คำนำ

หนังสือยอพระเกียรติ ๓ รัชกาล เรื่องนี้ พระยาไชยวิชิต ฯ (เผือก) แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่งเปนโคลง ๔ ตอน ๑ เปนกลอนสุภาพตอน ๑ พระยาไชยวิชิต ฯ (เผือก) เปนกวีเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ตามคำที่อ้างในหนังสือเรื่องนี้ ดูเหมือนจะถือว่าตนเปนศิษย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แต่พิเคราะห์ดูตามที่สุนทรภู่กล่าว ก็น่าจะอ้างได้อยู่ ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เปนจมื่นไวยวรนารถหัวหมื่นมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนที่ เปนพระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก แล้วเปนพระยาไชยวิชิต สิทธิสาตรา มหาประเทศราช ชาติเสนาบดี ผู้รักษากรุงเก่า อยู่ในตำแหน่งนั้น จนถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ ๓ เปนผู้ปฏิสังขรณ์วัดน่าพระเมรุที่กรุงเก่าด้วย

สุนทรภู่กล่าวถึงพระยาไชยวิชิต ฯ (เผือก) ในนิราศภูเขาทอง ๒ แห่ง ๆ ๑ เมื่อผ่านน่าตำหนักแพ ว่า

“ถึงน่าแพแลเห็นเรือที่นั่ง คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย แล้วลงในพระที่นั่งบัลลังก์ทอง เคยทรงแต่งแปลงบทพจนาดถ์ เคยรับราชโองการอ่านฉลอง จนกฐินสิ้นแม่น้ำในลำคลอง มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระหลบ ลอองอบรศรื่นชื่นนาสา สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธา วาศนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”

อีกแห่ง ๑ เมื่อไปถึงกรุงเก่า ว่า

“พอรอน ๆ อ่อนแสงพระสุริยน ถึงตำบลกรุงเก่ายิ่งเศร้าใจ มาทางท่าน่าจวนจอมผู้รั้ง คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเปนไวย ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก อกมิแตกเสียฤๅเราเขาจะสรวล เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ”

เข้าใจว่าพระยาไชยวิชิต (เผือก) จะได้แต่งหนังสือหลายเรื่อง แต่ทราบไม่ได้ว่าเรื่องใดเปนของพระยาไชยวิชิต แต่งบ้าง แต่เรื่องที่ได้ทราบว่าเปนของพระยาไชยวิชิตแต่งแน่นอนก็มี เช่นกลอนแลโคลงที่พิมพ์ในเล่มนี้ แต่งเมื่อขึ้นไปเปนพระยาไชยวิชิตแล้ว ขึ้นไปแลเห็นกรุงเก่าร้างรกทรุดโทรมเกิดสังเวชใจ จึงแต่งพรรณาถึงกรุงเก่า แล้วสรรเสริญพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในกรุงรัตนโกสินทรทั้ง ๓ รัชกาล ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทรขึ้นเปนราชธานีใหม่ หนังสือที่พระยาไชยวิชิตแต่ง ถ้าว่าโดยกระบวนกลอนไม่ถึงอย่างเอก แต่กระบวนความว่าดี เหมือนหนึ่งมีชีวิตร อ่านแล้วอาจจะจับใจผู้อ่านได้ จึงเห็นควรจะยกย่องว่าเปนกวีนิพนธ์อย่างดี ซึ่งควรพิมพ์ให้แพร่หลายได้

บัดนี้รองหุ้มแพร หมื่นยศธำรง (เจ๊ก สาระสุต) กรมพระอัศวราช จะปลงศพสนองคุณพระนิเวศน์วิสุทธิ (ถึก สาระสุต) ผู้ลุง ปราถนาจะพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ แลขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ ข้าพเจ้าจึงเลือกหนังสือกลอนของพระยาไชยวิชิต (เผือก) ให้พิมพ์ ด้วยเห็นว่าเปนหนังสือดี ดังกล่าวมาแล้ว

ส่วนประวัติของพระนิเวศน์วิสุทธิ (ถึก สาระสุต) นั้น ข้าพเจ้าได้รู้จักคุ้นเคยกับพระนิเวศน์วิสุทธิ มาตั้งแต่ยังเปนกับตันถึก แลได้เคยร่วมราชการกันอยู่น่อย ๑ เมื่อพระนิเวศน์ ฯ ไปรับราชการอยู่ในมณฑลอุดร แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบประวัติของพระนิเวศน์ ฯ ด้วยตนเองถ้วนถี่ถึงจะรับธุระในเรื่องแต่งประวัติได้ แต่พระนิเวศน์วิสุทธิได้เรียบเรียงประวัติของตนไว้ ได้สำเนามา ข้าพเจ้าจึงเก็บเนื้อความตามประวัติของพระนิเวศน์ฯแสดงไว้ต่อไปนี้ แต่ความข้อสำคัญในประวัติของพระนิเวศน์ฯ คือข้อที่ได้เคยรับราชการทัพศึกกรากกรำถึงได้รบพุ่งข้าศึก ความข้อนี้ ตัวข้าพเจ้าแลผู้อื่น ๆ ที่ได้รับราชการอยู่คราวนั้นย่อมทราบอยู่ด้วยกัน แต่ยกย่องพระนิเวศน์ ฯ ว่าเปนผู้หนึ่งซึ่งได้เคยเอาชีวิตรของตนเข้าฝ่าฝืนอาวุธข้าศึกสนองพระเดชพระคุณ เพื่อประโยชน์ของราชการบ้านเมือง ความข้ออื่นนอกจากนี้ ที่ไม่ทราบก็ไม่เปนข้อสำคัญอันใด แต่ลงไว้เปนการเคารพต่อผู้มรณะภาพ.

ประวัติ

พระนิเวศน์วิสุทธิ (ถึก สาระสุต) เกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีกุญศรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔ เปนบุตรพระสถลรัฐยาธิบาล (เอี่ยม สาระสุต) บิดาได้นำถวายตัวเปนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีกุญเบญจศก พ.ศ. ๒๔๐๖ ครั้นเสด็จผ่านพิภพจึงมารับราชการเปนมหาดเล็กอยู่ในเวรสิทธิ.

เมื่อปีมเสงเอกศก พ.ศ. ๒๔๑๒ แรกโปรดให้จัดมหาดเล็กพิเศษฝึกหัดเปนทหารมหาดเล็ก ๒๔ คน พระนิเวศน์ ฯ ได้อยู่ในผู้ที่เปนทหารนั้นคน ๑ ครั้นตั้งเปนกรมทหารมหาดเล็ก เมื่อปีมเมียโทศก พ.ศ. ๒๔๑๓ พระนิเวศน์ ฯ ได้รับราชการอยู่ในกองร้อยที่ ๑ ต่อมาถึงปีรกาเบญจศก พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนขุนสรชิตพลการ รับราชการเปนนายร้อยโท กรมทหารล้อมวัง แล้วเลื่อนเปนนายร้อยเอก ย้ายไปรับราชการกรมทหารราบที่ ๔ ครั้นเมื่อตั้งทหารม้าน่า ได้เปนผู้บังคับการทหารม้า.

ถึงปีชวดสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนขุนนิพัทธราชกิจ มามีตำแหน่งรับราชการในกระทรวงวังอยู่ปี ๑ ครั้นปีฉลูเอกศก พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้เลื่อนที่เปนพระนิเวศน์วิสุทธิ จางวางกรมเกณฑ์ขาดในกรมวังนอก.

ในปีฉลูเอกศกนั้น ถึงเดือนมกราคม พระนิเวศนวิสุทธิ ได้รับน่าที่คุมทหารล้อมวังสมทบไพร่พลหัวเมือง ขึ้นไปตั้งรักษาการอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ต่อแดนเมืองตังเกี๋ยข้างฝ่ายเหนือ อยู่ที่นั่นจน พ.ศ. ๒๔๓๔ กรมการเมืองพวนคน ๑ เปนตำแหน่งบางเบียน คบคิดกับพวกฮ่อตั้งขัดแขงขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ พระนิเวศน์วิสุทธิรับคำสั่งให้จับบางเบียน จึงคุมกำลังขึ้นไปถึงค่ายบางเบียน ที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ปีเถาะ ตรีศก พ.ศ. ๒๔๓๔ เวลาย่ำรุ่งถึงค่ายบางเบียน ๆ ต่อสู้ได้รบกันถึงตลุมบอน เวลาเช้า ๒ โมงเศษ พระนิเวศน์วิสุทธิจึงเข้าค่ายได้ จับได้ตัวบางเบียนซึ่งถูกอาวุธ แลเก็บเครื่องสาตราวุธส่งลงมาถวาย พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่ตั้งอยู่ณเมืองหนองคาย พระนิเวศน์วิสุทธิรักษาราชการอยู่เมืองเชียงขวาง จนวันที่ ๕ ตุลาคม ปีมเสง เบญจศก พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับคำสั่งให้กลับมารับราชการอยู่เมืองหนองคายอิก ๒ ปี รวมเวลาที่ไปรับราชการหัวเมืองคราวนั้น ๖ ปี จึงได้กลับมารับราชการกรุงเทพ ฯ ตามเดิม เมื่อมแมสัปตศก พ.ศ. ๒๔๓๘ มีอาการป่วยเจ็บทุพลภาพ จะรับราชการทหารต่อไปไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มารับราชการช่วยอยู่ในน่าที่มหาดเล็กเวรศักดิ จนเดือนมิถุนายน ปีจอโทศก พ.ศ. ๒๔๕๓ พระนิเวศน์วิสุทธิ มีอาการป่วยมากขึ้นด้วยเปนวรรณโรคภายใน จึงต้องออกจากน่าที่ราชการทั้งปวง

พระนิเวศน์วิสุทธิ ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบทั้งในฝ่ายทหารแลฝ่ายพลเรือน แลที่เปนส่วนในพระองค์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ภูษนาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ รัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๔ เหรียญปราบฮ่อ เหรียญจักรพรรดิมาลา เหรียญจักรมาลา เหรียญราชรุจิทองรัชกาลที่ ๕ แลเหรียญพระราชพิธีต่าง ๆ ตามซึ่งข้าราชการได้รับพระราชทาน.

อาการป่วยพระนิเวศน์วิสุทธิมากขึ้นโดยลำดับ ถึงแก่กรรมเมื่อณวันอังคาร ที่ ๑๔ กันยายน ปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุได้ ๖๕ ปี

กรรมการหอพระสมุดฯขออนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งญาติมิตรของพระนิเวศน์วิสุทธิ มีหมื่นยศธำรงเปนต้น ได้ช่วยกันจัดการปลงศพพระนิเวศน์วิสุทธิให้สำเร็จธุระของผู้มรณภาพอันเหลืออยู่แต่อย่างเดียว แต่จำต้องอาไศรยผู้อื่นทำให้ โดยมิได้หวังประโยชน์ตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใด

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ