คำนำ

ด้วยมหาอำมาตย์โท เจ้าพระยามุขมนตรี รับฉันทะจากข้าราชการสังกัด กระทรวงมหาดไทย และผู้ระลึกถึงพระอุปการคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา มาแจ้งยังราชบัณฑิตยสภาว่า มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือ อันเป็นสาระประโยชน์ขึ้นสักเรื่องหนึ่ง เพื่อนำขึ้นถวายเจ้าภาพเพิ่มในของแจกเป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ณพระเมรุท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ นี้

ข้าพเจ้าได้ทราบก็ยินดีอนุโมทนา แต่หนังสือที่จะพิมพ์ขึ้นในครั้งนี้ ฝ่ายทางธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์มหานิบาตชาดกพระราชทาน และยังสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ก็ได้โปรดให้พิมพ์พระธรรมเทศนาซึ่งพระเถระได้ถวายในงานบำเพ็ญพระกุศลนับตั้งแต่สัปดาหต้นเป็นลำดับมา กับประชุมจารึกวัดพระเซตุพน อันเป็นทางวรรณคดีนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้เลือกให้พิมพ์หนังสือเรื่องอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา อันเป็นฝ่ายแผนกโบราณคดี

เรื่องอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ต้นฉะบับได้มาในหนังสือมรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าในกรม พร้อมพระหฤทัยกันถวายแด่หอพระสมุดสำหรับพระนคร พิจารณาดูเห็นเป็นตัวฉะบับเดิมแท้ มิได้มีผู้ใดแก้ไขเพิ่มเติมให้วิปลาศ มีเรื่องในหนังสือเป็น ๒ ตอน ตอนต้นเป็นเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา อ้างไว้ข้างท้ายว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพลงยาวนี้มีหลักฐานควรเชื่อว่าแต่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ด้วยในคำให้การของชาวกรุงเก่า ที่พะม่าจับขึ้นไปถามคำให้การเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวอ้างถึง แต่ข้อที่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่มีเขียนอ้างไว้กับเพลงยาว ประหลาดอยู่ที่เพลงยาวบทนี้ ยังมีผู้ท่องจำกันมาได้แพร่หลายจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เรียกกันว่าเพลงยาวพุทธทำนาย

อีกเรื่องหนึ่งต่อเพลงยาวไปเปนเรื่องพรรณนาถึงภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา พิเคราะห์ดูสำนวนเห็นว่าผู้แต่งเกิดทันสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่มาแต่งหนังสือในกรุงรัตนโกสินทร์

ก็เรื่องภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้เอาเป็นธุระสืบสวนตรวจตราโดยน้ำใจรักมากว่า ๒๐ ปี แต่ยังเป็นหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ขึ้นไปรับราชการอยู่ในมณฑลอยุธยา ตลอดมาจนได้เป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล และเป็นอุปนายกแผนกโบราณคดีในราชบัณฑิตยสภาอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อข้าพเจ้าพบหนังสือเรื่องนี้ จึงได้คัดสำเนาส่งไปให้พระยาโบราณราชธานินทร์สอบสวนดู พระยาโบราณราชธานินทร์มีแก่ใจแต่งคำวินิจฉัยขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ประกอบกับต้นฉะบับที่ได้มา

หนังสือเรื่องนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้พิมพ์ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในการพระราชพิธีสังเวยอดีตมหาราช ที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่งแล้ว แต่โดยมากผู้ที่รับแจกเป็นข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนิร กับข้าราชการหัวเมือง ยังหาสู้แพร่หลายไม่ และทั้งต่อมาพระยาโบราณราชธานินทร์ ก็ได้แต่งคำวินิจฉัยเพิ่มเติม และรวบรวมรูปโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยาซึ่งได้ถ่ายไว้มาเข้าบรรจุเพื่อประกอบท้องเรื่อง ดังปรากฏอยู่ในสมุดเล่มนี้

ราชบัณฑิตยสภาขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของผู้ที่สวามิภักดิ์ ระลึกถึงพระอุปการคุณในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งได้พร้อมใจกันพิมพ์หนังสือซึ่งเป็นสาระประโยชน์อุทิศกุศลถวายในอวสานกาลด้วยความกตัญญูกตเวที ขออำนาจแห่งกุศลนี้ จงเพิ่มวิบากสุขแด่พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาพระองค์นั้น ตามสมควรแต่ฐานทุกประการ เทอญ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ