เพลงยาวเล่นว่าความ
๏ ขอให้การเปนกลอนอักษรศรี | |
มายื่นเจ้ากรมขุนพิทักษมนตรี | ให้นำคดีทูลสมเด็จพระนัดดา |
ด้วยข้าพเจ้าจมื่นไวยวรนารถ | หัวหมื่นมหาดเล็กเวรขวา |
กับหลวงทรงพลกรมม้า | คุ้นเคยกันมาแต่ไร ๆ |
บัดนี้เจ้ากรมเกราะทองขวา | หามีความเมตตาข้าพเจ้าไม่ |
ลวงเอากล้องสูบยาข้าพเจ้าไป | จะให้แส้หางม้าห้าอัน |
ข้าพเจ้าผู้ทาษปัญญา | ก็พาซื่อไม่คิดเดียดฉัน |
สำคัญใจว่ารักใคร่กัน | ซ้ำให้งาตันไปอันยาว |
แล้วยืมพายคิ้วคาดลวด | ขวดเฟืองเครื่องน้ำชากาทองขาว |
กับปืนนกสับดาบลาว | แต่คราวขึ้นไปเที่ยวภูเขาทอง |
ครั้นกลับมาข้าพเจ้าก็ได้ถาม | ถึงความแส้แลเตือนสิ่งของ |
ทำแชเชือนเบือนบิดผิดทำนอง | เปนขุ่นหมองมิใคร่จะพาที |
ได้ซ้ำทวงถามถึงสามหน | กลับบ่นว่าข้าพเจ้านี้จู้จี้ |
แต่เตือนเตือนก็เชือนมากว่าปี | มีแต่มักได้ไม่อายใจ |
ที่แส้หางม้าก็ทำลืม | ที่ของยืมแต่สักสิ่งก็ไม่ได้ |
ข้าพเจ้าผู้ยากก็ยับไป | เจ็บใจเปนพ้นพรรณา |
ข้อหนึ่งม้าผู้ผ่านตอน | กองมอญได้มาแต่ลาดหญ้า |
เปนม้าของพระยาธรมา | เจ้ากรมเกราะทองขวารับเลี้ยง |
ครั้นพระยาธรมาอาสัญกรรม | ก็คืนคำว่ากล่าวก้าวเฉียง |
เดิมไม่รับแล้วก็กลับเลียบเคียง | เถียงว่าม้าล้มแต่คราวงาน |
บัดนี้ข้าพเจ้ารู้ระคาย | เพราะนายเอี่ยมหลวงสุนทรโวหาร |
กับหมื่นราชนาคาตาชำนาญ | นายบุญคงนายปานมหาดเล็ก |
ว่าพบม้าผู้ผ่านตอน | ที่ริมบ่อนตรงหลังโรงเหล็ก |
ผูกม้าไว้ที่น่าร้านเจ๊ก | แต่เด็กเด็กรักษาอยู่สองคน |
ครั้นข้าพเจ้าให้นำเอาตำแหน่ง | ก็เคลือบแฝงไม่บอกอนุสนธิ์ |
ทีทำเปนจะอำเอาสินบน | ข้าพเจ้าก็จนเต็มที |
ถ้าพอคราวหาได้ไม่ขัดสน | ก็ไม่เปนกังวลจู้จี้ |
นี่สารพัดเหมือนต้องสลัดตี | แต่ป้านชาก็ไม่มีจะใส่กิน |
ข้อความข้าพเจ้าที่ว่าขาน | มีพยานเห็นรู้อยู่สิ้น |
พระยาอไภยโณฤทธิ์ราชริน | อินทร์เดชะพระมหามนตรี |
มหาดเล็กนายเวรสองนาย | เลวหลายจ่าหนึ่งหุ้มแพรสี |
กรมนาหลวงพิพิธสาลี | ยังพยานนอกนี้ก็หลายคน |
ขอท่านผู้เปนเจ้ากรม | บังคมทูลให้ทราบอนุสนธิ์ |
ให้หาตัวนายหลวงทรงพล | มาถามความตามยุบลคดี เอย ฯ |
ฯ ๓๔ คำ ฯ
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๏ หมายหมื่นพจนาดถ์อักษร | |
มาถึงท่านเจ้ากรมอัศดร | บวรเกราะทองขวาชาญฉกรรจ์ |
ด้วยพณหัวเจ้าท่านโกษา | ปรากรมโกษฐาไอสวรรย์ |
สั่งว่าหมื่นไวยวรนารถนั้น | มากล่าวโทษข้อขันเปนหลายราย |
ยื่นฟ้องขุนพิทักษมนตรี | ให้เอาคดีบังคมทูลถวาย |
แก่บรมนัดดาปรีชาชาย | ให้เรียกนายมาพิจารณา |
บัดนี้พระภาคินัยราช | ประชวรลมปราศวาตเสียดขวา |
กว่าจะคลายเห็นหลายเดือนตรา | จะบัญชาข้อความนั้นช้าไป |
จึงสั่งฟ้องมายังกองกรมท่า | ให้ช่วยพิจารณาว่ากล่าวให้ |
พณหัวเห็นฟ้องทำนองใน | ก็ยิ้มใหญ่ยิ้มน้อยด้วยถ้อยความ |
เออสองนายเหมือนจะตายด้วยกันได้ | ควรฤๅมาเทไถ้ออกกลางสนาม |
พระนายไวยนี้ก็ใจช่างวู่วาม | ไม่ไว้นามไว้หน้าแก่หลวงนาย |
เกี่ยวข้องกันด้วยของสี่ห้าสิ่ง | อ้างอิงนี่กระไรน่าใจหาย |
ดูทีเหมือนทีจะตัดตาย | ข้างหนึ่งร้ายจำดีเขาว่าวอน |
ใบฟ้องยังมิได้ไปประทับ | พณหัวจะดับทั้งสองก่อน |
เปนเถ้าแก่มิได้ว่าเปนแง่งอน | ผ่อนแต่ของให้แล้วเลิกกัน |
จึงจะให้สองนายเข้าในวัด | ตั้งสัตย์สมานมิตรอย่าบิดผัน |
เพราะเมตตาจึงช่วยว่าให้เปนธรรม์ | เห็นด้วยกันแล้วเร่งมาทำตาม |
แม้นมิยอมสิจะให้ไปประทับ | กำกับกันวิจารณ์เปนสาม |
สมุหคชบาลชำนาญความ | เคยบุ่มบ่ามนั่งศาลบ้านเมืองดี |
อันพระยามหานุภาวะ | ว่ากล่าวได้จังหวะไม่คลาศที่ |
จงคิดดูใช่จะขู่เมื่อไรมี | รู้สึกคดีอย่านิ่งเนื้อความ เอย ฯ |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
จมื่นไวยวรนารถ
๏ แต่ยื่นฟ้องแล้วก็เวียนระวังถาม | |
ขุนพิทักษมนตรีผู้มีนาม | แจ้งความว่าสมเด็จพระนัดดา |
ทรงประชวรเพื่อลมปราศวาต | กำเริบโรคปัตฆาตเสียดขวา |
อันใบฟ้องนั้นประทานมา | ให้พณหัวกรมท่าช่วยชำระ |
ก็หมายใจจะไปว่าหมื่นสนิท | เคยเปนมิตรคบหาวิสาสะ |
มีกังวลขัดสนด้วยธุระ | เธอไม่ละช่วยร้อนอยู่ทุกที |
จึงรีบตรงมาศาลกรมท่า | พอเห็นหมื่นพจนาอักษรศรี |
ลงนั่งศาลอาการนั้นเปนที | ห่มส่านแสดสีมัวมัว |
เหล่าพวกภูดาษเสมียนเวร | ล้วนจัดเจนแต่ละคนมิใช่ชั่ว |
เปนคนไม่เคยความก็คร้ามตัว | ติดจะกลัวประหม่าศาลเศียรพอง |
แต่มานะสกดใจนั่งท่า | จนเวลาคนห่างชอบช่อง |
ค่อยเสงี่ยมเจียมใจในทำนอง | เกรงจะหมองระคางเคืองวิญญา |
เห็นได้ทีแล้วก็พลอยฉลอยถาม | ว่าข้อความรับสั่งมากรมท่า |
ได้นำเรื่องคดีซึ่งมีมา | ขึ้นกราบเรียนพระกรุณาแล้วฤๅยัง |
จงการุญเหมือนทำคุณแก่สัตว์ยาก | ได้บากมาแล้วให้สมอารมณ์หวัง |
ครั้นจะเฉยเกรงจะช้าจึงมาฟัง | ฉวยขัดข้องต้องระวังพวกพยาน |
แม้นได้ตัวมาจะขอคุม | กว่าจะฦกเปนหลุมอยู่กับศาล |
ให้สาใจที่เจ็บใจมาช้านาน | สำเร็จการแล้วจะเห็นคุณ เอย ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๏ หมื่นพจน์อิงหมอนนอนไขว่ห้าง | |
ห่มส่านแสดถือแหนบถอนหนวดพลาง | สั่งให้ร่างตราตอบมลายู |
เสมียนรองจ้องเขียนแล้วเวียนลบ | อ่านตลบผิดเรื่องก็เคืองหู |
พอแลไปเห็นพระไวยเข้าในประตู | รู้ว่ามาเร่งรัดให้ขัดใจ |
เมื่อหมายไปกึ่งวันไม่ทันค่ำ | ควรฤๅซ้ำจะมาเตือนก็เปนได้ |
เธอนี้พานจะจู้จี้เปนพ้นใจ | เอาให้นั่งตั้งฅออยู่พอแรง |
คิดพลางทางทำเปนไม่เห็น | ขู่เข็นเสมียนให้เสียงแขง |
แต่เขียนเขียนเวียนลบแล้วเวียนแปลง | กูสักให้หลังแดงดอกกระมัง |
พอได้ยินเสียงถามก็เหลียวรับ | ร้องเชิญให้ขยับมานั่งหนัง |
ข้าพเจ้าจะเล่าให้พระนายฟัง | มีรับสั่งส่งฟ้องของท่านมา |
พึ่งจะได้กราบเรียนเมื่อเจียนค่ำ | พณหัวอ่านซ้ำแล้วสรวลร่า |
ว่าทีนี้พร้าหายคล้ายตำรา | แต่ดูทีกิริยาเมตตานาย |
จึ่งสั่งว่าหมื่นพจน์อย่ากดไว้ | มิใช่คนอื่นไกลให้เร่งหมาย |
ให้หาหลวงทรงพลมาเปรียบปราย | พอหายจะให้หายเสียในเรา |
ข้าพเจ้าก็เสนอช่วยหนุนให้ | ว่าพระไวยมิใช่จะรังเหยา |
ชรอยแค้นเรื่องของจึ่งฟ้องเอา | พณหัวยิ้มเพราแล้วเดินไป |
ข้าพเจ้ารีบหมายแต่บ่ายเย็น | โดยเห็นจะหาทันวันนี้ไม่ |
หลวงทรงพลพานซนไปเที่ยวไกล | ถ้าพอได้สดวกก็ยิ่งดี |
แม้นมาถึงเมื่อไรจะไปบอก | อย่าเข้าออกเช้าเย็นเห็นบัดสี |
ด้วยที่ศาลแขกพล่านทั้งตาปี | ชั่วดีจะระคนเข้าปนกัน |
นั่นหายนี่หายวุ่นวายนัก | นี่ว่ารักเจ้าจอมถนอมขวัญ |
แม้นจะคุมจะให้ซุ่มไว้โรงทัณฑ์ | ธุระนั้นจะช่วยพระนาย เอย ฯ |
ฯ ๒๒ คำ ฯ
หลวงทรงพล
๏ พอเวลาตวันบ่ายชายแสง | |
ฝึกม้าอยู่ที่น่าพลับพลาแดง | ดัดแปลงคนทำให้รำทวน |
พอนายรองจ้องหมายมาสกิด | รับวินิจดูคดีถี่ถ้วน |
พระนายไวยเจียวสิหวาน่าสำรวล | มาเล่นกันเมื่อจวนจะแก่ตาย |
เสียแรงที่ชอบกันเปนไหน ๆ | ครั้นเคืองใจที่รักก็สูญหาย |
นี่เนื้ออิจฉาใจใช่มากมาย | ดีร้ายตาจะลายลงเพราะคำ |
ช่างไม่ถามไถ่ว่าประสารัก | มาฮึกฮักเบาจิตรผิดส่ำ |
ทั้งว่าเห็นกายชายคล้ำดำ | คิดว่ากรำแดดต้องลอองมัว |
มิรู้เที่ยวเก็บผิดคิดฟ้องกัน | ก็ไม่พรั่นสิ่งใดมิได้ชั่ว |
สุดแต่ความจริงใจที่ในตัว | ถ้าใครชั่วก็จะกลิ้งลงกลางคัน |
ถึงนายไวยหมายใจว่ามีทรัพย์ | จะเข้ากับเสมียนเวรก็ไม่พรั่น |
พณหัวยังกระจ่างในทางธรรม์ | จึงชวนกันบ่าวไพร่ไปพรั่งพรู |
ถึงบ้านกรมท่าน่าช่องกุฏ | เห็นหมื่นพจน์จับสมุดอ่านอยู่ |
เข้านั่งชิดแล้วสกิดว่าเอนดู | ช่วยแจ้งตูข้าข้อที่หมื่นไวย |
อันเรื่องฟ้องแลสำเนาที่เขาหา | นั่นให้พี่หมื่นว่าด้วยฤๅไฉน |
ซึ่งท้ายหมายในหมายที่ให้ไป | เปนว่าให้คืนของปรองดองกัน |
เมื่อแต่โจทย์เขาหาว่าข้างเดียว | แต่ป่านนี้ฤๅเฉลียวเอาเปนมั่น |
ถึงพยานในฟ้องสักสองพัน | เมื่อไม่ทันสืบถามกันสักครา |
ระวังตัวกลัวเกรงด้วยความผิด | เขาคิดกันเปล่า ๆ เอามาว่า |
นี่เล่าพี่ดอกจงมีเมตตา | ให้ทราบพระกรุณาไม่บังควร |
จึงกระซิบว่าโคใหญ่ไปเกวียนดี | ของเรามีอยู่วัดหนังหลังสวน |
ให้แต่ตรงคงคำในสำนวน | ผิดชอบตามกระบวนบุคคลพาล |
ประมาทกันด้วยของสองสามสิ่ง | ผิดก็คุมกันกลิ้งอยู่กลางศาล |
คือใครจะอาสาเปนพยาน | จะไม่เกรงนรการก็ตามใจ |
แล้วชวนหมื่นพจนาดถ์อักษร | เราไปคอยเจ้าคุณก่อนก็พอได้ |
ตามแต่จะโปรดปรานประการใด | ก็ขึ้นไปคอยท่าเจ้าคุณ เอย ฯ |
ฯ ๒๖ คำ ฯ
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๏ หมื่นพจน์ตรึกคำที่ว่าขาน | |
แลดูหลวงทรงพลทำลนลาน | อาการนั้นเห็นพรั่นครั่นไป |
หากปากแขงแต่งว่าแต่หน้าเฝื่อน | เหมือนเต่าเกลื่อนสมทบกลบรอยไข่ |
เอาโคเกียดเสียดบนเพราะจนใจ | จะจับว่าขึ้นก็ในจะแพ้ความ |
เอนดูภักตร์รักที่ขี่ม้าทวน | งามกระบวนล่อแพนแล่นสนาม |
เขาจะชวนกันยินร้ายว่าชายทราม | อย่าเลยนะจะปิดความไว้ดูที |
ตริแล้วว่าเจ้าจอมหม่อมทรงพล | การสินบนนั้นอย่าพูดไม่พอที่ |
อันโลภะข้าก็ละเสียหลายปี | เมื่อก่อนกี้ก็ย่อมรู้ทั้งกรมการ |
ถ้าลูกความผู้ใดทำใจแขง | ข้าจำตรากตรึงแห้งอยู่กับศาล |
นี่แก่ไปกลัวไภยในนรการ | จะว่าขานโดยธรรม์ทุกวันไป |
อันท้ายหมายปลายคำให้คืนของ | ทำนองรักดอกจึงแนะเนื้อความให้ |
เสมือนกล้องส่องทางให้เห็นไกล | จะแก้ไขอย่างไรก็ง่ายดาย |
อันรอเรือเมื่อจวนไม่สวนทุ่น | ถ้าฉวยวุ่นสัตย์เสียซึ่งสินหมาย |
ข้าช่วยชอบยังไม่ขอบใจสบาย | ไฉนนายจึงมาเปนได้เช่นนี้ |
เจรจาพลางทางชวนขึ้นหอนั่ง | เรานิ่งฟังเสียงทับกระจับปี่ |
ทั้งซอรับขับขานประสานดี | เรื่องนี้นางไห้พระนคร |
ครั้นพระกรุณาจะใกล้หลับ | มักให้ขับนางกรายสายสมร |
แล้วไปเรื่องมลายูคู่เพื่อนนอน | ถ้าจวนตื่นแล้วจึงย้อนมาทางใน |
มโหรีน้อย ๆ ที่พึ่งหัด | แต่สันทัดเรื่องรู้เหมือนผู้ใหญ่ |
แล้วก็สั่งเสมียนรองทั้งสองไป | บอกพระไวยว่าจำเลยมาแล้ว เอย ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
จมื่นไวยวรนารถ
๏ เวลานาฬิกาห้าโมงหมาย | |
อาบน้ำชำระสกนธ์กาย | ตามสบายเหมือนเคยทุกวันวาร |
ก็แต่งกายชายจากเคหา | ตั้งใจจะเข้ามาพระราชฐาน |
พอนายรองมาแจ้งแสดงการ | ว่าท่านหมื่นพจน์ใช้มา |
บัดนี้นายหลวงทรงพลราช | ซึ่งต้องพิฆาฏในข้อหา |
แต่ซนตามเธอเปนสามเวลา | พึ่งจะได้ตัวมาในวันนี้ |
ก็รีบเดินสาวเท้ามาโดยด่วน | พอถึงจวนได้ยินเสียงกระจับปี่ |
ประสานซอขับท่อมโหรี | ล้วนสัตรีน้อย ๆ เสนาะกรรณ |
ให้ปลื้มใจนั่งไหว้วาศนา | สารพัดประกอบมาทุกสิ่งสรรพ์ |
จิตรกระจ่างเปนทางตราชูธรรม์ | ใครหันมาสำนักก็เย็นใจ |
แลเห็นจำเลยกับหมื่นพจน์ | ปากจดพูดกันจ้อบนหอใหญ่ |
ก็รอรั้งนั่งอยู่แต่ไกลไกล | แต่ใจนั้นขัดใจเต็มที |
คิดจะถามเอาความที่เจรจา | ก็เกรงจะว่าเปนคนจู้จี้ |
จะด่วนตายก่อนไข้ก็ไม่ดี | เปนไรมีจะได้เห็นกัน |
เหม่ท่านเจ้าจอมกรมม้า | ดีร้ายหน้าจะหม่นไม่มีขวัญ |
ช่างแสนรู้หมายมาสู้กรมธรรม์ | ชั่วดีจะรู้กันไม่ทันเย็น |
แต่พอพณหัวท่านออกมา | ฟ้าจะผ่าอย่างไรจะได้เห็น |
ที่ใครชั่วจะเปนตัวดำกระเด็น | นั่งเขม้นคอยท่าเจ้าคุณ เอย ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
พระยามหานุภาพ
๏ สาราของพระยามหานุภาพ | |
ขอประคองกรวางมาต่างกราบ | ทราบพระกรุณาตระลาการ |
ก็ยินดีด้วยเปนที่พำนักพัก | เจริญรักยังไม่วายหายสมาน |
แต่ครั้งนี้มีธุระมาพะพาน | ขอประทานพึ่งบุญพระคุณชู |
ช่วยดับเข็ญอย่าให้หมองทั้งสองข้าง | บันเทาทางทุจริตที่ผิดหู |
เขาร้องฟ้องกันอย่างไรก็ไม่รู้ | ต่อได้ดูหมายแสดงจึงแจ้งการ |
ถ้าแรกรู้ฤๅจะทักช่วยหักห้าม | นี่เกิดความด้วยกำลังอหังหาญ |
จะชิงคมกันด้วยลมลำพองพาล | ไม่ตริการรอบคอบคดีดี |
เมื่อคราวรักเขาสิร่วมอารมณ์ถนอม | ดังจะเปลี่ยนหน้าปลอมเกษมศรี |
เมื่อคราวร้างฤๅมาห่างกันเต็มที | ไม่พอที่จะให้ชื่อเขาฦๅพาล |
จะมาหมองในคลองอุปวาท | เหมือนเอาอายลงไปสาดไว้กลางศาล |
กว่าจะสิ้นกลิ่นว่าก็ช้านาน | ทั้งจะพานพวกพ้องให้หมองมัว |
ถึงไม่ร้ายเขาจะส่ายชื่อชี้ | มิพอที่จะให้ติก็ต้องชั่ว |
ถ้าแม้นใครแพลงข้างก็ขวางตัว | จะชูชั่วไว้ให้ชื่อเขาฦๅชา |
ข้างทรงพลเล่าก็หลานมาพานอก | แสนวิตกหมื่นไวยก็หนักหนา |
เสน่ห์นานด้วยเปนหลานของเมียมา | ข้างฝ่ายย่าเล่าก็อุปการกัน |
เมื่อสองหลานจะมารานกันดังนี้ | หารู้ที่จะเข้าข้างใครนั่น |
ก็ตามความเขาจะว่าประสากัน | จะเดียดฉันผิดพลั้งก็ช่างความ |
แต่ว่าญาติแล้วขอฝากพระคุณด้วย | พอพึ่งปรีชาช่วยที่ไถ่ถาม |
พระกรุณาเปนตราชูงาม | จงไว้นามไว้หน้าด้วยเถิด เอย ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๏ เห็นกระดาษประหลาดจิตรคิดว่าหมาย | |
ต่ออ่านดูรู้ว่าบทซึ่งบรรยาย | ก็ยิ้มพรายว่ามิใช่หาไหนมา |
นี่แน่เจ้าพระยามหานุภาพ | อย่าทำกราบทีเปนเกรงวาศนา |
เราชอบกันก่อนไรก็ไปมา | ได้บากหน้าแล้วไม่ละธุระนาย |
อนิจาข้าพึ่งแจ้งก็ใจหวาด | ว่าเจ้าจอมร่วมญาติทั้งสองฝ่าย |
เออไฉนไม่ช่วยปิดให้มิดอาย | จะมาส่ายไส้รั่วให้มัวมอม |
ถ้าใครพล้ำเห็นจะดำไม่พ้นภักตร์ | ดังหมึกสักติดกายเปนลายหย่อม |
เขาจะฦๅฉาวศาลหลานเจ้าจอม | จะแก้มอมกว่าจะหายก็หลายปราณ |
ข้าเมตตาจึงช่วยเตือนสติให้ | เปนผู้ใหญ่จำพยุงผดุงหลาน |
ก็ย่อมแจ้งอยู่แก่ใจในนิทาน | เหมือนพระผ่านกาหลังพิไชยควร |
เมื่อหย้าหรันปันหยียุทธนา | โกลายิ่งกว่านี้สักร้อยส่วน |
พระยังดับดีไปได้ทั้งมวญ | เออก็ควรฤๅที่ว่าช่างใคร |
เมื่อตั้งอุเบกขาฌานญาณพรหม | ไยมิสร้างอาศรมอยู่ป่าใหญ่ |
มาเปนห่วงอยู่ด้วยบ่วงประการใด | จึงบ่ายภักตร์ฝักใฝ่ที่ในความ |
โจทย์จำเลยข้าหามาพร้อมอยู่ | จะเกลี่ยดูยังไม่ควรให้ไถ่ถาม |
พอแล้วจะให้แล้วไม่ลุกลาม | จะไว้นามไว้หน้าอยู่ดอก เอย ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๏ นิ่งฟังกังวานประสานเสียง | |
ไพเราะห์เสนาะใจในจำเรียง | เมียงม่อยผอยหลับแล้วลืมตา |
เคลิ้ม ๆ เปนนิมิตรว่ามีงู | กับตุดตู่ไต่ร้องที่ริมฝา |
มาปะกันก็เข้าพันเอากายา | ตุ๊กแกอ้าปากร้องขึ้นสองที |
งูสอดลอดทลวงเข้าล้วงไส้ | คว้าควักสิ่งไรไม่รู้ที่ |
แล้วมีชายเดินกรายถือไม้รี | มาทำทีเหมือนจะตีให้เลิกกัน |
แล้วไฉนไม่ห้ามคำรามอยู่ | ดูดูแล้วก็เบือนศีศะผัน |
พอพลิกกายแจ่มหน้าขึ้นมาพลัน | รู้ว่าฝันนึกอนาถประหลาดใจ |
อันตุ๊กแกงูเขียวเกี่ยวกระหวัด | จะวิบัติความอื่นหาเปนไม่ |
ดีร้ายนายทรงพลกับหมื่นไวย | จะแก้เกี้ยวกันไปมิใช่น้อย |
ที่ชายยืนถือไม้แล้วไม่ห้าม | ขู่คำรามดังเอาไฟมาใส่ฝอย |
จะเปนพระยามหานุภาพผู้ใจลอย | มาคอยฝากบากหน้าไว้เอาที |
เห็นแท้ในกระแสสุบินสิ้น | จึงออกอาบวารินเกษมศรี |
ทาแป้งแต่งสกนธ์ระคนดี | นุ่งหยี่น่าดอกไม้แล้วไคลคลา |
ออกประตูเห็นคู่โจทย์จำเลย | ทำเดินเฉยนั่งลงที่ตรงหน้า |
จึงทักทายว่าพนายทั้งสองมา | ดีแล้วข้าจะว่าให้เจ้าฟัง |
คำบุราณท่านว่าถ้าคบมิตร | ถนอมจิตรไว้ข้างวางเสียหลัง |
เปนไมตรีดีกว่าจะเกลียดชัง | จงยั้งอย่าชุลมุนทารุณใจ |
นี่แน่นายเจ้ารักกันสุดรัก | ดังจะปลอมเปลี่ยนภักตร์พิศมัย |
ข้าฟังดูก็ให้เสียวเฉลียวใจ | น้อยฤๅช่างรักใคร่ไม่เคืองกัน |
ไม่น่าฟ้องด้วยของแต่พาเหียร | ให้เปนเสี้ยนเสียความเกษมสันต์ |
จะใคร่ขอเลิกฟ้องปรองดองกัน | ให้คงพันธุมิตรสนิทใจ |
ประหนึ่งถ้ามิลงจะคงว่า | แต่อัชฌาอย่าให้เสียถึงสินไหม |
ถ้าทรงพลได้ยืมของ ๆ หมื่นไวย | ก็คืนให้เสียให้ปรกติดี |
ข้างหมื่นไวยไม่เสียของแต่หมองอื่น | ข้าวานคืนถอนฟ้องอย่าจู้จี้ |
จงรักกันเหมือนเมื่อวันที่เคยดี | กระนี้เถิดฤๅกระไรทั้งสองนาย |
เอนดูภักตร์รักเจ้าเราจึงห้าม | มานะความมักชักให้ฉิบหาย |
เจ้าทั้งสองก็ก้องปรีชาชาย | จงคิดระคายตรึกดูให้ดี เอย ฯ |
ฯ ๒๘ คำ ฯ
จมื่นไวยวรนารถ
๏ ได้ทราบความตามคำพิพากษา | |
เห็นสุจริตโดยจิตรกรุณา | เปนอุเบกษาพร้อมจตุพรหม |
จึงกราบเรียนประนมน้อมสนอง | ซึ่งโปรดประคองพระคุณก็ควรผม |
อันความสัตย์สุจริตในอารมณ์ | ข้าพเจ้ากับเจ้ากรมอัศดร |
ก็เปนข้าราชการสมานภักตร์ | ซ้ำรักชอบอัชฌามาแต่ก่อน |
ใช่จะแกล้งแต่งลมนิยมกลอน | มาแค่นค่อนเศกใส่เมื่อไรมี |
อันความจริงสิ่งของที่กล่าวหา | ล้วนสัจจาสุจริตไม่ใส่สี |
ไม่เล่นลำเที่ยวทำแต่พาที | ให้ราคีหมางมิตรสนิทใน |
ใช่จะแสร้งแต่งคำแต่พาเหียร | ให้เปนเสี้ยนสูญมิตรพิศมัย |
รักมิตรถนอมจิตรก็สุดใจ | หวังมิให้หมองหมางระคางคาย |
แต่ทวงถามมาด้วยความสิ่งของ | จะต้องการว่าอยู่ฤๅหักหาย |
ก็แชเชือนเบือนบิดบรรยาย | เปนปีปลายแล้วยังไม่ได้จริง |
ครั้นเตือน ๆ ดูเหมือนจะเยื้อนรับ | แล้วก็กลับกล่าวเกี่ยงเถียงทุกสิ่ง |
เห็นน้อยภักตร์แกล้งชักแชประวิง | กลอกกลิ้งลวงเล่นเปนอัตรา |
จึงเจ็บใจจนต้องมาขึ้นศาล | ก็คิดความอัประมาณนักหนา |
อดสูชายที่ไม่แจ้งกิจจา | จะพาลพาประมาทหมิ่นว่าหมอความ |
แต่จนใจด้วยแทงวัวก็มุ่งผาก | ได้บากรักมาเริ่มกลางสนาม |
เหมือนส่ายไส้ให้กาตอมตาม | จะไว้งามไว้ชื่อให้ฦๅชาย |
ใครชั่วจะชี้ชั่วออกให้เห็น | จะเอาเส้นหมึกซ้ำประจำหมาย |
ให้หนำจิตรที่ไม่ออมถนอมอาย | จะรื้อร้ายออกให้แจ้งประจักษ์ใจ |
ซึ่งพระกรุณาเจ้าตัดสิน | ก็ทราบสิ้นในกระแสไม่สงไสย |
เพราะโปรดศักดิ์รักหน้าด้วยอาไลย | จะมิให้ยากยับอัประมาณ |
จึงเลิกฟ้องให้ปรองดองกันคงมิตร | บำรุงจิตรเจริญรักสมัคสมาน |
จะปรนิบัติมิให้ขัดเคืองรำคาญ | ขอประทานฝากชีวิตรไว้ใต้ท้าว |
แต่ความว่าตกมาถึงสองศาล | จนพวกพาลเล่าอื้อระบือฉาว |
ครั้นนิ่งยอมเห็นจะมอมไม่หมดคาว | ที่ใต้ท้าวจะขอแจ้งแต่สัจจา |
ซึ่งจะให้คืนของที่ข้องค้าง | จะให้บ้างฤๅมิให้ก็ไม่ว่า |
ทั้งนี้ตามแต่มีเมตตา | จะให้เคืองพระกรุณาไม่บังควร |
แล้วเบือนหน้าชายตาดูจำเลย | เห็นทำเฉยเชิงผิดก็คิดสรวล |
จะใคร่พูดดูสักคำฟังสำนวน | ให้ประจักษ์ในกระบวนบุคคลพาล |
ก็จะเคืองใต้เท้าพระกรุณา | จะติว่าเปนคนอหังหาญ |
ค่อยเสงี่ยมเจียมใจให้ควรการ | กราบกรานคอยสดับคดี เอย ฯ |
ฯ ๓๒ คำ ฯ
หลวงทรงพล
๏ เงี่ยฟังมโหรีอยู่ที่หอ | |
เห็นหมื่นไวยมาที่นั่นให้ตันฅอ | เจ้าโจทย์ใหญ่กวนก่อเนื้อความโกง |
ไฉนใจช่างไม่ดีมีแต่ปด | รูปร่างก็หมดจดโอ่โถง |
ช่างไม่คิดอนิจจังยังแต่โครง | สักหน่อยจักเข้าโลงไปตามกัน |
ดูกิริยาจะใคร่พลอดเห็นขอดคิ้ว | ใจขี้ริ้วราวกับยักษ์มักกระสัน |
เดชะบุญให้ได้คุมสักสามวัน | จะยั่วเย้าเอาให้หันเปนปั่นไบ |
พอเห็นเจ้าคุณออกมานั่งไม่ทันราบ | กราบกราบด้วยใจภักดิ์รักใคร่ |
หมอบเยื้องชำเลืองดูพระนายไวย | คอยฟังไนยที่รำพรรณทุกอันมา |
ครั้นถึงข้อยืมของขอให้คืน | ดูหมื่นไวยเหมือนจะชื่นรื่นร่า |
ถึงข้อไม่เสียของหมองวิญญา | เมื่อปะตาอาการพานสเทิน |
อกแดงตาคร่ำดำขอบเนตร | สังเกตดูกิริยาอัชฌาเขิน |
ครั้นจะแย้มยิ้มบ้างระคางเกิน | ต้องกลั้นเมินเสงี่ยมเจียมฟัง |
เห็นเสร็จความพอควรจึงทวนสนอง | กระผมของก็ไว้ค้างวางสันหลัง |
อารมณ์เธอพานดุมุทลุดัง | มักฟังคำคนที่คนพาล |
ครั้งนี้ไม่ถอยหลังเธอตั้งก่อ | ดีฉันเห็นผู้ต่อก็จำสาน |
ถึงคดีในหาท่าประจาน | ก็แจ้งการตระหนักประจักษ์ใจ |
ล้วนใส่สร้อยแกมก่อในข้อคิด | สัปติดจะมีจริงก็หาไม่ |
เหมือนปืนกาเครื่องชาที่ยืมไป | นี่ได้ให้เงินซื้อถึงมือนาย |
ใช่แต่สองต่อสองใครไม่รู้ | ผู้มีชื่อแจ้งอยู่มากหลาย |
ถึงม้าผ่านที่ท่านกรมวังตาย | บาญชีจดกฎหมายไว้หลายบาญ |
อันสิ่งของทั้งนั้นนั่นใส่สร้อย | ดาบด้อยเปล่า ๆ มาว่าขาน |
เกล้าผมมีเหลือใช้ไม่ต้องการ | ครั้งนานสงขลาเก่าลาวพวน |
เหมือนพายคิ้วคาดลวดพึ่งได้ยิน | หลายแผ่นดินจนกระทั่งมาตั้งสวน |
นี่หากต่อใต้เท้าไม่บังควร | ถ้าที่อื่นจะสำรวลเล่นสักฮา |
ความเกรงบารมีเปนที่ล้น | ให้อั้นอ้นโดยจริงทุกสิ่งว่า |
ซึ่งโปรดให้คืนรักสมัคษมา | จะรับใส่เกษาไว้ครั้งเดียว |
อันพระคุณนี้ล้นพ้นประมาณ | ว่าขานประนอมหน่วงเหนี่ยว |
สุดจะสมสมานประสานเกลียว | ต่างจะคลายหายเหี่ยวเข้าคืนแล |
เหมือนถ้วยโถแตกร้าวเอากาวติด | ถึงสนิทถ้าเขม้นก็เห็นแผล |
ตามแต่ดำริห์บั่นผ่อนผันแปร | โปรดแก้แต่ให้พ้นอาย เอย ฯ |
ฯ ๓๐ คำ ฯ