเน เดิมจะเป็นจริงอย่างไรข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายให้ตลอด ขอให้ผู้อ่านทั้งหลายดำริดูแต่ที่ควรเพื่อเป็นทางพิจารณาต่อไป อนึ่งการที่ญวนคิดบัญญัติเงินฮางและเงินตู้ใช้จำหน่ายซื้อหาแลกเปลี่ยนแก่กันและกันมาแต่เดิมนั้น คงจะใช้มานานอย่างน้อยเพียงห้าหรือหกร้อยปี นับถอยหลังขึ้นไป หรือบางทีคงจะใช้มาแต่แรกตั้งชาติญวนก็จะเป็นได้ แต่ลงที่สุดก็คงจะเนื่องมาจากจีน เพราะอักษรเป็นเครื่องหมายของจีนก็ได้ เพราะเงินที่มาแต่ประเทศญวนเคยเห็นแต่สองชะนิดนี้เท่านั้น ถ้ามีเปลี่ยนแปลงต่อ ๆ มาก็คงจะปรากฏเป็นรูปอื่น ใช้แพร่หลายมาในประเทศราษฎรภาคอีศานตะวันออกตอนนี้ได้บ้าง ที่เรียกว่าเงินฮ่อยคือเป็นเงินหล่อชะนิดหนึ่ง ท่าทางก็อย่างเดียวกันกับเงินฮางและเงินตู้ แต่ศีร์ษะและท้ายเรียวเหมือนกระสวยที่เขาทอหูก และไม่มีตรายี่ห้อและเลขหมายนัมเบอร์เหมือนเงินฮางเงินตู้ คำที่ว่า “ฮ่อย” คือสิบๆหนเป็นร้อยหนึ่งมาตราเครื่องชั่งภาษาราษฎรภาคอีศานตะวันออกเรียกว่าฮ่อยหนึ่งนี้ คือน้ำหนักเพียงสิบบาทเงินเท่านั้นจะหมายเอาอะไรที่เงินมีน้ำหนักเพียง ๑๐ บาทเป็น ๑ ฮ่อยคือร้อยนั้นสืบไม่ได้ความเลย อนึ่งเงินฮ่อยมิใช่เป็นเงินที่เขาทำด้วยเนื้อเงินแท้ๆ เป็นชะนิดเงินปนคือเขาเอาทองสำริดหรือทองขาวที่เรียกว่าขันหินมาหลอมสูบในไฟไล่ไปหลาย ๆ หนจนสิ้นโทษแล้ว ได้น้ำหนักเพียง ๗ บาทสองสลึงอย่างหนึ่ง เอาเนื้อเงินที่ดีมาหลอมสูบในไฟไล่ไปหลาย ๆ หนจนสิ้นตะกั่วและชินแล้ว ได้น้ำหนักเพียง ๑๐ สลึงอย่างหนึ่งมาประสมได้ ได้น้ำหนัก ๑๐ บาทถ้วนแล้วจึงเอาไปลงเบ้าเข้าไฟลูบให้ละลายแล้ว เทลงในพิมพ์ที่เขาแกะไว้นั้นสำเร็จเป็นรูปเงินฮ่อยที่เขาใช้สรอยกันมาแต่โบราณ การที่ประสมเนื้อโลหะที่หลอมแล้วหล่อให้เป็นเงินฮ่อยนั้น ดูเหมือนจะคล้ายกันกับที่ว่าประสมเนื้อนิลกสาปน์ดังที่ท่านกล่าวไว้ สัณฐานของเงินฮ่อยที่หล่อเป็นรูปแล้ว คือที่ท้องเงินเป็นปุ่มๆตลอดเหมือนท้องบุ้ง ที่ปุ่มนั้นปรากฏมีเนื้อเงินแท้ขาวทุกปุ่ม ที่นอกนั้นปรากฏเป็นทองสำริดบ้าง เป็นเนื้อทองขาวบ้าง

อนึ่งเงินฮ่อยทั้งหลายเขาไม่ได้ขัดไม่ได้ตะใบให้เกลี้ยง เพียงแต่หล่อแล้วก็เอาไปใช้สอยทีเดียว เงินฮ่อยแม้นจะมีน้ำหนักถึง ๑๐ บาทเงินก็ดีก็ใช่เป็นราคาเงินฮ่อยหนึ่งเพียง ๖ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ไม่เป็นยุติลงได้เพราะบางคราวขึ้นราคา บางคราวลงราคา ถึงกระนั้นก็คงไม่เกินราคา ๖ บาทเงินขึ้นไป เงินฮ่อยที่กล่าวมานี้เป็นเงินฮ่อยที่เขาบัญญัติใช้มาแต่เดิม เงินฮ่อยชะนิดนี้เขาเรียกแต่โบราณว่า ฮ่อยน้ำหก คือราคา ๖ บาทนั้นเอง และในการต่อมาภายหลังนี้ ฮ่อยหนึ่งมีน้ำหนักเพียง ๕ บาทบ้าง ๑๐ สลึงบ้าง ราคาและเนื้อเงินทั้งฝีมือที่ทำก็ผิดกันเป็นอันมาก เงินฮ่อยชั้นโบราณดังอธิบายมาแล้วนั้น ในเวลานี้ไม่ปรากฏมีในที่ใดเลย ไม่ทราบว่าสาบสูญไปเสียไหนหมด เงินฮ่อยที่มีปรากฏอยู่บ้างในเวลานี้เป็นชะนิดที่เขาทำชั้นหลัง ๆ เป็นของมิได้ทำโดยเต็มตามวิธีแบบอย่างโบราณ การที่ใช้เงินฮ่อยแลกเปลี่ยนกหาปนะในประเทศราษฎรภาคอีศานตอนนี้ ในชั้นอายุข้าพเจ้าไม่ใคร่มีผู้ใดใช้เสียแล้ว เป็นแต่พวกราษฎรภาคอีศานเขาเก็บไว้ใช้สำหรับเป็นเงินขึ้นร้านผีตามวิธีที่เขานับถือเท่านั้น ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าการใช้เงินฮ่อยต่างกหาปนะในชั้นโบราณนั้น คงจะเหมือนการใช้เงิน, เฟื้อง, สลึง บาท ในกรุงเทพฯมหานครทุกวันนี้ เพราะเป็นเงินสำหรับทอนอย่างกลาง ที่ทอนมาจากเงินฮางเงินตู้ที่อธิบายมาแล้วนั้น เมื่อจะกล่าวว่าเงินฮ่อยทั้งปวงนี้ ได้หล่อและบัญญัติใช้มาแต่เมื่อใดผู้ใดเป็นผู้แรกคิดจัดทำขึ้นดังนี้ ข้าพเจ้าเป็นอันจนใจและตอบไม่ได้ ในคำกล่าวนี้เลย เพราะพิจารณาหาหลักฐานมูลเหตุของเงินฮ่อยไม่ได้ ทั้งได้ไต่ถามผู้ที่สูงอายุก็ไม่มีผู้ใดอาจชี้แจงให้รู้ได้ ก็เป็นอันหมดวิสัยที่เราทั้งหลายผู้เกิดในภายหลังนี้จะรู้ได้อยู่เอง กับอีกประการหนึ่งสรรพเหตุสรรพกิจสรรพเรื่อง ซึ่งมีอยู่ในประเทศราษฎรภาคอีศานตอนโบราณโน้น ไม่มีเครื่องหมายคือศักราชวันคืนเดือนปีเวลาเป็นต้น จึงเป็นอันคนทั้งหลายในภายหลังจะรู้เวลาที่ทำการต่างๆในกาลโน้นไม่ได้ ลาดหรือทองลาดเรียกว่าเงินชะนิดที่ ๔ ดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น คำว่าลาดนี้หมายความโดยกิริยาว่า เงินเป็นเครื่องสำหรับใช้สอยเบ็ดเตล็ดเหมือนดังคำที่เรียกว่าซีก เซี่ยว อัฐ โสฬศ ซึ่งใช้จับจ่ายซื้อหาอยู่ทุกวันนี้ อีกประการหนึ่งคำที่เรียกว่าลาดก็แปลว่าตลาด เพราะคนทั้งหลายย่อมเรียกกันอยู่ โดยมากว่าไปตลาดลาดรี หรือจ่ายตลาดลาดรีดังนี้เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นคำที่ภาษาราษฎรภาคอีศานฝ่ายตะวันออกเรียกว่าลาดนี้ ก็ตรงกันกับคำว่าตลาดลาดรีนั้นเอง แต่อาศัยเหตุที่ภาษาราษฎรภาคอีศานมักพูดใช้คำสั้นคำลดตัดทอน จึงไม่ได้พูดหมดความว่าตลาดลาดรี จำเพาะเรียกแต่คำว่า “ลาด” สั้น ๆเท่านี้ เหมือนดังคำเรียกคำหนึ่งซึ่งพวกราษฎรภาคอีศานทั้งหลายใช้เรียกพระภิกษุ ว่าเจ้าหัว คำนี้ก็เป็นคำตัดทอนไม่ได้เรียกโดยหมดคำ ถ้าจะเรียกโดยหมดคำบัญญัติแต่โบราณมา ก็ควรจะเรียกว่า “เจ้าอยู่หัว” ดังนี้จึงจะถูก ซึ่งพวกราษฎรภาคอีศานทั้งหลายมาบัญญัติใช้ในภายหลังลดคำว่า “อยู่” ออกเสีย จึงคงใช้แต่คำว่า “เจ้าหัว” ดังนี้เหมือนดังคำว่าตลาดลาดรี เขาก็ตัดคำว่าตลาดและคำรีออกเสีย คงใช้อยู่แต่คำว่าลาดคำเดียว ซึ่งบัญญัติให้เป็นชื่อเบี้ยสำหรับจับจ่ายชะนิดหนึ่ง คือทองลาดหรือลาดดังได้กล่าวมาแล้ว ลาดหรือทองลาดเป็นชะนิดเงินที่เขาหล่อให้เป็นร่องกลางและเรียวหัวท้าย เหมือนดังรูปกระสวย โดยยาวประมาณหกกระเบียดนิ้วฟุต โดยกว้างประมาณ ๒ นิ้วฟุต โดยหนาประมาณกึ่งกระเบียด ชะนิดประเภทลาดนี้ไม่มีกำหนดโดยแน่นอนลงได้ บางชะนิดก็ใหญ่โตยาวมาก บางชะนิดก็เล็กสั้นที่สุด บางชะนิดก็พอดี การที่รูปลาดไม่มีกำหนดโดยแน่นอนดังนี้เป็นเพราะไม่มีบัญญัติ สุดแล้วแต่ผู้ใดจะหลอมหล่อใช้สอยเล็กใหญ่มากน้อยเท่าใดก็ทำขึ้นไว้ใช้ตามชอบใจ ใช้แต่เท่านั้น อัตราที่กำหนดใช้ว่า เฟื้อง, สลึง, บาท, ในการทดทอนแลกเปลี่ยนเรื่องทองลาดนี้ก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน บางที ๔ ลาดเป็นเฟื้องหนึ่งก็มี ๖ ลาดเป็นเฟื้องหนึ่งก็มี ๘ ลาดเป็นเฟื้องหนึ่งก็มี ถ้าจะทอนเป็นเงินบาท ๓๒ ลาดต่อเงินบาทหนึ่งก็มี จนถึง ๑๐๐ ลาดต่อเงินบาทหนึ่งก็มี ที่เรียกว่าทองลาดนี้ เขาใช้ทองเหลืองบ้าง ทองขาวบ้าง ทองแดงบ้าง หล่อกันอย่างละลาด ๆ บางทีก็หล่อปนกันทั้งทองเหลืองทองขาว ทองแดง รวมกันเป็นลาดหนึ่งๆ ก็มี เรื่องนี้ก็ไม่เป็นนิยมกำหนดลงเป็นแบบเดียวได้เหมือนกัน โดยเหตุผลดังบรรยายมาแล้ว การที่ใช้ลาดนี้ พึ่งหยุดไม่ได้ใช้เลยเพียง ๕ หรือ ๖ ปีที่ล่วงมาแล้วนี้เท่านั้น ด้วยในเวลานี้ราษฎรพลเมืองทั้งหลายใช้เบี้ยทองแดงทั่วถึงกันแล้ว แต่ก่อนย่อมใช้ทองลาดเสมอ กล่าวด้วยลักษณะเงินราษฎรภาคอีศาน ๔ ชะนิด ก็หยุดไว้แต่เพียงนี้ ฯ

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ