อธิบายเรื่องเสด็จพระพาสต้น

พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรด ฯ ในการเสด็จประพาสตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี เสด็จไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่ในพระราชอาณาเขตบ้าง เสด็จไปถึงต่างประเทศบ้าง ได้เคยเสด็จตามมณฑลหัวเมืองในพระราชอาณาเขตทั่วทุกมณฑล เว้นแต่มณฑลภาคพายัพ มณฑลเพ็ชรบูรณ์ มณฑลอุดร แลมณฑลอิสาณเท่านั้น ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ทางคมนาคมถึงมณฑลเหล่านั้นจะไปมายังกันดารนัก เปลืองเวลาแลลำบากแก่ผู้อื่น จึงรออยู่ยังมิได้เสด็จจนตลอดรัชกาล

ในการเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขตนั้น บางคราวก็เสด็จไปเพื่อทรงตรวจจัดการปกครอง จัดการรับเสด็จเปนทางราชการ บางคราวก็เสด็จไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรดฯ ให้จัดการรับเสด็จเปนทางราชการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” อยู่ในการเสด็จเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ แต่โปรดฯ ให้จัดการที่เสด็จไปให้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมือง ให้จัดทำที่ประทับแรมณที่ใด ๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางทีก็ทรงเรือเล็กหรือเสด็จโดยสานรถไฟไปมิให้ใครรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) เสด็จโดยทางเรือจากพระราชวังบางปอิน ไปมณฑลราชบุรี แล้วกลับมามณฑลนครไชยศรี แลมณฑลอยุธยา (รายการเสด็จประพาสต้นครั้งแรก แจ้งอยู่ในหนังสือ “จดหมายเหตุนายทรงอานุภาพเล่าเรื่องประพาสต้น” ซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้พิมพ์แล้ว ๒ ครั้ง) เหตุที่จะเรียกว่าประพาสต้นนั้น เกิดเมื่อเสด็จในคราวที่กล่าวมานี้ เวลาจะประพาสมิให้ใครรู้ว่าเสด็จไป ทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวลำ ๑ เรือนั้นลำเดียวไม่พอบันทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวที่แม่น้ำอ้อมแขวงจังหวัดราชบุรีลำ ๑ โปรดให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช เปนผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราช ชื่ออ้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า “เรือตาอ้น” เรียกเร็วๆ เสียงเปน “เรือต้น” เหมือนในบทเห่ซึ่งว่า

“พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย”

ฟังดูก็เพราะดี แต่เรือมาดประทุนลำนั้นใช้อยู่ได้หน่อยหนึ่ง เปลี่ยนเปนเรือมาดเก๋ง ๔ แจวอีกลำ ๑ จึงโปรดให้เอาชื่อเรือต้นมาใช้เรียกเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำที่เปนเรือพระที่นั่งทรง อาศัยเหตุนี้ ถ้าเสด็จประพาสโดยกระบวรเรือพระที่นั่งมาดเก๋ง ๔ แจว โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป จึงเรียกการเสด็จประพาสเช่นนั้นว่า “ประพาสต้น” คำว่า “ต้น” ยังมีที่ใช้อนุโลมต่อมาจนถึงเครื่องแต่งพระองค์ ในเวลาทรงเครื่องอย่างคนสามัญ เสด็จไปประพาสมิให้ผู้ใดเห็นแปลกประหลาทผิดกับคนสามัญ ดำรัสเรียกว่า “ทรงเครื่องต้น” ต่อมาโปรดให้ปลูกเรือนฝากระดานอย่างไทย เช่นพลเรือนอยู่กันเปนสามัญ ขึ้นที่ในพระราชวังดุสิต ก็พระราชทานนามเรือนนั้นว่า “เรือนต้น” ดังนี้

การเสด็จประพาสต้นเมื่อคราว ร.ศ. ๑๒๓ เปนการสนุกยิ่งกว่าเคยเสด็จไปสำราญพระราชอิริยาบถแต่ก่อนมา ที่จริงอาจกล่าวว่าเปนประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ด้วยอีกสถาน ๑ เพราะเสด็จเที่ยวประพาสปะปนไปกับหมู่ราษฎรเช่นนั้น ได้ทรงทราบคำราษฎรกราบทูลปรารภกิจสุขทุกข์ ซึ่งไม่สามารถจะทรงทราบได้โดยทางอื่นก็มาก ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ ต่อมาอีก ๒ ปีถึง ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) จึงเสด็จพระพาสต้นอีกคราว ๑ เสด็จประพาสต้นคราวนี้ หาปรากฎมาแต่ก่อนว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดได้เขียนจดหมายเหตุไว้เหมือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้นครั้งแรกไม่ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ทรงพระปรารภจะใคร่พิมพ์หนังสือประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ ตรัสปรึกษาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล-กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี-สมเด็จหญิงน้อย_พระธิดา ทรงค้นหนังสือเก่าซึ่งได้ทรงเก็บรวบรวมไว้ พบสำเนาจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ โดยดำรัสให้สมเด็จหญิงน้อยทรงเขียนไว้ ในเวลาสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ เปนตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน อยู่ในเวลาเมื่อเสด็จประพาสคราวนั้น จึงประทานสำเนามายังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร แลมีรับสั่งมาว่า หนังสือเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๑๗ ปีแล้ว ผู้ซึ่งยังไม่ทราบเรื่องเสด็จครั้งนั้นมีมากด้วยกัน ถ้าแห่งใดควรจะทำคำอธิบายหมายเลขให้เข้าใจความยิ่งขึ้นได้ ก็ให้ข้าพเจ้าช่วยทำคำอธิบายหมายเลขด้วย จึงได้จัดการทำถวายตามพระประสงค์ทุกประการ ได้พิมพ์ประทานผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ในปีนั้นแล้ว บัดนี้เจ้าภาพงารศพหม่อมเจ้าปฏิพัทธเกษมศรี ใคร่พิมพ์หนังสือแจกในเวลาพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าปฏิพัทธ ฯ ได้ไปเลือกหนังสือที่หอพระสมุด ฯ พบเรื่องนี้ก็พอใจขออนุญาตพิมพ์อีกครั้ง ๑ กรรมการจึงอนุญาตให้พิมพ์ในสมุดเล่มนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ