ว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา
๏
ด้านขื่อทิศบูรรภ์ศรีอยุทยานั้น ตั้งเวียนทักขินแต่ป้อม
ด้านแปฝ่ายทักขินทิศแต่หัวษารภามุมกรุงมา มีปตูช่องกุด ๑ แล้วมาถึงป้อม
ด้านขื่อปัดจิมทิศ แต่หัวเลี้ยววัง
ด้านแปฝ่ายอุตรทิศนั้น แต่ป้อมปืนนั้นมามีปตูช่องกุด ๑ จึงมาถึงปตูใหญ่ออกตลาดขายปลาสถชื่อปตูสัตศษ ๑ แล้วมีปตูช่องกุด ๑ จึงมาถึงป้อมปืนใหญ่ก่อใหม่ชื่อป้อม
ในพระราชถานพระราชวังหลวง
ทิศบูรรภ์มุมวังมีป้อมปืน
ด้านทักขีนปตูวิจิตรพิมล ๑ ปตูมงคลภิศานดิ์ ๑ สุดท้องสนามหน้าจักรวัติ ถึงปตูหูช้าง
ด้านประจิม ปตูช่องกุด
ด้านอุดร แต่ป้อมมาถึงปตูบวรนารีมหาภพชนย์ คือปตูดิน ๑ แล้วมาถึงปตู
มีศาลาลุกขุนใน
พระมหาปราสาทสุริยามรินทร์นั้น
และวังจันท
ตั้งด่านคอยเหตุตามแม่น้ำเข้ากรุงสี่ทิศบูรรภ์ขนอน
แลด้านขื่อบูรรภ์ทิศ แต่หัวรอมาถึงเรือจ้างข้ามไปวัดตพานเกลือ
ด้านแปทิศทักขิณ เรือจ้างข้ามไปวัดเจ้าพระแนงเชิง ๑ เรือจ้างท้าหอย
ด้านขื่อประจิมทิศ เรือจ้างบ้านชียข้ามออกไปวัดไชยราม (วัดไชยวัฒนาราม) ๑ เรือจ้างวังหลังข้ามออกไปวัดลอดฉอง
ด้านแปอุตรทิศ เรือจ้างปตูสตคบข้ามออกไปวัดขุนยวน ๑ เรือจ้างข้ามออกไปวัดติน
แม่น้ำรอบกรุงทั้งสี่ด้าน มีทำนบรอตำบล ๑ เรือคอยสองตำบลเรือจ้างยี่สิบตำบล แต่ข้ามแม่น้ำยี่สิบสามตำบลแล
มีตลาดเรือที่แม่น้ำรอบกรุง เป็นตลาดเอกสี่ คือตลาดน้ำวน
มีตลาดบนบกนอกกำแพงกรุง แต่ในขนอรทั้งสี่ทิศเข้ามาจนริมแม่น้ำรอบกรุงนั้น คือตลาดวัดพระมหาธาตุ
ในกรุงเทพมหานครมีถนนหลวง
แลมีตะพานไม้ตะพานอิดเดิรข้ามคลองในกำแพงกรุง ตะพานไม้ข้ามคลองหอรัตนไชย ๑ ตะพานอิด
คลองปตูเข้าเปลือกตลอดตรงออกปตูจีน มีตะพานก่อด้วยสิลาแลงชื่อตะพานช้าง
คลองปตูเทษสมีเข้ามาจนลำคูปากสมุท แบ่งน้ำกลางเมืองออกริมตะพานนาคบรรจบกับคลองปตูเทษ มีตะพานอิดแต่บ้านแขกใหญ่ข้ามมาถนนบ้านแหชื่อตะพานวานร
คลองปตูไชย
คลองปตูปากท่อตรงมาออกปตูฉะไกรใหญ่ มีตะพานไม้ชื่อตะพานขุนโลก ๑ มีตะพานไม้ตรงถนนวัดขวิดข้ามไปวัดกุฎิฉลัก ๑ มีตะพานอิดตรงถนนตะแลงแกงข้ามไปถนนลาว ชื่อตะพานลำเหย
แลในกำแพงกรุงเทพมหานคร มีตำบลย่านร้านตลาดขายของสรรพของเป็นร้านชำ ตลาดขายของสดช้าวเย็น ตลาดปตูดินหน้าพระราชวังหลวงขายของสดช้าวเย็น ๑ ตลาดถ้าขันขายหมากพลูตรวยเมี่ยงห่อสำหรับบวดนาค วังตรา ร้านชำหุงเข้าแกงขายคนราชการ แลขายของสดช้าวเย็นในย่านตลาดหน้าวังตรา ๑ ตลาดป่าตะกั่วมีร้านชำขายลูกแหแลเครื่องตะกั่ว ฟ่ายแลด้ายขาวด้ายแดง ขายของสดช้าวเย็นในย่านป่าตะกั่วตลาด ๑ ย่านป่ามะพร้าวขายมะพร้าวห้าวปอก มะพร้าวอ่อน มะพร้าวเผา ๑ ย่านป่าผ้าเหลืองขายผ้าไตรแลจีวร ๑ ย่านป่าโทนขายเรไรปี่แก้ว หีบไม้อุโลกใส่ผ้าช้างม้าศาลพระภูมิ ๑ ย่านป่าขนมขายขนมชะมดกง เกวียนภิมถั่วสำปนี ๑ ย่านป่าเตียบขายตะลุ่ม ภานกำมะลอ ภานเลวตะลุ่มเชี่ยนหมาก ๑ ย่านป่าถ่านขายสรรพผลไม้ซ่มกล้วยแลขายของสดช้าวเย็น ๑ ตลาดหน้าพระมหาธาตุ ขายเสื่อตนาวเสื่อแขก เครื่องอัฐบริขาน ฝาบาตรเชีงบาตรตราดตาละปัด ๑ ย่านขันเงินขายขันจอกผอบตลับเงินเลวแลถมยาดำ สายสอิ้งกำไร บนปักจุกพริกเทดกจับปิ้ง ๑ ย่านป่าทองขายทองคำเปลว ทองนากเงิน มีตลาดขายของสดช้าวเย็น ๑ ย่านป่ายาขายสรรพเครื่องเทศเครื่องไทครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง ๑ เชีงตะพานชีกุนตวันตกแขกขายกำไลมือ กำไลเท้า ปิ่นปักผม แหวนหัวมะกล่ำแหวนลูกแก้ว กระดึง พราหมณ์หน้าวัดช้างขายกะบุงตะกร้ากะโล่ครุเชือกเสื่อลวด มีสรรพเครื่องใช้ครบ ๑ ย่านชียกุนขายดอกไม้เพลิง สุราแช่สุราเข้ม ที่ศาลามีตลาดขายของสดช้าวเย็น ชื่อตลาดเสาชิงช้าชีกุน ๑ ย่านวัดกระชีช่างทำพระพุทธรูปด้วยทองคำนากเงินสำฤท ๑ ย่านขนมจีนทำขนมเปียใหญ่น้อยขาย ๑ ย่านบ้านวัดน้อยปตูจีนขายปรอด ทองเหลืองเคลือบ ๑ ย่านในไก่เชีงตพานปตูจีนไปเชีงตพานปตูไนไก่ เป็นย่านจีนอยู่ตึกทั้งสองฟากถนนหลวง นั่งร้านขายของสรรพเครื่องสำเภา ไหมแพรทองขาวทองเหลืองถ้วยโถชามเครื่องสำเภาครบ มีตลาดขายสุกรปลาของสดช้าวเยนอยู่ในย่านในไก่ ๑ ย่านสามม้าแต่เชิงตพานในไก่ตวันออกไปถึงหัวสาระภามุมกรุงเทพมหานคร จีนทำเครื่องจันอับแลขนม ทำโต๊ะเตียงแลถังน้อยใหญ่ แลทำสรรพเครื่องเหลก แลมีตลาดขายของสดช้าวเยนแต่หัวโรงเหลกไปจนปตูช่องกุด ถ้าเรือจ้างวัดผะแนงเชีงอยู่ในย่านสามม้าตลาด ๑ ย่านป่าทุ่งวัดกระบือวัดวัว แต่ก่อนมีตลาดมอญพะม่าฆ่าเปดไก่ขาย ครั้นสมเด็จพระมหากระษัตร (เห็นจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เสด็จขึ้นปราบฎาภิเศกทรงพระกรุณาแก่สัตว์ โปรดให้เลิกตลาดซึ่งฆ่าเปดไก่เสีย ๑ ย่านปตูเจ้าจันท์ มีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ย่านหอรัตนไชยมีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ย่านโรงเตียงหอรัตนไชย ทำเครื่องเตียงนอนเก้าอี้นั่งถักวายขายย่าน ๑ ย่านกองเชิงล้วนเครื่องทองเหลืองตะกั่ว ๑ บ้านป่าชมภูขายผ้าชมภูคาตราตคดหนังไก่ ผ้าชมภูเลวผ้าภิมเลว ๑ ย่านป่าไหมป่าเหลกฟากถนนซีกหนึ่ง ขายไหมครุยไหมฟั่น ไหมเบญพรรณ์ ฟากถนนซีกหนึ่งขายมีดพร้าขวานจอบเสียมตะปูปลิงบิหล่า มีตลาดขายของสดช้าวเยน ชื่อตลาดตะพานหน้าคู อยู่ในย่านป่าเหลกป่าไหมย่านเดียวกัน ๑ ย่านป่าฟูกขายแต่ฟูกแลหมอนเมาะ ๑ ย่านป่าทุงหมากก็ว่าป่าผ้าเขียวก็ว่าขายเซื่อเขียวเซื่อขาวเซื่อจีบเอวเซื่อฉีกอกเซื่อกรวมหัว กังเกงเขียว กังเกงขาว ล่วมศักลาด ล่วมเลว ถุงหมากศักลาดปักทองประดับกระจกถุงหมากเลว ถุงยาสูบประปักทองประดับกระจก ถุงยาสูบ ผ้าลายต่างกันสำหรับทิ้งทาน ซรองพลูศักลาดปักทองประดับกระจก ซรองพลูเลวศักลาดเขียวแดง แล้วรับผ้าแขกจามวัดแก้วฟ้า วัดลอดช่องมาใส่ร้านขาย ๑ ย่านตะแลงแกงขายของสดช้าวเยนเรียกว่าตลาดหน้าคุก ๑ ย่านหน้าพระกาลมีร้านชำขายหัวในโคลงไนปั่นฝ้าย ๑ ย่านบ้านช่างทำเงิน แล้วไปย่านป่าผ้าเหลืองป่ามะพร้าวหน้าวัดป่าภาย แล้วไปย่านหน้าจวนคลังทำหีบฝ้ายขาย ย่านป่าตองขายฝ้ายขายรัก มีตลาดขายของสดช้าวเยนหน้าพระคลังสินค้าอยู่ในย่านป่าตอง ๑ ย่านป่าดินสอริมวัดพระงามขายดินสอขาวดินสอดำ ๑ ย่านบ้านแห ขายแหแลเปลป่านด้ายตะภอแลลวด มีตลาดขายของคาวปลาสดช้าวเยน อยู่ในบ้านแขกใหญ่ชื่อตลาดจีน ๑ ย่านวัดฝางวังจันทน์ ทำหัวไนโครงไนหีบฝ้ายขาย มีตลาดขายของสดช้าวเยนอยู่ในย่านวัดฝาง ๑ ย่านปตูดินวังจันทน์มีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ย่านปตูถ้าช้างวังจันทน์มีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ย่านถนนวัดซรองมีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ย่านถ้าทรายมีร้านชำขายผ้าสองปักเชีงปม แลผ้าปูมผ้าไหมผ้าจวนต่าง ๆ มีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ย่านเชีงตพานช้างตวันออก มีตลาดขายของสดช้าวเยนหน้าวัดกล้องตลาด ๑ มีตลาดขายปลาแลของสดที่เชิงตพานช้าง ๑ มาย่านหลังวัดนกหน้าวัดโพงมีร้านชำไทมอญขายขันถาดภานน้อยใหญ่ สรรพเครื่องทองเหลืองครบ แลมีตลาดขายของสดช้าวเยนอยู่ในย่านหน้าวัดนก ๑ ที่ศาลาห้าห้องหน้าวัดพระมหาธาตุมีแม่ค้านั่งคอยซื้อมีดพร้าขวานชำรุดเหลกเล็กน้อยขายตลาด ๑ ย่านหน้าสาระภากอนในนอก มีตลาดขายของสดช้าวเยนชื่อตลาดเจ้าพรม ๑ ย่านป่าสมุดแต่หน้าวัดพระรามมาจนศาลเจ้าหลักเมืองมาหน้าวัดหลาว (วัดลาว) วัดป่าฝ้ายมีร้านชำขายสมุดกะดาด ๑ มีตลาดขายของสดช้าวเยนริมคลองหลังวัดระฆังตลาด ๑ ย่านเชีงตพานลำเหยตวันออก มีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ฟากคลองปากท่อตวันตก หน้าวัดบระโภค (วัดวรโพธิ) ริมกำแพงโรงไม้ (โรงไหม) มาจนบ้านชาวแตร มีตลาดขายของสดช้าวเยนชื่อตลาดยอด ๑ ย่านปตูห่านมีตลาดขายของสดช้าวเยน ๑ ถัดย่านตลาดยอดไปนั้น มีตลาดขายของสดช้าวเยนชื่อตลาดหัวเลี้ยว ๑ หน้าปตูสัตคบ มีตลาดขายกุ้งปลาสดชื่อตลาดสัตคบ ๑ ริมคลองฟากหนึ่งมีตลาดขายของสดช้าวเยนชื่อตลาดเลม ๑ หน้าวัดสิงห์มีตลาดขายของสดช้าวเยนชื่อตลาดวัดสิงห์ ๑ หน้าวัดเกษข้างฉางมหาไชย
ริมแม่น้ำทั้งสองฟากรอบกรุงเทพมหานคร ข้าทูลลอองธุลีพระบาททำของขายต่างต่างกันเป็นย่านเป็นตำบล ย่านสัมพะนีตีสกัดน้ำมันงาน้ำมันลูกกะเบาน้ำมันสำโรงขาย พวกหนึ่งทำฝาเรือนฝาหอด้วยไม้ไผ่กรุแผงดำขาย พวกหนึ่งทำมีดพร้าหล่อครกเหลกขาย ทั้งสามจำพวกนี้อยู่ในย่านสัมพะนี บ้านม่อปั้นม่อเข้าม่อแกงขาย บ้านกระเบื้องทำกระเบื้องผู้เมียกระเบื้องเกลดเต่าขาย บ้านศาลาปูนเผาปูนขาย บ้านเขาหลวงจีนตั้งโรงต้มสุราขาย บ้านห้าตำบลนี้อยู่ในแคว้นเกาะทุ่งขวัน
-
๑. ฉะบับเดิมตอนนี้เป็นทำนองร่ายกลาย ๆ เขียนด้วยตัวรง มีรอยแก้ด้วยดินสอขาวให้เป็นร้อยแก้ว เห็นเป็นของควรรักษา จึงหมายไว้ให้ดู คำในวงคือฉะบับตัวรงที่ถูกวงออก คำที่เขียนตัวเอนใต้กากบาทคือรอยดินสอขาวแก้ไว้ ↩
-
๒. แผ่นดินตรงที่ตั้งกรุงศรีอยุธยาแต่เดิมมาไม่ได้เป็นเกาะ เป็นแหลมยื่นออกไปทางทิศตะวันตก ด้านเหนือ ด้านใต้ ด้านตะวันตกของแหลมนี้จรดแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ซึ่งไหลลงทางบางแก้วท้ายเมืองอ่างทอง มาทางบ้านโพธิ์สามต้นลงทางหน้าวัดแม่นางปลื้ม ผ่านด้านเหนือพระราชวัง ออกบรรจบแม่น้ำน้อยที่หัวแหลม ลงทางหน้าป้อมเพ็ชร์ เป็นแหลมมีแม่น้ำล้อมสามด้าน เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๑ (อู่ทอง) สร้างกรุง จึงให้ขุดคูด้านตะวันออกตั้งแต่ริมแม่น้ำที่หัวรอหน้าป้อมมหาไชย ลงไปบรรจบแม่น้ำหน้าป้อมเพ็ชร์ เรียกว่าขื่อหน้า แต่นั้นมาพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้ขุดคูขยายให้กว้างออกไปเป็น ๑๐ วา ลึก ๓ วา เมื่อนานมาสายน้ำเดินทางคูขื่อหน้าแรงจัดขึ้น จึงกัดเซาะตลิ่งพังกว้างออกไปเป็นแม่น้ำ คือ ตอนตั้งแต่หน้าวังจันทร์ลงไปถึงหน้าป้อมเพ็ชร์เดี๋ยวนี้
กำแพงพระนคร ในหนังสือฉะบับนี้ว่า สูง ๓ วา หนา ๑๐ ศอก ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า สูง ๓ วา หนา ๙ ศอก สันนิษฐานว่าเมื่อแรกสร้างกรุงคงจะเป็นแต่ขุดดินขึ้นถมเป็นเทิน เช่นอย่างเมืองอู่ทอง เมืองลพบุรี ภายหลังจึงเกลื่อนเทินดินลงเป็นคัน ก่อกำแพงอิฐขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ตัวเชิงเทินในที่ลุ่มสูงกว่าระดับดินเดิมตั้งแต่วา ๑ ถึง ๖ ศอก เว้นแต่ที่ดินเดิมสูงหรือด้วยการถมเช่นที่พระราชวังหลวงและวังจันทร์ เชิงกำแพงพระนครด้านข้างในจึงตั้งเสมอพื้นดิน ตัวกำแพงยังมีเศษเหลือจากรื้ออยู่ที่ข้างวัดท่าทรายแห่งหนึ่ง วัดได้สูงจากหลังเชิงเทินดินถึงที่ตั้งใบเสมา ๙ ศอกเศษเกือบคืบ กับขุดได้ใบเสมากำแพงพระนครยังเป็นรูปดีอยู่เสมาหนึ่ง สูง ๒ ศอกคืบ กว้าง ๒ ศอก หนาศอกคืบ ถ้าจะเอาใบเสมานั้นไปตั้งเข้าบนเศษกำแพงข้างวัดท่าทราย ก็เปนกำแพงอิฐสูงราว ๓ วาตรงกัน ส่วนหนาวัดได้ ๒ วาเศษ ก่ออิฐ ๒ ข้างไว้ร่องกลาง ถมดินกับอิฐหัก ตอนหลังใบเสมาเว้นเป็นเทินสำหรับทหารรักษาหน้าที่กว้าง ๖ ศอก กำแพงพระนคร วัดตามเส้นตรงในที่ยาวที่สุดได้ราว ๑๐๐ เส้น แต่ส่วนกว้าง วัดในที่แคบ คือ จากมุมพระราชวังหลวงไปประตูไชยหย่อนกว่า ๕๐ เส้นเล็กน้อย แต่ถ้าที่กว้างก็เกินกว่า ๕๐ เส้นบ้าง นับว่าเป็นอันถูกต้องได้ เมื่อเลื่อนราชธานีลงมาประดิษฐานณบางกอกแล้ว ในรัชชกาลที่ ๑ โปรดให้รื้อป้อมกำแพงและสถานที่ต่างๆ เอาอิฐลงมาสร้างกรุงเทพพระมหานคร จึงยังคงเหลืออยู่แต่ป้อมเพ็ชร์กับป้อมสองฟากคลองประตูเข้าเปลือกข้างวัดท่าทราย และเศษกำแพงที่หน้าวัดญาณเสนแห่งหนึ่ง เศษกำแพงมีประตูช่องกุฏิ์ที่ข้างวัดจีนตรงวัดพนัญเชิงข้ามแห่งหนึ่งเท่านั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ พระยาไชยวิชิต (นาค ณป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงได้ให้เกลื่อนที่บนสันกำแพงทำเป็นถนน ตั้งแต่ป้อมเพ็ชร์ไปถึงวังจันทร์ตอน ๑ ยาว ๗๐ เส้น ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เมื่อเป็นพระอนุรักษ์ภูเบศร์และเป็นผู้รักษากรุงได้ทำถนนตอนที่พระยาไชยวิชิตทำไว้ให้ได้ระดับ และทำต่อไปจนรอบกรุง ระยะยาว ๓๑๐ เส้นเศษ ต่อมาได้จัดการให้โรยหินถมถนนตั้งแต่เชิงสะพานหน้าวัดสุวรรณไปจนถึงท่าวาศุกรี และกะโครงการไว้ว่า จะได้ถมหินต่อไปจนสุดถนนในเขตรสุขาภิบาล กับสร้างสะพานไม้ข้ามคลองรอบกรุงที่เป็นสะพานใหญ่ก็มีหลังคามุงสังกะสีเป็นที่คนเดิรทางพัก แต่ภายหลังมาคลองบางสายไม่ได้ใช้ เมื่อสะพานชำรุดจึงรื้อเสียและถมดินเชื่อมกับถนน และบางสะพานก็เปลี่ยนเป็นก่ออิฐ และเทคอนกรีต เช่นสะพานมหาไชย สะพานคลองประตูเข้าเปลือก สะพานคลองหน้าวัดสุวรรณ ↩
-
๓. ป้อมมหาไชย อยู่ตรงตลาดหัวรอเดี๋ยวนี้ ↩
-
๔. ท่าช้างวังหน้า อยู่ใต้ป้อมมหาไชยลงมา ↩
-
๕. ประตูฉนวนวังหน้า อยู่ใต้สะพานจันทรเกษมเดี๋ยวนี้ ↩
-
๖. ป้อมนี้อยู่ตรงข้างวัดขวาง ซึ่งเป็นโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ในปัจจุบันนี้ ↩
-
๗. ประตูหอรัตนไชยเป็นประตูน้ำอยูใต้สถานีตำรวจภูธร ชาวบ้านเรียกว่าคลองวัดปราสาท ↩
-
๘. ประตูเจ้าจันทร์ จะเป็นประตูปลายถนนที่ตรงมาจากป่าถ่าน หรือจะเป็นประตูปลายถนนที่มาจากป่าโทนอย่างไรรู้ไม่ได้ในเวลานี้ ↩
-
๙. ป้อมนี้อยู่ใต้สะพานหน้าวัดสุวรรณ ตรงวัดเกาะแก้วข้าม ในพงศาวดารเรียกว่า หอราชคฤห์ ↩
-
๑๐. ป้อมนี้อยู่ตรงวัดพนันเชิงข้าม ↩
-
๑๑. ป้อมเพ็ชร์อยู่ตรงแม่น้ำบางกระจะ ป้อมนี้เป็นป้อมใหญ่ ก่อด้วยอิฐสลับสิลาแลง ยื่นออกไปจากแนวกำแพงพระนครเป็นรูปรี กำแพงหนา ๓ วา มีช่องคูหาก่อเป็นรูปโค้ง กว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก หลังช่องคูหาเป็นช่องกลวงตามยาวเหลืออยู่ ๕ ช่อง ด้านหน้าคงจะพังไปเสีย ๓ ช่อง สันนิษฐานว่า คงจะตั้งปืนใหญ่ตามช่องคูหา แต่เมื่อข้าศึกประชิดใกล้เข้ามา ก็ถอยปืนใหญ่เข้าไปให้พ้นช่อง แล้วเอาเสาไม้แก่นปักเรียงลงเต็มช่องคูหา ↩
-
๑๒. ประตูในไก่เป็นประตูน้ำอยู่เหนือป้อมเพ็ชร์ คลองนี้ตรงไปหลังวังจันทร์ เลี้ยวขวาไปออกคลองประตูหอรัตนไชย ข้างซ้ายมีคลองลัดไปออกคลองประตูเข้าเปลือก ↩
-
๑๓. ป้อมอกไก่พบรากอยู่ใต้คลองประตูจีนลงมา ↩
-
๑๔. ประตูจีนเป็นประตูน้ำ คลองสายนี้ตรงไปข้างเหนือ ออกประตูคลองเข้าเปลือก ↩
-
๑๕. ประตูเขาสมีเป็นประตูน้ำ ในหนังสือบางเรื่องเรียกว่า ประตูเทพหมี ↩
-
๑๖. ป้อมนี้พบราก ↩
-
๑๗. ที่ลงลำดับอยู่นั้นผิด ที่ถูกในประตูฉะไกรน้อย และเป็นประตูน้ำ คลองนี้ตรงไปข้างเหนือ ↩
-
๑๘. ที่ลงลำดับว่าประตูฉะไกรน้อยนั้นผิด ที่ถูกเป็นประตูไชย และเป็นประตูบก แล้วเลี้ยวไปตะวันออก ไปบรรจบคลองประตูจีน ↩
-
๑๙. ประตูคลองใหญ่เป็นประตูน้ำ อยู่ตรงหน้าวัดพุทไธสวรรย์ข้าม คลองนี้ตรงไปออกข้างเหนือเรียกว่า คลองท่อ อยู่ท้ายพระราชวัง ↩
-
๒๐. ป้อมนี้พบราก และคลองที่เรียกว่า คลองละคอนไชย คือคลองตะเคียนข้างเหนือเดี๋ยวนี้ ↩
-
๒๑. เป็นวังเดิมของพระเฑียรราชา เมื่อครองราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แล้วจึงโปรดให้สร้างเป็นวัดชื่อวัดวังไชย ↩
-
๒๒. ประตูคลองแกลบ เป็นประตูน้ำ ชาวบ้านเรียกว่าคลองท่าพระ ↩
-
๒๓. พระราชวังหลังอยู่ระวางวัดสวนหลวงกับวัดน้อย เดี๋ยวนี้เป็นที่ในบริเวณโรงทหาร ↩
-
๒๔. ประตูคลองฉางมหาไชย เป็นประตูน้ำระวางวัดสวนหลวงกับวัดสบสวรรค์ อยู่ในบริเวณโรงทหาร เดี๋ยวนี้ถมเสียแล้ว ↩
-
๒๕. ประตูคลองฝาง เป็นประตูน้ำ คลองนี้อยู่สุดเขตต์ข้างเหนือโรงทหาร ↩
-
๒๖. ในพงศาวดารเรียกว่า ป้อมท้ายกบ ↩
-
๒๗. ป้อมนี้อยู่ระวางข้างวัดโคกกับวัดตึก ↩
-
๒๘. ประตูปากท่อ เป็นประตูน้ำปากคลองท่อ มุมพระราชวังด้านตะวันตกข้างเหนือ ↩
-
๒๙. ประตูท่าสิบเบี้ย อยู่ตรงพระอุโบสถวัดธรรมิกราชออกมาข้างเหนือ ↩
-
๓๐. กำแพงด้านนี้ ตั้งต้นปัดไปข้างเหนือหรือที่เรียกว่าทุ้งออกไปนั้น เป็นตั้งแต่ริมช่องที่เรียกว่า คลองน้ำเชี่ยว ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นช่องมหาเถรไม้แซ่เป็นต้นไป ที่ว่าต่อจากกำแพงทุ้งออกไปมีประตูช่องกุฎิ ๑ จึงถึงช่องมหาเถรไม้แซ่นั้นเห็นจะลำดับผิด และกำแพงพระนครมีที่ทุ้งอยู่ด้านพระราชวังข้างเหนือริมน้ำอีกแห่ง ๑ ด้านนั้นเดิมมีกำแพงชั้นเดียว คือ เอากำแพงพระนครเป็นกำแพงวังด้วย ครั้นต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกทัศนราชา (นัยหนึ่งเรียกว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเหตุที่โปรดประทับอยู่ที่พระที่นั่งองค์นั้นจนตลอดรัชชกาล) อลองพญาเจ้าแผ่นดินพะม่ายกทัพเข้ามาล้อมกรุง สมเด็จพระอุทุมพรราชา ซึ่งละราชสมบัติออกทรงผนวชอยู่ที่วัดประดู่ ซึ่งเรียกกันว่า ขุนหลวงหาวัด ลาผนวชออกมาทรงช่วยสมเด็จพระเชษฐาธิราชจัดการป้องกันพระนคร โปรดให้ก่อกำแพงขึ้นใหม่ในที่ต่ำออกไปอีกชั้นหนึ่ง ตั้งแต่มุมพระราชวังด้านตะวันออกไปจนถึงมุมตะวันตก รากกำแพงอยู่ต่ำกว่าระดับถนน เมื่อทำการขุดตรวจค้นรากปราสาทราชฐาน ได้ขนเอาอิฐหักกากปูนและมูลดินในวังออกไปถม ทับรากกำแพงที่ก่อทุ้งออกไปใหม่ ทางด้านนี้จึงดอนขึ้น คือที่เป็นถนนย่านท่าวาสุกรีทุกวันนี้ ↩
-
๓๑. มีรางอยู่ที่ถัดหน้าวัดญาณเสนไปรางหนึ่ง ทลุเข้าไปจากรากกำแพงด้านเหนือ ชาวบ้านเรียกว่า คลองน้ำเชี่ยว ว่าแต่ก่อนเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำไหลเข้าทางรางนั้นเชี่ยวจัดไปลงบึงพระราม เห็นว่าน่าจะเป็นรางนี้เอง ที่เรียกว่าช่องมหาเถรไม้แซ่ คือ เป็นที่ไขเอาน้ำทางแม่น้ำข้างเหนือเข้าไปในบึงพระราม เดิมคงจะมีช่องให้น้ำลอดใต้รากกำแพงเข้าไป และมีช่องให้น้ำไหลลอดถนนป่าตะกั่วไปตกคลองข้างในไหลลงบึงพระราม ข้างด้านใต้บึงพระรามก็มีคลองลงไปออกประตูเทพหมี ออกแม่น้ำใหญ่ทางใต้ได้เหมือนกัน นี้คือวิธีถ่ายน้ำในบึงพระรามให้สอาด ในแผนที่ของพวกฝรั่งเศสเขาเขียนเป็นคลองต่อพ้นแนวถนนป่าตะกั่วออกไป ตั้งแต่ข้างถนนจนกำแพงเมืองเป็นพื้นทึบ คงก่อช่องมุดลอดไป รางปากช่องคงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อรื้อกำแพง แต่เดี๋ยวนี้ได้ถมเสียเป็นพื้นดินเชื่อมกับถนนแล้ว ↩
-
๓๒. ท่ากระลาโหม อยู่ถัดมาทางตะวันออก ท่านี้มีถนนตรงไปทางใต้ ผ่านถนนป่ามะพร้าวไปหลังวัดราชบุรณะ วัดมหาธาตุ สองข้างถนนฟากเหนือใต้เป็นเนินพื้นโรงช้างเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร เมื่อช้างหลวงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมาก กรมช้างก็ยังเคยใช้พื้นเนินนี้เป็นที่ล่ามช้าง โดยเหตุที่ท่านี้เคยใช้เอาช้างลงน้ำมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนกรุงรัตนโกสินทร ถนนตอนที่จะลงท่าจึงลึกเหมือนคลอง แต่บัดนี้ได้ถมดินปิดช่องเชื่อมกับถนนสันกำแพงเสียแล้ว ↩
-
๓๓. ประตูคลองเข้าเปลือกเป็นประตูน้ำอยู่ระวางวัดราชประดิษฐานกับวัดท่าทราย มีป้อมก่อรูปพับสมุดอยู่สองฟากคลอง แปลกกว่าปากคลองอื่น ๆ แต่ที่หนังสือนี้กล่าวว่า จากประตูเข้าเปลือกไปมีประตูช่องกุฎิ ๑ จึงถึงป้อมปืนนั้นพลาด เพราะป้อมอยู่ที่ปากคลองแล้ว
จำนวนป้อมรอบพระนครในหนังสือนี้ว่ามี ๑๒ ป้อม แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่ามี ๑๖ ป้อม ผู้ตรวจหนังสือเรื่องนี้ได้เคยค้นตรวจสอบก็พบหลักฐานว่ามี ๑๖ ป้อม ประตูรอบพระนครในหนังสือนี้ว่ามีประตูใหญ่ ๒๓ ประตูช่องกุฎ ๖๑ ตรวจดูได้ประตูใหญ่บก ๑๑ ประตูน้ำ ๑๒ รวม ๒๓ ตรงกัน แต่ท่านผู้เรียบเรียงหนังสือเดิมไปนับเอาประตูไชย ซึ่งเป็นประตูบกไปอยู่ในพวกประตูน้ำเข้าด้วยจึงเป็น ๑๒ ที่ถูกต้องเป็นประตูน้ำ ๑๑ ประตูบก ๑๒ ช่องกุฎิ ๖๑ รวมเป็น ๘๔ แต่ไม่นับประตูกำแพงพระนครด้านเหนือตอนที่เป็นพระราชวังอีก ๕ ประตูเข้าด้วย เพราะเป็นประตูพระราชวัง แต่ถ้านับรวมเข้าด้วยก็เป็น ๘๙ ในแผนที่ของพวกฝรั่งเศสลงหมายช่องประตูน้ำประตูบกทั้งใหญ่น้อยรอบกำแพงพระนคร นับได้ ๘๖ ประตู จำนวนใกล้เคียงกันมาก แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า มีประตูน้ำประตูบกรวม ๓๓ ในจำนวนนี้ยังนับเอาประตูพระราชวังด้านหน้า ซึ่งมิได้เกี่ยวกับกำแพงพระนครมารวมเข้าด้วย ทั้งเรียงลำดับชื่อประตูก็ไขว้เขว คลาดเคลื่อนมาก เอาเป็นหลักสู้ฉะบับนี้ไม่ได้
ประตูใหญ่กำแพงพระนครด้านเหนือ ซึ่งเป็นด้านข้างพระราชวังได้เห็นลายเขียนภาพรูปพระราชวังที่ผนังพระอุโบสถวัดยม ซึ่งเป็นฝีมือช่างเขียนแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยายังเป็นราชธานี รูปซุ้มยอดประตูกำแพงพระนครเป็นยอดมณฑป และรูปประตูที่นายช่างฝรั่งเศสเขียนพิมพ์ไว้ในสมุดว่าด้วยเรื่องหมอ เคมเฟอร์ ชาติวิลันดาเข้ามาเฝ้าในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาก็เห็นเป็นซุ้มยอดแหลม จึงสันนิษฐานว่าซุ้มประตูใหญ่ด้านริมแม่น้ำข้างพระราชวังคงจะเป็นยอดมณฑปทั้งหมด แต่่ประตูใหญ่รอบพระนครนอกจากพระราชวังชั้นนอก ซุ้มจะเป็นทรงมณฑปหรืออย่างไร ไม่เคยเห็นตัวอย่าง ส่วนประตูช่องกุฎินั้นยังเหลืออยู่ที่เศษกำแพงพระนคร ที่ข้างวัดจีนตรงหน้าวัดพนันเชิงข้ามอยู่ช่องหนึ่ง ก่อเป็นรูปโค้งปลายแหลม กว้าง ๔ ศอกคืบ สูง ๕ ศอกเศษ
ประตูน้ำนั้น อย่าพึงสำคัญว่าเป็นประตูที่มีบานเปิดปิด หรือมีช่องระบายน้ำอย่างสมัยปัตยุบัน คำที่เรียกว่าประตูนี้ เป็นแต่เว้นช่องกำแพงพระนครตรงปากคลอง สำหรับให้น้ำไหลเข้าออกในกลางพระนครได้ บางปากคลองที่เป็นด้านสำคัญก็มีป้อมอยู่สองฟาก บางคลองที่ไม่เป็นด้านสำคัญก็ไม่มีป้อม แต่เมื่อมีการสงครามข้าศึกศัตรูเข้ามาล้อมพระนคร ก็ใช้ไม้ขอนสักปักเรียงเป็นสองแถวแล้วถมดินหว่างกลางปิดคลอง ไปประจบกับกำแพงทั้งสองข้าง ป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้าพระนครได้ และเมื่อราว ๓๐ ปีล่วงมานี่ ผู้ตรวจสอบหนังสือนี้ได้สดับจากคำผู้หลักผู้ใหญ่ชาวพระนครศรีอยุธยาเล่าว่า เมื่อท่านเหล่านั้นยังอยู่ในปฐมวัย เคยเห็นมีผู้ขุดได้ไม้เต็งรังบ้าง ไม้ตะเคียนบ้าง หน้ากว้างราวคืบ ๔ เหลี่ยม ยาว ๖ ศอก จมขวางอยู่ตามปากคลอง ภายในแนวกำแพงเป็นอันมาก และมีเสาสั้น ๆ ปักอยู่ด้วย จึงทำให้คิดเห็นว่า ตามเวลาปกติเสานั้นคงจะปักรายเต็มปากคลอง เป็น ๔ แถว ไว้ระยะกลางกว้าง แล้วเอาไม้เหลี่ยมวางซ้อนเรียงเป็นตับขึ้นไป ในระวางเสาแถวข้างนอกและแถวใน กลางถมดินเป็นทำนบสูงแต่เพียงสักราวครึ่งส่วนลึกของคลอง เพื่อกั้นนั้นไว้ใช้ในพระนครในระดูแล้ง แต่ถ้าถึงระดูน้ำ ๆ ขึ้นท่วมเลยหลังทำนบไปแล้ว ก็คงใช้เรือเข้าออกในพระนครได้
ต่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชชกาลที่ ๑ เมื่อทรงปฏิสังขรณ์ วัดสุวรรณดาราม ได้โปรดให้ขุดคลองจากหน้าวัดไปออกแม่น้ำสาย ๑ ในรัชชกาลที่ ๔ เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดเสนาสนาราม ได้โปรดให้ขุดคลองที่เหนือวังจันทร์แต่ข้างตลาดหัวรอไปบรรจบคลองหอรัตนไชย และปลายคลองในไก่ เพื่อพระสงฆ์ในวัดนั้นจะได้ใช้น้ำในคลองนั้นบริโภคและใช้เรือเข้าออกได้สดวก จึงเกิดมีจำนวนคลองเพิ่มขึ้นอีกสองคลอง แต่บรรดาคลองเหล่านั้นใช้ได้แต่ระดูน้ำ ↩
-
๓๔. พระราชวังหลวง ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสร้างอยู่ในที่ดอนห่างแม่น้ำราว ๑๒ เส้นเศษ ปรากฏว่าทรงสร้างปราสาท ๓ องค์ คือพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท ๑ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท ๑ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ๑ มาในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร มีออกชื่อพระที่นั่งมังคลาภิเษกเพิ่มขึ้นอีกองค์ ๑ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๑ มีออกชื่อพระที่นั่งตรีมุขอีกองค์ ๑ ครั้นมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระราชอุทิศยกพระราชวังสร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ขยายเขตต์พระราชวังลงไปติดกำแพงพระนครด้านเหนือริมน้ำ แล้วก่อกำแพงพระราชวังด้านตะวันออกต่อจากกำแพงเดิมหน้าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ตรงไปบรรจบกำแพงพระนครด้านเหนือเป็นหน้าพระราชวัง และก่อกำแพงจากมุมหลังวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ยืนตรงไปทางตะวันตก ถึงริมคลองท่อจึงหักมุมยืนไปตามริมแนวคลองท่อ เข้าบรรจบกำแพงพระนครด้านเหนือที่ปากคลองท่อเป็นด้านหลังวัง ทรงสร้างพระที่นั่งเบ็ญจรัตนมหาปราสาทลงในที่พระราชวังใหม่องค์ ๑ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทองค์ ๑ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชื่อพระที่นั่งมังคลาภิเษกขึ้นในพระราชวังใหม่นี้องค์ ๑ พระที่นั่งองค์นี้ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถูกอสนิบาตลุกเป็นเพลิงไหม้ เมื่อทำใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อว่าพระวิหารสมเด็จ เพื่อจะให้คล้องกับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท และในรัชชกาลนั้นได้ทรงสร้างพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนตมหาปราสาทขึ้นบนกำแพงหน้าพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประทับทอดพระเนตร์กระบวนแห่และฝึกหัดทหาร แล้วก่อกำแพงจากแนวข้างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ด้านใต้ ยืนตรงไปทางตะวันออกหักมุมเลี้ยวไปตามหลังวัดธรรมิกราชเข้าบรรจบกำแพงพระนครด้านเหนือ ด้านหน้าพระราชวังจึงมีกำแพง ๒ ชั้น มาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างพระที่นั่งสุริยามรินทร์ขึ้นที่ริมกำแพงด้านเหนือเรียงตามแนวพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทมาอีกองค์ ๑ เป็นพระที่นั่งพื้นสูงกว่าองค์อื่นๆ สำหรับทอดพระเนตร์กระบวนแห่ทางน้ำ ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นในที่ด้านตะวันตกพระที่นั่งวิหารสมเด็จอีกองค์ ๑ ขุดสระล้อมรอบ สร้างพระที่นั่งทรงปืนขึ้นที่ท้ายสระด้านตะวันตกเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออก อนึ่งในกฎมณเฑียรบาลยังมีชื่อกล่าวถึงพระที่นั่งสนามไชย พระที่นั่งสนามจันทร์ พระที่นั่งพิมานรัตยา เห็นจะเป็นพระที่นั่งไม้ย่อม ๆ องค์ไหนจะตั้งอยู่ที่ไหนรู้ไม่ได้
กำแพงพระราชวังในหนังสือฉะบับนี้กับคำให้การชาวกรุงเก่าว่า สูง ๑๐ ศอก หนา ๖ ศอก เว้นชานสำหรับทหารยืนรักษาหน้าที่ ๒ ศอก ตรวจสอบกำแพงพระราชวังด้านใต้ข้างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ได้สูงขาดยอดใบเสมา ๑๐ ศอกตรงกัน แต่กว้างเพียง ๕ ศอกเศษ หลังใบเสมาเว้นเป็นเทินไว้ ๔ ศอก ใบเสมากว้างศอกเศษ สูง ๒ ศอก ↩
-
๓๕. ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า ป้อมท่าคั่น เป็นป้อมมุมพระราชวังด้านตะวันออกข้างเหนือ ↩
-
๓๖. ประตูจักรมหิมาขุดพบช่องประตูอยู่ริมถนนหลังวัดธรรมิกราช ตรงกับแนวประตูหน้าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ ↩
-
๓๗. ประตูศรีไชยศักดิ์ขุดพบช่องประตูอยู่ริมถนนตรงหลังพระวิหารวัดธรรมิกราช ↩
-
๓๘. สนามหน้าจักรวรรดิ์นี้อยู่ในกำแพงพระราชวังชั้นนอกเข้ามา ยาวตั้งแต่กำแพงสกัดข้างเหนือไปจดกำแพงพระราชวังด้านใต้ ↩
-
๓๙. ยังไม่พบ ↩
-
๔๐. ยังไม่พบ ↩
-
๔๑. เป็นป้อมกลางกำแพงพระราชวังด้านหน้า ↩
-
๔๒. ในกฎมณเฑียรบาลเรียกป้อมศาลาสารบาญชี เป็นป้อมมุมพระราชวังด้านตะวันออกข้างใต้ ↩
-
๔๓. เป็นประตูติดกับแนวกำแพงด้านใต้ตรงมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เห็นจะเป็นประตูนี้เองที่ในจดหมายเหตุเรื่องงานพระศพเรียกว่าประตูนครไชย สำหรับเป็นประตูฉนวนข้างในออกไปถวายพระเพลิงพระศพที่พระเมรุกลางเมือง ↩
-
๔๔. ป้อมปืนตรงวัดสีเชียงเป็นป้อมพระราชวังด้านใต้ อยู่เกือบตรงกลางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ หน้าป้อมออกระวางหลังวิหารแกลบกับหน้าวิหารพระมงคลบพิตร์ ในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า ป้อมศาลาพระมงคลบพิตร แต่ในหนังสือนี้ว่าอยู่ตรงกลางวัดสีเชียง นอกจากด้านหลังของป้อมอยู่เกือบกึ่งกลางวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้ว ข้างด้านหน้าป้อมไม่เห็นตรงกับวัดอะไร แต่ก็มีตำนานการสร้างวัดในพงศาวดารฉะบับหลวงประเสริฐว่า เมื่อเดือน ๖ ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช แรกให้พูนดินวัดชีเชียงและสถาปนาพระพุทธรูปพระเจดีย์ เป็นอันว่า วัดชีเชียงหรือวัดสีเชียงมีจริง จะหมายความว่าวิหารแกลบเป็นวัดสีเชียงหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ที่วิหารแกลบก็มีแต่วิหาร หามีพระเจดีย์ไม่ ↩
-
๔๕. ตั้งแต่ป้อมกลางที่เรียกว่า ป้อมศาลาพระมงคลบพิตร์ไปจนถึงป้อมมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไม่พบช่องประตู ↩
-
๔๖. ป้อมมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ด้านตะวันตกข้างใต้ ก่อย่อออกไปเป็นรูป ๔ เหลี่ยม พึ่งพังเสียด้านหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เรียงตามลำดับในกฎมณเฑียรบาลตกเป็นป้อมมุมวัดรามาวาส แต่ไม่ต้องสงสัย จะเป็นป้อมมุมวัดรามาวาส คือ วัดพระรามไม่ได้ ด้วยวัดพระรามอยู่ทางมุมพระราชวังด้านตะวันออก ซึ่งถูกกับทิศป้อมศาลาสารบาญชีอยู่แล้ว คงเป็นด้วยผู้คัดลอกกฎมณเฑียรบาลต่อ ๆ มาในชั้นหลังเขียนผิด ↩
-
๔๗. มีตรงกัน ↩
-
๔๘. ป้อมนี้มุมสระแก้ว เป็นป้อมข้างในวัง อยู่ข้างฉนวนเข้าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ หน้าป้อมหันไปทางข้างในวัง เข้าใจว่าเป็นป้อมของวังเดิม เมื่อยกเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้ว ยังคงไว้ไม่ได้รื้อ ↩
-
๔๙. มีประตูซุ้มเป็นหลังคาคฤหซ้อนอยู่ที่กำแพงพระราชวังด้านใต้ ต่อจากหลังวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ไปประตู ๑ ว่าตามแผนที่ในหนังสือนี้ ก็จะต้องเป็นประตูบวรเจษฎานารี แต่ไม่เห็นสมว่าเป็นประตูสำหรับภรรยาขุนนางเข้าถือน้ำในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เพราะไม่ใช่ทางเข้าวัด เป็นทางออกจากวังไปสวนกระต่าย ถ้าภรรยาขุนนางจะไม่เข้าทางเดียวกับผู้ชายก็น่าจะเข้าประตูหลังวัด หมายเลข ๔๗ จะสมกว่า ↩
-
๕๐. ป้อมสวนองุ่นเป็นป้อมมุมพระราชวังด้านตะวันตกข้างใต้ ชื่อตรงกับในกฎมณเฑียรบาล ↩
-
๕๑. ประตูชลชาติทวารสาคร เป็นประตูไขน้ำเข้าสระพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ↩
-
๕๒. ประตูมหาโภคราช ประตูนี้สำหรับข้าราชการเข้าไปเฝ้าที่พระที่นั่งทรงปืน มีขึ้นในแผ่นดินพระเพทราชา ↩
-
๕๓. ประตูอุดมคงคา เป็นประตูไขน้ำเข้าสระบรรยงก์รัตนาสน์ ↩
-
๕๔. ซ่วมสำหรับพวกชาววัง น่าจะอยู่ริมแม่น้ำนอกกำแพงด้านเหนือ แต่เหตุใดจึงเอาเข้าไว้ในคลองท่อ น้ำที่ไขเข้าไปในสระบรรยงก์รัตนาสน์น่าจะปฏิกูลพออยู่ ↩
-
๕๕. ป้อมปากท่อในกฎมณเฑียรบาล เรียกว่าป้อมท้ายสนม เป็นป้อมมุมกำแพงพระราชวังด้านตะวันตกข้างเหนือ ↩
-
๕๖. ประตูมหาไตรภพชล เป็นประตูฉนวน ตรงไปจากฉนวนในหลังพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ ลงฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรี ที่ปลายถนนตรงช่องประตูออกนอกกำแพงขุดพบอิฐก่อตะแคงลาดจากที่สูงไปหาต่ำ ยังเห็นปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ↩
-
๕๗. ประตูเสาธงไชยนี้ สันนิษฐานว่าไม่ใช่ประตูหูช้าง คงเป็นประตูยอดมณฑปเพราะเป็นประตูกำแพงใหญ่ ในรูปที่ช่างฝรั่งเศสเขียนพิมพ์ไว้ในสมุดต่าง ๆ แถวด้านแม่น้ำเป็นประตูยอดทั้งหมด ↩
-
๕๘. ศาลาลูกขุนในกับศาลหลวง อยู่ในกำแพงพระราชวังชั้นนอกด้านตะวันออก เคยขุดพบดินหยิกเล็บประจำผูกสำนวนบางก้อนก็มีตรา ถูกไฟเผาจนสุกเดี๋ยวนี้เก็บไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์ ↩
-
๕๙. หอแปลพระราชสาส์น ขุดพบรากอยู่ภายในกำแพงพระราชวังชั้นนอกด้านตะวันออกข้างใต้ ↩
-
๖๐. ประตูพิศาลศิลา ในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า ประตูวิมานมงคล แต่ในตำรานี้ว่าประตูพิมานมงคล อยู่ระวางพระวิหารสมเด็จกับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ขุดพบช่องประตูและยอดที่หักลงมา เป็นประตูยอดปรางค์มีพรหมพักตร์ ๔ ด้าน ↩
-
๖๑. ประตูพิไชยสุนทร ในคำให้การชาวกรุงเก่า เรียกประตูพรหมสุคต ขุดพบช่องประตู แต่ไม่พบเครื่องยอด สันนิษฐานว่าเป็นประตูยอดปรางค์ มีพรหมพักตร์อย่างเดียวกับเลขที่ ๖๐ ↩
-
๖๒. โรงช้าง ขุดพบรากตรงกัน ↩
-
๖๓. พระที่นั่งสุริยามรินทร์ เป็นปราสาทจัตุรมุขก่อด้วยแลงสลับอิฐ อยู่ใกล้กำแพงด้านเหนือริมน้ำ เป็นพระที่นั่งพื้นสูงกว่าองค์อื่น ๆ เดี๋ยวนี้ยังมีผนังตรงรักแร้ด้านเหนือเป็นที่สูงอยู่ตอนหนึ่ง บนนั้นมีรูรอด เมื่อปลูกสร้างสถานที่ต่าง ๆ ในพระราชวังครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในงานรัชชมงคลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ผู้ตรวจสอบหนังสือเรื่องนี้ได้เป็นแม่กองปลูกปราสาทเครื่องไม้ลงบนฐานพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ทำตามรูปทรวดทรงเดิม กับทำป้อมกำแพงซุ้มประตูพระนคร และป้อมกำแพงซุ้มประตูพระราชวังเท่าขนาดเละตามรูปลวดลายที่สอบสวนได้ เมื่อทำกำแพงแล้วได้ขึ้นไปอยู่ในที่สูงเสมอหลังรูรอด ก็แลข้ามกำแพงไปเห็นเรือในแม่น้ำได้ เห็นจะเป็นมุขนี้เองที่เรียกว่าพระที่นั่งเย็น สมกับจดหมายเหตุเรื่องคณะพระสงฆ์สยามครั้งพระวิสุทธาจารย์ไปลังกา มีความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จออกทอดพระเนตร์กระบวนแห่พระสงฆ์บนพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ↩
-
๖๔. ตำหนัก ๒ หลังนี้อยู่ในที่ข้างเหนือพระที่นั่งสุริยามรินทร์ไม่ได้ แต่ตัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์เองก็อยู่จวนจะติดกำแพงด้านเหนืออยู่แล้ว และที่ข้างใต้พระที่นั่งก็เป็นพระตำหนักประดิษฐานพระรูปพระนเรศวร ที่ๆ จะปลูกตำหนัก ๒ หลังนี้ได้ก็มีแต่ที่ข้างฉนวนด้านตะวันตกตรงแนวพระที่นั่งออกไป คือที่ตรงข้างกำแพงแก้วโบสถ์วัดใหม่ไชยวิชิตเดี๋ยวนี้เข้าไป ตำหนัก ๒ หลังนี้สันนิษฐานว่า เป็นของใหม่พึ่งทำขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกทัศน์ ↩
-
๖๕. ดูหมายเลข ๖๔ ↩
-
๖๖. ที่ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระนเรศวร พงศาวดารว่าอยู่โรงแสงใน เห็นจะเปนอันลงรอยกันได้ และที่ต่อรากพระที่นั่งสุริยามรินทร์ไปทางใต้ก็มีรากอิฐอยู่หลายแห่ง ↩
-
๖๗. พระวิหารสมเด็จเปนปราสาทมุขหน้าหลังยาว มุขข้างสั้น ที่มุขหน้ามีมุขเด็จตั้งพระที่นั่งบุษบก มีกำแพงแก้วล้อมสามด้าน หลังชนเขื่อนเพ็ชร์ เฉียงแนวหลังมุขกลาง เป็นปราสาทองค์ริมข้างใต้ ↩
-
๖๘. พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท เป็นปราสาทมุขหน้ามุขหลังยาว มุขข้างสั้น มีมุขเด็จ ที่มุขหน้าตั้งพระที่นั่งบุษบกเหมือนพระวิหารสมเด็จ มีกำแพงแก้วล้อมสามด้าน ๆ หลังข้างใต้ชนเขื่อนเพ็ชร์ ข้างเหนือชนกำแพงแก้วพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เป็นปราสาทองค์กลาง ↩
-
๖๙. กำแพงคั่นท้องสนามใน ขุดพบรากกำแพง ↩
-
๗๐. ประตูไชยมงคลไตรภพชล เป็นประตูซุ้มยอดปรางค์ ขุดพบช่องและซุ้มหักตกอยู่ ↩
-
๗๑. ขุดพบราก ↩
-
๗๒. พงศาวดารว่า โรงช้างเผือกหลังคายอด อยู่ริมกำแพงแก้วพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ด้านใต้โรงหนึ่ง อยู่ที่ริมกำแพงแก้วพระวิหารสมเด็จข้างเหนือโรงหนึ่ง ↩
-
๗๓. สวนไพชยนต์เบ็ญจรัตน์ อยู่ระวางหลังพระที่นั่งจักรวรรดิออกมาทางตะวันตก ถึงกำแพงคั่นชั้นในต่อจากบริเวณพระวิหารสมเด็จด้านใต้ ↩
-
๗๔. สระหอพระมณเฑียรธรรม อยู่นอกกำแพงชั้นใน ด้านหน้าข้างใต้ ชาวบ้านเดาเรียกกันว่า สระหนองหวาย ↩
-
๗๕. หอพระเชษฐบิดรหรือพระเทพบิดรนี้ ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่เดิมมารวมทั้งข้าพเจ้าผู้ตรวจสอบหนังสือเรื่องนี้ด้วย เข้าใจว่าอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แต่ตรวจดูสถานที่ซึ่งยังมีอยู่ก็ล้วนแต่เป็นโบสถ์วิหารสำหรับตั้งพระพุทธรูปทั้งหมด เมื่อมาตรวจสอบหนังสือเรื่องนี้พบว่าหอพระเชษฐบิดรอยู่ในพระราชวัง กับมีหลักฐานประกอบคือ ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า หน้าที่ตำรวจนอกขวาเป็นพนักงานหอพระมณเฑียรธรรม และหอหนังสือ หอสวด หอพระเทพบิดร หอพระเทพอุกัน ดังนี้ หอพระมณเฑียรธรรมก็อยู่ในพระราชวัง ไม่ได้อยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เพราะฉะนั้นหอพระเทพบิดรก็คงอยู่ในพระราชวังที่ใกล้ ๆ กัน พระรูปพระเชษฐบิดรหรือพระเทพบิดรนั้น เป็นพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ซึ่งทรงสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา แต่จะสร้างในรัชชกาลใด ไม่มีในพงศาวดารหรือจดหมายเหตุ สันนิษฐานว่า คงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งพระองค์ใดในพระราชวงศ์อู่ทอง หรือจะเป็นพระราเมศวรผู้เป็นพระราชโอรสทรงสร้างขึ้นไว้เป็นที่เคารพในฐานที่พระองค์เป็นปฐมบรมราชวงศ์ และเป็นผู้ทรงสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานคร ประดิษฐานไว้ในพระราชวังเป็นที่ระฦกถึงพระเดชพระคุณและทั้งเพื่อได้เป็นเทพารักษ์สำหรับพระนครด้วย เหมือนดังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นมหาวีรกษัตริย์ก่อกู้เอาเมืองไทยออกจากอำนาจพะม่ากลับเป็นอิศร และมีอานุภาพยิ่งกว่าแต่ก่อน เมื่อล่วงรัชชกาลแล้วก็มีพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ยังโรงแสงในไว้เป็นที่เคารพอย่างเดียวกัน เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจึงมีพระราชกำหนดไว้ว่า เมือถึงวันพิธีถือน้ำให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมีดอกไม้ธูปเทียน ไปสักการกราบถวายบังคมพระเชษฐบิดรก่อน แล้วจึงไปรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วจึงพร้อมกันเข้าไปกราบถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินในท้องพระโรง แต่พระราชวงศ์รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในท้องพระโรงหน้าที่นั่ง เป็นประเพณีสืบมาจนตลอดอายุกรุงศรีอยุธยา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทรขึ้นเป็นราชธานีณบางกอกแล้ว ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้เชิญพระรูปพระเชษฐบิดรลงมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ชื่อว่า หอพระเทพบิดร และข้าราชการผู้ใหญ่ในรัชชกาลที่ ๑ นั้นเคยเป็นข้าราชการเก่ามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และเคยรู้ประเพณีการถือน้ำเดิมอยู่ เมื่อพระเทพบิดรลงมาประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงวันถือน้ำจึงพากันเอาดอกไม้ธูปเทียนไปสักการถวายบังคมพระรูปพระเชษฐบิดรก่อน แล้วจึงไปรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระอุโบสถ ฉะเพาะพระพักตร์พระแก้วมรกฎ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่ทรงโปรด ว่าการที่ข้าราชการไปสักการรูปเทพารักษ์ก่อนนั้น เป็นการขาดทางพระตรัยสรณาคม จึงออกพระราชกำหนด เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ ว่าถ้าถึงวันพิธีถือน้ำตรุษสารท ให้ข้าราชการมีเครื่องสักการไปบูชานมัสการพระแก้วมรกฎ และรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระอุโบสถ แล้วจึงออกมาอุทิศกุศลให้แก่เทพารักษ์ ดังนี้ ความปรากฎว่า พระเชษฐบิดรเป็นพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๑ (อู่ทอง) ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึง พ.ศ. ๒๓๒๗ ซึ่งเป็นปีที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร ต่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ เมื่อออกพระราชกำหนดนี้แล้ว จึงได้แปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงิน ที่พงศาวดารฉะบับพระราชหัตถเลขาและฉะบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตลงไว้ความต้องกันว่า เมื่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้เชิญรูปพระเทพบิดรมาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทอง ประดิษฐานไว้ในพระวิหาร ถวายนามว่าพระเทพบิดร นั้น พงศาวดารลงว่าด้วยการแปลงพระเชษฐบิดรเปนพระพุทธรูปล่วงหน้าไปถึง ๒ ปี ↩
-
๗๖. ขุดพบถนนในฉนวน แต่ผนังรื้อไปหมดไม่มีเหลือ ↩
-
๗๗. ระวางนี้ไปถึง ๗๘ พรรณนาถึงสถานที่ซึ่งเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแผ่นดินพระเพทราชา ↩
-
๗๘. ดูหมายเลข ๗๗ ↩
-
๗๙. พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ เป็นปราสาทจัตุรมุขและเป็นที่ประทับอยู่ข้างใน ด้านตะวันตกมีสระล้อมรอบ ด้านตะวันตกของพระที่นั่งก่อภูเขาลงในอ่างแก้ว มีท่อน้ำพุไหลลงในอ่างเลี้ยงปลาเงินปลาทอง สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ขุดพบรากอ่างแก้วและสิลาที่ก่อเขาหลุดทับถมกองอยู่ ได้เลือกก้อนที่ดีมาก่อเขาไว้ในอ่างบนชาลาหลังพลับพลาจัตุรมุขวังจันทร์เป็นของพิพิธภัณฑ์ ↩
-
๘๐. พระที่นั่งปรายเข้าตอก พระที่นั่งองค์นี้ก่อเป็นฐานอิฐลดชั้นอยู่ข้างอ่างแก้ว ด้านหนึ่งอยู่ริมสระ ↩
-
๘๑. มีสะพานข้ามสระไปจากฟากเกาะพระที่นั่งบรรยงก์ ถึงฟากข้างตะวันตกหลังพระที่นั่งทรงปืน ยังเห็นโคนเสาตะพานอยู่ ↩
-
๘๒. พระที่นั่งทรงปืน ขุดพบรากเป็นรูปยาวรี อยู่ริมขอบสระด้านตะวันตก พงศาวดารว่า เมื่อทรงสร้างพระที่นั่งหมู่นี้แล้ว เปลี่ยนกลับเอาท้ายสนมเป็นข้างหน้า จึงมามีศาลาลูกขุนและโรงหมอทั้งสถานที่สำหรับเจ้าพนักงานประจำการอื่น ๆ ขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย
ในหนังสือนี้พรรณนาแผนที่ในพระราชวัง ละเอียดดีกว่าฉะบับอื่น ๆ แต่น่าประหลาดที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อประตูที่มีมาในพงศาวดารและกฎมณเฑียรบาล คือ ประตูไพชยนต์ ประตูมงคลสุนทร ประตูแสดงราม ประตูเสดาะเคราะห์ ประตูพระพิฆเณศวร ประตูศรีสรรพทวาร ประตูพลทวาร และประตูนครไชย จะเป็นด้วยเหตุไรไม่ทราบ
พระราชวังกรุงศรีอยุธยา เมื่อรื้อเอาอิฐปราสาทราชฐาน ป้อมกำแพงลงมาใช้ในการสร้างกรุงเทพพระมหานครแล้วก็ทิ้งเป็นที่ร้าง ไม่ปรากฏว่ามีการปกครองรักษาอย่างไร ในพระราชวังก็มีแต่กองอิฐหักกากปูนถมอยู่เป็นโคกเป็นเนิน มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมรกเรี้ยว ต่อมาจึงมีราษฎรไปตัดฟันถากถางต้นไม้ แล้วปลูกต้นไม้ มีผลเช่น น้อยหน่า ส้ม มะขาม มะตูม ถือเป็นเจ้าของกันเป็นแปลง ๆ ไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปประพาสแต่ยังทรงพระผนวช เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วก็ได้เสด็จขึ้นไปทรงสังเวยอดีตมหาราช และโปรดให้สร้างปราสาทจัตุรมุขขนาดย่อม ก่อขึ้นบนโคกพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทองค์ ๑ ทรงพระราชดำริจะโปรดให้จารึกพระปรมาภิธัยพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ภายในปราสาท เพื่อเป็นที่สักการระลึกถึงพระเดชพระคุณ แต่การค้างอยู่เพียงก่อผนังยังหาทันยกเครื่องบนไม่ ถึงรัชชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติก็ได้เสด็จขึ้นไปสังเวยอดีตมหาราช และต่อ ๆ มาก็เสด็จประพาสอีกหลายคราว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ จะให้ขุดตรวจค้นแผนผังฐานปราสาทราชฐานทั่วทั้งพระราชวังขึ้นรักษาไว้ ให้เห็นเป็นพะยานประกอบพงศาวดารว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีความเจริญรุ่งเรืองมาแล้วช้านาน แต่ยังหาได้มีการขุดค้นตรวจสอบถวายไม่ มาจนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา แต่ครั้งยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ข้าหลวงมหาดไทย เลื่อนขึ้นเป็นข้าหลวงรักษาราชการกรุงเก่า และปีต่อมาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นตัวผู้รักษากรุง พระยาโบราณราชธานินทร์ได้ทราบพระราชประสงค์ ในเวลาวันหยุดราชการก็ออกเที่ยวตรวจค้นสถานที่ซึ่งมีชื่อมาในพงศาวดารและในกฎหมายกับทั้งจดหมายเหตุ และโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน บรรดาที่กวีชั้นกรุงศรีอยุธยาแต่งไว้ ที่พรรณนาถึงภูมิฐานพระนครศรีอยุธยา แต่ในเวลานั้นเป็นการยากอย่างยิ่งในการตรวจค้น ด้วยในพระราชวังล้วนแต่เป็นโคกเป็นเนิน มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ประดุจป่าทึบมิใคร่จะเห็นอะไร ที่ยังเห็นสูงอยู่ก็แต่ผนังรักแร้พระที่นั่งสุริยามรินทร์ แต่ภายหลังมาเมื่อจับเค้าเงื่อนได้ จึงได้ลงมือลองขุดเข้าไปจากที่ต่ำด้านหน้าวังทางตะวันออกเป็นร่องตรงไปทางตะวันตกก็ได้พบรากกำแพงพระราชวังทั้ง ๒ ชั้น เมื่อพิศูจน์ได้ระดับพื้นดินเดิมแล้ว จึงขุดตรงเข้าไปจนถึงแนวกำแพงแก้วหน้าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทสายหนึ่ง และขุดที่นอกกำแพงวังด้านเหนือตอนริมน้ำตรงเข้าไปทางข้างพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ก็พบมุมฐานพระที่นั่ง เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส ได้ทอดพระเนตร์ที่ ๆ ขุดไว้ ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย แต่เวลานั้นกำลังที่จะเอาไปทำการขุคค้นตรวจสอบพื้นพระราชวังยังไม่มีพอ ได้อาศัยแบ่งแยกเอาผู้คุมเรือนจำไปได้ คน ๑ คุมนักโทษไปทำการขุคค้นได้เพียงวันละ ๑๐ คนบ้าง กว่าบ้าง การจึงช้าไม่ปรุโปร่งเห็นได้ทันพระราชประสงค์ ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติมาจะครบ ๔๐ ปี เท่ารัชชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ในปีมะแม พ.ศ. ๒๔๕๐ จะโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีรัชชมงคล บำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ กับทั้งอดีตมหาราชทุกพระองค์ ที่ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์จัดการเตรียมที่สำหรับจะปลูกพลับพลาพระราชพิธี กับโรงการมหรศพ และโปรดให้รื้อโครงปราสาทที่ทำค้างไว้บนฐานพระที่นั่งสรรเพ็่ชญ์นั้นเสียในคราวนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์จึงกะโครงการ ขออนุญาตเงินตั้งพนักงานเป็นผู้คุมนักโทษขึ้นโดยฉะเพาะแพนกนี้ ๕ คน กับซื้อรางและรถเหล็กสำหรับขนดิน อนึ่งแต่เดิมที่ดินด้านข้างพระราชวังทางริมน้ำตั้งแต่หน้าวัดธรรมิกราชไปจนคลองท่อมีบ้านเรือนราษฎรปลูกเรียงรายปิดหน้าพระราชวังหมด จึงต้องขออนุญาตเงินใช้เป็นค่าเสียหายแก่เจ้าของบ้านที่จักต้องถูกรื้อถอนด้วย และในการขุดวังตั้งแต่เริ่มมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งยังดำรงในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นพระธุระแนะนำอุดหนุนทุกอย่าง การจึงสำเร็จตามรูปที่กะไว้ ครั้นถึงเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้แยกเอานักโทษจากเรือนจำไปกุมขังไว้ที่ข้างวัดธรรมิกราช ๑๐๐ คนไปลงมือทำการ พระยาโบราณราชธานินทร์ก็ได้เข้าไปตั้งที่พักชั่วคราวอยู่ที่มุมพระราชวังด้านตะวันออก คอยตรวจตราบงการให้เจ้าหน้าที่ขุดค้นให้ถูกต้องตามแผนผังรากของเดิม และได้ขนเอาอิฐหักกากปูนมูลดินออกไปถมในที่ซึ่งราษฎรย้ายถอนบ้านเรือนไป ซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมมาแต่เดิมนั้น สูงขึ้นจนเสมอพื้นดินเชิงกำแพงข้างวัง คือที่เป็นถนนย่านท่าวาสุกรีตอนข้างวังด้านริมน้ำเดี๋ยวนี้ การขุดครั้งนั้นสำเร็จได้รูปแผนผังเพียงตั้งแต่กำแพงข้างเหนือ ไปจนถึงแนวกำแพงคั่นข้างพระวิหารสมเด็จ ด้านหน้าพระราชวังทางตะวันออกตั้งแต่กำแพงชั้นนอกไปจดกำแพงหลังพระราชวังด้านตะวันตก ก็พอจวนจะถึงกำหนดงานพระราชพิธี จึงหยุดการขุดลงมือจัดการปลูกสร้างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทและป้อมกำแพงประตูเมืองประตูวังสถานที่ต่าง ๆ ตามรูปรากเดิมด้วยเครื่องไม้ ให้เหมือนอย่างพระราชวังครั้งกรุงศรีอยุธยา และปลูกโรงมหรศพรอบพระราชวังชั้นใน ครั้นถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรแต่กรุงเทพพระมหานคร ขึ้นไปประทับพลับพลาณเกาะลอย วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน และวันที่ ๑ ที่ ๒ ธันวาคม เวลาบ่าย เสด็จพระราชดำเนิรโดยกระบวนพระราชอิสสริยยศ ทั้งทางชลมารคสถลมารค เข้าไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทแล้ว เสด็จพระราชดำเนิรกลับมาประทับแรมที่พลับพลาเกาะลอย มีมหรศพ โขน ๒ โรง หุ่น ๒ โรง ละคอน ๒ โรง มอญรำโรง ๑ เทพทองโรง ๑ และมีระเบง โมงครุ่ม คุลาตีไม้ ไม้ลอย ญวนหก นอนหอก นอนดาพ ไต่ลวด กระอั้วแทงควาย แทงวิไสย กับสรรพกิฬา มีแข่งระแทะ วิ่งวัวคน ชกมวย ขี่ช้างไล่ม้า ๓ วัน ค่ำมีดอกไม้ไฟทั้ง ๓ คืน เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว รุ่งขึ้นเวลาบ่ายเสด็จพระราชดำเนิรทอดพระเนตร์ในพระราชวังอีกเวลาหนึ่ง วันที่ ๔ ธันวาคม จึงเสด็จพระราชดำเนิรกลับกรุงเทพพระมหานคร อนึ่งทรงพระราชดำริว่าต่อไปก็คงจะเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นมาทอดพระเนตร์อยู่เนือง ๆ ทั้งเมื่อมีเจ้านายต่างประเทศหรือแขกเมืองชั้นสูงเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ก็จะเป็นที่ให้แขกเมืองมาเที่ยวได้แห่ง ๑ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์สร้างพลับพลาตรีมุขขึ้นบนฐานเขียง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฐานพระราชมณเฑียรที่ประทับเดิม แต่ในแผนผังของเก่าที่ขุดพบบนฐานนี้เป็นพระที่นั่งหลังคาแฝด มิใช่ตรีมุข และไม่มีเกยช้างเกยม้าเกยพระราชยาน มาทำเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้เหมาะสำหรับการเสด็จประพาส รัชชกาลที่ ๖ เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปทรงสังเวยอดีตมหาราช ตั้งพระราชพิธีที่พลับพลาตรีมุขในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ต่อมาก็ได้เสด็จขึ้นไปทรงสังเวยอดีตมหาราชณพลับพลานั้นอีก ๓ คราว
ถึงรัชชกาลปัตยุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปสังเวยอดีตมหาราชเหมือนดังรัชชกาลก่อน เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๙
อนึ่งการขุดพื้นวังนั้น เมื่อพ้นงานรัชชมงคลมาแล้วก็ได้ไปลงมือขุดพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท และวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ตอนหน้า ต่อมากำลังการขุดร่อยหรอลงโดยมีอุปสัคในการใช้แรงนักโทษ ถึงพ.ศ. ๒๔๖๖ ในรัชชกาลที่ ๖ โปรดให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งภายหลังมาในรัชชกาลปัตยุบันนี้เปลี่ยนเป็นราชบัณฑิตยสภา เปนหน้าที่รักษาสถานที่โบราณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา จึงมีรับสั่งให้พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาล และอุปนายกราชบัณฑิตยสภา ลงมือขุดชำระพื้นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ต่อมา
การขุดชำระพื้นพระราชวังและวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์นั้น บางแห่งต้องขุดออกสูงตั้งแต่ศอก ๑ ถึง ๕-๖ ศอก จึงถึงพื้นเดิม ↩
-
๘๓. วังจันทรเกษม เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ครั้งยังดำรงพระอิสสริยยศเป็นพระยุพราช เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วก็คงจะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระมหาอุปราชพระองค์ต่อ ๆ มา แต่บางคราวก็เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เช่นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แรกได้ราชสมบัติก็ประทับอยู่ที่วังจันทร์หลายปี จึงเสด็จเข้าไปประทับในวังหลวง ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่าวังจันทร์มีกำแพง ๒ ชั้นเหมือนวังหลวง กำแพงชั้นนอกสูง ๗ ศอก แนวกำแพงยาวโดยรอบ ๒๔ เส้น มีประตูใหญ่กว้าง ๔ ศอก ๖ ประตู ประตูน้อย ๒ ประตู พระราชมณเฑียรข้างหน้ามีท้องพระโรง ต่อท้องพระโรงเข้าไปมีพระวิมาน ๓ หลัง อยู่ทางทิศเหนือหลัง ๑ ทิศใต้หลัง ๑ ทิศตะวันออกหลัง ๑ หลังใต้เรียกว่า พระที่นั่งพระวิมานรัตยา และมีสถานที่เจ้าพนักงานประจำการต่าง ๆ คล้ายวังหลวง
เมื่อหมดอายุพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว ก็รื้อเอาอิฐวังนี้ลงไปใช้ในการสร้างกรุงเทพมหานคร พื้นที่วังก็รกร้าง ภายหลังจึงมีราษฎรเข้าไปปลูกต้นผลไม้ มาถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาวังจันทร์ขึ้นเป็นพระราชวัง ได้ก่อกำแพงมีใบเสมารอบ ๔ ด้าน ๆ หนึ่ง ยาวราว ๔ เส้น ๔ ด้าน ราว ๑๖ เส้น มีประตูซุ้ม ๔ ประตู สำหรับแปรพระราชสำนักขึ้นไปประทับ โปรดให้สร้างพระที่นั่งและพลับพลา ตำหนักเรือนโรงสถานที่สำหรับเจ้าพนักงานประจำการในพระราชสำนักครบบริบูรณ์ ครั้นมาในรัชชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระราชวังบางปอินขึ้นเปนที่ประทับเวลาแปรพระราชสำนักแล้ว วังนี้ก็ไม่มีเวลาจะใช้ สถานที่ต่าง ๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมไป ครั้นเมื่อจัดการรวมหัวเมืองขึ้นเป็นมณฑลอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ทำการของเทศาภิบาล ในครั้งนั้นได้ซ่อมแต่ฉะเพาะสถานที่ ๆ จะเอาไว้ใช้ในราชการ นอกจากนั้นได้รื้อลงเสียมากหลายอย่าง ยังคงเหลืออยู่แต่กำแพงวัง และ
๑. พระที่นั่งพิมานรัตยา ก่ออิฐพื้น ๒ ชั้น ได้ยินเล่ามาว่าก่อตามรากเดิมนั้นองค์ ๑ ได้ใช้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลอยุธยา มาแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ จนถึงทุกวันนี้
๒. หอพิศัยศัลลักษณ์ ก่ออิฐพื้น ๔ ชั้น ว่าก่อตามรูปรากเดิมในรัชชกาลที่ ๔ ให้เป็นที่ประทับทอดพระเนตร์ดาว
๓. พลับพลาจตุรมุข ที่ถูกน่าจะเรียก ฉมุข เพราะมีมุขด้านหน้า ๓ ด้านหลัง ๓ เป็นพลับพลาเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบรรพ์มุขกลางด้านหน้า ของเดิมปั้นเป็นลายพระราชลัญจกรมหาโองการ มุขเหนือเป็นลายพระราชลัญจกรครุฑพาหะ มุขใต้เป็นลายพระราชลัญจกรหงส์พิมาน ด้านหลังมุขกลางเป็นลายพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว มุขเหนือเป็นลายพระราชลัญจกรไอราพต มุขใต้เป็นลายพระราชสัญจกรสังขพิมาน ในรัชชกาลที่ ๕ พลับพลาหลังน่ี้ชำรุด โปรดให้พระยาไชยวิชิต (นาก ณป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงซ่อมครั้งหนึ่ง มาถึงในปลายรัชชกาลที่ ๖ ชำรุดอีก ในรัชชกาลที่ ๗ จึงโปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ ซ่อมอีกครั้งหนึ่ง การซ่อมครั้งนี้ได้รื้อตัวพลับพลาลงหมดทั้งหลัง เสาและรอดตงขื่อใช้ด้วยเฟโรคอนกรีตแทนไม้ของเดิม และเดี่ยวทรงพลับพลาเดิมนั้นเตี้ยอยู่ได้ขยายให้สูงขึ้นไปอีกศอกหนึ่ง ฝาคงใช้ฝาไม้ตามเดิม แต่หน้าบรรพ์มุขทั้ง ๖ ลายปั้นของเดิมชำรุดได้เปลี่ยนเป็นลายไม้สลักแทน
๔. โรงละคอน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้อง อยู่หน้าพลับพลาจตุรมุข เดิมใช้เป็นศาลมณฑล ต่อมาเมื่อได้จัดการสร้างศาลขึ้นเป็นตึก ๒ ชั้น ที่นอกกำแพงวังด้านตะวันออกแล้ว ได้รื้อเอาไปปลูกไว้ที่หลังศาลารัฐบาลมณฑล เปลี่ยนเป็นผนังก่ออิฐ เดี๋ยวนี้ใช้เป็นศาลากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๕. ห้องเครื่องหลัง ๑ ใช้เป็นที่พักพนักงารรักษาวัง
๖. โรงม้าพระที่นั่งเป็นตึก ๕ ห้อง อยู่ริมกำแพงวังด้านเหนือหลัง ๑ ในรัชชกาลที่ ๖ ได้สร้างพระคลังมณฑลกับที่ทำการสรรพากรขึ้นที่ริมกำแพง แต่ริมประตูด้านใต้ไปจดริมประตูด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นรูปคดตามกำแพงหลัง ๑ เมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ยังเป็นสมุหเทศาภิบาลอยู่ ได้กะกำหนดแผนผังไว้ว่าเมื่อถึงเวลาสร้างศาลารัฐบาลมณฑลใหม่ จะได้สร้างจากริมประตูด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ไปบรรจบริมประตูทิศเหนืออีกหลัง ๑ ตัวศาลารัฐบาลมณฑลเดิมนั้น จะได้แก้ไขสำหรับเก็บโบราณวัตถุเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป
กำแพงวังเดิมเข้าใจว่าคงกว้างกว่าที่สร้างในรัชชกาลที่ ๔ ด้วยได้เคยพบรากพระที่นั่งยังมีโคนเสา และบัวปลายเสาหักจมอยู่ในที่ ๆ เป็นโรงเรียนมณฑล ซึ่งอยู่นอกกำแพงวังข้างใต้ กับมีรากอิฐอยู่ในบริเวณกำแพงเรือนจำก็หลายแห่ง จึงสันนิษฐานว่า แนวกำแพงวังเดิมด้านเหนือกับด้านตะวันออกคงจะอยู่ราวแนวกำแพงใหม่ ยืนไปหักมุมเลี้ยวที่หลังโรงเรียนมณฑล ตรงไปทิศใต้ไปหักมุมเลี้ยวราวหลังกำแพงเรือนจำ เข้าบรรจบกำแพงด้านเหนือ ด้านริมน้ำคงมีกำแพงสกัดระวางกำแพงวังกับกำแพงพระนครทั้งสองข้าง
โบราณวัตถุของวังจันทร์เดิมที่ยังเหลืออยู่อีกอย่างหนึ่ง ก็คือที่ตั้งระหัดน้ำเข้าวัง ก่อด้วยอิฐอยู่ริมตลิ่งเยื้องกับแนวกำแพงวังไปหน่อยหนึ่ง แต่ก่อนชาวบ้านเรียกว่าฐานโพธิ์ เพราะมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้น ๑ ภายหลังเมื่อได้ตรวจดูโดยละเอียดแล้ว จึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งระหัดน้ำ ด้วยมีท่อดินเผาฝังแต่ที่นั้นเข้าไปในวัง ไปลงย่อข้างหอพิศัยศัลลักษณ์สาย ๑ ไปทางหน้าพลับพลาจตุรมุขสาย ๑ และคงจะมีไปทางอื่นอีก แต่ตรวจให้ตลอดไม่ได้ ด้วยมีสถานที่ ๆ สร้างใหม่ทับอยู่
อนึ่งในพระราชวังจันทรเกษมนี้ นอกจากใช้เป็นที่ทำราชการแล้ว พระยาโบราณราชธานินทร์ แต่ครั้งยังเป็น พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ยังได้รวบรวมโบราณวัตถุ มีเครื่องสิลา เครื่องโลหะ เครื่องกระเบื้อง เครื่องดินเผา เครื่องไม้แกะสลัก บรรดาที่ได้พบปะอยู่ตามที่วัดร้าง และของที่ขุดได้ ทั้งของที่มีผู้ให้เป็นส่วนตัว ไปจัดตั้งไว้ในตึกโรงม้าพระที่นั่ง และได้ขยายปลูกเป็นเฉลียงมุงสังกสีมีฝารอบ ๓ ด้าน ขึ้นเป็นที่พิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ ในครั้งนั้นเจ้านายทรงเรียกว่าโบราณพิพิธภัณฑ์ ต่อมาถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปทอดพระเนตร์ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงบันทึกไว้ในสมุดสำหรับพิพิธภัณฑ์ว่า “เก็บรวบรวมได้มากเกินคาดหมาย และจัดเรียบเรียงดี” แล้วได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ย้ายของจากโรงม้าพระที่นั่งมาจัดตั้งในพลับพลาจตุรมุข
ส่วนโบราณวัตถุที่เป็นศิลาและโลหะ มีพระพุทธรูปและของอื่นที่ใหญ่ ๆ นั้น ได้ก่อฐานอิฐจัดตั้งเรียงไว้ภายในกำแพงวัง และทำระเบียงมุงสังกสีไปตามแนวกำแพงวัง แต่ด้านเหนือไปถึงด้านตะวันออก จัดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งบัดนี้เรียกว่าอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ในรัชชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อโปรดให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นอยู่ในหน้าที่ราชบัณฑิตยสภาแล้ว ราชบัณฑิตยสภาได้ย้ายโบราณวัตถุที่ทำด้วยไม้และเครื่องสิลาเครื่องโลหะอันเป็นชิ้นเอกจากอยุธยาพิพิธภัณฑสถานลงมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเสียหลายสิบชิ้น ↩
-
๘๔. พระที่นั่งที่พะเนียด เดิมเมื่อแรกสร้างกรุง กำแพงพระนครด้านตะวันออกเฉียงเหนืออยู่พ้นวัดเสนาสน์เข้าไป พะเนียดจับช้างอยู่ที่วัดซอง คือที่ที่ว่าการอำเภอกรุงเก่าเดี๋ยวนี้ ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงย้ายไปตั้งพะเนียดที่ตำบลทเลหญ้า ขยายกำแพงพระนครด้านนี้ออกไปริมน้ำ คือที่ริมถนนหน้าวังจันทรอยู่ในทุกวันนี้ แต่พระที่นั่งที่พะเนียดของเดิมพะม่าเอาไฟเผาเสียเมื่อครั้งเข้ามาล้อมกรุง ต่อมาถึงกรุงรัตนโกสินทร ในรัชชกาลที่ ๑ จะได้ซ่อมแปลงพะเนียดขึ้น หรืออย่างไรไม่ได้ความชัด มารู้แน่นอนแต่ว่าเมื่อรัชชกาลที่ ๓ โปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ออกไปทรงเป็นแม่กองซ่อมพะเนียดครั้งหนึ่ง กับในรัชชกาลที่ ๕ ก็ได้โปรดให้ซ่อมอีก ๒ คราว ↩
-
๘๕. ด่านสำหรับตรวจคนแปลกปลอมกับสิ่งของต้องห้าม ที่จะเข้ามาหรือออกไปจากพระนคร ขนอนเป็นที่ตั้งเก็บภาษี บางแห่งด่านกับขนอนอยู่ไกลไม่เกี่ยวกัน บางแห่งอยู่ใกล้กัน เช่นขนอนสี่ทิศกรุง และต้องตั้งที่แม่น้ำทางร่วมซึ่งจะเข้ากรุง ทิศตะวันออกจึงตั้งด่านตรวจผู้คนและขนอนเก็บภาษีที่บ้านเข้าเม่า ด้วยเป็นทางร่วมแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักเดิม ↩
-
๘๖. ขนอนบางตะนาวสี หรือนัยหนึ่งเรียกขนอนหลวง อยู่ที่ข้างวัดโปรดสัตว์ เป็นด่านภาษีใหญ่กว่าทุกแห่ง เพราะสำหรับตรวจผู้คนและเรือลูกค้า กับเก็บภาษีสินค้าที่เข้าออกทางหัวเมืองชายทะเลและต่างประเทศ ↩
-
๘๗. ขนอนปากคูอยู่ที่ปากคลองวัดลาดฝั่งใต้ ทางไปบ้านเกาะมหาพราหมณ์ สำหรับตรวจผู้คนและเก็บภาษีซึ่งจะเข้าออกทางลำแม่น้ำน้อย ↩
-
๘๘. ขนอนบางลางอยู่ที่เลี้ยวบ้านแมนลำน้ำโพธิ์สามต้น เป็นด่านภาษีแม่น้ำแควใหญ่ทางเหนือ ซึ่งสายน้ำเดิมลงทางบางแก้ว ที่ว่าบางหลวงนั้นผิด ของเดิมคงเขียนไว้ถูก แต่ผู้คัดลอกต่อ ๆ มาไม่เคยได้ยินชื่อนั้น เคยได้ยินแต่ว่ามีบางหลวงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือเช่นตึกในวัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรี ในหนังสือชั้นหลังเขียนว่าตึกคชสาร แต่ที่ถูกคือตึกโคระส่าน หมายความว่าเป็นตึกให้ทูตโคระส่านพักเวลาเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ แต่มาตอนหลังไม่รู้จักชื่อโคระส่าน เห็นคชสารแปลได้ก็เลยเขียนเช่นนั้นเป็นต้น ↩
-
๘๙. มีรออยู่ที่ตรงตลิ่งท้ายห้องแถวตลาดหัวรอเดี๋ยวนี้ ไปจนตลิ่งฟากข้างตะวันออก ของเดิมทำไว้เพื่อกั้นไม่ให้น้ำในแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งไหลผ่านเข้าไปทางพระราชวัง ไหลบ่าลงทางคูด้านขื่อหน้า ซึ่งจะทำให้แม่น้ำหน้าพระราชวังตื้น แต่เมื่อกรุงเสียแล้วต่อมาก็เอาไว้ไม่อยู่ น้ำไหลบ่าออกทางคลองหัวร่อลงหน้าวังจันทร์ ทำให้คลองกว้างกลายเป็นแม่น้ำ แม่น้ำเดิมที่ไปทางพระราชวังจึงตื้นเขิน เลยเรียกกันว่าคลองเมืองในทุกวันนี้ เมื่อ ๓๐ ปีล่วงมาผู้ตรวจสอบหนังสือเรื่องนี้ยังได้เคยเห็นโคนเสารอที่พื้นคลอง เวลานี้ดินท่วมดอนขึ้นมาเสียมาก แต่ถ้าผู้ใดมีความประสงค์จะพิศูจน์ ลองขุดโคลนสัก ๒-๓ ศอกก็จะพบโคนเสารอ ↩
-
๙๐. วัดสะพานเกลือ อยู่ที่เกาะลอย ลักษณะเป็นวัดหลวง แต่เดี๋ยวนี้ร้าง ↩
-
๙๑. วัดนางชี อยู่ใต้สะพานท่าวัดประดู่โรงธรรม เดี๋ยวนี้พังเสียเกือบหมดแล้ว ↩
-
๙๒. วัดพิชัย อยู่ที่ปากคลองบ้านบาตร์ฝั่งใต้ๆ สถานีรถไฟ ↩
-
๙๓. วัดเกาะแก้ว อยู่ปากคลองป่าเข้าสารฝั่งใต้ เยื้องท่าน้ำหน้าวัดสุวรรณข้าม โบสถ์เดิมพังลงน้ำไปเกือบหมดแล้ว ↩
-
๙๔. ท่าหอย อยู่ตรงโรงต้มกลั่นสุราเดี๋ยวนี้ ตามแผนที่เก่าว่าเป็นท่าหมู่บ้านจีน ↩
-
๙๕. วัดขุนพรหม อยู่ตรงประตูจีนข้าม ↩
-
๙๖. อยู่ในปากคลองตะเคียนข้างเหนือ ซึ่งครั้งเดิมเรียกว่า คลองขุนละคอนไชย ↩
-
๙๗. วัดลอดช่อง อยู่เหนือวัดไชยวัฒนาวาม แต่ลึกขึ้นไปบนบก ↩
-
๙๘. วัดเชิงท่าอยู่เบื้องปากคลองท่อข้าม เป็นท่าข้ามไปเข้าวังในตอนที่เปลี่ยนท้ายสนมเปนข้างหน้า ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ↩
-
๙๙. เรือคอยรับใช้ราชการประจำท่าวาสุกรี ข้ามฟากไปศาลากองตระเวนปากคลองสระบัว ด้วยที่นั้นเป็นด้านตรงฉนวนน้ำประจำท่าพระราชวังหลวง เป็นศาลาย่านกลาง ในกฏมณเฑียรบาลว่า ตอนแม่น้ำข้างเหนือมีศาลากองตระเวน สันนิษฐานว่าคงอยู่ราวตรงระวางท่ากระลาโหมกับท่าสิบเบี้ยข้าม สำหรับรักษาเหตุการณ์ในลำแม่น้ำเขตต์พระราชวังด้านหน้าศาลา ๑ ข้างใต้ตั้งกองตระเวนที่ศาลาปูน สันนิษฐานว่าข้างวัดศาลาปูนเดี๋ยวนี้ สำหรับรักษาเหตุการณ์ในลำน้ำตอนท้ายพระราชวัง ระวางศาลาเหนือศาลาใต้ ห้ามไม่ให้เรือประทุนเรือลูกค้าเข้าออก ↩
-
๑๐๐. ท่าสิบเบี้ย เป็นท่าขึ้นลงของผู้มีราชการในพระราชวัง และผู้ที่มีกิจในโรงศาล เพราะก่อนแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาขึ้นไป ศาลาลูกขุนกับทั้งสำนักงานข้าราชการในราชสำนักอยู่ในกำแพงพระราชวังด้านตะวันออก และนอกกำแพงก็มีสถานที่ทำการอื่น ๆ อยู่ทางด้านหน้าทั้งหมด ↩
-
๑๐๑. วัดท่าทรายอยู่ริมคลองประตูเข้าเปลือก ภายในกำแพงพระนคร วัดโรงฆ้องอยู่ริมน้ำฝั่งเหนือเยื้องกันข้าม ↩
-
๑๐๒. วัดซอง อยู่ภายในกำแพงพระนครหลังตลาดหัวรอ เดี๋ยวนี้อยู่ในบริเวณอำเภอกรุงเก่า เปนวัดร้าง เดิมมีโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ และหอระฆัง ช่องประตูด้านตะวันตก แต่พังทำลายเสียหมด คงเอาไว้แต่พระเจดีย์กับช่องประตูไว้เป็นเครื่องหมาย วัดป่าคนทีอยู่หลังบ้านหม้อฟากคลองข้างเหนือ แนวเดียวกับวัดแม่นางปลื้ม ↩
-
๑๐๓. ป้อมมหาไชย อยู่ตรงตลาดหัวรอ วัดแม่นางปลื้มอยู่คนละฟาก ↩
-
๑๐๔. บางกะจะ คือ แม่น้ำตรงสามแยกหน้าป้อมเพ็ชร์ ↩
-
๑๐๕. คลองคูจามอยู่ใต้วัดพุทไธศวรรย์ลงมา ↩
-
๑๐๖. คูไม้ร้อง อยู่ริมคลองเมืองฝั่งเหนือ ระวางวัดเชิงท่ากับวัดพนมโยง เป็นที่โรงเรือพระที่นั่ง ↩
-
๑๐๗. วัดเดิมในราชการเรียกว่าวัดศรีอโยธยา อยู่ในคลองแยกจากคลองบ้านม้าหันตรา ↩
-
๑๐๘. วัดพระมหาธาตุอยู่ในกำแพงพระนคร ไม่ปรากฏว่ามีวัดมหาธาตุอยู่นอกกรุงอีก และที่บางลางซึ่งเป็นด่านขนอนเดิม ข้างแม่น้ำฝั่งตะวันออกมีวัดดาวคนอง ทางตะวันตกมีวัดช้าง ตลาดนั้นจะอยู่ที่วัดใดรู้ไม่ได้ ↩
-
๑๐๙. จะอยู่ที่ใดไม่ทราบแน่ เพราะชื่อวัดเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเสียมาก แต่อยากจะเดาว่า น่าจะอยู่แถวปลายคลองสระบัว ด้วยที่แถวนั้นสังเกตเห็นเป็นย่านเก่ามีวัดเรียงกันถึง ๒ ชั้น ↩
-
๑๑๐. ชาวบ้านเดี๋ยวนี้เรียกคลองที่อยู่เหนือพะเนียดเข้าไปในทุ่งวัดบรมวงศ์ว่า คลองน้ำยา แต่ในจดหมายเหตุและแผนที่ของพวกฝรั่งเศส ซึ่งเขียนไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า คลองเหนือวัดเสนต์โยเสฟ คือที่เรียกกันว่าคลองตะเคียนเหนือเดี๋ยวนี้เป็นคลองน้ำยา แต่ในหนังสือนี้เรียกคลองนี้ว่าคลองขุนละคอนไชย ↩
-
๑๑๑. ตลาดป่าปลา อยู่ที่หน้าตลาดหัวรอ ↩
-
๑๑๒. คือตลาดริมแม่น้ำหน้าวังจันทร์ฝั่งเหนือ แต่วัดแคลงมาถึงวัดสะพานเกลือ ↩
-
๑๑๓. วัดนางชี อยู่ใต้สะพานวัดประดู่ลงมา ↩
-
๑๑๔. บ้านบาตร์อยู่ในคลองข้างวัดพิไชย ใต้สถานีอยุธยา ↩
-
๑๑๕. วัดนี้หมายความว่า อยู่ที่ริมทางรถไฟใต้สะพานคลองบ้านบาตร์ลงไป ชาวบ้านเรียกว่าวัดประสาท แต่มีวัดจันทร์อยู่ที่เหนือท่าสถานีอยุธยาวัด ๑ มีชื่อมาในพงศาวดาร แต่ไม่อยู่ในลำดับนี้ ↩
-
๑๑๖. ตึกวิลันดา อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกข้างใต้หัวเลี้ยววัดรอ หลังวัดพนันเชิงลงไป ชาวบ้านเรียกตึกแดง ยังเห็นผนังตึกเพียงพื้น ↩
-
๑๑๗. บ้านญี่ปุ่น อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกเหนือเกาะเรียน แต่คงเป็นเรือนเครื่องไม้ จึงไม่พบรากอิฐ ↩
-
๑๑๘. ปากคลองตะเคียนข้างเหนือที่ฝรั่งเศสเรียกว่า คลองน้ำยา แต่ในหนังสือนี้เรียกคลองขุนละคอนไชย ↩
-
๑๑๙. บ้านป้อม อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองวัดลาดลงมา คือที่ป้อมจำปาพล ↩
-
๑๒๐. คลองมหานาค อยู่เหนือหัวแหลมราว ๒ เส้น พงศาวดารว่าในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าหงสาวดีสุวรรณเอกฉัตร์ยกเข้ามาตีกรุง พระมหานาค วัดภูเขาทองสึกออกมารับอาสาตั้งค่ายกันข้าศึก ตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู พรรคพวกมหานาคช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือจึงเรียกว่าคลองมหานาค ลำคลองแต่แม่น้ำเข้าไปจนถึงวัดภูเขาทองเห็นจะเป็นคลองเดิมของวัด เพราะวัดภูเขาทองอยู่กลางดอน มหานาคคงจะขุดคูแยกจากคลองวัดภูเขาทองลงมาข้างใต้ถึงวัดศาลาปูน แล้วเลี้ยวลงทางตะวันตกผ่านหลังวัดขุนญวน และหน้าวัดป่าพลูมาออกแม่น้ำใหญ่ที่เหนือหัวแหลม ↩
-
๑๒๑. ซ้ำกับเลขที่ ๑๐๓ ↩
-
๑๒๒. วัดตะไกร อยู่หลังวัดหน้าพระเมรุเยื้องไปข้างเหนือ ↩
-
๑๒๓. วัดค่ายวัว อยู่หลังบ้านหม้อ ↩
-
๑๒๔. อยู่หลังบ้านหม้อ แถวเดียวกับวัดแม่นางปลื้ม ↩
-
๑๒๕. วัดครุฑ อยู่ปลายคลองสระบัวฝั่งตะวันออก ↩
-
๑๒๖. วัดป่าแตง อยู่ในปากคลองสระบัวตรงหน้าพระเมรุข้าม ↩
-
๑๒๗. วัดกุฎีทอง อยู่ริมคลองเมืองฝั่งเหนือ เยื้องหน้าพระราชวังข้าม ↩
-
๑๒๘. วัดโรงฆ้อง อยู่ริมคลองเมื่องฝั่งเหนือ ↩
-
๑๒๙. อยู่หลังบ้านหม้อ ดูเหมือนจะเป็นตลาดเดียวกับเลขที่ ๑๒๑ ↩
-
๑๓๐. ดูหมายเลข ๑๒๙ ↩
-
๑๓๑. วัดพร้าว อยู่ในคลองเล็ก ตรงหน้าวัดสามวิหารข้าม เดิมก็คงจะอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ แต่ตลิ่งงอกออกมามาก ↩
-
๑๓๒. ถนนสายนี้เป็นถนนใหญ่ตรงไปจากหน้าพระราชวัง ไปหักเลี้ยวที่มุมกำแพงพระราชวังด้านใต้หน่อยหนึ่ง แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปทางใต้ถึงประตูไชย ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำด้านใต้ เคยแห่รับพระราชสาสน์พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศส กับปรากฏว่าเป็นที่ชุมพลทัพเรือ ซึ่งแม่ทัพจะยกไปต่อสู้ข้าศึกตามหัวเมือง ไม่ใช่ทัพหลวงที่เสด็จเป็นจอมพล แต่ที่ว่ามีแห่พยุหยาตรากฐินหลวง นาคหลวง สระสนาน ช้างม้านั้น เห็นจะมีแต่กฐินหลวงวัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นวัดของสมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นในที่พระนิเวศน์เดิมย่านป่าตอง ใกล้กับประตูไชยเป็นการพิเศษ ส่วนการแห่พยุหยาตรากฐินหลวงหรือสระสนานช้างม้าที่ประจำ คงจะตั้งกระบวนออกจากหน้าพระราชวัง ที่ถนนหน้าวังตราข้างวัดธรรมิกราช เสด็จออกทางประตูจักรมหิมา ตรงไปตามทางย่านถนนป่ามะพร้าว ถึงวัดพลับพลาไชยเลี้ยวลงข้างใต้ หยุดทรงทอดกฐินวัดราชบุรณะแล้วไปวัดมหาธาตุ กลับกระบวนเลี้ยวลงสู่ทิศตะวันตกทางถนนตลาดเจ้าพรหม ตรงมาเข้าประตูพระราชวังหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ ในจดหมายเหตุของทูตลังกาที่ว่าด้วยตอนไปดูแห่กฐินพยุหยาตรา อธิบายถึงแผนที่ ๆ ไปคอยดูก็อยู่ในถนนสายที่กล่าวนี้ และในพระนครยังมีถนนรีถนนขวางอีกหลายสาย ถนนเหล่านั้นพูนดินขึ้นสูงเหมือนทางรถไฟ ตอนที่ดอนก็สูงราว ๓ ศอก ที่ลุ่มก็สูงตั้ง ๔ ศอกหรือกว่าก็มี กว้างราว ๒ วาบ้าง ๓ วาบ้างกว่าบ้าง กลางปูอิฐตะแคงยังเหลือเห็นได้ในเวลานี้อีกหลายแห่ง สันนิษฐานว่า ตามถนนในพระนครเวลานั้นใช้แต่พาหนะช้างม้า ไม่มีรถหรือเกวียน จะมีก็แต่รถหลวงสำหรับใช้ในการแห่เท่านั้น
ถนนสายนี้ตามแผนที่เป็นถนนขวางอยู่กึ่งกลางพระนคร แต่เหนือไปใต้ และมีถนนรีแต่ด้านตะวันออกตรงไปทางตะวันตกถึงหลังวังหลัง ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงทหารเดี๋ยวนี้ เป็นถนนสายรีที่อยู่กึ่งกลางพระนครเหมือนกัน ตรงที่ถนนสองสายนี้ผ่านกันเป็นทาง ๔ แพร่ง เรียกว่าตะแลงแกง ริมถนนตะแลงแกงด้านเหนือฟากตะวันตกมีหอกลอง ซึ่งผู้ตรวจสอบหนังสือเรื่องนี้เคยตรวจค้น ขุดพบโคนเสาขนาดใหญ่เท่ากับเสาพระเมรุกลางเมืองแต่ก่อนเหลืออยู่ ๓ ต้น และมีรากกำแพงอิฐรอบ ห่างจากหอกลองเข้าไปด้านหลังมีวัดเรียกกันว่าวัดเกศ ต่อจากหลังวัดเกศไปเป็นคุก มีคลองเล็กแยกจากคลองท่อ ที่ถัดสะพานลำเหยมาทางตะวันออกถึงคุกเรียกว่าคลองนครบาล ข้างฟากถนนตะแลงแกงทางใต้ด้านตะวันตกมีศาลพระกาฬหลังคาเป็นซุ้มปรางค์ และมีศาลอยู่ต่อกันไปเข้าใจว่าจะเป็นศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ที่ตรงตะแลงแกงเห็นจะถือกันว่าเป็นกลางพระนคร ในกฎมณเฑียรบาลจึงแบ่งแขวงในกำแพงพระนครไว้ดังนี้ ตั้งแต่หอกลองถึงเจ้าไสยและตลาดยอดแขวงขุนธรณีบาล ตั้งแต่หอกลองถึงประตูไชยและเจ้าไสยแขวงขุนธราบาล แต่หอกลองถึงป่ามะพร้าวมาถึงท้ายบางเอียนแขวงขุนโลกบาล ตั้งแต่หอกลองลงมาบางเอียนถึงจวนวังแขวงขุนนรบาล รวมเป็น ๔ แขวง
ท้องที่นอกกรุงก็แบ่งเป็น ๔ แขวง คือ ๔ อำเภอเหมือนกัน พบชื่อที่มีมาในกฎหมาย คือ แขวงรอบกรุงคงจะปกครองท้องที่บริเวณนอกกำแพงพระนครออกไปโดยรอบ แขวงอุไทยปกครองท้องที่ต่อเขตต์แขวงรอบกรุงออกไปด้านตะวันออกจนจดทิศใต้ แขวงนคร ปกครองต่อจากแขวงรอบกรุง และแขวงอุไทยไปทางทิศเหนือ ตลอดตะวันตกเฉียงเหนือ แขวงเสนา ปกครองต่อจากแขวงรอบกรุงและแขวงนครทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปต่อแขวงอุไทยทิศใต้ ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร จะเป็นรัชชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชชกาลที่ ๕ เห็นว่าแขวงอุไทย แขวงนคร แขวงเสนา มีท้องที่และผู้คนมากเกินกำลังนายแขวงจะปกครองให้เรียบร้อยได้ จึงแบ่งแขวงอุไทย แขวงนคร แขวงเสนา ออกไปอีกเป็น อุไทยใหญ่ อุไทยน้อย นครใหญ่ นครน้อย เสนาใหญ่ เสนาน้อย รวมเป็น ๗ อำเภอ ครั้นเมื่อรวมหัวเมืองจัดการเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้แบ่งแยกเขตต์ท้องที่อำเภอนครใหญ่ นครน้อย ออกเป็นนครกลาง นครใน แยกเขตต์อำเภอเสนาใหญ่ เสนาน้อย ตั้งขึ้นเป็นอำเภอเสนากลาง อำเภอเสนาใน รวมเป็น ๑๑ อำเภอ ต่อมาโปรดให้เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยน้อย เป็นอำเภอพระราชวัง และตัดเขตต์อำเภออุไทยใหญ่และเขตต์อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี รวมเข้าตั้งเป็นอำเภออุไทยน้อยอีกอำเภอหนึ่ง รวมเป็น ๑๒ อำเภอ และโปรดให้เปลี่ยนชื่ออำเภอนครกลาง เป็นอำเภอนครหลวง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ ในรัชชกาลที่ ๖ โปรดให้เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยใหญ่คงเป็นอำเภออุไทย อำเภออุไทยน้อยเปลี่ยนเป็นอำเภอวังน้อย อำเภอพระราชวังเปลี่ยนเป็นอำเภอบางปอิน อำเภอนครใหญ่เปลี่ยนเป็นอำเภอมหาราช อำเภอนครน้อยเปลี่ยนเป็นอำเภอท่าเรือ อำเภอนครในเปลี่ยนเป็นอำเภอบางปะหัน อำเภอเสนาใหญ่เปลี่ยนเป็นอำเภอผักไห่ อำเภอเสนาน้อยเปลี่ยนเป็นอำเภอราชคราม อำเภอเสนากลางคงเป็นอำเภอเสนา อำเภอเสนาในเปลี่ยนเป็นอำเภอบางบาล อำเภอรอบกรุงเป็นอำเภอกรุงเก่า ↩
-
๑๓๓. ค่ายผนบบ้านหล่อ หนังสือบางเรื่องเรียกว่าจำหล่อ แต่ก่อนเคยเห็นมีตามทางเข้าวัดที่อยู่ตามดอน เป็นเครื่องกีดกั้นขวางทาง คือ ปักเสาสูงราว ๒ ศอก มีไม้เสาทับหลังขวางถนนเรียกว่าราว เป็น ๒ แนวเยื้องไม่ตรงกัน ปลายต่อปลายเกินกันทั้ง ๒ ข้าง ตามปกติเมื่อผู้ใดเดิรไปถึงจำหล่อจำเป็นต้องเดิรอ้อมจากปลายราวข้าง ๑ ไปออกปลายราวข้าง ๑ ถ้าเป็นโจรผู้ร้ายถูกไล่วิ่งหนีมาถึงจำหล่อก็จำเป็นต้องหยุดชงักทำให้ช้าลง ครั้งกรุงศรีอยุธยาตามจำหล่อว่ามีกองตระเวนอยู่ประจำรักษาการ ดังปรากฏในเพลงยาวของนายจุ้ย ฟันขาว กวีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่งไว้ความว่า คืนวัน ๑ ไปหาผู้หญิงที่บ้านแต่เข้าบ้านผู้หญิงไม่ได้ คอยจนดึกหมดหวังก็เดิรกลับมาตามถนน ถึงจำหล่อเขาปิดเพราะเกินยาม ๑ แล้ว จึงต้องปีนข้าม มีกลอนในตอนกลางเพลงยาวว่า ดังนี้ “แต่เดิรครวญป่วนใจจนใกล้รุ่ง เสียดายมุ่งหมายมือที่ถือถนอม คิดใคร่คืนหลังง้อไปขอจอม เกลือกมิยอมยกหน้าก็ท่าอาย ยิ่งคิดอั้นอกโอ้อาลัยเหลือ คนึงเนื้อหอมใจยังไม่หาย พี่เดิรดึ่งไปจนถึงจำหล่อราย เขาปิดตายมิให้เดิรด้วยเกินยาม ก็ยึดราวก้าวโผนพอโจนพ้น จึ่งปะคนที่เขาเกณฑ์ตระเวนถาม ไม่ตอบสนองเขามามองตระหนักนาม ครั้นแน่เนตร์เขาก็ขามด้วยเคยกลัว” ↩
-
๑๓๔. ตำบลที่เรียกว่าป่าในพระนครศรีอยุธยา อย่าสำคัญว่าเป็นที่ว่างร้างเปลี่ยวเช่นป่าดง แต่ตรงกันข้าม ตำบลที่เรียกว่าป่าในพระนครนั้น กลับเป็นตลาดพะสานที่ประชุมคน คือ หมายความว่าย่านใดที่มีสิ่งใดเป็นพื้นก็เรียกว่าป่าของสิ่งนั้น ๆ เช่นป่าตะกั่วเป็นตลาดขายลูกแหและเครื่องตะกั่ว ย่านป่ามะพร้าวเป็นตลาดที่ขายมะพร้าว หรืออาจจะมีต้นมะพร้าวอยู่ในแถบนั้นบ้าง ป่าผ้าเหลือง ก็คือย่านตลาดขายผ้าไตรจีวร ป่าตองก็เป็นที่มีสวนกล้วยมีใบตองขายในย่านนั้น เป็นต้น ↩
-
๑๓๕. คือวัดวรโพธิ อยู่ฟากตะวันตกคลองท่อ คนละฟากกับด้านหลังพระราชวัง เดิมเห็นจะเรียกว่าวัดระฆัง จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดวรโพธิในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อคณะสงฆ์ซึ่งออกไปตั้งศาสนาเกาะลังกากลับเข้ามา น่าจะได้พันธุ์พระศรีมหาโพธิเข้ามาถวาย คงจะได้โปรดให้ปลูกที่วัดระฆัง ด้วยเป็นวัดใกล้ที่ประทับ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดวรโพธิแต่นั้นมา ↩
-
๑๓๖. ยังเห็นรากเชิงสะพานอยู่ ↩
-
๑๓๗. ยังเห็นรากเชิงสะพานอยู่ ↩
-
๑๓๘. ยังเห็นรากเชิงสะพานอยู่ แต่แลงนั้นว่ารื้อเอาลงไปกรุงเทพฯ คราวสร้างบรมบรรพตวัดสระเกศ ในรัชชกาลที่ ๓ ↩
-
๑๓๙. เชิงสะพาน ๒ ข้างยังอยู่สูงถึงที่วางรอด อยู่ถนนป่าถ่านระวางหน้าวัดมหาธาตุกับวัดราชบุรณะ ↩
-
๑๔๐. ยังเห็นรากเชิงสะพานอยู่ และในย่านนี้เป็นเทวสถาน ↩
-
๑๔๑. สะพานนี้ก่อเจาะกลางเป็นช่องโค้ง ↩
-
๑๔๒. เป็นสะพานก่ออิฐและเป็นช่องโค้ง ↩
-
๑๔๓. ที่ว่าประตูไชยเป็นคลองน้ำนั้น ในหนังสือเรื่องนี้เอ็งก็เถียงกัน ตอนที่พรรณนาด้วยถนนก็มีความว่า เป็นถนนหลวงสำหรับแห่กฐินพยุหยาตราและนาคหลวงสระสนานช้างม้า ก็ถ้าประตูไชยเป็นประตูน้ำแล้ว ถนนประตูไชยก็ต้องเป็นคลอง มิเป็นกระบวนแห่พยุหยาตรากฐินบกไปลอยคอในน้ำหรือ ในเรื่องประตูไชยนี้ท่านผู้เรียบเรียงเดิมเห็นจะหลงไป เอาแผนที่ประตูฉะไกรน้อยมาเป็นประตูไชย จึงมิได้กล่าวถึงประตูน้ำฉะไกรน้อยเลย ดังจะเห็นได้ต่อไปก็อธิบายถึงประตูฉะไกรใหญ่ทีเดียว ข้อที่จะชี้ให้เห็นว่า ประตูไชยมิใช่ประตูน้ำนั้น มีในพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระเชษฐาธิราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาทองครั้งยังเป็นเจ้าพระยากระลาโหมยกเข้ามาจับพระเจ้าแผ่นดิน มีเรือ ๑๐๐ ลำเศษพล ๓,๐๐๐ พันล่องลงมาจากวัดกุฏิขึ้นที่ประตูไชย เจ้าพระยากระลาโหมขึ้นม้านำพลไปถึงศาลพระกาฬหยุดลงจากม้า ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วสุ้มพลอยู่ จน ๘ ทุ่ม ได้เวลาจึงยกเข้าฟันประตูพระราชวัง และยังมีพะยานประกอบอีกแห่งหนึ่ง ได้พบในเพลงยาวของหม่อมพิมเสน ข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นกวี แต่จะเป็นมหาดเล็กหลวงหรืออะไรหาทราบไม่ ได้แต่งเพลงยาวนิราสว่าด้วยไปราชการ จะเป็นกองทัพหรือกองข้าหลวงไปทำอะไรทางจังหวัดเพ็ชรบุรี แต่สังเกตดูในท้องเรื่องมีเรือและผู้คนไปมากเป็นกองใหญ่ เรือที่จะไปนั้นตั้งกระบวนอยู่ที่ประตูไชย ก่อนที่หม่อมพิมเสนจะไปราชการนั้นได้ติดพันอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง และได้พบพูดจาสั่งเสียกันที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ว่า ขอให้ผู้หญิงตามไปส่งในวันยกกองออกจากกรุง แต่ผู้หญิงคนนั้นหาไปส่งไม่ มีกลอนเพลงยาวตอนนั้นว่าดังนี้ “จนภูษาผ้าสพักก็เปลี่ยนผลัด จะเจียนจัดสิ่งไรให้ใหลหลง ถึงเวลาที่จะยาตราตรง ดำรงใจมาในความกรอม เดิรทางอย่างจะถอยย้อนรอยหยุด สุดใจด้วยใจจะไกลถนอม ถึงประตูไชยร้อนอารมณ์กรม ออมเทวษประเวศลงนาวา ตระหนักจิตต์ตามนามเรือรบ แลไหนไม่พบพักตรเชษฐา จึ่งให้ล่องแลตามท้องชลามา เห็นเรือราพายรายมาหลายลำ” ข้อนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ประตูไชยไม่ใช่เป็นประตูคลองน้ำ แต่ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องพลั้งพลาดบ้าง แต่เท่าที่ท่านได้เรียบเรียงไว้อย่างลเอียดลออเป็นหลักฐานได้เท่านี้ ก็นับว่าเป็นบุญคุณแก่ผู้ศึกษาโบราณคดีชั้นหลังเป็นนักหนา ↩
-
๑๔๔. วัดบรมพุทธาราม สมเด็จพระเพทราชาทรงสร้างขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมย่านป่าตองภายในกำแพงกรุง อยู่ระวางประตูไชยกับคลองฉะไกรน้อย พระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบ จึงเรียกกันว่า วัดกระเบื้องเคลือบ ↩
-
๑๔๕. สะพานลำเหย เป็นสะพานข้ามคลองท่อตอนใน ซึ่งมีถนนมาจากวังหลังตรงไปจดกำแพงกรุงด้านตะวันออก ตรงวัดพิไชยข้าม กรมทหารได้ทำถนนจากหลังโรงทหารไปตามแนวเดิมถนนลาว ถนนตะแลงแกง และสร้างเป้าขึ้นที่ระวางวัดฉัตทันต์กับเทวสถานให้ชื่อถนนแผลงศร ทำสะพานขึ้นใหม่ตรงสะพานลำเหย ให้ชื่อว่าสะพานลักษณสูตร สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ภายหลังสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสิมา เมื่อเสด็จไปทรงบัญชาการกองพลทหารบกที่ ๓ โปรดให้ทหารทำถนนต่อถนนแผลงศรจากหลังเป้าตรงไปตามถนนป่าโทน บรรจบถนนรอบกรุงด้านตะวันออก ประทานชื่อไว้ว่าถนนเดชาวุธ ↩
-
๑๔๖. สะพานสายโซ่ เป็นสะพานข้ามคลองท่อจากฟากตะวันตก มาเข้าประตูมหาโภคราช หน้าพระที่นั่งทรงปืน ↩
-
๑๔๗. ฉางมหาไชยอยู่ในคลองระวางวัดสวนหลวงกับวัดสบสวรรค์ เดี๋ยวนี้อยู่ในบริเวณโรงทหาร คลองนั้นถมเป็นพื้นเดียวกันหมดแล้ว ↩
-
๑๔๘. ตลาดที่กล่าวมาในตอนนี้เป็นตลาดในพระนคร บางตลาดก็ตั้งใกล้กัน บางตลาดก็ห่างกัน ครั้นจะอธิบายก็ฟั่นเฝือเข้าใจยาก จึงได้จดตำบลตลาดเท่าที่รู้ไว้ในแผนที่ ↩
-
๑๔๙. เกาะทุ่งขวัญ เห็นจะหมายเอาทุ่งหลังบ้านคลองสระบัวฝั่งตะวันตก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเรียกกัน ↩
-
๑๕๐. เกาะทุ่งแก้ว คือทุ่งหลังบ้านคลองสระบัวฝั่งตะวันออก ↩
-
๑๕๑. บ้านนาเลิ่ง หอแปลพระราชสาสน์นี้ ยังเป็นที่สงสัย จะว่าบ้านนาเลิ่งเดี๋ยวนี้ก็อยู่ถึงอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ในเวลานั้นเข้าใจว่ายังเป็นป่า ฤๅจะเป็นบ้านเกาะเลิ่งใต้อำเภอบางปะหัน แต่ชื่อนี้ไม่พบในหนังสือเก่าแห่งใด พบแต่ชื่อบ้านวัดนางเลิ้ง ซึ่งมีมาในพงศาวดารในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งรับราชทูตพะม่า ว่าโปรดให้ปลูกโรงรับแขกเมือง ณที่นั้น วัดนี้อยู่ในแม่น้ำอ้อมวัดตูมแถวเดียวกับวัดศาสดา แต่ที่เอาหอแปลพระราชสาสน์เข้าควบท้ายไว้ด้วยนั้น หอแปลพระราชสาสน์ก็อยู่ในพระราชวัง บางทีจะหมายความว่า พวกหมู่เลขเฝ้าหอแปลพระราชสาสน์ เป็นคนตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลนั้น และพวกเลขเฝ้าหอแปลพระราชสาสน์เป็นผู้ทำกระดาษขายดอกกระมัง ↩
-
๑๕๒. บ้านฉนู (เวก) พเนียด จะเป็นคลองระวางวัดพระเจดีย์แดงกับพเนียด หรือจะเป็นคลองหน้าพเนียดอย่างไรไม่ทราบ มีแต่บ้านธนูอยู่ในคลองบ้านเข้าเม่าคนละทาง ↩
-
๑๕๓. บ้านบางเอียนมีชื่อมาในพงศาวดารและกฎมณเฑียรบาล อยู่ริมกำแพงพระนครด้านตะวันออกตรงสถานีอยุธยาข้าม
ในคำให้การชาวกรุงเก่า ไม่ได้กล่าวถึงด่านขนอนตลาดพะลาน ถนนคลองสะพานและค่ายขนบบ้านหล่อเลย ↩