คำนำ

ในงารปลงศพพระมงคลเทพมุนี เอี่ยม วัดราชสิทธาราม ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ นี้ หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม กับหม่อมเจ้าหญิงพร้อมเพราพรรณ ธิดาข้าพเจ้า มีประสงค์จะพิมพ์หนังสือสำหรับแจกในงารพระราชทานเพลิง เปนส่วนของเธอช่วยสนองคุณพระมงคลเทพมุนี เหตุด้วยท่านเปนผู้ที่สกุลฝ่ายมารดาของเธอนับถือเช่นเปนญาติ ฝ่ายท่านก็มิความเมตตาอารีแก่เธอเช่นญาติตั้งแต่ยังย่อมเยาว์มาเปนนิตร์ ข้าพเจ้ารับธุระของธิดาหาเรื่องหนังสือที่ในหอพระสมุด ฯ พบหนังสือซึ่งสมควรจะพิมพ์แจกในงารศพพระมงคลเทพมุนี มีอยู่เรื่อง ๑ คือลิลิตมหาชาติกัณฑ์มหาราช ซึ่งพระมงคลเทพมุนีแต่งตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ แต่เมื่อท่านยังเปนที่พระปลัด บอกนามไว้ในหนังสือนั้นแต่ว่า “พระปลัดเอี่ยมเปนผู้แต่ง” ข้าพเจ้าเคยได้ถามตัวท่านๆ​รับว่าท่านแต่งเอง มีผู้อื่นช่วยบ้างเล็กน้อย หนังสือเรื่องนี้ยังไม่เคยพิมพ์ จึงเห็นควรพิมพ์ให้ปรากฎเกียรติยศของท่านผู้มรณภาพ ว่าเปนทั้งกวีแลเปนนักเทศน์มหาชาติ กระบวรเทศน์มหาชาติดูเหมือนจะเทศนได้ทุกกัณฑ์ แต่กัณฑ์วนประเวศนั้นนับว่าไม่มีตัวที่จะเสมอ ท่านได้เคยถวายเทศน์กัณฑ์นั้นประจำตัวมาในรัชกาลที่ ๕ แต่ข้าพเจ้ายังเด็ก พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรด แต่ดำรัสติอยู่คราวหนึ่ง เห็นจะเปนด้วยในเวลานั้นหินปูนจับฟันท่านหนานัก ดำรัสว่า “พระครู (พจนโกศล) เอี่ยม เทศน์ก็ดี แต่อย่างไรดูเหมือนอมก้อนอิฐไว้ในปาก” ต่อมาเมื่อท่านได้เปนที่พระมงคลเทพมุนีฟันหักหมดปากแล้ว ได้ถวายอิกครั้ง ๑ ดำรัสชมว่า “ตั้งแต่ก้อนอิฐหลุดออกจากปาก พระมงคลเทพเทศน์เพราะขึ้นมาก” ท่านนับอยู่ในพระราชาคณะซึ่งทรงพระเมตตาองค์ ๑ มีเรื่องประวัติข้าพเจ้าถามท่านมาจดไว้ในหนังสือเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้

​ประวัติพระมงคลเทพมุนี เอี่ยม

พระมงคลเทพมุนี วัดราชสิทธาราม นามเดิมว่าเอี่ยม นามฉายาว่าเกสรภิกขุ เปนสกุลพราหมณ์ เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อณวันพฤหัสบดี เดือนยี่แรม ๑๐ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ. ๒๓๘๑

ในรัชกาลที่ ๔ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปีไปเปนศิษย์พระญาณสังวรเถรอยู่ที่วัดราชสิทธาราม แล้วบรรพชาเปนสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ศึกษาอักขรสมัย แลเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักมหาดวงที่วัดราชสิทธิ์นั้น ครั้นอายุครบอุปสมบทบวชที่วัดราชสิทธิ์ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ พระวินัยรักขิต วัดหงสรัตนารามเปนพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วศึกษาวิปัสนาธุระอยู่ในสำนักพระสังวรานุวงศ์ เมฆ ต่อมาได้เปนพระพิธีธรรมวัดราชสิทธิ์แต่ในรัชกาลที่ ๔

​ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เปนพระใบฎีกาในฐานานุกรมของพระสังวรานุวงศ์ เมฆ แล้วได้เปนพระปลัดฐานานุกรมของพระสุทธศีลาจารย์ ต่อมาถวายเทศน์กัณฑ์วนประเวศ ทรงตั้งเปนพระครูพิเศษที่พระครูพจนโกศล เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ ครั้นถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงตั้งเปนพระราชาคณะที่พระสุธรรมธีรคุณ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ในปีนั้น ทรงเลื่อนเปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระมงคลเทพมุนี สมณศักดิ์เสมอชั้นเทพ มีสำเนาทรงตั้งดังนี้

“ให้เลื่อนพระสุธรรมธีรคุณ เปนพระมงคลเทพมุนี ศรีรัตนไพรวัน ปรันตปประเทศ เขตรอรัญวาสีบพิตร สถิตพระพุทธบาท เจ้าคณะพระพุทธบาท มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึงกึ่ง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๕ รูป คือพระครูปลัด พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๕ รูป

​พระมงคลเทพมุนี เอี่ยม ได้เปนผู้ช่วยพระพุฒาจารย์มา ดูแลการรักษาพระพุทธบาทมาจนชราทุพลภาพ จึงถวายพระพรลาจากหน้าที่

พระมงคลเทพมุนีป่วยเปนโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ คำณวนอายุได้ ๘๖ ปี

สิ้นประวัติพระมงคลเทพมุนี เอี่ยม เท่านี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ