พระราชพิธี ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล

๑ พระราชพิธีสงกรานต์

การที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีในพระราชวังบวรฯนี้ กล่าวตามที่ได้เห็นเปนอัตรามาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่อมาถึงกรมพระราชวังบวรในรัชกาลปัตยุบันนี้ ลดน้อยลงหลายอย่าง จะได้กล่าวต่อภายหลัง ก็การพระราชกุศลในครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ต้นคือนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เริ่มตั้งแต่ก่อนน่าสงกรานต์วันหนึ่ง เวลาเย็นมีพระสงฆ์ ๕ รูป สวดพระปริตเศกเครื่องมุรธาภิเศกในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทั้ง ๓ วัน รุ่งขึ้นวันเถลิงศกเวลาเช้าฉันแล้วถวายไทยทานสบงร่มรองเท้า

อนึ่งในวันจ่ายเวลาเย็นนั้นนิมนต์พระสงฆ์เถรานุเถรตั้งแต่พระองค์เจ้าพระ หม่อมเจ้าพระราชาคณะ สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะผู้ใหญ่ตามลำดับยศตลอดลงมา เว้นไว้แต่ที่มีราชการในพระบรมมหาราชวังฤๅอาพาธจึงไม่ได้มา แต่พระราชาคณะสามัญนั้นใช้ที่ได้มาในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ปีที่ล่วงมาแล้วนั้นรวมเท่าพระชนม์พรรษาเพิ่มปีละองค์สวดมนต์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งเครื่องนมัสการทองใหญ่ รุ่งขึ้นวันมหาสงกรานต์เวลาเช้าทรงประเคนอาหารบิณฑบาตตามธรรมเนียม

พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วทรงประเคนผ้าไตร พระสงฆ์ออกไปคอยสรงน้ำที่ข้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยด้านใต้ปักปรำคาดผ้าขาวตั้งเตียงมีเสา ๔ เสาผูกม่านผ้าขาวเพดานผ้าขาวห้อยพวงดอกไม้สด ข้างหลังเตียงมีถังน้ำสี่เหลี่ยมใหญ่ตั้งบนม้าสูง มีบัวตะกั่วสองบัวเรียกว่าประทุม พระสงฆ์เข้าไปสรงทีละ ๒ รูป ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์กลองแขก มีบัวอย่างฝรั่งคันเปนสูบปักในขันเชิงใหญ่ใช้น้ำดอกไม้สด กรมพระแสงหอกดาบถือถวายทรงสูบต่อพระหัดถ์ แล้วมีสุหร่ายอย่างสูบน้ำทางก้นสองอัน มักโปรดให้พระองค์เจ้าเล็ก ๆ เปิดก๊อกโปรยถวายพระ แลมีโถน้ำอบพนักงานภูษามาลาคอยตักถวาย เมื่อพระสงฆ์สรงน้ำแล้วออกไปครองไตร กลับเข้ามาฉันเข้าแช่เวลาเพนอิกครั้งหนึ่ง ไม่มีไทยทานสิ่งใดอิก

แลเวลาเย็นวันมหาสงกรานต์นั้น มีสวดมนต์ฉลองพระทรายเตียงยกในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ๒๐ รูป สวดที่เก๋งบอกหนังสือวัดบวรสถานสุทธาวาศ ๑๐ รูป ฉลองพระทรายหลวงแลพระทรายข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เช่นพระทรายบันดาศักดิ์ในพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้นวันเนาเวลาเช้ามารวมฉันในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเช้า ๓๐ รูป เพนฉันเข้าแช่ ๑๕ รูป ไทยทานสบงร่มรองเท้า

พระทรายเตียงยกนั้นเปนพนักงานกรมพระตำรวจในซ้ายขวา ๒ องค์ ทหารในซ้ายขวา ๒ องค์ กรมฝีพาย ๖ องค์ รวม ๑๐ องค์ กำหนดให้มาก่อรับเสด็จน่าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพร้อมกัน ก่อบนม้าสี่เหลี่ยมทาสีขาว มีราชวัตรฉัตรธงกระดาษทองสีต่าง ๆ แล้วยกเข้าไปตั้งฉลองในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยตามเฉลียงด้านใต้มีเครื่องบูชากระบะเชิง เวลาเช้ามีพานเข้าบิณฑ์ครบเท่ากับเตียงพระทรายด้วย เมื่อเสด็จขึ้นแล้วตั้งบายศรีทอง เงิน สมโภชเวียนเทียนประพรมน้ำหอมแล้วแห่ไปวัดมหาธาตุ มีกระบวรแห่ธงมังกรน่า ๓๐ คัน หลัง ๒๐ คัน คู่แห่น่า ๓๐ หลัง ๒๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๖ สังข์ ๑

พระทรายหลวงที่วัดบวรสถานน่าที่สี่ตำรวจก่อ องค์ใหญ่องค์ ๑ สูง ๘ ศอก สนมตำรวจก่อพระทรายบริวาร ๕๐ องค์สูง ๒ ศอก มีราชวัตรฉัตรธงกระดาษแลเข้าบิณฑ์พาน ๒ ชั้นพาน ๑ เครื่องบูชากระบะมุกเหมือนกัน แต่พระทรายข้าราชการนั้นบางทีโปรดให้ยกไปก่อวัดหงษ์รัตนารามบ้าง

อนึ่งมีเครื่องบูชากระบะมุกเชิงแลผ้าทรงน้ำหอม สรงพระศรีมหาโพธิ์วัดมหาธาตุสำรับ ๑ วัดสุทัศน์เทพวราราม ๒ สำรับ วัดสระเกษสำรับ ๑ ที่พระพุทธสิหิงค์ก็มีสรงน้ำ แลตั้งเครื่องนมัสการทองทิศตั้งบายศรีทองเงินสมโภชเวียนเทียนประโคมแตงสังข์พิณพาทย์กลองแขกทั้ง ๓ วัน แลมีพุ่มดอกไม้เพลิงคืนละ ๕ พุ่มทั้ง ๓ คืน ที่พระพุทธบาทในวัดบวรสถานก็มีสรงน้ำเวียนเทียนด้วย

อนึ่งถ้าปีใดสงกรานต์เปน ๔ วันแล้ว เพิ่มสวดมนต์เย็น ๒๐ รูป ในวันเนาแรกฉันเช้า ๒๐ รูป เพน ๒๐ รูป ในวันเนาที่ ๒ ไทยทานสบงร่มรองเท้าเหมือนกัน

ในเวลาเย็นวันเนานั้นพระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรมสวดมนต์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ๒๐ รูปในการสรงมุรธาภิเศก พระแท่นสรงตั้งข้างพระที่นั่งด้านเหนือ รุ่งขึ้นวันเถลิงศกเวลาเช้าเจ้าพนักงานภูษามาลาเข้าไปเชิญพระโกษฐ พระบรมอัษฐิแลพระอัษฐิลงตั้งบนโต๊ะสลักปิดทองมีเครื่องพระสุคนธ์พร้อมเปิดฝาพระโกษฐไว้ แล้วออกเสียก่อน ต่อเวลา ๒ โมงเศษจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นหอพระเจ้าสรงน้ำพระบรมธาตุแลพระพุทธรูป แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ สรงน้ำพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แลกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แล้วจึงเสด็จขึ้นหอพระอัษฐิสรงน้ำพระอัษฐิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ แลกรมพระศรีสุดารักษ์ แลพระสัมพันธวงศ์เธอ พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ด้วย แล้วจึงเสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ฉันเช้าในท้องพระโรง เจ้าพนักงานจึงกลับเข้าไปเชิญพระบรมอัษฐิแลพระอัษฐิออกทางประตูสถลศิวาไลยขึ้นพระราชยาน ขึ้นเสลี่ยงประโคมกลองชนะแตรสังข์ไปตั้งเหนือพระที่นั่งเสวตรฉัตรภายในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน

ครั้นเมื่อปีมเสงนพศก ๑๒๑๙ พระเสริมพุทธปฏิมากรซึ่งอยู่ในพระวิหารวัดประทุมวนารามเดี๋ยวนี้ ลงมาจากเมืองหนองคายแห่ประดิษฐานบนพระที่นั่งเสวตรฉัตรใมพระที่นั่งศิวโมกข์ แต่นั้นมาก็ใช้ตั้งพระบรมอัษฐิพระอัษฐิเหนือชั้นแว่นฟ้า ๒ ชั้นปักพระบวรเสวตรฉัตร ชั้นแว่นฟ้านั้นตั้งตรงน่าพระเสริมห่างออกมาห้อง ๑ ตั้งต้นไม้ทองเงิน ๒ คู่มีเครื่องนมัสการทองน้อยสำรับ ๑ เมื่อพระสงฆ์ ๒๐ รูปในท้องพระโรงรับพระราชทานฉันเช้าแล้วนั่งรออยู่จนถึงพระฤกษ์สรงมุรธาภิเศก ถวายชยันโตพราหมณ์เป่าสังข์ กรมพระแสงในขับบัณเฑาะว์ พนักงานประโคมฆ้องไชยแตงสังข์พิณฑ์พาทย์กลองแขกพร้อมกัน พระแท่นที่สรงนั้นเปนพระแท่นแว่นฟ้ามีบัวกลุ่มมีพนักทาขาวขอบทองเพดานระบายรอบ เสด็จประทับเหนือตั่งรูปกลมหุ้มผ้าขาวทรงเหยียยใบไม้ ตรงพระภักตร์ตั้งถาดสรงพระภักตร์พระครอบกลีบบัวทองคำ ทรงตักน้ำในขันสรง ๆ แล้วภูษามาลาถวายพระครอบพระกริ่ง พระครอบเนาวโลหะ พระเต้าบั้งกะหรี่ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระเต้าเบญจครรภมาอิกองค์หนึ่งก็เปนพนักงานภูษามาลาถวาย ชาวที่ใหญ่ถวายพระเต้าห้ากระษัตริย์ บาตรดินพม่าสามบาตรแล้วพระครูอัษฎาจารย์ หลวงศิวาจารย์ หลวงสุริยาเทเวศร์ พราหมณ์โหรดาจารย์จึงถวายน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ สังข์ทอง, เงิน, นาก, งา, พราหมณ์พฤฒิบาศถวายพระครอบสำริด เสร็จแล้วทรงผลัดพระภูษาตามสีวัน (ธรรมเนียมสรงเช่นนี้มีเมื่อสุริยุปราคา จันทรุปราคาด้วย) เมื่อสรงแล้วเสด็จประทับท้องพระโรง พระสงฆ์ถวายยถาสัพพีถวายอติเรกถวายพระพรลาครั้งหนึ่งแล้ว ออกไปนั่งอาศน์สงฆ์ที่พระที่นั่งศิวโมกข์ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งศิวโมกข์พิมานทรงประเคนสำรับเข้าแช่เพนอิกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์ฉันแล้วจึงสดัปกรณ์ผ้าขาว ๒๐ พับ ผ้าคู่ ๒๐ คู่ ธูปเทียนขวดน้ำหอมสิ่งละ ๒๐ เท่ากัน พระสงฆ์สำรับนั้นเองสดัปกรณ์ยถาสัพพีถวายอติเรกถวายพระพรลาอิกครั้งหนึ่ง แล้วมีสดัปกรณ์พระอันดับอิก ๔๐๐ รูป แลมีผ้าคู่ธูปเทียนของพระบรมวงศานุวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง แลพระราชวังบวรทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในถวายด้วย ใช้สดัปกรณ์พระรายร้อยทั้งสิ้น ผ้าคู่ขวดน้ำหอมธูปเทียนที่ทรงพระราชอุทิศสดัปกรณ์พระบรมอัษฐิ พระอัษฐิณพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ๔๐ คู่ สดัปกรณ์พระอันดับ ๒๐๐ รูป ผ้าคู่ขวดน้ำหอมบังสกุลอัษฐิเจ้าคุณสัมพันธวงศ์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย ๗ คู่ ภายหลังเปน ๙ คู่ จีวร ๑ สบง ๑ ขวดน้ำหอมธูปเทียนสดัปกรณ์พระอัษฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตณวัดพระเชตุพนด้วย แลมีผ้าขาวเขียนอักษรทรงพระราชอุทิศถวายตามพระนามพระบรมอัษฐิพระอัษฐิ แลอุทิศพระราชทานตามนามอัษฐิ เจ้าพนักงานศุภรัตนำไปทุกแห่ง

อนึ่งมีพระราชทานผ้า ๒ สำรับขวดน้ำหอมสรงน้ำพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอที่มีพระชนม์มากหลายพระองค์ แลพระราชทานรดน้ำเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ สองคน สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยด้วย แต่พระนมนั้นพระราชทานเงินด้วย เสร็จการพระราชกุศลนักขัตฤกษ์สงกรานต์เท่านี้,

พระราชพิธีวิสาขบูชา

มีสวดนต์ที่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมานวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบ่ายทั้ง ๓ วัน ฉันเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แรมค่ำ ๑ คง ๑๕ รูป แต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระสวดจัตุเวทมารวมฉันด้วยอิก ๔ รูป เปน ๑๙ รูป ไทยทานสบงร่มรองเท้าใบชา ตั้งเครื่องนมัสการทองใหญ่ มีตะเกียงเจือน้ำมันหอม น้ำมันจันทน์ น้ำมันกระดังงา น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว วันละ ๕ ตะเกียง ตั้งที่พระพุทธสิหิงค์ ๑ พระเสริม ๑ วัดบวรสถานสุทธาวาศในพระอุโบสถ ๑ พระพุทธบาทบนเขา ๑ พระพุทธบาทสี่รอย ๑ มีเทศนาในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คืนละกัณฑ์ทั้ง ๓ คืน เครื่องกัณฑ์ไตรพัชนีถาดชาร่มรองเท้าเสื่ออ่อนหมอนอิงตะลุ่มคาวหวาน มีดอกไม้เพลิงพุ่ม ๕ ชั้น น่าวัดบวรสถานสุทธาวาศ ๕ พุ่ม น่าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พุ่ม ๑๐ กระถาง ๑๐ ระทา ๘ ฝนแสนห่า ๑ สหัสธารา ๑ พ้อม ๑ จอกแก้ว ๑๐ พะเนียง ๑๐ ทั้ง ๓ คืน มีโคมข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแขวนพระอุโบสถที่วัดบวรสถานสุทธาวาศที่ข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทั้ง ๒ แห่ง ภายหลังเมื่อพระเสริมมาแล้ว มีประกวดประขันขึ้นที่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน มีซุ้มตะเกียง ๔ ตำรวจด้วย ๔ ซุ้ม วันแรมค่ำหนึ่งสดัปกรณ์แต่รายร้อย ๔๐๐ พระบรมอัษฐิพระอัษฐิเชิญออกตั้งเหมือนสงกรานต์

อนึ่งมีสดัปกรณ์พระบรมอัษฐิพระอัษฐิด้วยผ้าขาว ๔ เหลี่ยม แล้วถวายสลากภัตร ๑๕๐ รูปที่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมานครั้ง ๑ จะเปนปีใดจำไม่ได้ เกณฑ์ข้าราชการฝ่ายในทำกระทง ๑๕๐ กระทง จ่ายเงินหลวงกระทงละสลึงเฟื้อง นอกนั้นเปนของข้างในเพิ่มเติมมีธูปเทียนหมากพลูด้วย จำนวนพระสงฆ์ทีสดัปกรณ์ใช้ตามวัดที่พระอัษฐิทรงปฏิสังขรณ์ คือวัดอุรณราชวราราม ๑๗ วัดหงษ์รัตนาราม ๑๗ วัดมหาธาตุ ๑๗ วัดบวรมงคล ๑๗ วัดไพชยนต์พลเสพ ๑๗ วัดศรีสุดาราม ๑๗ วัดหิรัญรูจี ๑๖ วัดสัมพันธวงศ์ ๑๖ วัดรังษีสุทธาวาศ ๑๖ รวม ๑๕๐ สดัปกรณ์รายร้อยยกไม่มี เสร็จพระราชกุศลวิสาขบูชาเท่านี้

การพระราชกุศลเข้าพรรษา

เวลาบ่ายเสด็จออกหล่อเทียนพรรษาที่เก๋งข้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยด้านใต้ ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ถ้าปีใดมีอธอกมาศก็หล่อขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ บูรพาสาธ เทียนเล่ม ๑ สีผึ้งหนัก ๑๕ ชั่งเศษ หล่อปีละ ๕ เล่ม คือวัดพระศรีรัตนศาสดารามเล่ม ๑ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เล่ม ๑ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมานเล่ม ๑ วัดบวรสถานเล่ม ๑ วัดหงษ์รัตนารามเล่ม ๑ เทียนนั้นรูปเปน ๖ เหลี่ยมปลายเปนบัวกลมปิดทอง ตัวเทียนปิดทองลายทรงเข้าบิณฑ์ มีฉัตรทองอังกฤษปักยอด แล้วยกมาตั้งถวายตัวในท้องพระโรง วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เวลาสวดมนต์เย็นรุ่งขึ้นวัน ๑๔ ค่ำพระสงฆ์ฉันแล้วเสด็จขึ้น เจ้าพนักงานจึงนำไปตั้งในตู้ตามที่ทั้ง ๕ แห่ง อนึ่งในวันขึ้น ๑๓, ๑๔, ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ มีสวดมนต์เย็น พระสงฆ์ราชาคณะโดยมาก พระครูเปรียญถานานุกรมพิธีธรรมบางอารามที่ทรงรู้จักรวม ๑๐๐ รูป แบ่งฉันวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แรมค่ำ ๑ วันละ ๓๐ รูป ขึ้น ๑๕ ค่ำ ๔๐ รูป มีตะแกรงเครื่องเข้าพรรษาพุ่มย่อม รูปสัตว์สีผึ้ง เทียนร้อย ตะแกรงรองกระทงเมี่ยงเท่าจำนวนพระสงฆ์ ถ้าพระที่ทรงนับถือคุ้นเคยมีต้นไม้กระถางใหญ่ ต้นไม้แก้ว กระถางบัว พุ่มขนาดเขื่องเพิ่มเติมอิกส่วนหนึ่ง

วันขึ้น ๑๕ ค่ำพระฉันแล้วเสด็จพระราชดำเนินที่พระพุทธสิหิงค์ พระเสริม ทรงจุดเทียนพรรษาถวายพุ่มอย่างใหญ่คู่ ๑ ต้นไม้ใหญ่คู่ ๑ ต้นไม้แก้วคู่ ๑ กระถางบัวคู่ ๑ รูปสัตว์สีผึ้งปิดทองเงินคู่ ๑ ธูปแพเทียนแพเครื่องเข้าพรรษาพรมเหมือนกันทั้ง ๒ แห่ง แต่เทียนพรรษาวัดบวรสถาน วัดหงษ์นั้น พระราชทานเทียนชะนวนโคมเพลิงพระองค์เจ้าไปจุด มีพุ่มขนาดกลาง ๑ ต้นไม้กระถาง ๑ ต้นไม้แก้ว ๑ กระถางบัว ๑ รูปสัตว์สีผึ้งคู่ ๑ ธูปแพเทียนแพ เครื่องเข้าพรรษาพร้อมเหมือนกัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินมายังพระบรมมหาราชวัง เสด็จในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทันเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่เสด็จขึ้น ทรงจุดเทียนถวายเครื่องสักการะบูชา พระมณีรัตนปฏิมากร พุ่มขนาดใหญ่คู่ ๑ ต้นไม้กระถางคู่ ๑ ต้นไม้แก้วคู่ ๑ รูปสัตว์สีผึ้งปิดทองเงินคู่ ๑ ธูปแพเทียนแพหมากพลู ไม้ชำระสีฟันขูดลิ้นพร้อม แต่เสด็จพระราชดำเนินอยู่ประมาณ ๗, ๘ ปี ภายหลังมาไม่ทรงสบายก็ไม่ได้เสด็จ เลยพระราชทานให้พระองค์เจ้าจุดต่อไป ที่หอพระเจ้าในพระราชวังก็มีเครื่องเข้าพรรษาอย่างย่อมพร้อม เจ้าพนักงานนำขึ้นไปตั้งทุกปี วันแรมค่ำ ๑ เวลาเช้าเชิญพระบรมอัษฐิ พระอัษฐิ ออกตั้งเหนือแว่นฟ้า ๒ ชั้น ปักเสวตรฉัตรในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตั้งเครื่องสูงหักทองขวางฉัตร ๕ ชั้น ๔ บังแทรก ๓ แต่เสด็จออกเลี้ยงพระที่ท้องพระโรงแล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย มหาดเล็กเชิญไปตั้งที่แล้วสดัปกรณ์พระหัวทาน ๔ รูป มีสบงร่มรองเท้าธูปเทียนพุ่มต้นไม้เครื่องเข้าพรรษาพระอันดับ ๔๐๐ รูป เวลาค่ำมีดอกไม้เพลิงคืนละ ๕ พุ่มทั้ง ๓ คืน การที่เชิญพระอัษฐิขึ้นสดัปกรณ์บนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์นั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงจุดเทียนพรรษาที่พระพุทธสิหิงค์ทุกปี มีหัวทานสดัปกรณ์กาลานุกาลด้วยทุกครั้ง

อนึ่งตั้งแต่เข้าพรรษาไปมีเทศนาในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยคืนละกัณฑ์ทั้ง ๓ เดือน นั่งเทศน์บนพระที่นั่งเสวตรฉัตร ตั้งเครื่องนมัสการกระบะถมจงกลฝรั่งปักเทียน ๒ จงกล มีเชิงเทียนใหญ่ปักเทียนดูหนังสือคู่ ๑ เครื่องกัณฑ์สบงธูปเทียนหมากพลูเงินตำลึง ๑ ทุกวัน พระรับสัพพี ๔ รูป มีเทียนพระจุดราวหนึ่ง ๒๐ เล่ม ตำรวจุดราวหนึ่ง ๒๐ เล่ม เสร็จการพระราชกุศลเข้าพรรษาเท่านี้

การพระราชกุศลถวายพระบรมอัฐิ

คือวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ เปนวันดิถีคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เวลาเช้าเจ้าพนักงานเข้าไปเชิญพระบรมอัฐิรองพานทอง ๒ ชั้นออกตั้งบนม้าสลักปิดทองเหนือพระที่นั่งเสวตรฉัตร ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรม ๑๐ รูปรับพระราชทานฉันแล้ว สดัปกรณ์ผ้าขาว ๑๐ พับ ธูปมัดเทียนมัดของอื่นเปลี่ยนไปต่าง ๆ เหมือนบางคราวเช่นที่ชาหีบชาอั้งโล่จับเจี๋ยวเปนต้น มีสดัปกรณ์พระอันดับ ๑๐๐ รูป แล้วมีเทศนากัณฑ์ ๑ เครื่องไทยธรรมไตรบาตรย่ามพัชนีที่บูชา ถาดชาโคมร่มรองเท้าเสื่ออ่อนหมอนอิงกาถ้วยกะโถนถ้วยตะลุ่มคาวหวานเงินติดเทียน ๓ ตำลึง เทศน์จบเสด็จขึ้นแล้วเชิญพระบรมอัฐิกลับ เวลาเย็นพระสงฆ์ที่ฉันเช้ามาสวดมนต์อิกครั้ง ๑ เปนเสร็จในวันเดียวเท่านี้

การพระราชกุศลอย่างนี้ มีในวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย คือวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ อิกครั้ง ๑

บวชนาคหลวง

อนึ่งบางปีมีหม่อมราชวงศ์เข้าไปบวชเปนนาคหลวงเคยมีหลายคราว บวชในเดือน ๘ ทำขวัญที่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ตั้งบายศรีทองเงิน ๒ สำรับไตรบาตรบริกขารของหลวงพร้อม รุ่งขึ้นเวลา ๕ โมงเช้าแล้วนาคขึ้นเสลี่ยงกั้นกลดกำมะลอแต่น่าพระที่นั่งศิวโมกข์พิมานออกประตูโอภาษพิมาน ไปลงที่ประตูวัดบวรสถานสุทธาวาศ เข้าไปในพระอุโบสถ มีประโคมพิณพาทย์แตรสังข์ แต่ไม่เคยมีเสด็จออก โปรดให้เจ้านายถวายเครื่องบริกขารพระบวชใหม่ทุกครั้ง พระอุปัชฌาย์ คู่สวดนั่งหัดถบาศรวม ๓๐ รูป ไทยทานของหลวงถวายจีวรธูปเทียนหมากพลู เสร็จพระราชกุศลเดือนแปดเท่านี้,

การพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา

การที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนม์พรรษานี้ ทรงพระราชดำริห์ขึ้นใหม่ เทียบเคียงกับธรรมเนียมจีนที่เรียกว่าบั้นสิ้วฤๅแซยิด แลอนุโลมตามพุทธศาสน์โหราสาตรประกอบกัน เพื่อให้เปนการสวัสดิมงคลเจริญพระชนมศุขทุกทิวาราตรีกาล กำหนดทำในเดือน ๑๐ แต่เลื่อนไปเหลื่อมตามสุริยโคจรบรรจบรอบคล้ายวันพระราชสมภพ โปรดให้จัดการในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คือเชิญพระพุทธสิหิงค์ตั้งเหนือพระที่นั่งบุษบก ตั้งพระเสริมบนพระที่นั่งเสวตรฉัตร ตรงน่าพระเสริมตั้งพระไชยวัฒน์ พระมหาจำเริญ ตั้งดวงพระชัณษา พระสุพรรณบัตร พระราชลัญจกร ตั้งพระมหาสังข์ห้า พระครอบ พระเต้าต่างๆ พระเต้าห้ากระษัตริย์ บาตรดินพม่า โยงสายสิญจน์ถึงกัน บนพระแท่นที่ประทับออกขุนนางนั้น ตั้งเชิงเทียน โคมกิ่ง พานดอกไม้ ขวดปักดอกไม้ แลมีเทียนสูงเท่าพระองค์วงรอบพระเศียรเล่มเดียวกันขดกลมวางเหนือพานทั้งสองชั้นสวมโคมแก้วบังลมด้วย ที่น่าพระที่นั่งบุษบกตั้งโต๊ะจีนข้างละโต๊ะ ที่หลังลับแลตรงพระทวารด้านน่าตั้งโต๊ะจีนใหญ่ข้างละโต๊ะ หลังโต๊ะแขวนฉากห้อยแพรอั้งติ๋วติดโคมเหลียน ๒ ข้างทั้ง ๒ โต๊ะ ตรงพระแกลเฉลียงด้านน่าก็ตั้งโต๊ะจีนข้างละโต๊ะ พระองค์เจ้าฝ่ายในร้อยดอกไม้แขวนเต็มที่

อนึ่งที่พระที่นั่งสนามจันทร์มีโต๊ะจีนโต๊ะ ๑ ตั้งรูปเทพดานพเคราะห์ หล่อด้วยทองเหลือง ตรงน่าโต๊ะออกมาตั้งบัตรเก้าบัตรยอดบัตรปักเทวรูปนพเคราะห์โหรบูชาเทวดาในเวลาเย็นนั้นด้วย พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้นมากกว่าพระชนม์พรรษารูป ๑ พระธรรมไตรโลก (รอด) วัดโมฬีโลกเปนอธิบดีสงฆ์เลือกคัดพระราชาคณะ พระครู เปรียญ ถานานุกรมที่สวดดีเสียงดังทั้งสิ้น พระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบุรณ เปนผู้ขัดตำนานเสมอทุกครั้ง เวลา ๕ โมงเย็นพระสงฆ์เข้านั่งที่ ประโคมพิณพาทย์เครื่องใหญ่ ๒ วง เสด็จออกทรงประเคนไตรแพรสลับผ้า มีผ้ากราบแพรต่วนปักลายพระปิ่นแลอักษรพระบวรราชวังกับย่ามเยียรบับบ้างเข้มขาบบ้าง พระสงฆ์ครองไตรแล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ พระสงฆ์เจริญพระปริต เมื่อสวดจบแล้วมีเสภาที่เฉลียงน่าท้องพระโรง หลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่) เปนผู้ขับทุกปี รุ่งขึ้นเวลาเช้าเสด็จออกทรงประเคนอาหารบิณฑบาต พระสงฆ์เรียพระราชทานฉันแล้ว ทรงถวายเครื่องสมณบริกขารภัณฑ์ต่าง ๆ ของไทยบ้าง จีนบ้าง ฝรั่งบ้าง ยี่ปุ่นข้าง หลายสิ่งพอสมควร พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาถวายอติเรกถวายพระพรลา แล้วมีทรงปล่อย ปลา เป็ด ไก่ สุกรด้วย

อนึ่งเมื่อต้น ๆ มีพระฤกษ์สรงมุรธาภิเศกเหมือนสงกรานต์ ภายหลังสรงข้างในทุกปี เสร็จการพระราชกุศลเฉลิมพระชนม์พรรษาเท่านี้

การพระราชพิธีสารท

คือวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓,๑๔,๑๕, ค่ำ มีสวดมนต์ที่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมานวันละ ๒๐ รูป รุ่งขึ้นวันแรม ๑๔,๑๕, ค่ำเดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๑๑ เวลาเช้าฉัน มีเข้ายาคูโถลายครามต่าง ๆ ของหลวงทุกสำรับ เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว เจ้านายแลข้าราชการที่ปฏิบัติพระต้องถ่ายของลงในบาตรกับทั้งโถยาคูก็บรรจุไปในบาตรด้วย ไทยทานมีสบง ใบชา ธูปเทียน หมากพลู วันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๑๑ เชิญพระบรมอัษฐิ พระอัษฐิออกตั้ง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลกาลานุกาลตามเคยเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีแต่สดัปกรณ์รายร้อย ๔๐๐ รูป

อนึ่งมีกระทงเข้ากรูของคาวหวานหมากพลูจัดลงในกระทง มีต้นไม้ดอกไม้จีนดอกตะแบกธงจรเข้ประดับพร้อม มีเทียนหนักเล่มละหกสลึงสำหรับทรงจุด ๓ เล่มๆ ละสลึง ๑๐ เล่ม มีสมุดเล็ก ๆ เขียนคาถาบูชาตำราหลั่งน้ำอุทิศกุศลเล่ม ๑ กับพระเต้าษิโณทกตั้งถวายทรงจบพระหัดถ์หลั่งน้ำไปถวายพระสงฆ์ราชาคณะฉันวันละกระทงทั้ง ๓ วัน แลมีทรงบาตรโถยาคูวันละ ๑๐๐ รูปทั้ง ๓ วัน มัดอกไม้เพลิงน่าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์คืนละ ๕ พุ่ม ๓ คืน เสร็จพระราชกุศลสารทเท่านี้.

เทศนามหาชาติแลจัตุราริยสัจ

กำหนดเดือน ๑๑ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีเทศนาอริยสัจ ๒ กัณฑ์ วันแรมค่ำ ๑ อิก ๒ กัณฑ์ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เทศนามหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย การตกแต่ง คือ บนพระที่นั่งเสวตรฉัตรเปนที่พระสงฆ์นั่งเทศนาที่บนพระแท่นประทับออกขุนนางตั้งเครื่องแก้วโคมกิ่งรายไปเต็มที่ กลางพระแท่นตั้งโต๊ะกลมกลางโต๊ะวางพาน ๒ ชั้นรองพุ่มประดับด้วยรวงเข้า ขอบโต๊ะวางพานทองประดับพุ่มดอกไม้สด ๕ พาน พานเครื่องบูชาเลิศ ๕ พานสลับกัน สองข้างพระแท่นตั้งเครื่องนมัสการข้างละสำรับ ต่อน่าพระแท่นออกมาตั้งโต๊ะหมู่อย่างใหญ่ ประดับเครื่องแก้วต่าง ๆ เต็มโต๊ะ ที่มุมโต๊ะหมู่ด้านน่าตั้งหมากพนมรองพานแว่นฟ้า ๒ ชั้นตั้งบนม้าข้างละพาน หลังโต๊ะหมู่ มีโต๊ะจีนตั้งเครื่องเล่นของจีนต่าง ๆ ต่อออกไปแถวกลางตั้งต้นไม้ทองเงินกับโคมกิ่งระย้าแก้วคั่นกัน ที่สุดตั้งอ่างแก้วเลี้ยงปลาทองปลาเงิน ถัดออกมาตั้งขวดลายครามปักดอกไม้กิ่ง ถัดออกมาอิกถึงฉัตร ๕ ชั้นดอกไม้สด บังแทรกประดับเครื่องสดสลับกันตั้งข้างละแถว ถัดถึงแนวมุมหลังโต๊ะหมู่ตั้งกระถางลายครามปลูกต้นไม้ดัดบ้าง ก่อเขามอบ้าง มีดอกไม้จีนผูกแลรูปสัตว์ต่าง ๆ ปั้นด้วยสีผึ้งประสมชันตัวเล็ก ๆ วางประดับด้วยทุกกระถางตั้งสลับกัน โคมรูปเหมือนตะโพนข้างละแถว ข้างพระที่นั่งเสวตรฉัตรด้านใต้ทอดที่ประทับ ตั้งเครื่องนมัสการทองใหญ่ แถวเสาด้านใต้ถัดที่ประทับออกมาเสา ๑ ตั้งโต๊ะกลมวางเครื่องนอระมาดเขาโคเขาต่าง ๆ หลังโต๊ะผูกงาพลายปราบดัษกรสวมปลอกทองคำ ต่อลงมาปูอาศน์สงฆ์ แถวเสาด้านเหนือตั้งโต๊ะย่อม ๆ วางขวดปักดอกไม้คู่ ๑ พานดอกไม้พาน ๑ เชิงเทียนคู่ ๑ ทุกเสา หลังเสาตั้งหีบเพลง ๒ หีบใช้หมุนด้วยมือเมื่อเวลาประโคม ที่เชิงเสาทั้งสองแถวตั้งขวดปักดอกบัวหลวงบัวขม บัวเผื่อน ดอกสามหาวเสาละ ๔ ขวดทุกเสา ที่หลังลับแลพระทวารด้านน่าตั้งโต๊ะจีนเครื่องพร้อมข้างละโต๊ะ ตรงพระทวารกลางตั้งขันน้ำใหญ่ติดเทียนคาถากระถางธูปใหญ่กระถาง ๑ ราวเทียนราว ๑ ที่พระสงฆ์นั่งอิกราว ๑ น่าเสาหลังเสาทั้งสองแถวเบื้องบนผูกเชือกแดงข้างละ ๒ สายแขวนฉากเขียนเรื่องเวสสันดรชาฎก ๑๓ กัณฑ์ แลพวงดอกไม้ภู่กลิ่นต่าง ๆ เกณฑ์ข้าราชการฝ่ายน่าร้อยมาแขวนเต็มทั้ง ๔ สาย ที่แขวนใต้โคมหวดโคมระย้าเปนส่วนเกณฑ์ข้างในร้อยทั่วไป ที่เฉลียงตรงที่ประทับออกมาห้องหนึ่งกั้นเฟี้ยมกระจก ที่ในฉากตั้งโต๊ะหมู่อย่างย่อมหมู่ ๑ ทอดที่ประทับอิกแห่ง ๑ ที่ข้างนอกท้องพระโรงด้านใต้ปักปรำ ผูกห้อยพวงดอกไม้ผลไม้ต่าง ๆ ตามเสาผูกธงคาถาพันแขวนยันต์มหาชาติ กระดาษไทยปรุรูปภาพเรื่องพระเวสสันดร ในปรำตั้งสิ่งของคาวหวานขนมผลไม้เครื่องกัณฑ์ บนเฉลียงน่าท้องพระโรงตั้งพิณพาทย์เครื่องใหญ่แตรสังข์กลองแขกมโหรี ที่ลานน่าตั้งซุ้มตะเกียง ๔ ซุ้มซุ้มละ ๒๕๐ ดวง ที่ประตูชั้นนอกปักราชวัตรฉัตรกระดาษผูกต้นกล้วยต้นอ้อย พระสงฆ์ที่ถวายเทศนาอริยสัจ ๔ กัณฑ์ มหาชาติกัณฑ์ทศพรนครกัณฑ์ กำหนดต้องพระราชาคณะผู้ใหญ่ กัณฑ์อื่นๆก็เปนพระองค์เจ้าพระ พระองค์เจ้าเณรที่ทรงผนวชใหม่บ้างเก่าบ้าง บางปีหม่อมเจ้าสามเณรก็มีบ้าง พระราชาคณะสามัญถานานุกรมที่เทศน์ดีฤๅที่ทรงคุ้นเคยโปรดปรานบ้าง พระสงฆ์อนุจรที่เทศน์ดีจริงๆ บ้าง พระรับสัพพี วันขึ้น ๑๔ ค่ำแรม ๑ ค่ำวันละ ๔ รูป วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ๔ ผลัด ๑๖ รูป เครื่องกัณฑ์เทศน์ไตรมีผ้ากราบลายพระปิ่นตีพิมพ์ บาตรถลกอัดตลัด ย่ามอัดตลัด พัดโหมด ที่บูชา ที่ชา กระบะหมากยี่ปุ่น กระบะยาแก้โรคต่างๆ รุ่มชุบสีผึ้ง รองเท้า โคมหิ้ว กาถ้วย กะโถนถ้วย เสื่ออ่อน หมอนอิง ขวดน้ำผึ้ง น้ำมัน อั้งโล่ กาทองแดง ตะลุ่มมีฝาคาวหวาน ธูปเทียนมัดละ ๕๐ เล่ม ปัจจัยมูลติดเทียนกัณฑ์ละ ๕ ตำลึง พระรับสัพพีมีสบงธูปเทียนหมากพลู ๓ วัน ๒๕ รูป มีสำรับพระเทศน์ พระรับสัพพี ๒ เวลาเช้าเพน เลี้ยงบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๑ สำรับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ๑๔ สำรับ วันแรมค่ำ ๑๑ สำรับ เครื่องกัณฑ์เทศน์ของคาวหวานขนมผลไม้ต่างๆ เกณฑ์พระบวรวงศ์ฝ่ายในท้าวนางเปนผู้ทำ ของหลวงจ่ายเข้าสารกัณฑ์ละกระบุง เงินกัณฑ์ละ ๘ บาททั้ง ๑๗ กัณฑ์

อนึ่งฉัตรร้อยดอกมลิจำปาตั้งวันละ ๑๒ ฉัตร ๓ วัน ๓๖ ฉัตร เกณฑ์ข้าราชการตำแหน่ง พระยาแลเจ้ากรมพระตำรวจ ๘ กรม หัวหมื่นมหาดเล็ก ๔ บังแทรกประดับดอกไม้สดผลฟักเหลืองมะละกอตั้งวันละ ๑๐ สามวัน ๓๐ เกณฑ์ข้าราชการตำแหน่งพระ ที่หลวงขุนนอกนั้นเกณฑ์ พวงดอกไม้ภู่กลิ่นระย้าต่าง ๆ แขวนตั้งตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดอกบัวต่าง ๆ ดอกสามหาวเกณฑ์หัวเมือง พวงผลไม้ต่าง ๆ กรมพระคลังสวน ดอกไม้ต่าง ๆ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยถวาย

ในการมีเทศน์มหาชาตินี้ เสด็จพระราชดำเนินออกทางพระทวารเฉลียงด้านใต้ในฉาก พระบวรวงศ์เธอแลข้าราชการฝ่ายในออกทางพระทวารเฉลียงด้านเหนือฟังในพระสูตรนอกฉาก

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เวลาเที่ยงเศษ เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการเทียนประจำกัณฑ์แลตะเกียงสำหรับซุ้ม ๔ ตะเกียง โปรดให้พระองค์เจ้าเล็ก ๆ จุดเทียนเครื่องนมัสการที่ตั้งข้างพระแท่น ๒ สำรับ เจ้าพนักงานจุดเทียนโต๊ะหมู่โต๊ะทั้งปวงทั่วไป ทรงศีลแล้วประทับทรงฟังในฉาก เทศน์จบแล้วเสด็จทรงประเคนเครื่องไทยธรรมเหมือนกันทั้ง ๒ กัณฑ์ เสด็จขึ้นบ่าย ๓ โมงเศษทั้ง ๒ วัน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแลเทียนในที่ทั้งปวงเหมือนวันก่อน แปลกแต่วันนี้มีเทียนคาถาด้วย ทรงศีลแล้วประทับในฉาก เมื่อปีแรก ๆ ประทับทรงฟังอยู่จนจบ ๑๓ กัณฑ์ ภายหลังทรงอยู่เพียงกัณฑ์หิมพานต์จบ ทรงประเคนเครื่องไทยธรรมแล้วเสด็จขึ้นเสียคราว ๑ ถ้าปีใดมีพระองค์เจ้าทรงผนวชถวายเทศน์กัณฑ์ไรก็เสด็จออกในกัณฑ์นั้น ไปเสด็จตอนค่ำก็เมื่อถึงกัณฑ์มหาราชที่เปนกัณฑ์โปรดมากเพราะเคยทรงเทศน์เมื่อทรงผนวช พระราชทานรางวัลบ้างทรงติเตียนบ้างเปนการครึกครื้นเสมอ แล้วทรงฟังต่อไปจนจบ (นครกัณฑ์) พระสงฆ์ถวายอติเรกถวายพระพรลาแล้ว เวลา ๒ ยามเศษเสด็จพระราชดำเนินลงลอยพระประทีป เสร็จการพระราชกุศลเทศนามหาชาติเท่านี้,

อนึ่งในวันแรมค่ำ ๑ มีการเชิญพระบรมอัษฐิพระอัษฐิออกตั้งสดัปกรณ์กาลานุกาลตามเคยเหมือนที่กล่าวมาแล้ว แลมีดอกไม้เพลิงบูชาพระพุทธสิหิงค์คนละ ๕ พุ่มทั้ง ๓ คืน,

หมดฉบับเพียงเท่านี้

  1. ๑. ความตรงนี้ไม่ชัด เข้าใจว่าเห็นจะหมายความว่า มีเครื่องเข้าพรรษาอย่างย่อมของวังน่า เจ้าพนักงานฝ่ายในนำมาบูชา (พระพุทธบุษยรัตน) ในหอพระเจ้าในพระราชวังหลวง มิใช่เจ้าพนักงานในพระราชวังหลวงเชิญเครื่องเข้าพรรษาไปบูชาในหอพระวังน่า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ