คำนำ

จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม ชม โชติกะพุกกณะ จะทำการปลงศพคุณหญิงไกรเพ็ชรรัตนสงคราม (ชิดโชติกะพุกกณะ) ต.จ. มีศรัทธาจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกเนื่องในการกุศลทักษิณานุปทานสักเรื่อง ๑ มาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุด ฯ ให้ ขณะนั้นประจวบเวลาซึ่งหอพระสมุด ฯ พบหมายรับสั่งการรับแขกเมือง ครั้งเซอร์ยอนเยาริงเปนราชทูตอังกฤษเข้ามาในรัชกาลที่ ๔ ได้เตรียมไว้หมายว่าจะพิมพ์ ด้วยเห็นประโยชน์ในทางความรู้ราชประเพณีแต่ก่อน ได้ให้พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงครามดูก็ชอบใจ จึงให้รวมหมายรับสั่งบรรดามีในเรื่องนั้น ๑๘ ฉบับ พิมพ์เปนเรื่องหนังสือในจำพวก “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ” นับเปนภาคที่ ๙

อธิบายหมายรับสั่งเรื่องรับเซอร์ยอนเบาริง

เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เปนปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงแต่งให้เซอร์ยอนเบาริง เปนอรรคราชทูต เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจะขอทำหนังสือสัญญา ให้ประเทศอังกฤษกับประเทศสยามมีทางพระราชไมตรีตามประเพณีประเทศที่เปนอิศรเสมอกันสืบไป

ที่จริงอังกฤษกับไทยได้เริ่มมีไมตรีกันตั้งแต่สมเด็จพระเอกาทศรถครองกรุงศรีอยุธยา เปนเวลาแรกที่อังกฤษจะมาค้าขายถึงเมืองไทยในรัชกาลนั้น แต่นั้นมาพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษกับพระเจ้าแผ่นดินสยามก็มีพระราชสาส์นแลส่งราชบรรณาการไปมาถึงกันเนื่อง ๆ แต่ไม่ปรากฏว่าได้โดยแต่งราชทูตแต่ราชสำนักฝ่ายใดไปถึงอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนอย่างฝรั่งเศส พระราชสาส์นแลศุภอักษรเสนาบดีที่อังกฤษกับไทยมีถึงกันเปนแต่ให้พวกพ่อค่าผู้เชิญไปมา จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี มาถึงสมัยเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เปนราชธานี ในรัชกาลที่ ๑ ทางประเทศยุโรปกำลังเกิดสงครามนะโปเลียน ฝรั่งต่างชาติต้องกังวลด้วยการสงครามนั้นอยู่ช้านาน จน พ.ศ. ๒๓๕๓ พวกสัมพันธมิตรจึงมีไชยชนะฝรั่งเศส แต่นั้นอังกฤษก็มีอำนาจมากขึ้นทางประเทศตวันออก แต่อำนาจนั้นยังอยู่ในบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองประเทศอินเดีย รัฐบาลอังกฤษเองยังหาใคร่จะได้มาเกี่ยวข้องทางประเทศตวันออกนี้ไม่ เพราะฉนั้นหมอครอเฟิตที่เปนทูตอังกฤษเข้ามาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ ก็ดี เฮนรีเบอร์นีทูตอังกฤษที่เข้ามาทำหนังสือสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับอังกฤษ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ ก็ดี เปนแต่ทูตของผู้สำเร็จราชการอินเดีย หาได้เปนราชทูตมาแต่ราชสำนักพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษไม่ รัฐบาลอังกฤษพึงจับบัญชาการทางประเทศตวันออกเองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ตรงในรัชกาลที่ ๓ เริ่มได้เกิดอริวิวาทกับประเทศจีนจนเลยถึงรบพุ่งกัน อังกฤษมีไชยชนะ จีนต้องยอมทำหนังสือสัญญาค้าขายกับอังกฤษ แลต้องยกเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ เมื่ออังกฤษมีอาณาเขตรเปนที่มั่นทางเมืองจีนแล้ว รัฐบาลอังกฤษจึงคิดขยายการค้าขายของอังกฤษให้กว้างขวางออกไปตามประเทศทีใกล้เคียง เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ลอร์ดปาลเมอสะตัน เสนาบดีว่าการต่างประเทศอังกฤษ ให้เซอร์เชมสบรุกถือหนังสือเข้ามาถึงเสนาบดีในกรุงเทพฯ จะขอแก้ไขหนังสือสัญญาซึ่งเฮนรีเบอร์นีได้มาทำไว้ให้เปนประโยชน์แก่พ่อค้าอังกฤษยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่หาสำเร็จดังประสงค์ไม่ ด้วยเมื่อเซอร์เชมสบรุกเข้ามาเปนเวลาจวนจะสิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรอยู่แล้ว ฝ่ายไทยไม่ยอมแก้ไขสัญญาให้ตามประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษ เซอร์เชมสบรุกก็ต้องกลับไป ความมาปรากฏภายหลังว่า เมื่อเซอร์เชมสบรุกบอกรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ ๆ มีคำสั่งมาว่าให้กลับมาเมืองไทยอิก แลคราวนี้ให้เอาเรือรบในกองทัพของอังกฤษที่เมืองจีนมาด้วย ถ้าไทยไม่ยอมแก้หนังสือสัญญา ก็ให้ใช้อำนาจเหมือนที่ได้ทำที่เมืองจีน ให้ไทยยอมทำหนังสือสัญญาตามอังกฤษต้องการให้จึงได้ แต่เมื่อคำสั่งนั้นออกมาถึงประจวบเวลาทางเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ อังกฤษทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษแลมีราชหฤไทยนิยมต่อการที่จะสมาคมกับฝรั่ง เข้าใจว่ารัฐบาลไทยคงจะไม่ถือคติอย่างจีนเหมือนแต่ก่อน รัฐบาลอังกฤษจึงเปลี่ยนความคิดเดิม แต่งให้เซอร์ยอนเบาริงเจ้าเมืองฮ่องกงเปนอรรคราชทูต เชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระราชินิวิกตอเรียกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาโดยทางไมตรี

การที่เซอร์ยอนเบาริงเข้ามาครั้งนั้น เปนการสำคัญแก่ฝ่ายไทยที่อาจจะมีผลดีฤๅร้ายได้ทั้ง ๒ สถาน คือถ้าหากว่าไทยแขงขึงดึงดันไม่ยอมแก้สัญญา อย่างเมื่อครั้งเซอร์เชมสบรุกเข้ามา ก็คงเกิดรบกับอังกฤษ แต่ถ้าหากหวาดหวั่นเกรงอำนาจอังกฤษ ยอมแก้สัญญาด้วยความกลัวเกินไป ก็คงเสียเปรียบในกระบวนสัญญา ก็เปนผลร้ายเหมือนกัน ทางที่จะได้ผลดีมีแต่ที่จะต้องให้การปฤกษาหารือกันโดยปรองดอง ด้วยมีไมตรีจิตรต่อกันทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะฉนั้นการรับราชทูตอังกฤษครั้งนี้ จึงการสำคัญผิดกับทูตที่เคยมาคราวก่อน ๆ อยู่อย่าง ๑

อิกประการ ๑ ประเพณีการรับราชทูต ย่อมเปนการที่เจ้าของเมืองต้องรมัดรวังแต่โบราณมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ไม่ว่าในประเทศไหน ๆ ด้วยราชทูตถือว่าเปนผู้มาต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดินของตน ถ้าเจ้าของเมืองไม่รับรองฤๅประพฤติไม่สมเกียรติยศ ราชทูตก็หาว่าเปนการประมาทหมิ่นไม่นับถือพระเจ้าแผ่นดิน อาจจะเปนเหตุให้ถึงหมองหมางทางพระราชไมคตรีก็เปนได้ ดังเช่นเมื่อเยอรมันกับฝรั่งเศสจะรบกันเมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๓๑๒ บิสมาร์กต้องการจะให้ปรากฏว่าฝรั่งเศสเปนฝ่ายก่อการสงครามก่อน แกล้งทำกลอุบายให้ข่าวปรากฏไปถึงเมืองปารีสว่า ราชทูตฝรั่งเศสจะไปเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (ซึ่งภายหลังเปนเยอรมันเอมปเรอ) พระเจ้าวิลเลียมไม่ให้เฝ้า พอข่าวปรากฏเท่านี้ก็เกิดโกลาหลในพวกพลเมืองฝรั่งเศส กล่าวหาว่าพระเจ้าวิลเลียมดูหมิ่นฝรั่งเศส จนรัฐบาลต้องรบกับเยอรมัน เรื่องเกียรติยศของราชทูตจึงเปนการสำคัญในเรื่องรักษาทางพระราชไมตรีด้วยอิกประการ ๑

เซอร์ยอนเบาริงเข้ามาคราวนี้เช่นราชทูตอังกฤษคนแรกที่จะได้เข้ามาเมืองไทย เพราะผู้ที่มาแต่ก่อน ๆ เช่นหมอครอเฟิดแลเฮนรีเบอร์นี เปนแต่ทูตของขุนนางผู้สำเร็จราชการอินเดีย เซอร์เชมสบรุกก็แต่ผู้ถือหนังสือของเสนาบดีว่าการต่างประเทศดังกล่าวมาแล้ว ยังหาเคยมีราชทูตมาจากราชสำนักของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษไม่ แท้จริงราชทูตฝรั่งที่ได้โดยมาเมืองไทยจากราชสำนักประเทศอื่นแต่ก่อนมา เคยมีปรากฏแต่เมื่อครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทรงแต่งให้ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช อันล่วงเวลามาได้ถึง ๑๖๗ ปี แต่หากจดหมายเหตุยังมีอย่จึงรู้เรื่องได้ ความปรากฏในหนังสือซึ่งเซอร์ยอนเบาริงกลับไปแต่งเรื่องเมืองไทยว่า เซอร์ยอนเบาริงเข้ามาคราวนั้นก็ตั้งใจมาว่า ถ้าไทยรับรองเพียงเสมออย่างหมอครอเฟิดฤๅเฮนรีเบอร์นีก็จะถือว่าไม่รับรองให้สมเกียรติยศ ได้ค้นหาจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายน์ทรงรับรองราชทูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เตรียมมาไว้สำหรับจะคอยว่ากล่าวกับรัฐบาล แต่ข้างฝ่ายไทยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคาดการโดยพระปรีชาญาณเห็นว่า เซอร์ยอนเบาริงคงจะเกี่ยงให้รับรองให้เกียรติยศสูงกว่าเคยรับทูตฝรั่งที่มาแต่ก่อน เพราะเปนราชทูตมาแต่ราชสำนัก พระองค์เคยทรงหนังสือจดหมายเหตุเรื่องราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายน์ ทรงพระราชดำริห์เห็นลักษณการตรงกับที่เซอจอนเบาริงเข้ามาครั้งนั้น จึงโปรดให้จัดการรับเซอร์ยอนเบาริงตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายน์รับราชทูตฝรั่งเศส มิให้ใช้แบบแผนซึ่งเคยถือเปนตำรารับแขกเมืองในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ กระแสพระราชดำริห์ไปตรงกับความมุ่งหมายของเซอร์ยอนเบาริงเหมือนอย่างว่ารู้เท่าทันกัน ก็ไม่มีข้อที่จะเกิดเปนปากเสียงเกี่ยงงอนกันด้วยเรื่องการรับรองราชทูตอังกฤษในครั้งนั้น ถึงเซอร์ยอนเบาริงได้ชมไว้ในหนังสือที่แต่งว่า เมื่อราชทูตอังกฤษเข้ามาคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับรองพระราชทานเกียรติยศเหมือนอย่างครั้งราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนารายน์ โดยพระราชหฤไทยนิยมในทวงพระราชไมตรีที่จะได้มีกับสมเด็จพระราชินิวิกตอเรียดังนี้ เรื่องตเนเหตุของหมายรับสั่งซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ มีเนื้อความดังแสดงมา.

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งจางวางตรีพระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม ได้บำเพ็ญในการปลงศพคุณหญิงชิดผู้ภรรยา แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลาย หวังใจว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับแจกไปคงจะอนุโมทนาด้วยทั่วกัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ