- ปฐมสมโพธิกถา
- วิวาหมงคลปริวัตต์ปริจ์เฉทที่ ๑
- ดุสิตปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒
- คัพภานิก์ขมนปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๓
- ลัก์ขณปริค์คาหกปริวัต์ตปริจเฉท ที่ ๔
- ราชาภิเศกปริวัต์ตปริจเฉท ที่ ๕
- มหาภินิก์ขมนะปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๖
- ทุกรกิริยาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๗
- พุทธบูชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๘
- มารวิไชยปริตต์ปริจเฉทที่ ๙
- อภิสัมโพธิปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๐
- โพธิสัพพัญญูปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๑
- พรหมัช์เฌสนปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๒
- ธัมมจักกปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๓
- ยสบรรพชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๔
- อุรุเวลคมนปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๕
- อรรคสาวกบรรพชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๖
- กปิลวัตถุคมนปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๗
- พิมพาพิลาปปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๘
- สักยบรรพชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๙
- เมต์ตยพยากรณ์ปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๐
- พุทธปิตุนิพพานปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๑
- ยมกปาฏิหาริยปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๒
- เทสนาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๓
- เทโวโรหนปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๔
- อัคคสาวกนิพพานปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๕
- มหานิพพานสูตรปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๖
- ธาตุวิภัชน์ปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๗
- มารพันธปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๘
- อันตรธานปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๒๙
ราชาภิเศกปริวัต์ตปริจเฉท ที่ ๕
เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ทูลพยากรณ์ทำนายพระมหาสัตว์ด้วยประการดังนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงสุทโธทนะมหาราชจึ่งตรัสถามว่า “ราชบุตรแห่งเราจะเห็นซึ่งสิ่งอันใดจึ่งจะออกบรรพชา” พราหมณ์กราบทูลว่า “จะเห็นซึ่งนิมิตร์ทั้ง ๔” ตรัสซักถามว่า “นิมิตร์ทั้ง ๔ นั้นคือสิ่งอันใด? พราหมณ์จึ่งกราบทูลโดยพระคาถาแปลเนื้อความว่า พระราชกุมารจะเห็นซึ่งชนชรา ๑ ชนพยาธิ ๑ ชนอันถึงมรณภาพ ๑ กับรูปบรรพชิต ๑ จึ่งจะสละราชสมบัติออกบรรพชา จะได้ตรัสเปนองค์พระสัพพัญญูเจ้า ปราศจากราคาทิกิเลศ สมเด็จพระบรมกะษัตริย์ได้ทรงสดับ จึ่งตรัสสั่งอะมาตย์ว่า จำเดิมแต่นี้จงห้ามอย่าให้รูปนิมิตรทั้ง ๔ เข้ามาสู่ที่ใกล้ราชบุตรแห่งเรา แลอาตมมิได้มีประโยชน์ที่ราชบุตรจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า ปราถนาจะชมราชบุตรอันเปนบรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเปนอิศราธิบดีใหญ่ยิ่งกว่ามหาทวีปทั้ง ๔ อันมีทวีปน้อย ๒๐๐๐ เปนบริวาร แลแวดล้อมไปด้วยอเนกราชบรรพสัท มีปริมณฑลได้ ๓๖ โยชน์ อันเลื่อนลอยไปในคัคณาดลประเทศนั้น แล้วตั้งไว้ซึ่งราชบุรุษ ให้คอยระวังรักษาอยู่ในที่อันไกลได้คาพยุตหนึ่งทั้ง ๔ ทิศ เพื่อจะห้ามเสียซึ่งชนมีประการ ๔ จำพวก อย่าให้เข้ามาสู่ทัศนวิสัยแห่งพระราชกุมาร แลพระมหาบุรุษราชเจ้า มีพระรัศมีโอภาษจากพระสริรกาย เหตุดังนั้นพราหมณ์ทั้งหลายจึ่งถวายพระนามว่า พระอังคิรัศราชกุมาร ประการหนึ่งพระมหาสัตว์จะมีประโยชน์ด้วยสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นก็สำเร็จประโยชน์ทุกประการ เหตุดังนั้นพราหมณ์จึ่งถวายพระนามอีกนามหนึ่งว่า พระสิทธัตถราชกุมารในวันนั้น พระขัตติยวงศาสักยราชสกูลทั้ง ๑๖๐๐๐ พระองค์ มาสโมสรสันนิบาตในมงคลราชนิเวศนฐานพร้อมกัน ต่างองค์ก็ทูลถวายพระราชบุตรองค์ละองค์ๆ ทั้งสิ้น แล้วชวนกันเจรจาว่า พระราชกุมารนี้จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า หรือว่าจะเปนบรมจักรพรรดิก็ตามแต่พระบารมี เราทั้งหลายนี้ถวายบุตรคนละคน ถ้าได้ตรัสเปนพระสัพพัญญู จะได้แวดล้อมด้วยขัตติยสมณะเปนบริวาร แม้ได้เปนบรมจักรพรรดิ จะได้แวดล้อมด้วยขัตติยบริวารทั้งปวงเสด็จไปในประเทศที่ต่างๆ แล้วก็มอบถวายราชบุตรองค์ละองค์ๆ สิ้นด้วยกัน แลขัตติยมณฑลสันนิบาตในที่นั้นเปนอันมาก ฝ่ายพราหมณ์ทั้ง ๘ กลับไปถึงคฤหสฐานต่างคนต่างเรียกบุตรมาสั่งว่า “บิดานี้ชราแล้ว จะได้อยู่ทันเห็นพระราชบุตรแห่งบรมกะษัตริย์ อันจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณ หรือจะไม่ทันเห็นก็มิได้รู้ ถ้าพระราชกุมารบันลุแก่พระสัพพัญญุตญาณแล้ว เจ้าทั้งหลายจงออกบวชในพระพุทธศาสนาเถิด” แลพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้นอยู่ตราบเท่าสิ้นอายุ แล้วก็ทำลายชีพไปตามยถากรรมแห่งตน ยังอยู่แต่โกณฑัญพราหมณ์อันหนุ่มนั้นผู้เดียว ส่วนพระศิริมหามายาเทวีกาลเมื่อประสูติพระมหาสัตว์ล่วงไปได้ ๗ วัน ก็ทิวงคตขึ้นไปบังเกิดเปนเทพบุตรสถิตย์ในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถาแปลเนื้อความก็ซ้ำกับความหลังจึ่งมีคำอธิบายว่า “ประมาณพระชนมายุพระมารดาพระโพธิสัตว์ กำหนดสิ้นเท่านั้นก็ทิวงคต ใช่จะสิ้นพระชนม์เพราะเหตุประสูติพระมหาสัตว์นั้นหามิได้ จึ่งมีคำปุจฉาว่า “ประสูติ์ในกาลเมื่อใด? วิสัชนาว่า “ประสูติในกาลมัชฌิมวัย” แท้จริงธรรมดาสัตว์ทั้งหลายในกาลปฐมวัยนั้นฉันทะราคะกล้า เหตุดั่งนั้นสัตรีที่มีครรภ์ในปฐมวัย มักมิอาจรักษาครรภ์ไว้ได้ สัตว์ในครรภ์นั้นมากไปด้วยโรค ครรภ์นั้นมักทำลายเสียโดยมาก แลกาลเมื่อมัชฌิมวัยล่วงไปสองส่วนในส่วนคำรบ ๓ นั้นวัตถุบริสุทธิ์ แลทารกซึ่งบังเกิดในครรภ์นั้นไม่มีโรครอดโดยมาก เหตุดังนั้นพระมารดาโพธิสัตว์เสวยศุขสมบัติอยู่ในปฐมวัย กาลเมื่อล่วงเข้ามัชฌิมวัยตั้งอยู่ในส่วนเปนคำรบ ๓ จึ่งทรงพระครรภ์ประสูติพระมหาสัตว์แล้วทิวงคต อันนี้เปนประเพณีพระพุทธมารดามาทุกๆ พระองค์ ในกาลนั้นสมเด็จบรมกะษัตริย์จึ่งให้จัดสันนางนม ๖๐ นาง ล้วนทรงอุดมรูปเว้นจากโทษทั้งหลาย คือสูงนักต่ำนักพีนักผอมนักดำนักขาวนักเปนต้น ให้อภิบาลบำรุงเลี้ยงพระราชโอรส ใช่แต่เท่านั้น ให้เลือกสันเอานางทั้งหลายที่ทรงอุดมรูปดังนั้นอีก ๑๘๐ นาง แต่ล้วนที่ฉลาดรอบรู้ในราชกิจการงานทั้งปวงต่างๆ เปนพนักงานให้บริบาลบำรุงถนอมพระราชบุตร แล้วให้มีบุรุษสำหรับเปนคนใช้แห่งนางทั้งหลายนั้นอีก ๖๐ คน กับทั้งอำมาตย์กำกับดูกิจการอีก ๖๐ นาย สิริเปนสัตรี ๒๔๐ บุรุษ ๑๒๐ ให้อุปัฏฐากพระมหาสัตว์ทั้งสิ้นด้วยกัน แลพระมหาบุรุษก็เจริญด้วยพระศิริโสภาคย์ แลมีบริวารเปนอันมาก ส่วนพระมหาปชาบดีโคตมีอันเปนพระกนิษฐภคินีแห่งพระศิริมหามายานั้น ก็เปนพระอรรคมเหษีสมเด็จกรุงสุทโธทนะมหาราชด้วยกัน มีพระราชบุตรทรงพระนามพระนนท์ราชกุมาร จึ่งให้โอรสแห่งพระองค์แก่นางนมให้บำรุงเลี้ยงรักษา ส่วนพระองค์ก็ทรงบำรุงเลี้ยงพระมหาสัตว์ให้เสวยถันธาราแห่งพระองค์ อยู่มาณวันหนึ่งถึงวันวัปปมงคลการแรกนาขวัญ สมเด็จบรมกะษัตริย์ให้ตกแต่งประดับพระนครกระบิลพัสดุ์ทั่วทั้งปวงงามเหมือนดุจเทวนคร ให้ตกแต่งไถประมาณ ๑๐๗ ไถ ประตักเชือกผูกกับทั้งเขาโคล้วนแต่หุ้มด้วยเงินทั้งสิ้น แลไถเอกอันหนึ่งซึ่งเปนไถทรงนั้น ประตักเชือกผูกกับทั้งเขาโคแต่ล้วนหุ้มด้วยทอง ส่วนพระองค์ก็ทรงสรรพาภรณ์ราชวิภูษิต แวดล้อมด้วยหมู่อะมาตย์แลพราหมณ์คฤหบดีเปนอันมาก กับทั้งราชบุรุษชาวพนักงานกรมนาทั้งปวงล้วนนุ่งห่มอุดมพัตร์ ทัดทรงอลงกฎบุบผาสุคันธวิเลปนาการ เสด็จไปสู่ภูมิ์เขตรสฐานที่กระทำการวัปมงคลแรกนาขวัญ ให้อัญเชิญพระมหาสัตว์เสด็จไปณที่นั้นด้วย แลในที่ใกล้เขตรภูมิ์นั้นมีชมพูพฤกษ์ต้นหนึ่ง กอบด้วยสาขาแลใบอันมีพรรณอันเขียวปานประหนึ่งว่าอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเปนที่รมณิยฐาน จึ่งให้ตกแต่งที่ศิริไสยาศน์แห่งพระมหาบุรุษราชณภายใต้ร่มไม้หว้า ให้ดาดเพดานในเบื้องบนขจิตไปด้วยดาวทอง แล้วให้ผูกม่านแวดวงไปโดยรอบ ตั้งไว้ซึ่งราชบุรุษให้ล้อมวงรักษาณภายนอก แล้วยังพระราชกุมารอันทรงเครื่องประดับ ให้นิปัชชาการเหนือที่ศิริไสยาศน์ มีพระพี่เลี้ยงแลนางนมนั่งบริบาลแวดล้อม ส่วนพระองค์ก็เสด็จแวดล้อมด้วยอะเนกคณามาตย์มนตรีไปสู่ที่อันจะแรกนาขวัญ ทรงจับถือไถทอง อะมาตย์ทั้งหลายจับไถเงิน แล้วไถกลับไปมาสิ้นวาระสามนัด ในขณะนั้นนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายชวนกันออกมา ดูการวัปมงคลณภายนอกม่านทั้งสิ้น แลพระโพธิสัตว์เสด็จอยู่แต่พระองค์เดียวมิได้เห็นผู้ใดผู้หนึ่ง ก็เสด็จอุฐาการขึ้นโดยเร็ว แล้วทรงนั่งบัลลังก์สมาธิเจริญอานาปานสติกรรมฐาน ยังปถมฌานให้บังเกิดในเพลานั้น เปนเพลาบ่ายเงาร่มไม้ทั้งหลายอันเศษ ก็ชายไปตามตะวันทั้งสิ้น แต่ฉายาไม้หว้านั้นปรากฎเปนปริมณฑลตรงอยู่ดุจกาลตะวันเที่ยงเปนมหัศจรรย์ ส่วนนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายนั้นกลับเข้ามาณภายในม่าน เห็นพระปาฏิหารดังนั้นก็ชวนกันพิศวง จึ่งออกไปกราบทูลบรมกะษัตริย์ ๆ ได้ทรงสดับก็เสด็จมาโดยเร็ว ได้ทอดพระเนตรเห็นพระปาฏิหารเปนมหัศจรรย์ ก็ยอพระหัดถ์ถวายอภิวันทนาการ แล้วออกพระโอษฐ์ดำรัสว่า “กาลเมื่อวันประสูติ์จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวิลดาบสนั้น ก็กระทำพระปาฏิหารขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตมก็ประนตเปนปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว แลครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเปนทุติยวันทนาการคำรบสอง” แล้วให้เชิญพระมหาสัตว์เสด็จคืนเข้าพระนครในขณะนั้น ครั้นเจริญกาลมาพระโพธิสัตว์เจริญพระชนมพรรษาได้ ๗ ขวบ สมเด็จบรมกะษัตริย์จึ่งตรัสถามหมู่อะมาตย์ว่า “ธรรมดาทารกมีอายุ ๗ ขวบนั้นชอบใจเล่นสิ่งอันใด? อะมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า “พอใจเล่นน้ำ” จึ่งดำรัสให้หาบรรดาช่างทั้งปวงอันมีอยู่ในพระนครมาพร้อมกัน แล้วตรัสสั่งให้ไปกระทำการขุดสระโบกขรณีในที่โพ้น สำหรับจะให้ราชบุตรแห่งเราลงเล่นน้ำ นายช่างทั้งหลายก็ไปกระทำการตามรับสั่ง แล้วปักไม้หมายตรุยลงในที่อันจะขุดสระ ขณะนั้นพิภพแห่งสมเด็จอำรินทราธิราชก็หวาดไหว ท้าวสหัศนัยทรงอาวัชนาการก็ทราบเหตุ จึ่งตรัสเรียกพระเวศสุกรรมเทพบุตรมาสั่งว่า “ท่านจงลงไปนฤมิตรสระโบกขรณีแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ให้เปนที่สรงสนานอุทกธาราแห่งพระมหาสัตว์” แล้วตรัสบอกมาปนะวิธีสระโบกขรณีทุกประการ พระเวศสุกรรมก็รับเทวบรรหาร แล้วก็ลงมาจากเทวโลกในสมัยราตรี จึ่งนฤมิตรสระโบกขรณีในที่ช่างทั้งปวงกำหนดไว้ พื้นภายใต้นั้นเรี่ยรายไปด้วยทรายแก้ว ๗ ประการ ในที่ข้างทั้งสี่ทิศก่อด้วยอิฐแก้ว ซึ่งเขื่อนนั้นแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการทั้งรอบสระ บันไดที่จะลงในสระนั้นแล้วด้วยแก้วประพาฬ คั่นบันไดแล้วด้วยแก้วมณี ศีศะบันไดแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ มีท่าจะลงนั้นถึง ๑๐๐ ท่ามีคุ้งคดได้ ๑๐๐๐ คุ้ง และน้ำในสระนั้นเต็มเปี่ยมกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เย็นใสปราศจากขุ่นมัวมลทิลบริบูรณ์ด้วยมธุรส เดียรดาษด้วยปทุมชาติมีพรรณ ๕ ประการ มีคำปุจฉาว่า “ในสระนั้นไม่มีเปือกตม แลกอประทุมชาติบังเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุอันใด? วิสัชนาว่าอย่าพึงคิดดังนั้น กอบัวทั้งหลายงอกขึ้นด้วยบุญฤทธิ์แห่งพระมหาสัตว์กับเทวฤทธิ์ประกอบกัน อนึ่งพระเวศสุกรรมนฤมิตรเปือกอันหอมให้เกิดเต็มในพื้นสระ แล้วอธิษฐานให้กอปะทุมชาติเกิดขึ้นในที่นั้น แล้วนฤมิตรให้กอบัวทั้งหลายลอยไปมาในท้องสระ มีคำปุจฉาว่า “นฤมิตรเปนดังฤๅ? วิสัชนาว่า “พระเวศสุกรรมนฤมิตรรางทองมากกว่า ๑๐๐๐ ล้วนเต็มไปด้วยเปือกหอม แล้วนฤมิตรกอบัวให้เกิดขึ้นในรางทองนั้นๆ แลดอกบัวนั้นบานอยู่เปนนิจลอยไปมาอยู่เหนือหลังน้ำ แล้วนฤมิตรนาวาทั้งหลายแล้วไปด้วยทองแลเงิน แลแก้วมณีแก้วประพาฬแก้ว ๗ ประการต่างๆ ถ้าเรือทองมีบัลลังก์เงินตั้งไว้ในเรือ ๆ เงินมีบัลลังก์ทองสลับกัน เรือแก้วมณีบัลลังก์แก้วประพาฬ เรือแก้วประพาฬมีบัลลังก์แก้วมณี เรือแก้ว ๗ ประการมีบัลลังก์แก้ว ๗ ประการด้วยกัน ถ้าบัลลังก์ทองก็ปักฉัตรเงิน บัลลังก์เงินก็ปักฉัตรทอง แม้บัลลังก์แก้วมณีก็ปักฉัตรแก้วประพาฬ บัลลังก์แก้วประพาฬก็ปักฉัตรแก้วมณี บัลลังก์แก้ว ๗ ประการก็ปักฉัตรแก้ว ๗ ประการด้วยกัน ถ้าเรือทองก็มีพายเงิน เรือเงินก็มีพายทอง เรือแก้วมณีก็มีพายแก้วประพาฬ เรือแก้วประพาฬก็มีพายแก้วมณี เรือแก้ว ๗ ประการพายก็แก้ว ๗ ประการด้วยกัน แลพระเวศสุกรรมนฤมิตรสระโบกขรณี อันเปนทิพย์ตามวิธีอันท้าวสุชัมบดีตรัสบอกมานั้นทุกประการ แล้วกลับไปยังดาวดึงษเทวพิภพ ครั้นเวลารุ่งเช้าช่างทั้งหลายมาเห็นสระสำเร็จแล้วบริบูรณ์ จึ่งไปกราบทูลบรมกะษัตริย์ให้ทราบเหตุนั้น สมเด็จกรุงสุทโธทนะมหาราชก็เสด็จขึ้นไปสู่ที่นั้นโดยเร็ว ได้ทอดพระเนตรเห็นสระโบกขรณีอันวิจิตรสำเร็จทุกประการ ก็ทรงทราบว่าท้าวมัฆวานมานฤมิตรถวายด้วยบุญญานุภาพพระโอรสแห่งอาตมา จำเดิมแต่นั้นพระมหาสัตว์เปรียบประดุจเทวกุมาร เสด็จลงสรงสนานเล่นอุทกวารีในทิพย์โบกขรณีเปนนิจกาล กับด้วยราชกุมารบริวารเปนอันมาก ครั้นจำเนียรภาคสืบมาจนพระชนมพรรษาเจริญได้ ๑๖ ปี สมเด็จพระราชบิดาจึ่งดำรัสให้หาหมู่ช่างทั้งหลาย มีช่างไม้ช่างอิฐช่างปูนแลช่างเขียนเปนต้นมาประชุมพร้อมกัน ให้จับการถาปนาพระมหาปราสาททั้ง ๓ เพื่อจะให้เปนนิวาศนฐานแห่งพระโอรส ตั้งแต่นั้นมาช่างทั้งหลายก็จับการนวกรรมกระทำปราสาททั้ง ๓ แลปราสาทอันสมควรจะเสด็จอยู่ในเหมันตฤดูมีพื้น ๙ ชั้น ปราสาทอันสมควรจะเสด็จอยู่ในฤดูคิมหันต์นั้นมีพื้น ๕ ชั้น ปราสาทอันสมควรจะเสด็จอยู่ในวสันตฤดูนั้นมีพื้น ๗ ชั้น แต่กำหนดโดยสูงนั้นเสมอกันทั้ง ๓ ปราสาท แต่พื้นนั้นต่างๆ ไม่เท่ากัน แลปราสาทฤดูเหมันต์นั้นมีพื้นอันแคบทุกๆ ชั้น สมควรแก่ฤดูหนาว มีช่องสีหบัญชรทวารกอปด้วยใบดานอันป้องปิดสนิทปราศจากวายุประเวศ ภายในปราสาทนั้นดาดเพดาน ขจิตรด้วยสุวรรณหิรัญรัตนดารารุ่งเรืองรุจิโรภาษ ห้อยย้อยไปด้วยพู่พวงกุสุมเสาวคนธชาติหอมฟุ้งตระหลบอบไปทั่วบริเวณสกลมณฑิรจังหวัด ตั้งไว้ซึ่งบัลลังก์น้อยใหญ่ ล้วนปูลาดด้วยโกไสยพัตรรัตกัมพลต่างๆ สมควรจะสถิตย์ในฤดูหนาว แวดวงด้วยสุวรรณวิสูตร์ อันขจิตร์ด้วยลวดลายล้วนด้วยกาญจโนภาษ พื้นผนังแห่งปราสาทเขียนเปนกองเพลิงน้อยใหญ่ แลพระอาทิตย์อุทัยเหนือยอดยุคันธรบรรพต สมควรแก่เหมันตฤดูกาล แลปราสาทสำหรับสถิตย์ในฤดูร้อนนั้นมีพื้นอันกว้างขวาง ฝานั้นมิสู้มิดชิดนักมีช่องลมในที่ทั้งหลายต่างๆ สีหบัญชรทวารนั้นก็ใหญ่กว้างพื้นเพดานก็ขจิตรไปด้วยเดือนดาวแลพู่พวงสุคนธบุบผา แวดวงด้วยสาณิปาการคือสุวรรณวิสูตรวิภูษนะบัลลังก์ แลเครื่องลาดดุจพรรณามาแล้ว ตั้งไว้ซึ่งอ่างเงินอ่างทองอ่างแก้วมณีอ่างแก้วไพรฑูรย์แก้วประพาฬ แก้วมุกดาต่างๆ เต็มไปด้วยอุทกวารีลอยไว้ซึ่งเบ็ญจประทุมชาติมีประการ ๕ ในพื้นฝาแลเสาเขียนเปนเบ็ญจมหานที แลกุนะนทีสระน้อยใหญ่ไพบูลย์ไปด้วยมัจฉาชาติเต่าปลานานา ปะทุมชาติในมุมภายนอกแห่งปราสาททั้ง ๔ ทิศนั้น กระทำจันทาโลกมณฑปปักเสาไม้ตะเกียบอันสูงทั้ง ๔ มุม สำหรับจะชักขึ้นซึ่งเพดาน ขึงขึ้นณเบื้องบนยอดปราสาท ผิวแสงภาณุมาศร้อนกล้านัก ชาวพนักงานก็ชักผ้าเพดานขึ้นกางกั้นกำบังเบื้องบนยอดปราสาท ในที่เชิงกลอนแห่งปราสาทนั้นก็ห้อยย้อยด้วยพรวนแลกระดึงโดยรอบ การเมื่อต้องวายุสัมผัศก็บันลือเสียงเสนาะ ดุจสำเนียงทิพยสังคีตประโคมขานเปนนิจการนิรันดร แลที่พื้นเบื้องต่ำทั้งสี่ทิศแห่งปราสาทนั้น ให้ขุดสระโบกขรณีทั้ง ๔ สระ มีท่าจะลงสรงแลขอบคันอันสอาด เต็มด้วยอุทกชาติวารี มีเบญจกะมุทอุบลบริบูรณ์ บ้างตูมบานแบ่งบานบงกชไขขจรเกสรสุคนธรศหอมฟุ้งไปในทิศต่างๆ กอปด้วยหมู่ทิชาชาติทั้งหลายเปนต้น ว่าหงษมยุรโกญจา จากพราก บินร่อนร้องถวายเสียงเสนาะสนั่น นกทั้งหลายนั้นลงเล่นข้างปาจีนทิศแล้วก็บันฦๅเสียงอันไพรเราะ โบยบินผ่านยอดปราสาทไปลงเล่นในสระข้างปัจฉิมทิศ ลางเหล่าลงเล่นในสระฝ่ายปัจฉิมทิศ แล้วบินผ่านยอดปราสาทไปข้างบูรพ์ทิศก็มี ลางหมู่ปักษีลงเล่นในสระข้างทักษิณ แล้วบินผ่านปราสาทไปลงสระข้างทิศอุดร บ้างก็ร่าร่อนลงสู่สระฝ่ายอุดรทิศ แล้วบินผ่านปราสาทไปลงสระฝ่ายทักษิณดังนี้ เปนประดิทินธรรมดาบมิรู้ขาด แลปราสาทซึ่งสถิตย์ในวสันตฤดูนั้นมีพื้นเปนอย่างกลาง ไม่กว้างไม่แคบนัก ฝาแห่งช่องสีหบัญชรทวารก็เปนสองอย่าง บางแห่งก็มิดชิดบางแห่งก็มีช่องลม ลางแห่งก็แคบลางแห่งก็กว้าง สำหรับเปนที่ร้อนก็มีเปนที่เย็นก็มี เครื่องประดับภายในปราสาทแลวาดเขียนทั้งปวงนั้น ก็มีเปนสองอย่างดุจปรางคปราสาททั้งสองฤดูดุจกล่าวมาแล้ว แลปราสาททั้งสองนั้น กอปด้วยยอดทั้งหลายใหญ่น้อยต่างๆ เรี่ยรายไปด้วยระเบียบธงไชยแลธงประฎาก แวดล้อมปักเปนถ้องแถวเปนหลั่นๆ เปนชั้นๆ โดยรอบ แวดวงไปด้วยซุ้มทวารแลไพรทีแก้วเปนแถวถ้อง พิจิตร์รจนาอุฬารพิเศษเสมอเหมือนกันทั้ง ๓ ปราสาท อาจจะเปนมหรรศพเนตร์แก่ประชาชน อันได้ทัศนาการเกิดโสมนัศปรีดา เมื่อการถาปนาปราสาททั้ง ๓ สำเร็จแล้ว สมเด็จบรมกะษัตริย์จึ่งส่งข่าวศาสน์ไป แก่ขัติยวงศาสักยราชทั้งปวงว่า อาตมกระทำปราสาทให้แด่ราชโอรส ปราถนาจะราชาภิเศกเปนเอกอัคราชาธิราช ให้ประยุรญาติวงศานุวงศทั้งหลายจงตกแต่งธิดาส่งมาถวายทุกองค์ๆ แต่บันดากะษัตริย์สักยะราชทั้งปวงได้ทราบรับสั่งดั่งนั้น ก็ส่งข่าวศาสน์ตอบกราบทูลว่า “พระราชกุมารมีพระรูปอันงามอาจนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้ได้ทัศนา แล้วเกิดในมหาอิศิริยราชสกูล แต่ไม่รู้ศิลปะศาตร์สิ่งใด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ควรจะถวายธิดาก่อน สมเด็จบรมกะษัตริย์ได้ทรงทราบในข่าวศาสน์ตอบดั่งนั้น จึ่งตรัสบอกแก่พระราชโอรส พระมหาบุรุษจึ่งกราบทูลว่า กิจที่จะศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาตร์แห่งข้าพระองค์นั้นบมิได้มี ผิวหมู่พระประยุรญาติทั้งหลาย จะใคร่ดูศิลปะศาตร์แห่งข้าพระพุทธเจ้า ก็จงให้ตีกลองไชยเภรีชุมนุมพระญาติให้พร้อมในพระนครนี้ในที่สุด ๗ วัน จักสำแดงศิลปะศาตร์ให้ปรากฎแก่ขัติยวงศาสิ้นทั้งปวง สมเด็จพระราชบิดาก็สั่งให้กระทำดุจนั้น แล้วให้ปลูกมณฑปในที่ท่ามกลางพระนครให้ตั้งไว้ซึ่งราชบัลลังก์ อันสมควรแก่ราชอาศน์ณภายในมณฑปนั้น ครั้นถึงวันเปนคำรบ ๗ บรรดากระษัตริย์สักยราชทั้งหลายอันเปนฝักฝ่ายพระประยุรญาติ ข้างพระราชบิดา ๘๐๐๐๐ ฝ่ายข้างพระราชมารดาก็ ๘๐๐๐๐ กับทั้งชนทั้งหลายมีพราหมณคฤหบดีเปนต้น ก็มาสะโมสรประชุมพร้อมกันในที่นั้น สมเด็จพระมหาสัตว์กับทั้งพระราชบิดา เสด็จด้วยมหันตบริวารยศไปยังที่มณฑลสันนิบาต เสด็จสถิตย์บนรัตนบัลลังก์ในมหามณฑป แล้วให้หามาซึ่งนายถมังธนูทั้ง ๔ คืออักขณเวธี ๑ พาลเวธี ๑ สระเวธี ๑ สัทเวธี ๑ ให้ไปนำมาซึ่งสหัสถามธนูอันหนักถึงกำลัง ๑๐๐๐ บุรุษจึ่งยกขึ้นไว้ ทรงยืนเหยียบซึ่งที่สุดเบื้องต่ำแห่งคันธนูด้วยพระบาทเบื้องซ้ายประดิษฐานไว้ในหว่างแห่งนิ้วพระบาทแล้วทรงยกขึ้นซึ่งคันธนู ดูอาการดุจเบาครุวนาดั่งสัตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฟ่าย บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายเห็นอาการอันทรงกระทำแต่เท่านั้นก็ชวนกันชื่นชมโสมนัศ ในลำดับนั้น ก็ทรงดีดลองสายเสียงสนั่นดุจเสียงอสนีบาตสัก ๑๐๐๐ ครั้ง มิฉะนั้นดุจสำเนียงปฐพีทรุด แลกรุงกะบิลพัสดุ์อันกว้างยาวได้สัตะโยชน์ปานประหนึ่งว่าจะหวาดไหวไปทั้งสิ้น มหาชนทั้งหลายต่างตกใจไต่ถามกันว่า “เสียงสิ่งใด” ชนบางจำพวกก็บอกกันว่าเสียงอสนีบาต บ้างก็ว่าเสียงแผ่นดินทรุด ที่รู้ก็บอกว่าเสียงนี้คือพระอังคีรัศกุมารลองซึ่งสหัสถามธนู แลกะษัตริย์สักยะราชทั้งหลายได้เห็นแต่อาการเท่านั้นก็ชวนกันยินดี จะยอมถวายธิดาทุกๆองค์ สมเด็จพระมหาสัตว์ก็สำแดงศิลปศาตร์ธนูทั้ง ๑๒ ประการ อันเปนอนัญสาธารณมิได้มีทั่วไปแก่ผู้อื่น คือผู้อื่นมิได้รู้จักสำแดงได้ แล้วตรัสถามว่า “จะให้กระทำอย่างอื่นประการใดบ้าง” ชนทั้งหลายทูลว่าให้แผลงขนหางทรายจามรี ในขณะนั้นพอเพลาพระอาทิตย์อัษฎงคต พระมหาบุรุษทรงแผลงถูกเส้นขนหางจามรีอันตั้งอยู่ที่ไกลได้โยชน์หนึ่งขาดตกลงที่ตรงกึ่งกลางได้ ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน อาจสามารถจะแลเห็นซึ่งเมล็ดพรรณผักกาดอันตั้งอยู่ณะฟากแห่งเขาแก้ววิเชียรข้างโน้นกำหนดโดยไกลได้โยชน์หนึ่ง ในเวลาอันพร้อมด้วยมืดมีองค์ ๔ ประการ คือเปนราตรี ๑ เมฆตั้ง ๑ ฝนตก ๑ แล้วเปนวันเดือนดับด้วยนั้น ๑ ส่วนกะษัตริย์สักยราชทั้งหลาย ได้เห็นศิลปศาตร์แห่งพระมหาสัตว์อันประเสริฐโดยยิ่ง หาผู้ใดจะเสมอมิได้ก็พร้อมกันตกแต่งพระราชธิดาทรงอาภรณ์ทุกๆ องค์ส่งมาถวายเปนนางขัติยกัญญา คณนาถึง ๔๐๐๐๐ นาง สมเด็จบรมกะษัตริย์ก็ราชาภิเศกพระมหาบุรุษให้เสวยราชสมบัติ ตั้งพระพิมพาเทวีเปนองค์พระอรรคมเหษี แลพระมหาสัตว์แวดล้อมด้วยอเนกขัติยราชนารีเปนบริวาร ปานประหนึ่งว่าสมเด็จวัชรินทรเทวราชอันมีนางเทพอับศรกัญญาเปนบริวาร กาลเมื่อเหมันตฤดูก็แวดล้อมด้วยขัติยคณานาง อันประโคมขานเบญจางคสังคีตเว้นจากบุรุษ เสด็จขึ้นสถิตย์เบื้องบนปราสาทมีพื้นได้ ๙ ชั้น นางพนักงานทั้งหลายก็ถวายซึ่งปณีตโภชนาหารแลสุขุมวัดถาลังการต่างๆ อันสมควรแก่ฤดูหนาวแลเสด็จสถิตย์ในปราสาทนั้น ๔ เดือนสิ้นเหมันตฤดูแล้ว ล่วงเข้าสู่ฤดูคิมหันต์ก็เสด็จไปสู่ปราสาทอันมีพื้นได้ ๕ ชั้น นางขัติยกำนัลทั้งหลายก็ถวายนานัครศโภชนาแลพัตราภรณ์อันสมควรแก่ฤดูร้อน ในที่ใกล้สีหบัญชรนั้น ชาวพนักงานทั้งหลายตั้งไว้ซึ่งอ่างทองใหญ่ๆ เต็มไปด้วยสุคันโธทกลอยไว้ซึ่งเบญจประทุมชาติ แลตั้งไว้ซึ่งม่อเงินม่อทองม่อแก้วต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยน้ำหอมแลวางไว้ซึ่งอ่างทองใหญ่ๆ เต็มไปด้วยน้ำเปือกของหอมปลูกประทุมชาติมีพรรณ ๕ ประการ หมู่แมลงผึ้งภู่ทั้งหลายต่างๆบินเข้ามาคลึงเคล้าเอาชาติเกษรเรณูหอมตระหลบไปในปราสาทบริเวณทั้งสิ้น แลกาลเมื่อสุริยรังสีร้อนกล้า ชาวพนักงานทั้งหลายก็ชักขึ้นซึ่งเพดาน ขึงขึ้นบนเสาไม้ตะเกียบณจันทาโลกมณฑป ในที่ใกล้มณฑปนั้นมีระหัดน้ำมีหนังกระบือลาดณเบื้องบน แล้วมีศิลายนต์ห้อยย้อยอยู่บนหนังกระบือ ขณะเมื่อชาวพนักงานไขระหัดน้ำขึ้นไปจากสระ น้ำนั้นตกต้องศิลายนต์ ๆ นั้นก็ผัดผันกระทบหนังกระบือ บันลือเสียงดุจเสียงฟ้า น้ำที่ระหัดขึ้นไปบนเพดานจันทาโลกมณฑปนั้น ก็ตกลงเปนฝอยๆ กระเซ็นซ่านดุจกระแสสายวโสทก ตกลงเปนนิรันดรบมิรู้ขาด สมเด็จพระมหาบุรุษราชก็ทรงภูษาสรรพาภรณ์วิภูษิตพื้นนิลวรรณ์มีพรรณอันเขียว แวดล้อมด้วยอเนกอนงค์นิกรขัติยราชกัญญา ล้วนนุ่งห่มประดับนิลวัดถาลังกาภรณ์ทั้งสิ้น ครุวนาดุจพระยานิลคเชนทรชาติ อันแวดล้อมด้วยหมู่นิลกิริณีเปนบริวาร ทรงนิสัชนาการสถิตย์บนบังลังก์นิลมณีอันมีพื้นแลเพดานแลม่านผูกล้อมล้วนสีเขียวควรจะพิศวง เสด็จโสรดสรงสินธุธารากับด้วยนางขัติยราชกัญญาทั้งหลายมีพระศิริวิลาศอันงาม ปานประหนึ่งวลาหกเทวราชอันสรงสนานวโสทกธารา กับด้วยพลาหกเทพอับศรกัญญาทั้งปวง แลเสวยในปราสาทนั้นจนสิ้นฤดูคิมหันต์ถ้วน ๔ เดือน ครั้นเคลื่อนเข้าวสันตฤดูก็เสด็จมาอยู่ปราสาทอันมีพื้นได้ ๗ ชั้น พระสนมนิกรกำนัลทั้งหลายก็ถวายวรโภชนพัตร์จัดแจง เจือระคนควรแก่ฤดูทั้งสองดุจพรรณามาแล้ว แลสมเด็จบรมโพธิสัตว์เสวยสุขสมบัติในปราสาททั้ง ๓ ปานประหนึ่งสมเด็จเพ็ชรปาณีเทวราชอันเสวยทิพย์สมบัติในไพชยนต์รัตนทิพยพิมานสวรรค์ ในชั้นดาวดึงษเทวโลกลำดับนี้พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถาสรรเสริญสมบัติในที่สุดบริเฉท อรรถาธิบายความพระสิทธัตถราชกุมารมีประโยชน์อันสำเร็จคือเสวยราชสมบัติ แลมีพระพิมพายโสธรราชเทวีเปนอรรคมเหษี เปนประธานแก่พระสนมนารีราชบริพารประมาณ ๔๐๐๐๐ นาง เสด็จสถิตย์ในปราสาททั้ง ๓ อันมีนามรมยปราสาท ๑ สุรมยปราสาท ๑ ศุภปราสาท ๑ โดยอันควรแก่ฤดูทั้ง ๓ เสวยซึ่งสวัสดิสุขในศิริสมบัติเปนมหัศจรรย์ดุจหนึ่งทิพยสมบัติวัฒนากาลนิรันดร