คำนำ

พระปทุมเทวาภิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดอุบลราชธานี แจ้งมาว่า ในการทอดกฐินพระราชทาน คณะกรมการจังหวัดอุบลราชธานี ที่วัดสุปัฏนาราม ประจำปีนี้ มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือลัทธิธรรมเนียมประเพณีของราษฎรในภาคอีศาน ของหลวงผดุงแคว้นประจันต์ แจกเป็นของชำร่วย โดยเห็นว่าหนังสือเรื่องนี้มีอยู่น้อยฉะบับ สมควรพิมพ์รักษาต้นฉะบับไว้ไม่ให้สูญ และแจกจ่ายแก่ราษฎรในภาคอีศานให้แพร่หลาย จึงขออนุญาตพิมพ์ขึ้น กรมศิลปากรมีความยินดีอนุโมทนา เพราะเห็นว่าธรรมเนียมประเพณีที่ไม่ขัดต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ย่อมเป็นสิ่งที่ควรปรารถนาเลื่อมใส เพื่อพิทักษ์รักษาคุณงามความดีของบรรพบุรษ ก็แหละราษฎรในภาคอีศานก็เป็นชาติไทย แม้จะมีชื่อเป็นอย่างอื่น ก็ไม่หนีความจริงที่รับรองกันทั่วไปอยู่แล้วว่าประชาชนที่เรียกว่าลาว ก็คือชาติไทยสาขาหนึ่งนั่นเอง มีพยานเห็นได้ง่าย ก็ที่ในพงศาวดารเดิมร่วมกันทั้งหลักภาษาและคำพูดก็เป็นภาษาไทยด้วยกัน จะผิดเพี้ยนกันก็เพียงถิ่นที่อยู่เท่านั้น เหตุนี้ธรรมเนียมประเพณีของชาวภาคอีศาน ก็เป็นธรรมเนียมประเพณีของไทยส่วนหนึ่งเหมือนกัน.

หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ผู้เรียบเรียงหนังสือเรื่องนี้ เป็นชาวจังหวัดอุบล บวชเป็นสามเณรเข้ามาเรียนพระปริยัติธรรมในกรุงเทพ ฯ จนอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วหลายพรรษา จึงลาสิกขาบทออกรับราชการในกระทรวงธรรมการเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นขุนบรรหารวรอรรถ แล้วย้ายมาอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นที่ขุนมหาวิไชย ต่อมาจึงออกไปรับราชการหัวเมือง แล้วได้เป็นหลวงผดุงแคว้นประจันต์ และเป็นนายอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดร หลวงผดุง ฯ เป็นผู้เอาใจใส่ในการแต่งหนังสือมาแต่แรก.

กรมศิลปากร

๒๗ ตุลาคม ๒๔๘๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ