ทุกรกิริยาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๗

กาลเมื่อพระมหาสัตว์ทรงบรรพชาแล้ว จึ่งดำรัสสั่งให้นายฉันนามาตย์ว่า “ท่านจงรับเปนภาระธุระช่วยนำเอาอาภรณ์ของอาตมากลับเข้าไปยังกรุงกะบิลพัสดุ์ แถลงข่าวแก่ขัตติยสกูลทั้งหลายอันยังบมิได้รู้เหตุ แล้วจงกราบทูลพระบิตุเรศราชมาตุจฉาว่า “พระราชโอรสแห่งพระองค์หาอันตรายโรคาพยาธิสิ่งใดบมิได้ บัดนี้ออกไปบรรพชาแล้ว อย่าให้พระองค์ทรงโสกาดูรภาพทุกข์โทมนัศถึงพระราชบุตรเลย จงเสวยภิรมยสุขทุกพระอิริยาบถ ประการหนึ่งใช่ว่าพระราชโอรสออกสู่ภิเนสกรมครั้งนี้ ด้วยปราศจากกตัญญูกตเวทีนั้นหาบมิได้ อนึ่งซึ่งจะไปด้วยข้อขึ้งเคียดขัดเคืองแก่ผู้ใดผู้หนึ่งก็บมิได้มี แลจะไปด้วยยากไร้ไอสุริยสมบัติ จึ่งหลีกหนีออกบรรพชาก็ใช่เหตุ บัดนี้เพราะพิจารณาเห็นชาติชรามรณภัยมีประเภทต่างๆ ปราถนาจะรื้อสัตว์ทั่วทั้งภพไตรอันไร้ร้างจากที่พึ่งพำนักนิ์จักขนข้ามสงสารสมุไทย เมื่อได้บันลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ไม่ช้าก็จะกลับมาเช็ดพระอสุชลธาราพระราชบิดามารดร กับทั้งพระประยูรขัตติยวงศาด้วยผ้าปาวารพัตร กล่าวคือพระสัทธรรมอันประเสริฐ ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสาสน์ด้วยประการดังนี้ เมื่อนายฉันได้สดับพระราชบริหาร ก็บังเกิดความโศรกเปนกำลังดังมหันตบรรพตมาทุ่มทับทรวงแห่งอาตมา กราบลงแทบพระบาทยุคล แล้วก็โสกาดูรพิลาปร่ำรำพันทูลว่า ดังรือข้าพระบาทจะมละพระองค์ให้เสด็จอยู่แต่เดียวในพนสณฑ์อันเปล่าเปลี่ยวได้ฉันใด แลจะกลับไปสู่กรุงกะบิลพัสดุ์แต่ตนบมิบังควรยิ่งนัก ข้าพระพุทธเจ้าจะขออยู่บริรักษบรรพชาตามเสด็จพระลูกเจ้า จะได้อยู่เฝ้าอุปถากพระองค์ เมื่อได้ทรงสดับจึ่งดำรัสถามนายฉันว่า ท่านปราถนาจะบรรพชากับเรานั้นด้วยเหตุอันใด “ข้าแต่พระองค์ผู้เปนวงศ์สมมุติเทวราช เพราะมีความเสนหาสวามิภักดิในลอองธุลีพระบาท จึ่งจะโดยเสด็จบรรพชา” จึ่งตรัสตอบว่า “ผิวท่านมีความเสนหาในเราโดยสัตย์สุจริตแล้ว ก็จงกลับไปกราบทูลศาสน์ดังเราสั่งฉนี้ ผิวบมิได้กลับไปกราบทูลให้ทราบเหตุ เห็นว่าองค์สมเด็จพระบิตุเรศแห่งเรา จะทรงกำสรดแสนสุดเศรัา ด้วยนิพันธเสนหาพระหทัยจะถึงภินทนาชนมะพินาศ ทั้งสมเด็จพระมาตุจฉามหาปชาบดีโคตมีแลนางชลบทกัลยาณียโสธรพิมพา ก็จะทรงพระโศกาดุรภาพถึงหฤทัยทำลาย เมื่อสองกะษัตริย์วอดวายพระชนม์ชีพแล้ว ไฉนเลยพระลูกแก้วราหุลราชกุมารจะดำรงชนม์วัฒนาการอยู่ได้ ก็จะพึงถึงชีวาตม์ประลัยทั้งสิ้นด้วยกัน เหตุฉนั้นท่านจงนิวัฒนาการไปอภิบาลหฤทัยกะษัตริย์ทั้งหลายไว้ จะได้เปนภาชนะทองคอยรองรับรศพระสัทธรรมเทศนา ท่านจงอย่าอยู่ช้าเร่งกลับเข้าไปยังพระนครโดยด่วน ผิวท่านดำริห์เรรวนรอรั้งไม่ไปตามความสั่งแห่งเรา ๆ ก็จะกระทำสาบแก่ท่านด้วยบาทประหารแห่งอาตมา อย่าช้าจงอุษฐาการไปพลัน ๆ เมื่อนายฉันได้ฟังพระราชบริหารดังนั้น ก็ดำริห์จะใคร่ทูลตอบว่าข้าพระบาทก็มิได้ขัดรับสั่ง เปนข้อล่วงพระราชอาญาโทษแห่งข้าก็บางเบาบมิสาหัส ครั้นจะกราบทูลก็เกรงจะเคืองขัดพระราชอัธยาศรัย จึ่งทูลรับประฏิญญาณว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจะกลับไปตามกระแสพระศาสน์สั่งบัดนี้ แล้วซบศีศะลงกับพระบงกชบาทยุคลมีหน้าอันนองไปด้วยอัสสุชลธาราโศกาพิลาป กราบทูลรำพรรณ์มาแต่ปางหลังว่า โทษอันใดที่เกิดความโกรธด้วยกิฬนกิจ แต่ก่อนกาลยังเปนพาลทารกกำฝุ่นทรายมาด้วยกันนั้น ฃอพระองค์จงทรงพระมหากรุณาโปรด อดโทษานุโทษทั้งปวงแก่ข้าทุลีพระบาท แล้วถวายอภิวาทบังคมลาอุษฐาการกระทำประทักษิณพระมหาสัตว์สิ้นวาร ๓ รอบ แล้วถือเอาห่อเครื่องประดับปรารภจะกลับไป ฝ่ายกัณฐกะไหยราชเมื่อได้เสาวนาการพระราชบริหารอันตรัสกับนายฉัน จึ่งดำริห์ว่าได้ยินรับสั่งพระลูกเจ้าว่า จะส่งอาตมกลับไปด้วยกันกับนายฉันนามาตย์ แลข้อซึ่งตรัสใช้นายฉันให้นำเอาเครื่องประดับกลับไป จะได้ทูลประพฤติข่าวศาสน์ให้ทราบลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชบิดานั้นก็ชอบแล้ว แต่ตัวอาตมนี้จะบอกแจ้งคดีสิ่งใดก็บมิได้ เพราะโทษที่ไม่รู้เจรจาภาษามนุษย์แลอาตมเปนสัตว์เดียรฉาน ได้เปนราชพาหนะพระที่นั่งทรงองค์พระลูกเจ้าท้าวจตุโลกบาลประจำ ๔ เท้ารักษา พาเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรม ทั้งท้าวมหาพรหมก็ทรงฉัตรทิพย์กางกั้นยังฉายาให้ป้องปกกายอาตมา เทพยดาทั้งหลายก็แห่ห้อมล้อมพร้อมเครื่องทิพย์สักการบูชานาเนกประการ อาตมได้อุฬารสมบัติเห็นปานดังนี้ ที่จะได้ซึ่งสมบัติไปภายน่ายิ่งขึ้นไปกว่าครั้งนี้บมิได้มีเปนแท้ แลอาตมจะมละเสียซึ่งเจ้าของตนไป จะเว้นเสียจากอุฬารสมบัติอันได้ครั้งนี้ จะมีประโยชน์ด้วยสิ่งอันใดแก่อาตมา แม้ทำลายชีวิตรเสียก็จะประเสริฐกว่าที่ดำรงชีพสืบต่อไป เมื่อพระยาอัศสาชาไนย์จินตนาฉะนี้ ก็มีเนตรนองไปด้วยอัสสุชลกำสรด เหมือนดุจมีความปราถนาจะล้างพระบวรบาทยุคลแห่งพระมหาบุรุษราชด้วยหยาดจักษุธารา แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทมีโอภาษอันแดงดุจปาวารพัตรรัตกัมพลเช็ดยุคลบทเรณูแล้ว เพ่งดูดวงพระภักตร์พระโพธิสัตว์มิได้วางตา สมเด็จพระมหาสัตว์จึ่งยกพระหัตถ์เบื้องขวา อันวิจิตรด้วยจักรลักษณะปรามาศเหนือหลังดุรงค์ราชพาหนะ แล้วดำรัสสุนทรกถาเล้าโลมเอาใจว่า “ดูก่อนพ่อกัณฐกะไหยราชท่านได้เปนยานพาหนะอาตมออกสู่มหาภิเนษกรม อย่าด่วนเดือดร้อนอารมณ์ทุกขโทมนัศอาตมก็คำนึงอยู่ว่า ถ้าได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณ ก็จะกระทำประติการสนองคุณแก่ท่าน ๆ จงบำรุงรักษาชีวิตรไว้ท่าอาตมาก่อน ระงับเสียซึ่งอาวรณวิโยคทุกข์ในครานี้” แล้วก็ส่งกัณฐกภาชีไปด้วยนายฉัน แลนายฉันก็จุงพระยาม้ามาตามทางม้านั้นก็ผันหน้ากลับมาดูพระภักตร เพ่งพิศจนลับเนตรพ้นเขตร์ทัศนวิสัยมิได้วายอาลัยในพระมหาบุรุษราช มีสออันเหือดแห้งขาดเขฬะ ความโศกปทะปิดทางอัศสาสประสาทเดีนไปหน่อยหนึ่ง ดวงหฤทัยก็ทำลายออกเจ็ตภาคกระทำกาลกิริยาล้มลงในมรรคันตรวิถี ด้วยอานุภาพผลสวามิภักดิกตัญญูในพระมหาสัตว์ ก็จุติขึ้นไปอุบัติในกนกพิมานอันสูง ๑๒ โยชน์ในดาวดึงษเทวโลกย์ มีนางอับศรสาวสวรรค์ ๑๐๐๐ เปนบริวารได้นามปรากฎชื่อว่ากัณฐกะเทพบุตร์ดุจนามเดิมนั้น ส่วนนายฉันเห็นกัณฐกะสินธพล้มลงทำลายชีพ ก็มีความสงสารโศกาพิลาบร่ำรักว่า ดูก่อนพ่อกัณฐกะผู้มีธุระอันแสนเสมอ มิเสียทีที่ท่านมีจิตรกตัญญูกัตเวทีสวามิภักดิ์รักเจ้าของตน จนถึงทำลายชนม์ด้วยความรัก เปนที่สรรเสริญประเสริฐนักหาผู้เสมอมิได้ ตัวท่านเปนแต่สัตว์เดียรฉานมีสันดานอันอ่อน แลสัตย์ซื่อถือธงชัย กล่าวคือชีวิตรประลัยไปก่อนด้วยความสวามิภักดิ์ จัดได้ชื่อว่ามีชัยชนะแก่อาตมา ตัวข้าเปนมนุษย์แต่มีจิตรกระด้างยิ่งนัก จงรักภักดีต่อเจ้าแต่ไม่ถึงชีวิตรวอดวายได้ชื่อว่าพ่ายแพ้แก่ท่านแล้ว แล้วนายฉันก็ปลดเปลื้องเอาเครื่องม้า แล้วก็เก็บดอกไม้ในป่ามาบูชาศพพระยาสินธพพลางกล่าวว่า กัณฐกะเอ๋ยพ่อจงไปเสวยทิพยสมบัติในรัตนพิมานสวรรค์เถิด แล้วก็บ่ายหน้าเข้าสู่กรุงกะบิลพัสดุ์ เมื่อนายฉันมาถึงพระนคร ชาวเมืองทั้งปวงก็เอิกเกริกร้องอื้ออึงไปว่านายฉันกลับมาถึงแล้วชวนกันมาถามข่าวว่า พระลูกเจ้าเสด็จไปแห่งใด อะมาตย์ทั้งหลายรู้เข้าจึ่งรีบไปกราบทูลบรมกะษัตริย์ ๆ ตรัสให้นายฉันเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสถามข่าวพระราชโอรส นายฉันน์ก็ถวายเครื่องประดับพระมหาสัตว์กับทั้งเครื่องม้า แล้วกราบทูลพรรณาเหตุทั้งปวงดุจจะกล่าวแล้วแต่หลัง สมเด็จพระบิตุราชมาตุจฉาแลพระพิมพายโสธรบวรขัตติยวงศสักยราชทั้งหลาย ก็ค่อยคลายความโศกเศร้าบันเทาลง แลพระราชบิดาก็คอยทรงสดับข่าว ซึ่งพระหน่อท้าวจะได้ตรัสแก่พระสัพพัญญุตญาณสืบไป โดยนัยอันพราหมณ์ทูลถวายพยากรณ์ไว้แต่ก่อนนั้น ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่าพระมหาบุรุษเสด็จออกสู่ภิเนสกรมแล้ว จึ่งไปหาบุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ ซึ่งได้ทำนายพระลักษณด้วยกันกล่าวว่า บัดนี้พระสิทธัตถะราชกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าโดยแท้หาสงสัยมิได้ ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตรอยู่ ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ ผิวท่านทั้งปวงปราถนาจะบวชก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด แลบุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้นหาพร้อมใจด้วยกันทั้งสิ้นไม่ รับยอมจะบวชแต่ ๔ คน โกณฑัญญพราหมณ์ก็พาพราหมณ์มาณพทั้ง ๔ ออกบรรพชาเปน ๕ คนด้วยกัน ก็ได้นามบัญญัติว่าปัญจวัคคีเถระ เหตุมีพวก ๕ คนชวนกันสืบเสาะไปติดตามพระมหาสัตว์ ส่วนสมเด็จพระโพธิสัตวเมื่อส่งนายฉันกับกัณฐกะอาชาไนยไปแล้ว ก็เสด็จสถิตย์แต่พระองค์เดียวเปลี่ยวพระทัยรันทดสลดสังเวช จึ่งทรงพระปริวิตกว่า ธรรมดาสงสารสันนิวาศนี้ มีสภาพแปรปรวนวิปริตมิได้เที่ยงแท้ กาลเมื่อแรกอาตมออกจากกรุงกะบิลพัสดุ์นั้น หมู่อนันตเทพยดาอินทรพรหมทั้งหลายแห่แหนแวดล้อมมาเปนอันมาก ตราบเท่ากระทั่งถึงฝั่งอโนมานที แล้วต่างองค์ต่างหนีกลับไปสิ้น ยังเหลืออยู่แต่นายฉันกับกัณฐกะสินธพเท่านั้น บัดนี้นายฉันกับม้าก็กลับไปแล้ว ยังอาตมผู้เดียวมิได้มีเพื่อน นามชื่อว่าสังสารธรรมทั้งปวงอันเกิดมาในโลกย์นี้มีสภาวปรวนแปร มิได้แท้เที่ยงถึงซึ่งวิปริตต่างๆ เห็นปานฉนี้แลในประเทศที่นั้น มีอัมพวันป่าไม้ม่วงตำบลหนึ่งมีนามว่าอนุปิยอัมพวัน ก็เสด็จเข้ายับยั้งหยุดอาศรัยเสวยสุขวิหารอยู่ในที่นั้น เหตุดังนั้นพระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถา อรรถาธิบายความก็เหมือนนัยหนหลัง แลพระมหาบุรุษราชเว้นจากเสวยพระกระยาหารสิ้นกาล ๗ วัน อิ่มไปด้วยบรรพชาสุข ครั้นล่วงเข้าถึงวันเปนคำรบ ๘ ก็เสด็จจากป่าไม้ม่วงตำบลนั้นบทจรดำเนินไปในพนสณฑวิถี มีพระศิริวิลาศอันรุ่งเรืองงามด้วยพยามประภาพรรโณภาษ ดุจพระรัชนิกรเทวราชอันบริบูรณ์ด้วยรัศมี มีพรรณไพโรจทิฆัมพรจำรัสป่างเมื่อสรทกาลสมัย เสด็จดำเนินไปแต่พระองค์เดียว ดูดุจแวดล้อมพร้อมอเนกนิกรบรรพสัท กล่าวคือพระมณฑลพระรัศมีอันห้อมล้อมพระสริรกาย กระทำให้เปนท่าที่ประชุมแห่งสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือเปนมหรศพเนตร์แห่งสีหมฤคคณาทิชาชาติประชุมชวนกันทัศนา แลเสด็จโดยเอกจาริกลีลาศ เปรียบประหนึ่งว่าพระยาไกรสรมฤคคินทรราช อันสัญจรไปในพนัศพระหาห้องหิมวันต์ มิฉะนั้นปานประหนึ่งว่าพระยามหามาตังคชาติ อันบำราศจากคณาเนกบริพาร เสด็จคมนาการด้วยวิบูลยบาทยุคลโดยลำดับพนสณฑ์มรรคา ในเพลาาเช้าสิ้นดึสโยชนวิถีก็ถึงนทีแห่งหนึ่งซึ่งสถิตย์ ณที่ใกล้กรุงราชคฤห์ราชธานี จึ่งเสด็จลงสรงวารีในคงคานั้น แล้วก็เสด็จเข้าไปโคจรบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์มหานครโดยสปทานจาริก ขณะนั้นประชาชนชาวเมืองได้เห็นรูปพระมหาสัตว์ต่างคนตื่นเอิกเกริกโกลาหลทั่วทั้งพระนคร เหมือนครั้งเมื่อพระยาช้างธนบาลหัตถีซับมันอันอาลวาดเข้าเมือง มิดั่งนั้นดุจเวปจิตติอสุรินทร์อันเข้ามาในเทวนคร ร้องเรียกกันอื้ออึงชวนกันเกลื่อนกล่นมาชมโฉมพระมหาบุรุษราช ผู้ใดได้เห็นก็เกิดปีติโสมนัศพิศวงมิวางตา บางคนก็เจรจาแก่กันว่า “ท่านผู้นี้ชรอยเปนองค์พระจันทร์ ลงมาจากอากาศประลาศนาราหูอสุรินทร์มาสู่มนุษย์โลกเปนแม่นมั่น” บางคนก็ว่า “มิใช่พระจันทร์ชรอยเปนกุสุมเกตุกามเทพบุตร์ พิจารณาเห็นสมบัติแห่งกะษัตริย์แลชาวเมืองมนุษย์นาเนกโอฬาร จึ่งลงมา หวังจะทัศนาการชมเล่นเปนขวัญตา” บางคนก็หัวเราะแล้วเจรจาว่า “ท่านนี้มีสัญญาวิปลาศแลหรือ นี่คือองค์มเหศวรเทวราชลงมาจากไกรลาศคิรี จึ่งมีสริรกายินทรีย์พร้อมด้วยภาชนโภชนาหาร” บางคนก็ยิ้มน้อยแล้วว่า “ไฉนท่านเจรจาฉะนี้ มิใช่องค์ พระอินทร์ศวรเปนเจ้า นี่คือองค์ท้าวสหัศสไนยอันเปนสุราธิปไตยเสด็จมาสู่ที่นี้ ด้วยสำคัญว่าบุรีแห่งเราเปนอมตนครา” บางคนก็กล่าวว่าเราไม่เชื่อว่าท้าวสหัศเนตร์ เหตุไฉนจึ่งไม่ทรงขอแก้ววิเชียรแลช้างเอราวรรณ์ จะได้เห็นเปนสำคัญแจ้งประจักษ์ มิใช่องค์มัฆวานเทวราชเปนแท้ นี่คือท้าวมหาพรหมทรงทราบว่าพวกพราหมณ์มีความประมาทจึ่งเสด็จมา หวังจะสั่งสอนให้ศึกษาในไตรเพทางคศาสตร์สรรพวิชาการ” ชนผู้หนึ่งจึ่งกล่าวค้านคำคนทั้งนั้นว่า “มิใช่พระจันทร์มเหศวรอินทร์พรหมกามเกตุเทพบุตร์ ท่านผู้นี้คืออัจฉริยมนุษย์ ใหญ่ยิ่งกว่าสัตวโลกทั้งปวงเปนแท้” แลมหาชนชาวเมืองทั้งหลายต่างๆถุ้งเถียงไม่ตกลงกันฉะนี้ พอพวกราชบุรุษมาเห็นองค์พระมหาสัตว์ จึ่งเข้าไปกราบทูลกรุงพิมพิสารราชว่า “บัดนี้มีผู้หนึ่งประกอบด้วยรูปศิริลักษณะเลิศบุรุษ จะว่าเปนเทพยดามนุษย์หรือนาคครุธสุบรรณคนธรรพ์ทานพประการใดก็มิได้รู้ เข้ามาสู่พระนครเที่ยวโคจรบิณฑบาตประหลาดนัก” สมเด็จบรมกะษัตริย์ได้ทรงทราบจึ่งเสด็จยืนบนปราสาททอดทัศนาไปโดยช่องสีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นองค์พระมหาบุรุษก็มีพระทัยพิศวง จึ่งดำรัสใช้ราชบุรุษว่า “ท่านจงตามสกดบทจรไปดูให้รู้ตระหนักแน่ แม้ว่าเปนอมนุษย์ออกจากเมืองแล้วก็จะอันตรธานหายไป ถ้าเปนเทพยดาก็จะเหาะไปบนอากาศ ผิวเปนพระยานาคก็ชำแรกปถพีไปเปนแท้แม้ว่าเปนมนุษย์ก็จะไปนั่งบริโภคภัตตาหารโดยควรประมาณแก่ตนได้ จงไปพิจารณาดูให้รู้เหตุประจักษ์ ราชบุรุษทั้งหลายรับพระบัญชาสั่งแล้วก็เดินตามพระมหาสัตว์ไปจนออกนอกพระนคร ส่วนพระมหาบุรุษมีพระอินทรีย์สำรวมระงับ ครุวนาดุจคร่าเอานัยเนตร์แห่งมหาชนทั้งหลาย ไปด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ทอดพระนัยนาไปโดยมรรคาชั่วแอกหนึ่ง เมื่อทรงรับบิณฑบาตได้มิสกะภัตร์พอประมาณควรแก่อิ่มแล้ว ก็เสด็จออกจากพระนครโดยทางทวารอันแรกเข้านั้น จึ่งไปสู่บัณฑวบรรพต เหตุดั่งนั้นพระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถาแปลเนื้อความก็ซ้ำเหมือนความหลัง เมื่อเสด็จไปถึงเชิงเขาบัณฑวบรรพต จึ่งทรงนิสัชนาการบ่ายพระภักตร์ไปข้างบรรพต อันปรากฎฝ่ายบุรพทิศาภาคมีหน้าภูผาอันร่มสำราญพระกรัชกาย ก็ทรงพิจารณาภัตตาหารในบาตรด้วยปฏิกูลสัญญา ในขณะนั้นก็บังเกิดปฏิกูลยิ่งนัก ปานประหนึ่งว่าลำไส้ใหญ่จะกลับออกทางพระโอษฐ์ เหตุพระองค์เคยเสวยปณีตโภชนาหารปานประดุจทิพย์สุธาโภชน์ มิได้เคยทรงทัศนาการซึ่งมิสกาหารดั่งนั้น จึ่งเกิดปฏิกูลเปนอันมาก ลำดับนั้นก็ประทานโอวาทแก่พระองค์ว่า “ดูก่อนสิทธัตถ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติตระกูล อันได้แต่ล้วนอุดมอันนะปานาหาร เคยบริโภคแต่สุคันธชาติโภชนสาลี อันกอบด้วยนานรรครศ สูปพยัญชนะวิกัติโอฬาร ดังฤๅท่านจึ่งไม่รู้สึกตนว่าเปนบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ แลเที่ยวบิณฑบาตไฉนจะได้ซึ่งโภชนาหาร อันสอาดมาแต่ที่ใดเล่า แลกาลบัดนี้จะกระทำเปนดั่งฤๅแก่อาหารที่ได้มานี้” เมื่อให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็มีสติปราศจากวิการในอาหารปฏิกูล จึ่งทรงมนสิการในปฏิกูลสัญญา ๙ ประการ ทรงปัจเวกขณ์แล้วก็เสวยมิสกะภัตตาหารบิณฑบาตอันนั้น ดุจอำมฤตรศปราศจากรังเกียจก็ทรงกำหนดทราบว่า “ตั้งแต่บรรพชามาได้ ๘ วันพึ่งได้ฉันภัตตาหารในวันนี้” ฝ่ายราชบุรุษทั้งหลายซึ่งติดตามมาเห็นอาการดั่งนั้น ก็กลับไปกราบทูลกรุงพิมพิสารราชนรินทร์ผู้เปนปิ่นมคธาธิบดี เมื่อได้ทรงทราบว่า “เปนมนุษย์แท้มีพระทัยโสมนัศในพระคุณอันได้ทรงสวนาการ จะใคร่เสด็จไปพบเปนอุดมลาภอันประเสริฐ” ก็เสด็จด้วยพระราชยานเสด็จออกจากพระนครโดยด่วน ถึงบัณฑวบรรพตจึ่งเสด็จลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปสำนักนิ์พระมหาสัตว์ ทรงสถิตย์ณพื้นแผ่นศิลาอันเปนเหษฐาภาค ทอดพระเนตร์เห็นพระอิริยาบถก็ยิ่งหลากเลื่อมใส จึ่งตรัสถามว่า “พระองค์มาแต่ที่ใดจึ่งมาสู่พระนครนี้” สมเด็จพระโพธิสัตว์ก็ตรัสบอกว่า “ดูก่อนบพิตร์ อาตมมาแต่สักยะชนบท” จึ่งทูลถามว่า “มาแต่เมืองใด” ตรัสบอกว่า “แต่เมืองกระบิลพัศดุ์” จึ่งทูลถามถึงชาติตระกูลว่า “เปนชาติอันใด” ตรัสบอกว่า “เปนสักยขัตติยชาติ” ทูลถามว่า “เปนราชบุตรแห่งกะษัตริย์องค์ใด” ตรัสบอกว่า “เปนราชโอรสกรุงสุทโธทนมหาราช” ทูลถามว่า “พระนามชื่อใด” ตรัสบอกว่า “ชื่อสิทธัดถราชกุมาร” แท้จริงสมเด็จพระมหาสัตว์กับกรุงพิมพิสารราชนั้น เปนอทิฏฐสหายกันแต่ก่อนกาล เมื่อบรมกะษัตริย์ได้ทราบจึ่งทรงพระดำริห์ว่า “ชรอยพระสิทธัดถะจะมีความขึ้งเคียดวิวาทกับด้วยหมู่ญาติทั้งปวงจึ่งมาสู่พระนครนี้” จึ่งดำรัสว่า “พระองค์เสด็จมานี้เปนศิริสวัสดิ์สุนทรภาพยิ่งนัก แลตัวข้าพเจ้านี้ก็เปนอทิฏฐสหายกับพระองค์มีนามว่าพิมพิสารราช เปนอิศราธิบดีในประเทศทั้ง ๒ คืออังคราษฎ์แลมคธราษฎ์ชนบทอันมีขอบเขตร์ขัณฑสีมาถึง ๕๐๐ โยชน์ ข้าพเจ้าจะแบ่งไอสุริยสมบัติกับทั้งแว่นแคว้นถวายพระองค์ประมาณกึ่งหนึ่ง เราทั้งสองสหายจะได้อยู่ ครอบครองสมบัติแลเขตรขัณฑสีมาเปนผาศุกภาพด้วยกันในประเทศที่นี้” สมเด็จบรมโพธิสัตว์ได้ทรงสดับจึ่งตรัสตอบว่า “ขอบพระทัยบพิตร์ซึ่งมีจิตร์กรุณาจะแบ่งสมบัติให้ แต่อาตมนี้มิได้เจตนาจะประโยชน์ด้วยกิเลศกามแลพัศดุกามทั้งหลายนั้น แลอาตมมละเสียซึ่งจักรพรรดิสมบัติ อันพลันจะมาถึงเงื้อมพระหัตถ์ ดุจก้อนเขฬะอันถ่มจากพระโอษฐ์ เพราะปราถนาพระบรมาภิสมโพธิจึ่งออกบรรพชา” ข้าแต่พระองค์ผู้เปนปราชซึ่งทรงสละราชมไหสวรรค์ ออกบรรพชานั้นด้วยเหตุสิ่งใด” จึ่งตรัสบอกโดยสารพระคาถาอรรถาธิบายความว่า “ดูก่อนบพิตร์อาตมได้เห็นซึ่งเทวทูตทั้ง ๔ มีคนชราเปนอาทิจึ่งออกบรรพชา” สมเด็จพระบรมกะษัตริย์ทรงสดับจึ่งกราบทูลว่า “พระองค์ก็คงจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้” ถ้าบันลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วฃออันเชิญพระองค์ทรงพระกรุณา เสด็จมาสู่พระนครแว่นแคว้นแห่งข้าพเจ้าก่อนจงได้ เหตุดั่งนั้นพระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถาแปลเนื้อความก็ซ้ำเหมือนหนหลัง แปลกออกไปแต่ว่าพระยาพิมพิสารกราบทูลอาราธนาว่า “พระองค์จงตรัสเทศนาโปรดข้าพเจ้าก่อน” สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ให้ปฏิญญาณว่า “สาธุ” แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ถวายบังคมลาคืนเข้าพระนคร พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวพระคาถาสรรเสริญพระมหาสัตว์ อรรถาธิบายคล้ายกับความหลัง ในลำดับนั้นพระโพธิสัตว ก็เสด็จบทจรจาริกไปจากที่นั้น จึ่งไปสู่สำนักนิ์แห่งอาลารกาลามดาบส อันสร้างอาศรมสถิตย์อยู่ณพนสณฑ์ตำบลหนึ่ง ได้ไต่ถามเล่าเรียนในอนุบุรพวิหารสมาบัติ ก็ได้สำเร็จแก่สมาบัติทั้ง ๗ คือรูปาวจรฌาน ๔ อรูปาวจรฌาน ๓ จึ่งถามถึงบริกรรมภาวนาแห่งเนวสัญญาณาสัญญายัตนะสมาบัติต่อไป พระดาบสนั้นบอกว่ามิได้รู้ จึ่งได้ลาไปสู่สำนักนิ์อุทกรามบุตร์ดาบสได้ไต่ถามเล่าเรียนก็ได้สำเร็จตรัสรู้ในเนวสัญญานาสัญญายัตนะสมาบัติอันเปนจตุตถะอรูปฌาน จึ่งถามถึงธรรมพิเศษซึ่งยิ่งไปกว่านั้นสืบไป พระดาบสนั้นบอกว่า “มิได้รู้” แล้วตั้งพระโพธิสัตวในที่เปนอาจารย์เสมอด้วยตน จึ่งทรงพระดำริห์ว่า “ทางปฏิบัตินี้ใช่หนทางพระโพธิญาณพระทัยปราถนาจะก่อกิจมหาปธานวิริย เพื่อจะแสดงกำลังความเพียรอันอุกฤษฐ์แห่งพระองค์ ให้ปรากฎแก่มนุษโลกกับทั้งเทวโลก จึ่งอำลาอุทกรามบุตร์ดาบสออกจากสำนักนิ์แล้ว เสด็จไปสู่อุรุเวลประเทศทรงพิจารณาเห็นภูมิภาคแห่งนั้น เปนที่สุขาภิรมย์สฐานสมควรแก่กุลบุตร์ จะอยู่บำเพ็ญเพียรเจริญสมณธรรมแสวงหาอริยคุณพิเศษ จึ่งเสด็จยับยั้งอาศรัยกระทำมหาปธานวริยอยู่ในที่นั้น.

ลำดับนั้นบรรพชิตทั้ง ๕ อันมีนามว่าปัญจวัคคีย์คือพระโกณฑัญ ๑ พระวับบ ๑ พระภัททชิ ๑ พระมหานาม ๑ พระอัศสชิ ๑ พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในประเทศต่างๆ แลเที่ยวภิกขาจาริย์เลี้ยงชีพในคามนิคมทั้งปวง จึ่งไปประสบองค์พระมหาสัตว์ณอุรุเวลประเทศ ได้เห็นพระองค์ทรงกระทำมหาปธานวริยก็ดำริห์ว่า “คงจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าโดยแท้” จึ่งพากันเข้าไปสู่สำนักนิ์แล้วอยู่กระทำกิจประฏิบัติวัตตานุวัตร์อุปัฏฐากต่างๆ มีแผ้วกวาดเสนาศน์บริเวณเปนต้น ส่วนพระพุทธังกุรราชเจ้าจึ่งทรงพระดำริห์ว่า “อาตมจะกระทำทุกรกิริยาให้ถึงซึ่งที่สุดแห่งความเพียรเปนอุกฤษฐ์อย่างยิ่ง จึ่งเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในคามนิคมทั้งปวง ก็ทรงเมตตาภาวนาไปตราบเท่าจนกลับ แล้วทรงปริวิตกสืบไปว่า “อาตมมีปลิโพธอยู่ด้วยแสวงหาโอฬาริกาหารเห็นปานดังนี้บมิควร” จำเดิมแต่นั้นมา เสด็จสถิตย์อาศรัยรุกขมูลต้นใดก็เสวยซึ่งผลอันหล่นลงมาแต่ไม้ต้นนั้น แล้วภายหลังกลับไปบิณฑบาตเล่าได้ภัตตาหารมาแล้วก็ผ่อนลดน้อยลง มีประมาณเท่าผลกระเบาแลผลพุดทราลดถอยน้อยลงไปจนเท่าเมล็ดถั่วเมล็ดเข้าสารหัก เมล็ดงาตราบเท่าถึงเมล็ดพรรณผักกาด ก็มิอาจบันลุพระโพธิญาณสำเร็จพระกระมลประสงค์ จึ่งทรงพระปริวิตกสืบต่อไปอีกเล่าว่า จะประโยชน์อันใดด้วยเสพย์อาหาร แลอาตมะจะเว้นเสียซึ่งอาหารมิได้บริโภคทั้งสิ้น ก็ตัดเสียซึ่งอาหารมิได้เสวย ครั้งนั้นเทพยดาทั้งหลายจึ่งกล่าวแก่กันว่า “ถ้าพระสิทธัดถะจะมิได้เสวยอาหารทั้งสิ้นแล้ว เราทั้งหลายก็จะใส่ลงซึ่งโอชอันเปนทิพย์ให้แซกเข้าไปในสริรกายตามขุมพระโลมาทั้งปวงจะได้เยียวยารักษาพระชนม์ชีพไว้” แลเทพยเจ้าทั้งหลายก็กระทำดุจเจรจากันนั้น พระมหาบุรุษก็รู้พระองค์โดยอาการอันเทพยดามีความสังเวชช่วยรักษาพระชนม์ชีพไว้จำเดิมแต่ตัดพระอาหารเสียทั้งสิ้น อันว่าทวัตตึสมหาบุริสลักษณะ และพระอสีตยานุพยัญชนะทั้งปวงนั้นก็อันตรธานเสื่อมสูญสิ้น พระมังษะแลพระโลหิตก็เหือดแห้งทั่วทั้งพระสกลกาย ๆ ก็ซูบผอมยิ่งนัก ครุวนาดุจดอกไม้อันหล่นลงจากขั้ว แล้วเหี่ยวแห้งยังแต่หนังหุ้มพระอัฏฐิแลพระอัฏฐิปฤษฎางค์ แลสีข้างก็เห็นคดค้อมวิการปรากฎดุจระเบียบแห่งกลอนเรือนอันเรียบเรียงไว้ เบื้องว่ายกพระหัตถ์ปรามาสบนพระเศียร ก็ประสบแต่แถวพระเส้นแลพระอัฏฐิควรจะสังเวชเพทนา เบื้องว่าพระองค์ทรงเสวยมหันตทุกข์ถึงเพียงนี้ จะมีพระทัยปริวิตกดำริห์ว่า “จะประโยชน์อันใดด้วยกระทำทุกรกิริยาอันสาหัสลำบาก แต่อาตมะทำความเพียรมาสิ้น ๖ ปีแล้วก็ยังมิได้บันลุแก่พระโพธิญาณ อย่าเลยจะกลับไปสู่ราชนิเวศนฐานจะเห็นภักตร์นางขัตติยกัญญาทั้ง ๔ หมื่นมีนางยโสธรพิมพาเปนประธาน กับทั้งพระบิตุราชมาตุจฉาแลเจ้าราหุลโอรส อีกทั้งขัตติยประยูรญาติราชวงศาทั้ง ๘ หมื่นสกูล แล้วจะได้บริโภคโภชนาหารปานประหนึ่งว่าทิพยโภชนา และจะได้ไสยาเหนือศิริไสยาศน์เปนบรมสุขสำราญ จะได้ทรงพระจินตนานึกดั่งนี้ แต่มาตรว่าวารจิตร์หนึ่งบมิพึงมีเปนอันขาด อยู่มากาลวันหนึ่งเสด็จกระทำสริรกิจลงพระบังคนให้บังเกิดปวดมวน ประชวรในพระอุทรประเทศเหตุพระสกลกายนั้นเหือดแห้งแลพลวะทุกขเวทนา จึ่งบังเกิดให้พระกายอ่อนอิดโรยหิวโหยระหวย พระกำลังจะตั้งพระองค์ดำรงไว้มิได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพล้มลงในที่นั้น ขณะนั้นเทพยดาองค์หนึ่ง สำคัญจิตร์คิดว่า “พระมหาสัตว์ดับขันธ์ทิวงคต” จึ่งไปสู่สำนักนิ์กรุงศิริสุทโธทนมหาราช ทูลแถลงเหตุว่า “บัดนี้พระราชบุตรแห่งพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงสดับจึ่งตรัสถามเทพยดาว่า “พระราชโอรสแห่งข้าได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าแล้วหรือยังเปนประการใด” เทพยดาตอบว่า “ยังมิได้บันลุพระโพธิญาณ” จึ่งมีพระราชโองการตรัสขับแล้วคุกคามว่า “ท่านจงไปเสียจากที่นี้ ผิวโอรสแห่งเรายังมิได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า แล้วที่จะทำลายชนม์ชีพนั้นหามิได้เลยเปนแท้” เทพยดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ ส่วนพระมหาสัตว์ได้ซึ่งสัญญาตื่นฟื้นพระสติแล้วก็เสด็จอฐาการไปจากที่นั้น ครั้นอยู่มากาลวันหนึ่งจึ่งทรงพระดำริห์ว่า “อาตมประพฤติภาวนานุโยคในกาลบัดนี้ยังประกอบด้วยอัศสาสปัศสาสได้ชื่อว่าพยายามยังหยาบอยู่ ผิฉะนั้นอาตมจะกระทำความเพียรให้สุขุมภาพจะกลั้นเสียซึ่งอัศสาสปัศสาส ขณะนั้นอัศสาสปัศสาสวาตมิอาจดำเนินออกโดยทางนาสิกทวารได้ก็ดั้นไปจะออกโดยพระโสตทวารทั้ง ๒ พระมหาบุรุษก็อัดอั้นเสียซึ่งวาโยนั้นมิให้ออกโดยโสตทวาร แลลมนั้นก็เดินดั้นตระหลบขึ้นไปบนพระเศียร ก็บังเกิดพลวะเวทนาเจ็บปวดในพระศิโรตม์เปนกำลัง ครุวณาดั่งบุคคลมาฉะเชือดลงด้วยคมแห่งมีดโกนให้ฉินทนาการ เมื่อวาโยมิอาจทำลายพระเศียรขึ้นไปได้ก็กลับตระหลบลงไปในอุทรประเทศให้บังเกิดเจ็บปวดทุกขเวทนาภายในพระอุทรเปนสาหัส ครุวณาดุจฉะเชือดด้วยมีดอันคม แลทรงเสวยมหันตทุกข์ถึงเพียงนี้ก็มิได้มีพระทัยรันทดท้อถอยจากความเพียร พระสติตั้งมั่นมิได้หวั่นไหว พระกระมลหฤทัยก็หยั่งลงสู่สมาธิ เปนเอกัคคตารมณ์มิได้ฟุ้งซ่าน แต่พระสริราพยพนั้นซูบซีดเศร้าหมองมีผิวเผือดทุพรรณพิปลาศ ฝ่ายชนทั้งหลายที่เลี้ยงโคแลสัตว์ของเลี้ยงต่างๆ เห็นพระกายวิปริตกว่าแต่ก่อนก็กล่าวทักว่า เดิมพระสมณะมีรูปงามยิ่งนักบัดนี้ดูผอมคล้ำดำไปสิ้น ครั้งนั้นพระยามารผู้ใจบาปจึ่งดำริห์ว่า “พระสิทธัดถราชกุมารนี้มีเพียรเปนอันมาก กระทำทุกรกิริยาด้วยมหาพิริยภาพอันยิ่ง ก็คงจะได้ตรัสเปนพุทธเจ้า ผิฉะนั้นอาตม จะไปให้โอวาทให้มละทุกรกิริยาให้จงได้” จึ่งมาสำนักนิ์พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวสั่งสอนดุจความดำริห์นั้น ในลำดับนั้นพระคัณฐรจนาจาริย์นำเอาความในเบื้องน่ามาสำแดงว่า กาลเมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้แล้วจึ่งบัณฑูรพระธรรมเทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ด้วยบาทพระคาถาอรรถาธิบายความก็เหมือนพรรณามาแล้วแต่ความพิศดารออกไป ในขณะนั้นพระมหาสัตว์ก็ตรัสคุกคามยังพระยามารให้ประลาศหลีกหนีไป แล้วก็ทรงพระดำริห์ว่า “บันดาบุทคลใดๆ ในโลกนี้ที่จะกระทำทุกรกิริยาอันยิ่งอย่างอุกฤษฐ์ แลชนทั้งหลายก็ย่อมกระทำเสมอเหมือนอาตมาจะได้หย่อนได้ยิ่งกว่าอาตมานี้หามิได้ แลวัตตปฏิบัตินี้ใช่หนทางพระโพธิญาณ, ดั่งอาตมจะปริวิตกจะปฏิบัติไฉนหนอ จึ่งจะเปนทางพระโพธิญาณโดยแท้ ขณะนั้นสมเด็จอมรินทราธิราชทราบในข้อปริวิตกดั่งนั้น จึ่งทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายลงมาดีดถวายพระมหาสัตว์ สายหนึ่งเคร่งนักพอดีดก็ขาดออกไป สายหนึ่งหย่อนดีดเข้าก็ไม่บันฦๅเสียง แลสายหนึ่งนั้นไม่เคร่งไม่หย่อนเปนปานกลางดีดเข้าก็บันฦๅศัพท์ไพรเราะเจริญจิตร์ พระมหาสัตว์ได้สดับเสียงพิณก็ถือเอานิมิตร์อันนั้น ทรงพิจาณาเห็นแจ้งว่า “มัชฌิมปฏิบัตินั้นเปนหนทางพระโพธิญาณ จึ่งเสด็จนิสัชนาการณภายใต้ฉายาชมพูพฤกษ์ ทรงพระอาโภคทราบเหตุตระหนักว่า “กิจแห่งทุกรกิริยานี้ใช่วิถีพระโพธิญาณเปนแท้” จึ่งทรงพระปริวิตกต่อไปว่า “อาตมนี้กลัวแต่ความสุขกระทำแต่ทุกข์เปนอารมณ์เบื้องว่าเว้นจากกามคุณ แลอกุศลจิตรแต่มีกายทุพลภาพอยู่อย่างนี้ ก็มิอาจที่จะเจริญพระสมาธินั้นได้ ผิฉะนั้นควรจะเสพย์ซึ่งภัตตาหาร บำรุงสริรกายแห่งอาตมให้อิ่มหนำมีกำลังแล้ว จึ่งจะอาจสามารถเจริญพระสมาธิได้” เมื่อทรงพระดำริห์ฉะนี้แล้วก็ทรงจับบาตร์ฺเสด็จไปโคจรบิณฑบาตในคามนิคมทั้งปวงดุจแต่ก่อน ได้โภชนาหารก็มากระทำภัตตกิจ ส่วนบรรพชิตปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เห็นพระมหาบุรุษสละ ละเสียจากอุกฤษฐวิริยดั่งนั้นก็ปฤกษากันว่า “เดิมพระสิทธัดถราชกุมารกระทำทุกรกิริยาได้ถึง ๖ พรรษาแล้ว ก็มิอาจตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ กาลบัดนี้มละเสียจากเพียรแล้วเที่ยวไปบิณฑบาตในคามนิคมทั้งหลาย นำมาซึ่งโอฬาริกาหารกลับบริโภคไปใหม่ ที่ไหนจะตรัสรู้แก่พระโพธิญาณเล่าแลเราทั้งหลาย จะมาคอยเฝ้าอุปฐากพระองค์อยู่ฉะนี้จะมีประโยชน์สิ่งใดหาต้องการไม่ แลปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ ก็มละพระมหาบุรุษราชเสียแล้วถือเอาซึ่งบาตรแลจีวรของตน พากันเดินทางไป ๑๕ โยชน์ถึงป่าอิสีปัตนะมฤคทายวันใกล้กรุงพาราณสี ก็เข้ายับยั้งอาศรัยอยู่ในพนสณฑ์ดำบลนั้น ส่วนพระโพธิสัตว์เมื่อปัญจวัคคียภิกษุทั้ง ๕ ไปเสียจากที่นั้นแล้ว พระองค์ก็ได้ซึ่งกายวิเวกอยู่ประมาณกึ่งเดือนก็ถึงซึ่งสำเร็จแห่งทุกรกิริยาเท่านี้เหตุดั่งนั้น พระคัณฐรจนาจาริย์จึ่งกล่าวนิคมคาถาในที่สุดบริเฉทอรรถาธิบายความก็ซ้ำเหมือนนัยหนหลัง

ทุกรกิริยาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๗ จบ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ