คำอธิบาย

จุดมุ่งหมายของการแต่งลิลิตโองการแช่งนํ้าในครั้งแรกคงมิได้มุ่งหวังจะให้เป็นวรรณคดีที่ใช้อ่านกันทั่วๆ ไป แต่ต้องการจะให้เป็นบทลงโทษทางใจที่พราหมณ์ใช้อ่านในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (พระราชพิธีถือนํ้าพิพัฒน์สัตยา หรือน้ำพระพัทธสัจจา) ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญในสมัยโบราณ มีหลักฐานกล่าวไว้ชัดเจน ในกฎมนเทียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า

“อนึ่งลูกขุนผู้ใดขาดถือนํ้าพระพิพัทโทษถึงตาย ถ้าบอกป่วยคุ้ม ถ้าลูกขุนผู้ถือนํ้าพิพัทห้ามถือแหวนนาก แหวนทอง แลกินเข้ากินปลากินนํ้ายา แลเข้ายาคูก่อนนํ้าพระพิพัท ถ้ากินนํ้าพระพิพัทจอกหนึ่ง แลยื่นให้แก่กันกิน กินแล้วแลมิได้ใส่ผม เหลือนั้นล้างเสีย โทษเท่านี้ในระวางกระบถ”[๑]

ครั้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังคงมีพระราชพิธีนี้สืบต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีเดือนห้า ว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลว่า การถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในกรุงเทพฯ นี้มีอยู่ ๕ อย่าง คือ[๒]

๑. ถือนํ้าเมื่อแรกพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเสวยราชสมบัติ

๒. ถือน้ำปกติสำหรับข้าราชการ ปีละ ๒ ครั้ง คือในวันขึ้น ๓ คํ่า เดือน ๕ กับวันขึ้น ๑๓ คํ่า เดือน ๑๐

๓. ถือน้ำสำหรับผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตร เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร

๔. ถือน้ำทุกเดือนสำหรับทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ

๕. ถือนํ้าแรกเข้ารับตำแหน่งของผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการ

การถือนํ้าพิพัฒน์สัตยาทั้ง ๕ อย่างนี้จะต้องมีการอ่านคำสาบานตลอด ทั่วหน้าไม่ยกเว้น และคำสาบานแช่งนํ้านี้ก็ใช้ต่อๆ กันมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันใด คงจะเนื่องมาจากเป็นโองการอันศักดิ์สิทธิ์ที่ถือปฏิบัติในการพระราชพิธี อีกทั้งเนื้อความในโองการแช่งนํ้านี้มีการกล่าวพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงไม่น่าจะมีผู้คิดดัดแปลงแก้ไข ดังพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พ.ศ. ๒๓๙๔ ว่า “.....(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์) ได้กราบทูลพระกรุณาว่า คำแช่งนํ้าพระพิพัฒน์ที่พราหมณ์อ่านนั้น ออกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีอยู่ แล้วแต่จะ โปรดเกล้าฯ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งว่า อย่าให้เปลี่ยนเลยให้คงไว้ตามเดิม ด้วยคำแช่งนํ้านี้เป็นคำของเก่า สำหรับกรุงเทพฯ ให้ยืนอยู่ตามชื่อศรีอยุธยา ที่อาลักษณ์อ่านนั้นเป็นของใหม่ ควรจะเปลี่ยนพระนามตามแผ่นดินปัจจุบัน.....”[๓]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (เถลิงสงกรานต์) และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกัน เรียกว่าพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ ซึ่งเริ่มจากวันที่ ๒๔ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน โดยถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้แก้ไขดัดแปลงโองการแช่งนํ้าหลายประการ

การถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยายกเลิกไปเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ก็มิได้มีพระราชพิธีถือนํ้าพิพัฒน์สัตยา คณะรัฐมนตรีเพียงแต่กล่าวคำปฏิญาณตนที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐบาลมีนโยบายฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกพระราชพิธีนี้ในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่ทหาร ตำรวจผู้ปราบปรามจลาจล ซึ่งจะกระทำทุก ๒ ปี หรือ ๓ ปี ส่วนโองการแช่งนํ้าที่ใช้ในปัจจุบัน สำนักพระราชวังได้ตัดทอนและดัดแปลงแก้ไขจากของเดิมให้เนื้อความเหมาะสมกับสมัยปัจจุบันยิ่งขึ้น

การตรวจสอบชำระวรรณคดีลิลิตโองการแช่งนํ้าในครั้งนี้ ต้นฉบับที่นำมาตรวจสอบเป็นสมุดไทย อักษรไทย จำนวน ๘ ฉบับ ซึ่งทั้งหมดนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ พิจารณาตามลักษณะตัวอักษร และทะเบียนประวัติของสมุดไทยเหล่านี้แล้วปรากฏว่าทั้งหมดเป็นฉบับที่คัดลอกในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อความถ้อยคำไม่มีที่แตกต่างกันเท่าใดนัก นอกจากอักขรวิธีปลีกย่อยตามความนิยมของอาลักษณ์แต่ละคน ถ้อยคำหรือเนื้อความตอนใดที่แตกต่างกันก็ได้พิจารณาตามหลักภาษาไทย และค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีประกอบ แล้วจึงเลือกใช้คำที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นคำที่ถูกต้องมาแต่เติม ถ้อยคำหรือเนื้อความที่ต่างไปจากต้นฉบับที่ใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้จะคงมีเชิงอรรถไว้และพยายามรักษาอักขรวิธีให้ใกล้เคียงของเดิมในสมุดไทยมากที่สุด คำใดที่ลักลั่นกันหรือแน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดเนื่องมาจากการคัดลอกก็ได้แก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง เช่นคำว่า เจ็ต - เจ็ด กัน - กัลป์ เป็นต้น นอกจากนี้คำที่ใช้อักษร ฃ และ ฅ ได้เปลี่ยนเป็น ข และ ค ทั้งหมด

แม้ว่าผู้ตรวจสอบจะได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างระมัดระวังแล้ว ก็คาดว่าจะยังมีข้อผิดพลาดขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง เนื่องจากต้นฉบับสมุดไทยทั้งหมดที่มีอยู่เป็นฉบับที่คัดลอกในสมัยหลังทั้งสิ้น เนื้อความและการจัดเรียงบรรทัดวรรคตอนแทบจะไม่ต่างกันเลย เข้าใจว่าสมุดไทยเหล่านี้คงจะใช้คัดลอกวนเวียนกันมา ลักษณะดังกล่าวทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อความตอนที่คิดว่าน่าจะผิดหรือตกหล่น รวมทั้งไม่ช่วยขจัดปัญหาให้ศึกษาฉันทลักษณ์ของโคลงห้าได้

ดังนั้นในการพิมพ์ครั้งนี้จึงยังไม่สามารถปรับปรุงวรรคตอนให้เป็นคณะ แบบโคลงประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะทำได้ไม่กลมกลืนกันตลอดทั้งเรื่อง คงเรียงไว้แบบเดิมก่อน แต่เนื่องจากมีท่านผู้รู้หลายท่านได้เคยศึกษาเกี่ยวกับลักษณะคำประพันธ์ของลิลิตโองการแช่งนํ้า พร้อมทั้งเสนอแนวคิดไว้ต่างๆ กันอย่างน่าสนใจ จึงได้สรุปข้อเสนอแนะของแต่ละท่านไว้ในภาคผนวก ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักศึกษา และผู้ที่สนใจวรรณคดีเรื่องนี้ และจะเป็นแนวทางให้มีผู้ศึกษาวิเคราะห์ฉันทลักษณ์ของลิลิตโองการแช่งนํ้าได้กระจ่างแจ้งถูกต้องต่อไป.



[๑] กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา ๒๕๐๕) หน้า ๑๐๔

[๒] “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล” พระราชพิธีสิบสองเดือน (พระนคร : เจริญธรรม ๒๔๙๕) หน้า ๒๒๗-๒๒๙

[๓] พระราชกรัณยานุสร ตอนว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดามรกฎรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๖๕-๖๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ