ภาคผนวก
การศึกษาลักษณะคำประพันธ์ของลิลิตโองการแช่งนํ้า
ลักษณะคำประพันธ์ของโคลงห้าในลิลิตโองการแช่งนํ้านี้ มีผู้ศึกษาค้นคว้ากันอยู่หลายท่าน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่าลักษณะบังคับเอกโท คณะ วรรคตอนของโคลงห้าควรจะเป็นเช่นใด
แบบเรียนหนังสือไทยเล่มแรก คือจินดามณี ได้แสดงตัวอย่างลักษณะของโคลงชนิดต่างๆ ไว้ โดยมีโคลงชื่อ “มณฑกคติโคลงห้า” และโคลง “อย่างโคลงแช่งนํ้าพระพัฒน์” ชึ่งมีลักษณะ ดังนี้[๑]
มณฑกคติ โคลงห้า
๏ นํ้าจะคล้ายคลาดิน | ปลาดีนี้กินดี |
ม้าดำนํ้าลงดาล | ไปกลางนํ้าฝากนํ้า |
จักจากริลรักมา | นกจีนี้จิวจี่ |
จะนอนนานสั่งชู้ | ไว้กับเข้าแก่เข้า ฯ |
อย่างโคลงแช่งนํ้าพระพัฒน์
๏ กาบใจว่าต้นทอง | พายผินแผนแต่งส้า |
อย่าปองผีเมือเถื่อน | รบศึกข้าบาดปืน ฯ |
๏ จักพรรดิภูเบศแม้น | มนมท |
หลานเทพศรีเสาคต | แก่นไท้ |
จตุรรัษฐีกระลาบท | สบสาตร |
พระรวมอรรถมวนไว้ | แว่นแจ้งใจตรัส ฯ |
๏ จึ่งจะสอนสยามภาษาพู้น | อักษร |
ตราประสงค์เกลากลอน | เรียบร้อย |
ควรเป็นปิ่นอาภรณ์ | กระวิกาพย์ |
ทูลเศียรสนองสร้อย | แง่งาม ฯ |
๏ ท่านเกลากลอนเกลี้ยงราบ | เรียงสนธิ์ |
ตัวไต่ตามสวรพยญชน | ถี่ถ้อง |
เอาออาทิอนนต์ | ยาชาด |
ในที่สวรต้องตั้ง | แต่งตรา ฯ |
๏ เอาพยัชนกอาทิ | ห อวสาน |
ภูลพรรคพรรคานตยา | คลาศแคล้ว |
ในพรรคแบ่งพรรคคานต์ | เป็นภาค |
ใช่ที่ควรอย่าแส้ว | ใส่ลง ฯ |
ฯลฯ
จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในสมัยที่แต่งจินดามณีนั้น ผู้แต่งไม่ รู้จักชนิดคำประพันธ์ชองโคลงในโองการแช่งนํ้า จึงได้รวบรวมตัวอย่างไว้แล้วให้ชื่อว่า “อย่างโคลงแช่งน้ำพระพัฒน์” และตัวอย่างโคลงบทแรกเพียงบทเดียวมี ลักษณะแตกต่างไปจากโคลงอีก ๑๐ บทที่ตามมาซึ่งลักษณะใกล้เคียงโคลงสินธุมาลี และโคลงมหาสินธุมาลีมากกว่า ข้อควรสังเกตประการหนึ่งคือ ลักษณะ ร่วมกันของโคลงมณฑกคติโคลงห้าและโคลงอย่างโคลงแช่งนํ้าพระพัฒน์ซึ่งมีจำนวนคำวรรคละห้าคำ
เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจึงมีนักวรรณคดีหลายท่านศึกษาค้นคว้าและเสนอความเห็นอันแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดังต่อไปนี้
๑. พระราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[๒]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาโองการแช่งนํ้าตอนแรก คือ บทที่กล่าวถึงการสร้างโลก และทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ลักษณะคำประพันธ์เป็นโคลงดั้นจิตรลดากลบท ตามพระราชนิพนธ์ดังนี้
“...ตอนนี้ตามที่เคยได้ยินกล่าวกันมานั้นว่าเป็นโคลง แต่ขาดๆ พร่องๆ อีกนัยหนึ่งว่าไม่ใช่โคลง หากจะเป็นกาพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พิจารณาดู เทียบกับแบบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ในวรรณพฤติ มาตราพฤติ และกาพย์ สารวิลาสินีทั้ง ๓ แห่งแล้ว เห็นว่าดูใกล้จะเป็นโคลงดั้น เรียกว่า จิตรลดา ดังมี แบบในกาพยสารวิลาสินีภาณดังนี้
๏ พระจันทรเพงแผ้ว | สรัทกาล |
ช่วงโชติพรายงาม | รุ่งฟ้า |
ให้ชนชื่นบานนิตย | ทุกหมู่ |
รัศมีเรืองหล้าแหล่ง | เวหา ฯ |
ส่วนข้อที่ถ้อยคำขาดหรือตกไปนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะไม่ตกหาย หาก แต่โคลงนั้นเป็นโคลงกลบท...”
แล้วทรงจัดโคลงโองการแช่งน้ำตามความที่ทรงสันนิษฐาน โดยมีบางบท เป็นโคลงสาม และโคลงสามดั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
๏ นานาอเนกน้าว | เดิมกัลป์ |
จักรํ่าจักราพาฬ | เมื่อไหม้ |
กล่าวถึงตระวันเจ็ด | อันพลุ่ง |
อันพลุ่งนํ้าแล้งไข้ | ขอดหาย ฯ |
๏ เจ็ดปลามันพลุ่งหล้า | เป็นไฟ |
จาบจัตุราบาย | แผ่นขวํ้า |
แผ่นขว้ำชักไตรตรึงษ์ | เป็นเผ้า |
เป็นเผ้าแลบลํ้า | สีลอง ฯ |
ฯลฯ
๏ แลมีคํ่ามีวัน | กินสาลีเปลือกปล้อน |
บ่มีผู้ต้อนแต่ง | บรรณา ฯ |
๏ เลือกผู้ยิ่งยศ (สา) | เป็นราชาอะคร้าว |
เรียกนามสมมตจ้าว | จึงตั้งท้าวเจ้าแผ่นดิน ฯ |
ส่วนเนื้อความตอนที่เป็นคำแช่ง และมีลักษณะคำประพันธ์เป็นร่ายตั้งแต่ “ผู้ใดเภทจงคด พาจกจากซึ่งหน้า” จนถึง “แผนทูลเข้าเงือกปลํ้าช่วยดู ปลํ้าเงี้ยว รอนราญรงค์” ทรงจัดรูปคำประพันธ์ขึ้นใหม่ให้เข้าสัมผัส และทรงเห็นว่าจะทำให้อ่านได้เนื้อความเข้าใจยิ่งขึ้น ดังนี้
“ผู้ใดเภทจงคด ถือขันสรดตานเสียด มารเฟียดไทยทศพล ช่วยดูธรรมาระคนประตแยก ช่วยดู อเนกถ่องพระสงฆ์ ช่วยดู ขุนหงษ์ทองเกล้าสี่ ช่วยดู สี่ปวงผีหาวแห่ง ช่วยดู ฟ้าชรแร่งหกคลอง ช่วยดู ผีกลางหาวหารแอ่น ช่วยดู เจ้าผาดำสามเส้า ช่วยดู แสนผีพึงยอมเท้า เจ้าผาดำผาเผือก ช่วยดู พาจกจากซึ่งหน้า ห้อยชั้นฟ้าคู่แมน...”
และตอนสุดท้ายตั้งแต่ “ผีดงผีหมื่นถํ้า” ไปจนจบ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นร่ายโบราณที่ไม่เคร่งครัดเรื่อง จำนวนคำในแต่ละวรรค
๒. ความเห็นของ พ.ณ ประมวลมารค[๓]
พ.ณ ประมวลมารค ได้วิเคราะห์ลักษณะคำประพันธ์ของโองการแช่งนํ้า โดยมีความเห็นว่า ร่าย ๓ ท่อนแรกเป็นร่ายกาพย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ส่วนตอนต่อมาตั้งแต่ “นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์” จนถึง “โอมโอมภูมเทเวศ สืบคํ้าฟ้าเที่ยงเฮยย่ำเฮย” พ.ณ ประมวลมารค ได้จัดเรียงใหม่ตามแบบโคลง “อย่างแช่งนํ้าพระพัฒน์” ในจินดามณีแล้วสรุปว่า โคลงนี้มีอักขรวิธีผิดเพี้ยนตกหล่นมาก คงจะเนื่องจากพราหมณ์พิธีผู้รักษาต้นฉบับไม่รู้ภาษาไทยดีนัก
ตัวอย่างของโคลงที่ พ.ณ ประมวลมารค จัดไว้เป็นดังนี้
๏ นานาอเนกน้าว | เดิมกัลป์ |
จักรํ่าจักราพาฬ | เมื่อไหม้ |
กล่าวถึงตระวันเจ็ด | อันพลุ่ง |
(ตก) (ตก) นํ้าแล้งไข้ | ขอดหาย ฯ |
๏ เจ็ดปลามันพุ่งหล้า | เป็นไฟ วาย (แฮ) |
(ตก) จัตุราบาย | แผ่นขว้ำ |
(ตก) (ตก) ชักไตรตรึงษ์ | เป็นเผ้า |
(ตก) (ตก) แลบลํ้า | สีลอง ฯ |
ฯลฯ
ตอนต่อไปตั้งแต่ “ผู้ใดเภทจงคด พาจกจากซึ่งหน้า” จนถึง “แผนทูลเขา เงือกปลํ้า ช่วยดู ปลํ้าเงี้ยวรอนราญรงค์” เป็นร่ายสั้นเรียงตามสัมผัส คล้ายกับ พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในช่วงสุดท้ายตั้งแต่ “ผีดงผีหมื่นถํ้าลํ้าหมื่นผา” เป็นร่ายเรียงตามลำดับบรรทัดไปจนจบบท และได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โคลงในโองการแช่งนํ้าอาจจะเป็นโคลงดั้นบาทกุญชร
๓. ความเห็นของพระยาอุปกิตศิลปสาร[๔]
พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้กล่าวถึงลักษณะโคลงมณฑกคติ โคลงห้า ว่ามี ๔ บาท บาทละ ๕ คำ เติมสร้อยท้ายบาทได้ ๒ คำ ทั้ง ๔ บาท และมีสัมผัสแบบโคลงบาทกุญชร
พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำตัวอย่างโองการแช่งนํ้ามาจัดรูปเสียใหม่ดังนี้
๏ นานาอเนกน้าว | เดิมกัลป | (มีสร้อย) |
จักรํ่าจักรพาฬ | เมื่อไหม้ | (มีสร้อย) |
กล่าวถึงตระวันเจ็ด | อันพลุ่ง | (มีสร้อย) |
นํ้าแล้งไข้ขอดหายฯ | ||
๏ เจ็ดปลามันพุ่งหล้า | เป็นไฟ | |
วาบจตุราบาย | แผ่นขวํ้า | |
ชักไตรตรึงษ์เป็นเผ้า | แลบลํ้าสีลอง ฯ |
แต่พระยาอุปกิตศิลปสารก็ยังมีความเห็นว่า โองการแช่งน้ำคงจะมีการคัดลอกตกหล่นและคลาดเคลื่อน บางบทจึงมีเพียง ๓ วรรค และสัมผัสไม่ตรง บางแห่งวรรคตอนคลาดเคลื่อน ควรนำคำสร้อยมาไว้ต้นบาทดังนี้
๏ มารเฟียดไททศพล | |
ช่วยดูไตรแดนจัก | อยู่ค้อย |
ธรรมาครปรัตเยก | |
ช่วยดูห้าร้อยเทียร | แมนเดียว ฯ |
๏ อเนกถ่องพระสงฆ์ | |
ช่วยดูเขียวจรรยา | ยิ่งได้ |
ขุนหงส์ทองเกล้าสี่ | |
ช่วยดูชระอํ่าฟ้าใต้ | แผ่นหงาย ฯ |
๔. ความเห็นของจิตร ภูมิศักดิ์[๕]
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการชึ่งศึกษาโองการแช่งนํ้าทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และวรรณคดี โดยเสนอความเห็นว่า วรรณคดีเรื่องนี้มีความเก่าแก่มาก น่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเต็มไปด้วยถ้อยคำสำนวนเก่า แบบไทยโบราณ ส่วนลักษณะคำประพันธ์นั้นเป็นร่ายและโคลงห้า ซึ่งมีลักษณะเป็นโคลงดั้นชนิดหนึ่ง เรียกชื่อตามจำนวนคำที่มีบาทละ ๕ คำ มีการเพิ่มคำลงในหน้าบาทได้ ลดจำนวนวรรคลงเป็นบทละ ๓ หรือ ๒ วรรคได้ โคลงชนิดนี้เคยนิยมแต่งในอาณาจักรลาวล้านช้าง มีวรรณคดีโบราณที่บางส่วนของเรื่องแต่งเป็นโคลงห้าคือ เรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ตัวอย่างโคลงห้าจากวรรณคดีดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
๏ ขอบน้องเบ่า | เสียสัตย์ |
สารเป็น | ที่หมั้น |
ดัดดัดถวาย | ใจจอด |
ชั้นฟ้าพี่ | เมือไกล ฯ |
๏ อยู่เยอ ยอดมิ่งค้อม | คำคาด เชียงเครือ |
บังบาไท | ที่เหง้า |
จักเมือพี่ | ลาเจ้า |
เจ้าช่างอยู่ | สองนอน ฯ |
และตัวอย่างโคลงห้าตัดวรรคเหลือ ๓ วรรค และ ๒ วรรค เช่น
๏ ต้านแม่นถ้อย | พอหู |
อรชรใจ | ตํ่าคล้อย |
คำน้อยใผ | บ่เห็น ฯ |
๏ จักปากรือ | ว่าได้ |
เยียวท่อไท้ | ลือชา ฯ |
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้จัดเรียบเรียงโองการแช่งน้ำ โดยศึกษาแบบจากโคลงห้า แบบโคลงลาวแล้วเสนอออกมาเป็นผังและตัวอย่างดังนี้
๐ ๐่ ๐้ | ๐ ๐ |
๐ ๐ ๐ | ๐่ ๐้ |
๐ ๐ ๐ | ๐ ๐่ ( ้ ) |
๐ ๐้ ๐้ | ๐่ ๐ |
(สัมผัสแบบโคลงดั้นบาทกุญชร)
๏ เจ็ดปลา | มันพลุ่งหล้า | เป็นไฟ |
วะวาบ | จัตุราบาย | แผ่นขวํ้า |
ชักไตรตรึงษ์ | เป็นผ้า | |
แล บ่ ลํ้า | สีลอง ฯ | |
๏ สามรรถ | ญาณครอบเกล้า | ครองพรหม |
ฝูงเทพ | นองบนปาน | เบียดแป้ง |
สรลมเต็มพระ | สุธาวาศ แห่งนั้น | |
ฟ้าแจ้งจอด | นิโรโธ ฯ |
๏ พระรามพระลักษณ์ | ชวักอร |
แผนทูลเขา | เงือกปลํ้า ช่วยดู |
ปลํ้าเงี้ยวรอน | ราญรงค์ |
ผีดง | ผีหมื่นถํ้าลํ้า | หมื่นผา ฯ |
มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ หล่อหลวงเต้า ทั้ง เหง้าภูติพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า.....
สรุปความคิดเห็นของท่านผู้รู้ต่างๆ ที่ศึกษาลิลิตโองการแช่งน้ำแล้วปรากฏว่าข้อที่มีปัญหาขัดแย้งกันมากคือ ลักษณะคำประพันธ์ บางท่านพยายามศึกษาในลักษณะของโคลงห้า ซึ่งนอกจากโองการแช่งนํ้าแล้วก็ไม่มีวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ทึ่ใช้คำประพันธ์โคลงห้านี้อีกเลย ส่วนบางท่านเห็นว่า โคลงในโองการแช่งนํ้าก็คือโคลงสี่บางชนิดนั่นเอง
ในส่วนร่ายนั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเป็นร่ายโบราณที่ยังไม่เคร่งครัดในฉันทลักษณ์ อย่างไรก็ตามวรรณคดีไทยยังเป็นศาสตร์ที่เปิดให้ทุกคนที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา ในอนาคตอาจจะมีผู้ค้นพบต้นฉบับโองการแช่งนํ้าที่เก่ากว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือมีผู้ศึกษาวิเคราะห์วรรณคดีเรื่องนี้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่วงการวรรณคดีของชาติเป็นอย่างยิ่ง
[๑] จินดามณี เล่ม ๑-๒ (พระนคร : บรรณคาร ๒๕๑๔) หน้า ๔๐-๔๓
[๒] “พระราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องโองการแช่งนํ้า” วารสารศิลปากร ปีที่ ๗ : แพร่พิทยา ๒๕๐๒), หน้า ๔๖๐ – ๔๘๖
[๓] “กบเต้นเป็นคำโคลง” กำศรวญศรีปราชญ-นิราศนรินทร์ (รวบรวมโดย พ.ณ ประมวลมารค) (พระนคร แพร่พิทยา ๒๕๐๒), หน้า ๔๖๐ - ๔๘๖
[๔] หลักภาษาไทย (พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช ๒๕๑๑) หน้า ๔๑๒ - ๔๑๖
[๕] “โองการแช่งนํ้าและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มนํ้าเจ้าพระยา” (กรุงเทพฯ : ดวงกมล ๒๕๒๔)