คำนำ

ด้วยทุเรียน สินธุวณิก มารดา ขุนรัตนพิมล (เจียง สินธุวณิก) บุตร มาแจ้งความแก่กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเรื่อง ๑ เปนของแจกในงานปลงศพสนองคุณ นายเท้ง สินธุวณิก ผู้สามี แลบิดา ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าเปนผู้ตรวจเลือกหาหนังสือลองหาเรื่องแปลก ๆ ด้วยปีนี้มีผู้สร้างหนังสือในการกุศลมากไม่อยากจะให้ซ้ำกัน ตรวจไปพบลิลิตตำรานพรัตนเรื่อง ๑ มีฉบับหลวงอยู่ในหอพระสมุด เห็นเปนหนังสือแปลก และเปนหนังสือมีตำนานเนื่องในพระราชพงษาวดาร ควรพิมพ์เปนของแจกในการกุศลได้ เชื่อว่าผู้ที่ได้รับแจกจะไม่เคยเห็นหนังสือเรื่องนี้ มีอยู่เปนอันมาก แลคงจะพากันพอใจที่จะได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ ได้ชี้แจงความเห็นแก่ขุนรัตนพิมล เห็นชอบด้วย จึงพิมพ์ลิลิตตำรานพรัตนในสมุดเล่มนี้

ที่เรียกว่าตำรานพรัตนนั้น คือ ตำราแก้ว ๙ อย่าง คือ เพ็ชร, ทับทิม, มรกฏ, บุษราคำ, โกเมน, นิล, มุกดา, เพทาย, ไพฑูริย์, ในตำรานี้กล่าวด้วยมูลเหตุที่เกิดแก้ว ตามคติซึ่งเชื่อกันในโบราณ แลว่าด้วยลักษณแก้ว ๙ อย่าง ว่าลักษณบางอย่างให้คุณ ลักษณบางอย่างให้โทษแก่เจ้าของ แลที่สุดแสดงด้วยค่าแก้ว ๙ ประการ ตำรานี้สันนิฐานว่า ต้นเดิมเห็นจะมาจากทางมัชฌิมประเทศ อ้างว่าเปนตำราของพระอังคตฤๅษี แต่จะได้แปลเปนภาษาไทยแต่ครั้งกรุงเก่า ฤๅมาแปลเมื่อในกรุงรัตนโกสินทรนี้หาทราบไม่ ปรากฎในบานแพนกข้างท้ายลิลิตแต่ว่ามีตำรานั้นอยู่ในหนังสือตำราพลอยฉบับหลวงในตู้ตึกเจียรไนฉบับ ๑ ฉบับหลวงเทพนาจารย์ฉบับ ๑ ฉบับหมื่นแก้วนายช่างเจียรไนฉบับ ๑ ฉบับนายดินช่างเจียรไนเพ็ชรฉบับ ๑ ฉบับนายดีช่างทองชเลยศักดิ์ฉบับ ๑ รวม ๕ ฉบับ หลวงนรินทราภรณ์ กับหมื่นรักษาเปนผู้แต่งลิลิตเรื่องนี้ แสดงมูลเหตุที่จะแต่งลิลิตว่า เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๕๓ เมื่อทำพระเบญจาทองคำสำหรับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หลวงนรินทราภรณ์เปนช่างคน ๑ ซึ่งทำพระเบญจาแลเครื่องประดับ เกิดปรารภจะแต่งลิลิตนี้ขึ้น ทำงานไปพลางแต่งไปพลาง จนสำเร็จแล้ว เอาลิลิตสอบกับตำรานพรัตนที่มีอยู่ เห็นถูกต้องแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ตำนานของเรื่องลิลิตตำรานพรัตนมีมาดังนี้

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาส่วนกุศลทักษิณานุปทาน ซึ่งทุเรียนแลขุนรัตนพิมลได้บำเพ็ญเปนการสนองคุณท่านผู้เปนบุรพการีด้วยความกตัญญูกตเวที แลข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้จะพอใจแลอนุโมทนา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

<p class="signed>หอพระสมุดวชิรญาณ

<p class=" signed'="">วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ